Wednesday, 23 April 2025
ภูมิปัญญาท้องถิ่น

นักศึกษา 4ส. รุ่นที่ 12 ‘สถาบันพระปกเกล้า’ ลุยภาคอีสาน!! ‘ถอดบทเรียนเมืองขอนแก่น’ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน - ศึกษาภูมิปัญญากลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโขผ่านเส้นทางผ้าไหม

นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ รองเลขาธิการ สถาบันพระปกเกล้า นายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล พร้อมคณาจารย์ และนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 12 (4ส12) ศึกษาดูงานพื้นที่จังหวัดขอนแก่น

>> จุดแรกที่ห้องออร์คิด บอลรูม 3 โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น กับเวทีแลกเปลี่ยนประเด็นการบริหารจัดการเมืองอย่างยั่งยืน ถอดบทเรียน “Khon Kaen Smart City and Low Carbon City”  โดยนายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น พร้อมผู้เกี่ยวข้อง อธิบายถึงโครงการขนส่งมวลชนรางเบา (LRT)  ของบริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด วิสาหกิจของ 5 เทศบาลในจังหวัดขอนแก่น ที่เป็นการพัฒนาด้านคมนาคมเพื่อรองรับการขยายตัวด้านการจราจรของเมือง

จังหวัดขอนแก่น มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของประเทศ อีกทั้งยังอยู่ตรงกลางของภาคอีสาน จึงเป็นเมืองศูนย์กลางของการพัฒนาในหลากหลายด้าน การที่เมืองขอนแก่นเติบโตอย่างรวดเร็ว ย่อมทำให้มีปัญหาอื่น ๆ ตามมา ทั้งปัญหามลพิษ ความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะปัญหาด้านระบบขนส่งมวลชน และช่องว่างของรายได้ของประชากร ลำพังเพียงงบประมาณจากภาครัฐมักเป็นการกระจายงบแบบรวมศูนย์ ไม่เพียงพอสำหรับการแก้ไขปัญหาได้

ปี 2556 นักธุรกิจในจังหวัดขอนแก่น ได้รวมกลุ่มกันเพื่อจัดตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด (Khon Kaen Think Thank - KKTT) โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาเมืองขอนแก่นให้เติบโตอย่างมีศักยภาพ โดยระดมทุนร่วมกันจำนวน 200 ล้านบาท ก่อตั้งกองทุนพัฒนาเมือง บริหารเงินกองทุนโดย บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด ในการขับเคลื่อนพัฒนา ระบบขนส่งมวลชนทางราง (Light Rail Transit system – LRT) ได้รับเงินสนับสนุนในการทำการศึกษาระบบรางที่เหมาะสมโดย สนข. และเกิดเป็นแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของจังหวัดขอนแก่นขึ้นมา จำนวน 5 สาย พาดผ่านพื้นที่ 5 เขตเทศบาล

โดยรัฐบาลลงนามอนุมัติให้จัดทำ สายท่าพระ-สำราญ เป็นเส้นทางแรกเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ต่อมาเดือนมีนาคม 2560 กระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้ 5 เทศบาลในจังหวัดขอนแก่น จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ขอนแก่นทรานซิสเต็ม จำกัด (KKTS) เพื่อบริการจัดการและจัดเก็บรายได้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ

ขอนแก่น Smart City มาตรฐานสากลนั้นประกอบไปด้วย 6 สาขา ได้แก่ Smart Mobility, Smart Living, Smart Citizen, Smart Economy, Smart Environment และ Smart Governance เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดความสะดวกสบายมากขึ้น และประชากรสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม 

>> จุดที่สอง รับฟังการบรรยายถึงกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น (บ้านโฮมแสนสุข) เป็น ‘ศูนย์ตั้งหลักชีวิต’ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ  เพื่อให้เป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกันหรือไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งในอนาคตศูนย์แห่งนี้จะเป็นที่ตั้งหลักของชีวิต พัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านความเป็นอยู่ ด้านกลุ่มอาชีพ ด้านสวัสดิการ การดูแลซึ่งกันและกัน เพื่อให้กลุ่มคนไร้บ้านมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

>> จุดที่สาม ลงพื้นที่ศึกษากลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข บ้านดอนข่า อ.ชนบท เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบยั่งยืนและความเข้มแข็งของชุมชนผ่านเส้นทางผ้าไหม” ซึ่งจุดเด่นกลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข ของผ้าไหมมัดหมี่ย้อมสี ธรรมชาติด้วยน้ำจุลุลินทรีย์ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านมาตรฐาน เป็นสากล สร้างชุมชนให้ยั่งยืน เป็นการยกระดับความสามารถด้านการผลิต นวัตกรรม การเชื่อมโยง และพัฒนาการต่อยอดธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งทำให้ชุมชนได้สร้างงาน สร้างผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว

 

อีอีซี เดินหน้าสร้างการรับรู้ระดับพื้นที่ต่อเนื่อง เปิดศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี นำร่อง ฉะเชิงเทรา ดึงพลังสตรี ร่วมพัฒนาอาชีพ สานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างรายได้เข้าถึงชุมชน

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี ร่วมกับ นายประสิทธิ์ อินทโชติ ปลัดจังหวัดฉะเชิงเทรา นายธีระพล สุ่มมาตย์ นายอำเภอบางน้ำเปรี้ยว และนางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการสายงานพื้นที่และชุมชน สกพอ. เข้าร่วมกิจกรรมเปิดศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี นำร่อง ณ ชมรมผู้สูงอายุ ดอกลำดวน มัสยิดดารุ้ลคอยร็อต อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง และให้กลุ่มสตรีในพื้นที่เป็นกระบอกเสียงสำคัญ บอกเล่าถึงประโยชน์และความคืบหน้าในการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี เข้าตรงถึงชุมชน และเป็นศูนย์กลางดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ในพื้นที่ สร้างโอกาสการพัฒนาและเติบโตไปพร้อมกับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งการยกระดับคุณภาพชีวิตให้พื้นที่และชุมชน  

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า การเปิดศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี นำร่อง ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ครั้งนี้ ถือเป็น ศูนย์ฯ พลังสตรี นำร่องในพื้นที่ อีอีซี ครบทั้ง 3 จังหวัด ซึ่งที่ผ่านมา อีอีซี ได้เปิดอย่างเป็นทางการแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้วิถีชาวนาภูมิปัญญาชุมชน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี และศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง เพื่อดึงพลังของกลุ่มสตรี มาเป็นตัวแทนสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชน ร่วมถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี และประโยชน์สำคัญที่จะได้รับ ผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง อีกทั้ง กลุ่มเครือข่ายพลังสตรี อีอีซี จะเป็นกลไกสำคัญผลักดันให้สินค้าและบริการของชุมชนให้เป็นส่วนหนึ่งใน Supply Chain ของนักลงทุน ซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญที่อีอีซี จะส่งเสริมคู่ไปกับการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ศูนย์เครือข่ายพลังสตรี นำร่อง ฉะเชิงเทรา แห่งนี้ จะประสานกับอีอีซี ทำกิจกรรมประโยชน์ต่อสาธารณในพื้นที่ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้าและบริการ ในระดับวิสาหกิจชุมชน ไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ ผ่านกลไกความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากพื้นที่ อีอีซี มีช่องทางการตลาดที่กว้างขวางยิ่งขึ้น สร้างโอกาสให้แก่สินค้าชุมชน สานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ รวมถึงการท่องเที่ยวของชุมชนให้มีมาตรฐาน รองรับการเข้ามาใช้จ่ายของนักลงทุน และผู้ที่จะมาทำงาน และอยู่อาศัยในพื้นที่ อีอีซี ต่อไป

สำหรับที่ตั้งศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ณ ชมรมผู้สูงอายุดอกลำดวน ตั้งอยู่ภายในมัสยิสดารุ้ลคอยร๊อต อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนชาวมุสลิม แต่สามารถอยู่ร่วมกับชาวพุทธได้อย่างกลมกลืน พื้นที่นี้จึงเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริง รวมทั้งเป็นเครือข่ายศูนย์กสิกรรมธรรมชาติที่เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร และสามารถนำความรู้ประสบการณ์กลับมาขยายผลในพื้นที่ทั้งประชาชนและโรงเรียนต่าง ๆ มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต กิจกรรมตลาดนัดในชุมชนเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ทำให้มีผู้มาติดต่อ และเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เยาวชนจากโรงเรียนหมอนทองวิทยา ยังเป็นเครือข่ายเยาวชน อีอีซี ที่เข้มแข็งมีผลงานด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน ได้รับรางวัลจากโครงการ อีอีซี สแควร์ ถึง 2 ปี ศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ณ ชมรมผู้สูงอายุดอกลำดวน จึงเป็นอีกกลไกสำคัญของ อีอีซี ที่สามารถขยายการรับรู้และสร้างความเข้มแข็งไปยังกลุ่มผู้นำศาสนา ชุมชน และเยาวชนในพื้นที่ได้อีกด้วย

‘เพจดัง’ แจง!! ปมต่างชาติโจมตีเรื่องใช้ ‘แรงงานเด็กทอผ้า’ ชี้!! เป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ในเวลาหลังเลิกเรียน

เมื่อไม่นานมานี้ เพจเฟซบุ๊ก ‘ผ้าทอมือหมักโคลนบัวแดงชายคิม’ ได้โพสต์คลิปวิดีโอหัวข้อ 
‘โดนต่างชาติโจมตีเรื่องการใช้แรงงานเด็ก​ เราจะอธิบายอย่างไรดี?’ โดยระบุว่า…

ตอนนี้เราอยู่กับ ‘น้องแก้ม’ ซึ่งหลายต่อหลายคนต่างคอมเมนต์เข้ามาว่าทําไมถึงให้น้องทํางานหนัก หรือทำไมถึงต้องใช้แรงงานเด็ก…โดยขอเรียนแจ้งแบบนี้ อันนี้คือเป็นเวลาว่างหลังจากเลิกเรียนและเลิกเล่นแล้ว ซึ่งเป็นการจัดการเวลาของน้องเองเพื่อให้เป็นการสืบสานภูมิปัญญาไปด้วย ซึ่งเด็กสมัยนี้ถ้าอายุ 13 ขวบ เขาจะเล่นมือถือเป็นส่วนใหญ่ในประเทศไทยของเรา และการมีกิจกรรมที่เป็นการสืบสานทางภูมิปัญญาแบบนี้มาให้ทุกท่านได้เห็นกัน ซึ่งปกติเขาก็จะไม่ถ่ายทำลงในโซเชียล แต่เราอยากให้มองในเรื่องของการเรียนรู้ อยากให้มองถึงเรื่องการสืบสานการทอผ้าไว้ให้ลูกหลานหรือคนไทยทั่วประเทศได้รับชมกัน

ถ้าหากเราไม่ได้หัดหรือไม่ได้ฝึกกันไว้ตั้งแต่เด็ก ๆ แบบนี้ เขาก็คงไม่มาทำให้เรา ถ้าหากจะให้เขาเรียนจบมาแล้วค่อยมาทํา เขาก็จะไปทํางานตามโรงงาน ตามโรงแรม ตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นเงินเดือน หรือเป็นมนุษย์เงินเดือน แต่ ณ ที่นี่ เราอยากให้เห็นว่าทํางานอยู่ที่บ้านมันก็สามารถที่จะสร้างรายได้ให้กับตัวเขาเอง และก็จะเป็นการปลูกฝังให้เขาได้ทำงานอยู่ที่บ้าน ไม่ต้องห่างไกลจากครอบครัว นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเขาเองได้ ซึ่งนี่คือสิ่งที่เราจะสอนและปลูกฝังไว้ตั้งแต่เด็ก ๆ แบบนี้

อย่างไรก็ตาม ฝากเป็นกําลังใจให้พวกเราด้วย เพราะตอนนี้โดนโจมตีค่อนข้างเยอะเหมือนกัน  เพราะมีชาวต่างชาติเข้ามาโจมตีในเรื่องของการใช้แรงงานเด็ก แต่ถ้าคนไทยด้วยกัน เราก็จะรู้ว่าเราทําเพื่ออะไร

พร้อมระบุเพิ่มเติมว่า เราไม่ได้บังคับ ให้ทํางานตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งแบบนั้นก็คงจะไม่ใช่

ทั้งนี้ หลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปต่างมีชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็น อาทิ…

- โบราณว่า ‘ไม้อ่อนดัดง่ายไม้แก่ดัดยาก’ การจะฝึกฝนอะไรก็ต้องฝึกฝนตั้งแต่ที่สมองสามารถรับรู้ได้เต็มที่ จึงมีเด็กในวัยอ่อนตั้งแต่ 2-3 ขวบขึ้นไปหลายคน มีทักษะที่น่าทึ่งหลาย ๆ อย่าง ที่บางครั้งผู้ใหญ่อย่างเราเองก็ยังทำไม่ได้ในช่วงวัยเดียวกัน ซึ่งมันก็เป็นทักษะพื้นฐานที่ดีที่คนจะต้องเรียนรู้ตั้งแต่ยังเด็ก ๆ จึงจะทำให้พลเมืองเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพค่ะ จากเรื่องราวนี้จะเห็นว่าน้องมีความสามารถในการทำกิจกรรมและสืบทอดภูมิปัญญาของท้องถิ่น รักษาศิลปะวัฒนธรรมของชาติได้อย่างดีทีเดียวค่ะ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมากกว่า อะไรที่เป็น ๆ เรื่องดีงามเราก็ต้องส่งเสริม

- เป็นงานหัตถกรรมที่เกิดความคุ้นเคยตั้งแต่เด็ก เป็นรากเหง้าของคนในท้องถิ่น ที่คนไม่ได้เกิดที่นี่จะไม่เข้าใจในวัฒนธรรมตะวันออก และไม่ควรวิจารณ์แบบผิด ๆ

- ถูกค่ะ เราต้องปลูกฝังต้นกล้าน้อย ๆ เพื่อสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นเอาไว้ค่ะ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยจะมีเด็กสนใจเลย เก่งมากลูกสาว 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top