Sunday, 20 April 2025
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

สมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในพระบรมราชูปถัมภ์” ชม หม้อแปลงซับเมอร์ส ระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน ลดคาร์บอน ลดก๊าซเรือนกระจก (Submersible Transformer Low Carbon)

สมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เยี่ยมชม “หม้อแปลงใต้ดิน Low carbon” โดยได้รับการต้อนรับจาก ดร. สมบัติ วนิชประภา ที่ปรึกษาสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณประจักษ์ กิตติรัตนวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด โครงการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Submersible Transformer Low carbon การนำสายไฟลงดินทั้งระบบ ในพื้นที่สยามสแควร์ หม้อแปลง Submersible Transformer Low carbon ไม่บังหน้าร้าน, ไม่บังร้านค้า ไม่บังหน้าบ้าน เสริมสร้างทัศนียภาพ สร้างความปลอดภัยต่อประชาชนและบริหารระบบจัดการพลังงานสิ้นเปลือง ลดมลพิษ ลดค่าไฟฟ้า ลดคาร์บอน ลดก๊าซเรือนกระจก สร้างความมั่นคงพลังงานอย่างยั่งยืน ให้ผู้ประกอบการโรงงาน อาคาร สถานประกอบการ สอดคล้อง พันธกิจ ส่งเสริม พัฒนา สนับสนุนระบบไฟฟ้าสายใต้ดิน และการใช้พลังงานสะอาด ในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เชิงพาณิชย์อย่างมั่นคง

และเป็นการตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาลในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ตามที่กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission

    
ทางกลุ่มความร่วมมือ ขอขอบคุณ สมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ให้เกียรติมาเยี่ยมชม นวัตกรรม สินค้าบัญชีนวัตกรรมไทย หม้อแปลงใต้ดิน Low carbon การจัดการพลังงานและบำรุงรักษาแบบ IoT เพื่อเสริมสร้างระบบไฟฟ้าลงดิน เกิดความเสถียรภาพและความมั่นคง

#88pacific
ข้อมูลข่าว:สมาคมสื่อมวลชนเพื่อสังคม

‘iRAP Robot’ มจพ. คว้าแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยโลก สมัยที่ 9 จากการแข่งขัน ‘World RoboCup Rescue 2023’ ที่ฝรั่งเศส

เมื่อวานนี้ (10 ก.ค. 66) ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เปิดเผยว่า นักศึกษาทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot มจพ. ได้เข้าร่วมการแข่งขัน World RoboCup Rescue 2023 ระหว่างวันที่ 4-10 กรกฎาคม 2566 ณ เมืองบอร์โด ประเทศฝรั่งเศส ที่ผ่านมา คว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัย ประจำปี 2566 World RoboCup Rescue 2023 เป็นสมัยที่ 9 ให้กับ มจพ. และเป็นสมัยที่ 10 ให้กับประเทศไทย ได้สำเร็จ พ่วงอีก 2 รางวัล ได้แก่ BEST IN CLASS MOBILITY (รางวัลนวัตกรรมสมรรถนะการขับเคลื่อนหุ่นยนต์ยอดเยี่ยมระดับโลก) และ BEST IN CLASS MAPPING (รางวัลการทำแผนที่ยอดเยี่ยมระดับโลก) อย่างสมศักดิ์ศรี โดยมีทีมเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 17 ทีม จาก 11 ประเทศทั่วโลก อาทิ อเมริกา เยอรมัน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน ออสเตรีย ตุรกี เม็กซิโก บังกลาเทศ เกาหลีใต้ และไทย

การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot คว้ารางวัลชนะเลิศ อันดับ 2 ทีม Hector Darmstadt ประเทศเยอรมัน ส่วนอับดับ 3 ทีม Quix ประเทศญี่ปุ่น 

ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot จะเดินทางกลับถึงประเทศไทย ในวันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม 2566 เที่ยวบิน EK372 DXB/BKK เวลา 19.15 น. ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยกำหนดจัดแถลงข่าวในวันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม 2566 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ อาคารนวมินทรราชินี มจพ.

สมาชิกในทีม iRAP ROBOT ประกอบด้วย

1. นายฐิติยศ ประกายธรรม
2. นายภูมิทรรศน์ สังขพันธ์
3. นายศักดิธัช วินิจสรณ์
4. นายจิรกานต์ สุขเจริญ
5. นายชัยพฤกษ์ เลาหะพานิช
6. นายอาทิตย์ นาราเศรษฐกุล
7. นายปียภูมิ ธนวุฒิอนันต์
8. นายกลย์ภัทร์ บุญเหลือ
9. นายธรณินทร์ อุ่นอารีย์
10. นายธนกร กุลศรี
11. นายนภดล จำรัสศรี
12. นายเจษฎากร ชัยนราพิพัฒน์
13. นายภูบดี บุญจริง

อาจารย์ที่ปรึกษาและควบคุมทีม ประกอบด้วย 
1. ผศ.สมชาย เวชกรรม 
2. รศ.ดร.ธีรวัช บุณยโสภณ 
3. อาจารย์ ดร.จิรพันธุ์ อินเทียม 
4. อาจารย์ ดร.อรัญ แบล็ทเลอร์ 
5. ผศ.นพดล พัดชื่น

'ไทย' ไปต่อ!! เตรียมส่งดาวเทียมแนคแซท 2 สู่อวกาศต้นปี 67 มุ่งภารกิจเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันอุตสาหกรรมอวกาศ

เมื่อวานนี้ (11 ต.ค. 66) ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดงานแถลงข่าวพิธีส่งดาวเทียมแนคแซท 2 (KNACKSAT-2) ซึ่งเป็นโครงการดาวเทียมคิวบ์แซท (CubeSat) ขนาด 3U (30 x 10 x 10 ซม.) พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มีรูปแบบเป็น Ride Sharing Platform หรือการแชร์พื้นที่ใช้สอยบนดาวเทียมร่วมกัน

โดยดาวเทียม KNACKSAT-2 มีพื้นที่ในการบรรจุเพย์โหลด (Mission Payload) หรืออุปกรณ์เพื่อปฏิบัติภารกิจถึง 7 ระบบ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากห้วงอวกาศให้สามารถเข้าถึงอวกาศได้ง่ายขึ้น โดยใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการนี้ได้รับการจัดสรรทุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และมีบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เป็นผู้ร่วมทุนในการวิจัยและพัฒนาระบบ IoT เป็นหนึ่งความสำเร็จจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ซึ่งนอกจากใช้ประโยชน์ในภาคการศึกษาพัฒนาบุคลากรและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศแล้ว KNACKSAT-2 ยังสามารถขยายไปสู่เชิงพาณิชย์ สร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจในการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศ

โดย มจพ. มีกำหนดนำดาวเทียม KNACKSAT-2 ออกจากประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2566 เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำส่งเข้าสู่วงโคจรจากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ช่วงต้นปี 2567 โดยความร่วมมือระหว่าง มจพ. บริษัท NBSPACE มหาวิทยาลัย Kyushu Institute of Technology (KYUTECH) และ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA)

สำนักพัฒนาเทคนิคศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดงาน 'เรียนรู้ สร้างโอกาส เชื่อมโยงการศึกษากับอุตสาหกรรม'

เมื่อวานนี้ (24 ต.ค.67) เวลา 08.30 – 15.30 น. ณ ห้องบอลรูม 1 ชั้น 3 โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร สำนักพัฒนาเทคนิคศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดงาน 'เรียนรู้ สร้างโอกาส เชื่อมโยงการศึกษากับอุตสาหกรรม' เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงการศึกษาและการพัฒนาทักษะของผู้เรียนให้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนสร้างโอกาสการจ้างงานให้แก่ผู้เรียนในอนาคต

​โดยในงานได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ฉัตรชาญ ทองจับ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคนิคศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นประธานกล่าวเปิด

​พร้อมกันนี้ยังมีการเสวนาพิเศษ ในหัวข้อ 'สร้างโอกาสในการพัฒนาผู้เรียนสู่การเป็นมืออาชีพในอนาคต' มีผู้ร่วมเสวนาจากหลากหลายภาคส่วน ได้แก่ นายนิธิวัชร์ ศิริปริยพงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน), รองศาสตราจารย์ ดร.สุรพันธ์ ยิ้มมั่น รองอธิการบดีฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, นายประทีป จุฬาเลิศ รองผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออก และ ดร.ปัญญาพล สุพรรณวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส.เอ็ม.ซี (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี ผศ.ดร.ดวงกมล โพธิ์นาค รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและกิจการพิเศษ สำนักพัฒนาเทคนิคศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และนายจักรพันธ์ ดาปาน อุปนายก และผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานโครงการและความร่วมมือ สมาคมดิจิทัลเพื่อการศึกษาไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ

และภายในงานยังมีการเปิดตัว 'ชุดฝึกอบรม TPQI E-Training เพื่อสถานประกอบการ' พร้อมแนะนำ แพลตฟอร์ม E-Workforce Ecosystem Platform (EWE) ที่เป็นแพลตฟอร์มอัจฉริยะในการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคนและการพัฒนาสมรรถนะเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต และมีการพิธีมอบโล่เกียรติคุณให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่สนับสนุนการจัดฝึกอบรมและประเมินสมรรถนะบุคคล รวมถึงการมอบประกาศนียบัตรรับรองคุณวุฒิวิชาชีพอีกด้วย​

การจัดงานครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญในการเชื่อมโยงการศึกษาเข้ากับภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับผู้เรียนและเตรียมความพร้อมในการพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรในทุกระดับให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีคุณภาพและมีงานทำในอนาคต

ทีมนักวิจัย มจธ. พัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบ ช่วยกายภาพบำบัด ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผสาน!! ‘เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ - เกม’ เข้าไว้ด้วยกัน ฟื้นฟูร่างกายแม่นยำ สนุก

(12 เม.ย. 68) ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติและหน่วยงานด้านประชากรศาสตร์คาดการณ์ว่า ภายในปี 2583 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 32% ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งนำมาสู่การเพิ่มขึ้นของโรคเรื้อรังและภาวะเสื่อมของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS - Amyotrophic Lateral Sclerosis) และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงไมแอสทีเนียเกรวิส (MG - Myasthenia Gravis) ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในที่สุด

การกายภาพบำบัดจึงเป็นส่วนสำคัญในการดูแลผู้ป่วย เพื่อยืดอายุการทำงานของกล้ามเนื้อและรักษาคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถทำกายภาพได้ต่อเนื่อง เนื่องจากข้อจำกัดด้านร่างกาย สภาพจิตใจ และความเบื่อหน่ายต่อวิธีการเดิม ส่งผลให้ประสิทธิภาพการฟื้นฟูลดลงอย่างมาก

เพื่อแก้ไขข้อจำกัดดังกล่าว ดร.ปฏิยุทธ พรามแก้ว หัวหน้าโครงการ อาจารย์จากโครงการร่วมบริหารหลักสูตรฯ (มีเดีย) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ฐิตาภรณ์ กนกรัตน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มหศักดิ์ เกตุฉ่ำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ชูเมือง มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง และ ดร.วรวุทธิ์ ยิ้มแย้ม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนา “หุ่นยนต์ต้นแบบช่วยกายภาพบำบัดผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงบริเวณขาโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์และเกม” โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบที่สามารถใช้งานได้จริงในบริบทของผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงบริเวณขา พร้อมระบบเกมที่ออกแบบขึ้นโดยเฉพาะสำหรับการกระตุ้นการขยับร่างกายผ่านเกมที่มีเป้าหมายชัดเจน โดยได้รับความร่วมมือจากแพทย์และบุคลากรในโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ที่นำข้อมูลเชิงลึกและความต้องการของผู้ป่วยมาเป็นโจทย์ในการพัฒนางานวิจัย

“หุ่นยนต์ต้นแบบนี้ประกอบด้วยสององค์ประกอบหลัก ได้แก่ อุปกรณ์กายภาพบำบัดที่ออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ โดยสามารถปรับน้ำหนัก แรงต้าน และตำแหน่งให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย และระบบเกมแบบจำลองสถานการณ์ (Simulation Game) ที่ใช้การขยับกล้ามเนื้อขาเพื่อควบคุมการดำเนินภารกิจในเกม ซึ่งได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเหมาะสมกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะ เช่น ขนาดตัวอักษร หน้าจอแสดงผล รูปแบบการโต้ตอบ การวางปุ่ม และระบบให้คะแนนที่ชัดเจนเพื่อให้เห็นพัฒนาการของผู้ใช้งาน ผสานกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการติดตาม วิเคราะห์ และปรับระดับความยากง่ายของกิจกรรมให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งานจริงของผู้ป่วยแต่ละคน ที่ช่วยให้การฝึกมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และสามารถประเมินผลได้แม่นยำขึ้น” ดร.ปฏิยุทธ กล่าวถึงหลักการการทำงานของหุ่นยนต์ต้นแบบ

ผศ.ดร. ฐิตาภรณ์ กล่าวเสริมว่า การพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบดังกล่าวไม่เพียงสร้างผลลัพธ์ทางเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบเชิงสังคมและอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างเช่น ความสามารถในการต่อยอดสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ในราคาที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ การนำไปประยุกต์ใช้ในโรงพยาบาล ศูนย์ฟื้นฟู ชุมชนผู้สูงอายุ รวมถึงการใช้งานภายในครัวเรือน ที่ช่วยขยายโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีฟื้นฟูสุขภาพอย่างทั่วถึง เพิ่มอัตราการเข้าถึงบริการฟื้นฟูที่มีคุณภาพ ลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในระยะยาว และส่งเสริมให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณสูง

ผลงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น รางวัลประกาศเกียรติคุณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ประจำปี 2568 โดยถือเป็นหนึ่งในโครงการวิจัยที่สามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับโจทย์ทางสุขภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม มีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอด และตอบสนองต่อนโยบายด้านสาธารณสุขในสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในระยะต่อไป ทีมวิจัยมีแผนที่จะพัฒนาอุปกรณ์และระบบเกมให้สามารถปรับใช้กับผู้ป่วยกลุ่มอื่น ๆ เช่น ผู้ที่มีภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดที่ต้องการฟื้นฟูการเคลื่อนไหว โดยจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อเร่งการผลิตต้นแบบให้สามารถใช้จริงได้ในวงกว้าง

“หัวใจสำคัญของงานวิจัยตัวนี้คือ การทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเขาดูแลชีวิตของตัวเองได้ เราใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพื่อเสริมทั้งร่างกายและจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอยากลุกขึ้นมาสู้อีกครั้งด้วยความต้องการของตัวเอง” ดร.ปฏิยุทธกล่าวปิดท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top