Monday, 21 April 2025
พระมหากษัตริย์ไทย

‘จาก ร.6 ถึง ร.10’ พระมหากษัตริย์ ผู้ยอมให้...รัฐเก็บภาษี!! | MEET THE STATES TIMES EP.62

📌 ‘จาก ร.6 ถึง ร.10’ พระมหากษัตริย์ ผู้ยอมให้...รัฐเก็บภาษี!!
📌 ด้วยพระราชปณิธานของ รัชกาลที่ 6 สืบสานถึง รัชกาลที่ 10!! 

👄 ในรายการ MEET THE STATES TIMES ข่าวคุยเพลิน

💻 ดำเนินรายการโดย หยก THE STATES TIMES

.

.

'อดีตทูตไทยฯ' ย้อนอดีต ประเทศไทยอยู่รอดปลอดภัยมาตลอด ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์

นายนริศโรจน์ เฟื่องระบิล อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า...

หลังจากที่เขียนเล่าประสบการณ์ที่ได้เคยปฏิบัติหน้าที่เป็นล่ามถวายงานในหลวง ร.10 ตอนที่เสด็จฯ เยือนลาตินอเมริกาใต้ ไปแล้ว ปรากฏว่ามีเสียงตอบรับจาก FC จำนวนมาก บอกว่าอยากฟังอีก ผมก็พยายามเรียบเรียงจากความทรงจำเท่าที่พอจะจำได้ ให้เพื่อนๆ ฟังอีกนะครับ

ช่วงที่เสด็จฯ เยือนเปรู มีเหตุการณ์ประทับใจ และเหตุการณ์น่าตื่นเต้น เท่าที่จำได้คือ...

มีหมายกำหนดการนึงพระองค์ต้องเสด็จฯ ไปที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของเปรู ที่กรุงลิมา ซึ่งตอนนั้นมีจัดนิทรรศการเกี่ยวกับอารยธรรมอินคาอยู่ ซึ่งพระองค์ทรงสนพระทัยในเรื่องประวัติศาสตร์และอารยธรรมอินคามาก 

จนเสด็จฯ มาถึงหน้าบอร์ดนิทรรศการนึงเป็นรูปภาพแกะสลักที่หน้าผาแห่งหนึ่งเป็นรูปเหมือนพระธิเบตนั่งสมาธิมีหมวกทรงสูงครอบศีรษะ เรียงรายไปตามแนวของหน้าผาหลายรูป 

ตอนนี้พระองค์ท่านทรงหันมาทางผมและมีรับสั่งว่า ดูเหมือนพระทางพุทธศาสนากำลังนั่งสมาธิ ผมก็เลยแปลบอกกับ ภัณฑารักษ์ ที่ทำหน้าที่บรรยายตามที่ทรงมีรับสั่ง ปรากฏว่า ภัณฑารักษ์ พยักหน้าทันทีบอกว่า ใช่ เหมือนพระพุทธรูป (ภาษาสเปนเรียก El Buda) และชมว่าพระองค์ทรงช่างสังเกตมาก นักโบราณคดีก็สงสัยเหมือนกันว่าทำไมรูปแกะสลักเหล่านี้ถึงเหมือนพระพุทธรูป ที่มาปรากฏถึงลาตินอเมริกาใต้ได้ 

กำหนดการต่อมาก็เสด็จฯ ไปเยือน รร.นายร้อยของเปรู พระองค์ทรงฉลองพระองค์ในเครื่องแบบพลเอกทหารบก ตอนนั้นผมได้ยิน จนท.ทหารหญิงที่เฝ้ารอรับเสด็จฯ แอบชมพระองค์ท่านกับผมว่าทรง muy guapo ซึ่งภาษาสเปนแปลว่า ทรงหล่อมากนั่นเอง 

จากนั้นทางรัฐบาลเปรู ก็ได้จัดเครื่องบินพระที่นั่งแบบ Fokker F27 ซึ่งเป็นไอพ่น 2 เครื่องยนตร์ เพื่อให้พระองค์ได้บินขึ้นไปชมความมหัศจรรย์ของ Nazcar Line ซึ่งเป็นลวดลายต่างๆ บนพื้นดินเช่น ลิงม้วนหาง นกอินทรี แมงมุม เป็นต้น แต่ละลวดลายนั้นมันกว้างใหญ่มาก ซึ่งหากยืนบนพื้นดินก็จะมองไม่ออก จะต้องมองมาจากที่สูงเท่านั้น ถึงจะเห็นลวดลายทั้งหมด ซึ่ง Nazcar Line นั้นก็ยังเป็นปริศนาจนถึงทุกวันนี้ว่าใครเป็นคนสร้าง จนเกิดเป็นทฤษฎี UFO นั่นเอง

ต่อมาพระองค์ท่านก็ได้เสด็จฯไปเยือนอาณาจักรอินคาที่เมือง Cuzco และ Machu Pichu ซึ่งก็มีเหตุการณ์ประทับใจที่ผมยังจำภาพได้ถึงทุกวันนี้คือ ตอนที่เสด็จฯ ไปยืนที่หน้าป้อมโบราณของอินคา ตรงนั้นเป็นลานสนามหญ้ากว้าง ทางฝ่ายเปรูก็ได้นำนักเรียนอนุบาลตัวเล็กๆ มารอรับเสด็จฯ 

พอเสด็จฯ ถึงที่นั้น ทางเปรูก็ปล่อยให้เด็กๆ ชาวเปรู (ลูกหลานอินคา) ทั้งหญิงและชายวิ่งเข้ามาหาพระองค์ท่าน โดยเด็กๆ วิ่งเข้ามาพร้อมร้องว่า El Principe (แปลว่า เจ้าชาย) เข้าไปรายล้อมพระองค์ท่าน พระองค์ท่านก็ทรงเป็นกันเองแย้มพระสรวลลูบศีรษะเด็กๆ เหล่านั้นด้วยพระเมตตายิ่ง เป็นภาพที่ยังติดตาผมจนถึงทุกวันนี้

จากเปรู ก็ต้องเสด็จฯ ต่อไปที่ เอกวาดอร์ เนื่องจากคณะฝ่ายไทยบางส่วนต้องเดินทางล่วงหน้าไปรอรับเสด็จฯ ที่เอกวาดอร์ก่อน ซึ่งทางการเปรูก็ได้จัดเครื่องบิน Fokker F 27 ลำเดิมที่ใช้บินชม Nazcar Line ให้คณะล่วงหน้าไปรอที่เอกวาดอร์

ตอนนี้มีเรื่องตื่นเต้นคือ เครื่อง Fokker F 27 ลำนั้น เกิดเครื่องไอพ่นดับไป 1 เครื่องก่อนที่จะร่อนลงสนามบินกรุง Quito ทำให้นักบินต้องขอเคลียร์รันเวย์ทำ emergency landing เดชะบุญที่เครื่องร่อนลงอย่างปลอดภัย พอตรวจก็พบว่าไอพ่นเครื่องนึงนั้นมีละอองทรายซึ่งสันนิษฐานว่าอาจฟุ้งเข้าเครื่องตอนที่บินเหนือ Nazcar Line นั่นเอง

การเสด็จฯ เยือนเอกวาดอร์ก็เป็นไปโดยราบรื่น เสด็จฯ ไปเยี่ยมชมจุดที่เรียกว่าเป็น “สะดือโลก” ซึ่งเอกวาดอร์เคลมว่าเป็นจุดศูนย์กลางของโลก 

จากเอกวาดอร์ ต้องเสด็จฯ จากกรุง Quito ไปเยือนหมู่เกาะกาลาปาโกส ซึ่งเป็นหมู่เกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิก มีความน่าสนใจทั้งด้านธรณีวิทยา สัตววิทยา และนิเวศวิทยา มีชื่อภาษาสเปนอย่างเป็นทางการว่า กลุ่มเกาะ Colon (เป็นชื่อของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ในภาษาสเปน) ตั้งอยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตร 

ย้อนประวัติศาสตร์สยาม ฝ่าพายุร้ายจากตะวันตกนับเกือบ 200 ปี พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงทำให้เกิดความเจริญ

'พล.ท.นันทเดช' ย้อนประวัติศาสตร์ 'ประเทศไทยในสถานการณ์สู้รบ' สยามฝ่าพายุร้ายจากตะวันตกนับเกือบ 200 ปี พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงตั้งรับไว้ได้ย่างเหมาะสม สยามจึงที่มีทั้งความสงบและเจริญ ในลำดับ 1 ของเอเซีย ซัดคณะราษฎรไม่ได้สร้างโครงสร้างพื้นฐาน ชิงอำนาจกันเอง จนเกิดเผด็จการทางสภา

(5 ต.ค. 65) พลโทนันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ(ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง ประเทศไทยในสถานการณ์สู้รบ ตอนที่ 1 มีรายละเอียดดังนี้

สยามฝ่าพายุร้ายจากตะวันตก ที่พัดกระหน่ำซัดใส่มานาน แสนนาน นับเกือบ 200 ปีแล้ว แต่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ทรงได้ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ภูมิทัศน์ และแนวตั้งรับ ของประเทศไว้ได้ย่างเหมาะสม โดยทรงภารกิจ จัดวางโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เครื่องมือสนับสนุนการประกอบอาชีพ ให้ราษฎร และทรงคุ้มเกล้าให้กำลังใจ ความหวัง ร่วมทุกข์ร่วมสุข กับประชาชนตลอดมา

โดยเฉพาะในรัชสมัยอันยาวนานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทำให้คนไทยได้มองเห็น และเข้าใจถึง 'สิ่งดี ๆ' ที่เคยเกิดขึ้นในวันก่อน ซึ่ง 'สิ่งดี ๆ'เหล่านั้น จะอยู่มาจนถึงวันนี้ หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่คนไทยหลากหลายวัยในยุคปัจจุบันนี้ ว่าจะช่วยกันรับมืออย่างไร เมื่อมีคนกลุ่มหนึ่งพยายามริดรอนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทย ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ให้ลดน้อยลงไป เหลือเป็นเพียง 'สัญญลักษณ์' หรือ สาบสูญไป เพียงหวังอย่างเดียวว่า “ถ้าเป็นผลสำเร็จ พวกเขาจะซื้อขายประเทศไทย กันได้สะดวกยิ่งขึ้น รวมถึงการเดินทางกลับประเทศไทย ของคนอีกกลุ่มหนึ่งก็จะง่ายขึ้นด้วย ”

นอกจากนั้น ก็ยังมีอีกหลายประเทศ ที่ไม่อยากให้ประเทศไทยเติบโตไปมากกว่านี้อีก เพราะจะส่งผลกระทบต่อ สถานภาพของประเทศพวกเขา จึงได้เข้ามาผสมโรง สนับสนุนคนกลุ่มนี้

เรียงความตอนที่ 1 เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร วันที่ 13 ตุลาคม 2565

ตอนที่ 2 : เปรียบเทียบการใช้พระราชอำนาจของในหลวงรัชกาลที่ 5 และ ในหลวงรัชกาลที่ 6 กับการใช้อำนาจ ของรัฐบาล คณะราษฎร ว่าตรงส่วนไหนท่ีจะทำให้ประเทศไทยดีขึ้น

รัชสมัย ร.5 พระองค์ทรงใช้พระราชอำนาจอย่างเต็มที่หลายเรื่อง เพื่อปรับปรุงพัฒนาประเทศให้ทันสมัย เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วที่สำคัญ คือ

(1) การกำหนดขอบเขตแผ่นดินสยาม (สยามไม่เคยมีเส้นเขตแดนชัดเจนมาก่อน)
(2) การเลิก ไพร่/ทาส
(3) การลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศทุกด้าน (ตลอด 25 ปีของรัฐบาลคณะราษฎร ไม่เคยทำเรื่อง โครงสร้าง อย่างจริงจังเลย มาเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม เป็นครั้งที่2 แล้วก็เลยมาที่รัฐบาลลุงตู่ นี่แหละ เป็นครั้งที่3 น่าเศร้าใจไหมครับ)
(4) การปูพื้นฐานทางด้านประชาธิปไตย เช่น การเลือก กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน, การให้อำนาจตัดสินคดีแก่ศาล,การส่งนักเรียนทุนหลวงไปศึกษาต่างประเทศ ฯลฯ แต่นักเรียนทุนบางคนกลับมาทำปฏิวัติผู้ส่งไปเรียนเสียเอง รวมทั้งจับกุมนักเรียนทุนท่ีไม่เห็นด้วยไปขังคุก โดยตั้งศาลพิเศษ (ญี่ปุ่นซึ่งมีความเจริญไล่ๆกันกับไทย และมีรัฐธรรมนูญท่ีจักรพรรดิ์ มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ ได้นักเรียนทุนกลับมาพัฒนาประเทศ เจริญก้าวหน้าไปกว่าไทย ทั้งท่ีส่งคนไปเรียนพร้อมๆกัน จำนวนคนไปเรียนก็พอๆกันประมาณ400คน)

ในรัชสมัย ร.6 พระองค์ ทรงหาทางแก้ไขการทำสัญญาทางการค้า ที่เสียเปรียบต่างชาติ ดังนั้นพระองค์ทรงใช้พระราชอำนาจ ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ประกาศสงครามกับเยอรมัน ท่ามกลางคำคัดค้านของทหาร และขุนนาง เมื่อชนะสงคราม สยามก็ได้รับการค้ำประกันอิสรภาพ ในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติ และได้รับการแก้ไข สัญญาที่ไม่เป็นธรรมทุกฉบับ รวมถึงการซื้อเครื่องบินจำนวนมาก กลับมาใช้ในราชการไทย ( จอมพล ป.เข้าร่วมกับญี่ปุ่น ประกาศสงครามโลกครั้งท่ี2กับประเทศกลุ่มพันธมิตร

โชคดี ที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ทูตไทย ประจำสหรัฐฯไม่ยอมรับคำสั่งรัฐบาล จัดตั้งกลุ่มเสรีไทยขึ้น และส่งคนไปจัดตั้งที่อังกฤษ เพิ่มขึ้นอีก ต่อมานายปรีดี ได้จัดตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นในไทย ซึ่งได้กลายเป็นจุดประสานงานของกลุ่มเสรีไทย เมื่อสงครามจบ ไทยยกเอาเรื่องเสรีไทยขึ้นมาอ้าง สหรัฐฯยอมรับ แต่อังกฤษ จะเอาไทยเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ ประชาชนเดือดร้อนกันมาก ม.ร.ว.เสนีย์ ใช้ความเป็นทูตประจำสหรัฐฯ เจรจาจนสำเร็จแม้จะเสียเปรียบบ้างก็ตาม )

นอกจากนั้น ในหลวง ร.6 ยังทรงระดมสร้างโครงงานพื้นฐานของประเทศต่อจาก ร.5 จนสำเร็จหมดทุกโครงการจากการกู้เงินในตลาดการเงินยุโรปเพื่อนำมาลงทุน เพิ่มเติม รวม 5 ล้านปอนด์ เมื่อโครงงานเสร็จ การค้าขาย นาข้าว การขนส่งฯลฯ ก็เจริญก้าวหน้าขึ้น เศรษฐกิจเริ่มดีมากขึ้น รัฐบาลก็ทยอยได้รับเงินคืนมามากขึ้นเช่นกัน

‘เต้’ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวแสดงจุดยืนเกี่ยวกับ ม.112

นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หรือ ‘เต้’ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวแสดงจุดยืนเกี่ยวกับ ม.112 ในเวที BIG DEBATE เลือกตั้ง'66 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 66 กรณี ‘ก้าวไกล’ เสนอแก้ไข ม.112 และ ‘เพื่อไทย’ ยังแสดงจุดยืนไม่ชัดเจน โดย ‘เต้’ มงคลกิตติ์ ย้ำชัดเจน ว่า “ไม่ยกเลิก-ไม่แก้ไข ม.112”

เรื่องเล่าจาก ‘เงินถุงแดง’ ย้อนไทม์ไลน์วิวัฒนาการของ ‘ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์’ ผ่านเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของไทย

(27 พ.ค. 66) จากประเด็น ‘ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์’ ที่ได้เกิดขึ้นมาตลอดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลัง ‘กลุ่มราษฎร’ ได้ประกาศจุดยืนในการเปลี่ยนแปลงประเทศ จึงทำให้ทางรายการข่าววันศุกร์ ข่าวช่องวัน ได้ออกมานำเสนอข่าว ‘วิวัฒนาการของทรัพย์สินพระมหากษัตริย์’ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร

โดยได้สรปุอย่างคราวๆ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ไล่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 10 โดยระบุว่า…

วิวัฒนาการของทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เริ่มต้นจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาล 1 ซึ่งนับเป็นยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนต้น ทรัพย์ราชสำนัก กับรัฐบาลที่ทับซ้อนกัน พระมหากษัตริย์ทรงใช้จ่ายได้อย่างอิสระ เนื่องจากในยุคนั้น ยังมีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังนั้น รัฐบาลจึงหมายถึง ตัวขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงเป็นทั้งประมุขและผู้นำฝ่ายบริหาร ยังไม่มีการจัดการเกี่ยวกับเรื่องของทรัพย์สินของรัฐฯ เพราะในยุคสมัยนั้น ยังไม่มีการจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรม ในการรับผิดชอบ ดูแลเรื่องต่างๆ ในประเทศ

จนกระทั่ง ได้มีวิวัฒนาการก่อกำเนิดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งทรงมีปรีชาสามารถในเรื่องเกี่ยวกับการค้าขาย ทรงออกทะเลไปทำการเจรจาทางการค้ากับต่างประเทศ เมื่อได้เงินกลับมาจากการค้า จึงได้นำมาใส่ไว้ใน ‘ถุงแดง’ พระองค์ได้ทำการเก็บสะสมเงินเหล่านี้ไว้ เมื่อมีมากขึ้นจึงต้องสร้างห้อง ซึ่งติดกับพระแทน หรือ พระที่ เพื่อเก็บเงินถุงแดงเอาไว้ จนเรียกกันติดปากว่า ‘เงินข้างที่’ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของคำว่า ‘พระคลังข้างที่’ นั่นเอง และเงินส่วนนี้ นับเป็นเงินส่วนพระองค์ เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ออกเรือไปทำการค้าขาย ยังไม่นับว่าเป็นเงินของประเทศไทย หรือ ‘สยาม’ ใน ณ ขณะนั้น

จนเมื่อถึงรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เกิดเหตุการณ์ ‘รัตนโกสินทร์ศก’ หรือที่เรียกกันว่า ‘ร.ศ.112’ ที่เกิดการปะทะกันระหว่างประเทศไทยและจักรวรรดินิยมของโลกในขณะนั้น อย่างประเทศอังกฤษ และฝรั่งเศส โดยเฉพาะฝรั่งเศส ที่มีการปะทะกันอย่างรุนแรง จนทำให้รัชกาลที่ 5 ต้องนำเงินถุงแดงมาจ่ายให้กับรัฐบาลฝรั่งเศส เพื่อเจรจาต่อรองให้กองทัพของฝรั่งเศส ถอดทัพออกจากปากแม่น้ำเจ้าพระยา และยังต้องยอมแลกแผ่นดินบางส่วนของประเทศให้กับฝรั่งเศส เพื่อรักษาแผ่นดินผืนใหญ่ของชาติเอาไว้

หลังจากเหตุการณ์นั้นทำให้รัชกาลที่ 5 ท่านทรงเล็งเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการการปกครองต่างๆ ในประเทศมากขึ้น โดยได้เปลี่ยนจากรูปแบบเวียง วัง คลัง นา เป็นการจัดตั้งกระทรวงต่างๆ ขึ้นมาใหม่ และได้มีการตั้ง ‘กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ’ เพื่อจัดเก็บภาษี เป็นเงินแผ่นดิน นับเป็นการแยกทรัพย์สินของแผ่นดินสยาม และทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ออกจากกันเป็นครั้งแรก ที่ได้มีการบันทึกไว้

นอกจากนี้ ยังได้ตั้ง ‘กรมพระคลังข้างที่’ ขึ้น เพื่อคอยดูแลจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ และยังเริ่มทำการลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย ซึ่งทำให้รายได้หลักของกรมพระคลังข้างที่นั้น มาจากการปล่อยให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งธนาคารไทยพาณิชย์ และการก่อตั้งบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ‘SCG’ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นเงินจากกรมพระคลังข้างที่ ถือการลงทุนมหาศาลจนกลายเป็นหน่วยงานที่มีการครอบครองที่ดินมากที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังได้งบประมาณจากการจัดเก็บภาษี ปีละ 15% จากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เข้ากรมพระคลังข้างที่

ต่อมา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้กรมพระคลังข้างที่ ที่เคยมีบทบาทอย่างมากในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ถูกลดบทบาทลงมาจนกลายเป็น ‘สำนักงานพระคลังข้างที่’ ซึ่งขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี อีกทั้งยังเป็นรัชสมัยที่สำคัญที่ทำให้ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์นั้นเกิดความสั่นคลอน โดยคณะ ‘อภิวัฒน์สยาม 2475’

ทำให้ในอีก 4 ปีต่อมา ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้เกิดการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจกันอย่างดุเดือด ระหว่างฝ่ายอํามาตย์ และคณะราษฎร ว่าใครจะเป็นผู้ได้ทรัพย์สินจากกรมพระคลังข้างที่ ใครจะได้ทรัพย์สินที่เป็นของพระมหากษัตริย์ และอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุด คือการออกฎกหมาย พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สิน ฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 และได้จัดตั้ง ‘สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์’ ซึ่งเป็นสำนักงานภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง โดยได้ทำการแยกทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1.) ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คือ ทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ 
2.) ทรัพย์สินส่วนพระองค์ คือ ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ ในฐานะบุคคลคนหนึ่ง
3.) ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสํานักงานพระราชวัง

จนกระทั่ง ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้มีการปรับเปลี่ยน และแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สิน ฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2491 ในภายหลังจากที่กลุ่มคณะราษฎรนั้นได้เริ่มอ่อนกำลังลง จนกระทั่งสิ้นสุดอำนาจลง หลังจากการจากไปของจอมพล ป. พิบูลสงคราม สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ถูกยกระดับ จากหน่วยงานราชการ ขึ้นเป็น ‘นิติบุคคล’ มีอิสระจากรัฐบาล โดยมีประธานกรรมการ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ‘ไม่ต้องเสียภาษี’ แต่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ‘ต้องเสียภาษี’ และทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ขึ้นตรงกับสํานักงานพระราชวัง

ทำให้นับจากนั้นเป็นต้นมา จนถึงในรัชสมัยปัจจุบันของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณ์อดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้มีการเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 โดยไม่มีการแบ่งฝ่ายในการจัดการอีกต่อไป ได้มีการรวมเอาทรัพย์สินทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน และได้ให้มีการเสียภาษี

ทั้งหมดนี้ คือ วิวัฒนาการของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ใครจะมีความเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยอย่างไร หรือจะตีความอย่างไร กับสิ่งที่ได้นำเสนอมานั้น เป็นเรื่องปัจเจกบุคคลที่ทุกท่านต้องใช้วิจารณญาณในการศึกษาเพิ่มเติมด้วยตัวเองกันต่อไป

อาจารย์ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ตัวตึงเรื่องสถาบันกษัตริย์ ผู้ก่อตั้งเพจ ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง’

รองศาสตราจารย์ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ เป็นนักวิชาการ นักเขียน นักรัฐศาสตร์และอดีตนักการทูตชาวไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการมีอยู่ของ ‘สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย’ ผ่านรายการ วีโอเอไทย ในหัวข้อ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ตัวตึงเรื่องสถาบันกษัตริย์’ เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565 ว่า…

“เนื้อแท้ของปวิน คือ รอยัลลิสต์ ผมอยากเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงอยู่ แต่การที่ผมวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงสนับสนุนให้มีการปฏิรูป เพราะผมอยากให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับสังคมไทย แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ไม่มีโมเมนต์ไหนเลยที่ผมคิดว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่จำเป็นต่อประเทศไทยแล้ว”

'โหรฟองสนาน' ยกสยามสุดศิวิไลซ์ ใต้ร่มพระบารมี พระมหากษัตริย์ไทย

(28 ก.ย. 66) ฟองสนาน จามรจันทร์ อดีตนักจัดรายการวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ สังกัดสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Fongsanan Chamornchan’ ระบุว่า…

#แรงอย่าตกเสน่ห์อย่าจาง

ร.1 ทรงสร้างเมืองเสาหลักเมือง
ร.3 ทรงให้สร้างวัด
ร.4 ทรงพาเมืองสู่ความเป็นตะวันตก-เสาหลักเมืองแห่งที่สอง
ร.5 ทรงสร้างถนนราชดำเนิน-ทรงพาพ้นภัยจากพวกล่าเมืองขึ้น
ร.9 ทรงพาพ้นภัยคอมฯ พาเมืองสู่ศิวิไลซ์ ฯลฯ

#ขนาดชอบทะเลาะกันยังขนาดนี้
#ขนาดขยะในซอยแยะยังขนาดนี้ 

เอกลักษณ์แห่งรัชสมัย ตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ความหมายนัยแห่งองค์พระประมุข

‘ตราพระราชลัญจกร’ คือตราประจำพระองค์ของพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาล ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมื่อเริ่มต้นรัชกาลในแต่ละรัชกาล เพื่อทรงใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในเอกสารสำคัญที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน เช่น รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานราชการแผ่นดิน 

พระราชลัญจกรประจำรัชกาลปรากฏหลักฐานว่ามีใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งพระราชลัญจกรนี้ประกอบด้วยพระเอกลักษณ์อันเป็นนัยของแต่ละพระองค์ เป็นสัญลักษณ์อันแสดงถึงความเป็นพระประมุขของชาติ พระอิสริยยศ พระบรมเดชานุภาพ โดยผมได้เรียบเรียงมานำเสนอ เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ ก.ค. ๒๕๖๗ ไล่เรียงจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ มาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ดังนี้…

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๑

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นรูปปทุมอุณาโลมมีลักษณะเป็นม้วนกลม คล้ายลักษณะความหมายของพระปรมาภิไธยว่า ‘ด้วง’ จึงได้ใช้อักขระ ‘อุ’ เป็นมงคลแก่พระปรมาภิไธยอยู่กลางล้อมรอบด้วยกลีบบัว อันเป็นพฤกษชาติที่เป็นสิริมงคลในพุทธศาสนา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใช้ประทับในต้นเอกสารสําคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์ ปรากฏมีใช้ประทับในเงินพดด้วงสําหรับซื้อขาย ชําระหนี้ ผลิตออกใช้คราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. ๒๓๒๘ 

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๒

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นรูปครุฑยุตนาค เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า ‘ฉิม’ ตามความหมายของวรรณคดีไทย คือพญาครุฑในเทพนิยาย เทวะกำเนิดเป็นเทพองค์หนึ่งที่ทรงมหิทธานุภาพยิ่งแต่ยอมเป็นเทพพาหนะสำหรับพระนารายณ์ ปกติสถิตอยู่ ณ วิมานฉิมพลี ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาให้ใช้รูปครุฑยุตนาคเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์แทนพระปรมาภิไธย พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้ประทับในต้นเอกสารสำคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์ นอกจากนั้นยังปรากฏมีใช้ประทับในเงินพดด้วงสำหรับซื้อขาย ชำระหนี้ เช่นเดียวกับในครั้งสมัยรัชกาลที่ ๑

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๓

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปปราสาท เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า ‘ทับ’ หมายความว่า ที่อยู่หรือเรือน ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างรูปปราสาท เป็นพระราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ แทนพระปรมาภิไธย ทรงใช้ประทับในต้นเอกสารสําคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์ และมีปรากฏใช้ประทับในเงินพดด้วงสําหรับซื้อขาย ชําระหนี้ เช่นเดียวกัน 

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๔

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นรูปกลมรี ลายกลางพระราชลัญจกรเป็นรูป ‘พระมหาพิชัยมงกุฎ’ เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า ‘มงกุฎ’ ซึ่งเป็นศิราภรณ์สำคัญของพระมหากษัตริย์ อยู่ในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ มีฉัตรบริวารตั้งขนาบข้างที่ขอบทั้งสองข้าง มีพานทองสองชั้นวางพระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรข้างหนึ่ง วางสมุดตำราข้างหนึ่ง พระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรมาจากฉายา ที่ทรงผนวชว่า ‘วชิรญาณ’ ส่วนสมุดตำรามาจากเหตุที่ได้ทรงศึกษาเชี่ยวชาญในทางอักษรศาสตร์และดาราศาสตร์ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์ ปรากฏในเงินพดด้วงและเงินเหรียญกษาปณ์ นอกจากนี้ยังอัญเชิญพระราชลัญจกรไปสลักหรือปั้นนูนเพื่อประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถพระอารามหลวงที่พระองค์ทรงสร้างหรือทรงปฏิสังขรณ์ 

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๕ 

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นรูปกลมรี กลางพระราชลัญจกรมีพระราชสัญลักษณ์สำคัญคือ ‘พระเกี้ยว’ คือพระจุลมงกุฎเปล่งรัศมี ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้าเป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธย ‘จุฬาลงกรณ์’ ซึ่งแปลความหมายว่า ‘ศิราภรณ์ชนิดหนึ่งอย่างมงกุฎ’ มีฉัตรบริวารตั้งขนาบข้าง ที่ริมขอบทั้งสองข้างมีพานแว่นฟ้าวางพระแว่นสุริยกานต์ ข้างหนึ่งวางสมุดตำราข้างหนึ่ง พระแว่นสุริยกานต์และสมุดตำรานั้นเป็นการเจริญรอยจำลองพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นสมเด็จพระชนกนาถ ในหลวงรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ ซึ่ง ‘ไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน’ เช่น ใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในประกาศนียบัตรเหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์ ใช้ประทับในเงินพดด้วงและเหรียญกษาปณ์ ใช้เป็นตราหน้าหมวกทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์และประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถพระอารามหลวงที่ได้ทรงสร้างและทรงปฏิสังขรณ์

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๖

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นรูปกลมรี ประกอบด้วย ‘วชิราวุธ’ มีรัศมีเป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า ‘วชิราวุธ’ ซึ่งหมายความถึง ‘ศัตราวุธของพระอินทร์’ เรียกว่าพระราชกัญจกรพระวชิระประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ตั้งอยู่เหนือตั่ง มีฉัตรกลีบบัวบริวาร ๒ ข้าง ในหลวงรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเครื่องหมายราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ ทั้งยังใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในประกาศนียบัตรเครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ ตราวชิรมาลา เหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์ ทรงให้ใช้ปักบนธงเครื่องหมายประจํากองเสือป่า ปักผ้าทิพย์หน้ามุขเด็จพลับพลาที่ประทับในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ทั้งยังเชิญไปประดิษฐานที่หน้าบันโรงเรียนวชิราวุธ อีกด้วย

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๗

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นรูปกลมรีเรียกว่า ‘พระราชลัญจกรพระแสงศร’ รูปพาดพระแสงศร ๓ องค์ คือ พระแสงศรพรหมาสตร์ พระแสงศรอัคนีวาต พระแสงศรประลัยวาต พระแสงศร ๓ องค์นี้เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า ‘ประชาธิปกศักดิเดชน์’ ซึ่งมาจากความหมายของศัพท์วรรคสุดท้ายที่ว่า ‘เดชน์’ แปลว่า ‘ลูกศร’ ส่วนเบื้องบนมีรูปพระแสงจักรและพระแสงตรีศูลอยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ มีบังแทรกตั้งอยู่ ๒ ข้าง กับมีลายกนกแทรกอยู่ระหว่างพื้น พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น สําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๘ 

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๘ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล มีลักษณะเป็นรูปกลมโดยมีรูปพระโพธิสัตว์ประทับบนบัลลังก์ดอกบัว ห้อยพระบาทขวาเหนือบัวบาน หมายถึง ‘แผ่นดิน’ พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวตูมและมีเรือนแก้วด้านหลังแทนรัศมี มีแท่นรองรับตั้งฉัตรบริวาร ๒ ข้างเป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า ‘อานันทมหิดล’ ซึ่งแปลความหมายว่า ‘เป็นที่ยินดีของแผ่นดิน’ พระองค์ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย โดยความยินดีของประชาชนชาวไทย เปรียบประหนึ่งพระองค์เป็น ‘พระโพธิสัตว์’ เสด็จฯ มาประทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ทวยราษฎร์ทั้งมวล พระราชลัญจกรนี้พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๙

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีลักษณะเป็นรูปกลมรีแนวตั้ง ประกอบด้วยรูป ‘พระที่นั่งอัฐทิศ’ ประกอบด้วยวงจักร ตรงกลางจักรมีอักขระเป็น ‘อุ’ หรือ ‘เลข ๙’ รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งโดยรอบ เหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตรเจ็ดชั้น ฉัตรตั้งอยู่บนพระที่นั่ง อัฐทิศ แปลความหมายว่า ทรงมีพระบรมเดชานุภาพในแผ่นดิน โดยมีวันพระบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี ได้เสด็จประทับเหนือพระที่นั่ง อัฐทิศ สมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษกจากทิศทั้งแปด นับเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ทรงรับน้ำอภิเษกจากสมาชิกรัฐสภาแทนที่จะทรงรับจากราชบัณฑิต ซึ่งแตกต่างจากรัชกาลก่อน ๆ 
.
พระราชลัญจกรนี้พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตรานี้แก่สถาบันอุดมศึกษากลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ พร้อมพระราชทานนาม ‘ราชภัฏ’ แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งหมายถึง ‘คนของพระราชา’ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ใช้เป็นตราประจำมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งในเครือ ทั้งยังมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้เป็นภาพประธานในตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ในรัชกาลของพระองค์ ได้แก่ พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี และงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐ อีกด้วย

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๑๐

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๑๐ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันแห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ มีลักษณะเป็นรูปกลมรี โดยประกอบด้วย ‘พระวชิระ’ คือ เทพศาสตราของพระอินทร์ นอกจากนี้ยังแปลว่า ‘สายฟ้าและเพชร’ นอกจากนั้นยังมีแบบตามพระราชนิยมในรัชสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ โดยด้านบนของพระวชิระมี ‘พระเกี้ยว’ ซึ่งเป็นแบบตามพระราชนิยมในรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวงแทนคำว่า ‘อลงกรณ์’ ซึ่งแปลว่า ‘เครื่องประดับ’ เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธย ‘มหาวชิราลงกรณ’ เปล่งรัศมีเป็นสายฟ้า ประดิษฐานอยู่บนพานแว่นฟ้า พร้อมด้วยฉัตรบริวารอยู่ทั้ง ๒ ข้าง 

พระราชลัญจกรนอกจากเนื้อหาตามที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วนั้นยังเป็นเครื่องมงคลที่แสดงถึงพระราชอิสริยยศอีกด้วย ดังที่ปรากฏอยู่ในหมวดพระราชสิริซึ่งประกอบด้วย พระสุพรรณบัตร ดวงพระราชสมภพและ พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน ซึ่งจะต้องเชิญขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พร้อมกับเครื่องมงคลอื่น ๆ ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของพระราชลัญจกรประจำรัชกาลต่าง ๆ ในมหาจักรีบรมราชวงศ์

‘ในหลวงร.๗’ พระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย ผู้ไม่มีงานออกพระเมรุ | THE STATES TIMES Story EP.158

‘ในหลวงรัชกาลที่ 7’ หรือ ‘พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว’ พระมหากษัตริย์ไทย ผู้ทรงมีพระราชกรณียกิจเพื่อปวงชนชาวไทยมากมาย และยังเป็น ‘นักประชาธิปไตย’ เต็มตัว 

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร พระองค์ต้องทรงเสด็จออกนอกประเทศเพื่อทรงไปรักษาพระวรกาย และประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ จวบจนสวรรคต และที่สำคัญ พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยผู้ไม่มีงานออกพระเมรุ

วันนี้ THE STATES TIMES Story ได้รวบรวมเรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่ 7 พระมหากษัตริย์ไทยผู้ไม่มีงานออกพระเมรุ
 จะเป็นอย่างไรบ้าง ไปฟังกัน…


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top