Tuesday, 22 April 2025
รถไฟความเร็วสูง

รฟท. เคาะ!! สร้างรถไฟความเร็วสูง เฟส 2 'นครราชสีมา-หนองคาย' ระยะทาง 357 กม. คาดเริ่มก่อสร้างปี 68 เปิดบริการปี 74

(23 เม.ย.67) นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท.จะเสนอโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) ระยะทาง 357.12 กม. รวมมูลค่าลงทุน 341,351.42 ล้านบาท หลังคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ได้มีมติอนุมัติเมื่อสัปดาห์ก่อน ให้กระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติภายในปี 2567 คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างงานโยธา 48 เดือน (หรือ 4 ปี) ก่อสร้างงานระบบรถไฟฟ้า 66 เดือน (หรือ 5 ปีครึ่ง) กำหนดเปิดให้บริการปี 2574

ปัจจุบัน โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย มีการออกแบบงานโยธาเสร็จเรียบร้อย โดยรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เตรียมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) อนุมัติ

สำหรับ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย แบ่งงานเป็น 2 ส่วน คือ

1.งานรถไฟความเร็วสูง วงเงินลงทุน 335,665.21 ล้านบาท ได้แก่ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน วงเงิน 10,310.10 ล้านบาท, ค่าก่อสร้างงานโยธา วงเงิน235,129.40 ล้านบาท, ค่าลงทุนระบบราง วงเงิน 30,663.75 ล้านบาท, ค่าระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล วงเงิน 29,007.08 ล้านบาท, ค่าจัดหาขบวนรถไฟ วงเงิน 17,874.35 ล้านบาท ค่าจัดหาขบวนรถซ่อมบำรุงทาง วงเงิน 2,620.43 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 6,466.06 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานระบบรถไฟ วงเงิน 2,792.38 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ วงเงิน 801.66 ล้านบาท

2.งานศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา วงเงินลงทุน 5,686.21 ล้านบาท ได้แก่ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน วงเงิน 2,108.51 ล้านบาท ,ค่าก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 2,325.46 ล้านบาท ,ค่าลงทุนระบบราง วงเงิน 418.76 ล้านบาทค่าระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล วงเงิน 89.44 ล้านบาท, ค่าเครื่องมือ/อุปกรณ์ยกขนในศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯ 429.24 ล้านบาท, ค่าจัดหารถจักรในศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯ 210.00 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 63.95 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานระบบรถไฟ วงเงิน 29.38 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ วงเงิน 11.47 ล้านบาท

โครงการรถไฟไทย-จีน เฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย แบ่งเป็นทางวิ่งยกระดับ (Elevated Structure) ระยะทาง 202.48 กม. ทางวิ่งระดับดิน 154.64 กม. (แบบคันทาง 138.93 กม. เป็นสะพานรถไฟ 15.71 กม.) มี 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่,สถานีบ้านไผ่, สถานีขอนแก่น, สถานีอุดรธานี, สถานีหนองคายมีหน่วยซ่อมบำรุงทาง 4 แห่ง ได้แก่ หน่วยซ่อมบำรุงบ้านมะค่า , หน่วยซ่อมบำรุงหนองเม็ก, หน่วยซ่อมบำรุงโนนสะอาด , หน่วยซ่อมบำรุงนาทา มีศูนย์ซ่อมบำรุง 2 แห่ง คือ ศูนย์ซ่อมบำรุงนาทา และศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย และมีย่านกองเก็บตู้สินค้าและย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า 1 แห่ง ที่นาทา

นายนิรุฒ กล่าวว่า เบื้องต้นการก่อสร้างงานโยธาทั้งโครงการมูลค่าการลงทุน 341,351.42 ล้านบาท จะแบ่งงานออกเป็น 13 สัญญา โดยในส่วนของการก่อสร้างแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กม. วงเงิน 235,129.40 ล้านบาท แบ่งงานโยธาเป็น 11 สัญญา เฉลี่ยมูลค่าสัญญาละประมาณ 20,000 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผู้รับจ้างก่อสร้างที่มีคุณภาพ และการเข้าร่วมประมูลไม่มากราย หรือไม่น้อยรายจนเกินไป นอกจากนี้ ยังมีงาน ศูนย์ซ่อมบำรุงนาทา 1 สัญญา และศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย 1 สัญญา โดยจะใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e - bidding) ตามระเบียบกรมบัญชีกลาง

นอกจากนี้ บอร์ดรฟท.ยังเห็นชอบผลการศึกษาโครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งทางราง จังหวัดหนองคาย (ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯนาทา) ตามมาตรา 22 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งเห็นว่าควรแยกการลงทุนออกมาดำเนินการในรูปแบบ PPP โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อโครงการที่ช่วยขยายขีดความสามารถทางการขนส่งของจังหวัดหนองคาย ให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างประเทศไทย-ลาว-จีน

โดยหลังจาก บอร์ดรฟท. ให้ความเห็นชอบ จะนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) เห็นชอบหลักการและเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติเพื่อดำเนินการคัดลือกเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571

สำหรับโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา และย่านกองเก็บตู้สินค้า เพื่อรองรับการขนส่งทางราง จ.หนองคาย ขนาดเนื้อที่ ใช้รูปแบบ PPP Net Cost มูลค่าการร่วมลงทุน 7,211.94 ล้านบาท (การรถไฟฯลงทุน 6,560.03 ล้านบาท หรือ 90.96% เอกชนลงทุน 651.91 ล้านบาท หรือ 9.04%) ระยะเวลาร่วมลงทุน 20 ปี ประเมินค่าสัมปทานที่การรถไฟฯ ได้รับตลอดอายุโครงการ ที่4,457.07 ล้านบาท โดย การรถไฟฯ มีผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 5.87% เอกชน 15.09% มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) รฟท. ที่ 941 ล้านบาท เอกชน 32 ล้านบาท

'สุริยะ' เยือนจีน ฟื้นเจรจารถไฟความเร็วสูง 'ไทย-จีน' ดันเฟส 2 'นครราชสีมา-หนองคาย' ตอกเสาเข็มปีหน้า ได้ใช้ปี 73

เมื่อวานนี้ (8 พ.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานร่วมกับนายอู่ ฮ่าว เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 31 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

นายสุริยะ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการผลักดันความร่วมมือโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมีประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้...

1. งานก่อสร้างโครงการช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา (ระยะที่ 1) โดยได้เห็นชอบแนวทางและมาตรการร่วมกันในการเร่งรัดให้การดำเนินงานก่อสร้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งฝ่ายไทยแจ้งความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา โดยปัจจุบันก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ 2 สัญญาจากทั้งหมด 14 สัญญา อีก 10 สัญญาอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และรอการลงนามจำนวน 2 สัญญา ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนงานคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571

2. ความคืบหน้าการดำเนินการของโครงการระยะที่ 2 (ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย) ที่ฝ่ายไทยได้ออกแบบรายละเอียด งานโยธาแล้วเสร็จ ซึ่งปัจจุบันรายงาน EIA ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้ว และเตรียมเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบ ไปพร้อมกับการขออนุมัติโครงการ โดยในการประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมติ การประชุม ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เห็นชอบอนุมัติการดำเนินโครงการก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2568 และจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2573 

3. การเชื่อมต่อโครงการรถไฟเชื่อมต่อจากหนองคายไปยังเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ใกล้กับสะพานเดิมที่มีอยู่ โดยระยะห่างประมาณ 30 เมตร ประกอบด้วยทางรถไฟขนาดมาตรฐานและทางขนาด 1 เมตร ปัจจุบันกรมทางหลวง (ทล.) ได้ศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอรับการจัดสรรงบประมาณในปี 2567 สำหรับการออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงาน EIA จำนวน 125 ล้านบาท โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำร่างขอบเขต ของงาน และราคากลาง เพื่อจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาพื้นที่นาทาเพื่อเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้า โดย รฟท. ดำเนินการศึกษาในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเพื่อเป็นสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ที่รับรองการเปลี่ยนถ่ายสินค้าทางรถไฟระหว่างทางรถไฟขนาด 1 เมตร และขนาดทางมาตรฐาน รวมถึงเป็นพื้นที่การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระหว่างทางถนนและทางราง และใช้เป็นพื้นที่สำหรับรวบรวมและกระจายสินค้า จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ อาคาร คลังสินค้า การให้บริการคลังสินค้า รวมทั้งการให้บริการพิธีการทางศุลกากรเพื่อตรวจปล่อยสินค้า X–ray ตู้สินค้า การตรวจรังสี เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังได้กำหนดให้นาทาเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่าง 3 ประเทศ คือ ไทย, ลาว และจีน โดยในการประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมติการประชุม ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เห็นชอบให้เสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาเสนอต่อสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571 

ทั้งนี้ การหารือ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นชอบในการปรับปรุงและดำเนินความร่วมมือให้ลึกซึ้งและประสานงานอย่างใกล้ชิดในการประชุมไตรภาคีระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน เพื่อผลักดันให้โครงการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟดังกล่าวก้าวหน้าต่อไป

4. ฝ่ายไทยได้แจ้งให้ทราบถึงการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) ซึ่งเป็นองค์การมหาชนภายใต้กระทรวงคมนาคม โดย สทร. จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานประสานงานหลักในการอำนวยความสะดวกและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านระบบรางจากต่างประเทศ

5. ที่ประชุมได้ให้การรับรองและเห็นชอบในหลักการให้มีการจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 32 ขึ้นในประเทศไทย และร่วมกันขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ให้คืบหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้ ด้วยความร่วมมือและสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกันเพื่อให้บรรลุประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งรถไฟของทั้งสองประเทศอย่างยั่งยืน

'สุรพงษ์' เคาะ!! เซ็นสัญญารับเหมาช่วงสร้างรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ต.ค.นี้ ไม่รอผล 'ผ่าน-ไม่ผ่าน' มรดกโลก ต้องก่อสร้างต่อไปตามเดิม ไม่มีการย้ายแนว

(9 ก.ย. 67) นายสุรพงษ์​ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กม. วงเงินลงทุน 179,412.21 ล้านบาท ว่า จากงานโยธาทั้งหมด 14 สัญญา ขณะนี้ยังเหลืออีก 2 สัญญาที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง คือ สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ที่มีประเด็นสถานีอยุธยา ซึ่งแนวทางขณะนี้คือต้องเดินหน้าลงนามสัญญาก่อสร้างที่ได้ประกาศผลผู้ได้รับคัดเลือกไว้นานแล้ว โดยหลังรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และคณะรัฐมนตรี (ครม.)​ ชุดใหม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ ตนจะนำเรื่องนี้หารือกับ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อตัดสินใจ คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาได้ภายในเดือน ต.ค. 2567

ส่วนกรณีผลกระทบมรดกโลกช่วงสถานีอยุธยา การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้มีการศึกษารายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก หรือ Heritage Impact Assessment (HIA) เสร็จแล้ว และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จัดส่งรายงานให้ยูเนสโกตามขั้นตอนครบถ้วนแล้ว การปรับแบบและดำเนินการตามที่ยูเนสโกร้องขอเพื่อไม่ให้กระทบต่อความกังวล เช่น มีการปรับลดความสูงโครงสร้างจาก 19 เมตร เหลือ 17 เมตรแล้ว แนวเส้นทางอยุธยาสร้างบนเขตทางรถไฟ ที่ไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่มรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับยูเนสโก แต่อยู่ห่างออกไป 1.5 กิโลเมตร และมีแม่น้ำป่าสักคั่นอยู่ เป็นบับเบิลโซน

“ไม่ว่าผลมรดกโลกจะพิจารณาออกมาอย่างไร จะผ่านหรือไม่ผ่าน โครงการรถไฟความเร็วสูงสายนี้ก็ต้องก่อสร้างต่อไปตามเดิม ไม่มีการย้ายแนว เพราะจะทำให้งบประมาณเพิ่มและต้องใช้เวลาเพิ่มอีก 10 ปี จึงเป็นเหตุผลที่ต้องตัดสินใจลงนามสัญญาก่อสร้าง เพราะไม่ว่าทางมรดกโลกจะผ่านหรือไม่ผ่านก็ต้องก่อสร้าง และไทยได้ดำเนินการตามขั้นตอนมรดกโลก เพื่อลดความเสี่ยงไปครบทุกอย่างแล้ว เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา และที่ต้องหารือกับนายกฯ ก่อนเพราะว่าเรื่องนี้มีหน่วยงานและกระทรวงอื่นเกี่ยวข้องด้วย” นายสุรพงษ์กล่าว

สำหรับสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. วงเงิน 9,913 ล้านบาท ที่ผ่านมาคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ได้อนุมัติการสั่งจ้างบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ไว้แล้ว ซึ่งในเงื่อนไขให้ก่อสร้างแนวเส้นทางก่อน เว้นสถานีไว้รอเรื่องมรดกโลก และเมื่อปรับลดขนาดสถานีลงจะทำให้ค่าก่อสร้างลดลงไปด้วย

ส่วนสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กม. ที่มีประเด็นโครงสร้างร่วมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) นั้น ในส่วนของรถไฟไทย-จีน ตกลงที่ปรับสเปกลดความเร็วจาก 250 กม./ชม. เป็น 160 กม./ชม. ในช่วงดังกล่าว ส่วนการก่อสร้างตามสัญญาทางอีอีซี โดยบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (ซี.พี.) เป็นผู้ก่อสร้างทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อเดินหน้าเร็ว ๆ นี้

ขณะที่สัญญา 3-2 (งานก่อสร้างอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง) ซึ่งเกิดอุบัติเหตุถล่มทรุดตัวระหว่างก่อสร้างนั้น งานอุโมงค์สัญญานี้มีการก่อสร้างเร็วกว่าแผน คือ ทำได้ 70% ขณะที่แผนกำหนด 50% ยังไม่น่ากังวล

นายสุรพงษ์กล่าวว่า นอกจากปัญหาทางการก่อสร้างแล้วยังพบว่างานบางสัญญาที่ล่าช้าเพราะผู้รับเหมาขาดสภาพคล่อง ซึ่งจะให้ รฟท. เชิญผู้รับเหมาเหล่านั้นมาพูดคุยหาทางแก้ปัญหา เช่น ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างไรเพื่อให้เข้าพื้นที่ก่อสร้างให้เร็วที่สุด ขณะนี้แผนงานและเป้าหมายงานโยธาทั้ง 14 สัญญาจะต้องแล้วเสร็จต้นปี 2571

“ให้ รฟท.ประชุมใหญ่งานโยธา 14 สัญญาเอามาอัปเดตแก้ปัญหาอุปสรรคให้หมด และจัดทำไทม์ไลน์งานโยธาให้แล้วเสร็จในเวลาเดียวกัน เพื่อให้วางระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ที่ผ่านมาต่างคนต่างทำ แต่จากนี้ต้องทำงานเป็นทีม ซึ่งหลังโยธาเสร็จระบบจะทดสอบประมาณ 1 ปี หรืออาจจะเร่งรัดกว่านั้น เป้าหมายอยากเปิดเฟสแรกกลางปี 2571

ส่วนโครงการระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กม. กรอบวงเงิน 341,351.42 ล้านบาท หลังแถลงนโยบายที่รัฐสภาเสร็จจะเร่งนำเสนอเข้า ครม.ได้ ตามแผนคาดว่าจะเปิดประมูลได้ในต้นปี 2568 ระหว่างเดือน ก.พ. 68 ถึง ต.ค. 2568 (ระยะเวลา 9 เดือน) เริ่มก่อสร้างโครงการฯ เดือน พ.ย. 2568 คาดแผนงานใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 72 เดือน คาดว่าเปิดให้บริการ พ.ย. 2574

นายสุรพงษ์กล่าวถึงแผนการเปิดและเปิดเดินรถว่า รฟท.ตั้งงบปี 68 ประมาณ 10 ล้านบาทเพื่อจัดจ้างที่ปรึกษาศึกษารูปแบบเดินรถที่เหมาะสม ใช้ระยะเวลาศึกษา 6 เดือน คาดว่าเดือน มี.ค. 2568 จะเห็นภาพชัดเจนว่าจะเดินรถรูปแบบใดเหมาะสมที่สุด รวมถึงอัปเดตเทคโนโลยีให้เป็นปัจจุบันที่สุดด้วย เพราะรถไฟไทย-จีน ดีเลย์ จากแผนระบบและเทคโนโลยีที่เลือกไว้ก่อนหน้านี้อาจจะไม่เหมาะกับปัจจุบันแล้ว เบื้องต้นน่าจะเป็นรูปแบบ PPP เข้ามาบริหารจัดการเดินรถและซ่อมบำรุงตลอดเส้นทางตั้งแต่กรุงเทพฯ -นครราชสีมา-หนองคาย เพราะ รฟท.มีข้อจำกัดทางด้านบุคลากรรถไฟ และประสบการณ์

สำหรับมติ ครม.เมื่อปี 2560 ที่ให้กระทรวงคมนาคมศึกษา องค์กรพิเศษเพื่อเดินรถ และระบบที่เป็นข้อตกลงผูกพันจากรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งบางเรื่องต้องไปต่อ แต่บางเรื่องอาจต้องอัปเดตเทคโนโลยี แต่ยังเป็นมาตรฐานจีน เพราะเส้นทางนี้ต้องเชื่อมต่อสปป.ลาว และจีนเป็นโครงข่าย

บอร์ด EEC เห็นชอบ แก้สัญญารถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน เตรียมเสนอ ครม. ปลดล็อกพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาคตะวันออก

(15 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2567 วันที่ 11 ตุลาคม 2567 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นเลขานุการการประชุมฯ ทั้งนี้ กพอ. ได้พิจารณาและมีมติในเรื่องสำคัญ ดังนี้

1.เห็นชอบหลักการการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยการปรับปรุงสัญญาร่วมลงทุนเพื่อผลักดันให้โครงการฯ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ บนพื้นฐานที่ภาครัฐไม่เสียประโยชน์ และภาคเอกชนไม่ได้ประโยชน์เกินสมควร โดยจะเสนอการแก้ไขสัญญาต่อ ครม. เพื่อพิจารณาใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย

1)วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน (Public Investment Cost : PIC) จากเดิม เมื่อเอกชนเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงฯ รัฐจะแบ่งจ่ายเป็นจำนวน 149,650 ล้านบาท เป็น จ่ายเป็นงวดตามความก้าวหน้าของงานที่ รฟท. ตรวจรับ วงเงินไม่เกิน 120,000 ล้านบาท โดยเอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม รวมเป็นจำนวน 160,000 ล้านบาท เพื่อรับประกันว่าจะก่อสร้างและเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงฯ ได้ภายใน 5 ปี ทั้งนี้ กรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างจะทยอยตกเป็นของภาครัฐ (รฟท.) ทันทีตามงวดของการจ่ายเงิน

2)กำหนดการชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดยให้เอกชนแบ่งชำระค่าสิทธิจำนวน 10,671.09 ล้านบาท เป็น 7 งวด เป็นรายปี จำนวนเท่า ๆ กัน โดยต้องชำระงวดแรก
ณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญา ในการนี้ เอกชนจะต้องวางหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคาร ในมูลค่าเท่ากับค่าสิทธิ ARL รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงินอื่นที่ รฟท. ต้องรับภาระ

3)กำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) เพิ่มเติม หากในอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการฯ ลดลงอย่างมีนัยสําคัญ และเป็นผลให้เอกชนได้ผลประโยชน์ตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นเกิน 5.52% รฟท.มีสิทธิเรียกให้เอกชนชําระส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มได้ ตามจำนวนที่จะตกลงกันต่อไป

4)การยกเว้นเงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) โดยให้คู่สัญญาจัดทำบันทึกข้อตกลงยกเว้นเงื่อนไข NTP ที่ยังไม่สำเร็จ เพื่อให้ รฟท. สามารถออก NTP ได้ทันทีเมื่อลงนามสัญญาที่แก้ไขตามหลักการทั้งหมดนี้

5)การป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ โดยปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนของเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการอื่น

ที่ประชุม กพอ. มีมติให้ สกพอ. ดำเนินการนำเสนอหลักการแก้ไขปัญหาโครงการฯ ใน 5 ประเด็นดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบการทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 และให้คู่สัญญาร่วมกันเจรจาร่างสัญญาแก้ไข และเสนอต่อคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการฯ พิจารณา และนำส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาก่อนนำเสนอ กพอ. และ ครม. เพื่อให้ ครม. เห็นชอบการแก้ไขสัญญาอีกครั้ง ก่อนคู่สัญญาจะลงนามในสัญญาฉบับแก้ไขต่อไป

2. เห็นชอบการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา จากการที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ไม่สามารถเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) ที่สนามบินอู่ตะเภาได้ และ สกพอ. เห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และการยกระดับขีดความสามารถในการให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานของประเทศไทย ตลอดจนเพิ่มศักยภาพของช่างอากาศยานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และจำเป็นต้องขับเคลื่อนการดำเนินโครงการต่อไปให้เหมาะสมตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป กพอ. ได้มีมติเห็นชอบการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินโครงการ โดยให้ยกเลิกการเป็นโครงการร่วมลงทุนตามที่ ครม. อนุมัติไว้ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 และให้ สกพอ. ดำเนินการจัดหาผู้เช่าที่ดินราชพัสดุในเขตส่งเสริม : เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เพื่อดำเนินกิจกรรมศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 และ ระเบียบคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การเช่าที่ดินราชพัสดุที่ประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2562 ต่อไป โดย สกพอ. จะนำเสนอให้ ครม. รับทราบมติ กพอ. ดังกล่าว และพิจารณายกเลิกมติ ครม. วันที่ 30 ตุลาคม 2561 ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

2.รับทราบความก้าวหน้าการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยเฉพาะด้านการพัฒนาเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 4 โครงการใหญ่ และการชักชวนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ การแพทย์และสุขภาพ ดิจิทัล ยานยนต์สมัยใหม่ เศรษฐกิจ BCG และบริการ โดยในช่วงตั้งแต่มกราคม 2566 ถึงกันยายน 2567 สกพอ. ได้ดำเนินการชักชวนนักลงทุน 139 ราย โดยมีนักลงทุนที่สนใจการลงทุนใน 5 กลุ่มคลัสเตอร์ดังกล่าวและได้ทำหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) รวม 35 ราย จำนวน 36 โครงการ มีการยื่นข้อเสนอโครงการฯ เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอีอีซีแล้ว จำนวน 12 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 135,000 ล้านบาท

ครบรอบ 5 ปี เซ็นสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เมกะโปรเจกต์เชื่อมโยงอีกหลายโครงการ ที่ถึงเวลาต้องตัดสินใจ

(25 ต.ค. 67) จังหวะเวลาช่างเหมาะเจาะเหลือเกินที่ช่วงนี้กำลังมีข่าวสารเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพราะวันนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว คือ วันที่มีการลงนามในสัญญาฉบับนี้ระหว่างเอกชน กับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) แบบพอดิบพอดี 

สำหรับปฏิกิริยาล่าสุดจากทางสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะที่กำกับดูแล รฟท. โดยตรงได้ออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา(22 ต.ค. 67) ว่า

การแก้ไขสัญญา เกิดจากเอกชนและภาครัฐผิดสัญญา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของชุดไวรัสโควิด​- 19 ทำให้โครงการเกิดความล่าช้า รัฐบาลไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนได้ ขณะที่เอกชนก็ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงเป็นต่างคนต่างผิดสัญญา จึงต้องพิจารณาใหม่

แม้จะตอบได้อย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามยังเกิดข้อครหาตามติดมาว่าเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่ 

สำหรับในประเด็นนี้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ตอบออกมาว่า ร่างสัญญาจะถูกตรวจสอบโดยสำนักงานอัยการสูงสุดอยู่แล้ว ประเด็นนี้จึงไม่น่าเป็นห่วง 

สำหรับประเด็นร้อนประเด็นนี้ โดยเฉพาะเมื่อผ่านตา ‘ทีมคมนาคม’ ที่นำโดยสุริยะ ที่แม้ท่าทีจะเงียบ ๆ แต่ผลักดันแทบทุกโครงการจนสัมฤทธิ์ผล 

นอกจากนี้พ่อบ้านของกระทรวงคมนาคมอย่าง ‘ชยธรรม์ พรหมศร’ ปลัดกระทรวงคมนาคม ที่เติบโตจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ทำให้สามารถมองเห็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้อย่างเป็นภาพรวม 

และมีเสียงลือจากกระทรวงคมนาคมว่า ปลัดคนนี้นี่เองที่เคยทำงานอยู่ในทีมสมัยแรกที่ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ นั่งเจ้ากระทรวง

ด้วยสรรพกำลังภายในกระทรวงที่เพียบพร้อมเช่นนี้ ข้อกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์เอกชนคงจะจางหายไปบ้าง

อย่างที่กล่าวไปในย่อหน้าแรก ว่าโครงการนี้ค้างคามาไม่น้อยกว่า 5 ปีแล้ว โอกาสของประเทศที่สูญเสียไปไม่ทราบเหมือนกันว่ามีเท่าไหร่กันแน่ 

และนอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังเกี่ยวเนื่องกับอีก 2 โครงการโดยตรง!!

สำหรับโครงการแรก คือ เมืองการบินอู่ตะเภา ที่จะพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์สนามบินหลักแห่งที่ 3 ของประเทศ 

ขยายศักยภาพสนามบินหลักเดิม 2 แห่งที่ปัจจุบันรองรับเที่ยวบินจำนวนมหาศาลจนทำให้การจราจรทางอากาศติดขัดเป็นบางช่วงเวลา 

แต่ก็ต้องยอมรับว่าจุดหมายปลายทางหลักคงไม่ใช่อู่ตะเภาเท่านั้นเพราะ ‘กรุงเทพ’ เมืองฟ้ายังเป็นจุดหมายปลายทางหลัก

ดังนั้นการทำให้การเดินทางเชื่อมต่อกันโดยง่ายจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ‘รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน’ คือคำตอบเดียว 

หากไฮสปีดสามสนามบินล่าช้าออกไปอีก คงทำให้อีกโครงการล่าช้าต่อเนื่องไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

สำหรับโครงการที่ 2 จะออกนอกพื้นที่ EEC คือโครงการที่มีชื่อว่า ‘รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา’

สำหรับเหตุผลว่าเรื่องนี้ทำไมล่าช้า เพราะในช่วงทับซ้อนของโครงการดังกล่าวคือช่วงบางซื่อ-สนามบินดอนเมือง ทั้งสองโครงการจะใช้ระบบรางเดียวกัน โดยผู้ที่ดำเนินการก่อสร้างคือเจ้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ดังนั้น หากยังไม่สามารถปลดล็อกการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไปได้ นอกจากการก่อสร้างบางช่วงที่ติดปัญหาของรถไฟไทย-จีน แล้ว จะมาติดล็อกของโครงการรถไฟ 3 สนามบินอีกด้วย 

และยังไม่รวมถึงโครงการหลักอย่าง EEC หรือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่เสน่ห์เย้ายวนจะหายไปเพียงใด หากการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินสะดุด 

ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่ผ่านมาจึงไม่แปลกใจนักหากรัฐบาลพร้อมที่จะเดินหน้าแก้ไขสัญญา เพราะในบางครั้งต้องมีการยอมกลืนเลือดไปเสียบาง เพื่อรักษาผลประโยชน์โดยรวม 

และดูเหมือนว่าครั้งนี้กระทรวงคมนาคมจะเดินหน้าเต็มกำลัง เพราะหลังจากกลับมารับตำแหน่งใน ครม. ชุดแพทองธาร ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ ก็จัดการยึดอำนาจกำกับ รฟท. มาไว้ที่ตนเอง พร้อมกับที่ชื่อ ‘วีริศ อัมระปาล’ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย 

ทั้งหมดย่อมหนีไม่พ้นการแสดงออกว่าราชรถ 1 อย่างสุริยะ ‘เอาจริง’ กับการพัฒนาระบบรางของประเทศไทยอย่างแน่นอน

‘สุริยะ’ ยันโครงการ ‘รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน’ เป็นประโยชน์ต่อประเทศ เตรียมชงแก้สัญญาเข้า ครม.

(29 ต.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ว่า ยังไม่มีการนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะเป็นสัปดาห์หน้าหรือสัปดาห์ถัดไป 

แต่ยืนยันว่าการแก้ไขสัญญาโครงการดังกล่าวเป็นเรื่องที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้เจรจากับภาคเอกชน โดยเอกชนได้รับผลกระทบจากโควิด อยากให้รัฐบาลแก้ไขเยียวยา ซึ่งมีข้อเสนอมา 6 ข้อ แต่คณะกรรมการกำกับดูแลสัญญาเห็นว่ามีเพียงข้อเดียวที่จะรับได้คือ เรื่องต้นทุนดอกเบี้ยสูงขึ้น เนื่องจากมีผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน   

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเรียกร้องประเด็นค่าก่อสร้างเพิ่มเติมที่เอกชนขอมานั้น รฟท.ไม่ได้ให้ ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับผลกระทบโควิด เรามองว่าเป็นเหตุสุดวิสัย จึงต้องแก้สัญญา โดยได้ดูครบถ้วนทุกประเด็นที่รัฐไม่เสียประโยชน์ ประกอบกับเราอยากให้โครงการนี้เดินต่อ 

หากมีการยกเลิกสัญญาปัญหาจะตามมา รัฐเองต้องยอมรับว่าไม่สามารถส่งพื้นที่ก่อสร้างให้กับเอกชนได้ เอกชนเองที่ต้องจ่ายในส่วนของแอร์พอร์ตลิงก์ให้ก็ไม่ได้จ่าย ทำให้ต้องเจรจากัน อย่างไรก็ตาม เรื่องการเจรจา ตนไม่ใช่ผู้ริเริ่มเจรจา แต่เป็นโครงการที่ต่อเนื่องมาจาก รฟท. และเข้ามาที่สำนักงานนโยบายและแผนงานและขนส่งจราจร  กระทรวงคมนาคม เป็นผู้กรองเรื่อง ซึ่งเห็นแล้วว่าเป็นประโยชน์ ไม่เสียเปรียบ ตนจึงได้เซ็นเรื่องไป

”โครงการนี้เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ ลดระยะเวลาเดินทางจาก กทม.ไปอู่ตะเภาได้มาก การเดินหน้าโครงการนี้จึงเป็นประโยชน์ ยืนยันการเดินหน้าโครงการนี้รัฐบาลไม่เสียเปรียบเอกชน 100%  เพราะการแก้ไขสัญญาต่าง ๆ มีอัยการเข้ามาช่วยดูแล” นายสุริยะ กล่าว 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากการแก้ไขสัญญาเสร็จสิ้นแล้ว โครงการจะแล้วเสร็จเมื่อใด นายสุริยะ กล่าวว่า หากเราไม่รีบเจรจาแก้ไขสัญญา โครงการจะแล้วเสร็จล่าช้ากว่าปี 71 จะมีผลกระทบไปถึงโครงการเมืองการบินที่การยื่นเงื่อนไขการยื่นประมูลมีเรื่องของรถไฟเชื่อม 3 สนามบินเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งหากล่าช้ากว่าปี 71 อาจจะถูกฟ้องร้องจากเอกชน เราพยายามจะทำให้เสร็จตามกรอบเวลาดังกล่าว 

เวียดนามอนุมัติสร้างรถไฟความเร็วสูงสายแรก เชื่อมฮานอย-โฮจิมินห์ คาดเสร็จใน 11 ปี

(2 ธ.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สภาแห่งชาติเวียดนาม ชุดที่ 15 ได้ลงมติผ่านนโยบายการลงทุนโครงการทางรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ-ใต้ มูลค่ารวม 1.7 พันล้านล้านดอง (ราว 2.3 ล้านล้านบาท) เมื่อวันเสาร์ (30 พ.ย.) ที่ผ่านมา

โครงการข้างต้นมีวงจรงบประมาณระยะกลาง 3 รอบ ได้แก่ รอบปี 2564-2568 รวม 5.38 แสนล้านดอง (ราว 725 ล้านบาท) รอบปี 2569-2573 รวม 841.7 ล้านล้านดอง (ราว 1.13 พันล้านบาท) และรอบปี 2574-2578 รวม 871.3 ล้านล้านดอง (ราว 1.17 พันล้านบาท)

ทางรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ-ใต้ของเวียดนามจะมีระยะทางรวม 1,541 กิโลเมตร เริ่มต้นจากสถานีหง่อกโห่ยในกรุงฮานอย ตัดผ่าน 20 เมืองและจังหวัด และสิ้นสุดที่สถานีถูเตี๊ยมในนครโฮจิมินห์ซิตี

หวู่ ฮง แท็ง ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจประจำสภาฯ กล่าวว่า โครงการนี้มีความเป็นไปได้ในบริบทปัจจุบันของเวียดนาม หลังจากเตรียมงานและศึกษาต้นแบบรถไฟความเร็วสูงทั่วโลกมานาน 18 ปี

จีนเปิดตัวไฮสปีดเทรน 'ซีอาร์450' จ่อขึ้นแท่นเร็วสุดในโลก 450 กม./ชม.

(7 ม.ค. 68) บริษัท การรถไฟแห่งประเทศจีน จำกัด ได้เปิดตัวต้นแบบรถไฟหัวกระสุน ซีอาร์450 (CR450) ที่จะวิ่งด้วยความเร็ว 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในกรุงปักกิ่ง

รายงานระบุว่ารถไฟหัวกระสุน ซีอาร์450 สามารถวิ่งด้วยความเร็ว 450 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในการทดสอบหลายรอบ ซึ่งตอกย้ำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีรถไฟของจีน

รถไฟรุ่นใหม่จะมีความเร็วในการเดินรถมากกว่ารถไฟความเร็วสูงฟู่ซิง ซีอาร์400 ที่ให้บริการในปัจจุบันอย่างมาก โดยรถไฟฟู่ซิง ซีอาร์400 วิ่งด้วยความเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

บริษัทฯ จะจัดการทดสอบรถไฟต้นแบบบนทางรถไฟเส้นทางต่างๆ และปรับปรุงตัวชี้วัดทางเทคนิค เพื่อรับประกันว่าซีอาร์450 จะได้ให้บริการเชิงพาณิชย์โดยเร็วที่สุด

รถไฟความเร็วสูงสายแรก กรุงเทพ-โคราช-หนองคาย ใช้เวลาวิ่งเพียง 3 ชั่วโมงครึ่ง คาดสร้างเสร็จทั้งเส้นทางปี 72

เมื่อวันที่ (13 ม.ค. 68) เพจโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure ได้โพสต์ข้อความว่า ทำความรู้จักกับ รถไฟความเร็วสูงสายแรกของไทย กรุงเทพ-โคราช-หนองคาย ระยะทาง 607 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงครึ่ง!!! กับราคาเพียง 1,170 บาท!!!

โดยทางเพจ ระบุว่า วันนี้ขอเอาภาพรวมโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-โคราช-หนองคาย ซึ่งจะไปเชื่อมโยงกับ โครงการรถไฟ ลาว-จีน มาฝาก โดยอ้างอิงข้อมูลจากกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม 

แนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพมหานคร - หนองคาย เชื่อมต่อ ไทย ลาว จีน

โครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตร จำนวน 6 สถานี มีจุดเริ่มต้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ผ่านสถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสิ้นสุดที่สถานีนครราชสีมา โดยจะใช้เวลาเดินทางจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ไปยังสถานีนครราชสีมาเพียง 1 ชั่วโมง 40 นาที และมีอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 530 บาท

นอกจากนี้ยังมีแผนดำเนินการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางจากไทยไปลาว และจีน โดยช่วงนครราชสีมา - หนองคาย มีระยะทางประมาณ 357 กิโลเมตร จำนวน 5 สถานี โดยจะเป็นการเดินทางต่อจากสถานีนครราชสีมา ผ่านสถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสิ้นสุดที่สถานีหนองคาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติดำเนินโครงการ

และเมื่อโครงการรถไฟความเร็วสูงก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งเส้นทางภายในปี 2572 จะทำให้ประชาชนสามารถเดินทางจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ไปยังสถานีหนองคาย โดยใช้ระยะเวลาเดินทางเพียง 3 ชั่วโมง 30 นาที และมีอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 1,170 บาท

สามารถติดตามข่าวสารระบบรางได้ที่ https://www.facebook.com/DRT.OfficialFanpage

ครม. ไฟเขียวรถไฟความเร็วสูง โคราช-หนองคาย 357 กม. ขณะที่ นายกฯ เร่งเฟสแรก กทม.- โคราช หลังสร้างช้ากว่ากำหนด

(4 ก.พ. 68) ครม. อนุมัติรถไฟความเร็วสูงเฟส 2 โคราช-หนองคาย 357 กม. จ่อเชื่อมรถไฟลาวที่เวียงจันทน์ทะลุถึงจีน คาดเสร็จปี 73 ขณะที่ นายกฯ เร่งรัดเฟสแรก กทม.- โคราช 253 กม. หลังสร้างช้ากว่ากำหนด 

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 5 ประจำปี 2568 กระทรวงคมนาคม (คค.) ได้ขอเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา–หนองคาย กรอบวงเงิน 341,351.42 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (ปีงบฯ 68-75) โดยให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายปี และให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ และค้ำประกันเงินกู้ให้ตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างไทยและจีนว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ซึ่งที่ผ่านมา ครม. มีมติเมื่อ 11 กรกฎาคม2560 ที่อนุมัติให้ รฟท. ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง กทม. -หนองคาย (โครงการฯ ระยะที่ 1) กทม.- นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท โดยรัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปีงบฯ 60-63) ซึ่งปัจจุบันโครงการฯ ระยะที่ 1 ล่าช้ากว่ากำหนด โดยมีความคืบหน้าโดยรวมร้อยละ 35.74 ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2571

นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงคมนาคม โดย รฟท. ได้ขออนุมัติดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 2 ประกอบด้วย การดำเนินการใน 2 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1 การก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากโครงการฯ ระยะที่ 1 ที่จะเริ่มต้นที่จังหวัดนครราชสีมา ไปจนถึงจังหวัดหนองคาย วงเงิน 335,665.21 ล้านบาท ระยะทาง 357.12 กม. ประกอบด้วย 5 สถานี ได้แก่ (1) สถานีบัวใหญ่ (2) สถานีบ้านไผ่ (3) สถานีขอนแก่น (4) สถานีอุดรธานี และ (5) สถานีหนองคาย โดยจะเริ่มก่อสร้างในปีงบฯ 68 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีงบฯ 75 (รวม 8 ปี)

ส่วนที่ 2 การก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา วงเงิน 5,686.21 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นการก่อสร้างศูนย์บริการเปลี่ยนถ่ายสินค้าทางรถไฟ ทั้งขาเข้า - ขาออก ระหว่างทางขนาด 1 เมตร ของรถไฟไทย และขนาดทางมาตรฐาน 1.45 เมตร ของโครงการรถไฟลาว – จีน ในรูปแบบศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One stop service) 

สำหรับโครงการฯ ระยะที่ 2 เมื่อพิจารณา EIRR เชิงกว้าง กรณีโครงการฯ ระยะที่ 1 + 2 พบว่า มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 13.23 ซึ่งยังมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ อีกทั้ง คกก.การรถไฟฯ มีมติเห็นชอบโครงการฯ ระยะที่ 2 และ คกก.สิ่งแวดล้อมฯ ได้เห็นชอบรายงาน EIA ของโครงการฯ ระยะที่ 2 ด้วยแล้ว

ทั้งนี้ เลขาฯ ครม. ได้สรุปความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นควรให้กระทรวงคมนาคม เร่งจัดทำรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมของรูปแบบการบริหารจัดการรถไฟความเร็วสูง เสนอ ครม. พิจารณาโดยเร็ว และให้การรถไฟฯ ศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ และเสนอขออนุมัติพร้อมกันกับการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยให้ทบทวนและปรับปรุงสมมติฐานที่ใช้ในการศึกษาให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน

โดยนายกรัฐมนตรี สั่งการว่า ขอให้ กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ เร่งรัดดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 1 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากล่าช้ากว่าแผนมานานแล้ว 

จากนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบในหลักการโครงการฯ ระยะที่ 2 โดยให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ ดำเนินการตามความเห็นของสภาพัฒน์ฯ ก่อนดำเนินการต่อไป และให้รับความเห็นของหน่วยงานไปพิจารณาด้วย โดยให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top