Monday, 21 April 2025
มติอ่าวตังเกี๋ย

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#5 'มติอ่าวตังเกี๋ย' ผลักสหรัฐฯ ก้าวเข้าสู่สงครามเวียตนามเต็มตัว

ก่อนการเข้าสู่สงครามเวียตนามแบบเต็มตัวนั้น สหรัฐอเมริกาได้สนับสนุนเวียตนามใต้ด้วยการมอบอาวุธยุทโธปกรณ์และที่ปรึกษาทางทหารประจำกองทัพ เวียตนามใต้ราว 1,500 นาย และด้วยความรุนแรงในเวียตนามที่ทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว ประธานาธิบดี Kennedy ได้สั่งให้เพิ่มจำนวนที่ปรึกษาของสหรัฐฯ ประจำกองทัพเวียตนามใต้อีกกว่าสิบเท่าเป็น 16,000 นาย

วันที่ 31 กรกฎาคม 1964 เรือพิฆาต USS Maddox ได้เริ่มภารกิจรวบรวมข่าวกรองในอ่าวตังเกี๋ย โดยมีนาวาเอก George Stephen Morrison เป็นผู้บัญชากองกำลังอเมริกันในพื้นที่ดังกล่าวจากเรือธง USS Bon Homme Richard โดย USS Maddox อยู่ภายใต้คำสั่งไม่ให้เข้าใกล้ชายฝั่งทางเหนือและทิศตะวันตกเฉียงเหนือน้อยกว่า 4 ไมล์ จากเกาะ Hon Nieu Mê โดยมีเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Ticonderoga ลอยลำอยู่ใกล้ ๆ วันที่ 1 สิงหาคม 1964 เรือลาดตระเวนของเวียตนามเหนือที่ติดตาม USS Maddox ซึ่งอยู่ในภารกิจลับเพื่อสนับสนุนการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (DESOTO) ใกล้น่านน้ำเวียตนามเหนือ และมีการรบกวนการสื่อสารของ USS Maddox หลายครั้งชี้ให้เห็นว่า เวียตนามเหนือกำลังเตรียมการที่จะโจมตี USS Maddox จึงถอยห่างออกมา แต่ในวันรุ่งขึ้น 2 สิงหาคม USS Maddox ซึ่งมีความเร็วสูงสุด 28 นอตกลับมาลาดตระเวนอีกครั้ง แต่มีเรือตอร์ปิโด P-4 ของ เวียตนามเหนือ 3 ลำ แล่นด้วยความเร็วสูงสุด 50 นอต ได้แสดงท่าทีที่เป็นการคุกคาม USS Maddox มีการก่อกวนการสื่อสารแสดงให้เห็นว่า เรือตอร์ปิโด P-4 ของ เวียตนามเหนือตั้งใจจะโจมตี USS Maddox เมื่อเรือเวียตนามเหนือแล่นมาจากทางตะวันตกเฉียงใต้ USS Maddox จึงเปลี่ยนเส้นทางจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นทิศตะวันออกเฉียงใต้ และเพิ่มความเร็วเป็น 25 นอต 

ตอนบ่ายของวันที่ 2 สิงหาคม 1964 ขณะที่เรือตอร์ปิโดเข้ามาใกล้ USS Maddox ก็ยิงเตือนไป 3 นัด จากนั้นเรือ เวียตนามเหนือก็เปิดฉากโจมตี USS Maddox ได้ส่งสัญญาณวิทยุแจ้งว่า กำลังถูกโจมตีจากเรือ 3 ลำ ในระยะ 10 ไมล์ทะเล ขณะที่แล่นอยู่ห่าง 28 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งเวียตนามเหนือในน่านน้ำสากล USS Maddox แจ้งว่า กำลังหลบหลีกการโจมตีด้วยตอร์ปิโดและได้เปิดฉากยิงโต้ตอบด้วยปืน 5 นิ้ว (127 มม.) เพื่อบังคับให้เรือตอร์ปิโดถอยออกไป แต่มีเรือตอร์ปิโด 2 ลำแล่นเข้ามาใกล้ไม่ถึง 5 ไมล์ทะเล และปล่อยตอร์ปิโดลำละลูก ซึ่งไม่เป็นผลเพราะแต่ละลูกไม่เข้าใกล้ USS Maddox เกินกว่า 100 หลาเลย ขณะที่ USS Maddox กำลังหลบอยู่นั้น เรือเวียตนามเหนือลำหนึ่งถูกยิงด้วยปืน 5 นิ้วของ USS Maddox การปล่อยตอร์ปิโดเริ่มผิดพลาด เครื่องบินขับไล่ไอพ่นแบบ F-8 4 ลำจากเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Ticonderoga จากนั้น 15 นาทีหลังจาก USS Maddox ได้ยิงกระสุนเตือนก็เปิดฉากโจมตีเรือตอร์ปิโด P-4 ซึ่งกองทัพเรือสหรัฐฯ อ้างว่า จมเรือตอร์ปิโด P-4 ได้หนึ่งลำ และเสียหายหนักอีกหนึ่งลำ และ USS Maddox ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยจากกระสุนขนาด 14.5 มม. จากปืนกลหนัก KPV ของเรือ P-4 เพียงนัดเดียวถูกตัวลำเรือ เมื่อกลับไปยังน่านน้ำเวียตนามใต้ USS Maddox ก็เข้าร่วมกับเรือพิฆาต USS Turner Joy ขณะที่ เวียตนามเหนืออ้างว่า USS Maddox ถูกยิงด้วยตอร์ปิโดหนึ่งลูก และมีเครื่องบินรบอเมริกันถูกยิงตก

การโจมตีระลอกที่ 2 ในวันที่ 4 สิงหาคม  1964 หน่วยลาดตระเวนตามภารกิจ DESOTO ลาดตระเวนนอกชายฝั่ง เวียตนามเหนือ โดย USS Maddox และ USS Turner Joy เพื่อ ทำการ "อวดธง" หลังจากเหตุการณ์โจมตีครั้งแรก คราวนี้มีคำสั่งให้เรือจะไม่เข้าใกล้เกินกว่า 11 ไมล์จากชายฝั่งของ เวียตนามเหนือ ในช่วงเย็นและเช้าตรู่ของสภาพอากาศที่รุนแรงและทะเลหนัก เรือพิฆาตได้รับสัญญาณเรดาร์ โซนาร์ และสัญญาณวิทยุที่เชื่อว่า เป็นการส่งสัญญาณเพื่อโจมตีอีกครั้งโดยกองเรือของเวียตนามเหนือ เป็นเวลา 4 ชั่วโมงที่เรือรบสหรัฐฯ ทั้งสองลำยิงไปยังเป้าหมายที่ปรากฏบนเรดาร์ และการรบดำเนินไปอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตามกองทัพเรือสหรัฐฯ อ้างว่า ได้จมเรือตอร์ปิโดโจมตีได้ 2 ลำ แต่ไม่ปรากฏซากปรักหักพัง และร่างลูกเรือ เวียตนามเหนือที่เสียชีวิต หรือหลักฐานทางกายภาพอื่น ๆ ในที่เกิดเหตุการสู้รบที่ถูกกล่าวอ้างแต่อย่างใด 

ภายใน 30 นาทีหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 4 สิงหาคมประธานาธิบดี Johnson ตัดสินใจโจมตีตอบโต้ (ตามปฏิบัติการ "Operation Pierce Arrow") ในวันเดียวกันนั้นเองประธานาธิบดี Johnson มีการใช้ "สายด่วน" (Hot Line) คุยกับกรุงมอสโก และได้รับคำรับรองว่าโซเวียตไม่มีเจตนาในการขยายสงครามในเวียตนามให้รุนแรงขึ้น ดังนั้นเช้าวันที่ 5 สิงหาคม 1964 ประธานาธิบดี Johnson ได้มีการปราศรัยต่อสาธารณชนเอเมริกันเกี่ยวกับมาตรการตอบโต้โดยระบุว่า "ความมุ่งมั่นของชาวอเมริกันทุกคนที่จะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่เรามีต่อประชาชนและรัฐบาล เวียตนามใต้จะทวีความรุนแรงขึ้น" ในวันที่ 5 สิงหาคม เวลา 10:40 น. หนึ่งชั่วโมงสี่สิบนาทีหลังจากการปราศรัยของประธานาธิบดี Johnson เครื่องบินรบของสหรัฐฯ ก็ไปถึงเป้าหมายใน เวียตนามเหนือ เครื่องบินทิ้งระเบิดฐานทัพเรือ 4 แห่ง และคลังน้ำมันในเมือง Vinh

หลังจากนั้น รัฐสภาอเมริกันได้ทำการออก "มติอ่าวตังเกี๋ย" (Gulf of Tonkin Resolution) อันมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ในเวลาต่อมาโดยเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งกำลังทหารสหรัฐฯ เข้าไปใน เวียตนามใต้ เพราะมติดังกล่าวมอบอำนาจแก่ ประธานาธิบดี Johnson ให้ใช้กำลังทหารเต็มรูปแบบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไม่ต้องรอมติการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการจากรัฐสภาเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มติดังกล่าวมอบอำนาจแก่ประธานาธิบดีในการกระทำการใด ๆ ที่จำเป็นเพื่อสนับสนุน "สมาชิกหรือรัฐภาคีใด ๆ ของสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" (SEATO) ซึ่งรวมไปถึงการใช้กำลังทหารด้วย มติดังกล่าวได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ในสภาผู้แทนราษฎร ต่อมารัฐบาลของประธานาธิบดี Johnson อาศัยอำนาจตามมติดังกล่าวเริ่มต้นการยกระดับความเกี่ยวข้องทางทหารของสหรัฐใน เวียตนามใต้ และเป็นการทำสงครามโดยเปิดเผยระหว่างเวียตนามเหนือกับสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งสหรัฐฯ ถอนทหารจาก เวียตนามใต้ใน ปี 1973 ตามข้อตกลงสันติภาพปารีส 1973 (ลงนามเมื่อ 27 มกราคม 1973) เชลยศึกอเมริกันได้รับการปล่อยตัวโดยเวียตนามเหนือเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ และกำลังทหารอเมริกันถอนออกจากเวียตนามใต้ในวันที่ 29 มีนาคมในปีเดียวกัน 

ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) เกี่ยวกับเหตุการณ์การรบทางเรือที่อ่าวตังเกี๋ย ปี 1964 โดย John White อดีตนายทหารเรือได้เขียนจดหมายถึงบรรณาธิการ New Haven (CT) Register ในปี 1967 ว่า "ผมขอยืนยันว่าประธานาธิบดี Johnson รัฐมนตรีกลาโหม McNamara และประธานเสนาธิการร่วมได้ให้ข้อมูลเท็จแก่รัฐสภา ในรายงานของพวกเราเกี่ยวกับเรือพิฆาตสหรัฐฯ ซึ่งถูกโจมตีในอ่าวตังเกี๋ย" ต่อมาในปี 1968 White ได้เดินทางมามาวอชิงตันเพื่อพบกับวุฒิสมาชิก Fulbright เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อกังวลของเขาโดยเฉพาะรายงานความผิดพลาดของโซนาร์ ต่อมาในปี 1981 นาวาเอก Herrick และ Robert Scheer นักข่าวตรวจสอบบันทึกปูมเรือของ Herrick อีกครั้ง เพื่อหาความจริงในการถูกยิงด้วยตอร์ปิโดจากรายงานครั้งแรกเมื่อ 4 สิงหาคม 1964 ซึ่ง Herrick ได้ระบุว่า "เกิดการโจมตี" ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่มีมูลความจริง บทความในปี 1981 ของ Herrick และ Scheer สรุปความไม่ถูกต้องของรารยงานครั้งแรกซึ่งแสดงว่า ไม่มีการโจมตีโดยเรือรบของเวียตนามเหนือในขณะนั้น แต่ผบ.และลูกเรือของ USS Maddox ทั้งหมดกล่าวว่า พวกเขามั่นใจว่ามีการโจมตีเกิดขึ้น เป็นผลให้มีการโจมตีฐานทัพเรือของเวียตนามเหนือ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกด้านเชื้อเพลิงในระหว่างปฏิบัติการ Operation Pierce Arrow 

พลเรือตรี James Stockdale อดีตเชลยศึกใน เวียตนามเหนือ ผู้เป็นหนึ่งในนักบินของสหรัฐฯ ที่บินโจมตีในระลอกที่สอง เขียนไว้ในหนังสือ Love and War ปี 1984 ว่า "ผมอยู่ในที่นั่งที่ดีที่สุดเพื่อดูเหตุการณ์นั้น เรือพิฆาตของเราก็ยิงไปที่เป้าหมายผี เพราะไม่มีเรือ P-4 ที่นั่น ไม่มีอะไรที่นั่นเลย ทะเลที่มืดสนิทสว่างไปด้วยอำนาจการยิงของเรือรบอเมริกัน" โดย Stockdale ระบุอีกครั้งว่า “เห็น USS Turner Joy เล็งปืนไปยัง USS Maddox” Stockdale กล่าวว่า “เขาถูกผู้บังคับบัญชาสั่งให้ปกปิดเรื่องนี้” หลังจากที่ถูกยิงตก กลายเป็นเชลยศึกในเวียตนามเหนือ เรื่องนี้กลายเป็นภาระหนัก เขาได้กล่าวในภายหลังว่า เขากังวลว่าผู้ที่จับกุมจะบังคับให้เขาเปิดเผยสิ่งที่เขารู้เกี่ยวกับเหตุการณ์โจมตีในระลอกที่ 2 

ปี 1995 Võ Nguyên Giáp อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของเวียดนามได้พบกับอดีตรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ McNamara โดย Võ Nguyên Giáp ปฏิเสธว่า เรือรบเวียตนามเหนือไม่ได้โจมตีเรือพิฆาตอเมริกันในวันที่ 4 สิงหาคม 1964 ในขณะที่ยอมรับการโจมตีในวันที่ 2 สิงหาคม เทปการสนทนาของการประชุมหลายสัปดาห์หลังจากมติอ่าวตังเกี๋ย ถูกเผยแพร่เมื่อ ปี 2001 แสดงว่า McNamara ได้อธิบายข้อสงสัยให้กับประธานาธิบดี Johnson ว่า มีการโจมตีเรือรบอเมริกันเกิดขึ้น ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1999 Eugene Poteat อดีตเจ้าหน้าที่ CIA เขียนว่า เขาถูกถามในต้นเดือนสิงหาคม 1964 เพื่อตรวจสอบรายงานของเจ้าหน้าที่เรดาร์แสดงถึง การโจมตีของเรือตอร์ปิโดเวียตนามเหนือว่า เป็นจริงหรือเป็นการจินตนาการ เขาได้ขอรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเวลาสภาพอากาศและสภาพผิวน้ำ แต่ไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมแต่อย่างใด ในท้ายที่สุดเขาได้สรุปว่า ไม่มีเรือตอร์ปิโดในคืนที่สงสัย และทำเนียบขาวให้ความสนใจในการยืนยันว่า "มีการโจมตี ไม่ใช่ ไม่มีการโจมตี "

ในเดือนตุลาคม 2012 พลเรือตรี Lloyd "Joe" Vasey (เกษียณ) ถูกสัมภาษณ์โดย David Day ใน Asia Review และได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 4 สิงหาคม พลเรือตรี Vasey ซึ่งอยู่บนเรือ USS Oklahoma City เรือลาดตระเวนติดขีปนาวุธชั้น Galveston ซึ่งแล่นอยู่ในอ่าวตังเกี๋ยด้วย และเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้บัญชาการกองเรือที่ 7 โดย USS Turner Joy ทำการส่งสัญญาณวิทยุรบกวนวิทยุสื่อสารของเวียตนามเหนือ ซึ่งสั่งการให้เรือตอร์ปิโดเปิดฉากโจมตี USS Turner Joy และ USS Maddox หลังจากนั้นไม่นานเรดาร์ได้รับ "หลายรายสัญญาณความเร็วสูง" ถูกล็อกและบันทึกโดย USS Turner Joy ซึ่งได้ยิงทำลายเป้าหมายที่ล็อกได้ โดยมีพยาน 18 นายทั้งลูกเรือและนายทหารซึ่งรายงานทุกแง่มุมในการโจมตี อาทิ ควันจากเรือตอร์ปิโดที่ถูกยิง (รายงานโดยบุคคลที่แยกกัน 4 นาย บนเรือพิฆาตแยกลำสอบสวน) การพบเห็นเรือตอร์ปิโดที่แล่นผ่าน ตลอดจนแสงไฟต่าง ๆ พยานทั้ง 18 นายเป็นพยานในการพิจารณาคดีที่เมืองโอลองกาโป ประเทศฟิลิปปินส์ โดยคำให้การของพวกเขาถูกจัดเก็บเป็นบันทึกสาธารณะ ในปี 2014 ซึ่งครบรอบ 50 ปีของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น John White ได้เขียน เหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ย – ห้าสิบปีต่อมา : เชิงอรรถเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสงคราม เวียตนาม ได้สรุปยืนยันว่า รายงานโซนาร์ของ USS Maddox ทำงานผิดพลาด โดยที่ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี Johnson เองก็รับรู้ ดังนั้น เหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ยตามเรื่องนี้จะ ถูก ผิด เท็จ จริง เป็นเช่นไรนั้น คงเป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษาค้นคว้าหาความจริงกันต่อไป แต่สิ่งที่เรียกคืนไม่ได้ก็คือ ชีวิตของมนุษยชาติหลายล้านคนที่สูญสิ้นไปด้วยผลของสงครามที่เกิดจากเหตุการณ์นี้

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียตนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน 
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#6 เมื่อสมรภูมิ 'เคห์ซาน' ไม่ใช่ 'เดียนเบียนฟู'

หลังจากรัฐสภาสหรัฐฯ ได้ผ่าน “มติอ่าวตังเกี๋ย” ในปี 1964 ประธานาธิบดี Johnson มีอำนาจมากขึ้น จึงเริ่มส่งกำลังทหารสหรัฐฯ ในฐานะ “หน่วยรบ” เข้ามาแทนที่ “ที่ปรึกษาทางทหาร” ในเวียตนามใต้ ซึ่งทำให้รูปแบบการรบในเวียตนามใต้ในบริบทของกองทัพสหรัฐฯ และเวียตนามใต้เปลี่ยนไปจาก “การรบนอกแบบ” จากการฝึกกองกำลังอาสาสมัครขนาดเล็กเป็นนักรบแบบกองโจรโดยบรรดา “ที่ปรึกษาทางทหาร” ชาวอเมริกัน กลายเป็น “การรบในแบบ” โดยกำลังทหารของสหรัฐฯ เวียตนามใต้ และชาติพันธมิตรอื่น ๆ ในเวลาต่อมา

กองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ เป็นหน่วยรบหน่วยแรกที่เข้าสู่เวียตนามในปี 1965 โดยแต่เดิม “ที่ปรึกษาทางทหาร” ชาวอเมริกัน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากหน่วยรบพิเศษของกองทัพบกอเมริกัน อาทิ หน่วย Green beret เข้าทำหน้าที่ฝึกอาสาสมัครชาวเวียตนามใต้ให้เป็นนักรบกองโจรในหน่วยรบขนาดเล็ก กำลังทหารสหรัฐฯ ในสถานะเป็น “หน่วยรบ” จึงมีการตั้งฐานทัพกระจายไปทั่วดินแดนเวียตนามใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับเวียตนามเหนือ ลาว และกัมพูชา ด้วยเหตุที่กองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งสามชาติมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันเป็นอย่างมาก และมักใช้ดินแดนของประเทศเพื่อนบ้านเป็นฐานที่มั่นเพื่อข้ามพรมแดนไปโจมตีที่ตั้งของฝ่ายรัฐบาล

หมู่บ้านเคห์ซานเป็นที่มั่นของรัฐบาลเวียตนามใต้ในทางตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดกวางตรี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านของชาวเขาเผ่าบรูมองตานญาร์และไร่กาแฟ ห่างจากชายแดนลาวไปประมาณ 7 ไมล์ บนเส้นทาง 9 ซึ่งชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมากทอดยาวจากบริเวณชายฝั่งผ่านที่ราบสูงทางตะวันตกและข้ามพรมแดนเข้าไปในลาว ฐานปฏิบัติการรบเคห์ซานมีต้นกำเนิดมาจากการสร้างสนามบินของกองกำลังพิเศษของกองทัพสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม 1962 ซึ่งมีป้อมปราการเก่าตั้งแต่ยุคฝรั่งเศส  และต่อมากลายเป็นฐานทัพของอาสาสมัครพลเรือนที่ทำหน้าที่เฝ้าจับตาการแทรกซึมของกองทัพเวียตนามเหนือตามแนวชายแดนและคุ้มครองชาวบ้านในพื้นที่

กองกำลังหลักของสหรัฐฯ ที่ประจำอยู่ในฐานปฏิบัติการเคห์ซาน (KSCB) ได้แก่ กำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ สองกองพัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพบกสหรัฐฯ กองทัพอากาศสหรัฐฯ และกองทัพอากาศเวียดนามใต้ รวมถึงกองกำลังของกองทัพสาธารณรัฐเวียดนาม (ARVN) จำนวนไม่มาก กำลังทหารเหล่านั้นต้องเผชิญหน้ากับกองกำลังขนาดกองพลสองถึงสามกองพลของกองทัพประชาชนเวียดนามเหนือ (PAVN) ในตอนแรกกองบัญชาการสหรัฐฯ ในกรุงไซง่อนเชื่อว่า ปฏิบัติการรอบ ๆ KSCB เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการรบขนาดเล็กของ PAVN ในพื้นที่ชายแดน แต่เมื่อพบว่า PAVN กำลังเคลื่อนกำลังหลักเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว กองกำลังสหรัฐฯ ที่ประจำใน KSCB จึงได้รับการเสริมกำลัง 

นายทหารระดับสูงของเวียตนามเหนือเชื่อมั่นว่า “สมรภูมิเคห์ซาน” คงจะไม่แตกต่างไปจาก “สมรภูมิเดียนเบียนฟู” ในอดีตที่กองทัพประชาชนเวียดนามเหนือสามารถทำการรบและเอาชนะกองทหารฝรั่งเศสอดีตเจ้าอาณานิคมได้ในที่สุด แต่การรบใน “สมรภูมิเคห์ซาน” ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะ “ฐานปฏิบัติการเคห์ซาน” ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกองทัพอากาศสหรัฐฯ ด้วยการปฏิบัติการ “ไนแองการา” ซึ่งเป็นการทิ้งระเบิดทางอากาศครั้งใหญ่ วันที่ 21 มกราคม 1968 กองกำลัง PAVN ได้ทำการปิดล้อม KSCB ในช่วงห้าเดือนต่อมา กองกำลัง KSCB และฐานทัพบนยอดเขาที่อยู่รอบๆ ฐานทัพถูกโจมตีด้วยปืนใหญ่ ปืนครก และจรวดของกองกำลัง PAVN ทุกวัน รวมถึงการโจมตีของทหารราบหลายครั้ง โดยในช่วงสามเดือนแรก เครื่องบินรบของสหรัฐฯ และพันธมิตรได้ทิ้งระเบิดมากกว่า 114,810 ตัน และยิงปืนใหญ่มากกว่า 158,900 นัดในการปฏิบัติการป้องกันฐานฯ ดังกล่าว ในเดือนมีนาคม 1968 กองกำลังพิเศษผสมระหว่างนาวิกโยธิน-กองทัพบก สหรัฐฯ และ ARVN ได้ส่งหน่วยบรรเทาทุกข์ทางบก (ปฏิบัติการ “เพกาซัส”) ซึ่งในที่สุดก็สามารถบุกทะลวงไปยังฐานปฏิบัติการเคห์ซานได้

ผู้บัญชาการของสหรัฐฯ ถือว่า การป้องกัน “ฐานปฏิบัติการเคห์ซาน” ประสบความสำเร็จ อย่างดีเยี่ยม แต่หลังจากที่การปิดล้อมสิ้นสุดลงไม่นาน กองบัญชาการสหรัฐฯ ในกรุงไซง่อนก็ตัดสินใจที่จะรื้อถอน “ฐานทัพปฏิบัติการเคห์ซาน” แทนที่จะเสี่ยงต่อการสู้รบในลักษณะเดียวกันอีกในอนาคต วันที่ 19 มิถุนายน 1968 การอพยพและการทำลาย KSCB ก็เริ่มขึ้น ท่ามกลางการโจมตีอย่างหนัก นาวิกโยธินพยายามทำลายทุกสิ่งที่เหลืออยู่ก่อนที่พวกเขาจะอพยพถอนกำลังออกมา การโจมตีเล็กน้อยยังคงดำเนินต่อไปก่อนที่ KSCB จะปิดตัวลงอย่างถาวรในวันที่ 5 กรกฎาคม อย่างไรก็ตาม ยังมีกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ อยู่รอบ ๆ เนินเขา 689 และการสู้รบในบริเวณใกล้เคียงยังคงดำเนินต่อไปจนถึงวันที่ 11 กรกฎาคม 1968  จนกระทั่งการอพยพถอนกำลังจบลงและทำให้การสู้รบสิ้นสุดลงด้วย

ภายหลังจากนั้น กองทัพประชาชนเวียดนามเหนือประกาศชัยชนะใน “สมรภูมิเคห์ซาน” ขณะที่กองกำลังสหรัฐฯ อ้างว่า ถอนกำลังจนหมดแล้ว เพราะไม่ต้องการใช้ประโยชน์จาก “ฐานปฏิบัติการเคห์ซาน” อีกต่อไป นักประวัติศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า “สมรภูมิเคห์ซาน” อาจทำให้ความสนใจขอสหรัฐฯ และเวียตนามใต้เสียไปจากการเพิ่มกำลังของเวียตกงทางตอนใต้ก่อนการรุก Tet (ตรุษญวณ) ในช่วงต้นปี 1968 อย่างไรก็ตาม ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ในเวียตนามใต้ พลเอกวิลเลียม เวสต์มอร์แลนด์ ยืนยันว่าเจตนาที่แท้จริงของการรุก Tet คือการเบี่ยงเบนกำลังออกจาก “ฐานทัพปฏิบัติการเคห์ซาน” โดยกองทัพสหรัฐฯ สูญเสียเครื่องบิน KC-130 ลำหนึ่ง เครื่องบิน C-123 ลำสามลำ และเฮลิคอปเตอร์ 35 ลำ ในขณะที่เครื่องบิน 23 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ 123 ลำได้รับความเสียหาย ทหารสหรัฐฯ เสียชีวิต 274 นาย และบาดเจ็บมากกว่า 2,500 นาย ทหาร ARVN เสียชีวิต 229 นาย และบาดเจ็บ 436 นาย ทหาร PAVN เสียชีวิต 5,500 นาย (กองบัญชาการสหรัฐฯ ในกรุงไซง่อน) 2,469 นาย (PAVN) และบาดเจ็บ 1,436 นาย นอกจากนี้ยังมีทหารของกองทัพลาวบาดเจ็บและเสียชีวิตอีกจำนวนหนึ่งด้วย ตลอดปฏิบัติการกองกำลังของสหรัฐฯ ได้ใช้เทคโนโลยีล่าสุดในการค้นหาและกำหนดเป้าหมายที่เป็นกองกำลัง PAVN และนวัตกรรมด้านการขนส่งเพื่อสนับสนุนฐานปฏิบัติการเคห์ซานอย่างเต็มที่

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน 
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top