Thursday, 24 April 2025
รักษ์สุขภาพ

“ตะคริว” ตอนกลางคืน…ปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม

เชื่อว่าหลายคนคงเคยประสบปัญหาการเป็นตะคริวตอนกลางคืนขณะนอนหลับ ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานเป็นอย่างมากจนต้องสะดุ้งตื่นกลางดึก ทั้งนี้อาการ “ตะคริว” ยังเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพในร่างกายอีกด้วย

อาการ “ตะคริว” ที่ขาช่วงเวลากลางคืน เป็นการหดเกร็งเป็นก้อนแข็งของกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นฉับพลัน มักเกิดความเจ็บปวดมากอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนอาการจะทุเลาลง โดยมักจะเกิดกับกล้ามเนื้อด้านหลัง ต้นขา (Hamstrings) หรือ ด้านหลังน่อง (Calf) 

การเป็นตะคริวนี้อาจเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อส่วนใดของร่างกายก็ได้ และอาจเกิดกับกล้ามเนื้อเพียงมัดเดียวหรือหลายๆ มัดพร้อมกันก็ได้ พบได้บ่อยในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป รวมถึงหญิงตั้งครรภ์

❤️ สาเหตุการเกิดตะคริวตอนกลางคืน ❤️
1.) การนั่งหรือยืนอยู่ในท่าเดิมนานๆ เช่น พนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งประชุมทั้งวันและไม่ได้ขยับร่างกาย อาจส่งผลให้เกิดตะคริวที่ขาขณะนอนหลับได้ 
2.) ผู้ที่ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมอย่างหนักที่ต้องใช้แรงขามาก เช่น การเล่นกีฬา หรือ ปีนเขา ทำให้กล้ามเนื้อขาทำงานหนัก เป็นปัจจัยนำไปสู่การหดเกร็งของกล้ามเนื้อขาและอาการตะคริวขณะนอนหลับ
3.) การนอนหลับในท่าเหยียดขาตรง ข้อเท้าและปลายเท้าชี้ลง ช่วยส่งเสริมให้กล้ามเนื้อน่องอยู่ในท่า      หดสั้น อาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นตะคริวได้ง่าย
4.) อากาศเย็นหรือฤดูหนาวเป็นช่วงที่มีอาการตะคริวเกิดขึ้นบ่อย โดยเฉพาะช่วงกลางคืนระหว่างนอนหลับอุณหภูมิในร่างกายจะลดต่ำลง ทำให้ปวดมากขึ้น 
5.) การทำงานผิดปกติของเซลล์ประสาทและเส้นประสาทที่ควบคุมการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ
6.) การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่ดี 

❤️ ตะคริวตอนกลางคืน อาจเกี่ยวข้องกับภาวะต่างๆ ดังนี้ ❤️
- หญิงตั้งครรภ์อาจเป็นตะคริวได้บ่อย เนื่องจากระดับของแคลเซียมในเลือดต่ำหรืออาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปที่กล้ามเนื้อขาไม่สะดวก
- ภาวะผิดปกติของต่อมไทรอยด์
- ความผิดปกติของระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน
- โรคทางระบบประสาท เช่น โรคปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy) หรือ โรคเซลล์ประสาทนำคำสั่งเสื่อม (Motor neuron disease)
- ความผิดปกติของการเผาผลาญ เช่น โรคเบาหวาน
- โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน (Peripheral vascular disease)
- โครงสร้างร่างกาย เช่น เท้าแบน หรือโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal stenosis)
- การใช้ยาเพื่อรักษาโรคบางชนิด เช่น ยาที่ใช้ลดระดับคอเลสเตอรอล ยาขับปัสสาวะ และยาลดความดัน
- การดื่มน้ำน้อยเกินไป ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อขาดน้ำ
- ภาวะเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะโซเดียมและโพแทสเซียม ได้แก่ ท้องเดิน อาเจียน เสียเหงื่อมาก ซึ่งอาจทำให้เป็นตะคริวรุนแรงได้
- ผู้ที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ก็อาจเป็นตะคริวได้บ่อย
- กล้ามเนื้ออ่อนล้าหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง จากการใช้งานติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือการทำงานหนัก จะทำให้เกิดตะคริวได้บ่อย
- การได้รับบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ อาจเกิดจากการกระแทก ทำให้เกิดการฟกช้ำที่กล้ามเนื้อ
- กล้ามเนื้อขาดการยืดหยุ่น กล้ามเนื้อที่ตึงจะเกิดตะคริวได้บ่อย
- ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งหรือหลอดเลือดตีบตัน เช่น ผู้สูงอายุอาจเป็นตะคริวขณะที่เดินนานๆ เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่ดี

❤️ การรักษาและการบรรเทาอาการตะคริวตอนกลางคืน ❤️
1.) หยุดพักการใช้กล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวทันที
2.) ยืดกล้ามเนื้อน่อง โดยเหยียดขาให้ตรงแล้วค่อยๆ กระดกข้อเท้าขึ้นให้ปลายนิ้วเท้าเข้าหาตัวหรือหันหน้าเข้ากำแพง ยืนห่างจากกำแพงออกมาประมาณ 1 ก้าว แล้วก้าวขาข้างหนึ่งไปข้างหลัง พร้อมกับเอียงตัวไปข้างหน้า โดยวางส้นเท้าให้แบนราบไปกับพื้น ใช้มือดันกำแพงทั้ง 2 ข้าง จะรู้สึกตึงบริเวณน่อง ทำค้างไว้ 10-15 วินาที ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง โดยอาจประคบด้วยความร้อนบริเวณที่เป็นตะคริวเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น

นอนหลับอย่างไรให้สุขภาพดี

ในแต่ละวันการนอนหลับใช้เวลาเกือบ 1 ใน 3 ของช่วงเวลาทั้งวัน ดังนั้นหากนอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูตัวเองอย่างเต็มที่ ส่งผลให้ฮอร์โมนต่างๆ ทำงานอย่างปกติและเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะในขณะที่นอนหลับสนิท ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนที่กระตุ้นการเจริญเติบโต (Growth hormone) ออกมาเป็นจำนวนมาก

การนอนหลับบนที่นอนและหมอนที่เหมาะสมมีส่วนช่วยให้เกิดความผ่อนคลายและความสบาย ดังนั้นการเลือกที่นอนและหมอนที่ดีจึงมีความสำคัญและไม่ควรมองข้าม

✨ที่นอนที่ดีเป็นอย่างไร ?

ที่นอนที่ดีต้องรองรับน้ำหนักตัวได้อย่างเต็มที่ สามารถกระจายน้ำหนักตัวออกไปได้มากที่สุดจนร่างกายทุกส่วนรู้สึกผ่อนคลายและกล้ามเนื้อต่างๆ ทำงานน้อยที่สุด ทำให้กล้ามเนื้อได้พักผ่อนตลอดการนอนหลับ        6-8 ชั่วโมง ในทางตรงข้ามหากนอนหลับบนที่นอนที่ไม่เหมาะสม ไม่สามารถรองรับและกระจายน้ำหนักตัวได้เต็มที่ กล้ามเนื้อบางมัดอาจอยู่ในท่าเกร็งหรือไม่ผ่อนคลาย ส่งผลให้ปวดเมื่อยร่างกายได้

1.) ที่นอนที่ดีต้องเรียบ ตึง และแน่น
อาจทำจากนุ่น ใยสังเคราะห์ สปริงหรือใยมะพร้าว โดยมีความยืดหยุ่นพอสมควร นอกจากนี้ต้องไม่มีส่วนนูนโค้งเพราะทำให้รับน้ำหนักไม่สม่ำเสมอและกล้ามเนื้อบางมัดต้องทำงานขณะนอนหลับ 

2.) ที่นอนที่ดีต้องไม่นิ่มหรือแข็งจนเกินไป
ถ้าที่นอนนิ่มเกินไป ร่างกายจะจมลงไปในที่นอน ส่วนที่หนักจะถูกกดทับและรับน้ำหนักมากกว่าส่วนอื่น การกระจายน้ำหนักไม่ดี ทำให้รู้สึกปวดเมื่อยได้ง่าย ส่วนที่นอนที่แข็งเกินไป อาจทำให้รู้สึกเจ็บบริเวณปุ่มกระดูกต่างๆ 

3.) ควรเลือกที่นอนที่เหมาะสมกับรูปร่างของตัวเอง
สำหรับคนรูปร่างผอมอาจเลือกที่นอนที่มีลักษณะนิ่มกว่าเพื่อรองรับปุ่มกระดูกต่างๆ ของร่างกาย ส่วนคนรูปร่างใหญ่อาจเลือกที่นอนที่มีความแข็งกว่า เพราะกล้ามเนื้อและไขมันจะช่วยรองรับและกระจายน้ำหนักตัวได้ แต่ถ้าคนรูปร่างใหญ่ใช้ที่นอนนิ่ม ส่วนของร่างกายจะจมลงไปในที่นอน ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว

นอกจากที่นอนที่ดีแล้ว อุปกรณ์ในการนอนที่มีความสำคัญเช่นกันก็คือ “หมอน” เพราะช่วยรองรับและกระจายน้ำหนัก โดยเฉพาะร่างกายช่วงคอบ่าไหล่

มาดูแลผิวรับหน้าร้อนกันเถอะ

เมื่อถึงหน้าร้อนเป็นช่วงเวลาที่อุณหภูมิสูงขึ้น แสงแดดจัด ส่งผลให้ผิวหนังเกิดความระคายเคือง หน้ามันเยิ้ม ผิวไหม้แดด ฝ้า กระ ชัดขึ้น หากไม่ได้รับการดูแลอาจส่งผลให้เกิดริ้วรอย จุดด่างดำ ความหมองคล้ำ ผิวเสื่อมสภาพตามมาได้

ตัวการที่ทำร้ายผิวประกอบด้วย แสงแดด, ความร้อน, มลภาวะ, ฝุ่น, ควัน, การใช้ชีวิต, อาหารการกิน ก็มีส่วนทำให้ผิวเสื่อมสภาพได้

💥ปัจจัยทำให้ผิวเสื่อมสภาพ
1.) ปัจจัยภายใน การเสื่อมตามธรรมชาติหรืออายุที่เพิ่มมากขึ้น
2.) ปัจจัยภายนอกหรือสิ่งแวดล้อม
- รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ที่มากับแสงแดด
- แสงช่วงที่มองเห็นด้วยตาเปล่าโดยเฉพาะแสงสีฟ้า (Blue light) จากหน้าจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ
- รังสีอินฟราเรด เช่น ความร้อนจากการทำงาน, เครื่องยนต์ต่างๆ 
- มลภาวะเป็นพิษทางอากาศ ทั้งควันบุหรี่ (PM10) และฝุ่นขนาดเล็ก (PM2.5) ล้วนส่งผลเสียให้ผิวหนังเสื่อมสภาพเร็วหรือแก่ก่อนวัยได้
- การใช้ชีวิต เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือด้านใด ผิวหน้าด้านนั้นจะมีฝ้าเข็มขึ้นกว่าอีกด้านหนึ่ง

นอกจากนี้ อนุมูลอิสระ (free radicals) ภายในชั้นผิวหนัง ยังทำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน ทำให้ผิวแพ้ง่าย, ผิวหนังอักเสบ, เส้นเลือดฝอยขยาย, เซลล์ผิวเสื่อมสภาพและตายเร็วขึ้น ทั้งยังลดการสร้างคอลลาเจนและอิลาสติน, เกิดการทำลายดีเอ็นเอ, อาจมีเนื้องอกหรือมะเร็งผิวหนังเกิดขึ้นได้

การเกิดริ้วรอยและความหย่อนยาน ผิวหยาบกร้าน ไม่สดใส เกิดจากชั้นหนังกำพร้าที่หนาตัวขึ้นและชั้นหนังแท้ที่บางลงจากการสูญเสียคอลลาเจนและอิลาสติน 

💥รังสีอัลตราไวโอเลต (UV)

รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ที่มากับแสงแดด ทำให้เซลล์ผิวหนังทำงานผิดปกติ มีการเปลี่ยนแปลงของผนังเซลล์ ไขมันและโปรตีนในเซลล์ เกิดภาวะผิวเสื่อมจากแสงแดด (Photo aging) รังสีอัลตราไวโอเลตจะทำลายดีเอ็นเอหรือยีนในเซลล์ผิวหนัง ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังมากขึ้น

- ยูวีเอ (UVA) พบได้ทั้งกลางแจ้งและภายในอาคาร สามารถทะลุผ่านเสื้อผ้าและกระจกได้ ยูวีเอจะกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระในเซลล์ชั้นหนังแท้ ทำลายคอลลาเจน, อิลาสตินและดีเอ็นเอ ส่งผลเสียต่อระบบภูมิต้านทาน เป็นสาเหตุของผิวแก่ก่อนวัย ริ้วรอยและมะเร็งผิวหนัง

- ยูวีบี (UVB) แม้จะไม่สามารถทะลุผ่านกระจกได้ แต่จะถูกดูดซับโดยดีเอ็นเอในเซลล์หนังกำพร้าหรือรอยต่อระหว่างชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ ทำให้เกิดผิวไหม้แดด (Sun burn) มีการสร้างเม็ดสีส่วนเกินและมะเร็งผิวหนัง

- ยูวีซี (UVC) มักพบในประเทศที่มีภาวะเรือนกระจก เช่น ประเทศออสเตรเลีย พบผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังมากที่สุดในโลก

💥แสงสีฟ้า (Blue light)

แสงสีฟ้าเป็นแสงที่มองเห็นด้วยตาเปล่าและมีช่วงความยาวคลื่นใกล้เคียงกับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ดังนั้นจึงสามารถก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ เช่น การทำลายเลนส์แก้วตา ผิวหมองคล้ำ สีผิวไม่สม่ำเสมอเช่นเดียวกับภาวะผิวเสื่อมจากแสงแดด

แสงสีฟ้ามาจากหน้าจออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ การได้รับแสงสีฟ้าต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดความเครียดที่ผิวหนัง ผิวหนังอักเสบ ผิวหนังเสื่อม เกิดอนุมูลอิสระที่ผิวหนัง ส่งผลในการทำลายดีเอ็นเอ คอลลาเจน และอิลาสตินสลาย เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นและหย่อนยาน รวมทั้งกระ ฝ้า 

สังเกตว่ารอยดำจากสิวอักเสบและฝ้า มักจะหายช้าและมีสีเข้มขึ้นที่ด้านข้างใบหน้าโดยเฉพาะข้างที่สัมผัสกับโทรศัพท์มือถือ 

‘เอ็นอาร์พีที’ ลุยตลาดสุขภาพ เปิดโรงงาน Plant & Bean ผลิตอาหารโปรตีนจากพืช ขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน

เมื่อไม่นานมานี้ ‘เอ็นอาร์พีที’ (NRPT) บริษัทร่วมทุน อินโนบิก-เอ็นอาร์เอฟ ลุยตลาดโภชนาการเพื่อสุขภาพ เปิดโรงงานแพลนท์ แอนด์ บีน (ประเทศไทย) ผลิตอาหารโปรตีนจากพืช (Plant-based food) ด้วยเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงจากประเทศอังกฤษ ขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน กำลังผลิตสูงสุด 2.5 หมื่นตัน พร้อมดันไทยเป็นฐานการผลิตอาหารแห่งอนาคตของโลก

ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด กล่าวว่า จากการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถือเป็นความท้าทายและเป็นโอกาสของประเทศไทยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม รองรับการขยายตัวของตลาดอาหารแห่งอนาคต กลุ่มผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช ก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของการพัฒนา โดยโรงงาน แพลนท์ แอนด์ บีน (ประเทศไทย) จะเป็นฐานการผลิตให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยมาตรฐานฮาลาลและมาตรฐานความปลอดภัยอาหารสากลจากสมาคมผู้ค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร (The British Retail Consortium : BRC) ซึ่งอยู่ระหว่างการรับรอง และโรงงานแห่งนี้ เป็นโรงงานผลิตอาหารโปรตีนจากพืช 100% แห่งแรกในประเทศไทย และมีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีกำลังการผลิตสูงสุดที่ 25,000 ตัน โดยจะเริ่มเปิดดำเนินการในระยะแรกที่กำลังการผลิต 3,000 ตันต่อปี 

“โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กลุ่มอาหารพร้อมปรุง (Ready to cook) เช่น เนื้อสับ มีทบอล และกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to eat) เช่น ไส้กรอก นักเก็ต และเกี๊ยวซ่า ซึ่งนอกจากจุดแข็งด้านประสิทธิภาพการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีระดับโลก ให้ผลิตภัณฑ์มีเนื้อสัมผัส รสชาติ และรูปลักษณ์ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริง อร่อย ทานง่ายแล้ว ผลิตภัณฑ์ยังมาจากพืชที่ไม่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม (Non-GMO) และมีโปรตีนสูง 

ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนานวัตกรรมอาหารให้เหมาะแก่การดูแลสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารโปรตีนจากพืชมากขึ้น ขณะเดียวกันโรงงานดังกล่าวใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตเป็นไฟฟ้าใช้ในกระบวนการผลิต ลดต้นทุน และลดการปล่อยก๊าซ CO2 ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม และ NRPT ยังได้มีความร่วมมือกับผู้ผลิตอาหารแห่งอนาคตของไทย ในการพัฒนานวัตกรรมอาหาร อีกทั้งยังมีเป้าหมายในการเป็นตัวสร้างความต้องการให้เกิดปริมาณการผลิตจากต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ รวมไปถึงการดึงเอาวัตถุดิบในประเทศมาต่อยอดการผลิตในอนาคต เพิ่มศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารอนาคต เพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพของคนไทย” ดร. บุรณิน กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top