Tuesday, 22 April 2025
มูลนิธิรามาธิบดี

โซเชียลฯ แห่ชื่นชม 'เจ้าของพัดลมฮาตาริ' บริจาคเงิน 900 ล้านบาทให้มูลนิธิรามาฯ

โลกโซเชียลฯ แห่ชื่นชม 'จุน วนวิทย์' เจ้าของพัดลมฮาตาริ บริจาคเงิน 900 ล้านบาทแก่มูลนิธิรามาธิบดี หลังผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งโพสต์ภาพเช็คสั่งจ่ายมูลนิธิฯ

วานนี้ (27 ก.ค.) ในโลกโซเชียลฯ มีการแชร์ข้อความจากทวิตเตอร์ @pichai_online โพสต์ภาพเช็คธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) สาขาถนนประชาอุทิศ ชื่อบัญชี นายจุน วนวิทย์ ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด สั่งจ่ายมูลนิธิรามาธิบดี จำนวนเงิน 900 ล้านบาท ลงวันที่ 29 ก.ค. 2565 ระบุว่า "การบริจาคที่ยิ่งใหญ่ คุณจุน วนวิทย์ เจ้าของ พัดลม Hatari คนนี้ใจบุญจริงขออนุโมทนาครับ" โดยมีชาวเน็ตแห่แชร์และชื่นชมจำนวนมาก

ด้านเฟซบุ๊ก 'Ramathibodi School of Nursing, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital' ของโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความระบุว่า "บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด โดย คุณจุน-คุณสุนทรี วนวิทย์ และครอบครัว บริจาคเงิน 900,000,000 บาท แก่มูลนิธิรามาธิบดีฯ โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ ภาวิทย์ เพียรวิจิตร รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร เป็นตัวแทนร่วมรับมอบ

‘มูลนิธิรามาธิบดี’ ระดมทุนสร้างอาคาร ‘โรงพยาบาลรามาธิบดี-ย่านนวัตกรรมโยธี’ เพิ่มศักยภาพ การให้บริการมาตรฐานสูง รองรับสถานการณ์โรคภัยในอนาคต

(20 ก.ค.67) มูลนิธิรามาธิบดี ขอเชิญร่วมเช่าบูชา (ลดหย่อนภาษี 2 เท่า) พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เพื่อระดมทุนสร้างอาคารโรงพยาบาลใหม่ โรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี

ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้เปิดให้บริการทางการแพทย์และเป็นสถานบ่มเพาะบุคลากรด้านการแพทย์ในฐานะโรงเรียนแพทย์เป็นระยะเวลายาวนานมากกว่า 50 ปี แต่เนื่องด้วยอาคารเดิมของคณะฯ ที่เปิดให้บริการมานาน จึงมีสภาพทรุดโทรมและแออัด โครงสร้างเดิมของอาคารและระบบสาธารณูปโภคเสื่อมสภาพและมีข้อจำกัดด้านการปรับปรุงซ่อมแซม ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริการทางการแพทย์ต่อผู้ป่วยนอกที่มาใช้บริการทุกอาคาร ซึ่งปีหนึ่งมีจำนวนประมาณกว่า 2.4 ล้านคน

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงได้ริเริ่ม 'โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี' โดยวางเป้าหมายเน้นการเพิ่มศักยภาพ และคุณภาพของการให้บริการทางการแพทย์เพื่อให้มีมาตรฐานทางการแพทย์ให้พร้อมรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของโรคในปัจจุบัน และในอนาคต โดยฉพาะอย่างยิ่งการเป็นต้นแบบของการรักษาโรคที่ซับซ้อน อาคารแห่งใหม่นี้สามารถรองรับผู้ป่วยได้เต็มศักยภาพของอาคารเดิม แต่มีประสิทธิภาพมากกว่า อีกทั้งให้ความสำคัญกับแนวคิดการทำงานแบบบูรณาการสหสาขาวิชาชีพของทุกภาควิชา และการคิดถึงใจผู้ป่วยว่าต้องการอะไร ตามแนวคิด 'เข้าใจเขา เข้าใจเรา เข้าใจทุก(ข์)คน' เพื่อให้บริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุด

ขณะเดียวกันเพื่อยกระดับคุณภาพการบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพให้เข้าสู่ระดับสากล แข่งขันได้และเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) ด้วยแนวคิดพัฒนาการบริการและนวัตกรรมทางการแพทย์สู่อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต รองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น จึงเกิดแนวทางการบูรณาการความร่วมมือระหว่างองค์กร “ย่านนวัตกรรมโยธี (Yothi Medical Innovation District) หรือ YMID” เชื่อมโยงสถาบันทางการแพทย์เป็นเครือข่ายเพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีแห่งใหม่ สูง 25 ชั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่ส่วนหนึ่งของด้านหน้าองค์การเภสัชกรรม ขนาด 15 ไร่ 2 งาน 24 ตารางวา มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 278,000 ตารางเมตร ซึ่งมากกว่าพื้นที่ใช้สอยอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์เกือบ 3 เท่า* การออกแบบและก่อสร้างให้ความสำคัญอย่างมากกับการคิดถึงใจผู้ป่วยว่าต้องการอะไร ตามแนวคิด 'เข้าใจเขา เข้าใจเรา เข้าใจทุก(ข์)คน' เพื่อให้บริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุด มีหัวใจหลักในการให้บริการ 3 ส่วน ได้แก่...

1. การบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วย (Public Service) สามารถให้บริการผู้ป่วยนอกได้ 2.5 ล้านคนต่อปี ผู้ป่วยใน 55,000 รายต่อปี ประกอบด้วย แผนกอายุรศาสตร์ แผนกศัลยศาสตร์ แผนกกระดูกและข้อ แผนกกุมารเวชศาสตร์ แผนกหูคอจมูก แผนกสูตินารีเวช แผนกรังสีวิทยา ศูนย์มะเร็งวิทยาครบวงจร หน่วยเวชระเบียน แผนกพยาธิวิทยา แผนกผ่าตัด หน่วยตรวจผู้ป่วยนอก หอผู้ป่วยในสามัญ หอผู้ป่วยพิเศษ และหอผู้ป่วยวิกฤต รวมประมาณ 1,000 เตียง (เตียงในห้องรวม ห้องเดี่ยว ห้องแยกโรคสำหรับผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ ห้องความดันลบ และห้องผู้ป่วยวิกฤต) ผู้ป่วยสามารถเบิกจ่ายตามสิทธิ์สามัญเหมือนอาคารเดิม แต่ได้รับการบริการที่มีคุณภาพ และความเป็นส่วนตัวมากขึ้น

ศักยภาพและคุณภาพที่เพิ่มขึ้นด้านการบริการทางการแพทย์ อาทิ...

- ห้องพักผู้ป่วยใน จำนวน 826 เตียง แบ่งเป็น ห้องเดี่ยวสามัญ 185 เตียง ห้องรวม 621 เตียง โดยมีจำนวนเตียงสูงสุดเพียง 4 เตียง ไม่มีห้องรวมสิบหรือยี่สิบเตียง ทำให้ผู้ป่วย มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ไม่แออัด มีหน้าต่างขนาดใหญ่ทำให้ได้รับแสงจากภายนอกได้อย่างเพียงพอ ทำให้ไม่หดหู่ และสามารถควบคุมหรือลดการแพร่เชื้อได้ดีขึ้น และมีห้องพักเดี่ยวพิเศษ 20 เตียง

- ห้อง ICU เดิมมีประมาณ 100 เตียง ได้ปรับเป็น ICU ห้องเดี่ยวทั้งหมดจำนวนประมาณ 240 เตียง สืบเนื่องจากสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุที่ผู้ป่วยมีชีวิตยาวนานขึ้น โรคมีความซับซ้อนมากขึ้น ผู้ป่วยสามารถมองเห็นด้านนอก ตามคอนเซ็ปต์ Healing Environment ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจช่วยกระตุ้นให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น

- ห้องผ่าตัด (OR) เดิมมี 44 ห้อง ได้เพิ่มเป็นประมาณ 50 ห้อง ด้วยพื้นที่มาตรฐานเน้นการบูรณาการผ่าตัดรองรับโรคซับซ้อน ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่รามาธิบดีมีความเชี่ยวชาญ เน้นการผ่าตัดที่ทุกภาควิชาใช้เครื่องมือร่วมกัน (Shared Facility) เช่น...

>> OR Hybrid มี 2 ห้อง Vascular (หลอดเลือด) และ Neuro (เส้นประสาท)
>> Robotic Surgery (การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด) ดูแลการผ่าตัดศัลยกรรม สูตินรีเวช และหูคอจมูก (ENT)
>> Day Procedure Center ศูนย์การผ่าตัดแบบไม่นอนโรงพยาบาล รองรับแนวโน้มการบริการทางด้านสุขภาพในอนาคตที่เน้น Home Therapy เพิ่มมากขึ้น เช่น แผนกตา กระดูก สูติ หูคอจมูก

- ห้องสวนหลอดเลือดหัวใจ (Cath Lab) มีห้องผ่าตัดเฉพาะทาง และห้อง CCU สำหรับผู้ป่วยวิกฤตที่ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดโดยเฉพาะ

- หน่วยตรวจผู้ป่วยนอก (OPD) มี 4 ชั้น จำนวนห้องตรวจรวมประมาณ 325 ห้อง ด้วยคอนเซ็ปต์ที่นึกถึงผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง จึงพัฒนาจุดบริการ One Day Service สำหรับผู้ป่วยก่อนผ่าตัด จัดโซนพื้นที่ให้บริการรูปแบบใหม่

>> Imaging Center รวมเครื่อง X-ray, , Ultrasound, CT scan, MRI ให้บริการแบบ 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด เพื่อลดระยะเวลารอคอยการตรวจ
>> Patient Operation Center รวมศูนย์การให้บริการผู้ป่วยก่อนการผ่าตัดที่ต้องพบกับแพทย์หลายด้าน เช่น วิสัญญีแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ แพทย์เฉพาะทาง เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ลดการเคลื่อนที่ของผู้ป่วยเพื่อเพิ่มความสะดวกและประหยัดเวลา
>> Intervention Center ศูนย์การให้บริการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด เช่น การสวนขยายหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดส่วนอื่นๆ การเจาะชิ้นเนื้อส่งตรวจ เป็นต้น

อีกหนึ่งจุดเด่นคือ มีจุดรับส่งผู้ป่วยที่ยาวมากถึง 140 เมตร ตอบโจทย์การคิดถึงใจผู้ป่วยที่อยากถึงมือหมอโดยเร็วที่สุด มีทางเชื่อม Skywalk เข้าอาคารชั้นสอง เชื่อมต่อกับศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์และสะพานลอย ซึ่งในอนาคตมีแผนเชื่อมกับรถไฟฟ้าที่จะมาถึงด้วย

2. การเรียนการสอนบุคลากรการแพทย์ (Education) ทุกตารางนิ้วของโรงพยาบาลแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียนขนาดใหญ่ที่บ่มเพาะผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และผลิตนักศึกษา จำนวน 950 คนต่อปี ให้พร้อมด้วยความรู้ และความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยต่อไปในอนาคต โดยมีการจัดพื้นที่ให้มีการศึกษา พูดคุยระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนอย่างเหมาะสมกลมกลืนกับการปฏิบัติงาน และยังเตรียมพื้นที่สำหรับการใช้ชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องตรากตรำทำงานจนเกือบต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ภายในอาคารแห่งนี้ เช่น จัดพื้นที่ห้องทำงานแบบ Co-Working Space ห้องประชุม ห้องรับประทานอาหารและห้องพักสำหรับผู้อยู่เวรอย่างเหมาะสมเพียงพอ

3. การวิจัย (Research) โครงการนี้มุ่งส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยทุกระดับชั้น ควบคู่ไปกับการผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความรู้และเชี่ยวชาญระดับสูงให้มีศักยภาพสูงเพื่อดูแลสุขภาพของประชากรไทย ตลอดจนการผนึกกำลังกับเครือข่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (YMID) เพื่อนำมาสู่การสร้างนวัตกรรมด้านการแพทย์ ชีวการแพทย์ และการดูแลสุขภาพที่สามารถนำไปต่อยอดและเป็นประโยชน์ทางด้านสาธารณสุขของประเทศในระยะยาว จึงได้จัดสรรพื้นที่แห่งการวิจัย ประกอบด้วย ศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ (MIND CENTER), Co- Working Space, Clinical Research Center เป็นต้น

ทั้งนี้ คาดว่าโครงจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 2573 ซึ่งขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการดำเนินการเตรียมก่อสร้าง โดยทางภาครัฐให้การสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตามยังขาดงบในส่วนค่าก่อสร้างอาคารอีกประมาณ 6,000 ล้านบาท และยังมีอุปกรณ์การแพทย์ที่มีมูลค่าสูงเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการให้การบริการในการรองรับผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนได้อย่างเหมาะสมนั้นจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ทางการแพทย์เหล่านี้ซึ่งขาดงบประมาณอีกกว่า 3,000 ล้านบาท 

ดังนั้นคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีจึงต้องจัดหางบประมาณเพิ่มเติมผ่านการให้บริการทางการแพทย์ในคลินิกต่าง ๆ และการระดมทุนจากผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคกับมูลนิธิรามาธิบดีฯ

***หมายเหตุ: อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ อาคารสูง 9 ชั้น เนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน พื้นที่ใช้สอย 94,584 ตารางเมตร โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์  อาคารสูง 7 ชั้น เนื้อที่ 319 ไร่ 1 งาน พื้นที่ใช้สอย 218,825 ตารางเมตร

ติดตามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.ramafoundation.or.th/ramagoldenbuddha?ldtag_cl=hrpQO6xyR8W56ZUd0uGpOAAA_oa

‘เบลล่า’ โพสต์ข่าวดี ได้รับพระราชทาน ‘เครื่องราชอิสริยาภรณ์’ เผย!! ถือเป็นเกียรติสูงสุดของชีวิต และวงศ์ตระกูล

(25 ส.ค. 67) เพราะเป็นผู้ให้เสมอมา สำหรับนางเอกชื่อดัง ‘เบลล่า ราณี แคมเปน’ ล่าสุดเจ้าตัวได้โพสต์ข่าวดี ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งถือเป็นเกียรติสูงสุดอีกครั้งของชีวิตและวงศ์ตระกูล

นับเป็นเกียรติอันสูงสุดอีกครั้งของชีวิต ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ ขอขอบพระคุณมูลนิธิรามาธิบดีในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำหรับโอกาสในครั้งนี้นะคะ 

จภ. ลำดับที่ 21 นางสาวราณี แคมเปน

ตามที่รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ด้วยความเสียสละของท่านในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ ‘การให้’ ในกิจกรรม ระดมทุนของมูลนิธิรามาธิบดีฯ ตามพันธกิจหลักเพื่อการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลนั้น

มูลนิธิรามาธิบดีฯ ขอแสดงความยินดี ชื่นชม และยกย่องเชิดชูเกียรติท่านในฐานะบุคคล ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติในการสนับสนุนการดำเนินงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุข อันจะนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนของประชาชนทั่วทั้งประเทศ คุณงามความดีในน้ำใจ แห่ง ‘การให้’ ของท่านจะได้รับการจารึกไว้ตราบนานเท่านาน และส่งผลบุญให้ท่านและครอบครัว ประสบแต่ความสุข ความเจริญ ปราศจากสรรพโรคาพาธและอุปัทวันตรายทั้งปวง เจริญด้วยจตุรพิธพรชัย ตลอดกาลนาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top