Tuesday, 22 April 2025
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

นายกฯ องคมนตรี คณะบุคคลสำคัญ ลงนามถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

(28 ก.ค. 67) ที่อาคารหน่วยราชการในพระองค์ 904 ศาลาสหทัยสมาคมฯ และเต็นท์สนามหญ้าข้างอาคารลูกขุน ในพระบรมมหาราชวัง มีบุคคลสำคัญ เช่น สมาชิกราชสกุลทุกมหาสาขา , คณะองคมนตรี , นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี , คณะทูตานุทูตต่างประเทศ ประจำประเทศไทย , ผู้นำศาสนา , ประธานรัฐสภา , ประธานวุฒิสภา , ประธานศาลฯ , ผู้บัญชาการเหล่าทัพ , ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ , องค์กรอิสระ , สมาคม , มูลนิธิ , หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนจากทั่วทุกสารทิศ

นำแจกันดอกไม้มาทูลเกล้าฯ ถวายเบื้องหน้า พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมลงนามถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนานเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรแก่เหล่าพสกนิกรชาวไทยตราบนานเท่านาน

ทั้งนี้ สำนักพระราชวังเปิดให้ลงนามถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 08.00 - 12.00 น.

น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณรัชกาลที่ 9 เชิญประชาชนร่วมเฝ้ารับเสด็จในหลวง-ราชินี

(9 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘พระลาน’ ได้โพสต์เชิญชวนเฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความว่า 

ขอเชิญประชาชนร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “วันนวมินทรมหาราช” 13 ตุลาคม 2567 พร้อมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี  

ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 
ในเวลา 17.00 น. เปิด 3 จุดคัดกรอง เวลา 11.30 น. ได้แก่ 

๑. จุดคัดกรองถนนศรีอยุธยา ฝั่งประตูทางเข้าอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ 9
๒. จุดคัดกรองถนนศรีอยุธยา ฝั่งวัดเบญจมบพิตร 
๓. จุดคัดกรองถนนพระราม 5 ฝั่งอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ 9

ในการนี้ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ จะเปิดให้ประชาชนได้เยี่ยมชมในวันที่ 13-14 ตุลาคม 2567 โดยจะมีบทเพลงขับกล่อมจากวงดนตรี 4 เหล่าทัพ จนถึงเวลา 21.00 น.

22 ตุลาคม พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

22 ตุลาคม พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวรวิหาร

ก่อนที่จะถึงวันพระราชพิธีทรงผนวช ในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชทานกระแสพระราชดำรัสในการที่จะทรงผนวชแก่พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะทูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราช ซึ่งเข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย แจ้งข้อพระราชดำริที่จะบรรพชาอุปสมบท และขอให้ทุกฝ่ายสมัครสมานกันรักษาประเทศ ทรงขอบใจรัฐบาลที่รับภาระเตรียมการบรรพชาอุปสมบท

ครั้นเสร็จพระราชพิธีภายใน พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัยแล้ว จึงเสด็จฯ มายังพระที่นั่งสุทไธสวรรค์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จออกสีหบัญชร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสว่า

“ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ท่านทั้งปวงได้มาประชุมกัน ณ ที่นี้ ขอถือโอกาสแจ้งดำริ ที่จะบรรพชาอุปสมบทให้อาณาประชาราษฎร์ทราบทั่วกัน

อันพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจําชาติของเรา ตามความอบรมที่ได้รับมาก็ดี ตามศรัทธาเชื่อถือส่วนตัวของข้าพเจ้าก็ดี เห็นเป็นศาสนาที่ดีศาสนาหนึ่ง มีคําสั่งสอนให้คนประพฤติตนเป็นคนดี ทั้งเพรียบพร้อมด้วยบรรดาสัจธรรมอันชอบด้วยเหตุผลน่าเลื่อมใสยิ่งนัก  ข้าพเจ้าเคยคิดอยู่ว่า ถ้าโอกาสอำนวยก็น่ารักได้อุปสมบทในพระศาสนาตาม ประเพณีสักเวลาหนึ่ง ซึ่งมักเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระราชบุพการีตามคตินิยมอีกโสดหนึ่งด้วย 

และนับตั้งแต่ข้าพเจ้าได้ขึ้นครองราชสมบัติสืบสันตติวงศ์มาเป็นเวลาช้านานพอสมควรแล้ว น่าจะเป็นโอกาสที่จะทําตามความตั้งใจไว้นั้นได้แล้วประการหนึ่ง อนึ่ง การที่สมเด็จพระสังฆราชซึ่งทรงมีพระคุณูปการในส่วนตัวข้าพเจ้าได้หายประชวรในครั้งหลังนี้ ก่อให้เกิดความปีติยินดีแก่ข้าพเจ้าเป็นอันมาก มาคํานึงเห็นว่า ถ้าในการที่ข้าพเจ้าจะอุปสมบทนี้ ได้พระองค์ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ด้วยแล้ว ก็จะเป็นการแสดงออกซึ่งความศรัทธา เคารพ ของข้าพเจ้าที่มีอยู่ในพระองค์ท่านได้อย่างเหมาะสมด้วยอีกประการหนึ่ง อาศัยเหตุเหล่านี้จึงได้ตกลงใจจะอุปสมบทในวันที่ 22 เดือนนี้

ส่วนกิจการบ้านเมืองนั้นก็หวังว่า ในระยะเวลาที่ข้าพเจ้าบวชนี้คงไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดขัดข้อง โดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ข้าพเจ้าก็ได้แต่งตั้งสมเด็จพระราชินีเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ไว้แล้ว ขอท่านทั้งหลายจงช่วยกันรักษาความสงบสุขในกิจการบ้านเมืองของเราให้ดําเนินไปด้วยดีเถิด

ขอคุณพระศรีรัตนตรัย ได้อภิบาลคุ้มครองท่านทั้งหลายให้มีความสุขสวัสดี ขอทุกๆ ท่านจงมีส่วนได้รับกุศลความดีงามอันจักพึงมีจากการที่ข้าพเจ้าเข้าอุปสมบทในพระศาสนาครั้งนี้โดยทั่วกัน เทอญ”

สำหรับพระราชพิธีทรงผนวชในครั้งนั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระราชอุปัชฌาจารย์ เมื่อเสร็จพิธีแล้วพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงได้รับสมญานามจาก ว่า “ภูมิพโล”

ในระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ ทรงปฏิบัติพระราชกิจ เช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด เช่น เสด็จลงพระอุโบสถทรงทำวัตรเช้า-เย็น ตลอดจนทรงสดับพระธรรมและพระวินัย นอกจากนี้ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพิเศษอื่นๆ เช่น เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาต จากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาต ณ วังสระปทุม เสด็จฯ ไปทรงนมัสการพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาตจากประชาชนทั้งในบริเวณถนนพระสุเมรุ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสี่แยกราชเทวี ถนนเพชรบุรี เป็นต้น

รัฐบาล เชิญชวน!! ประชาชน ร่วมงานพระราชพิธีสมมงคล เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 14 ม.ค. นี้

(12 ม.ค. 68) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ (สลค.) แจ้งการเลื่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งที่ 2 จากเดิมในวันอังคารที่ 14 มกราคม มาเป็นวันจันทร์ที่ 13 มกราคม ในเวลา 10.00 น. เนื่องด้วยในวันที่ 14 มกราคม รัฐบาลได้จัดงาน ‘พระราชพิธีสมมงคล’ (สะ-มะ-มง-คล) โดยนายกรัฐมนตรีเชิญชวนคนไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ ‘พระราชพิธีสมมงคล’ ซึ่งรัฐบาลได้จัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคล พระชนมายุเท่ากับ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ในวันที่ 14 มกราคม 2568

นายจิรายุ กล่าวว่า ในส่วนของกิจกรรม ประกอบด้วย 7 กิจกรรม ดังนี้ 1.พิธีสืบพระชะตาหลวง ณ สวนสราญรมย์ และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 13-20 มกราคม 2568 2.การบูรณปฏิสังขรณ์ วัดสังกัสรัตนคีรี จ.อุทัยธานี 3.การจัดแสดงโขนเรื่อง รามเกียรติ์ ณ ลานพระปฐมบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช บริเวณสะพานพระพุทธยอดฟ้า กรุงเทพมหานคร ในวันที่อังคารที่ 14 มกราคม 2568

4.การจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติฯ 5.การจัดพิธีทางศาสนาและกิจกรรมถวายพระราชกุศล ณ ศาสนสถานที่เกี่ยวเนื่องกับ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 6.การจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และเจริญจิตตภาวนา ถวายพระราชกุศล และ 7.การจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กรุงเทพมหานคร

“วันที่ 14 มกราคมนี้ นับเป็นโอกาสมหามงคลสมัยพิเศษ เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงเจริญพระชนมายุได้ 26,469 วัน เป็นวันสมมงคล (สะ–มะ-มง-คล) เท่ากับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีสำคัญในครั้งนี้” นายจิรายุ กล่าวทิ้งท้าย

รู้จัก “พระราชพิธีสมมงคล” ในหลวงรัชกาลที่ 10 เนื่องในโอกาสพระชนมายุ 26,469 วัน เท่ารัชกาลที่ 1

(14 ม.ค. 68) "พระราชพิธีสมมงคล" ถือเป็นอีกหนึ่งพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งในปี 2568 นี้ ก็เป็นโอกาสอันเป็นมหามงคลยิ่งของพสกนิกรชาวไทย ที่จะได้ชมพระราชพิธีอันสำคัญที่หาชมได้ยากในรอบ 25 ปี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี พุทธศักราช 2568 ซึ่งมีขึ้นในวันที่ 14 มกราคม นี้ 

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงความเป็นมา และความสำคัญของ "พระราชพิธีสมมงคล" ว่า พระราชพิธีสมมงคล (อ่านว่า - สะมะมงคล) เป็นราชประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบกันมาช้านานคําว่า สมมงคลนั้นหมายถึงเสมอกัน ดังนั้นการจัดพระราชพิธีนี้ก็จะมีการจัดขึ้นในวาระต่าง ๆ ที่เวียนมาพร้อมกัน

เฉกเช่นเดียวกับรัชกาลปัจจุบันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเจริญพระชนมวาร 26,469 วัน ในวันอังคารที่ 14 มกราคม 2568 เป็นสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี

พระราชพิธีสมมงคลนี้พูดกันเป็นภาษาทั่วไป เพื่อความเข้าใจง่าย ก็คือการบําเพ็ญพระราชกุศลหรือการพระราชพิธีในวาระสําคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนม์มายุเสมอด้วย สมเด็จพระบรมราชบูรพการีพระองค์หนึ่งพระองค์ใด เช่นการพระราชพิธีสมมงคล ในวันที่ 14มกราคมนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนม์มายุเสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ทั้งนี้ ถือเรื่องที่ทํามาช้านานแล้ว ในสมัยพระเจ้าบดินทร์รัชกาลก่อน ๆ ได้เคยปฏิบัติมา รวมถึงชาวบ้านทั่วไปก็ทํามา แต่สําหรับชาวบ้านประชาชนทั่วไป ถ้าไม่มีกําลังหรือลืมไปเสียก็ว่างเว้นไปนาน จนกระทั่งเห็นเป็นของแปลกแล้วในเวลานี้

แต่นับว่าเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง ที่ในพระราชวงศ์ของไทย ยังสามารถรักษาขนบธรรมเนียมเรื่องนี้สืบทอดปฏิบัติกันต่อมาได้ โดยพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์นี้ เป็นราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ในพระราชวงค์จักรีทรงปฏิบัติสืบต่อกันมาโดยตลอด 

โดยในรัชสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้วถึง 4 วาระ ซึ่งปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงดําเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของสมเด็จพระบรมชนกนาถ ในการปฏิบัติตามโบราณขัตติยราชประเพณี เพื่อเป็นการแสดงถึงพระราชจริยวัตรและวัฒนธรรมอันดีงามของสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ในการที่ทรงสร้างแบบอย่างความกตัญญูกตเวทิตาแสดงความเคารพรําลึกถึงบรรพชนปู่ย่าตายายที่ประกอบคุณงามความดีไว้แก่บ้านเมือง ให้ราษฎรยึดถือเป็นแบบแผนปฏิบัติสืบไป

ตลอดระยะเวลากว่า 73 ปีที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่สืบสานพระราชปณิธานแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถิตสถาพรเป็นพระมิ่งขวัญแก่ปวงชนชาวไทยพระราชทานสันติสุขได้ทรงทํานุบํารุงประเทศและอาณาประชาราษฎร์ดับทุกข์เข็ญน้อยใหญ่นานับการ 

เมื่อพิเคราะห์พระราชกรณียกิจทั้งปวงแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์แล้วนั้นก็จะเห็นได้ว่าไม่ได้แตกต่างกันแต่ประการใด ต่างก็เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย 

เนื่องในวันที่ 14 มกราคม 2568 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมพรรษาเสมอพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรีจึงเป็นมหามงคลวโรกาสที่พิเศษสุด ที่จะปรากฏเป็นรัชสมัยที่ 2 พระบรมราชจักรีวงศ์ การจัดพระราชพิธีสมงคลในครั้งนี้จึงถือเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระบรมราชบุพการีผู้ทรงคุณอันประเสริฐในฐานะที่ทรงสถาปนาพระบรมราชจักรีวงศ์และกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งดํารงมั่นคงยั่งยืนจวบจนปัจจุบัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top