Tuesday, 6 May 2025
ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า

เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าชำแหละนโยบายแบนบุหรี่ไฟฟ้าล้มเหลวเกือบ 10 ปี

พร้อมเสนอรายงานคู่ขนานชี้ไทย “เพิกเฉย” ต่อหลักการลดอันตรายตามอนุสัญญาควบคุมยาสูบของ WHO ทำคนไทยเสียชีวิตกว่า 70,000 คนต่อปี เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเดินหน้าสนับสนุน “บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย” เต็มสูบพร้อมเสนอรายงานคู่ขนานเกี่ยวกับการไม่ดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบในบางข้อ หวังไทยกำหนดท่าทีประเทศไทยในการประชุมเวทียาสูบระดับโลก FCTC COP 10 โดยสะท้อนความล้มเหลวของการแบนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศ 

นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าและเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 100,000 คน ได้เปิดเผยเรื่องการเข้าร่วมประชุมของคณะผู้แทนไทยในการประชุมสมัชชารัฐภาคีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกครั้งที่ 10 (COP10) พร้อมด้วยร่างระเบียบวาระการประชุม COP10 และรายงาน (Shadow Report) เกี่ยวกับการไม่ดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ มาตรา 1 (d) ว่าด้วยยุทธศาสตร์การลดอันตราย (Harm Reduction) ของประเทศไทย รวมทั้งความล้มเหลวของการแบนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยว่า 
“มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าการเพิกเฉยต่อการดำเนินการตามมาตรา 1 (d) ที่ไม่ยอมรับทางเลือกในการลดอันตรายโดยการแบนบุหรี่ไฟฟ้านั้นล้มเหลว เพราะการใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูงขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นในกลุ่มประเทศที่มีการแบนบุหรี่ไฟฟ้าเช่น ไทย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย อินเดีย เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนนาดา นิวซีแลนด์ ที่มีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกต้องตามกฎหมาย และถึงแม้ประเทศเหล่านี้จะมีวัยรุ่นที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าแต่ก็ไม่มีนโยบายที่จะแบนโดยสิ้นเชิงแบบในประเทศไทย” 

รายงานดังกล่าวได้มีการกล่าวถึงการประชุมสมัชชารัฐภาคีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบหรือ WHO Framework Convention on Tobacco Control (WHO FCTC) ครั้งที่ 10 (COP10) ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์การอนามัยโลก ในวันที่ 20 ถึง 25 พฤศจิกายน 2566 นี้ ณ กรุงปานามา ซิตี้ ประเทศปานามา โดยใจความสำคัญของรายงานดังกล่าวพูดถึงอัตราการสูบบุหรี่ในไทยไว้ว่า “ประเทศไทยแม้จะได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำด้านการควบคุมยาสูบจากการประเมินล่าสุดขององค์การอนามัยโลก แต่ทว่ากลับไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการลดอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรถึง 2 ครั้งติดต่อกันคือ 18.7% ในปี 2557 และ 16.7% ในปี 2562 ตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติเพื่อการควบคุมยาสูบ” 

นอกจากนี้ยังมีการระบุว่า “ประเทศไทยวัดผลความสำเร็จในการควบคุมยาสูบจากจำนวนกฎระเบียบที่ออกมาแทนที่จะพิจารณาว่าอันที่จริงแล้วกฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ แม้ว่าไทยจะมีการออกระเบียบข้อบังคับมากกว่าประเทศใดๆ ในโลกเพื่อให้ "ประสบความสำเร็จ" ในการปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาฯ แต่ทว่าอัตราการสูบบุหรี่ของประเทศไทยก็ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา แต่กลับยังกีดกันผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคนมิให้เข้าถึงทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า” 

เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ายังได้ระบุอีกว่า “ประเทศไทยควรพิจารณาเปิดรับหลักการลดอันตรายจากยาสูบดังเช่นประเทศอื่นๆ และพิจารณาข้อเสนอแนะในการนำหลักการลดอันตราย เช่นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมาย เข้ามาสนับสนุนมาตรการด้านกฎระเบียบและการรณรงค์อย่างสร้างสรรค์เพื่อสร้างความตระหนักในพิษภัยของยาสูบ ตามที่ปรากฎในคำแนะนำตามรายงานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมา สอดคล้องกับความเห็นของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินและความเห็นของนางสาวแพรทองธาร ชินวัตรหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยในช่วงการเลือกตั้งในฐานะที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและยังดูแลกระทรวงสาธารณสุขอีกด้วย”  

ทั้งนี้เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้ทำเอกสารรายงานคู่ขนาน (Shadow Report) ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลซึ่งสะท้อนถึงสภาวการณ์และความเป็นจริงของการควบคุมยาสูบในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจากการแบนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ตั้งแต่ธุรกิจใต้ดินขนาดมหาศาล ภาษีที่รัฐไม่สามารถจัดเก็บได้ การควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การรีดไถของเจ้าหน้าที่ และการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน ซึ่งเครือข่ายฯระบุว่า หวังว่าผู้มีอำนาจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำรายงานฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาการกำหนดท่าทีของประเทศไทยในการเข้าร่วมการประชุม FCTC COP10 นี้ เพื่อให้จุดยืนของประเทศเป็นกลาง สอดคล้องกับความเป็นจริงในบริบทปัจจุบันที่ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ด้วยการแบนแล้ว และทำให้การควบคุมยาสูบในไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยชีวิตคนไทย ช่วยชีวิตผู้สูบบุหรี่กว่า 70,000 ที่ต้องเสียชีวิตต่อปี และช่วยปกป้องเด็กและเยาวชนไปพร้อมกัน

เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าโต้กลับ WHO อวยแบนทิพย์บุหรี่ไฟฟ้าในไทยชี้พบเยาวชนไทยใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าในประเทศที่มีกฎหมายควบคุมอย่างถูกต้อง

เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าโต้กลับ WHO อวยแบนทิพย์ในไทย ทั้ง ๆ ที่มีขายเกลื่อนพบเห็นได้ทั่วไป เชื่อมั่นการนำบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นมาบนดินควบคุมด้วยกฎหมายอย่างเหมาะสมจะช่วยลดการเข้าถึงของเยาวชนได้ พร้อมเผยสถิติพบเยาวชนใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศที่แบน มากกว่าในประเทศที่มีกฎหมายควบคุมอย่างถูกต้อง สืบเนื่องจากแถลงการณ์ของผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ในประเทศไทย จากงานเสวนาการแถลงการณ์องค์การอนามัยโลก เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าภัยคุกคามต่อเด็กและเยาวชน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ที่สนับสนุนให้ไทยคงมาตรการห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าต่อไปเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพของผู้ใช้และคนรอบข้างรวมถึงปกป้องเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า นำโดยเพจ “ลาขาดควันยาสูบ (ECST)” และเพจ “มนุษย์ควัน” ร่วมย้ำจุดยืนที่ต้องการกฎหมายควบคุมการขาย การตลาด การกำหนดอายุผู้ซื้อผู้ขาย การควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อปกป้องผู้บริโภค และป้องกันผู้ใช้หน้าใหม่ที่เป็นเด็กและเยาวชน

นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนจากเพจลาขาดควันยาสูบ กล่าวว่า “บุหรี่ไฟฟ้ามีอยู่ทั่วไปในสังคมไทย และปัญหาเยาวชนไทยเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องจริงในปัจจุบันที่คงไม่มีใครปฏิเสธได้ แม้เราจะมีมาตรการแบนบุหรี่ไฟฟ้ามาเกือบ 10 ปีแล้วก็ตาม คงเป็นไปไม่ได้แล้วที่จะทำให้ไม่มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเลย การคงมาตรการห้ามขายทำให้เกิดคำถามที่น่ากังวลว่าสินค้าที่อยู่ใต้ดินเข้าถึงง่ายเหล่านี้มีคุณภาพและความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน การไม่ควบคุมเลยจะทำให้เกิดอันตรายมากกว่ากับทุกฝ่ายในรูปแบบที่คาดไม่ถึง ดังนั้น ทางออกเดียวคือจำเป็นต้องมีกฎหมายเข้ามาควบคุมอย่างเหมาะสม อยากถามกลับว่า ถ้าแบนแล้วดีจริงทำไม WHO ไม่ไปร้องเรียกให้สหรัฐฯ อังกฤษ ประเทศกลุ่มอียู เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นหันมาแบนบุหรี่ไฟฟ้าบ้าง มาเชียร์แต่ประเทศไทย”

นายสาริษฏ์ สิทธิเสรีชน จากเพจมนุษย์ควัน ให้ข้อมูลเสริมว่า “สถิติเยาวชนใช้บุหรี่ไฟฟ้าในไทยของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากร้อยละ 3.3 ในปี 2558 ในช่วงเริ่มต้นการแบนในไทย เป็นร้อยละ 9.1 ในปี 2566 ขณะที่ประเทศที่มีการแบนบุหรี่ไฟฟ้าอื่น ๆ เช่น ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ก็เจอกับปัญหาเดียวกัน โดยออสเตรเลียภายหลังการมีคำสั่งให้มีใบสั่งยาสำหรับการใช้และการขายบุหรี่ไฟฟ้าในปี 2564 จำนวนเยาวชนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าก็สูงขึ้นจากร้อยละ 9.8 เป็นร้อยละ 14.5 ในปี 2566 ขณะที่ประเทศที่มีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมาย เช่น แคนาดา นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ มีสถิติเยาวชนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าอยู่ที่ร้อยละ 8 ร้อยละ 6 ร้อยละ 5 และร้อยละ 3.7 ตามลำดับ ซึ่งน้อยกว่าประเทศที่มีการแบนอยู่”

“จริง ๆ แล้ว WHO ไม่เคยกำหนดให้ทุกประเทศห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เพราะหากห้ามจริงบุหรี่ไฟฟ้าคงไม่ถูกกฎหมายแล้วในกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ความหวังที่อยากให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นศูนย์ในไทยคงยากที่จะเป็นจริงได้ สิ่งที่ไทยควรทำและทำได้ตอนนี้คือเปิดโอกาสให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยได้ทำงานโดยพิจารณาเหตุและผลอย่างรอบด้าน ไม่ใช่เพียงด้านสุขภาพเท่านั้น ต้องคำนึงถึงบริบทของสังคมไทยตอนนี้ด้วย เราเคยลดจำนวนเยาวชนที่สูบบุหรี่มวนลงได้ด้วยกฎหมายกำหนดอายุผู้ซื้อและผู้ขาย เหตุใดจึงไม่เชื่อว่ากฎหมายจะสามารถช่วยป้องกันเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้าได้เช่นเดียวกัน ดีกว่าปล่อยให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีการควบคุมทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัยได้อย่างอิสระแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” นายสาริษฏ์ กล่าวปิดท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top