Wednesday, 23 April 2025
ยานอวกาศ

รัสเซียส่ง 'สถานีสำรวจลูนา-25 ' ขึ้นสู่อวกาศ เปิดฉากสำรวจฝั่งขั้วใต้ของดวงจันทร์

วลาดีวอสตอก (11 ส.ค.66) สำนักข่าวซิน เผย ช่วงเช้ามืดของวันศุกร์ (11 ส.ค.) รัสเซียประสบความสำเร็จในการส่งสถานีสำรวจดวงจันทร์ลูนา-25 (Luna-25) สู่อวกาศ ซึ่งถือเป็นการเปิดฉากภารกิจการสำรวจขั้วใต้ของดวงจันทร์ครั้งประวัติศาสตร์

จรวดขนส่งโซยุส-2.1บี (Soyuz-2.1b) ที่มีเฟรกัต (Fregat) หรือจรวดส่วนสุดท้าย ขนส่งสถานีสำรวจดวงจันทร์ซึ่งไม่มีแคปซูลส่งกลับนี้ ทะยานออกจากฐานปล่อยยานอวกาศวอสโตชินี คอสโมโดรม บริเวณแคว้นอามูร์ ภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย

หลังจากการปล่อย 9 นาที จรวดส่วนสุดท้ายที่มีสถานีลูนา-25 ได้แยกตัวออกจากส่วนที่สาม (third stage) ของจรวดขนส่ง จากนั้นประมาณหนึ่งชั่วโมงต่อมา ลูนา-25 ก็ได้แยกตัวออกจากจรวดส่วนสุดท้าย และเข้าสู่เส้นทางการบินสู่ดวงจันทร์สำเร็จ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จขั้นแรกของภารกิจดังกล่าวในรอบเกือบ 50 ปีกันเลยทีเดียว

‘อินเดีย’ ยังไม่สามารถปลุกยานสำรวจดวงจันทร์ได้ หลังเข้าสู่โหมดนอนหลับ แม้ภารกิจจะสำเร็จแล้วก็ตาม

(26 ก.ย. 66) สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า นายเอ เอส คิราน คูมาร์ อดีตผู้อำนวยการองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ไอเอสอาร์โอ) กล่าวเมื่อวันที่ 25 กันยายนว่า โอกาสที่วิกรม (Vikram) ยานลงจอดดวงจันทร์ของยานสำรวจอวกาศจันทรายาน-3 ของอินเดีย จะติดขึ้นมาอีกครั้งหลังเจอกับคืนข้างแรมอันหนาวเย็นบนดวงจันทร์ได้ลดน้อยลงไปทุกๆ ชั่วโมง แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์จะพยายามติดต่อกับยานให้ได้จนถึงวันสุดท้ายของวันข้างขึ้น

ยานลงจอดดวงจันทร์วิกรม ซึ่งบรรจุหุ่นยนต์สำรวจดวงจันทร์ที่ชื่อปรัชญาณ ได้ลงจอดบนขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา และได้ทำการสำรวจดวงจันทร์เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก่อนที่ทั้งวิกรมและปรัชญาณจะเข้าสู่ sleep mode เมื่อเข้าสู่วันข้างแรม โดยไอเอสอาร์โอหวังว่าแบตเตอรี่ของวิกรมและปรัชญาณจะถูกชาร์จใหม่และตื่นขึ้นมาอีกครั้งเมื่อถึงวันข้างขึ้นในวันที่ 22 กันยายน เนื่องจากยานทั้งสองต้องใช้แสงอาทิตย์ในการชาร์จแบตเตอรี่

อย่างไรก็ดี เมื่อถึงวันข้างขึ้น ไอเอสอาร์โอระบุว่า ทางหน่วยงานกำลังพยายามติดต่อวิกรมและปรัชญาณให้ได้ แต่ตอนนี้พวกเขายังไม่ได้รับสัญญาณใดๆ ตอบกลับมา ซึ่งขณะนี้ไอเอสอาร์โอยังไม่ได้ประกาศความคืบหน้าของความพยายามดังกล่าวแต่อย่างใด

นายคูมาร์กล่าวว่า “ยานลงจอดดวงจันทร์และหุ่นยนต์สำรวจดวงจันทร์มีส่วนประกอบหลายชิ้นที่อาจไม่รอดจากอากาศอันเยือกเย็นบนดวงจันทร์” บริเวณใกล้กับขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์อาจมีอุณหภูมิต่ำถึง -200 ถึง -250 องศาเซลเซียสได้ในช่วงกลางคืน

“เราไม่สามารถติดต่อกับยานลงจอดดวงจันทร์ได้เลย เว้นแต่ว่าทรานสมิตเตอร์ของยานจะติดขึ้นมาอีกครั้ง มันต้องบอกเราว่ามันยังมีชีวิตอยู่ และต่อให้ระบบย่อยอื่นๆ ทั้งหมดของยานยังคงทำงานได้ แต่เราก็จะไม่มีทางทราบได้เลย” นายคูมาร์ กล่าวให้ข้อมูล

ทั้งนี้เมื่อตอนที่ไอเอสอาร์โอปรับวิกรมและปรัชญาณเข้าสู่ sleep mode ทางหน่วยงานบอกว่ายานทั้งสองได้บรรลุภารกิจทั้งหมดของตัวเองแล้วแต่หวังว่ามันจะตื่นขึ้นมาอีกครั้งเมื่อถึงวันข้างขึ้นครั้งใหม่ และถึงแม้ว่าวิกรมและปรัชญาณจะไม่ตื่นขึ้นมาทำงานอีกครั้ง แต่ยานทั้งสองจะอยู่บนดวงจันทร์ต่อไปในฐานะทูตดวงจันทร์ของอินเดีย

‘จีน’ ส่ง ‘ฉางเอ๋อ 6’ ยานอวกาศไร้ลูกเรือ ลงจอดบริเวณด้านไกลของดวงจันทร์ได้สำเร็จ ชี้!! นี่คือภารกิจครั้งสำคัญ เพื่อเก็บ ‘หิน-ดิน’ จาก ‘ซีกมืดของดวงจันทร์’ เป็นครั้งแรก

(3 มิ.ย.67) จีนนำยานอวกาศไร้ลูกเรือลงจอดบริเวณด้านไกลของดวงจันทร์ได้สำเร็จในวันอาทิตย์ (2 มิ.ย.) ก้าวข้ามอุปสรรคสำคัญในภารกิจครั้งประวัติศาสตร์ของพวกเขา สำหรับเก็บตัวอย่างหินและดินจากซีกมืดของดวงจันทร์กลับมายังโลกเป็นครั้งแรก

การลงจอดครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับสถานะมหาอำนาจด้านอวกาศของจีนขึ้นไปอีกขั้น ในความพยายามของโลกในการมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ ในขณะที่ประเทศต่างๆ รวมถึงสหรัฐฯ หวังว่าการสำรวจแร่ต่างๆ บนดวงจันทร์จะสนับสนุนภารกิจของมนุษย์อวกาศในระยะยาวและจัดตั้งฐานบนดวงจันทร์ภายในทศวรรษหน้า

ยานฉางเอ๋อ 6 ของจีน ติดตั้งเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ และแท่นปล่อยตัวเองลงแตะพื้นในแอ่งขั้วใต้-เอตเคน (South Pole-Aitken Basin) ตอนเวลา 6.23 น.(ตามเวลาปักกิ่ง) จากข้อมูลของสำนักงานอวกาศแห่งชาติจีน

ภารกิจที่ประสบความสำเร็จนี้ถือเป็นภารกิจครั้งที่ 2 ของจีนในบริเวณด้านไกลของดวงจันทร์ ดินแดนที่ยังไม่มีประเทศอื่นๆ ไปถึง ด้านนี้ของดวงจันทร์หันหน้าหนีโลกอยู่ตลอด มันเต็มไปด้วยแอ่งลึกและมืดมิด ทำให้การสื่อสารและปฏิบัติการลงจอดหุ่นยนต์เจองานท้าทายกว่าเดิม

ยานสำรวจฉางเอ๋อ 6 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศโดยจรวดลองมาร์ช 5 ของจีนเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม จากศูนย์ปล่อยดาวเทียมเหวินฉาง บนเกาะไห่หนาน ทางใต้ของประเทศ มันเข้าบริเวณใกล้เคียงกับดวงจันทร์ในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา ก่อนกระชับวงโคจรเข้าไปใกล้เรื่อยๆ เพื่อเตรียมการลงจอด

ฉางเอ๋อ 6 ถือเป็นยานอวกาศลำที่ 3 ของโลกที่ลงจอดบนดวงจันทร์ในปีนี้ เริ่มจากยานแลนเดอร์ SLIM ของญี่ปุ่นในเดือนมกราคม ตามด้วยยานแลนเดอร์ของ Intuitive Machines บริษัทสตาร์ปอัปสัญชาติสหรัฐฯ ในเดือนต่อมา

จนถึงตอนนี้สหรัฐฯ ยังเป็นชาติเดียวของโลกที่ส่งมนุษย์ขึ้นไปเหยียบบนดาวจันทร์ในปี 1969

ด้วยการตักและขุดเจาะ ยานฉางเอ๋อ 6 จะมีเป้าหมายเก็บรวมรวบวัตถุดวงจันทร์น้ำหนัก 2 กิโลกรัม ในระยะเวลา 2 วัน และนำมันกลับมายังโลก

ตัวอย่างเหล่านี้จะถูกเคลื่อนย้ายเข้าสู่ตัวบูทเตอร์จรวดที่อยู่ด้านบนสุดของยานแลนเดอร์ ที่จะถูกปล่อยกลับสู่อวกาศ และประกอบร่างเข้ากับยานอวกาศอีกลำในวงโคจรของดวงจันทร์ และเดินทางกลับโลก ทั้งนี้คาดหมายว่ามันจะกลับสู่โลก ลงจอดแถวๆ ภูมิภาคเขตปกครองตนเองมองโกเลียในของจีน ประมาณวันที่ 25 มิถุนายน

ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน ภารกิจนี้จะมอบร่องรอยสำคัญแก่จีน ในประวัติศาสตร์ 4,500 ปีของดาวจันทร์ และให้เงื่อนงำใหม่ๆ เกี่ยวกับรูปแบบระบบสุริยะ และเปิดทางสำหรับการเปรียบเทียบอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนระหว่างด้านมืด ภูมิภาคที่ยังไม่เคยมีการสำรวจ กับด้านที่หันหน้ามายังโลกของดวงจันทร์

นี่เป็นครั้งที่ 2 ที่จีนเริ่มภารกิจเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์ในปี 2020 โดยครั้งแรกยานฉางเอ๋อ-5 นำวัตถุหนัก 1.7 กิโลกรัมกลับมาจากพื้นที่ที่เรียกว่า มหาสมุทรแห่งพายุ (Oceanus Procellarum) ซึ่งอยู่บนด้านใกล้ของดวงจันทร์ซึ่งเผชิญหน้ากับโลกตลอดเวลา

จีนกำลังวางแผนภารกิจยานอวกาศไร้คนขับอีก 3 ภารกิจในทศวรรษนี้ เนื่องจากจีนกำลังค้นหาน้ำบนดวงจันทร์ และสืบเสาะการตั้งฐานถาวรที่นั่น

ยุทธศาสตร์ที่กว้างขวางของรัฐบาลจีน ตั้งเป้าที่จะเห็นนักบินอวกาศจีนเดินบนดวงจันทร์ภายในปี 2030 ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็ตั้งเป้าจะนำนักบินอวกาศกลับไปเหยียบดวงจันทร์เช่นกัน โดยนาซาตั้งเป้าที่จะเปิดตัวภารกิจชื่อว่า อาร์เทมิส 3 (Artemis 3) ภายในปี 2026

ยานพาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ระยะห่างเพียง 6.1 ล้านกิโลเมตร

(26 ธ.ค. 67) ยานอวกาศปาร์คเกอร์ โซลาร์ โพรบ (Parker Solar Probe) ของนาซา (NASA) ได้สร้างสถิติใหม่ในการเคลื่อนตัวเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในระยะประชิดมากที่สุดเมื่อวันอังคาร (24 ธ.ค.) ที่ผ่านมา

นาซาระบุว่าปาร์คเกอร์ โซลาร์ โพรบ เคลื่อนตัวผ่านพื้นผิวดวงอาทิตย์ด้วยระยะห่าง 3.8 ล้านไมล์ (ราว 6.1 ล้านกิโลเมตร) เมื่อวันอังคาร (24 ธ.ค.) ซึ่งเป็นระยะใกล้กว่าทุกภารกิจก่อนหน้าที่เคยทำมาถึง 7 เท่า

อนึ่ง ปาร์คเกอร์ โซลาร์ โพรบ ที่ส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศตั้งแต่ปี 2018 ได้เคลื่อนตัวเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างภารกิจบินผ่านดวงอาทิตย์ 21 ครั้ง ซึ่งกำกับดูแลร่วมกันโดยนาซากับห้องปฏิบัติการฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยจอหน์ส ฮอปกินส์

ภารกิจบินเข้าใกล้ดวงอาทิตย์นี้มุ่งเก็บภาพและข้อมูลชี้วัด เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ของมนุษย์เกี่ยวกับต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของลมสุริยะ รวมถึงการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในอวกาศที่ส่งผลต่อชีวิตและเทคโนโลยีบนโลก

31 มกราคม 2514 ยานอพอลโล 14 ถูกปล่อยสู่อวกาศ ยานลำที่ 3 พามนุษย์เหยียบดวงจันทร์

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2514 ยานอพอลโล 14 พร้อมนักบินอวกาศ 3 คน ได้เริ่มออกเดินทางจากแหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เพื่อทำภารกิจสำรวจดวงจันทร์ ภารกิจครั้งนี้นำโดย อเลน บี. เชพเพิร์ด เจ อาร์ (Alan Shepard) ผู้บัญชาการภารกิจ ซึ่งเป็นนักบินอวกาศชาวอเมริกันคนแรกที่ได้เดินทางสู่อวกาศ และเป็นนักบินคนที่ 5 ที่ได้เหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ ภารกิจนี้ถือเป็นภารกิจสุดท้ายในอาชีพการทำงานอวกาศของเขา

โดยยังมีนักบินอวกาศอีกสองคนร่วมทริปคือ เอดการ์ ดี. มิทเชลล์ (Edgar Mitchell) นักบินโมดูลดวงจันทร์ และ สตูท เอ. รูสา (Stuart Roosa) นักบินโมดูลคำสั่ง ซึ่งสำหรับมิทเชลล์และรูสา ภารกิจอพอลโล 14 ถือเป็นการเดินทางสู่อวกาศครั้งแรกและครั้งเดียวของทั้งสองคน

ภารกิจอพอลโล 14 มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการสำรวจภูมิภาค Fra Mauro บนดวงจันทร์ นักบินอวกาศได้รับการฝึกฝนด้านธรณีวิทยาเพื่อสำรวจและรวบรวมตัวอย่างหินและดินจากพื้นผิวดวงจันทร์ รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยให้มนุษย์เข้าใจสภาพแวดล้อมของดวงจันทร์มากยิ่งขึ้น

ยานอพอลโล 14 ออกเดินทางในวันที่ 31 มกราคม 2514 เวลา 16.03 น. ตามเวลาท้องถิ่น ภารกิจนี้ใช้เวลาเดินทางไปยังดวงจันทร์ 3 วัน นักบินอวกาศใช้เวลา 2 วันบนดวงจันทร์ และอีก 3 วันสำหรับการเดินทางกลับมายังโลก

ระหว่างที่อยู่บนดวงจันทร์ เชพเพิร์ดและมิทเชลล์ใช้เวลาประมาณ 34 ชั่วโมงเพื่อปฏิบัติภารกิจสำรวจ ติดตั้งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ และเก็บตัวอย่างหินและดินน้ำหนักรวมกว่า 42 กิโลกรัม ก่อนเดินทางกลับสู่โลกในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2514 โดยยานลงจอดอย่างปลอดภัยที่มหาสมุทรแปซิฟิก

ภารกิจอพอลโล 14 เป็นยานอวกาศลำที่ 8 ของโครงการอพอลโลที่นำมนุษย์ไปสู่ดวงจันทร์ และเป็นภารกิจที่สำเร็จต่อจากอพอลโล 13 ซึ่งประสบปัญหาจนไม่สามารถไปถึงดวงจันทร์ได้ โดยในภารกิจครั้งนี้ เชพเพิร์ดได้แอบนำหัวไม้กอล์ฟและลูกกอล์ฟ 2 ลูกขึ้นไปยังดวงจันทร์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนาซา ด้วยความช่วยเหลือจากวิศวกรเพื่อนร่วมงาน เขาได้ดัดแปลงอุปกรณ์เก็บตัวอย่างหินให้สามารถติดกับหัวไม้กอล์ฟได้

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจเก็บตัวอย่างหิน เชพเพิร์ดใช้หัวไม้กอล์ฟหวดลูกกอล์ฟบนพื้นผิวดวงจันทร์ ลูกแรกกระเด็นได้ระยะไม่ไกลเนื่องจากติดทราย แต่ลูกที่สองถูกหวดอย่างเต็มแรง และคาดการณ์ว่ามันอาจพุ่งไปไกลถึง 200-300 เมตร ซึ่งลูกกอล์ฟก็ยังคงอยู่บนดวงจันทร์จนถึงทุกวันนี้ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top