Wednesday, 23 April 2025
มหาเศรษฐี

‘เซินเจิ้น’ ลบภาพจำ จาก ‘เมืองนักก๊อป’ ยกระดับสู่เมืองเทคโนโลยี สร้างเศรษฐีหน้าใหม่

เพจ “ลึกชัดกับผิงผิง” สื่อที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศจีน เปิดเผยว่า เมืองเซินเจิ้น เมืองที่มีมหาเศรษฐีมากเป็นอันดับ 3 ของโลก กำลังดึงบุคลากรดีเด่นจากทั่วโลก 

เมื่อ 3 ปีก่อน นายราจ ออสวาล นักธุรกิจชาวอเมริกัน ไปทำธุระที่เมืองเซินเจิ้นที่อยู่เขตภาคใต้ของจีน รู้สึกประทับใจมากต่อเมืองนี้ จึงตัดสินใจย้ายมาอยู่เมืองเซินเจิ้น และก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีขึ้นมา เขากล่าวว่า ในที่อื่นๆ ของจีนหรือเอเชีย ยากที่จะเห็นเมืองนวัตกรรมสร้างใหม่แบบนี้ ชาวเมืองแห่งนี้มีความมั่นใจต่ออนาคต 

เมื่อกว่า 40 ปีก่อน เมืองเซินเจิ้นยังเป็นหมู่บ้านประมง แต่ปัจจุบันเป็นศูนย์เทคโนโลยีที่ได้รับการขนานนามว่า “ซิลิคอนแวลลีย์แห่งประเทศจีน” มหาเศรษฐี เมืองนี้รวยขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยแซงหน้านครนิวยอร์ก กลายเป็นเมืองที่มีมหาเศรษฐีมากเป็นอันดับ 3 ของโลก 

ตามบัญชีรายชื่อ “มหาเศรษฐีโลกประจำปี 2022 หูรุ่น” (Hurun Global Real Estate Rich List 2022) ปัจจุบัน กรุงปักกิ่งเป็นเมืองที่มีมหาเศรษฐีจำนวน 144 คนมากเป็นอันดับ 1 ของโลก นครเซี่ยงไฮ้ 121 คนเป็นอันดับ 2 เมืองเซินเจิ้น 113 คน จัดอยู่อันดับ 3 นครนิวยอร์ก 110 คน เป็นอันดับ 4 กรุงลอนดอน 101 คน จัดอยู่อันดับที่ 5 

‘เกาะอังกฤษ’ เสน่ห์หาย มหาเศรษฐีแห่หอบเงินหนี ผลจากภาวะเศรษฐกิจ - แนวโน้มเปลี่ยนขั้วรัฐบาล

‘สหราชอาณาจักร’ กลายเป็นประเทศในโซนยุโรป ที่มีมหาเศรษฐีย้ายออกมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ (2024) ที่มีการย้ายออกสุทธิมากถึง 9,500 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 2 เท่า และมีแนวโน้มที่จะย้ายออกเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง หลังรู้ผลการเลือกตั้งใหญ่ของอังกฤษในปีนี้ 

จากรายงานการสำรวจการโยกย้ายถิ่นฐานของ The Henley Private Wealth Migration ประจำปี 2024 พบว่าอังกฤษกลายเป็นประเทศที่มหาเศรษฐีอยากจะย้ายออกมาเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศจีนในปีนี้ แถมมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจเรียกได้ว่าเป็นวิกฤติการย้ายถิ่นแบบ Exodus หรือการทิ้งถิ่นฐานของมหาเศรษฐีจำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ซึ่งในปีนี้ มีเศรษฐีในอังกฤษ ย้ายออกไปประเทศอื่นแล้วถึง 9,500 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่มีเศรษฐีย้ายออก 4,200 ราย นับว่าเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว

ถึงแม้ว่าจีนจะยังคงเป็นประเทศที่มีคนระดับเศรษฐีย้ายออกมากที่สุดในโลก ซึ่งมีตัวเลขการย้ายออกสุทธิอยู่ที่ 15,200 รายในปีนี้ แต่หากเทียบกับตัวเลขในอดีตที่อังกฤษเคยติดอันดับกลุ่มประเทศที่มีมหาเศรษฐีอยากย้ายเข้ามากที่สุด เป็นจุดหมายปลายทางระดับพรีเมียมที่ใครต่อใครสนใจที่จะย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ นับว่าเป็นปัญหาที่ไม่ธรรมดาเลยสำหรับอังกฤษ

‘Henley’ บริษัทที่ปรึกษาด้านการย้ายถิ่นฐานระบุว่า ช่วงระหว่างปี 1950 - 2000 ถือเป็นยุคทองของสหราชอาณาจักร ที่ครอบครัวชนชั้นสูง ตระกูลเศรษฐีทั่วทั้งยุโรป, แอฟริกา, เอเชีย และ ตะวันออกกลาง นิยมย้ายถิ่นมาลงหลักปักฐานในอังกฤษเป็นจำนวนมาก 

แต่ในวันนี้กลับไม่ใช่แล้ว กลุ่มคนที่มีทรัพย์สินมั่งคั่งในอังกฤษเริ่มมองหาประเทศทางเลือกอื่น ๆ ในการย้ายถิ่นที่อยู่ใหม่ เห็นได้ชัดเจนจากตัวเลขประชากรระดับเศรษฐีของอังกฤษลดลงถึง 8% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สวนทางกับจำนวนประชากรเศรษฐีในประเทศเศรษฐกิจหลักของกลุ่มชาติตะวันตกในช่วงเวลาเดียวกัน อาทิ เยอรมัน ที่มีจำนวนเศรษฐีเพิ่มขึ้นถึง 15% ในขณะที่สหรัฐอเมริกา มีจำนวนเศรษฐีเพิ่มมากถึง 62% 

แต่อะไรเป็นสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เสน่ห์ของประเทศอังกฤษหายไป ไม่ชวนดึงดูดกลุ่มเศรษฐี นักลงทุนให้มาอยู่ได้อย่างที่แล้วมา?

แรกที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ผลพวงจากผลประชามติ Brexit ซึ่งในช่วงปี 2017 - 2023 หลังจากที่อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกภาพของสหภาพยุโรปแล้ว มีตัวเลขประชากรเศรษฐีในอังกฤษย้ายถิ่นไปแล้วถึง 16,500 ราย และตัวเลขการย้ายถิ่นของคนกลุ่มนี้ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดทุกปี 

แต่นั่นไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำเศรษฐีอังกฤษหอบเงินหนี ‘ฮานนาห์ ไวท์’ CEO ของสถาบันวิเคราะห์ยุทธศาสตร์รัฐบาล เผยว่าการย้ายถิ่นครั้งใหญ่ของเศรษฐีจะยิ่งเร่งสปีดเร็วขึ้นกว่าเดิมหลังรู้ผลการเลือกตั้งใหญ่ของอังกฤษในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้

จากผลโพลหลายสำนักในอังกฤษชี้ตรงกันว่าพรรคแรงงาน ฝ่ายซ้าย ที่เป็นฝ่ายค้านในปัจจุบันมีคะแนนนำเหนือพรรคอนุรักษ์ฝ่ายรัฐบาล ถึง 46% ต่อ 21% มีโอกาสคว้าชัยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใหม่สูงมาก 

โดยพรรคแรงงานมีนโยบายการจัดเก็บภาษีที่เข้มงวด โดยเน้นการเก็บภาษีเพิ่มในกลุ่มคนต่างด้าว ลดช่องทางการหลีกเลี่ยงภาษี ยกเลิกการลดหย่อนภาษีสำหรับโรงเรียนเอกชน และเพิ่มภาษีสำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยบุคคลที่ไม่ได้ถือวีซ่าผู้อาศัยในอังกฤษ อีกทั้งขึ้นภาษีที่ดินเป็น 40% สำหรับที่ดินที่มีราคาสูงกว่า 325,000 ปอนด์ เพื่อนำภาษีเหล่านั้นมาลงให้กับกองทุนสวัสดิการสังคมต่าง ๆ ของชาวอังกฤษ 

ด้วยปัจจัยด้านนโยบายในการจัดเก็บภาษีคนรวย บวกกับสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ภาวะเงินเฟ้อในประเทศ และ การถูกยกเลิกสิทธิพิเศษจากการเป็นสมาชิก EU ทำให้เศรษฐีในอังกฤษตัดสินใจย้ายออกอย่างมากมายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

นับเป็นความท้าทายที่สาหัสทีเดียวสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ของอังกฤษ ในการฟื้นฟูประเทศ เรียกบรรยากาศที่เคยดึงดูดกลุ่มเศรษฐีมีเงินทั่วโลก ที่เคยหอบทรัพย์สินหลั่งไหลมาตั้งถิ่นฐานใน ‘ดินแดนแห่งผู้ดี’ เช่นในอดีต

'เดวิด หย่ง' เซเลปเศรษฐีผู้โชว์รวยใน Super Rich in Korea ของ Netflix ถูกจับโป๊ะ!! ข้อหาปลอมแปลงเอกสารเงินกู้ของบริษัทตัวเอง

หากใครเคยผ่านตา Super Rich in Korea รายการ Reality Show ของเกาหลีใต้ที่ถ่ายทอดชีวิตติดหรูสุดๆ ของสังคมมหาเศรษฐีที่ฉายทาง Netflix จะต้องรู้จัก 'เดวิด หย่ง' หรือชื่อจริงว่า 'หย่ง คัง หลิน' กับคำเคลมสุดฮิตที่ใช้เปิดรายการของเขาว่าเป็นมหาเศรษฐีระดับ Top 1% 'Super Rich' ของสิงคโปร์

ที่มาของความร่ำรวยของ เดวิด หย่ง มหาเศรษฐีวัยเพียง 38 ปีชาวสิงคโปร์ มาจาก Evergreen Group Holdings บริษัทบริหารสินทรัพย์ ที่ลงทุนในธุรกิจหลากหลายตั้งแต่ การค้าไม้, อสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงธุรกิจสันทนาการและวงการบันเทิง 

จนเมื่อปี 2020 เดวิด หย่ง ตัดสินใจย้ายไปอยู่กรุงโซล เกาหลีใต้ เพราะสนใจธุรกิจ K-Pop และได้ร่วมลงทุนในค่ายเพลงเกาหลีใต้เล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่ชื่อว่า Attrakt ถึง 1 หมื่นล้านวอน และมีศิลปินในสังกัดที่เดบิวต์แล้วเป็นวงเกิร์ลกรุ๊ป Fifty Fifty ก็ทำให้ชื่อเสียงของเดวิด หย่ง เป็นที่จับตาในแวดวงไฮโซ ในเกาหลีใต้ จนได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในรายการ Super Rich in Korea

โดยในรายการนั้น เจ้าตัว ได้เปิดเผยไลฟ์สไตล์เหนือระดับคนทั่วไปในห้องชุดสุดหรูบนตึกระฟ้า Lotte World Tower ในกรุงโซล เดินทางด้วยเครื่องบินเจทส่วนตัว ซื้อของแบรนด์เนมเป็นว่าเล่น และ มีธุรกิจทั้งในเกาหลีใต้, สิงคโปร์ และ กัมพูชา 

แต่มาวันนี้เซเลปเศรษฐีบนยอดพีระมิด 1% ของสิงคโปร์กลับเจอปัญหาเสียแล้ว เมื่อทางการสิงคโปร์ได้ออกหมายจับกุม และดำเนินคดี เดวิด หย่ง เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมานี้เอง ในข้อหาปลอมแปลงเอกสารการเงิน เพื่อใช้ประกอบการกู้เงินสำหรับบริษัท Evergreen Group ของเขา 

โดย เดวิด หย่ง ถูกกล่าวหาว่ามีเจตนาทุจริต และยังให้การสนับสนุน 'โจลีน โลว์ มง ฮาน' ผู้ช่วยของเขา ปลอมแปลงเอกสาร และ ใบกำกับภาษี ของ Evergreen Group ลงวันที่ 1 กันยายน 2021 เพื่อขายอุปกรณ์และเครื่องใช้ภายในบ้านจำนวนมากให้กับบุคคลที่ชื่อ 'รอย เตียว' ที่พบว่าเป็นเอกสารปลอม 

หากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง เดวิด หย่ง อาจถูกตัดสินโทษจำคุกได้ถึง 10 ปี หรือ ทั้งจำ ทั้งปรับ ตามมาตรา 477A ของสิงคโปร์ ที่ว่าด้วยเรื่องความผิดฐานการปลอมแปลงบัญชี

ทว่า คดีความของ เดวิด หย่ง ไม่ได้มีเพียงแค่นี้!!

สำนักงานกำกับดูแลการบัญชีและองค์กร พบว่า Evergreen Group ซึ่งเดิมใช้ชื่อว่า Evergreen Teak Trading มีทุนจดทะเบียน 490,000 เหรียญสิงคโปร์ โดยมี หย่ง อิงฟัต พ่อของ เดวิด หย่ง เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นเพียงคนเดียว ส่วน เดวิด หย่ง ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท และได้ยุติบทบาทการเป็นกรรมการของบริษัทตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2566 หลังจากที่ย้ายไปเกาหลีใต้ 

ต่อมา บริษัท Evergreen Group ของเขาก็ถูกระบุอยู่ในรายชื่อเพื่อแจ้งเตือนนักลงทุนของสำนักงานการเงินสิงคโปร์ ว่าบริษัทนี้ไม่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจการให้บริการทางการเงินในสิงคโปร์

และเมื่อ เดวิด หย่ง ถูกหมายจับคดีปลอมแปลงเอกสารในวันนี้ กรมกิจการพาณิชย์ก็จะดำเนินการสอบสวนกิจกรรมทางธุรกิจของ Evergreen Group ในข้อกล่าวหาเรื่องการฉ้อโกงอีกด้วย

นี่จึงกลายเป็นข่าว Talk of the town เมาต์กันสนั่นเมืองทั้งในสิงคโปร์ และ เกาหลีใต้ ถึง เดวิด หย่ง ที่เคยถูกมองว่าเป็นมหาเศรษฐีสิงคโปร์ผู้รวยล้นฟ้าตามแบบฉบับชาว Crazy Rich Asians หรืออัศวินขี่ม้าขาวผู้กอบกู้ค่ายเพลงเล็ก ๆ ในเกาหลีใต้ 

แต่ดูเหมือนมาวันนี้ เจ้าตัวจะเข้าตำรา ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง หรือเปล่าน้า?

🔎เปิด 10 อันดับเมืองที่มี ‘มหาเศรษฐี’ มากที่สุดในปี 2024

THE STATES TIMES ชวนมาดู 10 อันดับเมืองที่มี ‘มหาเศรษฐี’ มากที่สุดในปี 2024 โดยสำหรับ ‘กรุงเทพมหานคร’ ของประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 11 มีจำนวนมหาเศรษฐีอยู่ที่ 49 คน

สำหรับคำว่า ‘มหาเศรษฐี’ หรือ Billionaire หมายถึงผู้ที่มีความมั่งคั่ง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 35,000 ล้านบาท) ขึ้นไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top