Wednesday, 23 April 2025
ระเบียบกกต

หยุมหยิมไร้สาระ!! 'โบว์ ณัฏฐา' ซัด กกต. ออกระเบียบหยุมหยิม เปิดช่องฟ้องร้องคดีรกศาล – ชี้กฎบางข้ออาจขัด รธน.

โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวทางการเมือง กล่าวให้ความเห็นในรายการ Ringsideการเมือง ถึงกรณีการร้อง MV เช้าวันใหม่ ของพรรคประชาธิปัตย์อาจเข้าข่ายผิดระเบียบการหาเสียงเลือกตั้ง ว่า ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้งนั้น ยาวมากเป็นร้อย ๆ หน้า และมีกฎจำนวนมากที่หยุมหยิมไร้สาระ อย่างเรื่องห้ามการแสดงต่างๆ ก็เป็นอย่างหนึ่งที่ไร้สาระ ตั้งต้นจากความคิดแบบดูถูกประชาชน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎข้อที่ว่าห้ามไม่ให้ดารา-นักร้อง หาเสียง โดยการแสดงที่มีอุปกรณ์ประกอบ ซึ่งดูแล้วไม่สมเหตุสมผล เป็นกฎที่ดูถูกประชาชนที่เป็นผู้ใช้สิทธิ์ ขณะที่อาชีพหมอ ซึ่งมีความน่าเชื่อถือในสังคมมากกว่าดารา-นักร้องด้วยซ้ำ กลับไม่ถูกห้าม 

อีกทั้ง มองว่า กฎระเบียบของกกต. ข้อดังกล่าว อาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญอีกด้วย เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดชัดว่า ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งการที่นักแสดง ดารา - นักร้อง ซึ่งเป็นอาชีพที่ติดตัวมาก่อนจะสมัครรับเลือกตั้ง เหตุใดจึงห้ามไม่ให้ใช้วิชาชีพที่ติดตัวมาในการร้องเพลงให้คนฟัง

กฎหลายข้อเปิดช่องให้คนจับผิดกันตลอดเส้นทางการหาเสียงเลือกตั้ง เกิดคดีรกโรงรกศาลในกระบวนการ สิ้นเปลืองทรัพยากรมากมาย สภาพการเมืองไทยดูไม่สร้างสรรค์ ส่วนหนึ่งก็เกิดจากผู้ออกกฎตั้งต้นมาอย่างไม่สร้างสรรค์ด้วย

กกต.นอกจากจะออกกฎที่ไม่เข้าท่าแล้ว ก็ยังหลีกเลี่ยงการชี้แจงอธิบายความเมื่อสื่อขอสัมภาษณ์ คงหลงผิดคิดว่าตัวเองเป็นศาล ซึ่งไม่ใช่ การจัดการเลือกตั้งที่ดีต้องเริ่มจากที่ทุกคนเข้าใจกติกาตรงกัน ไม่ใช่รอให้เกิดเหตุ เขาจับผิดกัน แล้วค่อยรอดำเนินคดีรกๆ มากมาย เริ่มต้นก็ไม่โปร่งใสแล้ว

 

‘ศาลปกครอง’ สั่งเพิกถอน ‘ระเบียบกกต.’ ให้ผู้สมัคร สว.ติดประกาศแนะนำตัวออกสื่อได้

(24 พ.ค. 67) ที่ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 ในส่วนข้อ 3 ข้อ 7 ทั้งฉบับแรก และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 8 เฉพาะฉบับแรกที่บังคับใช้ในช่วง 27 เม.ย. 67 - 15 พ.ค. 67 และข้อ 11 (2) และ (3) โดยให้ผลย้อนหลังนับตั้งแต่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั้งสองฉบับ ในคดีที่ นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท ยื่นฟ้อง กกต. และคดีที่ นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และพวก รวม 6 ราย ยื่นฟ้อง กกต.และประธาน กกต.ร้องขอให้เพิกถอนระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 เนื่องจากเห็นว่าระเบียบดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมประชาชนตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

โดยศาล ให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้ สว.เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยมีหน้าที่สำคัญหลายประการ และมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ และมีผลบังคับใช้กับทุกคนในราชอาณาจักรไทย ดังนั้น การทำหน้าที่ของ สว. ย่อมมีผลกระทบต่อประชาชนชาวไทย จึงควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แม้ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.2561 กำหนดให้ผู้สมัครคัดเลือกกันเอง ไม่ได้ให้ประชาชนมีสิทธิเลือก สว. แต่รัฐธรรมนูญได้มีการรับรองเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็นการพูด การเห็น การคิด การเขียน การโฆษณา การสื่อความหมายอื่น ๆ การที่ระเบียบ กกต. การที่ กกต.ออกระเบียบดังกล่าวด้วยการจำกัดข้อมูลประวัติและประสบการณ์ของผู้สมัคร รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้สมัคร สว. สามารถแนะนำตัวเฉพาะกับผู้สมัคร สว. ด้วยกันเท่านั้น และการห้ามผู้สมัครในสายอาชีพสื่อมวลชน และศิลปินนักแสดง ใช้ความสามารถในวิชาชีพของตัวเอง เพื่อประโยชน์ในการแนะนำนั้น จึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้สมัคร สว. เกินกว่าเหตุ และถือว่าไม่เป็นการรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล หรือเพื่อรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชน ระเบียบพิพาทนี้จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ส่วนระเบียบข้อ 11 (5) ที่กำหนดห้ามผู้สมัครแนะนำตัวทางวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวี หรือสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนนั้น ศาลเห็นว่าระเบียบข้อนี้เป็นการห้ามเฉพาะผู้สมัคร สว. ไม่ได้เป็นการห้ามสื่อมวลชน จึงไม่อาจมองว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อในการนำเสนอข่าวสารแต่อย่างใด จึงพิพากษาให้เพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 ในส่วนข้อ 3 ข้อ 7 ทั้งฉบับแรก และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 8 เฉพาะฉบับแรกที่บังคับใช้ในช่วง 27 เม.ย. 67 - 15 พ.ค. 67 และข้อ 11 (2) และ (3) โดยให้ผลย้อนหลังนับตั้งแต่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั้งสองฉบับ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top