Wednesday, 23 April 2025
วราวุธ_ศิลปอาชา

🔎ส่อง 6 ผลงาน ‘รมว.ท็อป’ แห่ง พม.

รมว.ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จากพรรคชาติไทยพัฒนา ตลอดการเข้ารับตำแหน่งเจ้ากระทรวง พม. ภายใต้รัฐบาล ‘เศรษฐา 1’ ได้สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนคนไทย ได้แก่

✨โครงการ 'ปฏิบัติการคนไทยไม่ไร้ที่พึ่ง' ช่วยเหลือคนไร้บ้าน พัฒนาครัวเรือนเปราะบางในภาวะวิกฤต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต โดยดำเนินงานเชิงรุกผ่านศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ตลอด 24 ชม.

✨เบี้ยเด็กแรกเกิดถ้วนหน้า ดูแลตั้งแต่เกิดจนถึง 6 ปี จำนวน 2,288,337 ราย รับเงินอุดหนุน 600 บาท และขยายจาก 6 เดือน ถึง 3 ปี มาเป็น 3 เดือนจนถึง 3 ปี

✨ปรับเบี้ยผู้สูงอายุโดยจ่ายแบบขั้นบันไดถ้วนหน้า เดือนละ 1,000 บาททุกคน เบี้ยคนพิการ 1,000 บาท (เดิม 800 บาท) ตอบแทน ผู้ช่วยฯ ชม.ละ 50 เป็น 100 บาท

✨สร้างบ้านมั่นคงเฟสใหม่ ได้แก่ 1.ชุมชนเพิ่มทรัพย์พัฒนา 2.น้อมเกล้า 3.ทรัพย์สินเก่าใต้ แนวคิด 'บ้านมั่นคงชุมชนเข้มแข็งใต้ร่มพระบารมี' บนที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

✨แถลงผ่าน Asia Pacific Population Conference (APPC) ครั้งที่ 7 เรื่องประชากรในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกรับมือสู่สังคมสูงวัยและช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง

✨สนับสนุนผู้พิการทางการได้ยิน ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียม ด้วยการบริการล่ามภาษามือทุกครั้งที่มีการถ่ายทอดข่าวสารจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

‘รมว.ท็อป’ ชี้!! ไทยขาดแคลน ‘ล่ามภาษามือ’ จำนวนมาก เร่งเปิดหลักสูตรอบรม-ผลักดันมาตรการแก้ปัญหาระยะยาว

(1 เม.ย.67) ที่กระทรวง พม. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แถลงข่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง พม. ครั้งที่ 4/2567 ประจำเดือนเมษายน ว่า ปัจจุบันพบว่า ‘ล่ามภาษามือ’ ขาดแคลนมาก ไม่เพียงพอกับจำนวนคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อสารความหมาย จากเดิมที่มีการจดแจ้งไว้กับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) เมื่อปี 2552 - 2560 จำนวน 659 คน 

แต่ปัจจุบันพบว่า ล่ามภาษามือที่จดแจ้งมีจำนวน 178 คน โดยเป็นล่ามภาษามือหูดี 170 คน และล่ามภาษามือหูหนวก 8 คน และยังพบว่าทั่วประเทศ มีล่ามภาษามือ อยู่ 41 จังหวัด และไม่มีล่ามภาษามือ 36 จังหวัด และยังพบว่าปัจจุบันล่ามภาษามือมีการกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล มากที่สุด 3 จังหวัดแรก คือ กรุงเทพ 69 คน นนทบุรี 28 คน นครปฐม 16 คน

นายวราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาดำเนินการโดย การจัดบริการล่ามภาษามือข้ามจังหวัด และการให้บริการออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน หรือแท็ปเล็ต ได้แก่ 1. TTRS Video บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอ และ 2. TTRS Live Chat บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาข้อความ รวมถึงบริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอผ่านเครื่องบริการถ่ายทอดการสื่อสารสาธารณะ (ตู้ TTRS) โดยมีเจ้าหน้าที่ถ่ายทอดการสื่อสารเป็นคนกลางในการสื่อสารภาษามือระหว่างผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินและผู้รับปลายทาง (คนหูดี) 

นายวราวุธ กล่าวว่า เมื่อปลายปีที่แล้ว ( 25 กันยายน 66) คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาล่ามภาษามือ ได้ออกประกาศ กำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการประเมินความรู้ ทักษะก่อนและหลังการจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือชุมชน เพื่อขอรับการจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือชุมชน ได้แก่ 

1. กรณีผู้รับการจดแจ้งรายใหม่ที่ยังไม่เคยเข้ารับประเมินความรู้และทักษะการเป็นล่ามภาษามือชุมชน ต้องสอบภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติมาก่อน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน สอบภาคทฤษฎี 30 ภาคปฏิบัติ 70 ผู้สอบต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 

2.กรณีการต่ออายุการจดแจ้งของผู้ที่เคยเข้ารับประเมินความรู้และทักษะ โดยผ่านการสอบภาคทฤษฎีและปฏิบัติมาก่อน และให้มีรายงานผลการปฎิบัติงานที่ผ่านมา หรือเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มเติมตามหลักสูตร หลักเกณฑ์ และวิธีที่คณะอนุกรรมการกำหนด

นายวราวุธ กล่าวว่า และก่อนหน้านั้น (9 สิงหาคม 66) กรม พก. ได้ออกประกาศคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาล่ามภาษามือเรื่อง กำหนดให้การบริการล่ามภาษามือในบริการอื่นใด เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติกรณีคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อสารความหมาย ที่มีความจำเป็นต้องใช้ล่ามภาษามือหูหนวก และล่ามภาษามือหูดี ในการแปลควบคู่กัน ให้จ่ายค่าตอบแทนต่อคน โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังแล้ว 

นายวราวุธ กล่าวว่า คนพิการทางการได้ยิน หรือ ผู้ดูแลคนพิการทางการได้ยิน มีสิทธิยื่นคำขอรับบริการล่ามภาษามือ เพื่อการติดต่องานทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน, การขอทำใบขับขี่หรือบัตรแสดงตนอื่น ๆ ตามกฎหมาย, การจัดทำนิติกรรม สัญญา และการขออนุมัติหรือขออนุญาตเรื่องต่าง ๆ, การขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย การให้ปากคำต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมาย การดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การยื่นคำฟ้องหรือคำให้การในชั้นศาลในฐานะเป็นโจทก์ จำเลย หรือพยานบุคคล, การฝึกงาน ฝึกสอน สอบวัดผล เฉพาะกรณีที่ไม่ใช่การจัดบริการในสถาบันการศึกษา

นายวราวุธ กล่าวว่า หากถามว่าต้องมีจำนวนล่ามภาษามือกี่คนจึงจะเพียงพอต่อการให้บริการ นั้น ต้องมีการพิจารณาเสนอขอกรอบอัตราล่ามภาษามือประจำศูนย์บริการคนพิการจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งเบื้องต้นอาจกำหนดและผลักดันให้มีอย่างน้อยจังหวัดละ 1 คน โดยอย่างน้อยหน่วยงานที่ให้บริการประชาชนควรจะมีล่ามภาษามือไว้สำหรับให้บริการคนพิการ

นายวราวุธ กล่าวว่า จากสถิติข้อมูลคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อสารความหมาย ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ทั้งสิ้น 423,973 คน ซึ่งฐานข้อมูลทะเบียนกลาง ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 พบว่า กทม. มี 22,884 คน ภาคกลางและตะวันออก มี 84,350 คน ภาคอีสาน มี 162,456 คน ภาคใต้ มี 55,020 คน 

อย่างไรก็ตามทางสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย เคยวิเคราะห์ข้อมูลเฉลี่ยความสามารถในการให้บริการด้านภาษามือชุมชน ไว้ว่าคนหูหนวก 10 คนต่อล่ามภาษามือ 1 คน

นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับคำถามที่ว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะผลักดันอย่างไรเพื่อแก้ไขวิกฤตขาดแคลนล่ามภาษามือ นั้น 

1. ระยะเร่งด่วน ประสานงานกับสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยสวนดุสิต, สมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย, สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ร่วมกันออกแบบหลักสูตรและวิธีการอบรมล่ามภาษามือ และจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินมาตรฐานล่ามภาษามือ 

2. ระยะกลาง สนับสนุนสถาบันการศึกษา หน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง ให้รับนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรด้านล่างภาษามือ (หลักสูตร 1 ปี) และหลักสูตรล่ามภาษามือระดับปริญญาตรี ให้กับผู้สนใจทั้งคนพิการและไม่พิการ โดยอาจแบ่งระยะเวลาการเรียนและการปฎิบัติงานจริงเป็นช่วงเวลา และประสานกับสำนักงาน ก.พ. เพื่อกำหนดตำแหน่งล่ามภาษามือเป็นตำแหน่งขาดแคลน รวมทั้งการมีค่าตอบแทนพิเศษ ให้บรรจุประจำอยู่ในศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัดทั่วประเทศ 

3. ระยะยาว ให้ทุนการศึกษาแก่บุคลากรภาครัฐ โดยเฉพาะบุคลากรของกระทรวง พม. ได้เรียนหลักสูตรล่ามภาษามือเพื่อรองรับการทำหน้าที่ในหน่วยงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 

4. การพัฒนาร่างภาษามือโดยใช้ AI หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ มาทดแทน

‘วราวุธ’ ส่ง ทีม พม. รุดช่วย ผู้ประสบเหตุเพลิงไหม้ ที่คลองเตย เตือน!! ช่วงนี้อากาศร้อน ระวัง ‘ฮีทสโตรก-เครื่องใช้ไฟฟ้า’

(27 เม.ย. 67) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือนประชาชน ภายในชุมชนพัฒนาใหม่ (ชุมชนคั่วพริก) เขตคลองเตย เมื่อค่ำวันที่ 26 เม.ย.67ที่ผ่านมา ว่า 

ตนต้องขอแสดงความเสียใจกับพี่น้องในชุมชนพัฒนาใหม่ที่เกิดเหตุไฟไหม้กับความสูญเสีย และความเสียหายที่เกิดขึ้น ตนได้ให้กองคุ้มครองฯศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และกรมกิจการผู้สูงอายุ อพม.เขตคลองเตย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพม. ให้ลงพื้นที่เพื่อให้กำลังใจ และดูว่าพี่น้องประชาชนต้องการความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ซึ่งทุกหน่วยงาน ทีมงาน อพม.ในคลองเตย และผู้บริหารของกระทรวง พม. จะได้ลงพื้นที่เข้าทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ 

นายวราวุธ กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูร้อนที่พี่น้องประชาชนคงสังเกตได้ว่ามันร้อนมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา จึงขอให้กลุ่มผู้เปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เยาวชน คนพิการ และผู้สูงอายุ ระมัดระวังเรื่องสุขภาพให้ดี โดยเฉพาะฮีทสโตรก หมั่นดื่มน้ำบ่อยๆ และขอให้อยู่ในที่ร่ม ดูแลเรื่องระบบไฟฟ้าภายในบ้านเรือน เพราะอุณหภูมิที่สูงมากในขนาดนี้บางครั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เรามีอยู่ไม่ว่าจะเป็น พัดลม ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ อาจจะร้อนจนเกินไปทำให้ระบบไฟฟ้าร้อนมากจนเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นได้อย่างที่เราได้เห็นหลายๆข่าว ส่วนสาเหตุของเพลิงไหม้ชุมชนพัฒนาใหม่นั้น ก็ต้องรอดูสาเหตุอีกครั้งว่าเกิดจากเหตุใด ต้องขอฝากความห่วงใยให้กับพี่น้องประชาชนให้ระมัดระวังดูแลสุขภาพตัวเองและครอบครัว ให้มีความปลอดภัยหากมีสิ่งใดที่กระทรวงพม. จะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้เราจะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ และขอให้แจ้งมาที่ สายด่วน 1300 ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) หรือ HuSECตลอด 24 ชั่วโมง

‘วราวุธ’ เผยในเวทีอภิปรายระดับโลก รมต.ลาตินอเมริกา ชื่นชม ประเทศไทย ที่กล้าออกกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ เป็นประเทศแรก ในกลุ่มประเทศอาเซียน

(1 พ.ค. 67) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) และคณะผู้แทนไทย  ซึ่งอยู่ระหว่างเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 (CPD 57) ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2567 โดยในช่วงเช้าได้ร่วมการอภิปรายระดับสูงระหว่างรัฐมนตรีในฐานะผู้แทนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เกี่ยวกับผลการประชุม ข้อค้นพบสำคัญ และข้อเสนอแนะจากการประชุมว่าด้วยประชากรและการพัฒนาระดับภูมิภาค โดยร่วมอภิปรายกับรัฐมนตรีจากประเทศคองโก มอลโดวา โบลิเวีย และซีเรีย

นายวราวุธ กล่าวว่า ในเวทีการอภิปรายระดับสูงระหว่างรัฐมนตรีในฐานะผู้แทนภูมิภาคต่างๆ ตนเองจะขึ้นเป็นตัวแทนของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งไม่เฉพาะเป็นตัวแทนของประเทศไทย แต่ยังเป็นตัวแทนของกว่า 70 ประเทศที่มีประชากรกว่าร้อยละ 60 ของประชากรโลก โดยตนเองได้พูดถึงปัญหาว่ามีอัตราการเกิดของเด็กใหม่น้อย มีการเปลี่ยนโครงสร้างประชากรไปสู่สังคมสูงอายุมากขึ้น ในพื้นที่ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เรามีแนวทางแก้ไขกันอย่างไร แต่ละประเทศมีแนวทางแก้ไขกันอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเด็กแรกเกิด  การดูแลสุภาพสตรีช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งแต่ละประเทศมีการนำเสนอแนวคิดต่างๆ มากมาย และที่สำคัญได้มีโอกาสพูดคุยกับรัฐมนตรีที่มาจากภูมิภาคอื่นๆ 

ซึ่งมีรัฐมนตรีจากลาตินอเมริกาคนหนึ่งถามว่าจริงหรือไม่ที่ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการสมรสเท่าเทียม ตนเองได้บอกว่าปลายปีนี้ เราได้จะเห็นกฎหมายฉบับนี้ออกมาใช้งานแน่นอน ซึ่งรัฐมนตรีดังกล่าวแสดงความชื่นชมและทึ่งในความสามารถและความกล้าหาญของประเทศไทยที่เป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอาเซียน

‘วราวุธ’ เผย ต่างชาติชื่นชม ‘กม.สมรสเท่าเทียม’ ยกย่องเป็นประเทศตัวอย่างที่ ‘ทันสมัย-ก้าวหน้า’

(7 พ.ค.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ตนและคณะผู้แทนไทยเพิ่งกลับจากการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 (CPD 57) ที่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยการเดินทางไปครั้งนี้ ได้มีการเสนอนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤติประชากร ในนามของประเทศไทย ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากนานาอารยประเทศ 

การที่เราได้มีโอกาสนำเสนอต่อห้องประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยของเราได้ดำเนินการด้านใดไปแล้วบ้าง และมีแผนจะดำเนินการอย่างไร ทั้งในส่วนของห้องประชุมใหญ่และการประชุมย่อยนั้น ได้รับการตอบรับและทุกประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง และเห็นตรงกันว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องวิกฤติประชากรนั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่การเพิ่มประชากร แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ภาพใหญ่ และการแก้ปัญหาสังคม และหลาย ๆ เรื่องรวมกันนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญและละเอียดอ่อน เป็นภารกิจของทุกกระทรวงจะต้องดำเนินการ

นายวราวุธ กล่าวว่า นอกจากนี้ มีรัฐมนตรีจากลาตินอเมริกาได้สอบถามถึงประเทศไทยของเรานั้นจะมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการสมรสเท่าเทียม ซึ่งตนได้ยืนยันกับรัฐมนตรีคนดังกล่าวไปว่า ภายในไม่เกินปลายปีนี้ ประเทศไทยของเราจะมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาใช้งานแน่นอน ซึ่งรัฐมนตรีคนดังกล่าวถึงกับทึ่งและแสดงความชื่นชมว่าเป็นความก้าวหน้าและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับอีกหลายประเทศ และประเทศไทยเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา ย่อมแสดงให้เห็นว่าในมิติสังคมของประเทศไทย เราทำงานและได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ โดยที่ไม่น้อยหน้าประเทศใดเลย

‘วราวุธ’ ย้ำ!! จุดยืน 'ชทพ.' ถึงร่าง 'พ.ร.บ. นิรโทษกรรม' ต้องไม่มีเรื่อง 'ม.112-อาญาร้ายแรง-คอร์รัปชัน'

(4 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึง การศึกษาแนวทาง ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่า พรรคชาติไทยพัฒนาได้ส่งนายนิกร จำนงค์ เป็นตัวแทน และตอนนี้ยังไม่ได้รับรายงานความคืบหน้าเพิ่มเติม ซึ่งตามนโยบายของพรรคชาติไทยพัฒนา ในร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมจะต้องไม่มี 3 เรื่อง คือ...

1.ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญามาตรา 112 
2. ไม่เกี่ยวข้องกับอาญาที่ร้ายแรง
และ 3. ไม่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน

ส่วนกรณี ที่มีความเห็นจากหลายพรรคการเมืองต้องการให้บรรจุ คดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมอยู่ด้วยนั้น นายวราวุธ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุปและเป็นเรื่องปกติ ที่หลายฝ่ายจะมีความคิดและข้อเสนอที่หลากหลาย แต่ยังไม่มีการลงมติหรือบทสรุปใด

‘วราวุธ’ วอน!! ปชช. ‘หยุดให้เงินขอทาน’ ชี้!! ยิ่งให้เหมือนยิ่งหนุนให้ลามเป็นอาชีพ

(11 มิ.ย.67) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดการปัญหาขอทาน ว่า ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้ร่วมงานกับหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) หรือทางกรุงเทพฯ เอง เราออกตรวจตรากันเดือนละ 5 ครั้ง

โดยในแต่ละครั้งนั้น เราจะมีการดำเนินการจับผู้ที่เป็นขอทาน หากพบว่าเป็นชาวต่างชาติก็จะส่งกลับภูมิลำเนา หากพบว่าเป็นคนไทยจะมีการดำเนินการต่างกันไปคือ จะส่งไปที่สถานดูแลบุคคลไร้ที่พึ่งของกระทรวงฯ มีการฝึกอาชีพและสนับสนุนให้หางานทำ หนึ่งในเหตุผลที่ทางกระทรวงเคยได้สอบถามจากขอทานบางคนที่กลับมาขอทานใหม่ คือเงินค่าปรับถูกกว่ารายได้ และมีรายได้สูง

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า ต้องถามว่าการที่ขอทานรายได้ดีจนค่าปรับดูคุ้มที่จะกลับมาขอทานใหม่ ต้องสงสัยว่ารายได้ขอทานมาจากไหน ส่วนใหญ่ก็จะมาจากท่องเที่ยว หรือเราๆ ท่านๆ กันทั่วไป เพราะสังคมไทยของเราเป็นสังคมเอื้ออาทร ขอทานในรูปแบบใหม่ จะมาในรูปแบบของเด็ก หรือใช้สัตว์เลี้ยง และหากพบว่ามีเด็กด้วยนั้น เราจะทำการตรวจสอบว่า ผู้ใหญ่มาด้วยเป็นญาติกันหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็จะมีการดำเนินคดี

นายวราวุธ เปิดเผยว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมานั้น เราจับขอทานไปได้ประมาณ 7,000 กว่าคน ซึ่งประมาณ 30% เป็นชาวต่างชาติ แต่การที่เรามีขอทานวนเข้ามาอยู่เรื่อยๆ เป็นจำนวนที่มากขึ้น ต้องขอความร่วมมือประชาชนหยุดการให้ทาน ทุกวันนี้เรามีการลงพื้นที่ขอทานเดือนละ 5 ครั้ง หากจะให้เจ้าหน้าที่ของเราลงตรวจขอทานทุกวัน คงเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเจ้าหน้าที่ พม.ยังมีหน้าที่อื่นๆ อีก ดังนั้น ต้องขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน ให้ช่วยแจ้งเข้ามาหากพบเห็นขอทาน ทางกระทรวงฯ พร้อมจะรับเรื่อง และออกไปดำเนินการทันที

เมื่อถามถึงรายได้ที่ขอทานได้จากนักท่องเที่ยว มีประมาณเท่าไหร่ นายวราวุธ กล่าวว่า ยังไม่มีการยืนยัน แต่ในช่วงไฮซีซั่น หากเป็นพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะ ด้วยความไม่รู้ ก็จะมีการให้กันอยู่เรื่อยๆ มีบางคนได้เดือนละเกือบ 100,000 บาท ตนไม่แน่ใจว่า เป็นการทำคนเดียวหรือเป็นกลุ่ม การทำเป็นขบวนการแบบนี้ ผู้ที่เป็นตัวการจะต้องโดนดำเนินคดีตามกฎหมาย บางครั้งการที่มีคนกลุ่มหนึ่งเข้ามาแล้ววางขอทานจุดนั้นจุดนี้ เมื่อรวมรายได้กันแล้ว ก็ไม่แปลกใจที่จะได้หลักหมื่น แต่ที่ได้เฉียด 100,000 บาทนั้น อาจจะต้องรวมกันหลายๆ คนเข้ามา สมมติว่า เดือนหนึ่งได้มาคนละ 20,000 บาท แล้วโดนปรับครั้งละ 5,000 บาท ในมุมมองของคนทำอาชีพขอทาน ก็ถือว่าคุ้มค่า ดังนั้น การที่เราให้ทาน เป็นการสนับสนุนให้มีการขอทานมากขึ้น

เมื่อถามว่า หากขอทานที่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งถูกส่งกลับภูมิลำเนาไปแล้วยังกลับเข้ามาอีก สามารถจัดการอะไรได้หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า คงต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเราคงไปตรวจตราตะเข็บชายแดนไม่ได้ ต้องสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะทางด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือตามช่องทางธรรมชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร จะให้เราไปอยู่ตามจุดแดน ก็คงไม่ใช่หน้าที่ กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจเรา

‘วราวุธ’ ย้ำ!! ไม่นิรโทษกรรม ‘ม.112-คดีอาญาร้ายแรง-ทุจริต’ เชื่อ!! พรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นในแนวทางเดียวกัน

(5 ก.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมอาจจะได้ข้อสรุปเรื่องการนิรโทษกรรม จะครอบคลุมคดีที่เกี่ยวกับมาตรา 112 หรือไม่ ว่า พรรคชทพ. เสนอนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคเข้าไปเป็น กมธ. และทราบว่าจะให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน 

ส่วนขั้นตอนการดำเนินงาน จะมีหน่วยงานใดเข้าร่วม และพิจารณาอย่างไร คงต้องไปลงในรายละเอียดอีกครั้งนึง 

ทั้งนี้พรรคชทพ.มีจุดยืนและย้ำมาตลอด ตั้งแต่ตั้งรัฐบาลนี้และเป็นหัวใจสำคัญที่จะร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่าคดีที่มีความอ่อนไหว โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นมาตรา 112 คดีที่เกี่ยวกับอาชญากรรมและทำให้เสียชีวิต คดีที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน เราจะไม่ร่วมอยู่ในการพิจารณาและไม่ควรนำมารวมอยู่ในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และเชื่อว่าพรรคร่วมทุกพรรคคงเห็นตรงกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 พรรคชาติไทยพัฒนาจะยืนยันจุดยืนเดิมหรือหันไปร่วม เพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกัน นายวรวุฒิกล่าวย้ำว่า ชทพ. ยืนยันจุดยืนเดิม 3 ประเด็น คือ ไม่พิจารณาคดีที่เกี่ยวกับมาตรา 112 เรื่องคดีอาญาร้ายแรงที่เสียชีวิต รวมไปถึงคดีทุจริต

เมื่อถามว่าจะไม่มีปัญหาใช่หรือไม่หากพรรคแกนนำเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม มาตรา 112 ในขณะที่ชทพ.ยังยืนยันในจุดยืนไม่รวม นายวราวุธ กล่าวว่า ให้ถึงเวลานั้น แล้วค่อยมาพิจารณาอีกทีแต่จุดยืนของเราไม่เปลี่ยนแปลง อย่าเพิ่งตั้งสถานการณ์ถ้าเผื่อ เพราะไม่แน่ใจว่าในอนาคต จะเกิดอะไรบ้าง แต่คิดว่าในท้ายที่สุดคงเห็นไปในแนวทางเดียวกัน

‘วราวุธ’ วอน!! ปชช. ‘หยุดให้เงินขอทาน’ ชี้!! ยิ่งให้เท่ากับยิ่งหนุนขบวนการ ‘ผิดกฎหมาย’

(23 ก.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่สื่อมวลชน นำเสนอข่าว กลุ่มขอทานต่างด้าว 10 กว่าราย มีทั้งเด็กทารกแรกเกิด เด็กเล็ก คนพิการ และผู้เฒ่าผู้แก่ นั่งนอนขวางถนน ขอทานผู้ใจบุญตามจุดต่าง ๆ ในงานวัดชัยมงคลพระอารามหลวง พัทยาใต้ จังหวัดชลบุรี 

และสื่อรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ได้มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาจัดการ แต่เมื่อทิ้งช่วงไป กลุ่มขอทานต่างด้าวจะกลับเข้ามาในพื้นที่อีก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขอทานต่างด้าวกลุ่มเดิม ๆ ที่เคยถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปทำประวัติ แล้วกลับมาขอทานซ้ำอีก 

เมื่อคืนวันที่ 21 ก.ค. 67 ที่ผ่านมา ทีมเจ้าหน้าที่ พม. ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน จังหวัดชลบุรี (ศรส.จังหวัดชลบุรี) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองชลบุรี และฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย สำนักปลัดเมืองพัทยา ลงพื้นที่เพื่อจัดระเบียบผู้ทำการขอทานในเมืองพัทยา 3 แห่ง คือ 

1) วัดชัยมงคลพระอารามหลวง พัทยาใต้
2) บริเวณชายหาดพัทยา และ
3) บริเวณถนนพัทยาสาย 2 

พบผู้ทำการขอทาน ทั้งหมด 11 คน พร้อมผู้ติดตาม ประกอบด้วย คนไทย 3 คน และคนสัญชาติกัมพูชา จำนวน 8 คน โดยมีการนำเด็กมานั่งทำการขอทานด้วย เด็กอายุต่ำสุด 1 ปี 2 เดือน และเด็กอายุสูงสุด 9 ปี

ทีม ศรส.จังหวัดชลบุรี พร้อมทีมสหวิชาชีพได้ดำเนินการสอบประวัติ และทำบันทึกจับกุมตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 พร้อมนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพัทยา เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย 

โดยได้ลงบันทึกประจำวัน ถูกเปรียบเทียบค่าปรับ และผลักดันส่งกลับประเทศต้นทาง 8 รายที่เป็นสัญชาติกัมพูชา และคนไทย 3 ราย ถูกเปรียบเทียบปรับและทำบันทึกตักเตือน พร้อมทั้งจะลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ เพื่อจะได้ไม่กลับมาทำการขอทานซ้ำอีก

สำหรับผลการดำเนินงานจากระบบฐานข้อมูลจัดระเบียบคนขอทาน ประจำปีงบประมาณ 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 30 มิถุนายน 2567 พบผู้ทำการขอทานจำนวนทั้งสิ้น 467 ราย เป็นคนไทย 307 ราย และเป็นคนต่างด้าว 160 ราย โดยมีสัญชาติกัมพูชามากที่สุดถึง 130 ราย รองลงมาเป็นเมียนมา 18 ราย สปป.ลาว 4 ราย จีน 5 ราย และไร้สัญชาติ 3 ราย  

สำหรับจังหวัดชลบุรี เป็นจังหวัดที่พบขอทานเป็นอันดับ 2 คือจำนวน 39 ราย รองลงมาจากกรุงเทพมหานคร จำนวน 156 ราย รวมทั้งจังหวัดเชียงใหม่ 21 ราย และจังหวัดภูเก็ต 19 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นจังหวัดใหญ่และเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก นับเป็นแหล่งรายได้สำคัญของขอทาน

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ยังมีขอทาน คือ การให้ เมื่อมีผู้ให้ เพราะความสงสาร นำมาซึ่งการมีขอทานในสังคม ซึ่งขอทานมักมีพฤติการณ์ที่น่าสงสาร มีข้อจำกัดด้านร่างกายและจิตใจ มีความพิการ และบางส่วนเกิดกระบวนการค้ามนุษย์ เป็นการกระทำผิดกฎหมายอย่างรุนแรง 

ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำว่าหากพบเห็นขอทาน เราไม่ควรให้เงิน ด้วยความสงสาร เพราะการขอทานเป็นการกระทำผิดกฎหมาย 

หากพบเห็นขอให้พี่น้องประชาชนโทรแจ้งมาที่ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือ ศรส. กระทรวง พม. ผ่านสายด่วน 1300 บริการตลอด 24 ชั่วโมง

‘วราวุธ’ เร่งช่วยเหลือประชาชน จัดทีมงานลงพื้นที่ ‘ภูเก็ต’ เพื่อ ‘ช่วยเหลือ-ฟื้นฟู-เยียวยา’ ผู้ประสบภัยน้ำท่วมดินถล่ม

(24 ส.ค. 67) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า ตนได้รับรายงานจากศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) จังหวัดภูเก็ต ว่า เมื่อวันที่ 22 - 23 ส.ค. 67 จังหวัดภูเก็ตมีฝนตกหนักต่อเนื่องในตัวเมืองภูเก็ต ทำให้เกิดน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนและถนนหลายสาย ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมากถึง 250 ครัวเรือน และมีดินโคลนถล่มทับบ้านเรือนประชาชน 2 หลัง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย เป็นคนไทย 2 ราย ชาวต่างชาติสัญชาติเมียนมา 3 ราย นอกจากนี้ ยังมีคนสูญหายอีก 6 ราย เป็นคนไทย 1 ราย ชาวต่างชาติสัญชาติเมียนมา 4 ราย และรัสเซีย 1 ราย อีกทั้งมีครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุ อายุ 83 ปี ได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากจมน้ำและสำลักโคลน ขณะนี้ได้นำส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว 

นายวราวุธ กล่าวว่า ตนขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ ขอแสดงความห่วงใยกับผู้ได้รับบาดเจ็บ และพี่น้องประชาชนชาวภูเก็ตที่กำลังประสบปัญหาความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ซึ่งตนได้กำชับหน่วยงานทีม พม. หนึ่งเดียว จังหวัดภูเก็ต เฝ้าระวังดูแลผู้รับบริการในความคุ้มครองของหน่วยงาน และให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ขณะนี้ทางจังหวัดภูเก็ตได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่วัดกะตะ และ วัดกะรน โดยมีหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ร่วมให้ความช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัย ซึ่ง ทีมศรส.จังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานทีม พม.หนึ่งเดียว จังหวัดภูเก็ต ได้ส่งนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาเพื่อให้การฟื้นฟูเยียวยาสภาพจิตใจและช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น พร้อมทั้งร่วมกับทีมสหวิชาชีพวางแผนการช่วยเหลือทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยเฉพาะการช่วยเหลือหลังน้ำลด ซึ่งจะมีการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านและให้ความช่วยเหลือร่วมกับทีมสหวิชาชีพ อปท. และ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) หากประชาชนประสบปัญหาอุทกภัย สามารถขอความช่วยเหลือ ได้ที่ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) จังหวัดภูเก็ต และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต รวมทั้งหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. ในพื้นที่  


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top