Tuesday, 22 April 2025
ยะลา

'รัฐบาลลุงตู่' เดินหน้าพัฒนา 'เมืองยะลา' สู่เมืองอัจฉริยะ ยกระดับเป็น 'ศูนย์กลางทางดิจิทัล' ในกลุ่มจังหวัดชายแดนใต้

(22 ม.ค. 66) เพจศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี - PMOC ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการพัฒนาเพื่อยกระดับจังหวัดยะลาให้เป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มจังหวัดชายแดนใต้ โดยระบุว่า...

ยะลาเคยเป็นหนึ่งในเป้าหมายของขบวนการแบ่งแยกดินแดน จากเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอดีตเกือบ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งในช่วงเวลานั้น ยะลาและอีก 2 จังหวัดชายแดนใต้ตกอยู่ภายใต้บรรยากาศแห่งความหวั่นไหว เกิดเหตุการณ์ฆ่าสังหารเจ้าหน้าที่รัฐ, พระสงฆ์ และประชาชนผู้บริสุทธิ์โดยขบวนการแบ่งแยกดินแดนเป็นเวลาหลายสิบปี มีผู้สียชีวิตนับพัน อีกทั้งยังสร้างบรรยากาศแห่งความขัดแย้ง เห็นคนต่างศาสนาเป็นศัตรู

ภายใต้แนวทางการดำเนินการภาครัฐที่ใช้การพัฒนานำหน้า พัฒนาพื้นที่ สร้างสันติสุขที่ยั่งยืน ประกอบกับ 'ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี' ของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ใช้การพัฒนาเศรษฐกิจนำหน้า ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (3 แกนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ), เศรษฐกิจฐานราก (Local Economy), กระจายรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม จังหวัดยะลาจึงมีโอกาสพลิกฟื้นสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะที่ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และมีโอกาสได้พัฒนาเมืองร่วมกัน

ถึงแม้ยะลาจะไม่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจมากมายนัก แต่มีต้นทุนทางวัฒนธรรม (Cultural Asset) หรือ Soft Power และต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติอยู่มากมาย ซึ่งชาวยะลาร่วมใจกันใช้ต้นทุนเหล่านี้ในการสร้างเมืองขึ้นใหม่ สร้างโอกาส สร้างรายได้แก่ชาวยะลาได้อย่างทั่วหน้า

นอกจากนี้ จังหวัดยะลา ยังอาศัยโอกาสจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) มาใช้ในการพัฒนาเมืองตามแนวคิด ไทยแลนด์ 4.0 ของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกอบกับการส่งเสริมการสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ตามนโยบายของรัฐบาล ทำให้เมืองยะลามีการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะดังนี้ 

>> Smart Governance

เทศบาลยะลาได้พัฒนาแอปพลิเคชัน Yala Mobile Application เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง ด้วยแนวคิดรัฐบาลโปร่งใส่ (Open Government) ของรัฐบาล อีกทั้งยังสามารถรับทราบข่าวสารการให้บริการภาครัฐ และร้องเรียนผ่านแพลตฟอร์มไลน์

>> Smart Economy

เทศบาลยะลาได้พัฒนาเศรษฐกิจเชิงเทคโนโลยี โดยสร้าง platform ที่ชื่อว่า 'หลาดยะลา' สร้างโอกาสในการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) ด้วยการเป็นสื่อกลางในการให้บริการค้าขายออนไลน์ พร้อมบริการขนส่งในพื้นที่ผ่านวินมอเตอร์ไซด์ 

นอกจากนี้ เทศบาลยังจัดอาสาสมัครชุมชนเข้าไปช่วยสอนวิธีการใช้งาน เพื่อแก้ปัญหาความไม่รู้ ไม่เข้าใจของประชาชนบางส่วนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอีกด้วย

‘บังเลาะ’ เด็กปั้น ‘นิพนธ์’ มั่นใจแจ้งเกิด ปักธงช่วยประชาธิปัตย์เข้าวิน เขต 2 ยะลา

‘บังเลาะ’ ลั่นลงสนาม ส.ส.พิสูจน์ฝีมืออีกครั้งในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ เขต 2 ยะลา เหมือนเดิม หลังจากการเลือกตั้งปี 2562 พ่ายให้กับ ‘ซูการ์โน มะทา’ พรรคประชาชาติ

“การเลือกตั้งครั้งที่แล้วผมมีเวลาเตรียมตัวน้อย เพียงไม่กี่วัน แต่คราวนี้เราเตรียมตัวมา 4 ปี จึงมีความพร้อมมากกว่า จากการสัมผัสชาวบ้านรู้สึกได้ว่าเขาอิ่มตัวกับนักการเมืองเก่า ต้องการเปลี่ยนบ้าง” บังเลาะ หรือ อับดุลย์เล๊าะ บูวา กล่าว

สำหรับเขต 2 ยะลา น่าจะประกอบด้วย อ.เมืองยะลา (เฉพาะ ต.บุดี เปาะเส้ง และ ต.บันนังสาเรง) อ.รามัน ยะหา (ยกเว้นต.ยะหา ตาชี และ ต.บาโงยซิแน) อ.กาบัง ปัจจุบันมีซูการ์โน มะทา จากพรรคประชาชาติ เป็น ส.ส.อยู่

อับดุลการิม เด็งระกีนา อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คราวที่แล้วลงสนามพร้อมสวมเสื้อพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ของลุงกำนัน (สุเทพ เทือกสุบรรณ) แต่พ่ายให้กับซูการ์โน มะทา จากพรรคประชาชาติ (ปช.) น้องชาย วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ นักการเมืองมุสลิม และ แกนนำ ‘กลุ่มวาดะห์’ ซึ่งตัวซูการ์โนเคยเป็นผู้ช่วย ส.ส. เป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ยะลา 2 สมัย เคยเป็น ส.ส.สังกัดพรรคพลังประชาชน ในการเลือกตั้งปี 2550 และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.คนเดียวของพรรคในพื้นที่ ภาคใต้ โดยปี 2554 ซูการ์โนได้ลงสมัครในสังกัดพรรคเพื่อไทย (พท.) เขตเลือกตั้งที่ 2 แต่พ่ายให้กับ อับดุลการิม เด็งระกีนา จากพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม ยังมองข้ามอีกคนหนึ่งในเขตนี้ไปไม่ได้ นั่นคือ ริดวาน มะเต๊ะ จากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) มีดีกรีเป็นอดีต ส.อบจ.เขต อ.รามัน และมีบิดาชื่อ มะโซ๊ะ มะเต๊ะ เป็นอดีตกำนันคนดังแห่ง ต.ตะโละหะลอ อ.รามัน และในอดีตยังเป็นหัวคะแนนให้กับ อดีต ส.ส.ในพื้นที่มาแล้ว แต่คราวที่แล้วเขายังเดินไปไม่ถึงฝั่งฝัน

กล่าวสำหรับ ‘บังเลาะ-อับดุลย์เล๊าะ บูวา’ ยังคงมุ่งมั่นกระโดดเข้าสู่การเมืองระดับชาติ ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันเป็นรองนายกเทศบาลตำบลโกตาบารู อ.รามัน จ.ยะลา

บังเลาะ เข้าศึกษาต่อในตลาดวิชา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ด้วยระบบการศึกษาแบบ ‘แพ้คัดออก’ เข้าร่วมทำกิจกรรม ร่วมกับ ชมรมมุสลิม ม.รามคำแหง และกลุ่ม PNYS ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษามุสลิมที่มีพลังมากในรามคำแหง บังเลาะสนใจการเมืองมาตั้งแต่ต้น จึงเข้าร่วมกับพรรคนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้า คือนักศึกษา 7 คณะ พรรคสานแสงทอง เช่น กิจกรรมออกค่ายอาสา กิจกรรมอบรมทางวิชาการ กิจกรรมรณรงค์การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย และอื่น ๆ อีกมากมาย

หลังจบการศึกษาเข้าทำงานที่บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย จำกัด ทำงานที่เนชั่น 24 ปี ตำแหน่งสุดท้ายคือ หัวหน้าซับเอดิเตอร์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ที่เนชั่น ได้เรียนรู้ถึงข้อมูลข่าวสารและแนวทางการวิเคราะห์ ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งได้เผชิญกับวิกฤติการเมือง เศรษฐกิจ มาหลายยุคหลายสมัย เมื่อถึงเวลาอิ่มตัวกับงาน จึงตัดสินใจเก็บเสื้อผ้าเดินทางกลับบ้านเกิด หมายมั่นทำงานการเมืองรับใช้บ้านเกิด

“ออกจากเนชั่นด้วยความคิดที่ได้ตั้งปณิธานไว้ว่าสักวันจะต้องกลับสู่บ้านเกิด สิ่งที่จะทำคือการได้มีโอกาสในการใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ เพื่อนำไปพัฒนาในพื้นที่ รวมทั้งเป็นสื่อกลางในการประสานงานระหว่างท้องถิ่น กับ หน่วยงานภาครัฐ เพื่องานจะได้คล่องตัวและราบรื่น”

บังเลาะ กล่าวว่า การเล่นการเมืองระดับท้องถิ่น คือ เป็นการทำงานช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่แคบ ๆ และจำกัด แต่การเมืองระดับชาติ ถือ เป็นงานใหญ่ที่จะได้ช่วยเหลือชาวบ้านอย่างกว้างขวาง ซึ่งในพื้นที่เขต 2 ที่รับผิดชอบจะมีนักการเมืองที่เกือบจะผูกขาดมาอย่างยาวนาน แต่ไม่ได้ทำอะไรกับประชาชนพอสมควร ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้โอกาสคนรุ่นใหม่ จะได้ช่วยกันพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม

อับดุลย์เล๊าะ บูวา มั่นใจว่า การเลือกตั้งรอบใหม่นี้ ผมมีความหวังเต็ม 100 ที่จะได้รับการเลือกตั้ง โดยการเข้าถึงชาวบ้านในระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง โดยได้รับเสียงสะท้อนจากชาวบ้านว่า ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนสักที และด้วยนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ โดนใจชาวบ้านอย่างที่สุด เช่น การประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ปาล์ม เป็นต้น รวมทั้งการเร่งรัดเดินสำรวจออกโฉนดและให้สิทธิ์ทำกินในที่ดินของรัฐ ถือเป็นหัวใจหลักที่ได้เสียงตอบรับจากชาวบ้านเป็นอย่างมาก

บังเลาะ กล่าวทิ้งท้ายว่า ยะลาเป็นเมืองเกษตรกรรม มีผลไม้มากมาย ทั้งทุเรียน เงาะ มังคุด เป็นต้น รัฐจะต้องเข้ามาส่งเสริมอย่างจริงจัง อนาคตเราจะเสนอให้ยะลาเป็น ‘เมืองฮับทุเรียน’

เลือดใหม่ประชาธิปัตย์ ‘อับดุลย์เล๊าะ บูวา’ ที่ ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จูงมือมาลงสมัคร และหมายมั่นปั้นมือจะปั้นให้แจ้งเกิดให้ได้

ข้อมูลเคียงข่าว

จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีพืชทางเศรษฐกิจอย่างน้อย 4 ชนิด ทุเรียน  ลองกอง เงาะ และมังคุด โดยไม้ผลที่ปลูกมากที่สุด คือ ลองกอง มีพื้นที่ปลูก 157,300 ไร่ รองลงมาเป็น ทุเรียน มีพื้นที่ปลูก105,135 ไร่ มังคุด มีพื้นที่ปลูก 39,630 ไร่ และ เงาะ มีพื้นที่ปลูก 39,446 ไร่ ตามลำคับ

ส่วนไม้ผล ที่เป็นที่รู้จักและนิยมของผู้บริโภคมากที่สุด คือ ลองกอง โดยฉพาะลองกองตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เนื่องจากเป็นลองกองที่มีรสชาติทวาน หอม และอร่อย

นอกจากนี้ ทุเรียน ชายแดนใต้ นับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิด ที่ได้รับความนิยมเพิ่มการปลูกมากขึ้น ด้วยปัจจัยจากราคา ทำให้ทุเรียน ออกสู่ตลาดมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

‘ลุงป้อม’ ลงใต้ เยือน ‘ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส’ ดันโครงการ ‘ศูนย์กลางผลิตอาหารฮาลาลของโลกมุสลิม’

(17 มี.ค.66) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย รมช.กห. และคณะ ได้ลงพื้นที่ภาคใต้ เพื่อไปปฏิบัติราชการในการประชุมสัญจร กพต. และตรวจ ติดตาม โครงการสำคัญตามแผนงาน พื้นที่ 3 จชต.

โดยเมื่อเวลา 09.30 น. พล.อ.ประวิตร และคณะเดินทางถึง หมู่บ้านกำปงบารู ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา พล.อ.ประวิตร ได้เป็นประธานพิธี เปิดศูนย์การเรียนรู้ฟาร์มมาตรฐานการเลี้ยงวัว ตามกรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล จชต. และมอบพันธุ์กระถิน, หญ้าเนเปียร์ ให้แก่เกษตรกร โดยได้กล่าวเปิดงาน ในฐานะประธาน กพต. ที่ต้องการสร้างอาชีพ เศรษฐกิจ และรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่ ให้อยู่ดีกินดี และเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารฮาลาล ของโลกมุสลิม ต่อไป

จากนั้น ได้พบปะพี่น้องประชาชน ที่มาให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง พร้อมทั้งได้ทำการมอบผ้าละหมาด และอินทผาลัมแก่ผู้แทน หน่วยงาน/องค์กร ในพื้นที่ 5 จชต. บริเวณห้องโถงอาคาร ม.ราชภัฎยะลา ซึ่งได้มีผู้แทนกล่าวขอบคุณ ในโอกาสที่ท่านให้การช่วยเหลือและสนับสนุนโครงการต่าง ๆ 

‘ชาวมาเลย์’ แห่ข้ามแดนซื้อ ‘ขนมไหว้พระจันทร์’ ร้านเก่าแก่ที่เบตง บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก ก่อนนำไปไหว้วันที่ 29 ก.ย.นี้

(25 ก.ย. 66) ที่ร้านบั่นฮวด ในเขตเทศบาลเมืองเบตง อ.เบตง จ.ยะลา ร้านขายขนมไหว้พระจันทร์ดั้งเดิมของเมืองเบตง โดยบรรยากาศการซื้อของรับเทศกาลไหว้พระจันทร์เป็นไปอย่างคึกคัก ตั้งแต่ช่วงเช้า ซึ่งในวันที่ 29 ก.ย.นี้ เป็นวันไหว้พระจันทร์ ทำให้ที่ร้านบั่นฮวด ก่อนถึงวันไหว้ ซึ่งเป็นร้านที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายขนมไหว้พระจันทร์ รวมถึงขนมช่วงเทศกาลต่างๆ โดยเปิดขายมานานกว่า 51 ปี โดยมีนางอุไรวรรณ แซ่เอี้ย หรือเจ๊ฟ้า อายุ 70 ปีเป็นเจ้าของร้าน

นางอุไรวรรณ บอกว่า ภายหลัง เงิน 1 ริงกิตมาเลเซียลดลง สามารถแลกเป็นเงินไทยได้เพียง 7.59 บาท ส่งผลกระทบต่อชาวมาเลเซีย ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย เนื่องจากจะต้องแลกเงินริงกิตมาเลเซียเป็นเงินไทยเข้ามาใช้จ่ายและซื้อสิ่งของในประเทศไทย เพราะร้านค้าบางร้านไม่รับเงินริงกิตมาเลเซีย จะรับเป็นเงินไทยเท่านั้น จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณการทำขนมมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะเป็นออเดอร์สั่งจองจากขาประจำจากมาเลเซีย โดยที่ร้านจะขายขนมไหว้พระจันทร์ให่สดทุกวันโดยมีไส้อยู่ 5 อย่างเป็นหลัก และจะเลือกเฉพาะไส้ที่ได้รับความนิยม อย่างถั่วเหลือง ถั่วดำ โหงวยิ้ง และไส้ธัญพืชผสมฟักเชื่อม งาดำ บัวไข่ ทุเรียน บัวเจ

โดยลูกค้าประจำจะโทรจองขนมไว้ล่วงหน้าทำให้ลูกค้าขาจรที่ตั้งใจมาซื้อหน้าร้านคิดว่าจะได้ของสดใหม่ต้องผิดหวังกลับไปในบ้างครั้ง เพราะไม่มีขนมขายโดยขนมไหว้พระจันทร์จะขายหมดก่อนถึงเทศกาลไหว้พระจันทร์ ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 29 กันยายน 2566 ชาวมาเลเซียจะเดินทางมาซื้อเป็นจำนวนมาก เพราะชอบมากในรสชาติ กรรมวิธีของชาวจีนเบตงดั้งเดิมและที่สำคัญในปีนี้ร้านบั่นฮวดยังปรับราคาขึ้นเพราะเนื่องจากค่าเงินมาเลเซียลดลง จึงยังขายราคาเดิมเหมือนปีที่แล้วทำให้ยอดขายเพิ่มครึ่งเท่าตัว เนื่องจากชาวมาเลเซียจะหันมาสั่งขนมไหว้พระจันทร์ททางฝั่งมาก เนื่องจากภายในประเทศขนมไหว้พระจันทร์มีราคาสูงขึ้น เพราะค่าเงินริงกิตลดลง

นางอุไรวรรณ บอกอีกว่า ปีนี้วัตถุดิบหลักอย่างแป้งปรับราคาปรับขึ้นหมด แต่ขนมบางอย่างทางร้านยังคงขายราคาเดิม แต่ที่ต้องปรับขึ้นมา 5-10 บาท มีขนมไหว้พระจันทร์ ขนาดกลาง จำหน่ายราคาลูกละ 90 บาท แพก 4 ลูก รวมแพกเกจ ราคา 400 บาท ส่วนขนมโก๋ขาว ลูกละ 40 บาท ขนมโก๋เหลือง 1 ห่อมี 4 แผ่นห่อละ 95 บาท ขนมเปี๊ยะเล็ก ลูกละ 170 บาท เปี๊ยะใหญ่ลูกละ 350 บาท แต่จากการสังเกตลูกค้าจะลดปริมาณการซื้อลงเพราะต้องการประหยัดรายจ่าย แต่ยังคงไหว้เพื่อรักษาประเพณีเอาไว้

เจ้าของร้านขนมบั่นฮวด ยังบอกอีกว่า ช่วงนี้ชาวมาเลเซียเดินทางเข้ามาเยอะทำให้การค้าขายดีขึ้น ก่อนหน้านี้ช่วงปิดประเทศทางร้านยังต้องส่งไปถึงมาเลเซีย พอเปิดประเทศเขาก็เดินทางมาเอง มาซื้อเอง และได้เข้ามาเที่ยวเมืองเบตงด้วย

ยะลา-เบตง ปล่อยแถวกวาดล้างอาชญากรรมเตรียมพร้อมนายกลงพื้นที่

เบตง นายอำเภอเบตง ปล่อยแถวหน่วยงานด้านความมั่นคง กวาดล้างอาชญากรรมในห้วงนายกรัฐมนตรีมาตรวจราชการในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา

วันที่ 22 ก.พ.67 ที่บริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรเบตง ถ.สุขยางค์ อ.เบตง จ.ยะลา นายอมร ชุมช่วย นายอำเภอเบตง ได้เป็นประธานในพิธีปล่อยแถวกวาดล้างอาชญากรรมในห้วงนายกรัฐมนตรีมาตรวจราชการในพื้นที่อำเภอเบตง และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างวันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมี พ.ต.อ.จิรวัฒน์ ดูดิง ผกก.สภ.เบตง, พ.ต.อ.ธีรภัทร ปิยะถาวร ผกก.สภ.อัยเยอร์เวง, พ.ต.ท.ทีปวัฒน์ ทองบุ สวญ.สภ.ยะรม เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เบตง สภ.อัยเยอร์เวง สภ.ยะรม ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตชด. ทหาร ฝ่ายปกครอง และกองกำลังภาคประชาชน เข้าร่วม

นายอมร ชุมช่วย นายอำเภอเบตง กล่าวว่า อำเภอเบตงเป็นเมือง 1 ใน 7 เมืองเศรษฐกิจหลักในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันได้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอเบตงเป็นจำนวนมาก ประกอบกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ มีกำหนดเดินทางตรวจราชการในพื้นที่อำเภอเบตง ในระหว่างวันที่ 28-29 กุมภาพันธ์ 2567 จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกันในการป้องกันเหตุที่อาจเกิดขึ้น โดยออกปฏิบัติหน้าที่ ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ลาดตระเวนเส้นทางการปิดกั้นการกระทำผิดกฎหมาย กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง สร้างความปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยว

‘นักท่องเที่ยว’ หอบลูกหลาน เดินช้อป ‘ตลาดไนท์บาซ่า’  สร้างความคึกคักให้ ‘เบตง’ ในช่วงปิดภาคเรียนของ ‘มาเลเซีย’

(3 มิ.ย.67) บรรยากาศที่ด่านพรมแดนอำเภอเบตง จ.ยะลา คราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียที่พาบุตรหลานเข้ามาท่องเที่ยวช่วงปิดภาคเรียนทำให้บรรยากาศในตัวเมืองเบตงคึกคัก สถานประกอบการร้านค้า ตลอดจน ตลาดไนท์บาซ่าเบตง ซึ่งเป็นตลาดถนนคนเดินในยามค่ำคืนของเมืองเบตงในช่วงวันหยุดปิดภาคเรียนและช่วงสุดสัปดาห์ ทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย พาบุตร หลาน เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากโรงเรียนในประเทศมาเลเซียปิดกลางภาคเรียน  1 สัปดาห์ 

โดยชาวมาเลเซียจะพาครอบครัวมาพักผ่อนตามสถานที่ท่องเที่ยวอำเภอเบตง เดินชอปปิ้ง ตามร้านค้า ร้านสตรีทฟู้ด เลือกซื้ออาหารไทย ขนมพื้นบ้าน อาทิ ยำทะเล ข้าวเหนียวไก่ทอด โรตีนมน้ำตาล ขนมรางไข่ หมึกย่าง เนื้อย่าง ลูกชิ้น ข้าวเหนียวมะม่วง  ข้าวยำ ผัดไทย ก๋วยเตี๋ยว น้ำชา กาแฟ  เป็นต้น  ต่างมีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเข้ามาอุดหนุนกันอย่างเนือง เพราะรสชาติของอาหารพื้นถิ่นที่มีความอร่อยเมื่อเดินทางกลับมาไม่พลาดที่จะมากิน เที่ยว ที่เบตง

นายพงศกร  ขุนทองผล พ่อค้าขนมในตลาดไนท์บาซ่าเบตง กล่าวว่า ในช่วงปิดเทอมของโรงเรียนในประเทศมาเลเซีย บรรดาผู้ปกครอง ต่างนำบุตรหลาน มาเที่ยว ชิม ช้อป ที่ตลาดไนท์บาซ่าเบตงทำให้บรรยากาศคึกคักเป็นอย่างมาก  ทำให้พ่อค้า แม่ค้า มีรายได้เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจในพื้นที่ก็ดีขึ้นอีกด้วย

ปัจจุบันนี้นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียออกมาท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์วันศุกร์เสาร์และวันอาทิตย์ จะจัดทัวร์เข้ามาเพียง 3 วัน ทำให้นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียสามารถมาท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก โดยมาจับจ่ายซื้อของทั้งของกินและของฝาก ทำให้ในช่วงนี้เศรษฐกิจในอำเภอเบตง จังหวัดยะลาดีขึ้นตามลำดับคาดในแต่ละสัปดาห์มีเงินสะพัดในอำเภอเบตงกว่า 10 ล้านบาท

18 กันยายน พ.ศ. 2521 ‘ในหลวง ร.9’ ทรงมีรับสั่ง “ถ้าน้ำแรง ทำไมไม่คิดทำไฟฟ้าด้วย” จุดเริ่มต้นก่อสร้าง ‘โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติ’ จังหวัดยะลา

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2521 หรือ 46 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง ร.9 พร้อมด้วยสมเด็จฯพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้ง 2 พระองค์ เสด็จฯ ไปทรงวางศิลาฤกษ์เขื่อนบางลาง ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ซึ่งจากการเสด็จฯ ในวันนี้ ได้ทำให้เกิดโครงการ ‘โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติ’ ขึ้นบริเวณเหนือเขื่อนบางลาง ในเวลาต่อมา 

ในช่วงเวลาของการก่อสร้างเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแห่งแรกของภาคใต้ตอนล่างนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบากในการก่อสร้าง เนื่องด้วยในขณะนั้นยังมีการต่อสู้กับผู้ก่อการความไม่สงบคอมมิวนิสต์ โดยในระหว่างการก่อสร้างในหลวง ร.9 และพระราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่เขื่อนแห่งนี้หลายครั้ง ด้วยพระราชประสงค์จะพระราชทานกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน 

ในการเสด็จพระราชดำเนิน เมื่อ 46 ปีก่อน เพื่อมาทรงวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างเขื่อนบางลาง โดยมีนายเกษม จาติกวณิช ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในขณะนั้นร่วมรับเสด็จ พระองค์ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรฝายละแอ ซึ่งเป็นฝายทดน้ำขนาดเล็กจากคลองละแอที่สร้างด้วยการเจาะอุโมงค์ขนาดเล็กและต่อท่อส่งน้ำไปให้ประชาชนในหมู่บ้านสันติใช้ 

พลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์ องคมนตรี ซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กราบบังคมทูลว่า น้ำประปาไหลแรง เพราะต่อน้ำลงมาจากที่สูงทำให้ก๊อกน้ำเสียเป็นประจำ ในหลวง ร.9 จึงทรงมีรับสั่งขึ้นว่า 

“ถ้าน้ำแรง ทำไมไม่คิดทำไฟฟ้าด้วย”

จากแนวพระราชดำริดังกล่าวนั้นเอง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จึงก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติขึ้นบริเวณเหนือเขื่อนบางลาง โดยติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 1,275 กิโลวัตต์ จำนวน 1 เครื่อง และติดตั้งท่อส่งน้ำยาว 1,800 เมตร สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ในเดือนตุลาคม 2525 

นับเป็นอีกหนึ่งโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก ที่เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริ เพราะทรงห่วงใยต่อพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดารหรือในพื้นที่ห่างไกล ทรงสนพระทัยสอบถามถึงความเป็นอยู่ โดยเฉพาะเรื่องน้ำบริโภคและทำการเกษตร ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ให้แต่ละชุมชนใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พึ่งพาตนเองได้ และทุกครั้งที่ทรงมองเห็นโอกาสในการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน จะทรงมีแนวพระราชดำริ ให้ใช้ประโยชน์จากการก่อสร้างเขื่อนขนาดเล็ก ที่นอกจากเพื่อเก็บกักน้ำแล้วยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ในชุมชนได้อีกด้วย

‘ทหารพราน’ จากยะลา มาเป็นอาสาล้างบ้านที่ ‘แม่สาย’ เผย!! ทำด้วยความภูมิใจ ไม่ได้ต้องการอะไรตอบแทน

(2 พ.ย. 67) มูลนิธิกระจกเงา ได้โพสต์เรื่องราวดีๆ ของทหารพรานจากยะลา ซึ่งเป็นจิตอาสา ขึ้นเหนือ ไปทำกิจกรรม ‘ล้างบ้าน’ ที่แม่สาย โดยมีใจความว่า ...

วันที่ผมตัดสินใจ นั่งรถไฟชั้น 3 จากยะลาเข้ากรุงเทพ เพื่อไปกิจกรรมล้างบ้านที่แม่สาย คนรอบตัวถามผมว่า ‘ไปแล้วจะได้อะไร เป็นอาสาแล้วได้เงินหรือเปล่า’ ผมแค่รู้สึกว่าผมภูมิใจที่ตัวเองสามารถทำหน้าที่นี้ได้ ไม่ต้องการอะไรตอบแทน

ปกติผมเป็นทหารพรานอยู่จังหวัดยะลา บ้านเกิดอยู่นราธิวาส ปลายปีก่อนนราธิวาสก็น้ำท่วมหนัก ตอนนั้นผมไปเป็นอาสาช่วยชาวบ้าน ได้ทำงานร่วมกับคนต่างถิ่นเยอะมาก หลายคนเดินทางมาไกล เพื่อช่วยคนในพื้นที่สามจังหวัด พอเห็นข่าวน้ำท่วมแม่สายรอบนี้ ผมเข้าใจดี ว่าน้ำท่วมมันไม่ได้พังแค่บ้าน เศรษฐกิจอะไรก็พังหมด มันสาหัสขนาดผ่านมาเดือนกว่าแล้ว ในพื้นที่เหมือนโดนสงคราม ยังเป็นโคลนเป็นฝุ่นอยู่ ผมเลยตั้งใจไว้ว่ายังไงก็ต้องเอาแรงไปช่วยตรงนั้นให้ได้

แต่จากยะลาไปแม่สาย มันก็ลำบากเรื่องการเดินทาง สนามบินอยู่ไกล ไม่มีรถไฟต่อตรง ต้องนั่งหลายต่อ ส่วนตัวผมเองไม่ได้มีทุนมาก มีแค่แรงที่ช่วยได้ พอเห็นมูลนิธิกระจกเงาประกาศรับสมัครอาสาบินฟรี ผมก็สมัครเลยแบบไม่ลังเล

ถึงแม่สายวันแรก ผมได้ไปขุดโคลนแถวเกาะทรายซอย 8 ทั้งหน้าบ้าน ในบ้านเป็นโคลนหมดเลย ผมตะลึงนะ แบบ โห้! โคลนในบ้านสูง 60 เซน มองไม่ออกเลยว่าตรงไหนเป็นพื้นที่ต่ำหรือสูง ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นกับบ้านผม ผมคงพูดไม่ออก แล้วยิ่งบ้านนี้เป็นคนแก่อยู่คนเดียว ถ้าต้องจัดการโคลนคนเดียวหมดนี้ เขาคงทำไม่ไหว

ขุดโคลนบ้านหลังแรกเสร็จ ผมเหนื่อยมาก แต่ก็ภูมิใจมากนะ ตลอดเวลาที่เข้าไปช่วย เห็นเจ้าของบ้านพยายามซัพพอร์ต ขาดเหลืออุปกรณ์อะไรเขาก็ไปหามาให้ ได้อยู่จนถึงวันที่ส่งมอบบ้านให้เขา เขาไม่ต้องมาขอบคุณผมก็ได้ แค่บ้านสะอาด เจ้าของบ้านดีใจที่ได้กลับเข้าบ้าน แค่นี้ผมก็รู้สึกมีคุณค่ากับตัวเองแล้ว

มาอาสารอบนี้ ผมสนุกกับชีวิตตัวเองมาก ได้เจอคน เจอพื้นที่ใหม่ ได้ทำงานร่วมกับคนที่ไม่ได้รู้จักกัน ไม่ได้นัดกัน อยู่ดีๆ กลายมาเป็นทีมเดียวกัน เพื่อนอาสาบางคนรับราชการ เป็นเจ้าของบริษัท เป็นผู้พันทหารอากาศ แต่เขาก็ยังหาเวลามาทำอาสาสมัคร นี่คือเปิดโลก เปิดประสบการณ์ให้ผมเลย

อยากบอกทุกคนว่า หากคุณคิดอยากช่วยก็มาเถอะ ไม่มีทรัพย์สินเงินทอง ก็เอากำลังมาช่วยได้ ตอนทำอาจจะเหนื่อย แต่เหนื่อยแค่แปปเดียว นอนพักเดี๋ยวก็หายแล้ว

อัฟฟาน วาแม (ปัง) อายุ 32 ปี 
อาสาล้างบ้าน รุ่นบินลัดฟ้า
เดินทางจากใต้สุดเมืองยะลา 
มาช่วยชาวบ้านที่แม่สาย เหนือสุดแดนสยาม

ขอขอบคุณ Fly AirAsia
สนับสนุนเที่ยวบินเพื่อภารกิจอาสาล้างบ้าน
ตั้งแต่ 15 - 31 ตุลาคม 2567

วันนี้เป็นวันสุดท้าย 
ที่อาสาจากกิจกรรมบินลัดฟ้าปฏิบัติภารกิจ
ขอขอบคุณอาสาล้างบ้านทุกคน
จากทั่วประเทศ ทุกวิธีการเดินทาง
ที่สละทั้งร่างกายและเวลา
มาช่วยชาวบ้านผู้ประสบภัยอุทกภัย

ศูนย์อาสาล้างบ้านกระจกเงา อ.แม่สาย จ.เชียงราย 
ล้างบ้านไปทั้งหมด 230 หลังคาเรือน
และหลังจากนี้ เราจะเข้าสู่หน้างานซ่อมสร้างบ้าน เพื่อซ่อมแซมชาวบ้านที่พังเสียหายจากน้ำท่วม ให้พร้อมเข้าอยู่

สนับสนุนงานภัยพิบัติของมูลนิธิกระจกเงา
ได้ที่ กองทุนภัยพิบัติ (Special Force) 
โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-258298-3 ธ.ไทยพาณิชย์

หรือ สนับสนุนเข้ากองทุนมูลนิธิกระจกเงา
ได้ที่ เทใจดอทคอม
https://taejai.com/th/project/mirror_fund_ot
(สามารถลดหย่อนภาษีได้)

นราธิวาส-แม่ทัพภาคที่ 4 ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เหตุลอบวางระเบิดรถยนต์เจ้าหน้าที่ ตำรวจ สภ.ศรีสาคร

(4 ก.พ. 68) เวลาประมาณ 09.00 น. ได้เกิดเหตุระเบิดรถยนต์ทะเบียน กฉ-4006 ยะลา ที่จอดอยู่บริเวณลานจอดรถของ สภ.ศรีสาคร บ้านซากอ ตำบลศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส เป็นเหตุให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย โชคดีไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว 

จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นของ จ.ส.ต.ซุลกิฟลี เจ๊ะมามะ อายุ 32 ปี โดยเมื่อคืนวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 จ.ส.ต.ซุลกิฟลีฯ ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปจอดไว้ในที่จอดรถของบ้านพักส่วนตัวของตนเอง แล้วเข้าไปพักผ่อนในบ้าน ซึ่งมีผู้พักอาศัย คือ จ.ส.ต.ซุลกิฟลีฯ ภรรยา และลูกอีก 2 คน รวม 4 คน ช่วงเช้าวันที่ 4 กุมภาพันธ์ จ.ส.ต.ซุลกิฟลีฯได้ขับรถไปส่งลูกโรงเรียน และส่งภรรยาไปทำงานที่โรงพยาบาล จากนั้นนำรถมาจอดไว้หน้า สภ.ศรีสาคร โชคดีที่ระเบิดทำงานขณะที่ไม่มีใครอยู่ภายในรถ คาดว่าผู้ก่อเหตุนำระเบิดมาซุกไว้บริเวณท้ายรถหลังบังโคลนระหว่างซุ้มล้อ เบื้องต้น สภ.ศรีสาคร ได้กั้นบริเวณที่เกิดเหตุ และประสานเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด เพื่อทำการตรวจพิสูจน์ พร้อมตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดที่บ้านของ จ.ส.ต.ซุลกิฟลีฯ และบริเวณเส้นทางที่สามารถเข้าออกบ้าน จ.ส.ต.ซุบกิฟลีฯ ต่อไป

ขณะที่แม่ทัพภาคที่ 4 เมื่อทราบเหตุได้ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุในทันที โดยเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.30 น. พลโทไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ลงพื้นที่ ติดตามสถานการณ์เหตุลอบวางระเบิดรถยนต์เจ้าหน้าที่ ตำรวจ สภ.ศรีสาคร ภายหลังตรวจสอบที่เกิดเหตุได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ได้เพิ่มความเข้มข้นในการดูแลพื้นที่ให้มากขึ้น และขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ช่วยกันเป็นหูเป็นตา แจ้งเบาะแส บุคคลต้องสงสัยเข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่ สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า โทร.1341 หรือหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ข่าว.แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top