Tuesday, 22 April 2025
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

วิวาทะเดือด!! ผู้ว่าแบงก์ชาติ VS รมว.พาณิชย์

จากช่วงหนึ่งของปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา 'Big Heart Big Impact สร้างโอกาสคนตัวเล็ก..Power of Partnership จับมือไว้ไปด้วยกัน' ในหัวข้อ 'สร้างไทยเข้มแข็งด้วยท้องถิ่นนิยม Localism Future of Thailand' เมื่อวันที่ 13 ก.ย.67 โดย 'นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ' ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้กล่าวว่า...

"การเติบโตของประเทศไทย ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะเติบโตแบบเดิม ๆ ไม่ได้แล้ว แต่ต้องหาการเติบโตแบบใหม่ โดยเฉพาะในแง่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่เราไม่ควรโตแบบล่าตัวเลขจีดีพี หรือตัวเลขการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (เอฟดีไอ) แต่ต้องพิจารณาในส่วนของจีดีพี หรือเอฟดีไอ จะสามารถสร้างประโยชน์ความเป็นอยู่ของคนในประเทศได้มากน้อยเท่าใด เพราะตัวเลขที่ต้องล่า คือความมั่งคั่งรายได้ของครัวเรือน ที่สะท้อนความเป็นอยู่ของประชาชน อาทิ สาธารณสุข การศึกษา เพราะตัวเลขที่ผ่านมาไม่ได้สะท้อนความเป็นอยู่ของคน เราจึงต้องพึ่งพาความเข้มแข็งจากภายในประเทศมากขึ้น"

ด้าน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้กล่าวตอบโต้ผ่านช่วงหนึ่งภายหลังการเผยถึงทิศทางและนโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ ว่า กระทรวงพาณิชย์จะเร่งดำเนิน 10 นโยบายสำคัญ เมื่อวันที่ 16 ก.ย.67 ด้วยว่า...

"ผมไม่ได้เป็นคู่แค้นกับแบงก์ชาติ แต่ที่ผ่านมาค่าเงินประเทศคู่แข่งอ่อนแต่ของไทยไม่อ่อน ผมว่ามันไม่ถูกต้อง ผมยังงงว่าผู้ว่าแบงก์ชาติออกมาพูดในเชิงว่าประเทศไทยไม่ต้องไปมุ่งเน้นจีดีพีมาก ผมไม่รู้ท่านเรียนจบจากที่ไหนมา เพราะเป็นความคิดที่ผิด เพราะจีดีพีคือ รายได้ของประเทศ หากไม่มีรายได้จะเอาเงินที่ไหนมากระจายให้ประชาชน...

"ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติพูดเหมือนคนไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร มันเป็นวิธีคิดที่ผิดปกติ จะทำนโยบายแค่ให้คนมีความสุขมันไม่ได้ เพราะถ้าคน ไม่มีเงิน ไม่มีรายได้เพิ่มคนจะมีความสุขได้อย่างไร ยิ่งมีภาระหนี้เยอะยิ่งต้องแก้ปัญหาหนี้ ซึ่งเร็ว ๆ นี้ผมจะนัดหารือกับผู้ว่าแบงก์ชาติ เพื่อทำความเข้าใจและหารือเกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าว"

”พิชัย“ เปิด Bangkok Jewelry Week 2024 ปักหมุด Landmark กรุงเทพฯ บางรัก-สัมพันธ์วงศ์-พระนคร เป็นถนนท่องเที่ยวสายอัญมณีและเครื่องประดับไทย ต้อนรับผู้รักอัญมณีจากทั่วโลก

(19 ต.ค. 67) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงาน Bangkok Jewelry Week 2024 (เส้นทางถนนสายอัญมณีและเครื่องประดับ) จัดโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ณ ลานมิ่งเมือง ชั้น 1 ศูนย์การค้าดิโอลด์สยาม พลาซ่า เป็นโครงการพัฒนาต่อยอดเครื่องประดับ เพื่อการท่องเที่ยวชุมชนเก่าแก่เชิงสร้างสรรค์บนถนนสายอัญมณีและเครื่องประดับในกรุงเทพมหานคร เริ่มตั้งแต่บางรัก สัมพันธ์วงศ์ และพระนคร ซึ่งถือได้ว่าเป็นชุมชนเก่าแก่และเป็นสัญลักษณ์ของการเติบโตของชุมชนเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนาน เป็นแหล่งที่รวมพหุวัฒนธรรม และงานฝีมือ การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่มีอัตลักษณ์ สร้างการจดจำ นำ Soft Power ท้องถิ่นให้ทั่วโลกได้เห็นมากยิ่งขึ้น

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การจัดงาน Bangkok Jewelry Week 2024 นับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งและเป็นก้าวแรกสร้าง Landmark แห่งใหม่ให้กับกรุงเทพมหานคร สร้าง“เส้นทางท่องเที่ยวสายอัญมณีและเครื่องประดับ: บางรัก สัมพันธ์วงศ์ พระนคร” ผลักดันให้กรุงเทพ และประเทศไทยเป็น “หมุดหมาย” ของผู้ที่รักอัญมณีและเครื่องประดับ ให้กับทุกคนที่คิดจะซื้ออัญมณีหรือเครื่องประดับต้องคิดถึงประเทศไทย และ ตรงมาที่ Landmark แห่งนี้ ซึ่งมั่นใจได้เลยว่าจะได้เครื่องประดับที่มีมาตรฐานอย่างแน่นอน ผ่านการรับรองจากสถาบัน GIT และการเป็นสมาชิกในโครงการเลือกซื้อด้วยความมั่นใจ (Buy With Confidence)

นอกจากนี้ ยังได้เห็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ และเอกชนทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ เป็นพี่เลี้ยงหรือกูรูให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก และรายย่อย เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ และผู้ประกอบการจากภูมิภาคต่างๆ มาแสดงผลงานและจำหน่ายสินค้า ให้คนตัวใหญ่ช่วยคนตัวเล็ก เปิดโอกาสให้คนที่อยากจะมีแบรนด์เป็นของตัวเอง หรืออยากมีเครื่องประดับฝีมือตนเอง ได้เข้ามาทดลองผ่าน Workshop และนิทรรศการต่าง ๆ รวมถึงการเปิดให้เข้าชมโรงงานผลิตเครื่องประดับแบบ Exclusive เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในถนนสายอัญมณีและเครื่องประดับ บางรัก สัมพันธวงศ์ และพระนคร ผ่านการท่องเที่ยวที่มีทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติเข้าร่วมชมงานและเลือกซื้อสินค้าที่มีมาตรฐาน อีกทั้ง จะสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่แปลกใหม่และน่าสนใจบนเส้นทางถนนสายอัญมณีและเครื่องประดับ ที่สร้างการรับรู้ด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาความเป็น “Thailand: Land of Jewel” และช่วยให้ทุกภาคส่วนสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป

“ผมทำจิวเวอรี่มาก่อน ดีใจที่ธุรกิจนี้เติบโต เป็นธุรกิจที่คนซื้อดีใจคนขายก็ดีใจ เป็นธุรกิจที่ดี ทุกวันนี้ก็ยังติดตามราคาอัญมณีและทองอยู่เสมอ วันนี้ทองก็ยังมีแนวโน้มจะขึ้น เพราะคนมาถือทองมากขึ้น ยังมีโอกาส และสำหรับเพชรพลอยและเครื่องประดับตนเชื่อว่ายังสามารถโตได้  ซึ่งผมและกระทรวงพาณิชย์ จะส่งเสริมจิวเวอรี่ต่อไป ยินดีช่วยแก้ไขปัญหาให้ผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถส่งออกและขายได้ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงและมีผู้เกี่ยวข้อง มีการจ้างงานเป็นจำนวนมาก สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้มาก” นายพิชัยกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานฯ นายพิชัยได้มอบใบรับรองโครงการเลือกซื้อด้วยความมั่นใจ (Buy With Confidence) ให้กับผู้ประกอบการ จำนวน 25 ราย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับให้กับผู้บริโภคด้วย สำหรับงานเทศกาลเส้นทางการท่องเที่ยวถนนสายอัญมณีและเครื่องประดับ Bangkok Jewelry Week 2024 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-25 ตุลาคม 2567 พร้อมมีกิจกรรม Press Tour สถานที่ท่องเที่ยวและเยี่ยมชม Landmark ธุรกิจอัญและเครื่องประดับที่สำคัญในเขตบางรักและเขตสัมพันธวงศ์ด้วย สำหรับผู้สนใจ ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Fan page : Bangkok Jewelry Week

‘พิชัย’ จับมือทูตแคนาดา เร่งเครื่องเจรจาเอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา พร้อมนัดถกรัฐมนตรีการค้าแคนาดาช่วงประชุมเอเปคที่เปรู ขยายโอกาสการค้าในตลาดอเมริกาเหนือ

เมื่อวันที่ (28 ต.ค. 67) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการหารือกับนางสาวปิง คิตนีกอน (H.E. Ms. Ping Kitnikone) เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย ณ กระทรวงพาณิชย์ ว่าเป็นครั้งแรกที่ทั้งสองฝ่ายได้พบกันหลังจากที่ได้เข้ารับตำแหน่ง โดยเน้นย้ำความพร้อมของไทยในการทำงานร่วมกับแคนาดาอย่างใกล้ชิด 
เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ระหว่างกัน

นายพิชัย กล่าวว่า ไทยพร้อมเปิดรับการลงทุนจากแคนาดาที่มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงการจัดการทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพ ซึ่งสอดรับกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ด้านพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล พร้อมต่อยอดความร่วมมือกับแคนดาด้าน AI และ Cybersecurity อีกทั้ง ไทยยังมีศักยภาพเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคและระดับโลกได้นอกจากนี้ ไทยยังสามารถขยายโอกาสทางเศรษฐกิจกับแคนาดาเพื่อเชื่อมโยงไปยังกลุ่มประเทศ G7 ที่แคนาดามีความตกลงการค้าเสรีครบทุกประเทศแล้ว

นายพิชัย เสริมว่า ตนได้ขอบคุณแคนาดาที่มีแผนจะนำคณะนักธุรกิจแคนาดาสาขาต่าง ๆ มายังไทยช่วงเดือนพฤษภาคม 2568 พร้อมทั้งได้เชิญชวนภาคธุรกิจเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้าของกระทรวงพาณิชย์ที่จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศร่วมกับภาคเอกชน เช่น งานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX-ANUGA ASIA (27-31 พฤษภาคม 2568) ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารที่ใหญ่ของเอเชีย เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างกันด้วย
นายพิชัย กล่าวต่ออีกว่า ไทยและแคนาดาเห็นพ้องที่จะสนับสนุนการเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ให้เสร็จตามเป้าหมายในปี 2568 ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจทั้งสองประเทศ และขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน สามารถเชื่อมโยงทั้งสองภูมิภาคให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น และความตกลงดังกล่าวยังถือเป็น FTA แรกของไทยกับประเทศในภูมิภาคอเมริกาเหนือ

นอกจากนี้ ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ตนยังได้พบกับนายกรัฐมนตรีแคนาดา (นายจัสติน ทรูโด) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการส่งเสริมการส่งออก การค้าระหว่างประเทศ และการพัฒนาเศรษฐกิจ ของแคนาดา (นาง Mary Ng) และในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเอเปค (APEC Ministerial Meeting: AMM) ครั้งที่ 35 กลางเดือนพฤศจิกายน 2567 ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ที่จะถึงนี้ ตนจะมีโอกาสพบหารือกับ นาง Mary Ng อีกครั้ง เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในเชิงลึกระหว่างไทยและแคนาดาต่อไป

ในปี 2566 แคนาดาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 30 ของไทย โดยการค้ารวมของไทยและแคนาดา มีมูลค่า 2,933.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 10.41 โดยไทยส่งออกไปยังแคนาดามูลค่า 1,903.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 10.07 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์  เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ไทยนำเข้าจากแคนาดามูลค่า 1,030.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 11.03 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

“พิชัย” หารือประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ชวนนักธุรกิจญี่ปุ่นลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทค PCB - Data Center เพิ่ม หวัง ญี่ปุ่นกลับมาเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของไทยอีกครั้ง

(2 พ.ย. 67) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือกับนายอิชิอิ เคตะ (Ishii Keita) ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น และคณะผู้บริหารบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น ได้แก่ ITOCHU Cooperation, Kawasaki Heavy Industries (Thailand) Co., Ltd., Sumitomo Corporation Thailand Ltd., Knowledge Creation Technology Co., Ltd., Japan Airlines Co., Ltd. และ Toyota Tsusho (Thailand) Co., Ltd. ว่าเป็นครั้งแรกที่ทั้งสองฝ่ายได้พบหารือกันหลังจากที่ได้เข้ารับตำแหน่ง โดยเน้นย้ำว่าไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่ดีมาอย่างยาวนาน ลึกซึ้งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยมาโดยตลอด นอกจากนี้ ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศพันธมิตรทางการค้าที่สำคัญของไทยมีการลงทุนสะสมในไทยมากเป็นอันดับ 1 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 1 ใน 4 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด มีบริษัทญี่ปุ่นลงทุนในไทยเกือบ 6,000 บริษัท หลังจากที่การลงทุนจากญี่ปุ่นจางหายไปช่วงระยะเวลากว่า 10 ปี จนกระทั่งได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

พร้อมทั้งชักชวนนักลงทุนญี่ปุ่นมาลงทุนธุรกิจ เป็นฐานการผลิตในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของญี่ปุ่น เช่น แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ ดิจิทัล AI ซึ่งรัฐบาลไทยพร้อมส่งเสริมการลงทุนจากญี่ปุ่น โดยไทยมีศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้ นอกจากนี้ ไทยยังมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางความมั่งคงทางอาหาร (Food Security Hub) โดยเป็นคลังสินค้าและส่งออกอาหารให้กับทุกประเทศที่ต้องการรวมถึงญี่ปุ่น สอดคล้องกับนโยบายบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นที่เข้าพบหารือในวันนี้ ซึ่งผู้บริหารบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นได้แสดงความพร้อมในสนับสนุนภาคเอกชนของญี่ปุ่น ให้เข้ามาลงทุนในสาขาเหล่านี้ในไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงสาขาอื่นๆ ที่อยู่ในแผนการขยายการลงทุนในไทยของคณะฯ เช่น ไฮโดรเจน พลังงานสีเขียว ธุรกิจบริการ ด้วยเช่นกัน โดยฝ่ายญี่ปุ่นได้แสดงความตั้งใจที่จะขยายการลงทุนให้กลับมาเป็นผู้นำในการลงทุนในไทยอีกครั้ง

ทั้งนี้ หอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Japan Chamber of Commerce and Industry: JCCI) เป็นองค์กรทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ประกอบด้วยสภาท้องถิ่น 515 แห่ง และ มีจำนวนสมาชิกทั่วโลกกว่า 1.25 ล้านราย ตั้งแต่บริษัทขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดเล็กและขนาดกลาง คิดเป็น 1 ใน 3 ของบริษัททั้งหมดในญี่ปุ่น โดยประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในพันธมิตรทางการค้าที่สำคัญยิ่งของไทยด้วยขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย ในปี 2566 ไทยและญี่ปุ่นมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 55,861 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออกจากไทยไปญี่ปุ่น 24,670 ล้านเหรียญสหรัฐ (สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องจักร แผงวงจรไฟฟ้า) และการนำเข้าของไทยจากญี่ปุ่นมูลค่า 31,191 ล้านเหรียญสหรัฐ (สินค้านำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องจักรกล เหล็ก เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า)

'พิชัย' ลุยเซี่ยงไฮ้ ถกภาคเอกชนไทยในจีน 16 บริษัท เร่งแก้อุปสรรคการค้า จับคู่นักลงทุนไทย-จีน ย้ำ สถานการณ์การลงทุนในไทยวันนี้ดีต่อเนื่อง!

(6 พ.ย. 67) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ภายหลังหารือกับบริษัทไทยในจีน และคณะภาคเอกชนจากไทย(คณะหอการค้าไทยในจีน) จำนวน 16 บริษัท อาทิ อาหาร ขนมขบเคี้ยว น้ำตาล แป้งมัน พลาสติก ธนาคาร รังนก สุขภาพและความงาม เป็นต้น ร่วมกับผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ กงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ทูตพาณิชย์ และทูตเกษตร ณ สถานกงสุลใหญ่ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคการค้าให้กับผู้ประกอบการ ในช่วงระหว่างเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเข้าร่วมงาน China International Import Expo - CIIE ครั้งที่ 7 ซึ่งเป็นงานมหกรรมแสดงสินค้านานาชาติประจำปีของจีน โดยงาน CIIE ครั้งนี้ประเทศไทยนำผู้ประกอบการ 80 รายเข้าร่วม มาจากกระทรวงพาณิชย์ 20 ราย ซึ่งสินค้าไทยเป็นที่ชื่นชอบในจีน ช่วยสร้างโอกาสในการทำรายได้เข้าประเทศ 

นายพิชัย กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่ต้องส่งเสริมผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในต่างประเทศให้มีการเจริญเติบโตและพัฒนามากยิ่งขึ้น เราอยากเห็น 80% ของงานกระทรวงพาณิชย์ คือการส่งเสริมให้เกิดการค้าการลงทุนมากๆ ส่วน 20% แค่คุมสิ่งที่จำเป็นไม่ให้มีปัญหาเท่านั้น วันนี้ได้คุยกับผู้ประกอบการไทย ทำให้ได้ข้อมูลเยอะ ได้ทราบว่าเราส่งออกรังนกมาจีนถึง 60,000 กว่าล้านบาท ถ้ามีการแก้ปัญหาข้อกฎหมายบางอันได้ จะสามารถส่งออกได้มากถึง 100,000 ล้านบาท และเรื่องแบงค์ของไทย เช่น ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ที่ได้มาตั้งสำนักงานที่จีนมานาน ระบุว่า มีนักลงทุนจีนที่สนใจจะมาลงทุนเมืองไทย อยากให้ช่วย Matching จับคู่ธุรกิจกับนักลงทุนไทย เพื่อให้มีการลงทุนจากจีนมากยิ่งขึ้นให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ โดยเฉพาะธุรกิจไฮเทค วันนี้เราจะต้องพัฒนาไปทางด้านไฮเทค โดยเมื่อวานนี้ตนได้เดินทางไปที่บริษัทหัวเว่ย มีการเปิดศูนย์พัฒนาใหม่มูลค่ากว่า 80,000 ล้านบาท มีพนักงานมาอบรมถึง 30,000 คน และจะเปิดโอกาสให้คนไทยมาอบรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้ได้เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีต่าง ๆ วันนี้โลกเปลี่ยนต้องแข่งด้วยความฉลาด ทำอย่างไรให้คนของเราฉลาดเพียงพอ เป็นเรื่องที่สำคัญที่เราอยากเห็นให้เกิดขึ้น ต้องช่วยกันสนับสนุน

นายพิชัยกล่าวต่อว่า วันนี้ประเทศไทยกลับเข้าสู่เวทีโลกอย่างเด่นชัด ได้รับการติดต่อมาโดยตลอดว่า จะมีนักลงทุนแห่กันเข้ามา ทั้งการลงทุนในเรื่อง PCB Data Center และ Food Security ที่ไทยอยากเสนอตัวเป็นคลังอาหารของโลก   เช่น ในเดือน พ.ย. นักลงทุนนักธุรกิจรายใหญ่จากอเมริกาแห่เข้ามาพบที่กระทรวงพาณิชย์ และเราเตรียมให้การต้อนรับ ให้มีการลงทุนมากขึ้น และสำหรับจีนก็จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกเยอะ

“วันนี้สถานการณ์การลงทุนในประเทศไทยต้องบอกว่า ประเทศไทยโชคดีที่ประเทศจีนก็รักเรา สหรัฐอเมริกาก็รักเรา รัสเซียก็รักเรา อินเดียก็รักเราประเทศใหญ่ๆในโลกรักเราหมด เราจะเป็นตัวกลางในการทำให้การค้าการลงทุนเข้ามา กระทรวงพาณิชย์ได้รับการติดต่อจากประเทศต่างๆที่จะเข้ามาลงทุนและทำการค้ากับไทยเยอะมาก เราเห็นเราเห็นแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยดีมาก"  นายพิชัยกล่าว 

โดยเมื่อวานนี้ตนได้มีโอกาสเจอกับนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งท่านมีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทย และนายหวัง เหวินเทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน ท่านบอกว่าปีหน้าไทย-จีน จะครบรอบความสัมพันธ์ 50 ปี อยากให้มีความร่วมมือระหว่างกันให้มากขึ้น ซึ่งเศรษฐกิจจีนมีการขยายตัวเรื่อยๆ อีกไม่นานคงมีเศรษฐกิจเป็นอันดับหนึ่งของโลกขึ้นอยู่กับเวลาว่าจะเมื่อไหร่เท่านั้นเอง ไทยเองเราก็ต้องมีนโยบายที่ดีในการร่วมมือกับจีน

ซึ่งที่ประชุมฯ ได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่ทำธุรกิจในจีน ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น ทั้งสถานการณ์การค้าในปัจจุบันของแต่ละบริษัท การค้าไทย-จีน โอกาสในการดำเนินธุรกิจ ปัญหาอุปสรรคทางการค้าในปัจจุบัน แนวทางการแก้ไขและผลักดันสินค้าและบริการไทย ที่เอกชนต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยผลักดัน และเสริมความร่วมมือในอนาคต โดยกระทรวงพาณิชย์ยืนยันที่จะให้การสนับสนุนภาคเอกชนอย่างเต็มที่ ในฐานะทัพหน้าในการขยายการค้า โดยพร้อมที่จะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการในด้านต่างๆ

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันที่สูงที่สุดกับไทยเป็นเวลาติดต่อกันถึง 12 ปี ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2566 มีมูลค่าการค้า 3.65 ล้านล้านบาทลดลง 0.19% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยช่วง 9 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) การค้าไทยและจีนมีมูลค่ารวม 3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.38% สินค้าส่งออกหลักของไทยไปจีน  5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง 2.ผลิตภัณฑ์ยาง 3.เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 4.เม็ดพลาสติก 5.ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และสินค้านำเข้าหลักของไทยจากจีน ได้แก่ 1.เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ 2.เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 3.เคมีภัณฑ์ 4.เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน 5.เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ

รมว.พาณิชย์ ถกสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เตรียมตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ แก้ไขปัญหากรณีขนส่งศูนย์เหรียญ และนอมินี สร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจโลจิสติกส์ไทย 

(28 พ.ย. 67) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ดร.ทองอยู่คงขันธ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยสมาชิกและที่ปรึกษาสหพันธ์ ได้เข้าพบตนที่กระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือนโยบายเกี่ยวกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจโลจิสติกส์ไทย รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีขนส่งศูนย์เหรียญจีน โอกาสนี้ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมด้วย

นายพิชัย กล่าวว่า รัฐบาล โดยท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเร่งด่วน ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา เพื่อดำเนินการเชิงรุกในการติดตามและเร่งรัดมาตรการในการแก้ไขปัญหาให้ผู้ประกอบการในประเทศ โดยที่ประชุมได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการป้องกันและป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (Nominee) เพื่อกำหนดแนวทางการกำกับดูแลและป้องปราม รวมถึงสืบสวน สอบสวนหรือตรวจสอบพฤติกรรมของบุคคลและนิติบุคคลที่อาจมีพฤติกรรมเป็นนอมินี โดยเร็วและเป็นรูปธรรมซึ่งคณะอนุกรรมการฯ มีผู้แทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสอบสวนคดีพิเศษ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรมการจัดหางาน กรมการท่องเที่ยว กรมที่ดิน และกรมสรรพากร ร่วมแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง โปร่งใส เพราะถือว่านอมินีทำลายธุรกิจ และเศรษฐกิจไทย

ซึ่งในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดแผนมาตรการสำหรับการตรวจสอบธุรกิจที่มีความเสี่ยงจะเป็นนอมินีอย่างเข้มงวดและเป็นรูปธรรม กำหนดพื้นที่กลุ่มเสี่ยง แนวทางการตรวจสอบ และแผนการตรวจสอบ โดยในระยะเร่งด่วน กรมได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจและคัดกรองข้อมูลนิติบุคคล ซึ่งเน้นธุรกิจที่เกี่ยวกับการขนส่ง (โลจิสติกส์) แพลตฟอร์มออนไลน์ การให้เช่าโกดังสินค้าที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและมีคนสัญชาติจีนร่วมถือหุ้นกับคนไทย ซึ่งกรมเริ่มดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบตามมาตรการดังกล่าวตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 โดยมีหนังสือให้ธุรกิจที่มีความเสี่ยงจะเป็นนอมินีในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (15 เขต) อาทิ เขตสัมพันธวงศ์ คลองสาน สาทร บางรัก ห้วยขวาง คลองเตย เป็นต้น ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจและการลงทุน

และระยะที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้หารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย โดยสหพันธ์ฯ ได้มีหนังสือแจ้งประเด็นปัญหาและข้อหารือในระบบโลจิสติกส์ พร้อมนำส่งสรุปประเด็นการจดทะเบียน “นอมินี” ของทุนจีน และแจ้งข้อมูลรายชื่อบริษัทกลุ่มทุนจีน ซึ่งเป็นนิติบุคคลต้องสงสัยเป็น “นอมินี” เพื่อให้กรมฯดำเนินการตรวจสอบ จากนี้ กรมฯจะได้เพิ่มการตรวจสอบในธุรกิจ e-commerce การขนส่ง และคลังสินค้า ที่คาดว่านักธุรกิจชาวต่างชาติจะมีการใช้นอมินีในการประกอบธุรกิจ จากเดิมที่เน้นธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โรงแรมและรีสอร์ท โดยจากการคัดกรองธุรกิจที่มีคนต่างด้าวร่วมถือหุ้นกับคนไทยทั่วประเทศ

“ตามที่ตนได้มอบหมายให้ นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการป้องกันและป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (Nominee) ล่าสุดได้มีการจัดประชุมฯ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา ร่วมกับ 10 หน่วยงาน สรุปแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (Nominee) เป็นแผน 3 ระยะ บูรณาการการทำงานร่วมกันของคณะอนุกรรมการฯ อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง พร้อมทั้งจะมีการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (Nominee) ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีประสิทธิภาพและมีผลการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ที่สำคัญจะทำให้ประชาชนและนักลงทุนไทยเกิดความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจและไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้กระทำผิดอีกด้วย” รมว.พาณิชย์ กล่าว 

“พาณิชย์” เผย ครม.สัญจร เคาะ! มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว-ข้าวโพด ปี 67/68 กว่า 9,900 ล้านบาท ช่วยพี่น้องเกษตรกรไทยยั่งยืน

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ภายหลังการประชุม ครม. สัญจรที่เชียงใหม่ ที่มี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้อนุมัติมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มาตรการเพิ่มช่องทางการตลาด ปี 67/68 ซึ่งจะส่งผลให้ราคาผลผลิตที่เกษตรกรขายได้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งมาตรการเพิ่มผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้มีเพียงพอต่อความต้องการ รวมงบประมาณทั้งสิ้น กว่า 9,924 ล้านบาท จำแนกเป็น ข้าวเปลือก 3 มาตรการ วงเงิน 9,604 ล้านบาท และข้าวโพด 5 มาตรการ 320 ล้านบาท ดังนี้

ข้าวเปลือก 3 มาตรการ เพื่อดูดซับข้าวเปลือกในช่วงที่ข้าวออกมาจำนวนมาก เป้าหมาย 8.50 ล้านตันประกอบด้วย 

(1) สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เป้าหมาย 3 ล้านตัน วงเงิน 8,362.76 ล้านบาท โดยช่วยค่าฝาก 1,500 บาท/ตัน ในกรณีเข้าร่วมกับสหกรณ์ สหกรณ์รับ 1,000 บาท/ตัน เกษตรกรรับ 500 บาท/ตัน เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1–5 เดือน เริ่มตั้งแต่ ครม. มีมติ - 28 ก.พ.2568 และเกษตรกรสามารถนำข้าวไปขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยข้าวหอมมะลิตันละ 12,500 บาท ปรับเพิ่มจากปีก่อนที่ตันละ 12,000 บาท (+500 บาท/ตัน) ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 11,000 ล้านบาท ปรับเพิ่มจากปีก่อนที่ตันละ 10,500 บาท (+500 บาท/ตัน) ข้าวหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเหนียว ตันละ 10,000 บาท หากข้าวราคาขึ้น เกษตรกรสามารถไปไถ่ถอนออกมา เพื่อนำมาจำหน่ายได้ 

(2) สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน ปรับเพิ่มจากปีก่อนที่เป้าหมาย 1 ล้านตัน (+0.5 ล้านตัน) วงเงิน 656.25 ล้านบาท โดยสหกรณ์จ่าย ดอกเบี้ย 1% รัฐช่วยดอกเบี้ย 3.5% ระยะเวลา 15 เดือน ระยะเวลาการจ่ายสินเชื่อตั้งแต่ ครม. มีมติ -30 ก.ย.2568 

และ (3) ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเก็บสต๊อก เป้าหมาย 4 ล้านตัน วงเงิน 585 ล้านบาท โดยรัฐช่วยดอกเบี้ย 3% เก็บสต๊อก 2–6 เดือน ระยะเวลารับซื้อตั้งแต่ ครม. มีมติ - 31 มี.ค.2568

นายพิชัย กล่าวอีกว่า มติคณะรัฐมนตรียังได้อนุมัติมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 67/68 เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องของสถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกร รวมถึงรักษาเสถียรภาพราคาในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก  ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรขายได้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และมาตรการส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนในการพัฒนาการผลิตของตนเองโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และลดต้นทุนการผลิตรวม 5 โครงการ ประกอบด้วย

(1) สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 0.1 ล้านตัน วงเงิน 35 ล้านบาท โดยสหกรณ์จ่าย ดอกเบี้ย 1% รัฐช่วยดอกเบี้ย 3.5% ระยะเวลา 12 เดือน ระยะเวลาการจ่ายสินเชื่อตั้งแต่ ครม. มีมติ -31 พ.ค.2568

(2) ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเก็บสต๊อก เป้าหมาย 0.2 ล้านตัน วงเงิน 26.67 ล้านบาท โดยรัฐช่วยดอกเบี้ย 3% เก็บสต๊อก 2–4 เดือน ระยะเวลารับซื้อตั้งแต่ ครม. มีมติ - 31 ม.ค. 2568

(3) โครงการเพิ่มช่องทางการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 67/68 วงเงิน 51.50 ล้านบาท

(4) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 67 – 68 วงเงิน 138 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรนำไปใช้เป็นเงินทุนในการเพิ่มผลิตภาพการผลิตและคุณภาพ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อาทิ ระบบน้ำหยด วงเงินรายละไม่เกิน 230,000 บาท เป้าหมาย 10,000 ราย รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย 3% ต่อปี 

และ (5) โครงการส่งเสริมพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประเทศไทย (ปีที่ 1) วงเงิน 69.54 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก เพิ่มคุณภาพผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยจะดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูก 32 จังหวัด 

“รัฐบาลนำโดยท่านนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการดูแลราคาสินค้าเกษตรทุกตัวให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวงพาณิชย์ก็จะเร่งดำเนินมาตรการต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา รวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการเพาะปลูก เพิ่มคุณภาพผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน“ นายพิชัยกล่าว 

ธงฟ้าเชียงรายคึกคัก!  พาณิชย์นำสินค้าฉลาดเลือกราคาประหยัด กว่า 500 รายการ ลดสูงสุด 70% ช่วยลดรายจ่าย-มอบความสุขช่วงท้ายปี  

(1 ธ.ค.  67) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานมหกรรมธงฟ้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงราย เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชน ที่บริเวณลานหลังเทศบาลตำบลเมืองพาน อ.พาน จ.เชียงราย โดยมีนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย น.ส.วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สส.เชียงราย ร่วมด้วย ภายในงาน มีการนำสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพมาจำหน่ายรวม 10 หมวด กว่า 500 รายการ ลดสูงสุด 70% สำหรับคนฉลาดเลือก อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ซอสปรุงรส น้ำยาซักผ้า ของใช้ประจำวัน เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์ช่าง สินค้าซ่อมแซมบ้าน สินค้าทำความสะอาดบ้านเรือน สินค้าชุมชน เป็นต้น 

“เมื่อเดือนที่แล้วทางภาคเหนือมีน้ำท่วม รัฐบาล และกระทรวงพาณิชย์พยายามเข้ามาช่วยเหลือในทันทีและเมื่อน้ำลด กระทรวงพาณิชย์ก็มาช่วยฟื้นฟูและขายสินค้าในราคาถูกให้กับพี่น้องชาวเชียงใหม่และเชียงราย จัดมหกรรมธงฟ้า อยากให้ประชาชนมีความสุขโดยเฉพาะในช่วงใกล้ปีใหม่ ซื้อของตกแต่งบ้าน สินค้าอุปโภค-บริโภค ในราคาถูก อยากให้ทุกคนมีขวัญกำลังใจที่ดี วันนี้ได้มาเห็นหน้าผู้คนเดินซื้อของยิ้มแย้มแจ่มใสมีความสุข แม่บ้านก็ชอบมาก ได้ความรู้สึกที่ดีกลับไป ซึ่งคาดว่าจะขายได้หลายล้านบาทแต่ไม่สำคัญเท่ากับความรู้สึกของคนที่มาจับจ่ายใช้สอย และที่สำคัญรัฐบาลเราดูแลทุกภาค ทางภาคใต้ที่กำลังประสบอุทกภัย กระทรวงพาณิชย์ก็ตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ําท่วมกระทรวงพาณิชย์ และได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดเข้าไปช่วยกำกับดูแลราคาสินค้า ของห้ามขาด ห้ามแพง ถ้าพบราคาแพงเกินสมควรขอให้แจ้ง 1569 สายด่วนของกรมการค้าภายในจะรีบเข้าไปแก้ไขในทันที“ นายพิชัย กล่าว

ภายในงาน มีการจำหน่ายสินค้าไฮไลต์ สินค้าประมง และสินค้าผลไม้ที่เชื่อมโยงจากกลุ่มเกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในราคาพิเศษทุกวัน อาทิ ไข่ไก่เบอร์ M แผงละ 95 บาท น้ำตาลทรายขาว กิโลกรัมละ 24 บาท น้ำมันพืชปาล์มขวดละ 46บาท ข้าวหอมมะลิ 100% (5 กก.) ถุงละ 150 บาท กุ้งเผา กล่องละ 199 บาท ส้มโอขาวใหญ่ ลูกละ 40 บาท สับปะรดภูแล กิโลกรัมละ 20 บาท และส้มเขียวหวานสีทอง กิโลกรัมละ 30 บาท และมีสินค้าโปรโมชั่น ปลานิลเผา ตัวละ 99 บาท มาให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอย ช่วยเพิ่มรายได้ และระบายสินค้าให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ มีการรวบรวมผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกร เช่น ส้ม มาจำหน่ายในกิจกรรมของธงฟ้าฯ เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรแบบเชิงรุก ป้องกันไม่ให้ผลไม้ราคาตกต่ำและสินค้าล้นตลาด

พิชัย ถกทูตจีน จับมือแก้ปัญหาสินค้านำเข้าไม่ได้มาตรฐาน ก่อนประชุมใหญ่ 16 หน่วยงานบ่ายนี้ พร้อมขอจีนเร่งซื้อ มันสำปะหลัง วัว ข้าว จากไทยต่อเนื่อง 

เมื่อวานนี้ (8 ธ.ค. 67) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หารือกับนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และคณะ โดยมี นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และนางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเข้าร่วม เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าของสองประเทศในประเด็นต่างๆ ทั้งการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และการขอความร่วมมือรับซื้อสินค้าเกษตร ทั้งข้าวและมันสำปะหลังจากไทย เพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรไทย

นายพิชัย กล่าวว่า นับตั้งแต่รับตำแหน่งรัฐมนตรีพาณิชย์ ได้พบปะพูดคุยกับนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสวงหาความร่วมมือระหว่างจีนและกระทรวงพาณิชย์ และเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 67 ที่ผ่านมา ท่านทูตฯเองได้สละเวลา และยกคณะมาประชุมที่กระทรวงพาณิชย์ร่วมกัน เพื่อปลดล็อกความกังวลเรื่องสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย  ซึ่งในเรื่องนี้เราตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาโดยคำนึงถึงมิตรภาพ และความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในทุกมิติ ไม่ทำให้กังวลหรือกระทบความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ เน้นการปฏิบัติตามหลักระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งฝ่ายจีนเข้าใจเป็นอย่างดี และได้ช่วยเหลือกันในหลายเรื่องจนสำเร็จ 

ล่าสุดตนได้รับรายงานว่า เมื่อ 11 พ.ย.67​ ที่ผ่านมา ทางแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ TEMU ก็ได้ดําเนินการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยใช้ชื่อบริษัท เวลโค เทคโนโลยี จํากัด และทางจีนก็ยินดีที่จะส่งเสริมการส่งออกสินค้า SME ไทยให้เข้าไปจำหน่ายในจีนทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรูปแบบใหม่

นายพิชัย กล่าวต่อว่า ท่านนายกรัฐมนตรีห่วงใยปัญหาต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ได้แต่งตั้งให้ตนเป็นประธานคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เพื่อกำหนดนโยบายและมาตรการที่จำเป็นเร่งด่วนในการป้องกันและปราบปรามสินค้าและธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งในช่วงบ่ายวันนี้ (9 ธ.ค. 67) ตนได้เรียกประชุมคณะกรรมการฯ กับ 16 หน่วยงาน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งออกมาตรการที่จะส่งผลให้การแก้ไขปัญหาเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนั้น ตลาดจีนเป็นตลาดใหญ่ ตนจึงได้ขอความร่วมมือจากทางการจีนพิจารณารับซื้อสินค้าเกษตรจากไทย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อพี่น้องเกษตรกรไทยอย่างยิ่ง และจากการหารือกันในเบื้องต้น ทางจีนยินดีที่จะสนับสนุนเกษตรกรไทย โดยจะพิจารณาซื้อข้าวจากไทยอีก 280,000 ตัน จากสัญญา 1 ล้านตันให้ได้โดยเร็ว เพื่อจะได้ปิดดีลครบสัญญาการซื้อขายข้าว G to G ระหว่าง COFCO และกรมการค้าต่างประเทศ ที่ลงนามใน MOU กันไว้ตั้งแต่ปี 2558

พร้อมทั้งเร่งผลักดันผู้นำเข้าจีนให้รับซื้อมันสําปะหลังของไทย ที่ผลผลิตกำลังจะออกมามากในช่วงนี้ เพื่อช่วยเกษตรกรไทยกว่า 7 แสนครัวเรือน เนื่องจากราคามันสำปะหลังตกต่ำ ทั้งยังจะผลักดันให้ สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) และกรมปศุสัตว์ไทย บูรณาการกันและเร่งขับเคลื่อนให้จีนสามารถนำเข้าโคมีชีวิตจากประเทศไทยได้

“ในปี 2568 จะเป็นปีเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน กระทรวงพาณิชย์จะมีกิจกรรมร่วมกับทางการจีนหลายเรื่อง เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างผู้ประกอบการไทยและจีนต่อไป โดยในช่วงบ่ายวันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม และทางการจีนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ เข้ามาแก้ปัญหานี้อย่างเต็มที่ ตัวท่านทูตหานได้กล่าวในการหารือเป็นอย่างดีว่า ความสัมพันธ์ไทยจีนเหมือนป่าไม้ใหญ่ที่ต้องเจริญรุ่งเรืองอุดมสมบูรณ์ต่อไปภายภาคหน้า แต่ปัญหาต่างๆ เหมือนหนอน ซึ่งตัวเล็กมาก ต้องจับออกไป เพื่อให้ป่าอุดมสมบูรณ์ต่อไป ผมคิดว่านี่เป็นแนวทางแก้ปัญหาที่เดินมาถูกทาง เราต้องส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดี และการค้าของสองฝ่ายให้เติบโตยิ่งขึ้นไป” นายพิชัยกล่าว

ครม. เคาะงบกว่า 368 ล้านบาท รักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ช่วยเหลือชาวไร่มัน ลดต้นทุนเกษตรกร

(17 ธ.ค. 67) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (17 ธ.ค. 67) ที่นำโดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติมาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสําปะหลังตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ  ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องของสถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการรับซื้อมันสำปะหลังโดยไม่เร่งระบายผลผลิต รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกและสร้างศักยภาพการแปรรูปของเกษตรกร ในการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลังในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ซึ่งจะส่งผลให้ราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ประกอบด้วย 4 โครงการ ดังนี้
 
1. โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง ปี 2567/68 วงเงิน 300 ล้านบาท โดยสนับสนุนดอกเบี้ยแก่ผู้ประกอบการลานมัน โรงแป้ง โรงงานเอทานอลที่กู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้สามารถรับซื้อมันสำปะหลังและแปรรูปเก็บสต็อกในรูปแบบมันเส้นหรือแป้งมัน เป็นระยะเวลา 60 - 180 วัน เพื่อดึงผลผลิตส่วนเกินออกจากตลาด เป้าหมาย 6 ล้านตันหัวมันสด รัฐชดเชยดอกเบี้ยแก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ตามระยะเวลาที่เก็บสต็อก และมีระยะเวลารับซื้อ ตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2568 ระยะเวลาเก็บสต็อก ตั้งแต่ 1 มกราคม – 30 พฤศจิกายน 2568 ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่วันที่ ครม.มีมติ – 31 ตุลาคม 2569

2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2567/68 วงเงิน 17.50 ล้านบาท

โดย ธ.ก.ส.สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร (สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน) ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อหัวมันสำปะหลังสด มันสำปะหลังเส้นจากเกษตรกร สถาบันเกษตรกรที่ดำเนินกิจการโดยมีสมาชิกประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก เพื่อช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตมันสำปะหลัง เป้าหมาย วงเงินกู้ 500 ล้านบาท ผลผลิตประมาณ 200,000 ตัน อัตราดอกเบี้ยโครงการฯ ร้อยละ 4.5 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี และรัฐสนับสนุนดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3.5 ต่อปี ระยะเวลา 12 เดือน ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ ครม.มีมติ – 30 มิถุนายน 2569

3. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 2567/68 วงเงิน 41.40 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเพื่อเป็นเงินทุนในการพัฒนาการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลัง เป้าหมายเกษตรกร 3,000 ราย รายละไม่เกิน 230,000 บาท วงเงินกู้รวม 690 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยโครงการฯ เท่ากับ MRR และรัฐรับภาระดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ต่อปี เกษตรกรรับภาระในอัตรา MRR – 3 ระยะเวลา 24 เดือน  กำหนดระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ ครม.มีมติ – 31 ตุลาคม 2570 

4. โครงการยกระดับศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง (เครื่องสับมันฯ)  วงเงิน 10 ล้านบาท โดยเป็นการสนับสนุนเงินทุนให้กลุ่มเกษตรกรเพื่อจัดหาเครื่องสับมันสำปะหลังขนาดเล็กพร้อมเครื่องยนต์ และอุปกรณ์สำหรับตากมันเส้น เครื่องละไม่เกิน 15,000 บาท เป้าหมาย 650 เครื่อง ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ ครม.อนุมัติ – 30 กันยายน 2568

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมของบประมาณกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรชะลอการเก็บเกี่ยว มันสำปะหลังไปก่อนในช่วงที่ผลผลิตกำลังจะออกสู่ตลาดมากนี้ ให้ผลผลิตมีเชื้อแป้งและผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรขายได้ราคา โดยจะสนับสนุนให้ใช้สินเชื่อจาก ธ.ก.ส. เป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนระหว่างรอการเก็บเกี่ยว โดยรัฐบาลจะรับภาระดอกเบี้ยให้ส่วนหนึ่ง คาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้ภายในสัปดาห์หน้า

“รัฐบาลนำโดยท่านนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลราคาสินค้าเกษตรทุกตัวให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในส่วนของกระทรวงพาณิชย์เอง ก็จะเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของราคา และขอให้เกษตรกรพัฒนาผลผลิตของตนเองให้มีคุณภาพ ซึ่งรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนเกษตรกรไทยอย่างต่อเนื่อง ในการเพิ่มคุณภาพผลผลิต และลดต้นทุนการผลิต เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน“นายพิชัย กล่าว

โดยก่อนหน้านี้นายพิชัยได้หารือกับนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ขอให้ผู้นำเข้าจีนช่วยรับซื้อมันสําปะหลังของไทย ที่ผลผลิตกำลังจะออกมามากในช่วงนี้ ทั้งยังได้ประสานขอให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในไทย ให้ช่วยกันใช้ส่วนผสมจากมันสำปะหลังในการผลิตเยอะขึ้นด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top