Sunday, 20 April 2025
ราคาก๊าซหุงต้ม

'รสนา' พร้อมยกพลขอบคุณ 'พีระพันธุ์' ถึงทำเนียบ ถ้าราคา LPG ครัวเรือนต่ำสุดที่ 219 บาท ต่อ 15 กก.ได้จริง

(29 ธ.ค. 66) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า…

ข่าวเชียร์พีระพันธุ์สอนมวยก้าวไกลตอบกระทู้ในสภาว่าครัวเรือนได้ค่าก๊าซหุงต้มต่ำสุดที่ถังละ 219 บาท แต่ราคาจริงยังอยู่ที่ 495.75 บาท/ถัง

ดิฉันได้ดูคลิปที่มีคนทำขึ้นมาเชียร์รมว.พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สอนมวยก้าวไกลในการตอบกระทู้เรื่องพลังงานในรัฐสภา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ว่าคำถามเรื่องพลังงานของก้าวไกลล้าสมัยหมดแล้ว โดยระบุมีมติ กพช. เรื่องการจัดสรรราคาก๊าซจากอ่าวไทยใหม่แล้ว เมื่อ 7 ธันวาคม 2566 ว่าปิโตรเคมีได้ใช้ก๊าซในราคา 362 บาทเท่ากลุ่มอุตสาหกรรมอื่น (ไม่ได้ระบุว่าราคาต่อหน่วยอะไร)

ส่วนประชาชนในครัวเรือนได้ใช้ LPG เป็นก๊าซหุงต้มในราคาถูกที่สุด ที่ราคา 219 บาท ท่านไม่ได้ระบุเช่นกันว่า 219 บาทเป็นราคาต่อหน่วยอะไร

ดิฉันอนุมานว่า 219 บาทน่าจะเป็นราคาก๊าซหุงต้มต่อถัง 15 กิโลกรัมจากโรงแยกก๊าซที่ยังไม่ได้บวกภาษี และค่าการตลาด เมื่อสันนิษฐานเช่นนี้ แสดงว่าก๊าซหุงต้มราคาต่อกิโลกรัมคือ 14.60 บาท

แต่เมื่อมาดูตารางราคาก๊าซ LPG ในโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มในตารางส้มของวันนี้ (วันที่ 28 ธันวาคม 2566) จะพบว่าราคาเนื้อก๊าซหน้าโรงแยก ที่ยังไม่ได้รวมภาษี และค่าการตลาด ราคายังอยู่ที่กิโลกรัมละ 25.7135 บาท ซึ่งตัวเลขยังไม่ได้ปรับลดลงเป็นกิโลกรัมละ 14.60 บาท (219 บาท/15 กิโลกรัม) ตามที่ท่านรัฐมนตรีตอบกระทู้ในสภา

ราคาก๊าซในตารางส้ม เนื้อก๊าซหน้าโรงแยก ราคากิโลกรัมละ 25.7135 บาท เมื่อบวกภาษี ค่าการตลาด และเอากองทุนน้ำมันมาชดเชยราคา - 7.1826 บาท ทำให้ราคาเนื้อก๊าซปลายทางมีราคากิโลกรัมละ 25.87 บาท ถ้าไม่เอากองทุนฯ มาอุ้มราคา 7.1826 บาท ราคาก๊าซหุงต้มขายปลีกจะมีราคากิโลกรัมละ 33.0526 บาท เมื่อคำนวณราคาต่อถัง 15 กิโลกรัม ราคาขายปลีกจริงคือ 495.789 บาท

ถ้าราคา LPG สำหรับครัวเรือนตามที่ท่านพีระพันธุ์พูดว่าจะได้ราคาต่ำสุดที่ 219 บาทนั้น หากการอนุมานของดิฉันถูกต้อง ราคาเนื้อก๊าซหุงต้มจะเป็นราคากิโลกรัมละ 14.60 บาท เมื่อรวมภาษีและค่าการตลาดแล้วจะเป็นราคากิโลกรัมละ 21.65 บาท ราคาต่อถัง 15 กิโลกรัมจะมีราคาเพียง 324.75 บาท ถูกกว่าราคาปัจจุบันที่ 495.75 บาท/ถัง และไม่ต้องใช้กองทุนน้ำมันมาอุ้มราคา และถูกกว่าราคาที่รัฐบาลจะตรึงราคาที่ถังละ 423 บาทไปถึง เดือนมีนาคม 2567 อีกด้วย

ดิฉันต้องขอให้ท่านรัฐมนตรีกรุณาตอบคำถามให้ชัดเจนว่าตัวเลขที่ท่านบอกว่าครัวเรือนจะได้ใช้ก๊าซอ่าวไทยถูกที่สุดในราคา 219 บาทนั้น เป็นไปที่ดิฉันคำนวณหรือไม่ หากไม่ใช่ ก็ขอให้ท่านกรุณาตอบให้ดิฉันได้ทราบว่าก๊าซหุงต้มตามตัวเลขที่ท่านตอบกระทู้ในสภานั้น จะมีราคาขายปลีกเท่าไหร่กันแน่ ?

ขอคำตอบชัด ๆ ให้กับกระทู้นอกสภาของดิฉันด้วย !!

ถ้าท่านรัฐมนตรีสามารถทำให้ครัวเรือนได้ใช้ก๊าซหุงต้มราคาหน้าโรงแยกที่ 219 บาท/15 กิโลกรัมได้จริง จะถือว่าท่านได้ทำการแก้ไขต้นทุนก๊าซหุงต้มที่เป็นธรรมต่อประชาชนอย่างแท้จริง และถ้าท่านทำได้จริงตามที่พูด ดิฉันจะเชิญชวนประชาชนไปร่วมขอบคุณท่านรัฐมนตรีถึงทำเนียบรัฐบาลเลยทีเดียว 

ส่องสถานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบอ่วม!! แตะ 1.1 แสนล้านบาท จำใจขยับดีเซล 50 สต. แต่ยังพยุง LPG 423 บาท ถึง 30 มิ.ย.67

(25 พ.ค.67) คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้อนุมัติขยายกรอบวงเงินชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เพิ่มขึ้นอีก 2,000 ล้านบาท (จากเดิมกำหนดกรอบวงเงินไว้ 48,000 ล้านบาท) ส่งผลให้กรอบวงเงินสำหรับชดเชยราคา LPG ปัจจุบันรวมเป็น 50,000 ล้านบาท

โดย ณ วันที่ 19 พ.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้รายงานว่า มีการใช้เงินชดเชยราคา LPG ไปแล้วรวม 47,624 ล้านบาท ซึ่งใกล้เต็มกรอบวงเงิน 4.8 หมื่นล้านบาท ดังนั้น กบน. จึงได้ขยายกรอบวงเงินเพื่อชดเชยราคา LPG เป็น 50,000 ล้านบาท เพื่อตรึงราคา LPG ให้อยู่ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่กำหนดให้ตรึงราคาดังกล่าวจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2567

ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในบัญชี LPG ได้ชดเชยราคา LPG อยู่ที่ 4.15 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้ราคาขายปลีกอยู่ที่ 25.87 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ทำให้กองทุนฯ มีเงินไหลออกจากการชดเชยราคา LPG ประมาณ 44.47 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 1,334 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่ราคา LPG โลกยังทรงตัวในระดับสูงที่ 582.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน

สำหรับการตรึงราคา LPG ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ทาง กบง. ได้เริ่มตรึงราคามาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2566 รวมเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว และย้อนไปในช่วงเดือน มี.ค. 2567 กบง. ได้มีมติให้ตรึงราคา LPG ไว้ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่าง 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 2567 นี้ โดยให้กองทุนน้ำมันฯ ชดเชยราคาเฉพาะเดือน เม.ย. 2567 ส่วนเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2567 จะของบกลางจากรัฐบาลมาชดเชยราคาแทน 

แต่ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2567 ได้มีมติเห็นชอบให้ตรึงราคา LPG ตามเดิมที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม โดยให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ดูแลเอง ซึ่งหมายถึงรัฐบาลไม่ได้จัดสรรงบกลางมาช่วยตรึงราคา LPG แต่อย่างใด จึงส่งผลให้ เมื่อต้นเดือน พ.ค. 2567 กบน. ต้องมีมติเพิ่มกรอบวงเงินเพื่อใช้ชดเชยราคา LPG เป็น 50,000 ล้านบาทดังกล่าว

ส่วนฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด ณ วันที่ 19 พ.ค. 2567 ยังติดลบอยู่ 110,854 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 63,230 ล้านบาท ส่วนบัญชี LPG ติดลบ 47,624 ล้านบาท

โดยกองทุนน้ำมันฯ จะต้องเร่งดำเนินการให้เงินไหลเข้ากองทุนน้ำมันฯ มากขึ้น เนื่องจากได้กู้เงินกับสถาบันการเงินรวม 105,333 ล้านบาท เมื่อปี 2565-2566 และจะเริ่มครบกำหนดต้องจ่ายคืนเงินต้นก้อนแรกที่ยืมมา 30,000 ล้านบาท ในเดือน พ.ย. 2567 นี้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า กบน. ได้พยายามปรับขึ้นราคาดีเซลครั้งละ 50 สตางค์ต่อลิตร เพื่อลดภาระการชดเชยราคาลง โดยมีการขึ้นราคาดีเซลรวมไปแล้ว 5 ครั้ง รวมราคา 2.50 บาทต่อลิตร ขณะเดียวกันก็พยายามแก้ปัญหาโดยลดการชดเชยราคา LPG ลง แต่เมื่อ ครม. ไม่อนุมัติเงินมาช่วย จึงทำให้กองทุนฯ ยังต้องดึงเงินในกองทุนฯ มาพยุงราคาต่อไปก่อน  

กบง. ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม 423 บาทต่อถังอีก 3 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. - 30 มิ.ย. 68 ช่วยบรรเทาค่าครองชีพประชาชน

(27 มี.ค.68) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อพิจารณาการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภายหลังจากการประชุม นายพีระพันธ์ฯ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติให้คงราคาขายส่งก๊าซ LPG หน้าโรงกลั่นที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีกรอบเป้าหมายให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2568 และให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.)พิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าช LPG ต่อไป

นายพีระพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม กบง. ยังได้มีการพิจารณาแนวทางการลดค่าไฟฟ้าจากค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ (Policy Expense) ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เสนอให้ทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการสนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งในรูปแบบ Adder และ Feed -in Tarff เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งจะส่งผลให้ข้อเสนอการปรับลดค่าไฟฟ้าของ กกพ. สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง และไม่ขัดต่อกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างคำสั่งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เรื่อง แต่งตั้งอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการกำหนดอายุสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Non-Firm เพื่อลดผลกระทบค่าไฟฟ้า และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอร่างคำสั่งต่อประธาน กบง. พิจารณาลงนามต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top