Wednesday, 23 April 2025
ลูกจ้าง

'ครม.' ไฟเขียวร่าง ครส. 3 ฉบับ ยกระดับการจ้างงาน เพิ่มวันลาคลอด-วันหยุดพิเศษ-การรักษาพยาบาล

(21 ก.พ. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบหลักการร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์ 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อยกระดับมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจบางประเด็นให้เหมาะสมมากขึ้น ตามข้อเรียกร้องของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยโรคโควิด-19 ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานฯ มีดังนี้

1.) ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ ..) เพิ่มเติมประเด็นสำคัญ อาทิ กำหนดเพิ่มเติมให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดพิเศษตามมติ ครม. ตามความเหมาะสมและจำเป็นของกิจการ, กำหนดเพิ่มสิทธิลาคลอดบุตร จากเดิม 90 วัน เป็น 98 วัน และกำหนดเพิ่มเติมให้เงินทดแทนที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้ลูกจ้าง กรณีประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย เนื่องจากการทำงาน ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

‘เสี่ยเฮ้ง’ ชี้แจง กรณีสาวโรงงานถูกโฟล์คลิฟท์ชนบาดเจ็บ เผย ส่งหน่วยงานเข้าความช่วยเหลือ-เยียวยาเบื้องต้นแล้ว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานหายห่วง กรณีลูกจ้างสาวถูกโฟล์คลิฟท์ชนได้รับบาดเจ็บ หลังส่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคมลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ พบได้รับการรักษา ได้รับค่าจ้างและไม่ได้ถูกเลิกจ้างตามข่าว

(23 มี.ค. 66) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยกรณีมีสื่อนำเสนอข่าว ลูกจ้างโพสต์ผ่านสื่อออนไลน์ ว่าได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน นายจ้างไม่ดูแล และถูกเลิกจ้างนั้น ผมได้ส่งเจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคมลงพื้นที่สอบถามข้อเท็จจริงจากนายจ้างและลูกจ้าง

“เบื้องต้นได้รับรายงานว่า อุบัติเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นในโรงงานย่านสามพราน จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่ลูกจ้างหญิงผู้โพสต์ ซึ่งทำงานเป็นพนักงานฝ่ายผลิตกำลังเดินอยู่บริเวณถนนระหว่างอาคารผลิตกับอาคารคลังสินค้า ถูกรถโฟล์คลิฟท์ชนจนได้รับบาดเจ็บ นายจ้างได้ส่งตัวลูกจ้างเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว แพทย์ได้ทำการรักษาและให้หยุดรักษาตัวเป็นเวลา 45 วัน โดยนายจ้างเป็นผู้จ่ายค่าจ้างให้ และนายจ้างยืนยันว่าไม่ได้เลิกจ้าง เจ้าหน้าที่ได้ไปเยี่ยมลูกจ้างที่บ้านพัก ซึ่งพักรักษาตัวอยู่ ทราบว่านายจ้างพร้อมให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานเมื่อหายดีแล้ว แต่ลูกจ้างยังไม่ตัดสินใจ เจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครปฐม และสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐม สาขาสามพราน ได้ชี้แจงให้ลูกจ้างทราบถึงสิทธิประโยชน์พึงได้รับตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามผมได้กำชับให้ทั้งสองหน่วยงานเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์กรณีนี้อย่างใกล้ชิด” นายสุชาติ กล่าว

โทรมาไม่รับนะ ‘พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่’ ตัดการเชื่อมต่อนายจ้าง ห้ามติดต่อหลังเวลาเลิกงาน แต่เสียดายไม่มีโทษอาญา

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่บังคับใช้แล้ว ห้ามนายจ้างติดต่อลูกจ้างหลังเวลาเลิกงาน 
.
(25 มี.ค.66) รศ.ตรีเนตร สาระพงษ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นหลังจาก ที่มีพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ที่เพิ่งได้ออกมาไม่นานมานี้ ว่า “นายจ้างจะส่งข้อความตามให้ทำงานมาดึก ๆ ดื่น ๆ ไม่ได้อีกแล้ว สิ่งนี้เรียกว่าหลักการตัดการเชื่อมต่อกับนายจ้าง”

รศ.ตรีเนตร ได้ยกพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ขึ้นมาพูดว่า  “ที่มีกฎหมายระบุไว้ว่าเมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานปกติ หรือสิ้นสุดระยะเวลาการทำงานที่ได้ตกลงกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง หรือสิ้นสุดระยะเวลาที่นายจ้างมอบหมาย ซึ่งแปลว่าหลังเวลาทำงานปกติ หลังจากที่เราเลิกจากการทำงานล่วงเวลา หลังจากเลิกเวลางานในวันหยุด หรือในกรณีที่เป็นวันหยุดวันลา ที่ไม่ใช่เวลาทำงาน”

กฎหมายได้บอกไว้ว่าลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธการติดต่อสื่อสารกับนายจ้าง ลูกจากทุกคนมีสิทธิที่ไม่ตอบไลน์ หรือทางใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะโซเชียล หรือจ้างเมสเซนเจอร์มาส่งที่บ้าน หรือขับรถมาเองถึงที่บ้านเพื่อติดตามงาน นั้นทำไม่ได้ เพราะลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธ

‘เสี่ยเฮ้ง’ สั่งตรวจสอบ-ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย กรณีลูกจ้างถูกหัวหน้าไล่ออก หลังขอลาไปงานศพแม่ 

(17 ส.ค. 66) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง กรณีสื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ข่าวลูกจ้างสาวรายหนึ่งโพสต์เฟซบุ๊ก โดยนำภาพแชตคุยกับหัวหน้าที่ทำงาน กรณีขอลางานเนื่องจากแม่ป่วยหนักและใกล้จะเสียชีวิต แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ลางาน ว่า ผมได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ พร้อมให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย

ในเบื้องต้น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 34 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลากิจเพื่อกิจธุระอันจำเป็น เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 3 วันทำงาน เนื่องจากการลากิจธุระอันจำเป็น เป็นสิทธิพื้นฐานที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดสิทธิให้ลูกจ้างทุกประเภทมีสิทธิลากิจได้ แม้จะเป็นลูกจ้างทดลองงาน ลูกจ้างรายวัน และลูกจ้างประเภทอื่น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรฐานขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม ผมได้กำชับให้พนักงานตรวจแรงงานเร่งสอบข้อเท็จจริงจากนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป โดยกระทรวงแรงงานจะให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายอย่างแน่นอน

ด้าน นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ผมได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา (สสค.นครราชสีมา) ซึ่งเป็นท้องที่ที่เกิดเหตุ เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย หากลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำงาน สามารถปรึกษา ร้องทุกข์ ร้องเรียน ได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร 10 พื้นที่ หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546

‘ECOT’ จับมือ ‘ICDL’ เดินหน้ายกระดับศักยภาพให้นายจ้าง-ลูกจ้าง เพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัล-เท่าทันโลกยุคใหม่ มุ่งสู่ ‘ไทยแลนด์ 4.0’

(15 ต.ค. 66) สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย หรือ ‘ECOT’ โดยนายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาฯ จับมือ สถาบันพัฒนาและทดสอบทักษะด้านดิจิทัล หรือ ‘ICDL Thailand’ โดย Dr.Hugh O' Connell กรรมการผู้จัดการ ยกระดับสมรรถนะดิจิทัลให้เจ้าของธุรกิจ หรือ นายจ้างและลูกจ้างอยู่ในระดับมาตรฐานสากลและเติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

นายเอกสิทธิ์ กล่าวว่า  ECOT ต้องหลอมรวมศักยภาพและทรัพยากร เพื่อร่วมกันยกระดับและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ให้องค์กรธุรกิจและบุคลากรของประเทศ มีสมรรถนะที่เหมาะสมกับการทำงานในยุคดิจิทัลและบรรลุถึงการเป็นไทยแลนด์ 4.0 ด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมด้านการพัฒนาความสามารถด้านการใช้ดิจิทัล (Digital Literacy)

สำหรับการลงนามนั้น มีผู้บริหารของทั้งสององค์กร รวมถึงภาคี เข้าร่วม เช่น คุณจุลลดา มีจุล รักษาการผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ คุณสุปรีย์ ทองเพชร ประธาน สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย คุณกฤษฏิ์กัญญา กานต์จิรธันย์ Executive Director, ICDL Thailand พล.อ.ต.ศ.ดร.ประสงค์ ปราณีตพลกรัง ที่ปรึกษาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ คุณสิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขาธิการ ECOT ดร.ภูชิสส์ ศรีเจริญ รองประธานอาวุโสสภา SMEs

นายจ้างไม่ปลื้มพนักงาน GenZ ‘ไม่พร้อมทำงาน-สื่อสารแย่’ แต่ยังมีมุมเด่น ‘เก่งดิจิทัล-อยากเป็นเจ้าของกิจการ-กล้าคิดกล้าพูด’

หนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยในโลกการทำงานสมัยนี้คือ วัยทำงานชาว Gen Z มักถูกโดนเหยียดอายุในที่ทำงาน นายจ้างบางบริษัทสะท้อนว่า การทำงานกับพนักงานรุ่นนี้ช่างยากเย็น และในที่สุดพวกเขาก็เลิกจ้างพนักงาน Gen Z ที่เพิ่งเรียนจบใหม่ หลังพวกเขาทำงานได้ไม่กี่เดือน

จากการสำรวจล่าสุดของ Intelligent แพลตฟอร์มช่วยเหลือด้านการทำงานอย่างมืออาชีพให้คนรุ่นใหม่ เปิดเผยความเห็น 6 ใน 10 ของนายจ้างกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า พวกเขาตัดสินใจไล่พนักงานกลุ่ม Gen Z ออกจากงาน ทั้งที่เพิ่งจ้างมาใหม่เมื่อต้นปีนี้ 

นอกจากนี้ 1 ใน 6 ของนายจ้างกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า พวกเขาลังเลที่จะจ้างงานเด็กจบใหม่ ขณะที่เจ้านาย 1 ใน 7 ยอมรับว่าพวกเขาอาจหลีกเลี่ยงไม่จ้างงานเด็กรุ่น Gen Z ที่จบใหม่ในปีหน้า (ผลสำรวจข้างต้นทำการสำรวจผู้บริหารบริษัทต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาเกือบ 1,000 คน) 

นายจ้างไม่ปลื้ม Gen Z เพราะ “ไม่พร้อมทำงาน และไม่เป็นมืออาชีพ” 
รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุถึงเหตุผลที่นายจ้างไม่พอใจพนักงานรุ่น Gen Z เป็นเพราะพวกเขามองว่า วัยทำงานรุ่นใหม่ในปัจจุบันขาดแรงจูงใจหรือความคิดริเริ่ม โดย 50% ของผู้บริหารองค์กรชี้ว่า สาเหตุนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้พนักงานรุ่นใหม่ไม่ประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ยังมองว่าคนรุ่น Gen Z ขาดความเป็นมืออาชีพ ไม่มีระเบียบ และมีทักษะการสื่อสารที่ไม่ดี การมาทำงานและประชุมสายบ่อยครั้ง ไม่สวมเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับที่ทำงาน และการใช้ภาษาที่เหมาะสมกับสถานที่ทำงานฯลฯ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบการการทำงานจนนายจ้างตัดสินใจไล่พนักงานกลุ่มนี้ออกจากงาน 

อีกทั้ง 50% ของผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) กลุ่มตัวอย่าง ก็สะท้อนความเห็นว่า เด็กจบใหม่รุ่น Gen Z ไม่พร้อมสำหรับโลกของการทำงาน และอีกจำนวนหนึ่ง (20%) บอกว่า วัยทำงานรุ่นใหม่ไม่สามารถรับมือกับปริมาณงานได้ สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมหาวิทยาลัยไม่ได้เตรียมเด็กให้พร้อมก้าวเข้าสู่โลกการทำงาน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเริ่มมีมหาวิทยาลัยบางแห่งมองเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และได้เร่งแก้ไขด้วยการสอนให้นักศึกษาเตรียมพร้อมสู่การเป็นพนักงาน ตัวอย่างเช่นมหาวิทยาลัย Michigan State ได้เปิดคอร์สสอนนักศึกษาเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับบทสนทนาในการสร้างเครือข่ายด้านอาชีพการงาน รวมไปถึงวิธีการมองหาสัญญาณภาวะเบื่อหน่ายหมดไฟ และสัญญาณของการมองหาหางานใหม่ เป็นต้น

หาก Gen Z อยากมีโอกาสได้งานมากขึ้น ต้องปรับทัศนคติใหม่
นาย ฮุย เหงียน (Huy Nguyen) ที่ปรึกษาหลักด้านการศึกษาและการพัฒนาอาชีพของ Intelligent มีคำแนะนำให้วัยทำงานชาว Gen Z ที่เพิ่งจบใหม่ว่า ลองสังเกตและเรียนรู้วิธีการพูดคุย หรือการมีส่วนร่วมในการทำงานของพนักงานรุ่นพี่ ในที่ทำงาน เพื่อทำความเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรในบริษัทที่พวกเขาอยากร่วมงานด้วย แล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม อีกทั้งควรให้ความสำคัญในการฝึกทักษะด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

“จงริเริ่มถามคำถามที่สร้างสรรค์ ขอคำติชม และนำไปใช้ในที่ทำงาน เพื่อแสดงให้หัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานเห็นถึงแรงจูงใจที่อยากจะเติบโตในอาชีพการงานของคุณ อีกทั้งควรฝึกการมีทัศนคติเชิงบวก การปฏิบัติตามกำหนดเวลา และอาสาทำงานในโครงการต่างๆ แม้จะอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบโดยตรงของคุณก็ตาม สิ่งนี้จะช่วยให้คุณโดดเด่นและแข็งแกร่งในโลกการทำงาน” เหงียน กล่าวเสริม 
.
ผู้นำองค์กรบางคนยืนกรานว่าทัศนคติเชิงบวกในการทำงาน จะช่วยส่งเสริมอาชีพของคนงานรุ่นใหม่ได้มากกว่าการจบปริญญาตรี

ตามความเห็นของ แอนดี้ แจสซี (Andy Jassy) ซีอีโอคนล่าสุดของ Amazon เขามองว่า ความสำเร็จของหนุ่มสาวในช่วงวัย 20 ปีจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับทัศนคติของคุณ เนื่องจากผู้บริหารหรือผู้จัดการในองค์กรส่วนใหญ่ มักชอบทำงานกับคนที่มีทัศนคติเชิงบวกมากกว่า ขณะที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ซีอีโอของบริษัท Meta สะท้อนมุมมองว่า พรสวรรค์ในการทำงานและบุคลิกภาพที่เหมาะสม ทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่า 

การไล่พนักงาน Gen Z ออก อาจเป็นเรื่องผิดพลาด! 
แม้นายจ้างบางส่วนอยากเลิกจ้างวัยทำงานชาว Gen Z แต่ในอีกมุมหนึ่ง การทำอย่างนั้นอาจเป็นเรื่องผิดพลาด โดย จอย เทย์เลอร์ (Joy Taylor) กรรมการผู้จัดการของบริษัทที่ปรึกษา Alliant อธิบายเรื่องนี้ผ่าน Newsweek ว่า นายจ้างยุคนี้จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับคนรุ่น Gen Z หากไล่พวกเขาออก “นั่นจะเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่” การดูแลเวิร์กโฟลว์ระหว่างพนักงานทุกรุ่นในองค์กรให้ราบรื่นนั้น มีความสำคัญต่อการรับมือความท้าทายทางธุรกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2025 ตั้งแต่การวางแผนการสืบทอดตำแหน่ง ไปจนถึงการปรับแนวทางวัฒนธรรมองค์กร 

“ไม่ว่านายจ้างจะชอบหรือไม่ก็ตาม คนรุ่น Gen Z กำลังนำมุมมองแบบ Blue Ocean มาสู่วัฒนธรรมการทำงานยุคใหม่ และการต่อต้านความเปลี่ยนแปลงนี้ แทนที่จะยอมรับและปรับตัว ถือเป็นการทำร้ายบริษัทอย่างมาก ส่งผลให้ผู้นำกลุ่ม Gen X หรือ Baby Boomers จำนวนมากไม่สามารถจัดตั้งองค์กรให้ประสบความสำเร็จและมีความยืดหยุ่นในระยะยาวได้ อีกทั้งยังพลาดโอกาสในการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของคนรุ่นใหม่” เทย์เลอร์กล่าว

เทย์เลอร์ บอกอีกว่า วัยทำงานรุ่น Gen Z มีพรสวรรค์บางอย่างที่นายจ้างสามารถเรียนรู้ได้ เช่น ความรู้ด้านดิจิทัล จิตวิญญาณของผู้ประกอบการ และความกล้าคิดกล้าพูด

อย่างไรก็ตาม เทย์เลอร์ มีข้อแนะนำถึงบริษัทต่าง ๆ ว่า การเรียนรู้ที่จะชื่นชมพรสวรรค์และความสามารถพิเศษเฉพาะตัวของคนทุกเจเนอเรชัน จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ ธุรกิจที่สามารถใช้ประโยชน์จากพรสวรรค์ที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้ได้ จะเป็นผู้ชนะของสนามธุรกิจในที่สุด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top