Tuesday, 22 April 2025
รมวปุ้ย

รมว.ปุ้ย’ ชื่นชม!! นวัตกรรม ‘น้ำมันอาโวคาโด’ สารพัดประโยชน์ ผลผลิตเม็ดงามของผู้ประกอบการ ผ่านแรงหนุนจากดีพร้อม

เมื่อวานนี้ (3 ก.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับ ‘น้ำมันอาโวคาโด’ ผลผลิตจากผู้ประกอบการผ่านแรงหนุนจาก ‘ดีพร้อม’ โดยระบุว่า…

‘น้ำมันอาโวคาโด’ ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจอย่างมากชนิดหนึ่งและกำลังมาแรงด้วยคุณค่าสารสำคัญที่ดีต่อสุขภาพ ดีต่อร่างกาย เล่าสู่กันฟังนะคะเป็นควันหลงจากวานนี้ ก่อนการประชุม ครม.วานนี้มีบูธผลงานนวัตกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำมันอโวคาโด เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรสู่ความยั่งยืน ของ บริษัทริบูรณ์ฟาร์ม โดยได้รับการสนับสนุนจาก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) มาจัดแสดงให้กับ ครม.ทุกท่านได้ชมและเลือกซื้อหาค่ะ

‘น้ำมันอาโวคาโด’ คืออะไร คือน้ำมันที่ได้จากการสกัดอโวคาโดผลสดค่ะ มีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง นี่เลยค่ะกรดโอเลอิก ในปริมาณสูงกว่า 70% ของไขมันในน้ำมันอาโวคาโด มีปริมาณลูทีนสูงมากสารชนิดนี้อยู่ในกลุ่มคาโรทีนอยด์ ช่วยลดอาการของโรคไขข้อ สรรพคุณสำคัญอีกอย่างคือบำรุงผิว ช่วยสมานแผล สามารถนำไปขยายผลิตภัณฑ์ได้อีกนานาชนิดค่ะ เฉพาะตัวน้ำมันอาโวคาโดมีจุดเกิดควัน สูงถึง 250-270 องศาเซลเซียส สูงกว่าน้ำมันพืชส่วนใหญ่ในตลาดนะคะ จุดเกิดควันคืออุณหภูมิที่เริ่มทำให้น้ำมันเสื่อมสภาพไป 

ดังนั้น เมื่อจุดเกิดควันสูงคุณค่าจากสารต่าง ๆ สูงด้วยค่ะ การนำไปประกอบการหารคุณค่าของสารอาหารอยู่ในนั้นครบถ้วน นี่คือนวัตกรรมที่ผู้ประกอบการจากการส่งเสริมของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่น่าชื่นชมอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ค่ะ กระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมพร้อมนะคะ ผู้ประกอบการมีแนวคิดที่ดี มีวัตถุดิบรอการพัฒนา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมพร้อมไปเป็นพี่เลี้ยงค่ะ

'รมว.ปุ้ย' เร่งหารือ 'สภาอุตฯ' หลังไทยเผชิญ 'กติกาใหม่โลก-FTA' ลดขีดความสามารถการแข่งขัน 22 อุตสาหกรรมดั้งเดิม

(10 ก.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางเข้าหารือกับประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และคณะ ร่วมหารือ ณ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถนนนางลิ้นจี่ กรุงเทพ 

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า "ตนได้ให้นโยบายตั้งแต่วันแรกของการรับตำแหน่งว่า อยากเห็นกระทรวงอุตสาหกรรมส่งเสริมผู้ประกอบการ และนักลงทุนให้เกิดความคล่องตัว อะไรที่เป็นปัญหาก็ต้องจัดการให้เรียบร้อย ซึ่งในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งในกระบวนการออกใบอนุญาตที่เร็วขึ้น ส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ทำให้ธุรกิจแข็งแรงขึ้น และสิ่งที่เน้นย้ำ คือ เรื่องของนโยบาย Green Productivity เพื่อตอบโจทย์กติกาโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายที่กระทรวงอุตสาหกรรม จะต้องจับมือกับ ส.อ.ท. เพื่อฝ่าฟันปัญหาไปด้วยกัน"

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึง นโยบายบริหารงาน ส.อ.ท. ในช่วงปี 2567 – 2569  ว่า ต้องยอมรับว่า จากกติกาใหม่ของโลก ตลอดจนข้อตกลงทางการค้า FTA และการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากประเทศจีน ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมดั้งเดิมมาสู่อุตสาหกรรมใหม่ของ 22 อุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างหนัก นอกจากนี้ยังรวมถึงอุตสาหกรรมที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหามาตรการเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหา โดยเบื้องต้นเราได้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม โดยมี 4 คณะทำงาน ประกอบด้วย...

1) คณะทำงานยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อนาคต (S-Curve & Industry Transformation) เพื่อสร้างกลไกและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรม สู่ยานยนต์ไฟฟ้าและเครื่องมือแพทย์ ตลอดจนพัฒนาเอสเอ็มอีให้เข้าถึงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่เหมาะกับกิจการและประเภทอุตสาหกรรม 

2) คณะทำงานการพัฒนาอุตสาหกรรม (Circular Economy และ Climate Change) เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมสีเขียว ร่วมขับเคลื่อนภารกิจ End of Waste พัฒนาระบบและกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการกากอุตสาหกรรม ผลักดันและขับเคลื่อน Circular Material Hub, Circular Economy Model Sandbox ส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยมุ่งสู่ Carbon Neutrality & Climate Change      

3) คณะทำงานอำนวยความสะดวกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในการประกอบกิจการและมาตรฐานของภาคอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจให้กับภาคอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนปรับปรุงผังเมืองทั่วประเทศเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ส่งเสริมและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 

และ 4) คณะทำงานพัฒนาอุตสาหกรรม SME เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

‘รมว.ปุ้ย’ แนะ!! ‘ส่งออกเหล็ก-เครื่องใช้ไฟฟ้า’ ส่องมาตรการใหม่อินเดีย หลังผุดมาตรฐาน ‘ควบคุมสินค้านำเข้าล่าสุด’ 91 รายการ

(11 ก.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้แจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการกลุ่มผลิตภัณฑ์เหล็กและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศอินเดียให้ตรวจสอบและศึกษามาตรการการนำเข้าให้ถี่ถ้วน เนื่องจากอินเดียได้ออกมาตรการควบคุมการนำเข้าเหล็กและเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 91 รายการ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทย

ทั้งนี้ ได้กำชับให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลางในการปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) ของ WTO และเป็นผู้แทนประเทศไทยในการเจรจาต่อรอง

ด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ อินเดียเป็นคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทย ที่มีมูลค่าการส่งออกในเดือนพฤษภาคม 2567 มากกว่า 36,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นอันดับที่ 6 รองลงมาจากสหรัฐอเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย และเวียดนาม 

ดังนั้น จึงขอให้ผู้ประกอบการกลุ่มผลิตภัณฑ์เหล็กและเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้ง 91 รายการ ที่จะส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังประเทศอินเดีย ศึกษามาตรการดังกล่าวอย่างรอบคอบ เพื่อให้ปฏิบัติตามมาตรการทางการค้าของอินเดียได้อย่างถูกต้อง และไม่เสียโอกาสทางการค้า 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า สมอ.ได้แจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ ได้รับทราบมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสินค้าของประเทศต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นข้อกำหนดของ WTO ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกจะต้องเผยแพร่มาตรการทางการค้าต่อสาธารณชน และแจ้งให้ประเทศสมาชิกอื่น ๆ ทราบเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงมาตรการ เพื่อลดข้อกีดกันทางการค้า 

สำหรับมาตรการทางการค้าของประเทศอินเดียในครั้งนี้ เป็นการควบคุมคุณภาพ ผลิตภัณฑ์เหล็กและเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวน 91 รายการ ให้เป็นไปตามมาตรฐานของอินเดียที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้เร็ว ๆ นี้ ครอบคลุมผลิตภัณฑ์เหล็ก 6 รายการ ประกอบด้วย

- เหล็กกล้าแผ่นแถบรีดร้อนและรีดเย็นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการแปรรูป 
- เหล็กกล้าแผ่นแถบ  แผ่นตัด และแผ่นบางสำหรับงานท่อ 
- เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบสังกะสี สำหรับงานรถยนต์ 
- เหล็กกล้าแผ่นตัด แผ่นบาง และแผ่นแถบเคลือบสังกะสีผสมอะลูมิเนียมและแมกนีเซียม 
- โลหะผสมโมลิบดีนัม 
- โลหะผสมเหล็กวานาเดียม 

นายวันชัย กล่าวอีกว่า เครื่องใช้ไฟฟ้า ครอบคลุมสินค้า 85 รายการ เช่น ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน หม้อหุงข้าว เตาอบ เครื่องดูดฝุ่น เตาปิ้งย่าง เตารีด และไดร์เป่าผม เป็นต้น โดยผู้ประกอบการไทยที่จะส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังประเทศอินเดีย จะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากสำนักงานมาตรฐานอินเดีย และแสดงเครื่องหมายมาตรฐานที่ตัวสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาต 

'รมว.ปุ้ย' ปลาบปลื้ม!! พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ยก!! เป็นการเข้าเฝ้าในโอกาสสำคัญ ที่เป็นมงคลยิ่งแก่ชีวิตของตน

เมื่อวานนี้ (28 ก.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า วันนี้เป็นวันสำคัญของชาติไทยค่ะ ปุ้ยในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คณะรัฐมนตรีทุกท่าน ได้ติดตามนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ค่ะ โดยมีการไปร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และพิธีทำบุญตักบาตร ถวายพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ บริเวณท้องสนามหลวง เป็นลำดับแรกค่ะ 

หลังจากนั้นไปร่วมในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดี และพลังของแผ่นดิน เฉลิมพระเกียรติ ต่อจากนั้นได้เดินทางร่วมกับคณะรัฐมนตรีไปยังพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง 

เป็นการเข้าเฝ้าในโอกาสสำคัญนะคะ โอกาสสำคัญที่เป็นมงคลยิ่งในชีวิตของปุ้ยเอง และความเป็นมงคลยิ่งนี้ ขอให้สัมฤทธิ์กับพี่น้องชาวนครศรีธรรมราช พี่น้องชาวไทยทุกคนนะคะ 

ปุ้ยในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับคณะรัฐมนตรีทุกท่านได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคล, สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรชัยมงคล แทนคณะรัฐมนตรี ข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน และราษฎรทุกหมู่เหล่า 

บรรยากาศสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทยปุ้ยและคณะรัฐมนตรี ข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน และราษฎรทุกหมู่เหล่า ได้ซึมซับทุกวินาทีอันเป็นมหามงคลยิ่งอยู่ที่นั่นค่ะ

'เอ็มจี' ต้อนรับ ‘รมว.ปุ้ย’ ชมโรงงาน พร้อมร่วมเปิดไลน์ผลิต ‘ALL NEW MG3 HYBRID+’ ชูศักยภาพโรงงาน ด้วยกำลังการผลิตสูงสุด 100,000 คันต่อปี

(15 ส.ค.67) บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ - ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์เอ็มจีในประเทศไทย ได้รับเกียรติจาก นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม, นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบการควบคุมทางสรรพสามิต และ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พร้อมคณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเปิดไลน์การผลิตรถไฮบริดรุ่นล่าสุด ALL NEW MG3 HYBRID+ ก่อนเปิดตัวและประกาศราคาอย่างเป็นทางการในไทย วันที่ 20 สิงหาคม นี้ พร้อมเยี่ยมชมฐานการผลิตรถยนต์เอ็มจีในไทย ที่ครอบคลุมการผลิตรถยนต์ในทุกรูปแบบการขับเคลื่อน ทั้งรถยนต์สันดาปภายใน รถยนต์พลังงานทางเลือก และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมถึงโรงงานประกอบแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรก ในประเทศไทย พร้อมแสดงศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่ครอบคลุม

สำหรับ โรงงานผลิตรถยนต์แบบครบวงจรของ เอ็มจี ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทิร์นซีบอร์ด 2 (WHA ESIE 2) จังหวัดชลบุรี บนพื้นที่ทั้งหมด 437.5 ไร่ พัฒนาขึ้นภายใต้งบการลงทุนที่สูงถึงกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่ง เอ็มจี ถือเป็นแบรนด์รถยนต์จีนที่มีการลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทยสูงเป็นอันดับต้น ๆ กับจุดเด่นของโรงงานที่สามารถผลิตและประกอบรถยนต์ครอบคลุมทุกรูปแบบการขับเคลื่อนด้วยกำลังการผลิตสูงสุด 100,000 คันต่อปี 

โดยมีพื้นที่ของโรงประกอบตัวถัง (Body Shop) โรงพ่นสีรถยนต์ (Paint Shop) โรงประกอบรถ (General Assembly Shop) ครอบคลุม ไปถึงส่วนของคลังจัดเก็บอะไหล่เพื่อรองรับรถยนต์ของเอ็มจีทุกรุ่น รวมถึงพื้นที่ NEW ENERGY INDUSTRIAL PARK ซึ่งประกอบด้วย โรงประกอบแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน 

ส่วนภายในโรงงานมีการจัดสรรพื้นที่เป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ ส่วนการประกอบแบตเตอรี่ ประกอบด้วยสายการผลิตอัตโนมัติที่ทันสมัยอย่างการนำหุ่นยนต์ (Robotic) เข้ามาช่วยในการผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐานที่แม่นยำสามารถประกอบแบตเตอรี่ Cell-To Pack ได้สูงสุดมากกว่า 50,000 แพ็คต่อปี

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยกว่า 10 ปี เอ็มจี ยังคงพัฒนาแบรนด์อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยอย่างครอบคลุม ในฐานะผู้บุกเบิกยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดย เอ็มจี ได้มีพัฒนาและขยาย MG EV ECOSYSTEM เพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต พร้อมทั้ง ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในนโยบายส่งเสริมต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายให้คนไทยได้ใช้ยานยนต์คุณภาพในราคา ที่เข้าถึงได้ ซึ่งล่าสุด เอ็มจี ได้เริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ เริ่มต้นด้วยโกลบอลโมเดลอย่าง NEW MG4 ELECTRIC 

นอกจากนี้ เอ็มจี ยังสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือกอย่างยั่งยืน ด้วยการขยายไลน์การผลิตเพื่อรองรับการผลิตรถไฮบริดอย่าง ALL NEW MG3 HYBRID+ ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้ ตอกย้ำให้เห็นถึงเทคโนโลยียานยนต์ที่ผสมผสานทั้งระบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน และระบบไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสอดรับกับทิศทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นอีกหนึ่งเซ็กเมนต์ ที่ไทยมีโอกาสเป็นฐานการผลิตระดับโลกได้ต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top