Tuesday, 22 April 2025
ผ้าไทย

วธ. เผยยอดสั่งซื้อผ้าไทย งาน “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” ทะลุเป้า 463 ล้านบาท

ผู้ประกอบการพอใจการจัดงานเตรียมเดินหน้าลุยงานจับคู่เจรจา Business Matching ในทุกงานแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) 

กระทรวงวัฒนธรรม ปลื้มงาน “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” สร้างมูลค่าเจรจาการค้าในงานพุ่งทะลุ 463 ล้านบาท เกินจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 200 ล้านบาท พร้อมเผยผู้ประกอบการและผู้ชมงานต่างชื่นชมจัดงาน ทั้งการจัดโซนคูหาแสดงสินค้า การนำเสนอนวัตกรรมผ้าไทย รวมถึงการผลักดันการเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า การจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” ซึ่งเป็นงานแสดงและจัดจำหน่ายสุดยอดผ้าไทยครั้งยิ่งใหญ่แห่งปี โดยในปีนี้มีความพิเศษเป็นครั้งแรกที่ได้จัดให้มีกิจกรรมการจัดงานที่มีการค้าและการเจรจาธุรกิจ ในรูปแบบ B2B (Buiness to Business) ภายในงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหัตถอุตสาหกรรมผ้าไทยได้ใช้เป็นเวทีทางการค้า ขยายช่องทางการตลาด โดยกลุ่มผู้ประกอบการหลักที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงานครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการในประเทศ อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมหัตถกรรมสร้างสรรค์ สภาอุตสาหกรรม สมาคมสตรีเพื่อสตรี สโมสรซอนต้ากรุงเทพ ห้องเสื้อผ้าไทย ร้านค้าปลีกผ้าไทยชั้นนำ และกลุ่มนักออกแบบ เป็นต้น” 

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสมาคมการค้าส่งเสริมหัตถกรรมไทย (THTA) และสมาคมส่งเสริมและพัฒนาหัตถกรรมอาเซียน (AHPADA) จัดกิจกรรม “Thai Traditional Textiles Hybrid Presentation” เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมานั้น ซึ่งเป็นกิจกรรมการเจรจาธุรกิจกับกลุ่มเป้าหมายในต่างประเทศในรูปแบบออนไลน์ โดยมีองค์กรและผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงการหัตถรรมโลกเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวมากมาย อาทิ ผู้แทนจากสภาหัตถกรรมโลกภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิค (World Craft Council Asia Pacific Region), กรรมการบริหารจากสภาหัตถกรรมกรุงเดลี ประเทศอินเดีย Delhi Crafts Council, ประธานจาก Craft Revival Trust รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจและกลุ่มนักออกแบบจากประเทศต่างๆ อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น” 

“ในภาพรวมของการเจรจาการค้าประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย เกิดการเจรจาการค้า 347 คู่ มีเงินสะพัดจากคาดการณ์ซื้อขายภายใน 1 ปีกว่า 463 ล้านบาท ในมูลค่านี้มียอดซื้อขายทันทีภายในกว่า 9 ล้านบาท จากกลุ่มผู้ซื้อที่เป็นทั้งนักธุรกิจไทยและต่างประเทศ โดยมีสินค้าที่ได้รับความสนใจ ได้แก่ ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูป กระเป๋า รองเท้า และเครื่องประดับ เป็นต้น นอกจากนี้ในคู่เจรจาได้มีการเซ็นสัญญาออเดอร์สินค้าภายในงาน รวมถึงได้มีการนัดหมายเพื่อตรวจดูแหล่งผลิตสินค้าอีกด้วย” 

นราธิวาส จัดพิธีมอบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา”

นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วย นางสิริวิมล พงษ์อักษร ประธานแม่บ้านมหาดไทย จังหวัดนราธิวาส เป็นประธานพิธีมอบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” แก่หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ กลุ่มผู้ประกอบการประเภทผ้าทอ ผ้าบาติก ผ้าปาเต๊ะ และผู้ประกอบการประเภทหัตกรรมจำนวน 58 ชุด ณ หอประชุม 100 ปี ตำบลลำภู อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส

โอกาสนี้ ประธานในพิธีได้เปิดกรวยถวายเครื่องราชสักการะหน้าพระรูป สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และกล่าวสำนึกในพระมหากรุณาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้ทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติบำเพ็ญพระกรณียกิจนานัปการ เพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ พื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไป ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระองค์ทรงต่อยอดผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ เรื่องราวประจำภูมิภาคเป็นคุณูปการอย่างยิ่งแก่ปวงชนคนไทย อีกทั้งยังเป็นการยกระดับผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืนเปรียบดังแสงสว่างแห่งวิถีความงดงามของอัตลักษณ์ไทย ส่งผ่านไปสู่ประชาชน นำทางให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก อันเป็นพลังที่จะสืบสานความเป็นไทยให้คงอยู่สืบไป

จากนั้น นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้เชิญลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” มอบให้กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 58 ราย ประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด จำนวน 3 หน่วยงาน นายอำเภอ จำนวน 13 อำเภอกลุ่มผู้ประกอบการประเภทผ้าทอ ผ้าบาติก ผ้าปาเต๊ะ และผู้ประกอบการประเภทหัตกรรม จำนวน 42 กลุ่ม

‘แพนเค้ก เขมนิจ’ หยิบผ้าไทยมาสวม อวดเอกลักษณ์ชาติ สวยโดดเด่น เป๊ะหัวจรดเท้า เผย ภูมิใจทุกครั้งที่ใส่ผ้าไทย

(13 ส.ค. 66) ด้วยรูปร่างแสนเพอร์เฟกต์… ความสูง 175 ซม. ไม่แปลกใจที่นางเอกสาว ‘แพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์’ จะชนะคว้ารางวัล ‘Thai Supermodel 2004’ จนได้มีโอกาสเฉิดฉายโลดแล่นในวงการนานเป็น 10 ปี

นอกจากงานแสดงแล้ว ยังมีงานพิธีกร เดินแบบบรันเวย์ทั้งในไทย และต่างประเทศตลอด และล่าสุด สาวแพนเค้กก็ได้ใส่ชุดสวยๆ ที่ถักทอจากผ้าไทย พร้อมบอกเล่าความภูมิใจว่า…

“ใส่ผ้าไทยให้สนุก ใส่ผ้าไทยให้มีความสุข

เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาแชร์ สิ่งที่รัก เกี่ยวกับผ้าไทยค่ะ และ แม่ก็คือต้นแบบในการแต่งตัวของแพนมาตั้งแต่เด็กๆ ค่ะ และวันนี้ได้มาที่นี่ @sacit_official มีทุกอย่างของแรงบันดาลใจ และ ร้านมากมายที่ตอบโจทย์ให้เราสวมใส่ผ้าไทยได้อย่างสนุกค่ะ #แพนแพนผ้าไทย”

‘กรมพัฒน์ฯ’ ปลื้ม!! งาน SMART Local ของดีพื้นถิ่น ดันซอฟต์พาวเวอร์ผ้าไทยขายได้กว่า 10 ล้านบาท

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าโชว์ผลจัดกิจกรรม SMART Local ของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น ในงาน OTOP ศิลปาชีพ ประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี ประสบความสำเร็จ สามารถดัน Soft Power ผ้าไทย เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ ทั้งไทยและต่างชาติ สร้างยอดขายกว่า 10 ล้านบาท

(11 ก.ย.66) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงผลการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน ภายใต้แนวคิด ‘SMART Local ของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น’ ว่า กรมได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน SMART Local ในงาน OTOP ศิลปาชีพ ประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี เมื่อเดือนส.ค.2566 ที่ผ่านมา ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยจัด 2 กิจกรรมย่อย ได้แก่…

1. SMART Local Events จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน SMART Local ในความส่งเสริมของกระทรวงพาณิชย์ กลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกาย และกลุ่มสมุนไพร รวมจำนวน 30 ราย เพื่อส่งเสริมตลาดและสร้างโอกาสทางการค้าแก่ผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เข้าถึงตลาดกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่เพิ่มขึ้น

2. SMART Local Display โดยจัดแสดงผลงานผลิตภัณฑ์ชุมชน SMART Local กลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกาย ที่ผ่านการพัฒนาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อสร้าง Soft Power ภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ผ้าไทยมิติใหม่ จากภูมิปัญญาสมัยใหม่ ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น อย่างมีสไตล์ สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศทุกวัย ทุกโอกาส

“การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยสามารถผลักดัน Soft Power ผ้าไทย ภาพลักษณ์มุมมองใหม่ ที่มีความทันสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีคุณค่า ให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับ หวังปลุกกระแสนิยมแฟชันผ้าไทยในกลุ่มผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างชาติให้หันมาเลือกสวมใส่ผ้าไทยเพิ่มขึ้น และสามารถสร้างมูลค่าการค้ากว่า 10 ล้านบาท ซึ่งได้มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้เพิ่มขึ้น” นายทศพล กล่าว 

ในปี 2566 กรมได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ภายใต้แนวคิด ‘SMART Local ของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น’ เน้นชูอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ในแต่ท้องถิ่นที่แตกต่างมาสร้างจุดขาย ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการชุมชนในด้านต่างๆ ทั้งด้านการตลาด ในการวิเคราะห์ตลาด เลือกตลาดให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ และเทคนิคการนำเสนอผลิตภัณฑ์ ทั้งในรูปแบบการจัดแสดง และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการชุมชนในการรับมือกับสถานการณ์ตลาดที่มีการแข่งขันสูงและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลาได้อย่างมีศักยภาพ

โดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อยกระดับสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างโอกาสทางการค้า สร้างช่องทางตลาดใหม่ สร้างการรับรู้ภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่สินค้าชุมชน สู่การเป็นธุรกิจชุมชนยุคใหม่ที่มีความเข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้

เพจดัง ชี้ ‘Soft Power’ ของประเทศไทย มีมานาน หลายสิบปีแล้ว ยก ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ’ เป็นผู้นำความเป็นไทย โดดเด่นในเวทีโลก

เมื่อวานนี้ (28 มิ.ย. 67) ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่อว่า ‘เอ ภักดี’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเรื่อง ‘Soft Power’ โดยได้ระบุว่า

#ซอฟต์พาวเวอร์คนแรกของไทย ก่อนที่เรามักจะได้ยินคำว่า #SoftPower ที่เป็นคำฮิตฮอตและกระแสในไทยตอนนี้ โดยเฉพาะน้องลิซ่า (LISA) ที่ไม่ว่าจะหยิบจับอะไรก็กลายเป็นกระแสที่โด่งดังไปทั่ว และที่สำคัญน้องลิซ่าจะให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมไทยและสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับประเทศไทยอยู่เสมอ (มันคือความน่ารักของน้องลิซ่า) 

แต่หากเราย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อนบุคคลสำคัญที่พยายามนำความเป็นไทยสู่สายตาคนทั่วโลกคงหนีไม่พ้น #สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไม่ว่าจะเป็นผ้าไทย ชุดไทย เครื่องประดับที่พระพันปีหลวงทรงฉลองพระองค์อยู่เสมอเมื่อคราวเสด็จประพาสต่างประเทศ รวมถึงต้อนรับประมุขหรือแขกสำคัญจากประเทศต่างๆ หรือแม้แต่ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยในหลากหลายด้าน เช่น โขนและศิลปหัตถกรรมไทย เป็นต้น อีกทั้งยังนำศิลปะและหัตถกรรมเหล่านี้มาแสดงและต้อนแขกสำคัญของประเทศอีกด้วย นำมาซึ่งอาชีพของประชาชนที่ยากไร้หรือในถิ่นทุรกันดาร ในมุมมองของแอดพระองค์คือ ‘Soft Power’ ในยุคที่ไม่มีใครรู้จักคำว่า ‘Soft Power’

บทความนี้เรียบเรียงโดยเพจ Love Thai Culture และเพจ Thai Culture and Thai Travel

‘รัดเกล้า’ เผย ‘เศรษฐา’ เตรียมนำทีม ครม. สวมเสื้อผ้าไหมมัดหมี่ ประชุมที่โคราช ชี้!! นี่คือ ‘ของดีปักธงชัย’ ลวดลายเรียบง่าย แต่แฝงด้วยความประณีตสวยงาม

(29 มิ.ย. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมนำทีมคณะรัฐมนตรีสวมใส่ ผ้าไหมพื้นเรียบสีทองและผ้าไหมมัดหมี่หางกระรอกประยุกต์สีทอง ร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2567 หรือครม. สัญจร ที่จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2567 นี้

โดยจังหวัดนครราชสีมา มีนโยบายในการพัฒนาและส่งเสริมให้ใช้ผ้าลายเอกลักษณ์ ประจำจังหวัดนครราชสีมา จึงได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อค้นหาภูมิปัญญาผ้าทอพื้นถิ่นของจังหวัดนครราชสีมา ที่สามารถสื่อถึงเอกลักษณ์ของจังหวัด จนมีมติให้ ‘ผ้าหางกระรอก’ เป็นผ้าเอกลักษณ์ ประจำจังหวัดนครราชสีมา

โดยผ้าไหมพื้นเรียบสีทองและผ้าไหมมัดหมี่หางกระรอกประยุกต์สีทอง ทอโดยอำเภอปักธงชัย สำหรับให้คณะรัฐมนตรีสวมใส่ ส่วนผ้าไหมมัดหมี่หางกระรอก สีชมพูกะปิ สำหรับผู้เข้าร่วมประชุม ครม. สวมใส่ ทอโดยกลุ่มทอผ้าไหมบ้านแฝกโนนสาราญ อำเภอสีดา

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้ ลายหางกระรอก เป็นลวดลายเรียบง่าย แต่แฝงด้วยความประณีตและงดงาม ใช้เทคนิคการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าไท คือ ‘การควบเส้น’ ที่นำเส้นพุ่งพิเศษ 2 เส้น 2 สี มาตีเกลียวควบเข้าด้วยกัน ให้เป็นเส้นเดียว ที่เรียกว่า เส้นลูกลาย หรือเส้นหางกระรอก

ทอด้วยความชำนาญของแต่ละพื้นที่ ผ้าที่ได้จะมีลักษณะลวดลายเล็ก ๆ ในตัวมีสีเหลือบมันวาวระยับดูคล้ายเส้นขนของหางกระรอก ตามคำขวัญเดิมของจังหวัดที่ว่า ‘นกเขาคารม อ้อยคันร่ม ส้มขี้ม้า ผ้าหางกระรอกดอกสายทอง แมวสีสวาท’

นอกจากนี้ในเย็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ช่วงงานเลี้ยงรับรอง นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะร่วมสวมใส่เสื้อแขนสั้นลำลองลายโคราชโมโนแกรม (KORAT Monogram) ที่ถือเป็น 1 ใน soft power ของจังหวัด

ซึ่งลวดลายโคราชโมโนแกรมนี้สื่อถึงจังหวัดนครราชสีมา โดยมีรูปแมวโคราช (Korat Cat) สัตว์ประจำจังหวัดนครราชสีมา ส่วนรูปด้านบนของแปลนผังพื้นอนุสาวรีย์ย่าโม หันทางทิศตะวันตก (On the Top) ผัดหมี่โคราช (Recommended Menu) ปราสาทหินพิมาย (Ancient) ประตูชุมพล (Twain) และดอกสาธร ดอกไม้ประจำจังหวัด

ประกอบรวมกันเป็นคำว่า โคราช ในภาษาอังกฤษ (KORAT) ซึ่งประชาชนที่สนใจสามารถเข้าไปชมลวดลาย KORAT Monogram ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก KORAT Monogram ได้ทีนี่ https://www.facebook.com/koratmonogram นางรัดเกล้า กล่าว

‘รัดเกล้า’ ชวนชม-ช้อปงาน ‘แพรพัสตรา บรมราชินีนาถ’ 12-18 ส.ค. ณ สยามพารากอน สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ‘พระพันปีหลวง’ ยกระดับ ‘ผ้าไทย’ สู่สายตานานาชาติ

เมื่อวานนี้ (12 ส.ค. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันแม่แสนคึกคัก คนพาแม่มาเดินงาน ‘แพรพัสตรา บรมราชินีนาถ’ จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) แค่ช่วงเช้าวันแรกแล้วหลายพันคน

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วธ. ร่วมกับหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรม จัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2567 ในชื่องาน ‘แพรพัสตรา บรมราชินีนาถ’ ระหว่างวันที่ 12 - 18 สิงหาคม 2567 เวลา 11.00 - 21.00 น. ณ ลานพาร์ค พารากอน ชั้นเอ็ม ศูนย์การค้าสยามพารากอน

โดยการจัดงานภายใต้ชื่องาน ‘แพรพัสตรา บรมราชินีนาถ’ เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย ทรงอนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของชาติ ส่งเสริมงานหัตถศิลป์ และงานหัตถกรรมของไทย รวมถึงทรงอนุรักษ์ ส่งเสริมมรดกภูมิปัญญา ‘ผ้าไทย’ ยกระดับผ้าไทยให้มีความโดดเด่นจนเป็นที่ประจักษ์แก่สายตานานาชาติ

ทั้งนี้ ภายในงานยังจัดให้มีนิทรรศการนำเสนอความเป็นมาของวันผ้าไทยแห่งชาติ รวมถึงจัดแสดงผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 76 จังหวัด อาทิ ผ้าลายดอกสัก จังหวัดแพร่ ภาคเหนือ / ผ้าลายแก้วมุกดา จังหวัดมุกดาหาร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ / ผ้าลายราชบุรี หรือลายกาบโอ่งนกคู่ จังหวัดราชบุรี ภาคกลาง และผ้าลายปะการังและท้องทะเล จังหวัดภูเก็ต ภาคใต้ เป็นต้น

ตลอดจนนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม (CPOT) ที่สร้างสรรค์ต่อยอดจากผ้าไทย รวมถึงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่มีต่องานหัตถศิลป์ งานหัตถกรรมของไทย และผ้าไทยนานัปการ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมให้ชม ช้อป และเพลิดเพลินไปกับการแสดงและสาธิตศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ อีกด้วย

“เชิญชวนประชาชนพาคุณแม่ และครอบครัวไปเที่ยวงานแพรพัสตรา บรมราชินีนาถ กันเยอะ ๆ มีเวลาเที่ยวได้จนถึง 18 สิงหาคมนี้ โดยภายในงานมีกิจกรรมมากมายทั้งนิทรรศการ การแสดงศิลปวัฒนธรรม แฟชันโชว์ผ้าไทย เพื่อร่วมรักษาและต่อยอดศิลปวัฒนธรรมของชาติ นำต้นทุนทางวัฒนธรรมสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น ร่วมยกระดับผ้าไทยสู่สายตาชาวโลก” นางรัดเกล้า กล่าว

สมุทรปราการ-จัดใหญ่!! เทศบาลตำบลแพรกษา แถลงข่าว มหกรรมอนุรักษ์ผ้าไทย และงานนฤมิตสายนที ประเพณีลอยกระทง ชมคอนเสิร์ต ลำไย ไหทองคำ ฟรี!! ตลอดงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในห้องประชุม ชั้น 5 สำนักงานเทศบาลตำบลแพรกษา อ.เมือง สมุทรปราการ นำโดย นางอรัญญา สุวรรณบุตร นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา พร้อมด้วย ดร.ยงยุทธ สุวรรณบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ สมัยที่ 25 และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา นายวัฒนา เจริญจิตร นายอำเภอเมืองสมุทรปราการ ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน มหกรรมอนุรักษ์ผ้าไทย สุขใจได้ท่องเที่ยว ของดีตำบลแพรกษา และงานนฤมิตสายนทีประเพณีลอยกระทง ประจำปี 2567 

ภายในงานแถลงข่าวครั้งนี้ มีคณะผู้บริหาร คณะสมาชิกสภาเทศบาล หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ประกอบการ และตัวแทนจากชุมชนต่างๆ ในเขตพื้นที่ตำบลแพรกษาร่วมรับฟังการแถลงข่าว 

โดยในปีนี้ ทางเทศบาลตำบลแพรกษา จัดใหญ่จัดเต็มเพื่อพี่น้องประชาชนคนสมุทรปราการ โดยจะมีงาน 'มหกรรมอนุรักษ์ผ้าไทย สุขใจได้ท่องเที่ยว ของดีตำบลแพรกษา' และงาน 'นฤมิตสายนทีประเพณีลอยกระทง' ประจำปี 2567 ภายใต้การสนับสนุนของท่าน อรัญญา สุวรรณบุตร นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา โดยภายในงานจะเป็นการส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนสวมใส่ผ้าไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทย โดยงานจะจัดขึ้นในวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2567 นี้ 

ภายในสวนสาธารณะเทศบาลตำบลแพรกษา บนพื้นที่ กว่า 20 ไร่ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการประกวดธิดาโรงงาน การประกวดหนูน้อยแพรกษา การประกวดนางนพมาศ และการประกวดกระทงประดิษฐ์ นอกจากนี้ ยังมีการแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดัง อาทิ ลำไย ไหทองคำ น้ำแข็ง ทิพวรรณ และ กวาง กมลชนก พร้อมกับซุ้มกิจกรรมของสถานศึกษา ซุ้มจำหน่ายสินค้าชุมชน รวมถึงร้านค้าต่างๆ มากมาย ภายในงานมีมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 15 พฤศจิกายน ทางเทศบาลตำบลแพรกษา ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมลอยกระทง เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมไทยและประเพณีอันดีงามให้คงอยู่สืบไป 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top