Sunday, 20 April 2025
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

‘มจธ.’ ให้การสนับสนุน ทุนการศึกษา ‘น้องช่อฟ้า’ ย้ำเจตนา ต้องไม่มีนักศึกษาผู้ใดออกไป เพราะไม่มีค่าเล่าเรียน

ประกาศมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตามที่ปรากฏเป็นข่าวสื่อมวลชนกรณีน้องช่อฟ้า สอบติด 5 มหาวิทยาลัยชื่อดัง ตัดสินใจเลือกเรียนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า แต่คุณพ่อไม่มีเงินส่งลูกเรียนนั้น

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยกลุ่มงานช่วยเหลือทางการเงินแก่นักศึกษา ได้ทราบเรื่องและประสานไปยังน้องช่อฟ้าในทันทีเพื่อสอบถามรายละเอียด และได้ตรวจสอบในระบบฐานข้อมูนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแล้ว ทราบว่าน้องช่อฟ้าได้ยืนยันสิทธิ์เป็นนักศึกษาเข้าศึกษาต่อที่ภาควิชาวิศวกรรมระบบควบคุมและเครื่องมือวัด คณะวิศวกรรมศาสตร์ 
มจธ. พร้อมให้การช่วยเหลือและสนับสนุนการเรียนรู้ของนักศึกษาในทุกด้านอย่างต่อเนื่อง มีกลไก ในการสนับสนุนทุนการศึกษาที่เหมาะสมกับนักศึกษาทุกคนและติดตามการศึกษาของนักศึกษาจนกระทั่งสำเร็จการศึกษา ตามเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยที่จะไม่มีนักศึกษาผู้ใดต้องออกไปเพราะไม่มีค่าเล่าเรียน และขอใช้โอกาสนี้ขอบคุณประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ร่วมกันช่วยเหลือครอบครัวของนักศึกษา

ทั้งนี้ หากนักศึกษาเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน หรือพบเห็นเพื่อนที่ได้รับความเดือดร้อน สามารถประสานเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานช่วยเหลือทางการเงินแก่นักศึกษา โทร. 0-24708097-8, 0-24708107 อีเมล [email protected]

‘พระจอมเกล้าธนบุรี’ เจ๋ง!! ผุดชุดตรวจเชื้อ ‘ซาลโมเนลลา’   ประหยัดเวลา ถูกกว่า แถมแม่นยำเกือบ 100%

การตรวจหาเชื้อ ‘ซาลโมเนลลา’ (Salmonella) ในเนื้อไก่ดิบ เป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกเนื้อไก่ในยุคปัจจุบัน ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เชื้อซาลโมเนลลา เป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ ซึ่งจะพบได้ในสัตว์ปีก ซึ่งหากไม่ผ่านกระบวนการให้ความร้อนอย่างเพียงพอ ก็จะทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการอาหารเป็นพิษ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน และอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ตามมาอีก นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ กลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ออกมาตรการเข้มในการตรวจเนื้อไก่ดิบ ที่จะส่งเข้ามาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค เกณฑ์มาตรฐานเนื้อไก่ของกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ที่หลายประเทศใช้อยู่ในปัจจุบัน ระบุว่าหากตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อซาลโมเนลาแม้เพียงเซลล์เดียว ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ดิบทั้งหมดในตู้คอนเทนเนอร์นั้นจะต้องถูกส่งกลับ และอาจส่งผลให้โรงงานต้องหยุดสายการผลิต เพื่อฆ่าเชื้อทำความสะอาด และจะต้องผ่านการตรวจเพื่อรับรองจากหน่วยงานที่รับผิดชอบจนแน่ใจ จึงจะสามารถเริ่มการผลิตได้อีกครั้ง ซึ่งนั่นถือเป็นความสูญเสียของผู้ประกอบการแต่ละราย และอาจรวมถึงความเชื่อมั่นของคู่ค้าและภาพลักษณ์ของประเทศต่อผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ของไทยในภาพรวม

ดังนั้น การเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ (Plate Count Method) จึงเป็นวิธีการมาตรฐานที่ผู้ประกอบธุรกิจส่งออกเนื้อไก่ นำมาใช้ในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ของตนเอง เนื่องจากเป็นวิธีการที่มีความแม่นยำสูง และทั่วโลกให้การยอมรับ แต่การตรวจด้วยวิธีดังกล่าวนั้น นอกจากจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง คือประมาณ 300 บาทต่อตัวอย่างแล้ว กว่าที่เชื้อจุลินทรีย์ที่เพาะไว้จะเพิ่มปริมาณมากพอ และทราบผลก็ต้องใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน ซึ่งหากมีการตรวจเจอเชื้อซาลโมเนลลาในตัวอย่างใดก็ตามแม้เพียงเซลล์เดียว จะถือว่าผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ในสายการผลิตเดียวกันที่รอการส่งออกอยู่ในตู้แช่แข็งหรือตู้แช่เย็นมา 5 วันนั้น มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อซาลโมเนลา ด้วยเช่นกัน และไม่ว่าผู้ประกอบการจะเลือกนำไก่แช่แข็งที่เก็บไว้ในตู้แช่แข็งทั้งหมดออกมาผ่านกระบวนการล้างทำความสะอาดเพื่อตรวจผลซ้ำอีกครั้ง  หรือเปลี่ยนไปปรุงสุกเพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นแทน ยกตัวอย่างเช่น ไก่ทอด ไก่คาราเกะ ก็ล้วนแต่มี ต้นทุน ที่เกิดขึ้นจากการรอผลการเพาะเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ทั้งสิ้น 

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของ ‘นวัตกรรมชุดตรวจวัดเชื้อซาลโมเนลลาแบบรวดเร็วสำหรับอุตสาหกรรม’ ผลงานของทีมวิจัยจาก ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์เพื่อคำตอบของสังคม (Applied Science and Engineering for Social Solution Research Center: ASESS Research Center) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งคว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ สาขาผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2566 โดยมีจุดเด่นที่สำคัญคือ สามารถลดระยะเวลาการตรวจเชื้อจาก 3-5 วัน เหลือแค่เพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น

หลักการทำงานเบื้องต้นของชุดตรวจนี้คือ การออกแบบสารชีวโมเลกุลที่มีความจำเพาะกับตัวเชื้อซาลโมเนลลาเท่านั้นซึ่งเรียกว่า “Seeker Powder” และการพัฒนาอนุภาคนาโนโลหะ สำหรับขยายสัญญาณทางแสงที่เรียกว่า “Nano Amplifier” เพื่อทำงานร่วมกับ “เครื่องรามานสเปกโตรมิเตอร์ (Raman Spectrometer)” 

ในส่วนของ Seeker Powder เมื่อเราผสม Seeker Powder ลงไปในน้ำล้างไก่ที่มีเชื้อซาลโมเนลลา ก็จะเกิดการจับกันระหว่างแขนข้างหนึ่งของ Seeker Power กับเชื้อซาลโมเนลลา ส่วนแขนอีกข้างจะถูกติดไว้กับสิ่งที่เรียกว่า Reporter โดยหลังจากผสมกันแล้ว จะทำการแยกตะกอนออกมา แล้วนำไป “ตรวจวัดสัญญาณรามานของ Reporter ที่จับกับเชื้อไว้แล้ว” ด้วยการยิงแสงเลเซอร์จากเครื่องรามานสเปกโตรมิเตอร์ลงไป ทำให้เกิดแสงจาก Reporter ซึ่งสเปกตรัมที่ได้ จะเป็นลักษณะเฉพาะตัวของ Reporter แสดงว่าตัวอย่างนั้นมีการปนเปื้อนของเชื้อซาลโมเนลลา

แต่หากเชื้อซาลโมเนลลามีจำนวนน้อย ความเข้มของสัญญาณรามานจะต่ำมาก จนเครื่องตรวจอาจไม่พบ ทีมวิจัยของ ASESS ก็ได้มีพัฒนา “Nano Amplifier” มาช่วยในการขยายสัญญาณรามาน ให้สามารถตรวจพบได้

Nano Amplifier จะทำหน้าที่ขยายสัญญาณรามานของ Reporter ให้สูงขึ้น จนเพียงพอที่จะตรวจวัดได้ ซึ่งจากความรู้และประสบการณ์การใช้เครื่อง Raman กับงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ของ ASESS ในช่วงก่อนหน้า ทำให้สามารถพัฒนา Nano Amplifier ที่สามารถขยายสัญญาณสเปกตรัมของ Reporter ใน Seeker Power เพื่อตรวจหาเชื้อซาลโมเนลลาได้สำเร็จ

จุดเด่นของนวัตกรรมที่นำเทคนิคการวิเคราะห์สัญญาณทางแสงมาใช้ตรวจวัดเชื้อซาลโมเนลลาได้สำเร็จชิ้นนี้ นอกจากจะลดระยะเวลาของการตรวจแบบรวดเร็ว จาก 1-2 วัน เหลือแค่เพียง 1 ชั่วโมงได้แล้ว ก็ยังประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเพียง 39 บาทต่อตัวอย่าง (Rapid test อื่นๆ จะมีค่าใช้จ่ายตัวอย่างละประมาณ 100 บาท)  และที่สำคัญก็คือ สามารถตรวจพบเชื้อได้แม้มีปริมาณเชื้อที่น้อย และมีค่าความถูกต้องถึง 97% และความแม่นยำ 98% ซึ่งสูงมากสำหรับวิธีการตรวจแบบรวดเร็ว

งานวิจัยนี้ หากถูกนำไปประยุกต์ใช้กันอย่างจริงจัง ก็เชื่อว่าจะส่งผลดีกับอุตสาหกรรมการส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็งของประเทศไทยเป็นอย่างมาก

NT ร่วม FIBO มจธ. หารือการพัฒนา 'Robotics-Generative AI' พร้อมชวนนักศึกษาคนเก่ง ร่วมแชร์ไอเดียต่อยอดให้เกิดขึ้นจริง

เมื่อวานนี้ (27 พ.ค. 67) พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและพนักงาน ประชุมร่วมกับ รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม และ ผศ.ดร.สุภชัย วงศ์บุณย์ยง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT) หรือ มจธ.

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึก ความก้าวหน้า และความเชี่ยวชาญด้านวิทยาการหุ่นยนต์และ Generative AI ตลอดจนสำรวจความเป็นไปได้และโอกาสในการพัฒนางานร่วมกันของทั้ง 2 หน่วยงาน 

นอกจากนี้ NT ยังได้หารือร่วมกับทีมนักศึกษา FIBO มจธ. ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดนวัตกรรมระดับประเทศ เพื่อร่วมผลักดันงานด้านวิทยาการหุ่นยนต์และ Generative AI ในอนาคต

‘สพฐ.ตร.’ ลงนาม MOU ‘มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี’ เพื่อประสานความร่วมมือ พัฒนางานวิจัย ด้านการตรวจพิสูจน์หลักฐาน

(13 ก.ค.67) พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร. ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อสร้างความเข้มแข็งและยกระดับความร่วมมือ ให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านพิสูจน์หลักฐาน

โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาบุคลากรและนักศึกษาทางด้านวิชาการ ด้วยการให้คำปรึกษาและฝึกอบรม การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจพิสูจน์หลักฐาน และ การให้บริการทดสอบและวิเคราะห์ทางด้านวิทยาศาสตร์

พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวว่า สำนักงานพิสูจน์สำรวจและวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้ดำเนินงานวิจัยด้านการพัฒนาด้านการตรวจพิสูจน์ร่วมกันหลายอย่าง เช่น การพัฒนาวิธีการตรวจหารอยลายนิ้วมือแฝงเพื่อพิสูจน์หลักฐานทางอาชญากรรม โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวต่อว่า ผลงานจากโครงการดังกล่าว ยังได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นระดับดีมาก ประจำปีงบประมาณ 2560 จึงเป็นที่มาของการนำไปสู่การทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการความร่วมมือด้านงานวิจัยและพัฒนาวิธีการตรวจพิสูจน์หลักฐาน ระหว่าง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ และ มจธ. ฉบับแรกขึ้น เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559 โดยมีกำหนดเวลา 2 ปี ซึ่งได้สิ้นสุดข้อตกลงบันทึกความเข้าใจ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการตรวจเขม่าปืน การวิจัยเรื่องการตรวจวัดสารวัตถุระเบิด การวิจัยนวัตกรรมการหารอยนิ้วมือแฝงบนปลอกกระสุนปืน การถ่ายทอดเทคโนโลยีการตรวจพิสูจน์เอกสารแบบไม่ทำลายวัตถุพยาน รวมทั้งการให้คำปรึกษาในการตรวจพิสูจน์เส้นผมอันเป็นที่มาของการคลี่คลายคดีสำคัญ

พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวต่อว่า ในส่วนนี้ทั้งสองหน่วยงานจึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการร่วมมือกันในเรื่องของการพัฒนานวัตกรรมและการวิจัยงานด้านวิทยาศาสตร์และการตรวจพิสูจน์หลักฐานเพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้กับพี่น้องประชาชนจึงเป็นที่มาของการลงนามบันทึกความเข้าใจในความร่วมมือกันในวันนี้

มจธ. บางมด จัดงานใหญ่ มหกรรมหุ่นยนต์ที่สุดแห่งปี ฉลอง 30 ปี FIBO ชวนสัมผัสเทคโนโลยีงานเดียว ครบ จบทุกเรื่องหุ่นยนต์และ AI

(3 ก.พ. 68) ผศ. ดร.สุภชัย วงศ์บุณย์ยง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสครบรอบ 65 ปีแห่งการก่อตั้งมหาวิทยาลัยฯ และครบรอบ 30 ปีแห่งการก่อตั้งสถาบันฯ ทางมหาวิทยาลัยฯ จึงได้จัดงานใหญ่ด้านหุ่นยนต์ เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยและผู้ที่สนใจ ร่วมสัมผัสประสบการณ์ สุดล้ำกับโลกแห่งหุ่นยนต์และ AI ที่มางานเดียว ได้ครบทุกมิติ

โดยภายในงาน จะมีไฮไลต์สำคัญ อาทิ การแสดงผลงานที่ผสานเทคโนโลยีหุ่นยนต์และ AI - สัมผัสเทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนแปลงอนาคต, นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต - แนวคิดหุ่นยนต์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน, การประชุมวิชาการระดับนานาชาติ - ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เชี่ยวชาญ, เปิดตัวโครงการเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย - โครงการที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของธุรกิจ และการแสดงเทคโนโลยีสุดล้ำจากบริษัทชั้นนำ - อัปเดตเทรนด์ล่าสุดจากผู้นำในวงการ

นอกจากนี้ ยังมีโซนพิเศษ โรโบติกส์ ไทยแทร่ - สนุกกับนิทรรศการรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟที่จะนำเสนอเทคโนโลยีผ่านความเชื่อและวิถีแบบไทย ๆ , คลินิกให้คำปรึกษา - แนะนำบริการ การศึกษาต่อ และกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย

โดยจัดเต็มตลอด 3 วัน! ระหว่างวันที่ 6 - 8 กุมภาพันธ์ 2568 ตั้งแต่เวลา 09.00 - 17.00 น.
ณ อาคาร ฟีโบ้ (N9) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ. บางมด) มาร่วมเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ พร้อมชมผลงานที่สร้างสรรค์โดยนักพัฒนาไทยและพันธมิตรระดับโลก
★ รายละเอียดกิจกรรม 👉 https://fiboevent.com/fibo30th 
★ ลงทะเบียนเข้าร่วมงานและสำรองที่นั่ง 👉 https://fiboevent.com/register 


 

 

‘พระจอมเกล้าธนบุรี’ พลิกขยะเกษตรสู่ลิกนิน นวัตกรรม!! เปลี่ยนเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน

(15 ก.พ. 68) ในโลกปัจจุบันปัญหาขยะชีวมวลกำลังกลายเป็นวิกฤตสำคัญ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่เศรษฐกิจพึ่งพาภาคการเกษตรเป็นอย่างมาก ชีวมวลจากชานอ้อย ฟางข้าว ปาล์มน้ำมัน และเศษวัสดุทางการเกษตรจำนวนมหาศาลถูกเผาทำลายหรือทิ้งไปโดยไร้ประโยชน์ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของโครงการ การพัฒนากระบวนการบำบัดชีวมวล เพื่อแยกส่วนและตกตะกอนลิกนินบริสุทธิ์ เป็นผลงานวิจัยร่วมระหว่าง ศ.ดร. นวดล เหล่าศิริพจน์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ ดร.ชญานนท์ โชติรสสุคนธ์ นักวิจัยกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรี่และชีวภาพ (IBBG) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 

“ชีวมวลไม่ใช่ของเสีย แต่คือทรัพยากรสำคัญที่สามารถแปรรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราต้องการสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม” ศ.ดร. นวดล เหล่าศิริพจน์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าว

ปัจจุบันชีวมวลถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลากหลายรูปแบบ เช่น การแปรรูปเป็นพลังงาน หรือการสกัดองค์ประกอบสำคัญอย่างเซลลูโลสเพื่อนำไปผลิตเยื่อกระดาษ อย่างไรก็ตาม ชีวมวลยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ถูกมองข้าม หนึ่งในนั้นคือลิกนิน (Lignin) ซึ่งมีอยู่มากถึง 20% ของชีวมวล และมีศักยภาพสูงในการนำไปใช้ประโยชน์ 

“ลิกนินเป็นองค์ประกอบสำคัญในชีวมวลลิกโนเซลลูโลส มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น การดูดกลืนรังสียูวีและการต้านอนุมูลอิสระ แต่ด้วยโครงสร้างทางเคมีที่ซับซ้อน ทำให้กระบวนการสกัดแบบเดิมต้องใช้สารเคมีที่รุนแรง ซึ่งนอกจากจะทำลายคุณสมบัติสำคัญของลิกนินแล้ว ยังทำให้ลิกนินถูกจัดเป็นของเสียที่ยากต่อการนำไปพัฒนาต่อยอด ทีมวิจัยจึงได้พัฒนากระบวนการใหม่ โดยใช้ ตัวทำละลายอินทรีย์ ที่สามารถสกัดลิกนินออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งนำตัวทำละลายกลับมาใช้ซ้ำ กระบวนการนี้เป็นระบบกึ่งไร้ของเสีย (Semi-Zero Waste) ช่วยให้ได้ลิกนินที่มีความบริสุทธิ์สูงและยังคงคุณสมบัติสำคัญไว้อย่างครบถ้วน” ดร.ชญานนท์ กล่าว

จากการวิจัยร่วมกันโดยใช้ห้องปฏิบัติการร่วมด้านพลังงานและเคมีชีวภาพ (BIOTEC-JGSEE Integrative Biorefinery Laboratory) ได้ค้นพบศักยภาพของลิกนินในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาพลาสติกผสมลินินที่สามารถกันรังสียูวีได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี และผลิตเป็น 'กรีนแพ็กเกจจิ้ง' ด้วยการผสมลิกนินเข้ากับพลาสติกชีวภาพ เช่น PLA (พลาสติกย่อยสลายได้) และ พลาสติก Up-cyling rPET (พลาสติกทนความร้อนและยืดหยุ่นสูง) เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ทนต่อรังสียูวี ลดการเสื่อมสภาพ และตอบโจทย์ความยั่งยืน เหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการคุณภาพและความปลอดภัยจากแสงยูวี ลิกนินยังถูกนำไปผสมในยางธรรมชาติ เพื่อเพิ่มความทนทานและลดการเสื่อมสภาพจากความชื้นและออกซิเจน ลิกนินยังสามารถแทนที่สารเคมีต้านอนุมูลอิสระได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้เกิดยางที่มาจากธรรมชาติ 100% ซึ่งเหมาะสำหรับการผลิตยางรถยนต์และผลิตภัณฑ์ยางชนิดพิเศษต่าง ๆ นอกจากนี้ ลิกนินยังถูกใช้ในอุตสาหกรรมความงาม เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์รองพื้น (Foundation) ด้วยโทนสีน้ำตาลธรรมชาติและคุณสมบัติป้องกันรังสียูวี โดยมีค่า SPF สูงถึง 36 โดยไม่ต้องใช้สารเคมีเพิ่มเติม ทั้งยังมีศักยภาพในการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจช่วยชะลอวัย ทีมวิจัยกำลังดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลลัพธ์ในเชิงลึก ทั้งหมดถือเป็นการนำของเหลือจากชีวมวลมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่มีมูลค่าสูงได้

นอกจากการเพิ่มมูลค่าให้กับชีวมวลแล้ว ทีมวิจัยยังมุ่งมั่นลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชีวมวลที่ถูกทิ้งหรือเผาทำลายมักปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น มีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระบวนการแปรรูปลิกนินไม่เพียงช่วยลดการปล่อยก๊าซเหล่านี้ แต่ยังสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจากการขายเศษเหลือการเกษตรในราคาที่สูงขึ้นด้วย

ในอนาคต ทีมวิจัยวางแผนขยายขอบเขตงานวิจัยเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย "Zero Emission" และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยการใช้ชีวมวลให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยลดของเสีย และเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ทีมวิจัยยังเล็งเห็นว่าแนวทางนี้สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างเศรษฐกิจ พร้อมทั้งสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว

“ลิกนินเป็นตัวอย่างของการแปรรูปชีวมวลที่ไม่ได้ช่วยแค่ลดขยะ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ให้กับอุตสาหกรรมไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม” ศ.ดร. นวดล กล่าวทิ้งท้าย

ทีมนักวิจัย มจธ. พัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบ ช่วยกายภาพบำบัด ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผสาน!! ‘เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ - เกม’ เข้าไว้ด้วยกัน ฟื้นฟูร่างกายแม่นยำ สนุก

(12 เม.ย. 68) ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติและหน่วยงานด้านประชากรศาสตร์คาดการณ์ว่า ภายในปี 2583 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 32% ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งนำมาสู่การเพิ่มขึ้นของโรคเรื้อรังและภาวะเสื่อมของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS - Amyotrophic Lateral Sclerosis) และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงไมแอสทีเนียเกรวิส (MG - Myasthenia Gravis) ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในที่สุด

การกายภาพบำบัดจึงเป็นส่วนสำคัญในการดูแลผู้ป่วย เพื่อยืดอายุการทำงานของกล้ามเนื้อและรักษาคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถทำกายภาพได้ต่อเนื่อง เนื่องจากข้อจำกัดด้านร่างกาย สภาพจิตใจ และความเบื่อหน่ายต่อวิธีการเดิม ส่งผลให้ประสิทธิภาพการฟื้นฟูลดลงอย่างมาก

เพื่อแก้ไขข้อจำกัดดังกล่าว ดร.ปฏิยุทธ พรามแก้ว หัวหน้าโครงการ อาจารย์จากโครงการร่วมบริหารหลักสูตรฯ (มีเดีย) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ฐิตาภรณ์ กนกรัตน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มหศักดิ์ เกตุฉ่ำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ชูเมือง มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง และ ดร.วรวุทธิ์ ยิ้มแย้ม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนา “หุ่นยนต์ต้นแบบช่วยกายภาพบำบัดผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงบริเวณขาโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์และเกม” โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบที่สามารถใช้งานได้จริงในบริบทของผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงบริเวณขา พร้อมระบบเกมที่ออกแบบขึ้นโดยเฉพาะสำหรับการกระตุ้นการขยับร่างกายผ่านเกมที่มีเป้าหมายชัดเจน โดยได้รับความร่วมมือจากแพทย์และบุคลากรในโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ที่นำข้อมูลเชิงลึกและความต้องการของผู้ป่วยมาเป็นโจทย์ในการพัฒนางานวิจัย

“หุ่นยนต์ต้นแบบนี้ประกอบด้วยสององค์ประกอบหลัก ได้แก่ อุปกรณ์กายภาพบำบัดที่ออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ โดยสามารถปรับน้ำหนัก แรงต้าน และตำแหน่งให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย และระบบเกมแบบจำลองสถานการณ์ (Simulation Game) ที่ใช้การขยับกล้ามเนื้อขาเพื่อควบคุมการดำเนินภารกิจในเกม ซึ่งได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเหมาะสมกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะ เช่น ขนาดตัวอักษร หน้าจอแสดงผล รูปแบบการโต้ตอบ การวางปุ่ม และระบบให้คะแนนที่ชัดเจนเพื่อให้เห็นพัฒนาการของผู้ใช้งาน ผสานกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการติดตาม วิเคราะห์ และปรับระดับความยากง่ายของกิจกรรมให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งานจริงของผู้ป่วยแต่ละคน ที่ช่วยให้การฝึกมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และสามารถประเมินผลได้แม่นยำขึ้น” ดร.ปฏิยุทธ กล่าวถึงหลักการการทำงานของหุ่นยนต์ต้นแบบ

ผศ.ดร. ฐิตาภรณ์ กล่าวเสริมว่า การพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบดังกล่าวไม่เพียงสร้างผลลัพธ์ทางเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบเชิงสังคมและอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างเช่น ความสามารถในการต่อยอดสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ในราคาที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ การนำไปประยุกต์ใช้ในโรงพยาบาล ศูนย์ฟื้นฟู ชุมชนผู้สูงอายุ รวมถึงการใช้งานภายในครัวเรือน ที่ช่วยขยายโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีฟื้นฟูสุขภาพอย่างทั่วถึง เพิ่มอัตราการเข้าถึงบริการฟื้นฟูที่มีคุณภาพ ลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในระยะยาว และส่งเสริมให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณสูง

ผลงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น รางวัลประกาศเกียรติคุณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ประจำปี 2568 โดยถือเป็นหนึ่งในโครงการวิจัยที่สามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับโจทย์ทางสุขภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม มีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอด และตอบสนองต่อนโยบายด้านสาธารณสุขในสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในระยะต่อไป ทีมวิจัยมีแผนที่จะพัฒนาอุปกรณ์และระบบเกมให้สามารถปรับใช้กับผู้ป่วยกลุ่มอื่น ๆ เช่น ผู้ที่มีภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดที่ต้องการฟื้นฟูการเคลื่อนไหว โดยจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อเร่งการผลิตต้นแบบให้สามารถใช้จริงได้ในวงกว้าง

“หัวใจสำคัญของงานวิจัยตัวนี้คือ การทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเขาดูแลชีวิตของตัวเองได้ เราใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพื่อเสริมทั้งร่างกายและจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอยากลุกขึ้นมาสู้อีกครั้งด้วยความต้องการของตัวเอง” ดร.ปฏิยุทธกล่าวปิดท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top