Wednesday, 23 April 2025
ภาษาจีน

‘ไต้หวัน’ มุ่งหน้าสู่ประเทศ 2 ภาษาภายในปี 2030 อัดงบ 3 หมื่นล้านเหรียญเสริมภาษาอังกฤษ-จีน

รัฐบาลไต้หวันตั้งเป้า ขอเวลาไม่เกิน 10 ปี ผลักดันให้เป็นประเทศ 2 ภาษา (Bilingual) ที่ใช้ทั้งภาษาจีน และ อังกฤษ เป็นภาษาสื่อสารหลักให้ได้ภายในปี 2030 ตั้งงบเริ่มต้นที่ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ไต้หวัน พัฒนาความสามารถด้านภาษาอังกฤษของประชากรให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 รองจากภาษาจีน

การเสริมทักษะด้านภาษาอังกฤษกลายเป็นวาระระดับชาติของไต้หวัน แม้จะเป็นเรื่องยากที่ทำให้ชาวไต้หวันสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ในระดับ ฮ่องกง, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์ หรือ อินเดีย ที่ภาษาอังกฤษถูกใช้เป็นภาษาราชการ และในแวดวงวิชาการทั้งด้านกฎหมาย และภาคธุรกิจอย่างกว้างขวาง แต่ก็เป็นเป้าหมายที่ไต้หวันต้องการที่จะไปให้ถึง เพื่อเพิ่มศักยภาพชาวไต้หวันสามารถแข่งขันในตลาดสากลได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เลือกมาทำธุรกิจในไต้หวันเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ เมื่ออุปสรรคด้านภาษาลดลง

แผนการยกระดับความสามารถด้านภาษาอังกฤษของประชากรไต้หวัน เริ่มวางแผนกันมานานแล้วตั้งแต่ปี 2018 และประกาศเริ่มโครงการในปีนี้ 2023 ด้วยงบประมาณ 3 หมื่นล้านเหรียญไต้หวัน โดยมีการปรับแผนการเรียนภาคบังคับทั้งหมด เพื่อรองรับการเรียนภาษาอังกฤษอย่างจริงจังในทุกระดับชั้น

อีกทั้งเริ่มประสานงานกับภาคธุรกิจในประเทศ ในการเพิ่มภาษาอังกฤษ เป็นภาษาที่สื่อสารในองค์กร ทั้งการใช้เอกสาร สัญญา ข้อความประชาสัมพันธ์บนเว็บไซท์ ควบคู่ไปกับการใช้ภาษาจีน ทั้งนี้เพื่อเอื้อต่อการติดต่อกับบริษัทต่างชาติ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการแปลเอกสารจากอังกฤษ เป็นจีน

เนื่องจากในปัจจุบัน ไต้หวันมีการส่งออกอุปกรณ์ไฮเทค สู่ต่างประเทศรวมมูลค่ากว่า 8.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเพราะชิปประมวลผล ที่ไต้หวันครองตลาดโลกสูงถึง 60% และยิ่งถ้าบุคลากรไต้หวัน สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว โอกาสในการขยายตลาดต่างประเทศยิ่งไปได้ไกลกว่าเดิม 

สำหรับเป้าหมายเพื่อไปให้ถึงการเป็นประเทศ 2 ภาษาภายในปี 2030 นั้น ไต้หวันจะเริ่มตั้งแต่ที่โรงเรียน ด้วยการผลักดันให้เกิดระบบโรงเรียน 2 ภาษาทั่วกรุงไทเป ให้ได้ถึง 210 โรงเรียนภายในปี 2026 และ ทุกโรงเรียนในเขตนครซินเป่ย์ต้องมีหลักสูตร 2 ระบบ ทั้งจีน อังกฤษภายในปี 2030 ส่วนเมืองอื่นๆ ต้องตั้งเป้าในการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ให้มีหลักสูตรภาคบังคับ 2 ภาษาให้สำเร็จในอีก 7 ปีข้างหน้า

ถึงกระนั้นรัฐบาลไต้หวัน ก็ยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ว่าจะให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ รวมถึงการใช้ภาษาอังกฤษในเอกสารราชการสำคัญ ทั้งในศาล หรือในสภาด้วยหรือไม่ เพียงแต่มีการเรียกร้องให้ยกระดับการใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารในหน่วยงานภาครัฐมากยิ่งขึ้นต่อจากนี้ไป 

ด้าน ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์และความมั่นคงระหว่างประเทศ ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มองว่า นโยบายด้านภาษาอังกฤษจะช่วยกระตุ้นให้ชาวไต้หวันพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของตนมากขึ้น 

ทว่า เมื่อเปรียบเทียบกันนโยบายการพัฒนาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของไทยแล้ว กระทรวงศึกษาธิการของไทย ได้ตั้งเป้าให้พัฒนาหลักสูตรให้ เด็กนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษในระดับพื้นฐานในชีวิตประจำวันให้ได้ภายในปี 2026 

‘ว.นานาชาติ มธบ.’ เปิดหลักสูตรจีนธุรกิจ ไม่มีพื้นฐานก็เรียนได้ พร้อมชู 4 จุดแข็ง ‘บุคลากร-คอมมูนิตี้-ทุนเรียนฟรี-พันธมิตรธุรกิจ’

วันที่ (25 พ.ค. 66) อาจารย์จุฑามาศ ลิมศุภนาค หัวหน้าหลักสูตรภาษาจีนธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า ในโลกของการทำงานภาษานั้น นับเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการนำพาให้ประสบความสำเร็จในสายงานอาชีพ ปัจจุบันการใช้ภาษาจีนมีอัตราเติบโตมากขึ้น

เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดดขยายไปทั่วทุกมุมโลก ทำให้ภาคธุรกิจต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านภาษาจีนมากขึ้นด้วย ดังนั้น การมีทักษะด้านภาษาจีนจึงเพิ่มโอกาสในการทำงานและได้เปรียบในการทำธุรกิจ รวมไปถึงเพิ่มความเป็นมืออาชีพอีกด้วย

หลักสูตรภาษาจีนธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เล็งเห็นความสำคัญของการผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนจึงออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ

โดยให้ความสำคัญกับการเรียนภาษาจีนพร้อมกับบูรณาการความรู้เฉพาะทางในสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่นักศึกษาจะได้นำเป็นความรู้ในการประกอบอาชีพตามความต้องการภายหลังจบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น ภาษาจีนเพื่อธุรกิจสายการบิน ภาษาจีนเพื่อการค้าระหว่างประเทศ ภาษาจีนเพื่อการค้าออนไลน์ ภาษาจีนด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยว ฯลฯ ดังนั้น บัณฑิตที่จบออกไปจึงสามารถทำงานได้หลากหลายอาชีพ

อาจารย์จุฑามาศ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักสูตรภาษาจีนธุรกิจ DPU เปิดมานานกว่า 36 ปี โดยเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดสอนในสาขานี้ นักศึกษาที่มาเรียนที่นี่จะได้เรียนกับอาจารย์ที่จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำจากประเทศจีนโดยตรง ทั้ง ป.ตรี ป.โท ป.เอก ซึ่งอาจารย์จะมีความเข้าใจในโครงสร้างด้านวัฒนธรรม บริบทต่างๆ ตลอดจนการเติบโตของประเทศจีน โดยความรู้สำคัญที่จะส่งเสริมกับการเรียนภาษาเหล่านี้ก็นักศึกษาจะได้รับการถ่ายทอดควบคู่กับการเรียนรู้ไปด้วย เพราะเนื่องจากมหาวิทยาลัยมีนักศึกษาชาวจีนจำนวนกว่า 3,000 คน ซึ่งนับเป็นคอมมูนิตี้ขนาดใหญ่ นักศึกษาจะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมทางภาษากับเจ้าของภาษาโดยตรง ได้เรียนรู้การปรับตัวในการอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกันในวัฒนธรรมที่แตกต่าง

อีกทั้งทุกปีนักศึกษายังมีโอกาสได้รับทุนการศึกษาไปเรียนคอร์สระยะสั้นในช่วงซัมเมอร์ที่มหาวิทยาลัยของจีนซึ่งเป็นพันธมิตรกัน ขณะเดียวกันยังมีทุนเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศจีนกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยจีนของเราอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยครุศาสตร์เทียนจิน มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง และยังมีสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล ซึ่งให้ทุนมาปีหนึ่งๆ จำนวนกว่า 20 ทุน ที่สำคัญนักศึกษาที่จบจากหลักสูตรภาษาจีนธุรกิจของเรา ส่วนใหญ่บริษัทที่เป็นพันธมิตรจะรับเข้าทำงานทันที

“หลักสูตรนี้ น้อง ๆ ที่ไม่มีพื้นฐานภาษาจีนก็สามารถเรียนได้ เพราะก่อนจะเปิดเทอมเราจะปรับระดับภาษาจีนให้มีพื้นฐานก่อน และพอเปิดเรียนแล้วเราก็จับคู่บัดดี้ที่เป็นนักศึกษาจีนให้กับเขา เพื่อให้ได้ฝึกสื่อสารกับเจ้าของภาษาอยู่ตลอดเวลา นักศึกษาจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ล้อมรอบไปด้วยเพื่อนคนจีน จะทำให้เขาคุ้นเคยกับเจ้าของภาษา กล้าที่จะสื่อสาร ทำให้สามารถสื่อสารภาษาจีนได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ หลักสูตรยังมีคลินิกภาษาจีนไว้คอยสนับสนุนการพัฒนาทักษะภาษาจีนขอนักศึกษา โดย นักศึกษาสามารถเข้าไปฝึกฝนทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน หรือติวเพิ่มในส่วนที่เรียนไม่ทันหรือไม่เข้าใจได้ตลอด รวมไปถึงหลักสูตรยังสนับสนุนให้นักศึกษาในชั้นปีที่สูงขึ้นมีประสบการณ์การทำงานในด้านภาษา เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ทักษะจากการทำงานจริง ทั้งผ่านการฝึกงาน และการทำงาน Part Time ในสถานประกอบการต่าง ๆ เช่น การรับงานแปล พนักงานขายสินค้าให้ชาวจีน การเป็นล่ามฝึกหัด ซึ่งจะมีบริษัทติดต่อมาเข้ามาอยู่ตลอดเวลา

ทางหลักสูตรให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้นักศึกษาได้ฝึกประสบการณ์จริงอีกด้วย ที่ผ่านมา Feedback และเสียงตอบรับจากผู้ประกอบการก็ดีมาก ทั้งยังแสดงความจำนงให้เราส่งนักศึกษาไปทำงานและฝึกงานอยู่อย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น การเปิดโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ (EEC) ก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ ซึ่งนักลงทุนจีนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเยอะมากขึ้น ยิ่งต้องการแรงงานที่สามารถใช้ภาษาไทย และภาษาจีนอีกด้วย” หัวหน้าหลักสูตรภาษาจีนธุรกิจ กล่าว

อาจารย์จุฑามาศ กล่าวอีกว่า นอกจากทักษะด้านภาษาจีนแล้ว มหาวิทยาลัยยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะในทุกด้าน โดยเฉพาะทักษะแรงงานที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี ทักษะการวิเคราะห์และแก้ปัญหา ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ทักษะการสื่อสาร ทักษะการทำงานเป็นทีม และทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเราเรียกว่า DPU Core โดยทักษะเหล่านี้จะถูกฝึกฝนผ่านโครงงานที่เรียกว่า Capstone Project ซึ่งจะเป็นโครงการ ที่ให้นักศึกษาต่างคณะต่างสาขามาร่วมกันทำโครงงาน ซึ่งจะได้ฝึกทุกทักษะที่จำเป็นตั้งแต่ปี 1-2-3 ได้ฝึกลองผิด ลองถูก ในการทำธุรกิจซึ่งนักศึกษาจะได้ทั้งทักษะด้านภาษาจีนและทักษะการทำธุรกิจไปด้วย ที่ DPU จึงต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นตรงนี้ เราให้นักศึกษาฝึกการทำธุรกิจตั้งแต่ปี 1 และเข้มข้นขึ้นในทุกปี

“แรงงานที่พูดภาษาจีนได้นั้น ขาดแคลนจริง ๆ ผู้ประกอบการมักจะติดต่อมาอยู่เสมอๆ ขอให้ส่งนักศึกษาไปให้ตลอด นักศึกษาหลักสูตรภาษาจีนธุรกิจที่จบอออกไป จึงเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจมาก และระหว่างที่เรียนนักศึกษายังสามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ล่าม แปลงาน ประสานงาน ขายสินค้าจากประเทศจีนหรือให้นักท่องเที่ยวชาวจีน หรือ ติวเตอร์ต่าง ๆ” อาจารย์จุฑามาศ กล่าวในตอนท้าย

สำหรับผู้สนใจหลักสูตรภาษาจีนธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
 

‘รัสเซีย’ บรรจุ ‘ภาษาจีน’ ในหลักสูตรระดับมหาวิทยาลัย อ้าง!! หวังเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์

เมื่อไม่นานมานี้ หนังสือพิมพ์วอชิงตันเอ็กแซมมิเนอร์ของสหรัฐฯ รายงานว่า อันเดร เฟอร์เซนโก (Andrei Fursenko) ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเครมลินซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอดีตรัฐมนตรีการศึกษาและเทคโนโลยีรัสเซียกล่าวมีใจความว่า

“จะไม่มีความรุนแรงพวกเราจะหว่านล้อมแต่ในเวลาเดียวกันพวกเราจะมุ่งหน้าสู่แนวทางนี้หากว่าพวกเราต้องการที่จะสามารถแข่งขันได้” เขากล่าวในรายงานของสื่อ RIA Novosti ของรัสเซีย

ทั้งนี้ สื่อยูเครนสกายา ปราฟดา (Ukrainska Pravda) ที่รายงานเช่นเดียวกันระบุว่า ได้มีการบรรจุภาษาแมนดารินเข้าสอนในหลักสูตรตามมหาวิทยาลัยภายในรัสเซีย

เฟอร์เซนโก ชี้ว่า หนทางนี้จะช่วยให้บรรดานักศึกษาสามารถเข้าสู่ความเข้าใจทางสาขาวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยชี้ว่า 30% ของงานวิจัยวิทยาศาสตร์โลกนั้นถูกตีพิมพ์เป็นภาษาจีน

วอชิงตันเอ็กแซมมิเนอร์ชี้ว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยรัสเซียชื่อดังอย่างน้อย 1 แห่งออกมาต่อต้านคำสั่งโดยชี้ว่า “แปลกประหลาดและส่งผลร้าย”

ซึ่งเฟอร์เซนโกยืนยันว่า มันมีความสำคัญจากการที่จีนมีชื่อเสียงโด่งดังทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง มองว่า นี่เป็นหนทางที่จะทำให้ 2 ชาติสหายมีความใกล้ชิดผูกพันมากขึ้น

เฟอร์เซนโกกล่าวในการประชุมฟอรัมการศึกษาเยาวชนรัสเซีย

“พวกเราต้องการที่จะอยู่ในเทรนด์วิทยาศาสตร์กันอยู่หรือไม่? มุ่งไปข้างหน้ากันเถิด” เขากล่าว และเสริมต่อว่า “ปัญหาคือแน่นอนที่สุดมันมีความจำเป็นที่ต้องทำให้มั่นใจว่า ภาษารัสเซียยังคงอยู่ท่ามกลางไม่กี่ภาษาของด้านวิทยาศาสตร์”

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญ ดร.เซอร์เก โพโพป (Dr.Sergei Popov) ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อฝรั่งเศส Le Monde เมื่อต้นปีว่า สำหรับการศึกษาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน มีภาษาเดียวเท่านั้นคือภาษาอังกฤษ และจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงในอนาคตระยะใกล้

“ราว 100% ของสิ่งที่ผมได้อ่านและ 90% ของสิ่งที่ผมได้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งภาษาจีนที่เป็นคำถามนั้นอาจขึ้นมา แต่พบน้อยกว่าในแวดวงวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี”

สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า บรรดานักศึกษารัสเซียประจำสถาบันการศึกษาฟิสิกส์และเทคโนโลยีแห่งมอสโก MFTI (The Moscow Institute of Physics) ได้ออกมาโต้ว่า ความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์รัสเซียและนักวิทยาศาสตร์จีนไม่ถึงระดับที่จะทำให้การศึกษาภาษาจีนนั้นมีความสำคัญ

ยูเครนสกายา ปราฟดา ชี้ว่า มีการประท้วงเกิดขึ้นในหมู่นักศึกษาเมื่อมีนาคมต้นปี หลังจากทางสถาบันการศึกษาได้สั่งถอดวิชาภาษาต่างประเทศทั้งสเปน เยอรมัน และฝรั่งเศสออกจากหลักสูตร และใส่วิชาภาษาแมนดารินในหลักสูตรสำหรับภาคการศึกษา 2023-24 แทนด้วยเหตุผลด้านค่าใช้จ่าย

และเมื่อมีนาคมต้นปีเช่นเดียวกัน ธนาคารแห่งรัสเซีย (Bank of Russia) กำหนดให้พนักงานของตัวเองต้องเรียนภาษาแมนดาริน โดยอ้างว่าเพื่อการติดต่อทางธุรกิจกับเพื่อนร่วมงานจากจีน

โดยหนังสือพิมพ์มอสโกไทม์สได้รายงานเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ว่า เป็นผลมาจากการเผชิญหน้าอย่างตึงเครียดกับตะวันตกหลังเครมลินเปิดปฏิบัติการทางทหารในยูเครน เครมลินได้หันไปมุ่งสู่เอเชียแทน ความต้องการเรียนภาษาแมนดารินเพิ่มขึ้นจากการที่รัสเซียได้เพิ่มการพึ่งพาทางเศรษฐกิจต่อจีน

หนังสือพิมพ์มอสโกแสดงภาพน่ารักของบรรดาสาว ๆ รัสเซียแต่งกายในชุดจีนโบราณสำหรับพิธีน้ำชาอย่างคึกคัก รวมถึงการศึกษาพู่กันจีน

ในขณะเดียวกัน จำนวนนักศึกษาระดับไฮสกูลรัสเซียได้เลือกภาษาจีนเป็นภาษาต่างประเทศในการสอบไล่ปลายปีเพิ่มขึ้นภายใน 1 ปี มาอยู่ที่ 17,000 คน ถึงแม้ว่าภาษาอังกฤษจะยังคงเป็นภาษาต่างประเทศที่เลือกเป็นอันดับ 1 สำหรับเวลานี้

มีนักเรียนรัสเซียตั้งความหวังจะไปศึกษาต่อในจีนหลังมีความหวังน้อยลงในการเข้าสู่สถาบันการศึกษาโลกตะวันตก และมีอีกบางส่วนมองหาลู่ทางที่จะเดินทางไปทำงานในจีนจากเหตุค่าตอบแทนสูงสำหรับชาวยุโรป

แชร์ประสบการณ์!! เรียนต่อที่จีน เปิดโลกทัศน์กว้างไกล ได้เรียนรู้วัฒนธรรม-สังคม-ธุรกิจ ใช้ต่อยอดชีวิตในอนาคต

เมื่อไม่นานมานี้ เพจ ‘ตี๋น้อย’ เพจแชร์เรื่องราวและข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเทศจีน ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับประโยชน์ของการเรียนภาษาจีน โดยระบุว่า…

เล่าเรื่องหนึ่ง ช่วงนี้ที่จีนใกล้จะเปิดเทอมแล้ว น้อง ๆ หลาย ๆ คน อาจจะเริ่มเตรียมตัวกลับไปจีน หรือบางคนเพิ่งจะไปจีนครั้งแรกในเทอมนี้ ตี๋น้อยเลยอยากจะมาแชร์ประสบการณ์กันครับว่า การไปเรียนภาษาหรือปริญญาที่จีน เป็นยังไงบ้าง ได้อะไรเพิ่มกลับมาบ้าง

เริ่มแรกเลย แน่นอนแหละว่ามันได้ภาษากลับมาแน่นอน เพราะว่าการเรียนภาษาที่จีน คุณจะได้คุยภาษาจีนกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวจีนหรือต่างชาติ ทุกคนจะพูดภาษาจีนกับคุณทุกคน ยิ่งถ้าเราเฟรนด์ลี่ เรายิ่งได้ภาษาแน่นอน แต่บางครั้งอาจจะรู้สึกแปลก ๆ หน่อย เวลาเราคุยกับพวกยุโรป แอฟริกา เป็นภาษาจีน

สองคือได้สังคม ได้เรียนรู้วัฒนธรรมอื่น ๆ ด้วย จากข้อแรก ถ้าเราเฟรนด์ลี่ คุยกับคนอื่นง่าย ชาวต่างชาติและชาวจีนคนอื่น ๆ จะยิ่งต้อนรับเรามากขึ้น บางทีบางครั้งเราคุยและสนิทกับเพื่อนต่างชาติ เราก็จะได้เรียนรู้วัฒนธรรมของเขาด้วย บางครั้งเราก็ได้แลกเปลี่ยนของฝากแต่ละประเทศด้วยครับ

ข้อสามเลย คือได้ลองทานอาหารหลากหลายประเทศ นักเรียนชาวต่างชาติที่นี่ปกติส่วนใหญ่มักจะทำกับข้าวกันเอง ผมเองก็ไปฝากท้องห้องคนอื่นบ่อย ๆ (เขาเชิญไปนะครับ) บางครั้งก็ได้ทานอาหารแอฟริกา บางครั้งได้ทานอาหารปากีสถาน อินเดีย บางทีก็ได้ทานกิมจิ หรือถ้าไปบ้านคนจีนก็ได้ทานอาหารจีนประจำภาคนั้น ๆ ด้วยครับ

ข้อสามได้เรียนรู้คน แน่นอนแหละว่า ร้อยพ่อพันแม่มาเจอกัน ทุกคนมีนิสัยที่แตกต่างกันไป มันก็ทำให้เราเรียนรู้ครับว่าคนแบบนี้มีนิสัยแบบนั้น คนแบบไหนที่เราไม่ควรยุ่งด้วย คนไหนที่เราสนิทด้วยได้

ข้อสี่ เรียนรู้การควบคุมตัวเอง แน่นอนแหละว่าการมาเรียนต่างประเทศ สิ่งยั่วยุมันเยอะ เราก็แค่เรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเองให้ได้ เรียนบ้าง เที่ยวบ้าง เที่ยวได้แต่ต้องไม่เสียคนจนเสียการเรียน เพราะตี๋น้อยเคยเห็นหลายคนเสียคน เสียการเรียน เสียประวัติ ไปกับสิ่งยั่วยุ การต่อยตี โดยเฉพาะการทะเลาะต่อยตี ที่จีนโทษหนักถึงขั้นขึ้นแบล็กลิสต์ห้ามเข้าจีนนะครับ เป็นไปได้อย่าทะเลาะเลยดีสุด

ข้อห้า นอกจากเราจะได้ภาษาจีนแล้ว เรายังได้ภาษาอังกฤษด้วย เพราะชาวต่างชาติบางคนพูดจีนไม่ได้ เราต้องพูดภาษาอังกฤษกับเขา ทำให้พัฒนาภาษาอังกฤษของเราเองด้วย

ข้อหก นอกจากได้ภาษาแล้ว เรายังได้โอกาสทางธุรกิจด้วย คือที่จีนเนี่ยหลายเมืองเป็นเมืองค้าส่ง หรือว่าเราสามารถเอาสิ่งที่จีนมี แต่ไทยไม่มี เอามาปรับใช้ได้ เช่น อี้อู กวางโจว เราสามารถไปดูลู่ทางธุรกิจ หรือโอกาสทางธุรกิจได้

ข้อเจ็ด นักเรียนหญิงไทยที่จีนมักมีแฟนเป็นแถบประเทศ เอเชียกลาง สถาน ๆ ทั้งหลาย เช่น คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน พวกหล่อ ๆ ทั้งหลายครับ อิจฉาคนหล่อครับฮ่า ๆ 

ข้อแปด นักเรียนชายต่างชาติ ห้าสิบเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป มักเจ้าชู้ แต่คนดี ๆ ก็มีเช่นกัน

สุดท้าย ไม่ว่าคุณจะไปเรียนจีนผ่านเอเจนซี่ หรือสมัครเองตามมหาวิทยาลัย ขอบอกว่า ไปเถอะครับ เราได้อะไรกลับมาเยอะกว่าแค่ภาษาแน่นอน

ปล.รูปนี้ผมถ่ายตอน 2013 ตอนที่ผมไปแลกเปลี่ยนที่กวางโจวครับ #ตี๋น้อย #เล่าเรื่องเมืองจีน #ชีวิตในจีน #จีน #ชีวิตในซินเจียง #ซินเจียง

‘ตลาดแรงงานมาเลฯ’ ให้ความสำคัญทักษะด้านภาษา มากกว่าใบปริญญา ยิ่งสื่อสาร ‘จีน-เกาหลี-ญี่ปุ่น-อารบิก’ ได้ดี ยิ่งมีโอกาสหางานได้มากกว่า

ตลาดแรงงานมาเลฯ เริ่มมองหา ‘คนทำงานรุ่นใหม่’ ที่มีทักษะ ขยันเรียนรู้ มากกว่าใบเกรด และหากยิ่งรู้ภาษาจีน ก็ยิ่งได้เปรียบ

สมัยก่อน อาจจะกล่าวได้ว่า มีใบปริญญา สามารถการันตีโอกาสในการหางานที่ดีกว่าได้ ยิ่งเป็นใบปริญญาจากสถาบันที่มีชื่อเสียง ก็ยิ่งมีโอกาสมากกว่าคนอื่น 

แต่ในยุคสมัยใหม่ที่กระแสค่านิยมและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก จนความรู้เชิงวิชาการเพียงอย่างเดียว ดูจะไม่เพียงพอเสียแล้ว เมื่อนายจ้างเริ่มพิจารณาคนทำงานที่มีคุณสมบัติอื่น ๆ มากกว่า โดยเฉพาะ ทักษะประสบการณ์ทำงานจริง, ความรู้เรื่องวัฒนธรรม รวมถึงจรรยาบรรณในการทำงาน 

วิค สิทธสนาน ผู้อำนวยการของ Jobstreet by Seek Malaysia แสดงความเห็นว่า การพัฒนาด้านอาชีพกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยได้ยกรายงานจาก Hiring Compensation and Benefits Report for 2024 ซึ่งบ่งชี้ว่ามีนายจ้างมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่เน้นคัดเลือกบุคลากรที่เคยผ่านการฝึกอบรมวิชาชีพ หรือ หลักสูตรที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ตามทักษะที่นายจ้างต้องการ มากกว่าใบปริญญาแล้ว 

แม้การพิจารณาคัดเลือกพนักงานจากวุฒิการศึกษายังคงมีอยู่ แต่ก็จะถูกลดความสำคัญลงไป เมื่อนายจ้างยุคใหม่ต้องการคนที่ผ่านการฝึกอบรมเฉพาะทางที่ตรงกับสายงานมากกว่า และจำเป็นต้องนำมาใช้งานได้จริงด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้บริหารเว็บไซท์ที่ให้บริการรับสมัคร, จัดหางานอันดับ 1 ในมาเลเซีย ยังเน้นอีกว่า ‘ภาษาอังกฤษ’ มีความสำคัญ แต่ยังไม่พอ 

เนื่องจากมาเลเซียมีเศรษฐกิจที่ผูกพันกับทางจีนอย่างมาก ความต้องการบุคลากรที่มีความสามารถในการสื่อสารภาษาจีนจึงพุ่งสูงขึ้นในตลาดแรงงานมาเลเซีย โดยเฉพาะในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลาง ที่หลายบริษัทระบุเลยว่าต้องการผู้ที่พูดภาษาจีน หรือสามารถพูดได้หลายภาษา

ความเห็นของผู้บริหาร Jobstreet สอดคล้องกับ ดาตุ๊ก ดร.ซาอีด ฮัซเซน ซาอีด ฮัสมาน ประธานสหพันธ์นายจ้างมาเลเซีย ที่ได้กล่าวว่า ปัจจุบัน นายจ้างสนใจผู้สมัครที่จบวุฒิสายอาชีพ (TVET) มากกว่า เพราะมีทักษะหลายอย่างที่สามารถนำมาประยุกต์ในการทำงานจริงได้โดยตรง โดยนายจ้างก็มีแนวโน้มประเมินผู้สมัครแบบองค์รวมมากขึ้น

และถึงแม้ว่าภาษาอังกฤษยังอยู่ในห้าอันดับแรกของทักษะที่เป็นที่ต้องการ แต่ ดร.ซาอีด ฮัซเซนเห็นเช่นเดียวกับ วิค สิทธสนาน ว่าทักษะภาษาจีนกลางเป็นที่ต้องการอย่างมากในปัจจุบัน 

ซึ่งนอกจากภาษาจีนแล้ว ผู้ที่เชี่ยวชาญทักษะภาษาอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลี และ อารบิก ก็เป็นที่ต้องการสูงเช่นกัน ทั้งนี้เพราะมาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศศูนย์กลางการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ จึงมองหาบุคลากรที่สามารถสื่อสารได้หลายภาษา นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ 

จึงสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะมี ‘ความรู้’ แบบใดมาจากระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม แต่สิ่งที่เจ้าของกิจการมองหาคือ ‘ทักษะ’ ที่หมายถึง ‘ความสามารถ’ ในการใช้งานได้จริง ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา ด้านงานช่าง งานเทคนิค ฯลฯ รวมถึงเข้าใจในการทำงานในวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายด้วย ซึ่งทักษะเหล่านี้ ไม่อาจพิจารณาจากใบปริญญาได้ ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเองที่หน้างานเท่านั้น 

“ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง 
ฉันจึง มาหา ความหมาย
ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย 
สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว

แค่ปริญญา ไม่พอจริง ๆ”

‘วิคเตอร์ อเซลเซ่น’ เปิดใจ เหตุผลที่เรียนรู้ ‘ภาษาจีน’ จนคล่องปร๋อ เพราะเป็นอีกทักษะ 'สร้างสัมพันธ์-เรียนรู้ทริก' จากเพื่อนแบดฯ ต่างถิ่น

(6 ส.ค. 67) จากเพจ Tutustory 图图是道 ได้แชร์ข้อมูลของ เพจ Main Stand ระบุว่า…

#MainStand : ภาษาจีน ... การเรียนรู้ของ วิคเตอร์ อเซลเซ่น ทำให้เป็นนักแบดมินตันที่ดีขึ้น
การคว้าเหรียญทองโอลิมปิกสมัย 2 แถมยังเป็นการชนะนักกีฬาขวัญใจชาวไทยอย่าง ‘วิว’ กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ทำให้แฟนกีฬาแดนสยามจำนวนไม่น้อย ได้รับรู้เรื่องราวในแง่มุมต่าง ๆ ของ วิคเตอร์ อเซลเซ่น นักตบลูกขนไก่ชาวเดนมาร์ก Final Boss แห่งแบดมินตันชายเดี่ยวยุคนี้มากขึ้น

และหนึ่งในเรื่องที่ทำให้หลายคนทึ่งคือ นอกจากภาษาเดนิช ภาษาบ้านเกิด และภาษาอังกฤษแล้ว วิคเตอร์ยังสามารถพูดภาษาจีนได้ชนิดคล่องปร๋อเลยทีเดียว และเรื่องนี้มีที่มา …

วิคเตอร์เล่าถึงการเรียนภาษาจีนว่า ตัวเขาเริ่มเรียนเมื่อปี 2014 ส่วนเหตุผลนั้น เจ้าตัวพูดแบบติดตลกว่า "การเรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ จะช่วยให้เขาเป็นนักแบดมินตันที่ดีขึ้นได้"

ทว่าเมื่อเรียนอย่างจริงจังขึ้นเรื่อย ๆ วิคเตอร์ก็ได้รู้ว่า การเรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ ช่วยให้เขาเป็นนักแบดมินตันที่ดีขึ้นได้จริง ๆ และมันช่วยเขาได้ทั้งในและนอกสนามเลยทีเดียว

"ผมไม่รู้ว่าภาษาจีนกลางช่วยผมในสนามได้มากแค่ไหน สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับผมคือการได้พูดคุยกับผู้เล่นหลาย ๆ คน โดยเฉพาะผู้เล่นชาวจีน รู้ว่าพวกเขาทำอะไรกัน นั่นทำให้คุณคิดว่าสิ่งที่คุณทำนั้นถูกต้อง คุณสามารถเรียนรู้บางอย่างจากผู้เล่นชาวจีนได้"

หลังจบการแข่งขันโอลิมปิก ริโอ 2016 วิคเตอร์ที่คว้าเหรียญทองแดงในครั้งนั้น จากการชนะ หลิน ตัน ตำนานนักตบลูกขนไก่อาร์ตตัวพ่อชาวจีน CCTV สถานีโทรทัศน์แห่งชาติของแดนมังกรยื่นไมค์สัมภาษณ์เขา และวิคเตอร์ตอบด้วยภาษาจีนกลางชนิดคล่องปร๋อ

เหตุการณ์นั้น ทำให้เขากลายเป็นชาวต่างชาติคนดังในประเทศจีน หนึ่งในชาติที่แบดมินตันเป็นกีฬายอดนิยมทันที โดยตอนนี้เขามีผู้ติดตามบน Weibo โซเชียลมีเดียดังแดนมังกรมากกว่า 1.2 ล้านคนแล้ว

แน่นอนว่า เพื่อให้เข้าถึงตลาดจีน วิคเตอร์ก็มีชื่อจีนด้วย ซึ่งคุณครูสอนภาษาจีนกลางของเขาตั้งให้ว่า ‘อัน ไซ่ หลง’ (ซึ่งอันที่จริงก็คือการนำนามสกุล อเซลเซ่น มาดัดแปลงเป็นภาษาจีนนั่นเอง) โดยมีความหมายว่า ‘มังกรนักสู้ผู้เยือกเย็น’

ไม่เพียงแค่ในประเทศจีนเท่านั้น การเรียนรู้ภาษาจีนของวิคเตอร์ ยังทำให้เขาได้สร้างสัมพันธ์กับนักแบดมินตันอีกมากมาย รวมถึงในประเทศที่มีคนเชื้อสายจีนอยู่ด้วย เพราะหนึ่งในเพื่อนที่เขาสนิทสนมจากการเรียนภาษาจีนคือ ‘ลี ชอง เหว่ย’ ตำนานนักตบลูกขนไก่ชาวมาเลเซีย ซึ่งมีเชื้อสายจีน

วิคเตอร์ยังเล่าด้วยว่า การที่เขาเป็นนักแบดมินตันอาชีพ ทำให้เขาเกิดแพชชั่นในการเรียนภาษาใหม่ ๆ เพื่อเข้าใจวัฒนธรรมที่หลากหลายยิ่งขึ้น

"เมื่อคุณเป็นนักกีฬา คุณจะต้องเดินทางบ่อย ๆ คุณจะได้ยินภาษาต่าง ๆ ดังนั้น ผมคิดว่ามันน่าสนใจ มันเป็นสิ่งที่คุณเรียนรู้ได้ในขณะที่คุณอยู่บนท้องถนน"

และสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับ วิคเตอร์ อเซลเซ่น ทำให้มุกตลกที่เขาเล่น ไม่ใช่เรื่องตลกอีกต่อไป เพราะการเรียนรู้ภาษาใหม่ ทำให้ วิคเตอร์ อเซลเซ่น เป็นนักแบดมินตันที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง

‘ดร.อักษรศรี’ มอง ‘วิคเตอร์ อเซลเซ่น’ อยู่เป็น เลือกคบคนจีน มีโอกาสมหาศาล

(7 ส.ค. 67) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง วิคเตอร์ อเซลเซ่น นักแบดมินตันชาวเดนมาร์ก แชมป์เหรียญทองโอลิมปิก ว่า...

#อยู่เป็น 🇨🇳 #แปลงจีนให้เป็นโอกาส วิคเตอร์ ฝรั่งแชมป์เหรียญทองโอลิมปิกแบดมินตันชาวเดนมาร์ก 🇩🇰 เพิ่งให้สัมภาษณ์ด้วยภาษาจีน พูดภาษาจีนคล่องมาก เขาเลือกเรียนภาษาจีน #เลือกคบจีน เพราะรู้สึกว่า คู่แข่งนักแบดมินตันชาวจีนฝีมือเก่งมาก เลยอยากรู้ว่า จีนฝึกนักกีฬาของตัวเองกันอย่างไร และถ้าเขาเองพูดภาษาจีนได้ ก็จะได้โอกาสจากงานที่จะเข้ามา จะได้สปอนเซอร์เข้ามา คนจีนชอบแบดมินตันมากกก โอกาสมหาศาลเลยค่า

ฝรั่งคนนี้อยู่เป็น !! เลือกคบจีน ไม่อคติกับจีน และพูดจีนเก่งแค่ไหน คลิกฟังคลิปได้เลยจ้า #olympics2024

'หนุ่มสาวลาว' เมินเข้ามหาวิทยาลัย แห่เรียนภาษาจีนแทน หลัง 'นักท่องเที่ยว-การลงทุน' จากแดนมังกรพุ่งสูง

(2 ก.ย. 67) เยาวชนจำนวนมากมองว่าการเรียนภาษาจีนเป็นหนทางในการหาเงินในประเทศที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งเงินเฟ้อสูงและค่าเงินที่อ่อนค่าลง ที่ส่งผลให้ชาวลาวจำนวนมากไปหางานทำในไทย การเรียนภาษาจีนกำลังได้รับความนิยมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อปักกิ่งเร่งลงทุนในประเทศยากจนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลแห่งนี้ ทั้งสร้างเขื่อน ถนน และโรงไฟฟ้า

เมื่อปีที่ผ่านมา บริษัทจีนได้ลงทุนในโครงการต่างๆ ในลาวรวม 17 โครงการ มูลค่า 986 ล้านดอลลาร์ ที่กำลังจะทำให้จีนกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดในไม่ช้าแทนที่ไทย กระทรวงวางแผนและการลงทุนระบุเมื่อเดือน ก.พ.

หลายคนลงเรียนภาษาจีนกลางที่สถาบันขงจื๊อ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสหรัฐฯ และที่อื่นๆ เนื่องจากเชื่อมโยงกับปฏิบัติการอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

เจ้าหน้าที่ฝ่ายลงทะเบียนระบุว่าสถาบันขงจื๊อของมหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์ ในหลวงพระบาง มีคนสมัครเรียนจนเต็ม

“เราเห็นนักท่องเที่ยวจีนในพื้นที่มากขึ้น และคนท้องถิ่นที่นี่ก็เรียนภาษาจีนกันมากขึ้นด้วย” เจ้าหน้าที่ระบุ

“มีโรงเรียนเอกชนของลาวหลายแห่งที่สอนภาษาจีน เพราะตลาดจีนกำลังขยายตัว นักท่องเที่ยวและธุรกิจของจีนเข้ามาที่เมืองและประเทศมากขึ้น” ชาวลาวคนหนึ่งที่ส่งลูกสาวไปเรียนภาษาจีนในหลวงพระบาง กล่าว

ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวในนครหลวงเวียงจันทน์รายงานว่ามีนักเรียนเข้าสอบเอนทรานซ์เพียง 5,457 คนเท่านั้น แม้จะเปิดรับถึง 7,700 คนก็ตาม

ส่วนมหาวิทยาลัยสะหวันนะเขต ทางตอนใต้ของประเทศ ระบุว่ามีนักเรียนเข้าสอบในปีนี้เพียง 329 คน แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยมีแผนรับนักศึกษาใหม่ 1,500 คน

และแม้แต่ในมหาวิทยาลัย ภาษาจีนก็กลายเป็นวิชาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด รวมถึงมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวด้วย

“ภาษาจีนเป็นวิชาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสถานศึกษาต่างๆ กระทั่งผู้ใหญ่เองก็เรียนภาษาจีนด้วย มีการลงทุนจากจีนในประเทศของเรามากขึ้น ดังนั้นผู้คนจึงเรียนภาษาจีนกันมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาหวังว่าภาษาจีนจะช่วยให้พวกเขาได้งานและรายได้ที่ดีขึ้น” อาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ระบุ

นอกจากนี้ การสมัครเข้าเรียนก็ลดลงเรื่อยๆ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

สำนักข่าววิทยุเอเชียเสรีรายงานในเดือน มิ.ย.ว่า นักเรียนในระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายระบุว่าพวกเขาออกจากโรงเรียนเพราะเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ และการขาดโอกาสในการทำงาน

จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเหล่านี้ลดลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเงินเฟ้อเพิ่มสูงทำให้ค่าอาหารและค่าเดินทางเพิ่มขึ้น ทำให้ครอบครัวต่างๆ เผชิญกับความยากลำบากในการจ่ายค่าอุปกรณ์การเรียนและชุดนักเรียน

จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นหลังจากลาวกำหนดให้ปี 2567 เป็นปีท่องเที่ยวลาว เพื่อสร้างงานและสร้างรายได้จากสกุลเงินต่างประเทศ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และหลังจากปิดประเทศไป 3 ปี เนื่องจากการระบาดของโควิด

“นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมชาวลาวจำนวนมากสนใจเรียนภาษาจีน คนที่พูดภาษาจีนได้ไม่เพียงแต่สามารถทำงานเป็นมัคคุเทศก์ได้เท่านั้น แต่ยังสามารถทำงานในโรงแรมและในธุรกิจของจีนได้ด้วย” มัคคุเทศก์ในหลวงพระบาง กล่าว

“พูดอีกอย่างคือคนที่มีทักษะการพูดภาษาจีนมีโอกาสดีกว่าที่จะได้งานและค่าจ้างที่ดีกว่า” มัคคุเทศก์คนเดิม กล่าว

ครูโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในแขวงหลวงน้ำทา ทางตอนเหนือของลาว กล่าวกับสำนักข่าววิทยุเอเชียเสรีว่าสำหรับปีการศึกษาหน้า โรงเรียนของเขาจะเปิดหลักสูตรภาษาจีนเพิ่มและชั้นเรียนหลังเลิกเรียน

ผู้อำนวยการของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในแขวงหลวงพระบางกล่าวว่าโรงเรียนของเขาต้องการครูชาวจีนจำนวนมาก ไม่ใช่ครูชาวลาวที่สามารถสอนจีนได้

'โชรส์เบอรี' เปิดหลักสูตร 'ฮั่นชิง' เน้นสอนภาษาจีน-อังกฤษ ค่าเทอมเริ่ม 6 แสนบาทต่อปี เผยผู้ปกครองพร้อมจ่ายเพียบ

(22 ม.ค.68) ในยุคที่ ภาษา กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยบนเวทีโลก โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กรุงเทพ ซิตี้ แคมปัส ได้ประกาศเปิดตัว 'โปรแกรมฮั่นชิง' (Hanqing Bilingual Pathway) หลักสูตรใหม่ที่เน้นการเรียนรู้สองภาษา คือ จีนกลางและอังกฤษ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ปกครองและแนวโน้มของโลก

อแมนดา เดนนิสัน ครูใหญ่และครูผู้บริหารรุ่นก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี เปิดเผยว่า หลักสูตรฮั่นชิงจะเริ่มเปิดการเรียนการสอนในปี 2568 โดยรับนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้น Early Years 1-2 (อายุ 3-4 ปี) หลักสูตรนี้จะมีการจัดสัดส่วนการเรียนการสอนเป็น ภาษาอังกฤษ 45% ภาษาจีน 45% และภาษาไทย 10% สอนโดยครูผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณวุฒิเทียบเท่ากับใบรับรองการสอนของประเทศอังกฤษ

“โปรแกรมนี้มุ่งเน้นการปูพื้นฐานวิชาการให้กับเด็กตั้งแต่อายุยังน้อย โดยมุ่งหวังให้เด็กมีทักษะภาษาที่แข็งแกร่งในระดับเจ้าของภาษา” เดนนิสันกล่าว พร้อมเสริมว่า “ภาษาจีนเป็นหนึ่งในภาษาที่มีการใช้แพร่หลายทั่วโลก ขณะที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล การเรียนรู้สองภาษานี้จะช่วยเปิดโอกาสและสร้างความได้เปรียบในอนาคต”

สำหรับนักเรียนที่เข้าร่วมโปรแกรมฮั่นชิง จะต้องเรียนจนจบระดับ Year 6 (เทียบเท่าประถมศึกษาปีที่ 6) โดยโรงเรียนตั้งเป้าหมายให้เด็กมีความสามารถด้านภาษาจีนในระดับ HSK 3-4 และพร้อมสำหรับการเรียนหลักสูตร IGCSE และ A-Level ในระบบการศึกษาอังกฤษ ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพในการแข่งขันในตลาดแรงงานระดับโลก

ผู้ปกครองให้ความสนใจสูง ค่าเทอมเริ่มต้น 6 แสนบาทต่อปี หลักสูตรฮั่นชิงได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากผู้ปกครอง โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยที่มองว่าการเรียนรู้ 3 ภาษา ได้แก่ ไทย จีน และอังกฤษ จะช่วยสร้างอนาคตที่ดีให้กับลูก ในขณะที่ผู้ปกครองชาวจีนยังคงให้ความสนใจในหลักสูตรภาษาอังกฤษล้วนมากกว่า

ค่าเล่าเรียนสำหรับโปรแกรมฮั่นชิงมีราคาใกล้เคียงกับหลักสูตรภาษาอังกฤษ ได้แก่

Early Years 1: 662,100 บาทต่อปี

Early Years 2: 697,200 บาทต่อปี

Years 1-2: 783,300 บาทต่อปี

Years 3-4: 840,300 บาทต่อปี

Years 5-6: 869,400 บาทต่อปี

โรงเรียนยังมีแผนในอนาคตที่จะเปิดคอร์สสอนภาษาจีนสำหรับผู้ปกครอง รวมถึงขยายไปยังกลุ่มบุคคลทั่วไปที่สนใจเรียนรู้เพิ่มเติม เพื่อสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ครอบคลุมทุกช่วงวัย การเปิดตัวโปรแกรมฮั่นชิงครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี ในการพัฒนาการศึกษาเพื่อรองรับโลกยุคใหม่ที่มีความซับซ้อนและการแข่งขันสูง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top