Monday, 5 May 2025
พม

พม. เป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสตรีของเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Women and Economy Forum)

วันนี้ 7 ก.ย. 65 เวลา 09.00 น. "นายจุติ ไกรฤกษ์ " รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสตรีของเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Women and Economy Forum) ภายใต้แนวคิด “Women’s Empowerment through the BCG Economy” การเสริมพลังสตรีในทางเศรษฐกิจผ่านแนวคิดเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio - Circular - Green Economy ซึ่งกระทรวง พม. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีจากกระทรวงหรือหน่วยงานด้านสตรีและเศรษฐกิจจากเขตเศรษฐกิจเอเปค และคณะผู้แทน ได้แก่ ออสเตรเลีย ปาปัวนิวกินี สิงคโปร์ และจีนไทเป เข้าร่วมประชุมแบบออนไซต์  ส่วนบรูไนดารุสซาลาม แคนาดา จีน อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย เม็กซิโก เวียดนาม และรัฐเซีย เข้าร่วมประชุมรูปแบบออนไลน์  อีกทั้งชิลี ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมประชุมแบบไฮบริด รวมถึงผู้นำระดับสูงของสำนักงานเลขาธิการเอเปค สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค Advisory Council – ABAC) และข้าราชการระดับสูงและภาคเอกชน รวมประมาณ 100 คน เข้าร่วมประชุม ณ True ICON Hall ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กรุงเทพฯ  ซึ่งในครั้งนี้ "นางพัชรี อาระยฎกุล" ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย

นายจุติ กล่าวว่า ในนามของรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทย ตนรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้มีโอกาสต้อนรับรัฐมนตรี หัวหน้าคณะเขตเศรษฐกิจ และผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสตรีของเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งนี้ โดยมีเขตเศรษฐกิจ จำนวน 20 เขต ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุม ในรูปแบบผสมผสาน (A hybrid format) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้น 137 คน ซึ่งตนขอขอบคุณรัฐมนตรี หัวหน้าคณะผู้แทน และผู้บริหาร เอเปค ที่เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมในวันนี้ด้วยตัวเอง ซึ่งตนหวังว่าทุกท่านจะมีความสุขในช่วงระยะเวลาที่อยู่ในประเทศไทยและประทับใจกับการดูแลต้อนรับ ที่ทางรัฐบาลไทยตั้งใจเตรียมการไว้ให้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมที่ได้มาพบปะกันครั้งแรกหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นับเป็นการประชุมระหว่างประเทศที่มีความสำคัญที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญสำหรับการเสริมพลังและความก้าวหน้าของสตรีและความเท่าเทียมทางเพศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ภายใต้แผนลา เซเรนา เพื่อสตรีและการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม (พ.ศ. 2019 - 2030) วิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040 แผนปฏิบัติการและเครื่องมือกลไกต่างๆ ที่เอเปคเห็นชอบร่วมกัน

‘วราวุธ’ มอบรางวัล ‘ประชาบดี’ ยกย่อง ผู้ทำความดี อุทิศตนเพื่อสังคม ‘หนังสืออยู่กับก๋ง-รพ.รามาธิบดี-แว่นท็อปเจริญ’ ได้รับรางวัลนี้ด้วย

(28 ก.ย. 66) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานพิธีมอบรางวัล ‘ประชาบดี’ ประจำปี 2565 และประจำปี 2566 เพื่อเชิดชูเกียรติผู้ทำคุณประโยชน์ดีเด่นแก่ผู้ที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก และผู้ที่อยู่ในสภาวะยากลำบากที่ประพฤติตนดีเด่น เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ที่ดูแลช่วยเหลือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก อีกทั้งส่งเสริมเจตคติเชิงบวกในการอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทร เห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พร้อมคณะผู้บริหาร ร่วมในพิธี

นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ได้ดำเนินการจัดพิธีมอบรางวัล ‘ประชาบดี’ มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2550 เพื่อเป็นการยกย่องและเชิดชูเกียรติผู้ทำความดีอุทิศตนเพื่อสังคมให้เป็นที่ประจักษ์ ซึ่งเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศที่นำต้นแบบมาจาก ‘พระประชาบดี’ เทพผู้เป็นที่พึ่งและสงเคราะห์ประชาชน ด้วยพลังแห่งการให้และแบ่งปัน เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้รอดพ้นจากสภาวะยากลำบาก

สำหรับปีนี้ มีผู้รับรางวัล ‘ประชาบดี’ ประจำปี 2565 และประจำปี 2566 รวมจำนวนทั้งสิ้น 87 คน แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

1.) ประเภทบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ ประจำปี 2565 และประจำปี 2566 รวม 19 ราย อาทิ นางสุพัตรา จิราธิวัฒน์ ผู้ริเริ่มโครงการ Centara Academy โดยเปิดสอนด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยว พร้อมสนับสนุนทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียน, นางสาวเรณู ภาวะดี ผู้มีความมุ่งมั่นในงานจิตอาสา เป็นกระบอกเสียงและอุทิศตนเพื่อผู้ประสบความเดือดร้อน, นายแพทย์ศุภชัย โรจน์ขจรนภาลัย ผู้จัดการโครงการช่วยเหลือสังคมในทุกมิติ รวมถึงสนับสนุนเครื่องมือทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลหลายแห่ง, นายสายชล พันพืช อาสามูลนิธิกู้ภัยสว่างกำแพงเพชรธรรมสถาน ผู้เสียสละตนเพื่อช่วยเหลือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก คนเร่ร่อน และกลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง

2.) ประเภทองค์กรที่ทำคุณประโยชน์ ประจำปี 2565 และประจำปี 2566 รวม 16 ราย อาทิ หอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทรา สร้างงาน สร้างอาชีพแก่ผู้ที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก จนเกิดการรวมกลุ่มในชุมชนเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันและพึ่งพาตนเองได้, สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกายเชียงราย ส่งเสริมอาชีพคนพิการให้มีงานทำ มีรายได้ หาเลี้ยงตนเองและครอบครัว, แว่นท็อปเจริญ ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาด้านสายตาทั่วประเทศ, โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนากระบวนการรักษาและระบบการให้ข้อมูลการรักษาผู้ป่วยโรคหายาก

3.) ประเภทสื่อสร้างสรรค์ ประจำปี 2565 และประจำปี 2566 รวม 23 ราย อาทิ รายการวันใหม่วาไรตี้ ช่วงร้องทุก(ข์) ลงป้ายนี้ นำเสนอการช่วยเหลือประชาชนและผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งประสานช่วยแก้ปัญหาสังคม, รายการ น.ช. ไม่ทิ้งกัน สร้างกำลังใจแก่อดีตเพื่อนนักโทษให้ดำเนินชีวิตในทางที่สุจริต, สถานีเฟซบุ๊กไลฟ์ & ศูนย์ช่วยเหลือออนไลน์ ‘สื่ออาสาประชาชน’, หนังสือเรื่อง ‘อยู่กับก๋ง’ โดยหยก บูรพา รายการที่สอดแทรกคำสอนที่มีคุณค่า ปลูกฝังทัศนคติที่ดีแก่คนทุกช่วงวัย 

4.) ประเภทต้นแบบคนสู้ชีวิต ประจำปี 2565 และประจำปี 2566 รวม 29 ราย อาทิ นายธนเดช  โพธิ์เงิน คนพิการจิตอาสา สู้ชีวิต อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือและให้กำลังใจผู้ที่มีความพิการเช่นเดียวกัน, นายเอนก แก้วผา ผู้เคยเดินทางผิดและเปลี่ยนแปลงตัวเอง โดยอุทิศตนช่วยคนเปราะบาง, นายณรงค์ฤทธิ์ ชาวบางมอญ ใช้การพูดสร้างกำลังใจแก่ผู้ต้องขังและใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวซื้ออาหารเพื่อมอบให้แก่เด็ก คนเร่ร่อน และคนไร้ที่พึ่ง, นางสาวสุวรรณดี อ่ำศรีสุข ผู้ถือคติ “ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ กตัญญู” ลุยช่วยเด็กกำพร้าและผู้มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ

นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม. หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารางวัล ‘ประชาบดี’ ที่ได้มอบให้ จะเป็นกำลังใจ และสามารถขยายผลไปสู่พี่น้องประชาชนทั่วประเทศว่า วันนี้ การทำความดีของท่านมีคนเห็น และเป็นแรงผลักดันที่สำคัญให้กับสังคมไทยเดินไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภาครัฐจะไม่สามารถทำงานเพียงลำพังได้ การได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดนั้น คือหัวใจสำคัญในการช่วยคนทุกๆ กลุ่ม ทุกๆ เพศ ทุกๆ วัย และทุกๆ สถานะ กระทรวง พม. ขอขอบคุณทุกคนที่ได้รับรางวัล “ประชาบดี” และหวังว่าในปีต่อๆไป เราจะมีผู้ได้รับรางวัลเพิ่มขึ้น และหลากหลายสาขามากขึ้น สำหรับการเข้ามาช่วยกันทำงาน เพื่อให้สังคมไทยน่าอยู่มากขึ้น

‘วราวุธ’ ย้ำ!! พฤศจิกายนเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรง ชวนคนไทย สร้างความอบอุ่นต่อ ‘เด็ก-สตรี-บุคคลในครอบครัว’

(4 พ.ย.66) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า เนื่องในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น ‘เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว’ และวันนี้สังคมไทยของเรามีความเปราะบางมากเหลือเกิน ความเข้มแข็งความอบอุ่นในครอบครัว เป็นเกราะป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับเด็กและเยาวชนของเรา ความอบอุ่นของครอบครัวนั้นจะมาจากการเริ่มยุติความรุนแรงเสียก่อน แต่ไม่ใช่ยุติความรุนแรงแค่เดือนพฤศจิกายนนี้เท่านั้น แต่เราต้องยุติความรุนแรงในทุกวันทุกปีและตลอดไป เพื่อให้เด็กและเยาวชนของเรานั้นเติบโตมาในครอบครัวที่มีความอบอุ่น ปกป้องสิทธิของสตรีและดูแลสมาชิกทุกคนในครอบครัว เราต้องมาช่วยกันรณรงค์ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็น ‘เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว’

รมว.พม. กล่าวว่า สำหรับสัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาว ‘White Ribbon’ เป็นสัญลักษณ์สากลที่ใช้ในการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว เพื่อแสดงจุดยืนของการไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย และไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวทุกรูปแบบ

หากพบเห็นการกระทำความรุนแรงในสังคม สามารถแจ้งเหตุมาที่ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. 1300 บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมง หรือ แจ้งเหตุผ่าน Line OA ‘ESS Help Me’ เพียงกดเพิ่มเพื่อน @esshelpme ซึ่งกระทรวง พม. โดย ทีม ‘พม. หนึ่งเดียว’ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่

‘พม.’ เดินหน้าช่วยเหลือ ‘แรงงานไทย​’ หลังกลับจากอิสราเอล​ พร้อมส่ง จนท.ดูแลสภาพจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิต​อย่างใกล้ชิด​

(21 พ.ย. 66) นายวราวุธ​ ศิลปอาชา​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์​ (พม.) กล่าวถึงการให้การช่วยเหลือแรงงานไทย หลังจากเดินทางกลับจากประเทศอิสราเอลว่า​ ขณะนี้มีแรงงานลงทะเบียนกับกระทรวง พม. 8,400 ราย โดยขณะนี้เอง เจ้าหน้าที่ได้มีการให้คำแนะนำไปแล้วกว่า 8,348 ราย พร้อมช่วยเหลือส่งกลับภูมิลำเนา​

ในกรณีที่เดินทางกลับเองไม่ได้อีกกว่า 300 ราย โดยที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ พม.​ในพื้นที่​ 62 จังหวัด ทั่วประเทศได้มีการติดตาม และเข้าเยี่ยมแรงงานที่ได้รับผลกระทบ เกือบ 2,000 ราย​  รวมไปถึงทางกระทรวง​ พม.ได้ให้ความช่วยเหลือ เยียวยา​ 1,030 ราย​ ทั้งเรื่องเงินสงเคราะห์​ การให้คำปรึกษา​ การสนับสนุนอาชีพ​ การให้ทุนการศึกษา​ ซึ่งที่ผ่านมา​ พม.ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะครอบครัวผู้เสียชีวิต


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top