Thursday, 4 July 2024
รถไฟฟ้าสายสีชมพู

‘รถไฟฟ้าสายสีชมพู’ หยุดให้บริการ 7 สถานี หลัง 'รางนำไฟฟ้าร่วง' พิกัดหน้าตลาดกรมชลประทาน ตร.รุดตรวจสอบ-ปิดจราจรถึงเที่ยง

(24 ธ.ค.66) เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี รับแจ้งเหตุรางเหล็กของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ตกหล่นลงมาโดนรถยนต์เสียหายหลายคัน และมีเสาไฟฟ้าแรงสูงหักใกล้ล้มอีก 1 ต้น หน้าตลาดกรมชลประทาน ถนนติวานนท์ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จึงรุดไปตรวจสอบพร้อมเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า และเจ้าหน้าของรถไฟฟ้า 

ที่เกิดเหตุพบเป็นรางอลูมิเนียมขนาดกว้างประมาณ 4 นิ้ว หนาประมาณ 2 นิ้วของรถไฟฟ้าที่เป็นลักษณะเส้นยาว ซึ่งหลุดจากยึดบนคานคอนกรีตสำหรับตัวรถไฟฟ้าใช้วิ่งได้ตกลงมาใส่รถเก๋งและรถกระบะที่จอดอยู่หน้าตลาดพังเสียหาย ขณะเดียวกันรางอลูมิเนียมยังหล่นไปโดนสายไฟฟ้าที่พาดผ่านทางจนเหนี่ยวรั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงหักเอนเอียงใกล้ล้ม

จากการตรวจสอบพบว่ารางอลูมิเนียมดังกล่าวได้หลุดไปถึงแยกแคราย เพียงแต่ยังไม่หล่นมาถึงพื้น มีเพียงจุดเดียวบริเวณหน้าตลาดกรมชลประทานที่ตกลงมาใส่รถได้รับความเสียหาย ส่วนบริเวณปากซอยติวานนท์ 25 พบขบวนรถไฟฟ้าจอดหยุดนิ่งโดยที่รางเหล็กยังคงติดกับล้อรถไฟฟ้าใกล้หลุดร่วงตกลงมาได้ตลอดเวลา

ขณะที่ พ.ต.ต.ฐาปณพงษ์ พึ่งมี สว.จร.สภ.ปากเกร็ด กล่าวว่า ได้รับแจ้งเหตุเวลา 05.00 น. ว่ามีรางนำไฟฟ้าหล่นลงมาทับรถประชาชนในเลนขวา ซึ่งรถจอดอยู่ติดเกาะกลางเป็นแนวก่อสร้าง จากการตรวจสอบพบรางที่หล่นลงมาเป็นระยะทางยาว จากจุดกลับรถตลาดกรมชลประทาน จนถึงหน้าธนาคารกสิกรไทย ใกล้แยกแคราย ในพื้นที่ปากเกร็ดเป็นจุดที่หนักสุดหล่นลงมาถึงพื้นถนนและถูกรถประชาชน 3 คัน และเสาไฟฟ้าแรงสูงหักโค่น 1 ต้น ต้องทำการปิดการจราจรคาดว่าน่าจะปิดถึงเวลา 12.00 น. เบื้องต้นได้ประสานหน่วยงานรถไฟฟ้าสายสีชมพูและเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงให้เข้าตรวจสอบ

ขณะที่เฟจเฟซบุ๊ก ‘รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู’ แจ้งว่า แจ้งปิดให้บริการ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ถึงสถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด เป็นการชั่วคราว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข โดยจะมีขบวนรถให้บริการ จากสถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 ถึงสถานีมีนบุรี ผู้โดยสารที่จะเดินทางระหว่าง สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28  และ สถานีมีนบุรี กรุณาเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ ขบวนรถไฟฟ้าให้บริการทุก 10 นาที ผู้โดยสารโปรดพิจารณาการเดินทาง ขออภัยในความไม่สะดวก

ขณะที่เพจ ‘โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี’ ระบุว่า รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู (ช่วงระหว่างทดลองเดินรถไฟฟ้า) เนื่องจากเกิดกระแสไฟฟ้าขัดข้อง แจ้งปิดให้บริการ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ถึงสถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด เป็นการชั่วคราว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข

โดยจะมีขบวนรถให้บริการ จากสถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 ถึงสถานีมีนบุรี ผู้โดยสารที่จะเดินทางระหว่างสถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28  และสถานีมีนบุรี กรุณาเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ ขบวนรถไฟฟ้าให้บริการทุก 10 นาที

ผู้โดยสารโปรดพิจารณาการเดินทาง ขออภัยในความไม่สะดวก

สรุปรางเหล็กที่ร่วงของรถไฟฟ้าสายสีชมพู คือ 'รางนำไฟฟ้า' แม้หลุดร่วง!! แต่ก็ไม่ทำให้ขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรลหล่น

(24 ธ.ค.66) จากกรณีที่รางเหล็กของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ขนาดกว้าง 4 นิ้ว หนา 2 นิ้ว หล่นลงมาทับรถยนต์และเสาไฟฟ้าแรงสูงได้รับความเสียหายเป็นระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร บริเวณถนนติวานนท์ ตั้งแต่ธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนติวานนท์ (แคราย) ต.ท่าทราย อ.เมืองฯ จ.นนทบุรี ถึงจุดกลับรถหน้าตลาดกรมชลประทาน ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เมื่อเวลาประมาณ 05.00 น. ที่ผ่านมา ทำให้มีรถยนต์ได้รับความเสียหาย 3 คัน และเสาไฟฟ้าแรงสูงหักโค่น 1 ต้น แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ และเวลาดังกล่าวรถไฟฟ้ายังไม่เปิดให้บริการ

ขณะที่บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู แจ้งปิดให้บริการเป็นการชั่วคราว ระหว่างสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ถึงสถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด โดยยังคงให้บริการตั้งแต่สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 (หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ) ถึงสถานีมีนบุรี แต่ต้องเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ แนะนำให้ผู้โดยสารโปรดพิจารณาการเดินทาง ขออภัยในความไม่สะดวก

สำหรับรางเหล็กที่หล่นลงมานั้น เป็นรางนำไฟฟ้าที่เรียกว่า Conductor Rail ติดอยู่บนทางวิ่ง (Guide Beam) ที่เป็นคานปูนหรือเหล็ก โดยมีทั้ง Power Rail (หรือ Positive Rail) เป็นรางจ่ายกระแสไฟฟ้า เป็นขั้วบวก และ Return Rail (หรือ Negative Rail) เป็นรางนำไฟฟ้ากลับไปครบวงจรที่สถานีไฟฟ้าขับเคลื่อน หรือ Traction Sub Station (TSS) เป็นขั้วลบ

สำหรับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู และสายสีเหลือง เป็นรถไฟโมโนเรลแบบคร่อมราง (Straddle Monorail) ซึ่งมีชุดล้อยางใต้ตัวรถที่ออกแบบมาเพื่อวิ่งคร่อมบนคานทางวิ่งเดี่ยวโดยเฉพาะ โดยมีล้อยางรับน้ำหนักอยู่ตรงกลางด้านใน โบกี้ละ 2 ล้อ หรือ 4 ล้อต่อตู้ และล้อประคองด้านข้างทั้งสองฝั่งของคาน โบกี้ละ 6 ล้อ หรือ 12 ล้อต่อตู้

ข้อมูลจากเพจ The Electric Railway System - เรียนรู้ระบบรถไฟฟ้า ระบุว่า การเดินรถจะมีชุดล้อ 4 ประเภท ได้แก่

1. Driving Wheel ทำหน้าที่ฉุดลากตัวรถ โดยชุดมอเตอร์ขับเคลื่อน วิ่งอยู่บน Guide Beam

2. Auxiliary Wheel ทำหน้าที่ช่วยประคอง Driving Wheel กรณีลมยางอ่อนหรือมีปัญหา วิ่งอยู่บน Guide Beam

3. Guide Wheels ล้อด้านข้างที่คอยประคอง Driving Wheel และตัวรถให้วิ่งไปตาม Guide Beam

4. Safety Wheels ล้อด้านข้างที่คอยประคอง Guide Wheels กรณีลมยางอ่อนหรือมีปัญหา

เมื่อสังเกตด้วยตาเปล่า ขณะที่รถไฟฟ้าโมโนเรลวิ่งผ่าน จะเห็นเฉพาะล้อยาง Guide Wheels ขนาดเล็กวิ่งอยู่บนรางเท่านั้น แต่จะไม่เห็นล้อยาง Driving Wheel เพราะจะถูกซ่อนด้วยตัวรถไฟฟ้า โดยภายในห้องโดยสารจะมีคอนโซล (Console) บริเวณด้านหน้า และแก๊งเวย์ (Gangway) บริเวณรอยต่อของขบวน ซ่อนล้อยาง Driving Wheel เอาไว้อยู่

สำหรับล้อยางที่ใช้กับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู และสายสีเหลือง จะใช้ยาง MICHELIN รุ่น X Metro และรุ่น XPM ของบริษัท มิชลิน มีการทดสอบบนลูกกลิ้งทดสอบมากกว่า 4 แสนชั่วโมง ก่อนที่ยางจะถูกนำมาใช้งานจริง และติดตามการใช้งานในแต่ละปีมากกว่า 50 ล้านกิโลเมตร คุณสมบัติเด่น คือ ค่าการยึดเกาะที่สูง ทำให้ช่วยเร่งความเร็ว การเบรกทำได้ดีในทุกสภาพอากาศ ลดการสั่นสะเทือนของยาง ทำให้ลดเสียงรบกวนแก่สภาพแวดล้อม และยังให้ความนุ่มสบายแก่ผู้โดยสาร

ส่วนขบวนรถที่ใช้มีชื่อว่า อินโนเวีย โมโนเรล 300 (INIOVIA Monorail 300) ผลิตโดยบริษัท อัลสตอม (Alstom) จากโรงงานในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน สามารถวิ่งผ่านทางโค้งที่มีรัศมีแคบได้ถึง 70 เมตร และไต่ทางลาดชันได้สูงสุด 6% ให้บริการด้วยความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ใช้ระบบควบคุมการเดินรถอัตโนมัติ แต่ไม่มีคนขับประจำในขบวนรถ โดยมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ควบคุมการเดินรถ ที่อยู่ในศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) เป็นผู้ควบคุมระบบการเดินรถและความปลอดภัยของรถไฟฟ้าทุกขบวนที่วิ่งให้บริการอยู่ในระบบ ขับเคลื่อนด้วยระบบมอเตอร์แม่เหล็กแบบถาวร โดยใช้ระบบจ่ายไฟกระแสตรง 750 โวลต์

รูปแบบของขบวนรถไฟฟ้ามีทั้งหมด 4 ตู้ ภายใน 1 ตู้โดยสารจะมีทั้งหมด 14-16 ที่นั่งต่อตู้ สามารถจุผู้โดยสารได้สูงสุด 568 คนต่อขบวน และยังมีที่นั่งสำรองสำหรับบุคคลพิเศษไว้ให้บริการอีกด้วย

‘สุริยะ’ สั่งการ!! รถตรวจทางวิ่งสำรวจ 'สายสีชมพู' ตอนตี 4 ก่อนเปิดทุกวัน พร้อมเผยสาเหตุเบื้องต้น 'รางจ่ายกระแสไฟฟ้า' ที่อาจทำให้หลุดร่วง

(24 ธ.ค.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู บริเวณถนนติวานนท์ วันนี้ว่า ตามที่วันนี้เมื่อเวลา 04.45 น. บริเวณสถานีสามัคคี (PK04) เกิดเหตุรางจ่ายกระแสไฟฟ้า (Conductor rail) หลุดร่วงลงชั้นพื้นถนน และเกี่ยวสายไฟฟ้าบริเวณหน้าตลาดชลประทาน ได้รับความเสียหาย โดยส่งผลกระทบต่อการให้บริการเดินรถนั้น

ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกับกรมการขนส่งทางราง (ขร.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการฯ โดยเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร และพี่น้องประชาชน ตนจึงได้สั่งการให้ปิดการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูในวันนี้ ตั้งแต่เวลา 12.00 น. เพื่อตรวจสอบสาเหตุอย่างละเอียด

สำหรับในวันพรุ่งนี้ (25 ธ.ค.66) จะเปิดให้บริการจำนวน 23 สถานี คือ ตั้งแต่สถานีแจ้งวัฒนะ (PK08) - สถานีมีนบุรี (PK30) ขณะที่ตั้งแต่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ไปจนถึงสถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด (PK07) รวม 7 สถานีนั้น ขร.จะต้องดำเนินการตรวจสอบ และประเมินเบื้องต้น 7 วัน จากนั้นจะตรวจสอบให้มั่นใจในด้านความปลอดภัย ก่อนที่พิจารณาเปิดให้บริการอีกครั้งต่อไป ทั้งนี้ ได้กำชับว่าหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก จะมีบทลงโทษครอบคลุมตามสัญญา ด้วยเงื่อนไขในการเดินรถต่อไป

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จากการรายงานเบื้องต้น ระบุว่า รถตรวจรางพบวัสดุแปลกปลอม ซึ่ง วัสดุแปลกปลอมดังกล่าว อาจจะเกิดจากรถเครนที่เข้าไปเคลียร์พื้นที่ เพื่อคืนผิวจราจร แล้วไปขัดบริเวณตัวล้อด้านข้าง ทำให้ลากรางจ่ายกระแสไฟฟ้าหลุดออกทั้งแนว ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ ไม่มีผู้บาดเจ็บ แต่มีรถยนต์บริเวณดังกล่าวเสียหาย 3 คัน และสายไฟฟ้าล้ม โดย NBM จะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีรถตรวจทางวิ่งตรวจสอบในช่วงเวลา 04.00 น. ก่อนให้เปิดบริการทุกวัน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีความปลอดภัยในการให้บริการและการเดินทางอย่างแน่นอน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top