Tuesday, 22 April 2025
พระพุทธศาสนา

????????วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกๆ ปี เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก

????????วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกๆ ปี เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้ได้ 2 เดือน ถือเป็นวันที่มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์  

ในปี 2564 วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันเสาร์ ที่ 24 กรกฎาคม
.
วันอาสาฬหบูชา มีเหตุการณ์ สำคัญเกิดขึ้น 4 ประการ คือ
.  
1⃣ เป็นวันแรกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา
.
2⃣ เป็นวันแรกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร”
.
3⃣ เป็นวันแรกที่พระสงฆ์สาวกเกิดขึ้นในโลก คือ ฤาษีโกณฑัญญะ  ได้บวชเป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
.
4⃣ เป็นวันแรกที่มีพระรัตนตรัยครบบริบูรณ์
.

#วันอาสาฬหบูชา 
#วันเข้าพรรษา 
#พระพุทธศาสนา

‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ จัดพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2564 สืบทอดขนบธรรมเนียมอันดีงาม ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประจำปี  2564 ในวันศุกร์ ที่ 5 พ.ย. 64 เวลา 14.00 น. ณ พระอุโบสถวัดตรีทศเทพวรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

พล.ต.อ.วิระชัย  ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประจำปี 2564 ณ พระอุโบสถวัดตรีทศเทพวรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร  มีผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยข้าราชการตำรวจ และประชาชนเข้าร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียงกันภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

สำหรับพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน มีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการร่วมกันทำบุญ สร้างกุศล สืบทอดขนบธรรมเนียมและประเพณีจากครั้งบรรพกาลสู่ชนรุ่นหลังธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงาม เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา 

ทั้งนี้ ยอดเงินจากการร่วมทำบุญถวายผ้าพระกฐินพระราชทานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติปี 2564 จะถวายให้แก่วัดตรีทศเทพวรวิหาร และมอบให้กับโรงเรียนวัดตรีทศเทพ เพื่อใช้ในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ และเป็นค่าใช้จ่ายด้านสาธารณกุศลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

วิกฤตศรัทธาศาสนาพุทธในเมียนมา อนาคตที่ถูกชี้ชะตาโดยคนรุ่นใหม่

เมื่อไม่นานมานี้มีภาพหลุดออกมาว่อนอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับภาพพระสงฆ์ที่เหมือนจะกำลังเดินอยู่บนแคตวอร์ก จนสร้างความฮือฮาให้กับชาวเน็ตทั้งคนเมียนมาเอง ขณะที่คนต่างชาติ ก็ออกปากพูดเชิงดูหมิ่นว่า พระมาเดินแคตวอร์กอะไรทำนองนั้น  

เมื่อสืบค้นไป ก็พบว่าประเด็นนี้ มาจากมีคหบดีท่านหนึ่งจัดงานวันเกิดให้พระผู้ใหญ่ที่โรงแรม 5 ดาวแห่งหนึ่งในย่างกุ้ง จึงมีการเชิญพระหลายรูปมาร่วมงานในที่นี้ รวมถึงมีการนำรถหรูไปรับพระด้วย

แน่นอนว่า หลายคนมองถึงความไม่สมควรของพระที่ควรจะสมถะ แต่กลับถูกโยมสร้างให้เกิดในสิ่งที่เรียกว่า 'ผิดไปจากวินัยคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า' ด้วยหรือ ว่าแล้วหลายคนจึงได้เข้าไปกระหน่ำบูลลี่สิ่งที่เห็นเพียงแค่ภาพอย่างสะใจแบบเอาตายในเชิงดูหมิ่นพระสงฆ์ 

อันที่จริง ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่พระผู้ใหญ่โดนเช่นนี้!!

ช่วงก่อนหน้าที่ผ่านมา กรณี 'ครูบาบุญชุม' ครั้นเมื่อท่านออกจากวิปัสสนาจากถ้ำที่เมืองแกดในรัฐฉาน แล้วตัวท่านก็มีการแสดงท่าทาง อาการแปลกๆ และมีการถ่ายภาพไว้ และมีการโพสต์ลงสื่อออนไลน์ ทำให้คนหลายคนเข้ามาต่อว่า บูลลี่ไปถึงอาการที่เป็นอยู่ว่าท่านเสียจริตเอยหรืออื่นๆ อีกมากมาย

ที่เอย่าอยากจะบอก คือ อย่างไรก็ดี ศาสนาพุทธในเมียนมา ณ วันนี้ ยังคงแข็งแกร่ง เพราะพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ยังรักและศรัทธากับวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ 

แต่ในขณะเดียวกันจำนวนพุทธศาสนิกชนเมียนมาที่เอาใจออกห่างจากพุทธศาสนาก็มีเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กรุ่นใหม่และคนชั้นกลาง ซึ่งคนเหล่านี้อาจจะเป็นกลุ่มที่ชี้ชะตาถึงความแข็งแกร่งของพุทธศาสนาในเมียนมาในอนาคตอีก 20-30 ปีข้างหน้าก็เป็นได้ 

จากนี้คงต้องมาดูถึงบริบทของศาสนาพุทธที่เปลี่ยนไปกันในอนาคตกันว่าจะเหมือนเดิมอยู่หรือเปล่า

27 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 ท่านพุทธทาสภิกขุ เกิดที่ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

พระธรรมโกศาจารย์ นามเดิม เงื่อม พานิช ฉายา อินทปญฺโญ หรือรู้จักในนาม พุทธทาสภิกขุ เป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2449 เริ่มบวชเรียนเมื่ออายุได้ 20 ปี ที่วัดบ้านเกิด จากนั้นได้เขาได้มาศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่กรุงเทพมหานคร จนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค แต่แล้วท่านพุทธทาสภิกขุก็พบว่าสังคมพระพุทธศาสนาแบบที่เป็นอยู่ในขณะนั้นแปดเปื้อนเบือนบิดไปมาก และไม่อาจทำให้เข้าถึงหัวใจของศาสนาพุทธได้เลย ท่านจึงตัดสินใจหันหลังกลับมาปฏิบัติธรรมที่อำเภอไชยา ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของท่านอีกครั้ง พร้อมปวารณาตนเองเป็น พุทธทาส เนื่องจากต้องการถวายตัวรับใช้พระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุด

ผลงานเด่นของท่านพุทธทาสคืองานหนังสือ เช่น ตามรอยพระอรหันต์ คู่มือมนุษย์ และเป็นภิกษุไทยรูปแรกที่บุกเบิกการใช้โสตทัศนูปกรณ์สมัยใหม่สำหรับการเผยแพร่ธรรมะ และท่านมีสหายธรรมคนสำคัญ คือ ท่านปัญญานันทภิกขุ วัดชลประทานรังสฤษฎ์ และท่าน บ.ช. เขมาภิรัต

เปิดประวัติ ความสำคัญของ 'วันอาสาฬหบูชา' วันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาแก่ชาวโลก

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธนิกายเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย คำว่า อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก ‘อาสาฬหปูรณมีบูชา’ แปลว่า ‘การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ’ อันเป็นเดือนที่สี่ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนกรกฎาคมหรือเดือนสิงหาคม แต่ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็ให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 8 หลังแทน

วันอาสาฬหบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์

การแสดงธรรมครั้งนั้น ทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ 1 ในปัญจวัคคีย์ ประกอบด้วย โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรมหรือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระอัญญาโกณฑัญญะจึงกลายเป็นพระสาวกและภิกษุองค์แรกในโลก และทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า ‘วันพระธรรม’ หรือ วันพระธรรมจักร อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก และ ‘วันพระสงฆ์’ คือวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และจัดว่าเป็น ‘วันพระรัตนตรัย’ อีกด้วย

เดิมนั้นไม่มีการประกอบพิธีการบูชาในเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาในประเทศพุทธเถรวาทมาก่อน จนมาในปี พ.ศ. 2501 การบูชาในเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาจึงได้เริ่มมีขึ้นในประเทศไทย ตามที่คณะสังฆมนตรี ได้กำหนดให้วันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2501 โดยคณะสังฆมนตรีได้มีมติให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธในประเทศไทย ตามคำแนะนำของ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) โดยคณะสังฆมนตรีได้ออกเป็นประกาศสำนักสังฆนายกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาพร้อมทั้งกำหนดพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีพิธีปฏิบัติเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชาอันเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล

อย่างไรก็ตาม วันอาสาฬหบูชาถือเป็นวันสำคัญที่กำหนดให้กับวันหยุดของรัฐเพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ส่วนในต่างประเทศที่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทอื่น ๆ ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันอาสาฬหบูชาเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชา

สำหรับความสำคัญ ‘วันอาสาฬหบูชา’ ถือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาประกาศพระธรรมจักร (ฟัง) เป็นครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์และ ‘เป็นวันที่บังเกิดมีพระสงฆ์ครบเป็นองค์พระรัตนตรัยครั้งแรกในโลก’

วันอาสาฬหบูชา หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมที่ตรัสรู้เป็นครั้งแรก จึงถือได้ว่าวันนี้เป็น 'วันเริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาแก่ชาวโลก  และด้วยการที่พระพุทธเจ้าทรงสามารถ แสดง เปิดเผย ทำให้แจ้ง แก่ชาวโลก ซึ่งพระธรรมที่ตรัสรู้ได้ จึงถือได้ว่าพระองค์ได้ทรงกลายเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์ คือทรงสำเร็จภารกิจแห่งการเป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็น ‘สัมมาสัมพุทธะ’ คือเป็นพระพุทธเจ้าผู้สามารถแสดงสิ่งที่ตรัสรู้ให้ผู้อื่นรู้ตามได้ ซึ่งแตกต่างจาก ‘พระปัจเจกพุทธเจ้า’ ที่แม้จะตรัสรู้เองได้โดยชอบ แต่ทว่าไม่สามารถสอนหรือเปิดเผยให้ผู้อื่นรู้ตามได้ ด้วยเหตุนี้วันอาสาฬหบูชาจึงมีชื่อเรียกว่า ‘วันพระธรรม’

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่ท่านโกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรมสำเร็จพระโสดาบันเป็นพระอริยบุคคลคนแรก และได้รับประทานเอหิภิกขุอุปสมบทเป็นภิกษุองค์แรกในพระศาสนา และด้วยการที่ท่านเป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกในโลกดังกล่าว พระรัตนตรัยจึงครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก ด้วยเหตุนี้วันอาสาฬหบูชาจึงมีชื่อเรียกว่า ‘วันพระสงฆ์’

ดังนั้น วันอาสาฬหบูชา จึงถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาดังกล่าว ซึ่งควรพิจารณาเหตุผลโดยสรุปจากประกาศสำนักสังฆนายกเรื่องกำหนดพิธีอาสาฬหบูชา ที่ได้สรุปเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันอาสาฬหบูชาไว้โดยย่อ ดังนี้...

1.เป็นวันแรกที่พระโคตมพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนาพุทธ

2.เป็นวันแรกที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมจักร ประกาศสัจธรรม อันเป็นองค์แห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ

3.เป็นวันที่พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกบังเกิดขึ้นในโลก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา ในวันนั้น

4.เป็นวันแรกที่บังเกิดสังฆรัตนะ สมบูรณ์เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ

สำหรับกิจกรรมที่ชาวพุทธในประเทศไทย และทั่วโลก นิยมทำในวันอาสาฬหบูชา มีดังนี้...

- ตักบาตรในตอนเช้า
- เวียนเทียนในตอนเย็น 
- ฟังพระธรรมเทศนา
- ถวายสังฆทาน
- ปฏิบัติธรรม

🔍เปิด 5 วิชาที่ 'นักเรียน' อยากให้เลิก แต่ในโลกปัจจุบัน 'หนูๆ ควรเรียนนะ'

เมื่อไม่นานมานี้ เพจ ‘Thailand FACT Today’ ได้โพสต์ข้อความถึง 5 วิชาที่ ‘นักเรียน’ อยากให้ยกเลิก โดยระบุว่า…

>>พลศึกษา ส่วนตัวแอด นี่คือวิชา Relax ที่สำคัญเลยนะ เป็นวิชาที่แอดชอบมาก หลังจากเรียนเลขมา 4 คาบติด

>>กระบี่ กระบอง รร.แอด ใช้สอนโขนแทน ส่วนตัว ก็สนุกดีนะ

>>พระพุทธศาสนา อันนี้เรียนเหอะ สังคมไทยเละมากแล้ว มีอะไรมาดึง ๆ ไว้ก็ดี แต่อาจจะเปลี่ยนเป็น ศีลธรรม จริยธรรม เพราะในไทย เราก็มีหลายศาสนาอ่ะเนอะ แต่ทุกศาสนา ก็ขอให้คนทำดี ก็ให้ไปเน้นตรงคุณค่าของการทำดีไป

>>ประวัติศาสตร์ อันนี้ แอดชอบเรียนนะ ประวัติศาสตร์คือเรื่องของเหตุผล และเป็นการปลูกฝังความรักชาติ เรามีประวัติศาสตร์ น่าภูมิใจนะ แอดว่า หลายชาติ เขาไม่มี เขาก็พยายามสร้าง ของเรามีกับตัว ดันไม่เห็นคุณค่าซะงั้น

>>วิชาลูกเสือ เนตรนารี เอาจริง ๆ ก็คล้าย ๆ พละ เป็นวิชาเบา ๆ ผ่อนจากการเรียนหนัก ๆ Fuction สำหรับแอด มันอยู่ตรงนี้แหละ

แอด ว่าทุกวิชาล้วนมีความจำเป็น โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ กับจริยธรรม ที่ควรจะเข้มกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะสังคมไทยทุกวันนี้ มันเละเทะไปมากจริง ๆ

21 พฤศจิกายน พ.ศ.2410 หนังสือแสดงกิจจานุกิจ ตีพิมพ์เล่มแรก ต้นแบบหนังสือไทยทันสมัย แสดงความรู้หลากแขนงสู่นานาชาติ

“หนังสือแสดงกิจจานุกิจ” ถือเป็นหนังสือไทยเล่มแรกที่รวบรวมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และศาสนาอย่างทันสมัย จัดพิมพ์โดย เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ 4 ผู้ซึ่งเล็งเห็นว่าตำราไทยในยุคนั้นขาดสาระสำคัญ ไม่สามารถกระตุ้นความคิดหรือให้ความรู้ที่ล้ำสมัย ท่านจึงรวบรวมข้อมูลใหม่ๆ ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในสังคมไทยมาจัดทำเป็นหนังสือเล่มนี้  

นอกจากการนำเสนอความรู้ในด้านต่างๆ แล้ว หนังสือเล่มนี้ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อตอบโต้กระแสการโจมตีพุทธศาสนาจากหมอสอนศาสนาที่พยายามเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในไทย “หนังสือแสดงกิจจานุกิจ” ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในไทยและต่างประเทศ และบางส่วนของเนื้อหายังได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์ในกรุงลอนดอน เมื่อปี พ.ศ. 2413 (ค.ศ. 1870) ในชื่อ The Modern Buddhist (เดอะ โมเดิน บุดดิสท์) 

หนังสือเล่มนี้ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นงานเขียนสำคัญที่ให้ความรู้ด้านพระพุทธศาสนา และยังถือว่าเป็นหนึ่งในหนังสือไทยเล่มแรกที่ได้รับการแปลและจัดจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการเผยแพร่ภูมิปัญญาไทยสู่เวทีโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top