Tuesday, 22 April 2025
รัชกาลที่10

'ในหลวง-พระราชินี' ช่วยเหลือชาวปทุมธานีผู้ประสบอุทกภัย พระราชทานถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภค

เมื่อวานนี้ (12 ก.ย. 65) พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ไปประชุมติดตามการแก้ไขสถานการณ์การเกิดอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ณ ห้องประชุมส่วนราชการ อาคารหอประชุม 100 ปี เมืองธัญญบูรี เทศบาลนครรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี โดยมีนายจรูญศักดิ์ สิงหเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรีเทศบาลนครรังสิต และส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ซึ่งองคมนตรี ได้เชิญพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการป้องกัน แก้ไขการเกิดอุทกภัยและการให้การช่วยเหลือไปกล่าวในที่ประชุม เพื่อให้แต่ละหน่วยงานน้อมนำไปปรับแผนในการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมต่อไป

หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภค จำนวนรวม 800 ถุง ไปมอบแก่รองผู้ว่า นายอำเภอธัญบุรี และนายกเทศมนตรีเทศบาลนครรังสิต และราษฎรที่ประสบเหตุอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ณ หอประชุมใหญ่อาคารหอประชุม 100 ปี เมืองธัญญบูรี  อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น และเป็นขวัญกำลังใจ

ในโอกาสนี้ องคมนตรี ได้เชิญพระราชกระแสทรงห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ไปกล่าวให้ราษฎรที่ประสบเหตุอุทกภัย และเจ้าหน้าที่ได้รับทราบ ในการนี้ องคมนตรี ได้ลงพื้นที่เชิญถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภค ไปมอบแก่ครอบครัวนางยุพดี รัตนสุขสกุล ครอบครัวนางภาณิชา สุวรรณกระจ่าง และครอบครัวนางประภา สุวรรณกระจ่าง จำนวน 3 ครอบครัว ซึ่งเป็นผู้ประสบอุทกภัยอาศัยอยู่บริเวณชุมชนริมเขื่อนสะพานแดง เทศบาลนครรังสิต อำเภอธัญบุรี ต่างปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณา

6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วันนี้ เมื่อ 45 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวง รัชกาลที่ 10 ทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ์ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระราชอิสริยยศ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร’ ด้วยทรงมีพระทัยศรัทธาจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทรงผนวช ณ พัทธสีมาพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เสร็จแล้วเสด็จไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหาร มีพระมหารัชมงคลดิลก (บุญเรือน ปุณฺณโก) เป็นพระอภิบาล ทรงได้รับพระนามฉายาว่า ‘วชิราลงฺกรโณ’ และผนวชอยู่ 15 วัน จึงทรงลาผนวช

‘นักเรียนดี’ เปิดตัว งานนิทรรศการเมต้าเวิร์ส ในหลวงรัชกาลที่ 10 ‘King Rama X’ เพื่อให้ ‘พระราชกรณียกิจ’ ของกษัตริย์ผู้ปิดทองหลังพระ ได้เผยแพร่สู่สายตาคนทั่วโลก

(27 ก.ค.67) ‘นักเรียนดี’ เปิดตัวงานนิทรรศการเมต้าเวิร์สในหลวงรัชกาลที่ 10 ‘King Rama X’ เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สู่สายตาคนทั่วโลกบน VR Metaverse เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

โดยสามารถเข้าชมได้ผ่านแพลตฟอร์ม Spatial. io ซึ่งสามารถเข้าได้ผ่าน Website หรือ Mobile Application ทั้ง Oculus / IOS และ Android

โดยในงานแบ่งการจัดแสดงออกเป็น ‘6 ส่วน’ ตามธีมนิทรรศการดังนี้

1. โซนพระราชประวัติ
2. โซนพระราชกรณียกิจ
3. โซนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
4. โซนภาพวาดฝีพระหัตถ์
5. โซนพระราชกรณียกิจที่หลายคนอาจไม่เคยรู้
6. โซนห้องภาพแห่งความทรงจำ

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชน

งานนิทรรศการเมต้าเวิร์สในหลวงรัชกาลที่ 10 ‘King Rama X’ จึงเป็นนิทรรศการที่พสกนิกรจะร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงปิดทองหลังพระและทรงงานเพื่อปวงชนชาวไทยโดยเสมอมา

โดยท่านสามารถสมัครและ login เข้าไป จากนั้นค้นหา นิทรรศการ ‘Metaverse King Rama X’ หรือคลิกลิงก์ในโพสต์ตามลิ้งที่เราได้แนบไว้ หรือสแกน Qrcode แล้วท่านจะพบความประทับใจอันล้ำค่าที่พร้อมเผยแพร่สู่สายตาคนทั่วโลก บน Spatiol. io ที่จัดทำกันโดยกลุ่มนักเรียนดี ได้แล้ววันนี้

เข้าไปชมงานที่ลิงก์นี้ได้เลยจ้า
> https://bit.ly/3Sr7vkG

ในหลวง เสด็จฯ เชียงใหม่ ทรงสืบสานประเพณีแห่งล้านนา สะท้อนสัมพันธ์แนบแน่นสถาบันพระมหากษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

รู้หรือไม่? พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงสืบสานประเพณีแห่งล้านนา ในการเสด็จประพาสเชียงใหม่

การเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ไปยังจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงการบริหารจัดการพระราชกิจและการสืบสานประเพณีสำคัญของชาติ ทั้งยังตอกย้ำความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

พิธีบายศรีทูลพระขวัญ: การแสดงออกถึงความจงรักภักดีของเจ้านายฝ่ายเหนือ

หนึ่งในจุดเด่นของการเสด็จฯ ครั้งนี้คือพิธีบายศรีทูลพระขวัญ ซึ่งถือเป็นประเพณีที่เจ้านายฝ่ายเหนือจัดขึ้นอย่างวิจิตรเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระมหากษัตริย์ พิธีนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงวัฒนธรรมอันลึกซึ้งของล้านนา แต่ยังแสดงถึงความจงรักภักดีและความผูกพันของเจ้านายฝ่ายเหนือที่มีต่อพระมหากษัตริย์ในฐานะศูนย์รวมจิตใจของชาติ

พิธีบายศรีที่จัดขึ้นครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากเจ้านายฝ่ายเหนือซึ่งนำขบวนรำบายศรีด้วยความสง่างาม สื่อถึงบทบาทอันสำคัญของเจ้านายฝ่ายเหนือในฐานะผู้สืบทอดประเพณีและตัวแทนความภาคภูมิใจของล้านนา การรำบายศรีไม่เพียงเป็นการต้อนรับพระมหากษัตริย์ แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์อันแนบแน่นที่สืบทอดจากอดีตถึงปัจจุบัน เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ ประมุขสายสกุล ณ เชียงใหม่ และเจ้าอาวรเทวี ณ ลำพูน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ผูกข้อพระหัตถ์ขวาและซ้ายในหลวงและพระราชินี

บทเรียนจากประวัติศาสตร์: ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และล้านนา
เหตุการณ์นี้ชวนให้นึกถึงการเสด็จประพาสเชียงใหม่ในอดีต เช่น รัชกาลที่ 7 เมื่อปี พ.ศ. 2469 ซึ่งพระองค์ได้รับการต้อนรับด้วยขบวนช้างจำนวน 80 เชือกที่ตกแต่งอย่างวิจิตร พร้อมการแสดงรำและดนตรีพื้นบ้านล้านนา เจ้านายฝ่ายเหนือในเวลานั้นได้มีบทบาทสำคัญในการต้อนรับและแสดงความจงรักภักดีแด่พระมหากษัตริย์แต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

ความสำคัญของการจัดการประเพณีที่ยั่งยืน การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการกิจกรรมและประเพณีอย่างยั่งยืน ไม่เพียงเพื่อธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันล้ำค่าของล้านนา แต่ยังตอกย้ำถึงความผูกพันอันแน่นแฟ้นระหว่างเจ้านายฝ่ายเหนือกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งช่วยเสริมสร้างความสามัคคีและความเป็นปึกแผ่นของชาติ

ดังนั้น การเสด็จประพาสเชียงใหม่ครั้งนี้จึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการสืบสานประเพณีและความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นที่มีมายาวนาน ทั้งในด้านวัฒนธรรม ความจงรักภักดี และการบริหารจัดการกิจกรรมสำคัญของชาติ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top