Tuesday, 22 April 2025
รมว.ดีอี

‘รมว.ดีอี’ นำทีมตำรวจไซเบอร์ ลุย ‘กทม.- ระยอง’ ทลายเครือข่ายโจรออนไลน์ข้ามชาติ ยึดทรัพย์ 220 ล้านบาท

วันที่ 30 พฤษภาคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พร้อมด้วย นายสุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 นำทีมเปิดปฏิบัติการ The Purge EP.2 กวาดล้างเครือข่ายอาชญากรออนไลน์ข้ามชาติ ทำการเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 7 จุด ในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดระยอง

นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอี  ได้ร่วมกับ สอท. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เข้ากำลังเปิดปฏิบัติการ The Purge EP.2 เข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายทั้งหมด 6 จุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ 1 จุดในจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นปฏิบัติการสืบเนื่องจากการขยายผลต่อเนื่องกรณีกลุ่มอาชญากรออนไลน์ข้ามชาติในคดีหลอกลงทุนสกุลเงินดิจิทัล (Hybrid Scam) หรือ ไฮบริด สแกม โดยก่อนหน้านี้ได้จับกุมผู้ต้องหาพร้อมยึดทรัพย์เครือข่ายกว่า 220 ล้านบาท 

ทั้งนี้เครือข่ายอาชญากรข้ามชาติดังกล่าว ได้ใช้วิธีชักชวนผู้เสียหายให้ลงทุนสกุลเงินดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มปลอม โดยให้ผู้เสียหายซื้อเงินสกุล USDT และโอนไปตามเลขกระเป๋าเงินดิจิทัลตามที่คนร้ายระบุ ก่อนที่จะถูกโอนเข้าบัญชีของแพลตฟอร์มเทรดเงินดิจิทัล แล้วนำมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินต่างๆ ซึ่งถือเป็นวิธีการฟอกเงินรูปแบบหนึ่ง

สำหรับการปฏิบัติการครั้งนี้ สามารถจับกุมผู้ต้องการซี่งทำหน้าที่เป็นผู้บริหารบัญชีเงินที่ได้จากการกระทำความผิด และนำเงินดังกล่าวมาฟอกแปรสภาพเป็นอสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ และทรัพย์สินมีค่า โดยสามารถยึดอายัดบ้านและคอนโดหรูที่มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายดังกล่าวได้ พร้อมกับการอายัดบัญชีธนาคารผู้ต้องหา และบริษัทที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตรวจยึดทรัพย์สิน ได้แก่ เงินสด รถยนต์หรู 3 คัน นาฬิกาหรูกว่า 10 เรือน กระเป๋าแบรนเนมด์ โทรศัพท์มือถือ ได้หลายรายการ ยึดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 220 ล้านบาท 

นายประเสริฐ กล่าวว่า ปฏิบัติการ The Purge EP.2 เป็นปฏิบัติการตามข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อเร่งรัดปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ให้เกิดเป็นรูปธรรม ในระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการขยายผลการจับกุมต่อเนื่องจากปฏิบัติการรอบแรกในเดือน เม.ย.67 เพื่อจับกุมเครือข่ายอาชญากรข้ามชาติ ที่ใช้วิธีการหลอกลวงให้ลงทุน พร้อมกับนำเงินที่ได้จากการกระทำผิดมาฟอกเงินเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินต่างๆ ทั้ง บ้าน รถยนต์หรู และของมีค่าอื่นๆ โดยหลังจากนี้จะทำการขยายผลเส้นทางการเงินที่พบว่าเป็นบัญชีม้าของคนต่างชาติ และในบัญชีต่างประเทศ ซึ่งหมุนเวียนเข้ามาในประเทศไทย 

‘รมว.ดีอี’ เดินหน้า ปิดแพลตฟอร์ม ‘ทางรัฐปลอม’ 290 บัญชี แจ้งเตือนพี่น้องประชาชน อย่าเชื่อ-อย่าแชร์ ‘ข่าวปลอม’ ยุติโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

วันที่ 20 สิงหาคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (Anti Fake New Center หรือ AFNC) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และ เครือข่าย ได้ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินสถานการณ์การกระทำที่เข้าข่ายการก่ออาชญากรรมออนไลน์ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1-20 สิงหาคม 2567 ทีมปฏิบัติการได้ดำเนินการประสานปิดกั้นแพลตฟอร์ม ‘ทางรัฐ’ ปลอม 290 เพจ  โดยแบ่งเป็น แฟนเพจ Facebook จำนวน 284 เพจ และบัญชี Tiktok จำนวน 6 บัญชี  พร้อมเฝ้าระวังการกระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง 

นายประเสริฐ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบมิจฉาชีพ ใช้วิธีการหลอกลวงประชาชน ส่งข่าวปลอม และข้อมูลบิดเบือน โดยแอบอ้างโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet หรือ โครงการ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ อยู่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด พบกรณีการส่งข้อมูลต่อกันว่า ‘ผู้ที่ลงทะเบียนแอปทางรัฐ มีสิทธิ์ที่ข้อมูลจะตกไปอยู่กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์’ และ ‘ยุติโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ขายข้อมูลให้มิจฉาชีพ’

ทั้งนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA พบว่าประเด็นเรื่อง “ผู้ที่ลงทะเบียนแอปทางรัฐ มีสิทธิ์ที่ข้อมูลจะตกไปอยู่กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์” เป็นข้อมูลเท็จ โดยแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” และระบบงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นมีการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการโจรกรรมข้อมูลอย่างรัดกุม มีความปลอดภัยสูง ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 27001:2013 ระบบการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (Information Security Management Systems – ISMS) จึงมั่นใจได้ว่า ข้อมูลจะไม่ถูกเปิดเผยไปสู่ภายนอกได้

สำหรับ ‘แอปฯ ทางรัฐ’ เป็นเพียงช่องทางในการเชื่อมโยงข้อมูลและบริการจากหน่วยงานต้นทางให้แก่ผู้ใช้บริการเท่านั้น ไม่ได้มีการเก็บข้อมูลประชาชนจากหน่วยงานต้นทาง หรือของประชาชนที่ลงทะเบียนมาไว้ที่ แอปฯ ทางรัฐ แต่อย่างใด โดยข้อมูลส่วนบุคคลที่แสดงใน แอปฯ ทางรัฐ นั้น สามารถเข้าถึงได้เฉพาะเจ้าของข้อมูลและผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการเข้าถึงข้อมูลเท่านั้น โดยสามารถดาวน์โหลดแอปฯ ‘ทางรัฐ’ ได้โดยตรงจากแอปฯ ‘App Store’ สำหรับระบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS) และแอปฯ ‘Google Play’ ในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) เท่านั้น

ในส่วนของ ข่าวปลอม ‘ยุติโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ขายข้อมูลให้มิจฉาชีพ’ จากการตรวจสอบข้อมูลร่วมกับ สำนักงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการดิจิทัล (Digital wallet) กระทรวง ดีอี พบว่า เป็นข้อมูลเท็จ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการประกาศยุติโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ส.ค. 2567) และข้อมูลการลงทะเบียนในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีการควบคุมกำกับดูแลที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูง มั่นใจได้ว่า ข้อมูลจะไม่ถูกเปิดเผยออกไปภายนอก ซึ่งการขายข้อมูลหรือส่งต่อข้อมูลให้กับมิจฉาชีพเป็นความผิดตามกฎหมาย รัฐบาลไม่สามารถทำได้แต่อย่างใด 

“ดังนั้นจึงขอแจ้งเตือนไปยังพี่น้องประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมืออย่าเชื่อ อย่าแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในทุกช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยประชาชนสามารถรับข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับ “แอปฯทางรัฐ” ได้จากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.dga.or.th หรือ โทร. 02-612-6060 และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเตรียมการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.digitalwallet.go.th หรือพิมพ์เป็นภาษาไทยว่า www.กระเป๋าเงินดิจิทัล.รัฐบาล ไทย หรือสามารถสอบถามผ่านศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (Call Center) สายด่วน โทร. 1111 ซึ่งกระทรวงดีอี มีความห่วงใยประชาชน ต่ออันตรายที่เกิดขึ้นจากภัยไซเบอร์ โดยโจรออนไลน์ได้อาศัยการเผยแพร่ข่าวปลอมและข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวข้องกับโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต และการลงทะเบียนผ่านแอปฯ ‘ทางรัฐ’ ซึ่งขณะนี้กระทรวงดีอีได้ทำการปิดกั้นแพลตฟอร์มปลอมแล้ว 290 บัญชี พร้อมกับการตรวจสอบข่าวปลอม และข้อมูลบิดเบือนที่เกี่ยวข้อง โดยถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรง และจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด เนื่องจากส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง และขอให้ประชาชน ยึด ‘หลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน’ พร้อมกับไม่แชร์ข้อมูลที่บิดเบือนในทุกช่องทางสังคมออนไลน์” นายประเสริฐ กล่าวย้ำ 

หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441 สอบถามข้อมูลข่าวสารโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” โทรสายด่วน Digital Wallet 1111 (24 ชั่วโมง) แจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชั่วโมง) , Line ID: @antifakenewscenter และเว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top