Tuesday, 22 April 2025
รถEV

'อัครเดช' ห่วงไทยไร้มาตรฐานดับเพลิงไหม้จากแบตฯ รถ EV เตรียมตั้งคณะกรรมเร่งศึกษาเรื่องนี้ต่อรัฐบาลโดยเร็ว

เมื่อวานนี้ (20 พ.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงมาตรการในการป้องกันเหตุเพลิงไหม้จากยานยนต์ไฟฟ้าและโรงงานผลิตแบตเตอรี่ EV ว่า...

จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ในภาคอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในปัจจุบัน ทำให้พบว่ามาตรการระงับเพลิงไหม้และการควบคุมผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากเหตุเพลิงไหม้ของประเทศไทยยังต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับรูปแบบของการประกอบอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ประเทศไทยได้ตั้งเป้าเป็นประเทศของศูนย์กลางในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกพบว่า ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า อยู่ที่ประมาณ 170,000 คัน สถานีชาร์จไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 2,500 แห่ง กระจายทั่วทั้งประเทศ นอกจากนี้ยังมีสถานีชาร์จไฟฟ้าในอาคารบ้านเรือน และตัวเก็บประจุไฟฟ้าที่มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น

นายอัครเดช กล่าวต่อว่า ปัจจุบันความรู้ความเข้าใจรวมถึงมาตรการอุปกรณ์ในการระงับเพลิงไหม้และควบคุมผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากเหตุเพลิงไหม้ในลิเทียมไออน ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้านั้น ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจมาตรการการควบคุมอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการดำเนินการระงับเหตุเพลิงที่เกิดจากการลุกไหม้ของ ลิเทียมไอออน 

ด้วยเหตุนี้ กมธ.อุตสาหกรรมจึงได้ประสานงานและ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูลและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุของไฟที่ลุกไหม้จากลิเทียมไอออนหรือแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งวิธีการระงับเหตุเพลิงไหม้และผลกระทบจากเพลิงไหม้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงคู่มือและฝึกอบรมในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะสามารถลดความเสี่ยงของเหตุเพลิงไหม้ และความปลอดภัยในด้านอื่นๆ พร้อมผลักดันให้มีการทดสอบสารเคมีที่สามารถช่วยในการระงับเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างสมบูรณ์

ทั้งนี้ ทาง กมธ.อุตสาหกรรม ได้แนะให้หน่วยงานภาครัฐเตรียมความพร้อมในการเผชิญเหตุเพลิงไหม้และการควบคุมเพลิงไหม้จากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ทำมาจากลิเธียมไอออน รวมถึงเพลิงไหม้โรงงานผลิตแบตเตอรี่ดังกล่าวและโรงงานผลิตรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมเป็นอุปกรณ์ติดรถยนต์อีกด้วย โดยกรรมาธิการอุตสาหกรรมจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าวนำเสนอรัฐบาลเป็นวาระเร่งด่วนต่อไป

สำรวจความนิยมคนไทยในรถ EV หดจาก 31% เหลือ 20% สวนทางความนิยม 'ไฮบริด' ที่หวนพุ่งแรงแตะ 19%

เมื่อไม่นานมานี้ ‘ดีลอยท์ ประเทศไทย’ เผยผลสำรวจ ‘2024 Global Automotive Consumer Study’ พบว่าความนิยมรถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle: BEV) ของคนไทย ลดลงจากปีที่ผ่านมา จาก 31% เหลือเพียง 20% ขณะที่รถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) แม้ยังคงเป็นทางเลือกอันดับ 1 แต่มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ รถยนต์ไฮบริด (Hybrid electric vehicle: HEV) กลายเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เป็น 19% เกือบจะเท่ากับ BEV

คุณภาพของสินค้ายังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจสูงสุด 53% โดยปัจจัยที่คนให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในการตัดสินใจซื้อคือ คุณสมบัติของรถ สมรรถนะ และ ปัจจัยด้านราคา ในสัดส่วนที่ 53%, 51% และ 47% ตามลำดับ

เหตุผลอันดับแรกที่คนไทยเลือกใช้ BEV คือ ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลง 73% เป็นเหตุผลเดียวกันกับการเลือกใช้ HEV/PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ในอัตราส่วนเท่ากันที่ 73% ในขณะที่เหตุผลในการเลือกใช้ ICE อันดับแรกคือ ต้องการตัดความกังวลด้านระยะทางและการชาร์จ 78%

ดีลอยท์ฯ ได้ทำการสำรวจผู้บริโภคจำนวนกว่า 27,000 คนจาก 26 ประเทศทั่วโลก ในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.66 เกี่ยวกับความคิดเห็นในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคยานยนต์ ครอบคลุมผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 5,939 คน ซึ่งรวมถึงผู้บริโภคคนไทยประมาณ 1,000 คน โดยได้ทำการวิเคราะห์ร่วมกับผลการสำรวจข้อมูล Thailand Automotive Consumer Survey 2024 ที่ดีลอยท์ ประเทศไทย ได้ทำการสำรวจในช่วงเดือน เม.ย.67 กับผู้บริโภคคนไทยอีก 330 คน

*แนวโน้มและมุมมองผู้บริโภคต่อยานยนต์ไฟฟ้า

ผลสำรวจในปี 2567 พบว่าความนิยมของคนไทยในรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ลดลงจากปีที่ผ่านมา จาก 31% เหลือเพียง 20% โดยรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ยังคงเป็นทางเลือกอันดับ 1 แต่แนวโน้มลดลงมาเรื่อย ๆ จาก 36% เหลือเพียง 32% ขณะที่รถยนต์ไฮบริด (HEV) กลายเป็นทางเลือกที่ร้อนแรงขึ้นมา โดยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเกือบจะเท่ากับ BEV จาก 10% ในปี 66 เป็น 19%

แนวโน้มความนิยมของคนไทยต่อ ICE สอดคล้องกับ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และจีน แต่สวนทางกับสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ที่ความนิยมใน ICE ดีดตัวสูงขึ้น สำหรับตลาดรถมือสองในไทย ICE (Internal Combustion Engine) เป็นทางเลือกอันดับ 1 ที่ 54% ตามมาด้วยกลุ่มรถไฮบริด (HEV) และ รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ที่ 38% รั้งท้ายด้วย BEV ที่ 9%

เมื่อวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่คนไทยเลือกใช้ BEV พบว่า 73% ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลง 71% กังวลกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และ 49% ได้แก่ ความกังวลกับสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว และ ประหยัดเรื่องค่าบำรุงรักษา ส่วนเหตุผลคนที่ไทยเลือก HEV/PHEV พบว่า 73% ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลง 68% ต้องการตัดความกังวลด้านระยะทาง และ 37% ต้องการลดปัญหาฝุ่น ควัน และก๊าซเรือนกระจก

และสำหรับกลุ่มที่เลือกใช้รถเครื่องยนต์สันดาปภายในหรือ ICE 78% ต้องการตัดความกังวลด้านระยะทางและการชาร์จ 67% ต้องการตัดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่อยู่เหนือความคาดหมาย (เช่น แบตเตอรี่ หรือระบบที่เกี่ยวข้อง) และ 52% ต้องการความยืดหยุ่นในการบำรุงรักษา และการปรับแต่ง

จากการสำรวจ พบว่า คนไทยเปิดรับกับ BEV มากขึ้น โดยความกังวลของคนไทยที่มีต่อ BEV ระหว่างปี 66 และ 67 ในภาพรวมปรับลดลงทุกมิติ โดยมิติที่กังวลสูงสุด ได้แก่ สถานีชาร์จสาธารณะไม่เพียงพอ ปรับลดจาก 48% เป็น 46% ระยะทางในการขับ ปรับลด จาก 44% ในปี 66 เป็น 39% ผลสำรวจพบว่า คนไทยปรับตัวกับเวลาในการชาร์จรถได้นานขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยช่วงเวลาที่รับได้มากที่สุดขยับมาอยู่ที่เวลาประมาณ 21- 40 นาที ที่ 38% ขยับเพิ่มขึ้นจากปี 66 ที่ 25%

การชาร์จไฟฟ้าที่บ้านยังคงเป็นความต้องการสูงที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทางเลือกในการชาร์จไฟฟ้านอกบ้านของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก โดยสถานีบริการน้ำมัน ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจาก 26% ในปีที่แล้วเป็น 34% ในปีนี้ ที่น่าสนใจคือความนิยมในการชาร์จไฟฟ้าที่ไหนก็ได้ เพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 29% การชาร์จไฟฟ้าที่สถานีเฉพาะสำหรับ BEV ปรับลดลงมาจาก 51% เหลือเพียง 21% ส่วนระยะทางคาดหวังระยะวิ่งได้ต่อการชาร์จต่อครั้งขยับสูงขึ้นเล็กน้อย โดยข้อมูลในปี 67 พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 44% มีความเห็นว่าระยะทางต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ควรมีระยะทางระหว่าง 300 ถึง 499 กิโลเมตร

*ปัจจัยในการซื้อรถของคนไทย

ปัจจัยในการตัดสินใจซื้อรถคันต่อไปมีความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยปัจจัยเรื่องราคาเพิ่มขึ้นจาก 18% ในปี 66 เป็น 47% ด้านสมรรถนะปรับเพิ่มขึ้นจาก 26% เป็น 51% และ คุณสมบัติต่าง ๆ ของรถ ปรับเพิ่มขึ้นจาก 49% เป็น 53% คุณภาพของสินค้า ยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจสูงสุดในปี 67 แต่ลดจาก 64% เป็น 53% ความคุ้นเคยในแบรนด์ปรับลดจาก 33% เป็น 31% ภาพลักษณ์ของแบรนด์ปรับลดจาก 37% เป็น 34%

ผลสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามคนไทย 64% มีความสนใจที่จะลองใช้แบรนด์ใหม่ ๆ สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค ในอัตราที่เท่า ๆ กับมาเลเซีย แต่รองจากเวียดนาม และฟิลิปปินส์ ด้วยเหตุผลว่า มีเทคโนโลยีใหม่ที่ต้องการ (52%) อยากลองอะไรใหม่ ๆ (49%) และมองหารถที่ราคาจับต้องได้ (36%)

สำหรับประสบการณ์ในการซื้อรถของคนไทย ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น VR หรือ AR ที่สามารถมอบประสบการณ์ในการเลือกอุปกรณ์ต่าง ๆ และความสะดวกจากธุรกรรมทางการเงินแบบออนไลน์ แต่คนไทยถึง 92% ยังต้องการที่จะได้สัมผัสตัวรถจริงก่อนการตัดสินใจ โดย 91% ต้องการทดลองขับรถจริงก่อน ซึ่งมีสัดส่วนเท่ากับการได้เจรจาในรายละเอียดต่าง ๆ กับพนักงานขาย คนไทย 74% สะดวกจ่ายเงินด้วยการผ่อนชำระ 21% ต้องการซื้อรถด้วยเงินสด และ 5% ต้องการผ่อนแบบบอลลูน

แต่คนไทยรุ่นใหม่ (ช่วงอายุ 18-34 ปี) 47% สนใจบริการแบบสมัครสมาชิก (Vehicle Subscriptions) มากกว่าการเป็นเจ้าของรถ โดยผู้ตอบแบบสอบถามคนไทย 82% ตอบว่าค่าบำรุงรักษาและราคาอะไหล่ มีผลต่อการตัดสินใจเลือกรุ่นรถมากถึงมากที่สุด โดย 63% ยินดีจะซื้อแพ็กเกจค่าบำรุงรักษาแบบเหมาจ่าย ได้แก่ น้ำมันเครื่อง อะไหล่สิ้นเปลือง และ ค่าบริการ และ 84% ยินดีที่จะซื้อประกันอุบัติเหตุสำหรับแบตเตอรี่หากใช้รถ BEV

"การเก็บข้อมูลจากผู้บริโภคทั่วโลก ช่วยให้เราเห็นมุมมองใหม่ ๆ ทั้งในระดับโลก และ ระดับภูมิภาค ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ เพื่อเปิดมุมมองใหม่ในการยกระดับคุณค่าให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ ในปี 2024 รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภคชาวไทย เนื่องจากประหยัดน้ำมัน ลดความกังวลเรื่องระยะทาง และลดการปล่อยมลพิษ นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการทำความเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาค ช่วยให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ สามารถปรับตัวรองรับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า และปรับกลยุทธ์การขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ" มร. ซอง จิน ลี Automotive Sector Leader, ดีลอยท์ เซาท์อีสต์เอเชีย กล่าว

นายมงคล สมผล Automotive Sector Leader ดีลอยท์ ประเทศไทย ได้ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า "ความเข้าใจในมุมมองของผู้บริโภคทำให้เรามองเห็นทิศทางในการปรับตัวของอุตสาหกรรมได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะเชื่อมโยงไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น สถานีชาร์จ สินเชื่อ สื่อสาร หรือ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องปรับตัวไปพร้อม ๆ กัน ผู้ผลิตที่สามารถนำเสนอทางเลือกที่คุ้มค่าและให้ความมั่นใจในเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนเกินของลูกค้าในระยะยาวได้ จะได้รับความเชื่อมั่นซึ่งจะกลายเป็นความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาว สำหรับผู้บริโภค ก็จะได้รับอานิสงส์จากการแข่งขันที่ดุเดือด มีทางเลือกที่หลากหลายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งตัวรถเอง ผลิตภัณฑ์ และบริการที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์"

นายโชดก ปัญญาวรานันท์ ผู้จัดการฝ่าย Clients & Market ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า "เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในตลาดยานยนต์ในประเทศไทย ผลจากการวิเคราะห์แนวโน้มและเก็บข้อมูลตามบริบทจากรายงานต่าง ๆ ของดีลอยท์ยืนยันให้เห็นแล้ว ว่าคนไทยไม่ได้คิดแบบเดิมอีกต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้การแข่งขันมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ"

‘อัครเดช’ จี้ตรวจสอบถังดับเพลิงแบตรถ EV หลังสืบพบติด มอก. โดยไม่ได้รับอนุญาต

(17 ต.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้แถลงข่าวของ กรรมาธิการอุตสาหกรรมฯว่า

จากปัจจุบันประชาชนได้หันมาใช้รถยานยนต์ไฟฟ้าหรือรถ EV ซึ่งใช้แบบเตอรี่ลิเทียมไอออน ซึ่งหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ การดับเพลิงจะทำได้ยากกว่าเหตุเพลิงไหม้ทั่วไป ซึ่งทางคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมได้มีความเป็นห่วงอย่างยิ่งในเรื่องนี้ จึงได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาประสิทธิภาพการระงับเหตุเพลิงไหม้จากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขึ้นมาโดยเฉพาะ 

คณะทำงานชุดดังกล่าวได้รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง จากหลายภาคส่วน เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย, สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร, สมาคมดับเพลิงและช่วยชีวิต พบข้อมูลเบื้องต้นว่าประสิทธิภาพของทั้งอุปกรณ์ และสารเคมีดับเพลิงในการระงับเพลิงไหม้ที่เกิดจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนยังไม่มีความพร้อมเท่าที่ควร

ดังนั้นจึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดับเพลิงที่เกิดจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน เพื่อลดการสูญเสียในชีวิต และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน 

นอกจากนี้คณะทำงานชุดดังกล่าว ยังได้พบว่าในท้องตลาดมีผลิตภัณฑ์ดับเพลิง หรือ ถังดับเพลิง ซึ่งอ้างว่าสามารถใช้ดับเพลิงที่เกิดจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนหรือรถ EVได้ และยังมีตรา มอก. กำกับ แต่อย่างไรก็ดีจากการสืบสวนในทางลับของคณะทำงาน พบว่ามีโอกาสที่จะเป็นการลอบประทับตรา มอก. โดยไม่ได้รับอนุญาต คณะทำงานจึงนำเรื่องมาเพื่อหารือกับคณะกรรมาธิการ 

ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ จึงได้ประสานงานไปยังเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า บริษัทดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองคุณภาพจาก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย รวมถึงมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไปแล้วอีกด้วย

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่อาจจะส่งผลร้ายในอนาคตขึ้นได้ เนื่องจากประชาชนที่ใช้อุปกรณ์ดับเพลิงดังกล่าวในการดับเพลิงรถ EV หรือเพลิงไหม้จาก แบตเตอรี่ลิเที่ยมไอออนแต่ไม่สามารถดับได้จริง ย่อมจะทำให้เกิดการสูญเสียในทรัพย์สิน และอันตรายถึงชีวิตของพี่น้องประชาชนได้

นอกจากนี้ยังมีเอกสารหรือ การกล่าวอ้างอีกว่าบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นบริษัท ในเครือ ปตท. จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ที่จะต้องมีธรรมาภิบาลในการดำเนินการ โดยกิจการในกำกับต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด  และ ผู้บริหารต้องมีส่วนรับผิดชอบ

ดังนั้นตนจึงเรียกร้องไปยังบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ว่าบริษัทที่ทำผิดกฎหมายมาตรฐานอุตสาหกรรมเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท.หรือไม่ รวมทั้งออกมาชี้แจงให้สาธารณชนทราบโดยเร็ว และหากบริษัทดังกล่าวถือหุ้นโดย ปตท. จริงจะต้องมีมาตรการดำเนินการเพื่อลดความเสียหายให้กับประชาชน และจะรับผิดชอบต่อเรื่องนี้อย่างไร รวมถึงดำเนินการกับผู้กระทำความผิดกฎหมายอย่างไร 

นอกจากนี้ในสัปดาห์หน้าคณะทำงานของกรรมาธิการอุตสาหกรรมที่พิจารณาเรื่องนี้อยู่จะดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องดับเพลิงหรือสารดับเพลิงของบริษัทดังกล่าวที่มีการใช้ตราสินค้ามาตรฐานอุตสาหกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตว่ามีประสิทธิภาพในการระงับเพลิงจาก แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าหรือไม่อย่างไร ซึ่งได้มีการทดสอบไปแล้วอยู่ระหว่างการสรุปผล เสนอกรรมาธิการอุตสาหกรรมเพื่อพิจารณาดำเนินการอย่างเร่งด่วน

คณะกรรมาธิการอุตสาหกรรมไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมไฟไหม้รถยนต์เหมือนที่เพิ่งเกิดขึ้นมากับรถแก๊สที่สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้กับพี่น้องคนไทยทั้งประเทศจึงจะเร่งดำเนินการ กรณีดังกล่าวกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วนต่อไป

‘โฟล์คสวาเกน’ เตรียมปิด 3 โรงงานในบ้านเกิดเยอรมนี หลังไม่เคยปิดโรงงานกว่า 30 ปี รับแรงกระแทก EV จีน

(29 ต.ค. 67) Volkswagen ยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์ของเยอรมนีมีแผนจะปิดโรงงานอย่างน้อย 3 แห่งในเยอรมนี สภาแรงงานของบริษัทกล่าวเมื่อวันจันทร์

แผนการปิดโรงงานที่รายงานนี้เป็นมาตรการที่ Volkswagen กล่าวเมื่อไม่นานนี้ว่าไม่สามารถตัดทิ้งได้ท่ามกลางยอดขายที่ลดลง

สำนักข่าว Reuters อ้างคำพูดของ Daniela Cavallo หัวหน้าสภาแรงงานของ Volkswagen ที่บอกกับพนักงานหลายร้อยคนในเมือง Wolfsburg ว่า "ฝ่ายบริหารจริงจังกับเรื่องนี้มาก นี่ไม่ใช่การขู่เข็ญในการเจรจาต่อรองร่วมกัน"

"นี่คือแผนการของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนีที่จะเริ่มการขายกิจการในประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิด" Cavallo กล่าวเสริมโดยไม่ได้ระบุว่าโรงงานใดจะได้รับผลกระทบ หรือพนักงานของบริษัทเกือบ 300,000 คนในเยอรมนีอาจถูกเลิกจ้างกี่คน

"โรงงาน Volkswagen ในเยอรมนีทั้งหมดได้รับผลกระทบจากแผนเหล่านี้ ไม่มีแห่งใดปลอดภัย" Cavallo กล่าวขณะที่เธอพูดคุยกับพนักงานของ VW ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทในเมือง Wolfsburg Cavallo กล่าวว่าฝ่ายบริหารของ VW ยังเรียกร้องให้ลดเงินเดือนร้อยละ 10 และไม่มีการขึ้นเงินเดือนอื่นๆ ในอีกสองปีข้างหน้า Cavallo และผู้นำแรงงานคนอื่นๆ ใน VW ให้คำมั่นว่าจะต่อต้านการลดเงินเดือนอย่างแข็งกร้าว โดยผู้นำแรงงานของ VW กล่าวว่าบริษัทอยู่ใน "จุดตัดสินใจ" ในประวัติศาสตร์

ในการตอบสนองต่อคำขอความคิดเห็นจาก VW บริษัทกล่าวว่า "ไม่ได้มีส่วนร่วมในการคาดเดาเกี่ยวกับการเจรจาเป็นความลับ" กับสหภาพแรงงาน IG Metall ซึ่งเป็นตัวแทนของพนักงานส่วนใหญ่ของบริษัท

"Volkswagen อยู่ในจุดตัดสินใจในประวัติศาสตร์องค์กร สถานการณ์ร้ายแรง และความรับผิดชอบของพันธมิตรในการเจรจาก็มหาศาล" บริษัทกล่าวเสริม

"หากไม่มีมาตรการที่ครอบคลุมเพื่อฟื้นฟูความสามารถในการแข่งขันของเรา เราจะไม่สามารถลงทุนในอนาคตที่จำเป็นได้" แถลงการณ์ดังกล่าวอ้างคำพูดของ Gunnar Kilian เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล “เหตุผลประการหนึ่งในการปรับโครงสร้างใหม่ที่จำเป็นคือข้อเท็จจริงที่ว่าตลาดรถยนต์ในยุโรปหดตัวลงสองล้านคันตั้งแต่ปี 2020 ตลาดกำลังซบเซาและจะไม่สามารถฟื้นตัวได้ในอนาคตอันใกล้นี้ Volkswagen มีส่วนแบ่งประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ในตลาดนี้ นั่นหมายความว่าบริษัทขาดรถยนต์ประมาณ 500,000 คัน” VW กล่าวในแถลงการณ์ทางอีเมล
สหภาพแรงงานแสดงความไม่พอใจ

สหภาพแรงงาน IG Metall ออกมาประณามข่าวนี้

“นี่เป็นการแทงลึกเข้าไปในหัวใจของพนักงาน VW ที่ทำงานหนัก” สำนักข่าว DPA ของเยอรมนีอ้างคำพูดของ Thorsten Gröger ผู้จัดการเขต IG Metall กล่าว

“เราคาดหวังว่า Volkswagen และคณะกรรมการบริหารจะสรุปแนวคิดที่เป็นไปได้สำหรับอนาคตที่โต๊ะเจรจา แทนที่จะเพ้อฝันถึงการลดค่าใช้จ่าย ซึ่งจนถึงขณะนี้ฝ่ายนายจ้างเสนอเพียงคำพูดที่ว่างเปล่า”

Thomas Schäfer ซีอีโอของ VW กล่าวในแถลงการณ์ว่าต้นทุนของโรงงานในเยอรมนีสูงขึ้นเป็นพิเศษ “เราไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้เหมือนอย่างเดิม” นายเชเฟอร์กล่าว “เราไม่มีผลิตภาพเพียงพอที่โรงงานของเราในเยอรมนี และต้นทุนของโรงงานของเราในปัจจุบันสูงกว่าที่เราได้วางแผนไว้ 25% ถึง 50% ซึ่งหมายความว่าโรงงานแต่ละแห่งในเยอรมนีมีราคาแพงกว่าคู่แข่งถึงสองเท่า”

ผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปกำลังเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกของจีน
VW รายงานว่ากำไรสุทธิลดลง 14% ในช่วงครึ่งแรกของปี และถูกบังคับให้ยกเลิกข้อตกลงด้านความมั่นคงในการทำงานกับสหภาพแรงงานในเยอรมนีซึ่งทำกันมาหลายสิบปี

>>>รัฐบาลเยอรมนีมีปฏิกิริยาอย่างไร

วูล์ฟกัง บึชเนอร์ โฆษกรัฐบาลเยอรมนีกล่าวว่าเบอร์ลินทราบถึงความท้าทายของ VW และได้ติดต่อสื่อสารกับบริษัทและตัวแทนคนงานอย่างใกล้ชิด

“อย่างไรก็ตาม จุดยืนของนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้ชัดเจน นั่นคือ การตัดสินใจที่ผิดพลาดของฝ่ายบริหารที่อาจเกิดขึ้นในอดีตไม่ควรส่งผลเสียต่อพนักงาน เป้าหมายในปัจจุบันคือการรักษาและรักษาตำแหน่งงาน” โฆษกกล่าวในการบรรยายสรุปตามปกติ 

ยังไม่ชัดเจนในทันทีว่า Büchner กำลังหมายถึงเรื่องอื้อฉาวที่เรียกว่า dieselgate ที่กลายเป็นคดีอาญาหรือไม่ ซึ่ง Martin Winterkorn อดีต CEO ของ VW ถูกกล่าวหาว่าให้การเท็จ ปั่นราคาตลาด และฉ้อโกงทางการค้า

VW ดำเนินการโรงงานทั้งหมด 10 แห่งในเยอรมนี โดย 6 แห่งตั้งอยู่ใน Lower Saxony 3 แห่งอยู่ในรัฐ Saxony ทางตะวันออก และ 1 แห่งอยู่ในรัฐ Hesse ทางตะวันตก Volkswagen ไม่เคยปิดโรงงานในเยอรมนี และไม่เคยปิดโรงงานที่ใดในโลกเลยมานานกว่าสามทศวรรษ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top