Tuesday, 22 April 2025
ลำไย

เดินหน้า “5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย” ปี 2565 “อลงกรณ์” ลุยภาคเหนือ ตั้งบอร์ดโครงการประกันราคาลำไยรูปแบบใหม่ พร้อมมอบศูนย์ AIC พัฒนาเพิ่มมูลค่าครบวงจร เร่งปฏิรูปผลไม้ไทยเชื่อมแผน 13 ขับเคลื่อนสู่ “เกษตรมูลค่าสูง”

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดลำพูน เพื่อติดตามงานนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ผู้บริหาร ข้าราชการ และหน่วยงานภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ

ในการนี้ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมภาคีเครือข่ายเกษตรกรภาครัฐและเอกชน เพื่อการขับเคลื่อนการบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือที่สำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูและประชุมทางไกลตามข้อสั่งการของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้(Fruit Board)โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นายภาษเดช  หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ผู้แทนคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตร ระดับจังหวัด (คพจ.) จังหวัดลำพูน และผู้แทนคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตร ระดับจังหวัด (คพจ.) จังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย ผู้แทนสภาเกษตรกรแห่งชาติ ผู้แทนหอการค้าจังหวัด ผู้แทนกรมการค้าภายใน ผู้แทนกรมการส่งเสริมค้าระหว่างประเทศ นายพงษ์ทร วิเศษสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ ประธานและ นายอมรพันธุ์ พูลสวัสดิ์ เลขานุการ คณะอนุกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยภาคเหนือ (กร.กอ.ภาคเหนือ) และหัวหน้าหน่วยราชการ และหน่วยงานภาคเอกชนด้านการขนส่ง ตัวแทนผู้ประกอบการ(ล้ง)ในจังหวัดลำพูน  ตัวแทนเกษตรกรแปลงใหญ่และศพก. และผู้ที่เกี่ยวข้องโดยมี นายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นฝ่ายเลขานุการ

ที่ประชุมได้รับทราบ (1) รายงานการคาดการณ์แนวโน้มผลผลิตภาคเหนือ ปี 2565 (2) รายงานผลการบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ ปี 2564 และปัญหาอุปสรรค และที่ประชุมได้ร่วมหารือพิจารณาในแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ ระดับพื้นที่ (AREA BASED)

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า กล่าวว่า ภายใต้โมเดลเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดตามยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตและ “5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย” ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นแนวทางในการบริหารจัดการผลไม้ในสภาวะวิกฤติโควิด-19 โดยเน้นร่วมบูรณาการทุกภาคส่วน และการใช้เทคโนโลยีเพื่อยืดอายุผลผลิต และแปรรูปยกระดับสู่อุตสาหกรรมเกษตรอาหารเพิ่มมูลค่ารายได้ให้มากขึ้น ซึ่งในปี 2565 และปีต่อๆ ไปได้วางเป้าหมายพลิกโฉมภาคเกษตรไทยมุ่งเน้นการทำเกษตรมูลค่าสูง ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566 -2570) ในมิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมายหมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตร และเกษตรมูลค่าสูง มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าของสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม การเพิ่มประสิทธิภาพของโครงสร้างพื้นฐานของภาคเกษตร และการสนับสนุนบทบาทของผู้ประกอบการเกษตร โดยมอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมหรือศูนย์AICภาคเหนือและอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือเร่งวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมรวมทั้งการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผลไม้

นายอลงกรณ์กล่าวว่าจังหวัดลำพูนเป็นศูนย์กลางลำไยภาคเหนือและเป็นเมืองหลวงลำไยโลก มีพื้นที่ปลูกลำไยกว่า 250,000 ไร่ เป็นแหล่งผลิตสำคัญในภาคเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน จากสถานการณ์การผลิต ปี 2560 – 2564 เนื้อที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 1,451,714 ไร่ ในปี 2560 เป็น 1,655,036 ไร่ ในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.13 ต่อปี ผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 1,200,804 ตัน ในปี 2560 เป็น 1,437,740 ตัน ในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.12 ต่อปี และผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก 827 กิโลกรัมในปี 2560 เป็น 869 กิโลกรัม ในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.004 ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งเสริมสนับสนุนของรัฐบาล อย่างไรก็ตามเรายังเผชิญปัญหาราคาลำไยตกต่ำในบางปีบางฤดูเป็นปัญหาซ้ำซากตลอดมาจึงให้ดำเนินการโครงการประกันราคาลำไยขั้นต่ำบนความร่วมมือระหว่างภาคเกษตรกรและภาคเอกชนโดยการสนับสนุนของภาครัฐเป็นโมเดลใหม่เพื่อให้ทุกภาคส่วนเป็นหุ้นส่วนกัน(Partnership model)แบบwin-winทุกฝ่ายเช่นที่กำลังดำเนินการกับอุตสาหกรรมกุ้งโดยบอร์ดกุ้งซึ่งภาคเอกชนตกลงกับเกษตรกรในการประกันราคาขั้นต่ำ โดยจะมีการประชุมภายใน2สัปดาห์หากเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายต่อไปจะขยายผลกับทุกกลุ่มสินค้าเกษตรต่อไป

นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ติดตามสถานการณ์ผลผลิตลำไยในพื้นที่ภาคเหนืออย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมการรองรับผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดล่วงหน้าตามแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตลำไยปี 2565 เช่น โครงการกระจายลำไยออกนอกแหล่งผลิต จังหวัดลำพูนโดย คพจ. ได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณจากเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อเตรียมการรองรับการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากและราคาผลผลิตตกต่ำ เป้าหมาย การสนับสนุนค่าบริหารจัดการกระจายผลผลิตลำไยออกนอกแหล่งผลิต การรับซื้อในราคานำตลาดตลอดจนแนวทางการบริการจัดการ ตั้งแต่ต้นทาง คือ เน้นตลาดนำการผลิต การลดต้นทุน พัฒนาคุณภาพมาตรฐานเพิ่มผลิตภาพการผลิต การทำลำไยนอกฤดูการสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนายกระดับมาตรฐานเน้นการใช้เทคโนโลยีแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้หลากหลายตามความต้องการของตลาด การซื้อขายล่วงหน้าระบบPre-order การบริการจัดการระบบขนส่งและเพิ่มระบบ Cold Chain Logistics

3 ทางเลือกทำลาย 'ลำไยอบแห้ง' อีกบทพิสูจน์ความโปร่งใสรัฐ

รู้หรือไม่? ในอดีตรัฐบาลไทยได้มีการแก้ไขปัญหากรณีลำไยอบแห้งค้างสต็อก ด้วยการจัดสรรงบประมาณทำลายทิ้ง เพื่อไม่ปล่อยให้ตัวลำไยไหลไร้คุณภาพไหลไปสู่ตลาด ถึงมือผู้บริโภค และคู่ค้าระหว่างประเทศ ถือเป็นอีกการแสดงออกถึงความรับผิดชอบ บนมาตรการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้

อันที่จริงแล้ว ในอดีตเกษตรกรภาคเหนือเคยร่ำรวยจากการขายลำไย จนบางรายถึงขั้นกล้าเปลี่ยนแปลงพื้นที่นา และพื้นที่ทำการเกษตรอื่นๆ ให้กลายเป็นสวนลำไยอย่างกว้างขวาง 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาราคาลำไยตก ก็เริ่มมีให้เห็น เมื่อเริ่มมีการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรเร่งการผลิตลำไยนอกฤดู ทำให้ราคาลำไยค่อยๆ ลดต่ำลงเป็นลำดับ 

คำถาม คือ เวลาเจอสถานการณ์เช่นนี้ ควรต้องเป็นความรับผิดชอบของใคร? เกษตรกรฝ่ายเดียวหรือไม่? 

คำตอบก็รู้ๆ กันอยู่แล้วว่า ไม่!! 

แน่นอนว่า ในห้วงที่ราคาผลผลิตทางการเกษตรดี ไม่มีเกษตรกรคนใดไม่อยากรวย ไม่อยากปลดหนี้ ฉะนั้นผู้ที่ควรรับผิดชอบที่สำคัญในจังหวะเวลาดังกล่าว จึงต้องเป็นหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาส่งเสริมการผลิต ไม่เว้นแม้แต่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ที่ปล่อยกู้อย่างมีเงื่อนไข หากเกษตรกรระบุวัตถุประสงค์การกู้ว่าจะนำเงินไปลงทุนปลูกลำไย ก็จะได้รับการอนุมัติอย่างรวดเร็ว และจนถึงวันที่ผลของการผลิตอย่างไม่มีการวางแผนการตลาดล่วงหน้าก็ย้อนกลับมาทำลายระบบตลาดลำไย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาลำไยเป็นปัญหาที่ต้องแก้ทั้งระบบอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นปัญหาที่สะท้อนการพัฒนาของประเทศ ทุกๆ ปัญหาที่ถาโถมเข้ามา รัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาจัดการแบบแก้ไปทำไป เพื่อต่อลมหายใจให้เกษตรกรไม่พังกันเป็นแถบ

มีกรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจ โดยย้อนไปในช่วงปี 2552 กับการแก้ปัญหาลำไยอบแห้งค้างสต็อกปี 2546/2547 กว่า 4.6 หมื่นตันที่ค้างคามานาน 

ตอนนั้นคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2552 ได้มีมติให้ทำลายลำไยด้วยวงเงินไม่เกิน 90 ล้านบาท แต่ยังเป็นที่ถกเถียงว่าจะทำลายด้วยวิธีใดที่จะคุ้มค่าที่สุดและไม่เปลืองงบประมาณ ที่สุด

ผลจากการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการและทำลายลำไยอบแห้งปี 2546 และปี 2547 ครั้งที่ 1/2552 ในวันที่ 24 มิถุนายน โดยมีนายจรัลธาดา กรรณสูตร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นประธานคณะกรรมการ ได้สรุป 3 แนวทางในการจัดการปัญหาลำไยค้างสต็อกเพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 30 มิถุนายน 2552

>> แนวทางแรก : เป็นการบดแล้วนำไปทำลายด้วยการฝังกลบ 
>> แนวทางที่สอง : เป็นการบดแล้วนำไปทำลายด้วยการเผา 

ทั้ง 2 วิธีนี้ จะใช้งบประมาณในการทำลายเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.67 บาท รวมกับค่าดำเนินการอีกกิโลกรัมละ 0.25 บาท เบ็ดเสร็จเชื่อว่างบประมาณที่ใช้ในการทำลายขึ้นกับปริมาณลำไยอบแห้งค้างสต็อกคาดว่าจะไม่เกิน 78 ล้านบาท

>> ส่วนแนวทางที่สาม : เป็นการนำไปทำพลังงานชีวมวลโดยการนำลำไยดังกล่าวบดให้ละเอียดแล้วอัดเป็นแท่งตะเกียบ โดยความร่วมมือของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และศูนย์วิจัยพลังงานชีวมวล คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องต้นแบบแล้วจำนวน 3 เครื่อง วิธีนี้ใช้วิธีการทำลายจำนวน 60 ล้านบาท

นายจรัลธารา ยืนยันว่าทั้ง 3 แนวทางจะโปร่งใสไม่มีลำไยค้างสต็อกออกมาเล็ดลอดปลอมปนกับลำไยที่กำลังจะออกสู่ท้องตลาดในฤดูกาลใหม่ในขณะนั้นอย่างแน่นอน เพราะจะมีการทำลายด้วยการบดละเอียดทีละโกดังที่กระจายอยู่ทั้งหมด 59 โกดังใน 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่, เชียงราย, ลำพูน และลำปาง อีกทั้งยังเป็นการเช็กสต็อกลำไยอบแห้งไปด้วยในตัว หากปริมาณที่บดทำลายน้อยกว่าที่ขึ้นทะเบียนไว้ไม่ตรงกันโดยหักค่าเสื่อมน้ำหนักไม่เกิน 10% เจ้าของโกดังต้องเป็นผู้รับผิดชอบตามกฎหมายโดยถือเป็นจำเลยที่ 1

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ 3 ถือเป็นแนวโน้มที่มีความเป็นไปได้กว่า 70-80% ซึ่งหลายฝ่ายก็เห็นด้วยและ ครม.ก็ไม่ติดขัดให้ดำเนินการทำลายแล้วนำมาอัดแท่งเป็นเชื้อเพลิงแท่งตะเกียบ 

‘ภูมิธรรม’ ยิ้มปลื้ม ลำไยราคาพุ่ง หลังภาครัฐช่วยหาตลาดให้ ‘เกษตรกร’ เร่งประสาน ‘กลาโหม-แรงงาน-มหาดไทย’ แก้ไขปัญหา ขาดแคลนแรงงาน

(4 ส.ค. 67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังนำคณะลงพื้นจังหวัดลำพูน ที่ บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด ต.น้ำดิบ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ช่วงเย็นวานนี้ (3 ส.ค.67) เพื่อติดตามการรับซื้อลำไยสดช่อ และพบปะเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ซึ่งบริษัทรับซื้อลำไยสดจากชาวสวนในพื้นที่ มาคัดแยกเกรดและนำเข้าห้องรมเพื่อยืดอายุผลผลิตก่อนส่งไปยังปลายทางในตลาดสำคัญอย่างจีนและอินเดีย

นายภูมิธรรม ระบุว่า มาที่นี่วันนี้ ‘ใจพองโต’ เพราะราคาลำไยแพง เกษตรกรพอใจ ซึ่งก่อนหน้านี้ท่านนายกฯได้ รับปากเกษตรกรในการดูแลราคาลำไย และสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้ราคาขึ้นลงไปตามธรรมชาติ ปัจจัยที่ทำให้ราคาลำไยราคาขึ้นสูง ปัจจัยแรกเพราะผู้ผลิต เกษตรกรทุ่มเทเอาใจใส่ในการปลูก ทำลำไยคุณภาพ ปัจจัยที่สองภาครัฐช่วยกันบริหารจัดการ หาตลาดให้กับเกษตรกร และคนกลางก็ช่วยกันรับซื้ออย่างครบวงจร

“ผมได้ให้นโยบายกระทรวงพาณิชย์ยึดหลักสมดุลไม่มีใครได้อยู่คนเดียว ต้องพึ่งพาร่วมมือกัน รัฐอำนวยความสะดวก ในการลงพื้นที่ผู้ประกอบการแจ้งกับผมว่าประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน จึงได้ประสานกับหลายภาคส่วนในการเร่งแก้ไขปัญหา ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงกลาโหม ผู้บังคับการตำรวจภูธร ขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันคลี่คลายปัญหา รัฐบาลพร้อมช่วยกันทำงานดูแลราคาพืชผลโดยใช้ทุกกลไกเป้าหมาย เพื่อให้ผลผลิตเกษตรกรมีราคาดีและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นายภูมิธรรม กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานมีนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน นายณธกฤษ เอี่ยมสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเกษตรกรชาวสวนลำไยในพื้นที่เข้าร่วมด้วย ข้อมูลจากกรมการค้าภายในระบุว่า สำหรับปริมาณผลผลิตลำไยทั้งประเทศในปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณอยู่ที่ 1,438,137 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 2% แหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่ภาคเหนือ คาดการณ์ปริมาณผลผลิตที่ 994,953 ตัน คิดเป็น 69% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด โดยช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย.2567 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกลำไยสดรวม 165,231 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ในช่วงเดือนเดียวกัน 23% ตลาดสำคัญ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และอินเดีย กระทรวงพาณิชย์ได้ออก 5 มาตรการในการบริหารจัดการลำไย ปี 2567 จำนวนกว่า 91,609 ตัน ในการร่วมมือทุกภาคส่วนกระจายและดูดซับผลผลิต ขณะนี้ ลำไยช่อเกรด AA ราคาเฉลี่ย 38-43 บาท/กก. ราคาสูงกว่าปีก่อนหน้า 25% ลำไยช่อ เกรด A ราคาเฉลี่ย 33-38 บาท/กก. ราคาสูงกว่าปีก่อนหน้า 29% ลำไยรูดร่วง เกรด AA ราคาเฉลี่ย 32-35 บาท/กก. ราคาสูงกว่าปีก่อนหน้า 43% และลำไยรูดร่วง เกรด A ราคาเฉลี่ย 17-18 บาท/กก. ราคาสูงกว่าปีก่อนหน้า 13%


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top