Monday, 21 April 2025
พลังงานบริสุทธิ์

‘EA’ โชว์ครึ่งแรกปี 67 กวาดรายได้หมื่นล้าน-กำไรสุทธิ 1.4 พันล้านบาท มั่นใจ!! เคลียร์ดอกเบี้ยหุ้นกู้ตามนัด พร้อมเดินหน้าหาพาร์ทเนอร์เสริมแกร่ง

(15 ส.ค. 67) นายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน กล่าวว่า “แม้รายได้และกำไรในครึ่งแรกของปี 2567 จะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้มีการส่งมอบ EV Bus ให้กับลูกค้ารายใหญ่ลดต่ำลง แต่ EA ยังมีรายได้ประจำที่เกิดขึ้นจากการขายไฟให้กับภาครัฐเดือนละประมาณ 1,000 ล้านบาทเพียงพอสำหรับการชำระคืนดอกเบี้ยหุ้นกู้ให้กับผู้ถือหุ้นกู้และคืนหนี้ให้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน” 

ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 กำไรสุทธิของบริษัทอยู่ที่ 1,430.44 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยลดลงจากผลการดำเนินงานของธุรกิจผลิตและจำหน่าย รถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์ จากผลการดำเนินงานของธุรกิจแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและจากผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เนื่องจากการหมดระยะเวลาการรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล (adder) 

สำหรับแผนการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปี 2567 ในส่วนของธุรกิจรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์ บริษัทฯจะมุ่งเน้นไปที่การจำหน่ายรถหัวลากไฟฟ้า (EV Truck) เป็นหลัก โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีการส่งมอบให้กับกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่หลายราย เช่น กลุ่มบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) JWD กลุ่มบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) PTTGC กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอช เอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) WHA เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังมีคู่ค้าอีกหลายรายที่อยู่ระหว่างการเจรจา และเตรียมการส่งมอบ EV Truck เพราะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการจากปัญหาราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง และสอดรับกระแส Green Energy ซึ่งอยู่ในเมกะเทรนด์โลก 

ในส่วนของธุรกิจแบตเตอรี่บริษัทฯ อยู่ในระหว่างปรับปรุงการออกแบบเพื่อนำแบตเตอรี่ไฟฟ้าไปใช้ในการผลิตรถหัวลากไฟฟ้า รวมถึงการนำแบตเตอรี่ไปจำหน่ายในรูปแบบของ Energy Storage (ESS) 

ในส่วนของธุรกิจไบโอดีเซล บริษัทมีรายได้จํานวน 2,042.40 ล้านบาท จากรายได้จากการผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล (B100) จากการผลิตและจำหน่ายกลีเซอรีนบริสุทธิ์ และจากการผลิตและน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) รวมถึงรายได้จากการผลิตและจำหน่าย PCM

นอกจากนี้ในส่วนของธุรกิจอื่น ๆ บริษัทฯยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจบริการสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า รายได้โครงการรับเหมาก่อสร้างติดตั้ง Solar Rooftop และรายได้จากโครงการกำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่เกาะล้านที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และเทศบาลนครภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

ในส่วนของงบดุล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 110,006.34 ล้านบาท โดยมีหนี้สินรวมจำนวน 69,709.87 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 40,296.48 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2566 จำนวน 3,713.14 ล้านบาท โดยหลักลดลงจากการจ่ายการจ่ายปันผลจำนวน 1,113.85 ล้านบาท ลดลงจากองค์ประกอบอื่นของส่วนของเจ้าของจำนวน 3,426.25 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิจำนวน 1,430.44 ล้านบาท

สำหรับการบริหารจัดการสภาพคล่อง หลังจากที่บริษัทได้ถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือจาก BBB+ (Negative) เป็น BB+ (Negative) ผู้บริหารได้ใช้นโยบายและการจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในการบริหารจัดการอย่างเร่งด่วน กล่าวคือ ในวันที่ 8 สิงหาคม 2567 กลุ่มกิจการได้เข้าทำสัญญาเงินกู้ยืม ระยะยาวและเงินกู้ยืมร่วม (Syndicated Loan) กับสถาบันการเงินหลายแห่งคิดเป็นจำนวนเงินรวมประมาณ 8,500 ล้านบาท เพื่อวัตถุประสงค์ในการชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน โดยมีการกำหนดเงื่อนไขการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยภายใน 3 ปี โดยกลุ่มกิจการจะทยอยจ่ายคืนเงินกู้ผ่านกระแสเงินสด (Cash Flow) จากการดำเนินงานตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภาครัฐ (PPA) 

ในวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2567 สำหรับหุ้นกู้รุ่น EA248A ผู้ถือหุ้นกู้มีมติอนุมัติการขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้โดยไม่ถือเป็นเหตุให้ผิดนัดจำนวน 1,500 ล้านบาท จากเดิมครบกำหนดในวันที่15 สิงหาคม พ.ศ. 2567 เป็นวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยจากเดิมร้อยละ 3.11 ต่อปีเป็นร้อยละ 5.00 ต่อปี และมีหลักประกันให้เพิ่มเติม โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดชำระ  

ในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้รุ่น EA249A บริษัทได้ขออนุมัติการขยายวันครบกำหนด ไถ่ถอนหุ้นกู้โดยไม่ถือเป็นเหตุให้ผิดนัดจำนวน 4,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผู้ถือหุ้นกู้ที่เข้าร่วมประชุม ในวันดังกล่าวไม่ครบองค์ประชุมซึ่งกำหนดไว้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 66 ของหุ้นกู้ที่ยังไม่ได้ไถ่ถอน จึงจะจัดการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งที่ 2/2567 ในวันที่ 23 สิงหาคม โดยการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งนี้ จะต้องมีองค์ประชุมมาเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของหุ้นกู้ที่ยังไม่ได้ไถ่ถอน บริษัทคาดว่า จะครบองค์ประชุมและได้รับการอนุมัติ

อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการเงิน บริษัทฯอยู่ในระหว่างการเจรจาหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ Strategic Partner ที่มีศักยภาพสามารถเข้ามาเพิ่มทุน และเพิ่ม Synergy ระหว่างกัน รวมถึงการจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทฯ ซึ่งรวมถึงการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) หรือการจำหน่ายสินทรัพย์ให้แก่นักลงทุนที่ให้ความสนใจ

นอกจากนี้ บริษัทยังมีพัฒนาการที่สำคัญในไตรมาสที่สอง 2 โครงการที่สำคัญ คือ โครงการที่ 1 EA ได้ลงนามในสัญญาร่วมพัฒนาโครงการ (Joint Development Agreement) กับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) จัดตั้งบริษัทร่วมทุน Super Holding Company ในบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแบบรวมศูนย์ของ สปป.ลาว ริเริ่มการเป็นศูนย์กลางการจำหน่าย และบริหารพลังงานสะอาดแบบครบวงจรของประเทศ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศให้มีเสถียรภาพในระยะยาว และตั้งเป้าภายใน 3 ปี เพิ่มรายได้ค่าไฟฟ้า ลดภาระ การนำเข้าน้ำมันดิบพัฒนาโครงการกักเก็บพลังงานไฟฟ้า จัดหาโซลูชั่น EV ลงทุนพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมร่วมผลักดันสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์แห่งชาติ ‘Battery of Asia’

โครงการที่ 2  EA ได้เข้าร่วมลงนามเป็น Strategic Partner กับ CRRC Dalain ซึ่งเป็นการส่งเสริมการลดคาร์บอนไดออกไซด์ของเครื่องยนต์สันดาปในแบบเก่า การเปลี่ยนแปลงเพื่อการยกระดับอุปกรณ์เส้นทางคมนาคม ซึ่ง EA และ CRRC Dalian ได้ร่วมมือใน 

1. ร่วมกันออกแบบและพัฒนาระบบไฟฟ้าแบตเตอรี่ และ/หรือระบบไฟฟ้าแบตเตอรี่ดีเซลไฮบริด สำหรับรถไฟหัวรถจักรและรถไฟโดยสาร

2. ร่วมกันสำรวจและประเมินความต้องการของลูกค้า จำหน่ายและจัดหาผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาร่วมกันในประเทศไทยและตลาดต่างประเทศ 

3. ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่ตามความต้องการของตลาดเป้าหมาย โดยใช้เทคโนโลยี การผลิตรถไฟที่แข็งแกร่งของ CRRC Dalian และเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเทียมและเทคโนโลยี Ultra-fast charge ของ EA เพื่อสร้างขีดความสามารถของเทคโนโลยีในระยะยาว ในด้านต้นทุน และประสิทธิภาพ 

4. ร่วมกันพิจารณาจัดตั้งโรงงานผลิตและประกอบในประเทศไทย

'EA' พร้อมระดมทุนก้าวฟื้นตัว ร่วมมือพันธมิตรจีน ลุยยานยนต์-แบตเตอรี่ กระแสเงินสดพลิกบวก 5,610 ล้านบาท

(8 ม.ค. 68) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) (EA) หนึ่งในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของไทย ล่าสุดเมื่อวานนี้ (7 มกราคม 2568) ได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากผู้ถือหุ้นในการระดมทุนประมาณ 7,400 ล้านบาท ผ่านการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งบริษัทคาดว่าจะใช้ในการเสริมสร้างการฟื้นฟูธุรกิจ หลังจากการปรับโครงสร้างอย่างเข้มข้นภายในกลุ่มบริษัทในระยะเวลา 5 เดือน ที่ผ่านมา

การดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ EA ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตเชื้อเพลิงจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลม, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การจัดหาผลิตภัณฑ์และระบบที่ใช้ในการกักเก็บและจำหน่ายไฟฟ้า เช่น ธุรกิจพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ ธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า และรวมถึงธุรกิจประกอบยานยนต์ไฟฟ้า เช่น รถบรรทุกไฟฟ้า รสบัสไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า

นายฉัตรพล ศรีประทุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีที่ได้จัดการธุรกิจจนสถานการณ์เริ่มนิ่งแล้ว ผ่านการตัดสินใจที่ยากลำบากบางอย่าง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้กลับมาคือ กระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง เป็นบวก และการสร้างกำไรอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจที่มีกำไรและปรับโครงสร้างธุรกิจที่ขาดทุน”

นายฉัตรพล กล่าวว่า "เรามีธุรกิจที่ทำกำไรจากการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการดำเนินธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยที่มีผลประกอบการเป็นบวก ธุรกิจเหล่านี้รวมกันคิดเป็น 60% ของรายได้ EA และเกือบทั้งหมดของกำไรของเรา เราเริ่มต้นธุรกิจเหล่านี้แทบจะก่อนใครในประเทศไทย และการตัดสินใจที่มีวิสัยทัศน์นั้นกำลังให้ผลตอบแทนอย่างงดงาม ด้วยกระแสรายได้ที่มั่นคงและอัตรากำไรที่นำหน้าในอุตสาหกรรม"

"อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของธุรกิจเหล่านี้ได้ถูกหักล้างด้วยธุรกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์และธุรกิจการผลิตแบตเตอรี่ของเรา ซึ่งกำลังขาดทุนและดูดซับเงินสดของเราไป หลักๆ แล้วสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเหล่านี้ ดังนั้น ในส่วนของการปรับโครงสร้าง เราจึงหยุดธุรกิจการประกอบยานยนต์ไฟฟ้าชั่วคราว และปรับลดขนาดธุรกิจแบตเตอรี่ และการตัดสินใจทั้งสองอย่างนี้ได้ช่วยหยุดการไหลออกของเงินสดของเราได้สำเร็จ"

นายฉัตรพล กล่าวว่า "เรามองเห็นศักยภาพในการเติบโตและการทำกำไรอย่างมหาศาลสำหรับ EA ทั้งในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์และธุรกิจแบตเตอรี่ แต่เพื่อที่จะฉวยโอกาสเหล่านี้ เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจของเรา ก่อนอื่นเราต้องสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้เล่นขนาดใหญ่ในตลาดโลกในภาคธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งจะช่วยให้เรามีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นและสามารถขยายตลาดไปยังนอกประเทศไทยได้ และประการที่สอง เราจำเป็นต้องใช้เงินทุนของเราให้น้อยลง ในภาคธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีเวลาจำกัดในการคืนทุน เราได้ลงมือเดินหน้าขับเคลื่อนตามกลยุทธ์นี้แล้ว ซึ่งจะทำให้เรามีความคล่องตัวและฟื้นกลับมารับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลกในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น"

นายฉัตรพลรายงานว่า ตอนนี้ EA กำลังจัดตั้งการร่วมทุนกับหนึ่งในผู้ผลิตยานยนต์ประเภทพิเศษรายใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ในการผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าประเภทพิเศษ โดยบริษัทร่วมทุนนี้คือ Chengli Special Automobile Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกรถประเภทพิเศษมากกว่า 30,000 คัน ไปกว่า 30 ประเทศทั่วโลก

ในบันทึกข้อตกลงที่ได้ลงนามร่วมกับ EA ในเดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมาได้ตกลงกันว่า ยานยนต์จะถูกประกอบในโรงงานประกอบของ EA ที่มีพื้นที่ขนาด 65,000 ตารางเมตร (80 ไร่) ตั้งอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยความสามารถในการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 3,000 - 9,000 คันต่อปี ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของยานยนต์ประเภทพิเศษที่ผลิต โดยคาดว่าจะเริ่มการผลิตในเดือนเมษายน 2568  โดยยานยนต์ไฟฟ้าที่โรงงานเราจะประกอบมีทั้ง รถพยาบาล รถขยะ และรถกระเช้า ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทพิเศษเหล่านี้จะถูกประกอบขึ้นในประเทศไทยในระดับอุตสาหกรรม การร่วมทุนนี้คาดว่าจะสร้างรายได้มากกว่า 3,000 ล้านบาท สำหรับรายได้ปีแรกของการดำเนินการเต็มรูปแบบในปี 2569

EA ยังได้รายงานการลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อจัดตั้งการร่วมทุนกับหนึ่งในผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับแนวหน้าของประเทศจีน ซึ่งมีฐานลูกค้าสำคัญอยู่ในตลาดสหรัฐอเมริกา และยุโรป โดยการร่วมทุนนี้จะเป็นการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และจะเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่แรกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แบตเตอรี่เหล่านี้จะถูกใช้งานหลักๆ ในด้านระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ การผลิตจะดำเนินการที่พื้นที่ผลิตแบตเตอรี่ของ EA ขนาด 80,000 ตารางเมตร (91 ไร่) ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และจะขยายกำลังการผลิตจาก 2 กิกะวัตต์ในปัจจุบันไปเป็น 4 กิกะวัตต์ การลงนามข้อตกลงการร่วมทุนคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดยจะเริ่มการจัดเตรียมสถานที่และเครื่องจักรการผลิตในปี 2568 

นายฉัตรพลกล่าวเพิ่มเติมว่า "เรามีความยินดีที่ได้รับความไว้วางใจอย่างท่วมท้นในแผนธุรกิจที่นำเสนอ โดยได้รับการโหวตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น ถึง 99.9% ในการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวานนี้ ผมขอขอบคุณผู้ถือหุ้นทุกท่านที่เชื่อมั่นในการเดินหน้าตามแผนเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เรากำลังทำอยู่”

“เงินทุนใหม่ที่ได้รับจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถานะทางการเงินของ EA และช่วยให้เราสามารถคว้าโอกาสที่น่าสนใจต่างๆ ในอนาคตได้ เมื่อเราเดินหน้าเข้าสู่ก้าวของการฟื้นตัว” นายฉัตรพลกล่าว

นายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) (EA) กล่าวว่า “เงินทุนที่จะได้จากการเพิ่มทุนที่ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้น ในวันที่ 7 มกราคม หลักๆ จะถูกนำไปใช้ในการชำระคืนเงินกู้ธนาคารและใช้ในการไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด เราหวังว่าจะลดหนี้สินจาก 58,664 ล้านบาท ลงเหลือ 52,004 ล้านบาท ซึ่งนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยรายปีลงได้ประมาณ 300 ล้านบาทแล้ว จะช่วยปรับปรุงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้ดีขึ้นด้วย และเป็นประโยชน์ต่อเสถียรภาพทางการเงินและความน่าเชื่อถือของบริษัท รวมทั้งจะช่วยในส่วนของเงินกู้ให้ได้รับเงื่อนไขที่ดีขึ้นส่งผลให้เราประหยัดดอกเบี้ยมากขึ้นด้วย"

ระยะเวลาในการสมัครเข้าร่วมการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน คือระหว่างวันที่ 17 - 23 มกราคม 2568

จากรายงานล่าสุดของ EA เปิดเผยว่า กระแสเงินสดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 เป็นบวกดีมากอยู่ที่ 5,610 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากกระแสเงินสดที่เดิมติดลบ 1,726 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และสูงกว่าเกือบสามเท่าจากปีก่อนหน้านี้ กำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 1,852 ล้านบาท และ EBITDA อยู่ที่ 6,183 ล้านบาท จากรายได้ 14,397 ล้านบาท

อย่าพลาด! EA ใช้สิทธิเพิ่มทุน 17-23 ม.ค.นี้ สัดส่วน 1:1 หุ้นละ 2 บาทพร้อมวอร์แรนต์ฟรี!

บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เดินหน้าเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจพลังงานอย่างเต็มที่ 
หลังปรับโครงสร้างภายในกลุ่มบริษัทเสร็จเรียบร้อยแล้ว ล่าสุดผู้ถือหุ้นไฟเขียวเพิ่มทุน จำนวน 4,951,121,866 หุ้น พร้อมแบ่งจัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิม จำนวน 3,713,341,400 หุ้น ในอัตราส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ราคาจองซื้อหุ้นละ 2 บาท พร้อมรับใบสำคัญแสดงสิทธิ (วอร์แรนต์) EA-W1 ฟรี!!! ในอัตราส่วน 3 หุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อ 1 วอร์แรนต์  โดยกำหนดราคาใช้สิทธิแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญที่ 4 บาทต่อหุ้น ระยะเวลาใช้สิทธิ 3 ปี เพื่อตอบแทนความไว้วางใจและเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ขณะนี้ EA พร้อมสุดๆ สำหรับการสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืน 

อย่าพลาดโอกาสดีๆ!!! วันที่ 17 - 23 ม.ค. 2568 เป็นวันจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน…ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.energyabsolute.co.th

EA มั่นใจเพิ่มทุน 7,426 ล้านบาท ฉลุย! หลังผู้ถือหุ้นเชื่อมั่นการปรับโครงสร้างธุรกิจ

(28 ม.ค. 68) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) (EA) หนึ่งในธุรกิจพลังงานทดแทนชั้นนำของประเทศ ประกาศในวันนี้ว่า แผนการพลิกฟื้นธุรกิจได้รับการสนับสนุนอีกครั้งอย่างท่วมท้น จากความสำเร็จของการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในช่วงวันที่ 17-23 มกราคม 2568 โดยมีการจองซื้อเกินกว่าเป้าหมาย สามารถระดมทุนได้ทั้งสิ้น 7,426 ล้านบาท

นายฉัตรพล ศรีประทุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า "เงินทุนที่ได้มาใหม่นี้จากผู้ถือหุ้น แสดงถึงความเชื่อมั่นของผู้ถือหุ้นที่เชื่อว่าการปรับโครงสร้างธุรกิจที่เราได้ดำเนินการตั้งแต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน ช่วยให้ธุรกิจมีเสถียรภาพ และวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการเติบโตในอนาคต เงินทุนเหล่านี้จะถูกใช้เพื่อลดหนี้ เพิ่มความน่าเชื่อถือทางการเงิน และลงทุนในโครงการต่าง ๆ ต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วสู่ก้าวต่อไปของแผนในการฟื้นตัว"

"เรายินดีและขอบคุณที่ได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากผู้ถือหุ้น ส่งผลให้การเสนอขายหุ้นสามัญ เพิ่มทุนครั้งนี้ได้รับการจองซื้อเกินกว่าเป้าหมาย เงินทุนเหล่านี้จะช่วยลดหนี้ เพิ่มความน่าเชื่อถือทางการเงิน และช่วยให้ธุรกิจเราเดินหน้าสู่ก้าวต่อไปในการฟื้นตัว"

EA เปิดเผยว่า ส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจในภาพรวม คือ EA กำลังมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจที่สร้างผลกำไรสูง ได้แก่ การผลิตไบโอเชื้อเพลิง การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ และการดำเนินธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีกระแสเงินสดเป็นบวก ธุรกิจเหล่านี้รวมกันสร้างรายได้ประมาณ 60% ของรายได้รวมของ EA ในขณะเดียวกัน EA ได้หยุดหรือลดขนาด 2 ธุรกิจที่ขาดทุน ในระหว่างเตรียมการปรับโครงสร้าง ได้แก่ ธุรกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ และธุรกิจการผลิตแบตเตอรี่ โดยจะมีการหาพันธมิตรสำหรับแต่ละธุรกิจที่เป็นรายใหญ่ระดับนานาชาติที่จะช่วยให้ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก และช่วยขยายตลาดไปต่างประเทศได้

นายฉัตรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า "เรากำลังเดินหน้าที่จะเริ่มการประกอบยานยนต์ไฟฟ้าประเภทพิเศษที่โรงงานฉะเชิงเทราในเดือนเมษายน 2568 โดยร่วมมือกับผู้ผลิตยานยนต์ประเภทพิเศษรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของประเทศจีนที่ชื่อ Chengli Special Automobile Co., Ltd. (บริษัท เฉิงหลี่ สเปเชียล ออโตโมบิล) เราจะเป็นรายแรกในประเทศไทยที่ประกอบยานยนต์ไฟฟ้าประเภทพิเศษในจำนวนมาก เช่น รถพยาบาล รถเก็บขยะ และยานพาหนะประเภทพิเศษอื่น ๆ นอกจากนี้ เรากำลังเดินหน้าการเจรจาร่วมทุนกับบริษัทจากประเทศจีนเพื่อเป็นโรงงานแรกขนาดใหญ่ในประเทศไทยในการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่มีกำลังการผลิต 4 กิกะวัตต์"

จากการเปิดเผยล่าสุดของ EA กระแสเงินสดจากการดำเนินงานในเก้าเดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 5,610 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากติดลบ 1,726 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงกว่าปีก่อนหน้านี้เกือบสามเท่า

EA ถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มบริษัท Top 10% ของโลก ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน ESG กลุ่มพลังงานไฟฟ้า

(17 ก.พ. 68) - บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในธุรกิจพลังงานทดแทนชั้นนำของประเทศ ประกาศในวันนี้ว่า บริษัทถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มบริษัท 10% ที่ดีที่สุดของโลกจากการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) ในกลุ่มสาธารณูปโภคไฟฟ้าในปี 2568  จาก S&P Global Corporate Sustainability Assessment องค์กรชั้นนำด้านการประเมิน ESG ผู้จัดทำดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) โดยมีผู้เข้ารับการประเมิน 7,690 บริษัทจาก 62 อุตสาหกรรมทั่วโลก 

นายฉัตรพล ศรีประทุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การได้รับความยอมรับในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าของ EA ในเรื่องความเป็นเลิศทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลหรือธรรมาภิบาล (ESG) ตอกย้ำจุดยืนของ EA ในฐานะผู้นำในธุรกิจพลังงานสะอาด ซึ่งทั้งหมดนี้ยืนยันถึงเจตนารมณ์ของบริษัทที่มุ่งสร้างสรรค์พลังงานสะอาดและการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม”

นายฉัตรพลกว่าเพิ่มเติมว่า "เราภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในบริษัทระดับท๊อปของโลกในเรื่องของความยั่งยืน และเป็นเพียงหนึ่งใน 2 บริษัทจากประเทศไทยที่คว้ารางวัลในกลุ่มสาธารณูปโภคไฟฟ้า รางวัลนี้ไม่ได้เป็นเพียงความภาคภูมิใจของเราเท่านั้น แต่ยังเป็นความภูมิใจของประเทศที่แสดงถึงศักยภาพของคนไทยที่ก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับโลก เราจะยังคงเดินหน้าในการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทนและการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยจะมุ่งมั่นและยึดถือเป็นค่านิยมหลักของบริษัทต่อไป"

ในฐานะผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด EA เดินหน้าผลักดันการใช้พลังงานทดแทน ยานยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยี Battery Energy Storage System เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของโลกไปสู่อนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (low-carbon) โดยบริษัทมีการดำเนินโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และลมขนาดใหญ่ การติดตั้งระบบจัดเก็บพลังงานแบตเตอรี่ และการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งล้วนมีบทบาทสำคัญในการสร้างโลกที่ยั่งยืนและมีใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยความมุ่งมั่นภายใต้แนวคิด “Energy Absolute, Energy for the Future” EA จะยังคงเป็นผู้นำนวัตกรรมที่ยั่งยืนเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทยและการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลกต่อไป

การดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ EA ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตเชื้อเพลิงจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลม, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การจัดหาผลิตภัณฑ์ และระบบที่ใช้ในการกักเก็บและจำหน่ายไฟฟ้า เช่น ธุรกิจพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ ธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า และรวมถึงธุรกิจประกอบยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เช่น รถบรรทุกไฟฟ้า รสบัสไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top