Tuesday, 22 April 2025
มรดกโลก

‘อุดรธานี’ (ว่าที่) เมืองแห่งสองมรดกโลก หลัง ‘ภูพระบาท’ มีลุ้น!! ปลายกรกฎาคมนี้

แหล่งมรดกโลกเป็นสถานที่สำคัญและพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายโดยอนุสัญญาระหว่างประเทศที่บริหารงานโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ว่ามีความสำคัญทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ สถานที่เหล่านี้ได้รับการตัดสินว่ามี ‘มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติทั่วโลกที่ถือว่ามีคุณค่าโดดเด่นต่อมนุษยชาติ’ โดย UNESCO จะเป็นผู้พิจารณาในการกำหนดแหล่งมรดกโลก (World Heritage Sites) ที่มีคุณค่าสากลอันโดดเด่นใน 2 ด้าน คือ (1) มรดกทางวัฒนธรรม และ (2) มรดกทางธรรมชาติ ซึ่งแหล่งมรดกโลกดังกล่าวเหล่านั้นได้รับการเสนอชื่อโดยประเทศผู้ลงนามในอนุสัญญามรดกโลกของยูเนสโก ปี 1975 (พ.ศ. 2518)

โดย ‘มรดกทางวัฒนธรรม’ ประกอบด้วยอนุสรณ์สถาน เช่น งานสถาปัตยกรรม ประติมากรรมขนาดใหญ่ หรือจารึก กลุ่มอาคาร และสถานที่ รวมถึงแหล่งโบราณคดี ส่วน ‘มรดกทางธรรมชาติ’ ประกอบด้วยการก่อตัวทางกายภาพและชีวภาพ การก่อตัวทางธรณีวิทยาและทางกายภาพ ซึ่งรวมถึงแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชที่ถูกคุกคาม และแหล่งธรรมชาติ ซึ่งมีความสำคัญจากมุมมองของวิทยาศาสตร์ การอนุรักษ์ หรือความงามตามธรรมชาติ ให้คำจำกัดความว่าเป็นธรรมชาติ มรดก ประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 กันยายน 1987 (พ.ศ. 2530)

อย่างไรก็ตาม ในปี 2023 (พ.ศ. 2566) ประเทศไทยมีแหล่งมรดกโลกอยู่ในรายการบัญชีทะเบียนแหล่งมรดกโลกอยู่ของ UNESCO อยู่ 7 แห่ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม 4 แห่ง และอีก 3 แห่งเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยแหล่งมรดกโลกของไทย 3 แห่งแรก ถูกประกาศในปี 1991  (พ.ศ. 2534) ได้แก่ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย และเมืองประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เมืองประวัติศาสตร์อยุธยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ปี 1992 (พ.ศ. 2535) ต่อมา แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ปี 2005 (พ.ศ. 2548) กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ปี 2021 (พ.ศ. 2564) กลุ่มป่าแก่งกระจาน และแหล่งมรดกโลกของไทยที่ได้การประกาศขึ้นทะเบียนล่าสุดคือ เมืองโบราณศรีเทพเมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้องในปี 2023  (พ.ศ. 2566)

ทั้งนี้ ที่ตั้งแหล่งมรดกโลกในประเทศไทยตามรูปประกอบ ‘จุดสีทอง’ บ่งบอกถึงแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม และ ‘จุดสีเขียว’ เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ หมายเลข 1-5 ที่ตั้งเขตป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ : 1. เขาใหญ่, 2. ทับลาน, 3. ปางสีดา, 4. ตาพระยา, 5. ดงใหญ่ และหมายเลข 6-9 แสดงถึงที่ตั้งของป่าแก่งกระจาน 6. เฉลิมพระเกียรติไทยประจัน, 7. แม่น้ำภาชี, 8. แก่งกระจาน และ  9. กุยบุรี

 

นอกเหนือจากแหล่งที่ถูกประกาศขึ้นทะเบียนไว้ในรายการแหล่งมรดกโลกแล้ว ประเทศสมาชิกยังสามารถเสนอรายชื่อสถานที่เบื้องต้น (Tentative list) ที่อาจพิจารณาเสนอชื่อเป็นแหล่งมรดกโลกได้ การเสนอชื่อเข้าชิงรายชื่อมรดกโลกจะได้รับการยอมรับก็ต่อเมื่อสถานที่นั้นเคยอยู่ในรายการเบื้องต้นเท่านั้น ณ ปี 2024  (พ.ศ. 2567) ไทยยังมีสถานที่อีก 7 แห่งอยู่ในรายการเบื้องต้นของแหล่งมรดกโลกได้แก่ (1) อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท (2) วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช (3) อนุสรณ์สถานแหล่งต่าง ๆ และภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเชียงใหม่ นครหลวงล้านนา (4) พระธาตุพนม และสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์และภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้อง (5) กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด (6) แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน และ (7) สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา

หากนอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้ว ถ้าพูดถึง ‘จังหวัดอุดรธานี’ แหล่งมรดกโลกแห่งแรกคือ ‘แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง’ เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเชียง (ในเขตเทศบาลตำบลบ้านเชียง) อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่ทำให้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปกว่า 5,000 ปี แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นแหล่งมรดกโลกเมื่อปี 1992 (พ.ศ. 2535) ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 16 ที่เมืองแซนตาเฟ มลรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา โดยผ่านข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลกว่า “เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว”

นอกจากนี้ ‘จังหวัดอุดรธานี’ ยังมี ‘อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท’ เป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของประเทศไทยภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน ครอบคลุมพื้นที่ 3,430 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีชื่อว่า ‘ป่าเขือน้ำ’ บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดระยะทางประมาณ 67 กม.

โดยอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทแห่งนี้ ปรากฏร่องรอยของกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อราว 2,000 - 3,000 ปีมาแล้ว มีการพบภาพเขียนสีมากกว่า 30 แห่ง ยังพบการดัดแปลงโขดหินและเพิงผาธรรมชาติให้กลายเป็นศาสนสถานของผู้คนในวัฒนธรรมทวารวดี ลพบุรี สืบต่อกันมาจนถึงวัฒนธรรมล้านช้างตามลำดับ ซึ่งร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี โดยพื้นที่ภูพระบาทนับเป็นแหล่งสีมาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในการทำหน้าที่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และแสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพทางธรณีวิทยาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นต้นมา ในฐานะของการเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และพื้นที่ประกอบพิธีกรรม

ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 44 ปี 2024 (พ.ศ. 2567) ซึ่งจะจัดขึ้น ณ กรุงนิวเดลี อินเดีย ระหว่างวันที่ 21 - 30 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ‘อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท’ ได้รับการบรรจุเป็นวาระในการพิจารณาเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในครั้งนี้ด้วย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเชื่อว่า ‘อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท’ มีความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก โดยเมื่อ 1 เมษายน 2003 (พ.ศ. 2547) UNESCO ได้ขึ้น ‘อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท’ เป็นสถานที่ที่ได้รับขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นเพื่อพิจารณาขึ้นเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมไว้แล้ว

แต่กระนั้น ปี 2016 (พ.ศ. 2559) สภานานาชาติว่าด้วยการดูแลอนุสรณ์สถานและแหล่งโบราณคดี (ICOMOS) ได้แจ้งให้ทางการไทยทราบเกี่ยวกับการเสนอ ‘อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท’ ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกของทางการไทย โดยมีข้อเสนอแนะให้ดำเนินการศึกษาในเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมของเสมาหินกับพุทธศาสนา เพื่อนำไปสู่ศักยภาพที่โดดเด่นของอุทยานฯ รวมทั้งหากเป็นไปได้ เสนอให้พิจารณาเกณฑ์และขอบเขตการขึ้นทะเบียนอุทยานฯ ตามที่ทางการไทยเสนอ โดยมีข้อมติเสนอให้ขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นแหล่งมรดกโลก ประเภทภูมิทัศน์วัฒนธรรม และเสนอให้เปลี่ยนชื่อแหล่งเป็น ‘Phu Phrabat, a testimony to the Sima stone tradition of the Dvaravati period’ หรือ ‘ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี’ รวมทั้งขอให้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ภายหลังจากการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกด้วยคุณค่าความโดดเด่นของการที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมสีมาในสมัยทวารวดี

ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและภาคภูมิใจที่ราชอาณาจักรไทยของเราจะได้มีแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งแสดงถึงความเก่าแก่และมีอยู่ของอารยธรรมของมนุษยชาติที่เกิดในอนุภูมิภาคนี้ ขอแสดงความยินดีกับพี่น้องประชาชนชาวอุดรธานีที่จะมีเรื่องที่ดีงามและน่าภาคภูมิใจเกิดขึ้นในจังหวัดนี้เป็นครั้งที่ 2 หลังจาก ‘แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง’ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมไปแล้วเมื่อ 35 ปีก่อน และขอเรียนฝากถึงพี่น้องประชาชนชาวอุดรธานีและคนไทยทุกคนว่า “การเป็น ‘แหล่งมรดกโลก’ นั้น แม้จะเป็นความยากลำบากและต้องทุ่มเททรัพยากรอย่างมากมายแล้ว แต่ภารกิจที่ยากยิ่งกว่าและต้องเผชิญต่อไปไม่สิ้นสุดคือ การรักษาไว้ซึ่งความเป็น ‘แหล่งมรดกโลก’ ให้ดำรงคงอยู่ได้อย่างยั่งยืนตลอดไป” 

26 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ‘ยูเนสโก’ ยก ‘กลุ่มป่าแก่งกระจาน’ ขึ้นแท่นมรดกโลกทางธรรมชาติ นับเป็นแห่งที่ 3 ของไทย ครอบคลุม ‘ราชบุรี-เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์’

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 44 (ประเทศจีน) ได้พิจารณาวาระการเสนอ ‘กลุ่มป่าแก่งกระจาน’ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

โดยการลงคะแนนเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 18.30 น. โดยมี 12 เสียงจากตัวแทนทั้งหมด 21 ประเทศที่ลงคะแนนรับรองให้ผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ทำให้ประเทศไทยมีมรดกโลกทางธรรมชาติเป็นแห่งที่ 3 นับตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของ ‘เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง’ ในปี พ.ศ. 2534 และ ‘กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่’ ในปี พ.ศ. 2548

โดยเหตุผลที่ทำให้ ‘กลุ่มป่าแก่งกระจาน’ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เนื่องจากเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ที่ใกล้สูญพันธุ์ มีคุณค่าโดดเด่นระดับโลก เป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยเขตสัตวภูมิศาสตร์ ได้แก่ Sundaic, Sino-Himalayan, Indochinese และ Indo-Burmese

ผืนป่าขนาดใหญ่ที่ต่อเนื่องไปกับเทือกเขาตะนาวศรี มีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ (4,089 ตารางกิโลเมตร) มีความยาวตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของพื้นที่มากกว่า 200 กิโลเมตร ทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และบริเวณต้นแม่น้ำเพชรบุรียังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์เลื้อคลานขนาดใหญ่ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างจระเข้น้ำจืด

รวมไปถึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำภาชี เป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์

ซึ่งเป็นไปตาม เกณฑ์ข้อที่ 10 ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ กล่าวคือ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด ซึ่งรวมไปถึงถิ่นที่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก

กลุ่มป่าแก่งกระจาน มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วยพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี

ด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การที่พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนี้ นอกจากเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศ และเป็นความภาคภูมิใจของคนในประเทศแล้ว ยังทำให้คนในประเทศเกิดการตระหนัก รู้สึกเป็นเจ้าของและหวงแหนทรัพยากรที่เรามีอยู่ด้วย

โดยประโยชน์หลัก ๆ ที่ได้รับ เช่น (1) ส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และศึกษาวิจัยในระดับสากล (2) ยกระดับการอนุรักษ์พื้นที่ด้วยการบริหารจัดการที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ให้คงคุณค่าของแหล่ง เพื่อส่งต่อไปยังอนุชนรุ่นต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น

(3) ส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การพัฒนาอย่างยั่งยืน และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจชุมชน และ (4) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากกองทุนมรดกโลกได้

‘ภูพระบาท’ จ่อขึ้นเป็นมรดกโลกแห่งที่ 8 ของไทย ร่วมลุ้นพร้อมกัน 27 ก.ค.นี้ คาด!! อาจได้รับข่าวดี

(26 ก.ค. 67) พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เปิดเผยว่า ได้รับทราบรายงานจากคณะผู้แทนไทย ที่เดินทางไปร่วมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ว่าได้ขอให้ที่ประชุมเลื่อนการพิจารณาการรับรองอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เป็นมรดกโลกให้เร็วขึ้น เป็นวันที่ 27 ก.ค.เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยคาดว่าจะมีการพิจารณาในลำดับที่ 6 ในช่วงเช้าของการประชุม ขณะที่วันนี้จะมีการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม ‘สงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา’ เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลกด้วย

“ในโอกาสนี้อยากขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยร่วมส่งแรงใจ ร่วมลุ้นร่วมเชียร์ให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เพื่อเฉลิมฉลองปีมหามงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ทั้งนี้ หากอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลก จะเป็นมรดกโลกแห่งที่ 8 ของประเทศไทย และแห่งที่ 2 ของจังหวัดอุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อย่างไรก็ตามจากการประสานงานกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและร่วมกันจัดทำข้อมูลมาอย่างดี เชื่อมั่นว่าวันที่ 27 ก.ค.นี้คนไทยจะได้รับข่าวดีแน่นอน” พล.ต.อ.พัชรวาทกล่าว 

13 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ยูเนสโก ยกอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร และพระนครศรีอยุธยา เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

วันนี้ เมื่อ 33 ปีก่อน คณะกรรมการมรดกโลกยูเนสโก ได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร และอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม 

นอกจากนี้ ยังประกาศให้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ และในวันเดียวกันนี้ในปีต่อมายูเนสโก ก็ได้มีมติให้ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเพิ่มอีกแห่ง

'เฉลิมชัย' ดันเข้าครม.21 มค.นี้ เห็นชอบเอกสารเสนอ 'วัดพระมหาธาตุ นครศรีฯ' ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ก่อนยื่นศูนย์มรดกโลก กรุงปารีส ภายใน 1 กพ. เพื่อเข้าพิจารณาทันวงรอบปี 2568 

นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ที่ปรึกษา รมว.ทว.) รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เตรียมจะนำเรื่องการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก เสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาในวันที่ 21 มกราคมนี้ ตามที่คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกได้มีมติเห็นชอบแล้ว กับร่างเอกสารการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก เมื่อวันทึ่ 15 มกราคม  ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เอกสารนำเสนอแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมหรือทางธรรมชาติ เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จะต้องจัดส่งให้ศูนย์มรดกโลก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ของทุกปี เพื่อเข้าวงรอบการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกของคณะกรรมการมรดกโลก ดังนั้นเพื่อให้เอกสารนำเสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก สามารถดำเนินการได้ทันภายในปี 2568 จึงจำเป็นต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในวันที่ 21 มกราคม นี้

ส่วนเหตุผลที่นำเสนอเห็นสมควรให้วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราชได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก เนื่องจากเป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมที่แสดงถึงการ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พุทธศาสนามหายาน และพุทธศาสนาเถรวาท ในทางตอนใต้ของภูมิภาคเอเชียภาคพื้นสมุทรที่โดดเด่นที่สุด เป็นศาสนสถานที่ยังคงใช้งานมาอย่างต่อเนื่องราว 1,500 ปี เป็นศูนย์กลางของประเพณีที่ยังคงดำรงอยู่ด้วยระบบความเชื่อที่หลากหลาย และผสมผสานเป็นเอกลักษณ์สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์กับชุมชนโดยรอบอย่างแน่นแฟ้น และเด่นชัด 

สำหรับพื้นที่นำเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลก มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งได้รับการประกาศขอบเขตที่ดินโบราณสถานทั้งพื้นที่ ประกอบด้วยเขตพุทธาวาส และเขตสังฆาวาส โดยมีพระบรมธาตุเจดีย์เป็นประธานของกลุ่มโบราณสถานภายในวัดอันเป็น คุณลักษณะของแหล่งมรดกวัฒนธรรมและสถานที่ประกอบพิธีกรรมและประเพณีทางพุทธศาสนาที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน 

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 37 ระหว่างวันที่ 17 ถึง 27 มิถุนายน 2556  ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา มีมติรับรองวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราชในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative Liist) แหล่งมรดกทางวัฒนธรรม ของศูนย์มรดกโลกไว้แล้ว

นายอภิชาต ระบุว่า ตลอดเวลากว่า 10 ปี ชาวนครศรีธรรมราชหลายภาคส่วน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จนมาถึงวันนี้ นับเป็นข่าวดีที่มาถึงขั้นตอนที่ครม.จะให้ความเห็นชอบกับเอกสารการนำเสนอ ก่อนไปสู่กระบวนการพิจารณาขั้นสุดท้ายที่คณะกรรมการมรดกโลก จะตัดสินชี้ขาด ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นไปในทางบวก 

“ประเมินว่า การได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก จะเกิดความคุ้มค่าในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 500-750 ล้านบาท จังหวัด ชุมชนท้องถิ่น ชุมชนรอบแหล่งมรดกโลก ธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการจะได้รับอานิสงส์มากมาย ทั้งในจังหวัดและภายนอก นอกจากนี้ในคุณค่าด้านวัฒนธรรม จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศกว้างไกลมากขึ้น และสำหรับชาวนครศรีธรรมราช เจ้าของบ้าน จะเกิดความรัก ความภาคภูมิใจ ความสามัคคี และความตระหนักร่วมกันในการอนุรักษ์หวงแหนมรดกโลกของเรา” ที่ปรึกษา รมว.ทส. กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top