Wednesday, 23 April 2025
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

'รมช.คลัง' รับ!! เงินไม่พอทำ 'สวัสดิการถ้วนหน้า' ชี้!! 'ภาษีที่จัดเก็บได้ยังห่างไกล-รัฐต้องคุมวินัยคลัง'

(12 ก.ย.66) ที่รัฐสภา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ลุกขึ้นชี้แจงถึงนโยบายพักหนี้เกษตรกร ในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาว่า เรื่องการเกษตรเป็นเรื่องสำคัญ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรก จะมีเรื่องการพักหนี้เข้าสู่ที่ประชุมเป็นเรื่องเร่งด่วนจะทำให้ได้ในไตรมาสสี่ปีนี้ โดยเป็นการพักหนี้ทั้งต้นและดอก พร้อมแผนสร้างรายได้ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างปลูกและผลิตตามที่ตลาดโลกต้องการ และการพักหนี้ทั้งต้นทั้งดอกนี้จะทำให้เกษตรกรมีแรงทำมาหากินสร้างรายได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และไม่เสียวินัยการเงินการคลัง เช่น การใช้ปุ๋ยตามการวิเคราะห์ดิน ลดจำนวนปุ๋ยเคมีและเพิ่มผลผลิตเพื่อเพิ่มรายได้ ส่วนเรื่องการใช้ดาต้าเข้ามาสนับสนุนการเพาะปลูกนั้น เราจำเป็นต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกรปรับใช้ให้มีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการให้ความรู้เกษตรกรทั่วไป

นายกฯ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นเรื่องหมูเถื่อนที่เข้ามานั้น ตนได้รับฟังปัญหานี้มาก่อนแล้วเป็นปัญหาใหญ่ที่ลามไปทั่วประเทศจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อหาแผนสั่งการต่อไป ขณะที่เรื่องของรายได้ครูและข้าราชการนั้นถือเป็นภาคส่วนสำคัญในการดูแลประชาชน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญ และรับปากว่าจะไปดูแลเรื่องรายได้ให้เหมาะสมกับงบประมาณโดยรักษาไว้ซึ่งวินัยการเงินการคลัง

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ชี้แจงว่า การแก้ปัญหาการพักหนี้เกษตรกร สมาชิกหลายท่านอภิปรายให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ตนในฐานะรมช.คลัง รวมถึงนายกฯ เน้นย้ำการเดินหน้าเรื่องการพักหนี้ เราเตรียมการล่วงหน้าไปมากแล้ว โดยเชื่อมั่นว่าภายในไตรมาสนี้จะเดินหน้าแก้ปัญหาเรื่องการพักหนี้เกษตรได้ การพักหนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะต่อชีวิตให้พี่น้องภาคการเกษตร หลังจากนั้นรัฐบาลจะมีโครงการอีกจำนวนมาก พร้อมกับวางเป้าเพิ่มมูลค่าทางเกษตรภายใน 4 ปี เพื่อให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้อย่างแท้จริง รวมถึงจะมีการเจรจาการค้าเอฟทีเอกับหลายๆประเทศเพื่อเปิดประตูการค้า เพราะรัฐบาลมองสถานการณ์เอญนีโญที่จะเกิดขึ้นเป็นโอกาส เพราะจะเกิดภาวะขาดแคลนด้านอาหารจำนวนมากในโลก ถ้าประเทศไทยสร้างความแข็งแกร่งด้านการเกษตรได้ เราจะกลับมาเป็นครัวโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ เกษตรกรจะลืมตาอ้าปากได้

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการพูดถึงสวัสดิการถ้วนหน้า เราต้องตื่นจากความฝันและอยู่กับความเป็นจริง เนื่องจากจีดีพีของไทยต่ำกว่าประเทศที่ทำสวัสดิการถ้วนหน้ามาก ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในสภาวะที่การจัดเก็บภาษี ยังไม่สามารถอยู่ในจุดที่เราจะทำสวัสดิการถ้วนหน้าได้จริงๆ เราเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลกันมาช่วงหนึ่ง ทราบดีว่าข้อจำกัดคืออะไร ตนอยากถามกลับว่าหากท่านต้องการให้ทำสวัสดิการถ้วนหน้า ท่านคาดว่าจะเอางบประมาณมาจากไหน หรือท่านจะเอาเงินมาจากการขายทรัพย์สินของรัฐมาทำสวัสดิการถ้วนหน้า หรือจะขายกองทุน กู้แบงก์ แต่สำหรับรัฐบาลนี้เราตระหนักเรื่องวินัยการเงิน การคลัง ฉะนั้น เราคงจะทำแบบนั้นไม่ได้

“ด้วยภาระของรัฐบาลปัจจุบันหากทำสวัสดิการถ้วนหน้าจะเกิดปัญหาขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีงบประมาณมากเพียงพอ ที่จะรองรับการจัดสวัสดิการถ้วนหน้า สิ่งสำคัญที่ทุกท่านทราบคือรัฐจะต้องจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น ยืนยันว่ารัฐบาลมีความตั้งใจเดินหน้าสวัสดิการโดยรัฐให้กับประชาชนในระดับที่เหมาะสม และจะทำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน” รมช.คลัง กล่าว

'เผ่าภูมิ' บินเปรู ถกเวทีรัฐมนตรีคลัง APEC โชว์วิชั่น 4 นวัตกรรมการเงินไทย สร้างภูมิทัศน์ใหม่ ให้แรงงานนอกระบบ

(22 ต.ค. 67) ดร. เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ บนเวทีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคครั้งที่ 31 ณ กรุงลิมา เปรู โดยส่วนหนึ่งของคำกล่าวได้พูดถึงการยกระดับภาคการเงินไทย สร้างภูมิทัศน์ใหม่การเงินใหม่ ให้แรงงานนอกระบบ โดยสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ดังนี้

1.นวัตกรรมด้านธนาคาร ผ่านการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual bank) โดยใช้ข้อมูลทางเลือก (Alternative Data)  ในการวิเคราะห์การปล่อยสินเชื่อ อาทิ พฤติกรรมการบริโภค การชำระหนี้ การใช้จ่าย ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อวิเคราะห์สถานะทางการเงินประมวลผลเป็นค่าความเสี่ยงในการให้สินเชื่อ ตอบโจทย์ความต้องการแรงงานนอกระบบได้ดีขึ้น โดยเฉพาะรายย่อย และ SMEs กลุ่มที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงิน (Unserved) และกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการบริการทางการเงินอย่างเหมาะสม (Underserved)

2.นวัตกรรมการค้ำประกัน ผ่านการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ หรือ (NaCGA) ซึ่งจะช่วยติดอาวุธแก่ผูัประกอบการ SME และ MSME โดยจะทำหน้าที่เป็นกลไกที่ประชาชนสามารถซื้อประกันความเสี่ยงด้านเครดิตของตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงของตนเอง ก่อนติดต่อสถาบันการเงินและ Non bank โดยค่าธรรมเนียมจะอิงตามระดับความเสี่ยงของลูกหนี้ (Risk-Based pricing) ซึ่งช่วยลดต้นทุนทางการเงิน และเพิ่มอำนาจต่อรองแก่ผู้ประกอบการ

3.นวัตกรรมการแก้ไขหนี้ประชาชน ผ่านการจัดทำอารีย์ สกอร์ (Ari Score) เพื่อช่วย SME เข้าถึงสินเชื่อ โดยอารีย์ สกอร์จะเป็นการจัดทำเครดิตสกอริ่งใหม่ จากข้อมูลที่กระทรวงการคลังมีอยู่ ประกอบกับการใช้ AI มาช่วยวิเคราะห์ ชึ่งผู้ที่มีคะแนนที่ผ่านเกณฑ์ จะสามารถไปยื่นขอสินเชื่อได้เลยจากธนาคารรัฐ 4 แห่ง อันจะช่วยลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ และให้โอกาสใหม่แก่ผู้ที่ไม่สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ เพราะไม่ผ่านเครดิตบูโร

4.นวัตกรรมการออมแบบมีแรงจูงใจ ผ่านโครงการสลากเกษียณ (retirement lottery) ซึ่งเป็นโครงการของรัฐที่สร้างแรงจูงใจให้คนไทยออม และถูกจริตกับวิถีชีวิตคนไทยที่นิยมการซื้อสลาก เงินที่ผู้ซื้อได้ซื้อสลากทั้งหมดจะถูกเก็บเป็นเงินออมและคืนเป็นเงินออมเมื่อผู้ซื้อมีอายุ 60 ปี สลากเกษียณจะช่วยให้ผู้ซื้อใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบมีคุณภาพ (Greater Quality of Life) และดำรงชีวติก่อนเกษียณแบบมีหลักประกันทางการเงิน (Financial security)


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top