ย้อน 12 ผลงานเด่น ในยุค ‘รัฐบาล คสช.’
ภายหลังจาก ‘คณะรักษาความสงบแห่งชาติ’ หรือ คสช. อันมี ‘พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เป็นหัวหน้าคณะ ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ในระยะเวลาต่อเนื่องกว่า 5 ปีก่อนจะมีการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2562 รัฐบาล คสช. ได้บริหารประเทศภายใต้วิสัยทัศน์ที่มุ่งสร้างความ ‘มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน’ โดยพยายามดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
เนื่องจากเป็นรัฐบาลที่ไม่มีพรรคฝ่ายค้านในสภา และสามารถออกคำสั่งตามมาตรา 44 ได้ ทำให้รัฐบาลสามารถผลักดันนโยบายต่าง ๆ ออกมาได้มาก
วันนี้ THE STATES TIMES จะพาย้อนดู 12 ผลงานรัฐบาล คสช. ที่เป็นประโยชน์และเป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว เช่น
1.จัดการปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และขาดการควบคุม (IUU)
รัฐบาล คสช. สามารถแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วตามแรงกดดันของสหภาพยุโรป ทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าประมงไปสหภาพยุโรปได้ต่อเนื่อง พร้อมทั้งแสดงความมุ่งมั่นในการป้องกันและแก้ปัญหาการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ ปรับปรุงภาพลักษณ์ภาคการประมงของไทยให้ดียิ่งขึ้น
2.ทวงคืนผืนป่าจากนายทุนได้ โดยในปี 2559 สามารถทวงคืนผืนป่าจากนายทุนได้ 1.4 แสนไร่ และถือเป็นพันธกิจที่ต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรพื้นที่ทำกินให้แก่ประชาชนด้วย
3.ประกาศแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างครบวงจร ตั้งแต่เจ้าหนี้และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยให้เจ้าหนี้ที่ปล่อยกู้นอกระบบจัดตั้งเป็นธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์)
4.ขจัดปัญหามาเฟีย ปราบปรามผู้มีอิทธิพลใช้อำนาจในทางผิดกฎหมาย กวาดล้างอาวุธสงคราม ปืน ระเบิด รวมถึงจับตาเครือข่ายและผู้ร่วมขบวนการทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง
5.ผลักดันระบบ ‘พร้อมเพย์’ เพื่อช่วยลดต้นทุนในการชำระเงินและโอนเงินของประชาชน และเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
6.เดินหน้าจัดระเบียบสังคม จัดการหาบเร่แผงลอยผิดกฎหมาย ร้านค้าริมถนน ขึ้นทะเบียนวินจักรยานยนต์ และจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติ
7.แก้ปัญหาข้าวค้างสต็อกจากโครงการรับจำนำข้าว โดยใช้วิธีประมูลอย่างโปร่งใส ซึ่งช่วยลดภาระการขาดทุน และลดแรงกดดันราคาข้าวไทยให้อยู่ในระดับต่ำ
8.ปลดธงแดง ICAO ได้เป็นผลสำเร็จ ถอดชื่อประเทศไทยออกจากรายชื่อประเทศที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน
9.ประกาศปราบปรามการทุจริต-คอร์รัปชันในระบบราชการทุกระดับชั้น รัฐบาล คสช. รับโครงการสร้างมาตรฐานความโปร่งใสในระดับสากลอย่างน้อย 4 โครงการ มาใช้ในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะและการตรวจสอบโดยประชาชน ได้แก่
- โครงการ ‘ข้อตกลงคุณธรรม’ (Integrity Pact) ซึ่งผลักดันโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โดยถูกบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ และถูกนำไปใช้กับโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ประมูลและทำสัญญา
-โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST)
-โครงการรัฐบาลโปร่งใส (Open Government Partnership)
-โครงการความโปร่งใสในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ (EITI)
10.ออกมาตรการแก้ไขปัญหาความยากจน ช่วยเหลือทั้งการให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การสร้างอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้
11.ลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ ออก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง ส่งเสริมการพัฒนา และดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve industries)
12.สานสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เดินทางเยือนสหราชอาณาจักร พบ ‘เทเรซา เมย์’ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรในขณะนั้น
