Sunday, 20 April 2025
ผู้สูงอายุ

สมุทรปราการ- นายก 'อำนวย บุญริ้ว' เปิดโครงการ ฝึกอบรมอาชีพแก่ผู้สูงอายุ คนพิการ มุ่งเน้นสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับตนเองและชุมชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ เวลา 09:00 น. วันที่ 24 กรกฎาคม 2567 นายอำนวย บุญริ้ว นายกเทศมนตรีเมืองแพรกษาใหม่ ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดโครงการ “ฝึกอบรมอาชีพแก่ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ใดโอกาส” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

โดยมีนาง ศิริพร ทับคล้าย รองนายกเทศมนตรีเมืองแพรกษาใหม่ กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการในครั้งนี้ โดยมี คณะผู้บริหาร คณะสมาชิกสภาเทศบาลเมืองแพรกษาใหม่ ตลอดจนกลุ่มผู้สูงอายุในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองแพรกษาใหม่ จำนวนกว่า 500 คน ร่วมในกิจกรรมฝึกอบรมอาชีพในครั้งนี้ 

โดยจัดขึ้นภายในอาคารกองสวัสดิการ เทศบาลเมืองแพรกษาใหม่ ต.แพรกษาใหม่ อ.เมือง สมุทรปราการ ด้านนาย อำนวย บุญริ้ว นายกเทศมนตรีเมืองแพรกษาใหม่ กล่าวว่า โครงการฝึกอบรมอาชีพแก่ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ทางเทศบาลเมืองแพรกษาใหม่เล็งเห็นความสำคัญของพี่น้องประชาชน รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส ทั้งนี้เพื่อต้องการส่งเสริมทั้งด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต อีกทั้ง เพื่อส่งเสริมการฝึกอบรมด้านอาชีพผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองแพรกษาใหม่ 

เพื่อที่จะได้นำความรู้ที่ได้รับมานำมาพัฒนาอาชีพให้กับชุมชน และนำไปประกอบเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัวต่อไป

'มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์' จับมือ จัดหางาน จ.จันทบุรี มอบ 'รถเข็นวีลแชร์' เติมกำลังใจให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้

(27 ส.ค.67) นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ ลงพื้นที่มอบรถเข็นวีลแชร์ ให้กับผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ยากไร้ ณ ห้องประชุมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพลิ้ว เทศบาลตำบลพลิ้ว อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี โดยมีนางสาวอนงค์นุช  มีศิริ จัดหางานจังหวัดจันทบุรี ให้การต้อนรับ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นางสาวรัศมินท์ พฤกษาทร นายอำเภอแหลมสิงห์ และนายรังสรรค์ เจริญวัย นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลพลิ้ว ร่วมเป็นเกียรติพิธีมอบในครั้งนี้ 

นางเธียรรัตน์ กล่าวว่า มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ ได้รับการประสานงาน ขอรับบริจาครถเข็นวีลแชร์ จากนางสาวอนงค์นุช มีศิริ จัดหางานจังหวัดจันทบุรี เพื่อมอบให้ผู้พิการ ผู้สูงอายุและผู้ยากไร้ ในพื้นที่  จำนวน 5 ราย ได้แก่ 1)นางสมฤดี นิระพงษ์ ผู้สูงอายุ อายุ 81 ปี  พักอยู่หมู่ที่ 11 ต.ปากน้ำแหลมสิงห์ อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี 2) นายยงยุทธ นีระพงษ์ ผู้สูงอายุ 66 ปี พักอยู่หมู่ที่ 2 ต.วันยาว อ.ขลุง จ.จันทบุรี  3)นางวิรัตนา วิเศษฤทธิ์  ผู้สูงอายุ อายุ 65 ปี พักอยู่หมู่ที่ 6 ต.เกาะเปริด อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี  4)นางลัดดา กาบทิพย์ ผู้สูงอายุ อายุ 82 ปี พักอยู่ หมู่ 2 ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี  5)นางบังอร  บุญเกิด พิการทางการเคลื่อนไหว พักอยู่ ม.2 ต.วันยาวล่าง อ.ขลุง จ.จันทบุรี  

ทั้งนี้มูลนิธิได้รับการบริจาครถเข็นวีลแชร์จาก กลุ่มไทยสมายล์กรุ๊ป ผู้ให้บริการรถและเรือโดยสารสาธารณะพลังงานไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 

จากการที่มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ได้นำอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ มามอบในครั้งนี้ เพื่อขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อน เติมกำลังใจ ให้แก่ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ ในพื้นที่ จังหวัดจันทบุรี และถือเป็นกิจกรรมหลักที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิในด้านการสร้างสาธารณประโยชน์ ต่อชุมชน สังคม และที่สำคัญจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ ที่มีความยากลำบากในการดำเนินชีวิต และจะให้บุคคลเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข

'อ.ต่อตระกูล' เผย!! ปี 67 ไทยมีคนอายุเกิน 100 ปี ติดท็อป 5 ของโลก ส่วนใหญ่อยู่ภาคใต้ ที่เหลือกระจายตามจังหวัดใหญ่ๆ ทั่วประเทศ

(20 ก.ย. 67) รองศาสตราจารย์ ต่อตระกูล ยมนาค นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

ประเทศไทย ในปี 2567 นี้มีคนอายุเกิน 100 ติดอันดับ 5 ของโลก มีจำนวนถึง 42,485 คน  

น่าภาคภูมิใจมาก เพราะไทยเป็นประเทศที่มี ลำดับความเจริญเศรษฐกิจ ต่ำที่สุดใน 5 ชาตินี้ แต่มีพลเมืองมีความสุข มีการดูแลสุขภาพผู้สูงวัยได้ดี จนมีจำนวนคนอายุยืนเกิน 100 ปี มากติดอันดับสูงสุด 5 ประเทศของโลกได้ 

ประเทศอันดับ 3 และ 4 คือ จีน และ อินเดีย ซึ่งมีพลเมือง มากที่สุดในโลก ประเทศละ 1,400 ล้านคน อันดับ 2 คือ อเมริกา มีพลเมือง 340 ล้านคน และที่ 1 ในปี 2024 นี้คือ ญี่ปุ่น ที่มีพลเมือง 120 ล้านคน

ข้อมูลจาก The Countries with the Most Centenarians in the World. 

มีข้อมูลแสดงการเปลี่ยนแปลง ของลำดับขึ้น ๆ ลง มาตั้งแต่ปี 1950 มาจนถึง 2024 ไทยอยู่ในอันดับต้น ๆ มาตลอด เราเคยอยู่ในอันดับเหนือกว่าญี่ปุ่นด้วย เปิดดูคลิปที่แสดงสถิติแบบเคลื่อนไหวได้ ได้ที่ :
https://images.app.goo.gl/TSmvJq9SX3DNRsuPA

ประเทศไทย ต้องมีอะไร ที่ทำให้คนอายุยืน กว่าชาติอื่นๆ? ต้องหาความจริงนี้ให้ได้   

เบื้องต้นมีข้อมูลจากกรมการปกครอง เผยข้อมูลว่าผู้สูงอายุเกิน 100 ปี มีอยู่ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้สุด 5 จังหวัดมากที่สุด ถึง 5 พันกว่าคน ที่เหลืออยู่ในจังหวัดใหญ่ ๆ ทั่วประเทศ มากที่สุดคือที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล

หาทางออก!! แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ในเวทีสานพลังไทย รับมือ!! ‘สังคมสูงวัย’

(10 ธ.ค. 67) ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช  ผู้ทรงคุณวุฒิ ประธานการประชุมกล่าวเปิดว่า มุมมองของคนไทยต่อ ‘สังคมสูงวัย’ ยังค่อนข้างแคบ หลายคนยังมองว่าสังคมสูงวัยเป็นเรื่องของ ‘ผู้สูงอายุ’ เท่านั้น โดยเน้นไปที่ความจำเป็นในการดูแลสุขภาพ หรือการจัดสวัสดิการสำหรับผู้สูงวัย แต่ในความเป็นจริง สังคมสูงวัยคือเรื่องของ ‘ทุกคน’ และทุกช่วงวัยในสังคม  พร้อมเสนอข้อคิดมุมมองเพื่อการเตรียมรับมือสังคมสูงวัยไว้  5 ประการ คือ

(1) รณรงค์สร้างความรู้ ว่าผู้สูงอายุ คือพลัง ไม่ใช่ภาระ ผู้สูงวัยมีศักยภาพที่จะเป็น ‘ครูชีวิต’ ที่ดีได้  การเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่จำกัดเฉพาะช่วงวัยใดวัยหนึ่ง แต่เป็นพื้นฐานที่ทุกคนควรมี เพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงรอบตัว

(2) ให้มีกลไกสานพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน ให้เข้ามาขับเคลื่อนงานในลักษณะการนำหมู่ (Collective Leaderships) 

(3) ปรับสภาพแวดล้อมทั้งในเชิงพื้นที่และกลไกให้เอื้อต่อการดำรงชีวิต การทำงาน และการเรียนรู้ร่วมกันของผู้สูงอายุและคนทุกวัย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย

(4) ใช้วัฒนธรรม ‘สังคมเกื้อกูล’ เป็นธงนำ ใช้รูปแบบวัฒนธรรมของการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และ 

(5) ขยายผลนวัตกรรมและรูปธรรมความสำเร็จไปสู่วงกว้าง อย่างการปรับตัวของภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และประชาชน

“การที่ 12 องค์กรร่วมกันสานพลังทำงานนี้บนแนวคิด สานพลังไทย รับมือสังคมสูงวัย ไปด้วยกัน  เป็นการเดินในทิศทางที่ถูกต้อง เหมาะสม   และมองว่าการเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นโอกาสที่เราจะร่วมมือกันสร้างสรรค์สังคมที่เป็นสุข สังคมที่เกื้อกูลกัน สามารถเติบโตไปพร้อมกันได้อย่างยั่งยืน มุ่งมั่นที่จะใช้ศักยภาพของตนเอง และส่งเสริมการใช้ศักยภาพของผู้สูงวัยอย่างมีคุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด” นายแพทย์วิจารณ์ กล่าว

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าการขับเคลื่อนเพื่อรองรับสังคมสูงวัย เป็นภารกิจใหญ่และสำคัญ มีทั้งโอกาสและความท้าทายมากมาย ไม่สามารถดำเนินการเพียงลำพังโดยกลไกภาครัฐเท่านั้น จำเป็นต้องมีการสานพลังทั้งสังคม เพื่อการขับเคลื่อนร่วมกันอย่างเป็นระบบ และเกิด ความรับผิดชอบร่วมและการขับเคลื่อน ซึ่งการจัดประชุมวิชาการครั้งนี้  เพื่อให้เกิดการสานพลังองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานโยบายรองรับสังคมสูงวัย  พัฒนาวิชาการและองค์ความรู้จากประสบการณ์ขององค์กรภาคีเครือข่าย และสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายนำไปสู่ขับเคลื่อนรองรับสังคมสูงวัยทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ 

รศ.ดร.เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง  ผู้ทรงคุณวุฒิและอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง ‘สังคมสูงวัย…จุดเปลี่ยนสู่ศักยภาพใหม่ของสังคมไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า’ โดยกล่าวว่า หากปล่อยปัญหาเรื่องสังคมสูงวัยไปไม่มีการดำเนินการใดๆ  และยังคงให้มีปัญหาผลกระทบในอีกสิบปีข้างหน้าจะหนักขึ้นไปเรื่อยๆ เช่น ยังไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการแก้ไขปัญหาเด็กเกิดใหม่ลและความพร้อมของครอบครัวที่มีคุณภาพก็ลดน้อยลง  ผู้สูงวัยไม่สามารถพึ่งพิงตนเองได้จึงเป็นภาระของวัยคนทำงาน ไม่มีเงินออม คนจน ความเหลื่อมล้ำ อาชญากรรมจะมีมากขึ้น รัฐเก็บภาษีอากรได้น้อยลงเพราะคนทำงานมีน้อยลง ขณะที่หนี้สาธารณะมีมากขึ้น สวัสดิการมีไม่เพียงพอ ยังไม่สามารถพึ่งพาเทคโนโลยีได้แม้มีหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุแต่ก็ไม่อาจฝากชีวิตได้  มองว่าทุกภาคส่วนต้องร่วมแก้ไขปัญหาเดี๋ยวนี้ ช่วยกันปลุกเตือนให้ทุกคนได้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนประเทศไทยด้วยการสานพลัง มีระบบช่วยดูแลผู้สูงอายุ มีการปรับสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้เอื้อกับผู้สูงวัย รัฐบาลส่วนกลางต้องรับผิดชอบและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยเฉพาะ คิดและทำให้ประชากรแก่ให้ช้า โดยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงและมีสุขภาพดียาวนานที่สุด  ให้ระยะเวลาเจ็บป่วยเกิดสั้นที่สุด พึ่งพาตัวเองให้ยาวที่สุด เสริมทัศนคติให้ระยะเวลาทำงานยาวขึ้น ออมตั้งแต่วัยหนุ่มสาว เพราะออมเมื่อสูงอายุแล้วจะไม่ทัน

นายวีระศักดิ์  โควสุรัตน์  ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรและอดีตสมาชิกวุฒิสภา  ปาฐกถาก่อนปิดการประชุม ในหัวข้อ ‘ต่อยอดจุดแข็งประเทศไทย ไปสู่  Smart Aging Society’  กล่าวว่า สถานการณ์โครงสร้างประชากรทั่วโลกที่ลดน้อยลง ฐานปิรามิดประชากรใน 100 ปีข้างหน้า จะผอมลงมาก  และสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ทำให้คนไม่กล้ามีลูก ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ทางการเมืองในช่วง  20 ปีที่ผ่านมาไม่มีเสถียรภาพ จึงไม่มีสมาธิที่จะเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างประชากรที่ลดน้อยลง  สภาพโลกร้อนขึ้นไม่หยุด รวมถึงนโยบายเลือกเฟ้นคนเข้าเมือง นโยบายถิ่นที่อยู่ นโยบายสัญชาติ ที่น่าจะสามารถเลือกสรรคนมีความสามารถจากทั่วโลกมาร่วมพัฒนาบ้านเมือง  เพราะเราไม่มีทางผลิตประชากรเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ทันในเวลาอันใกล้นี้  

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ประธานกรรมการบริหารโครงการสานพลังพัฒนาโยบายรองรับสังคมสูงวัย เพื่อสุขภาวะองค์รวม พ.ศ. 2568 และอดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวปิดเวทีว่า การขับเคลื่อนสังคมสูงวัยต้องมีการปรับความคิดว่าไม่ใช่เรื่องผู้สูงอายุเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้อง เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องช่วยกันขยับทั้งภาครัฐ  ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ  เพื่อสร้างสังคมที่ Smart  และเชื่อมั่นว่าทำได้  เวทีที่จัดขึ้นเป็นเพียง  1 กิจกรรมในความพยายามที่ต้องทำต่อเนื่อง  เหมือนการวิ่งมาราธอน  เพื่อร่วมกันสร้างความรู้และปัญญาจากงานที่จัด  โดยจะมีการสรุปประมวลเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย  ข้อเสนอไปสู่การพัฒนาปฏิบัติ   บางเรื่องอาจต้องมีการศึกษาวิจัยต่อจากเวทีในครั้งนี้  มีหลายหน่วยงานที่มาได้รู้จักว่ากลุ่มไหน ทำอะไร  ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันแล้ว ยังประสานทำงานร่วมกันต่อไปอีกด้วย  

การประชุมวิชาการ (Mini-symposium) สานพลังไทย รับมือสังคมสูงวัย ไปด้วยกัน  (Smart Aging Society : Together, We can)  จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับมูลนิธิสานพลังเพื่อแผ่นดิน (มสผ.) และองค์กรเจ้าภาพอีก 10 องค์กร ได้แก่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นเวทีคู่ขนานกับการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 2567 มีผู้เข้าร่วมกว่า200 คน จากภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และนักวิชาการ  พบว่าเรื่อง ‘สังคมสูงวัย’ ยังไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง มีเพียงการดูแลสวัสดิการ สงเคราะห์ช่วยเหลือผู้สูงอายุ  และคาดว่าจะผลิตแรงงานไม่ทันกับความต้องการ ระบบโครงสร้าง ยังไม่รองรับความเปลี่ยนแปลงในสังคมที่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก เด็กเกิดน้อย แรงงานลดลง พร้อมนำเสนอ 14 กรณีตัวอย่างขับเคลื่อนสังคมสูงวัยแลกเปลี่ยนประสบการณ์

สมุทรปราการ- 'พระครูแจ้' ทำบุญปีใหม่!! มอบเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ รพ.บางพลี กว่า 500,000 บาท

ท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ (พระครูแจ้) เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง มอบของขวัญต้อนรับปีใหม่ มอบเงินกว่า 500,000 บาท ช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลบาพลี เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และคณะเจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาลทุกคนในโอกาสต้อนรับปีใหม่ 2568

วันที่ (2 ม.ค.68) ที่ผ่านมา เวลา 15.00 น. ท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ (พระครูแจ้) เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง พร้อมด้วย ข้าราชการตำรวจ สภ.บางพลี พร้อมทั้งสื่อมวลชน ลงพื้นที่ภายในชุมชนคลองบางพลีเยี่ยมคุณยายแดง คุณยายอายุ 100 ปี พร้อมทั้งมอบกระเช้าและเงินจำนวน 5,000 บาท ให้กับคุณยายแดงและผู้ป่วยติดเตียงที่พักอาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้ อีกรายละ 3,000 บาท 

นอกจากนี้ ท่านพระครูแจ้ ยังได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลบางพลี ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี สมุทรปราการ เยี่ยมผู้ป่วยที่เข้าพักรักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาล พร้อมทั้งถือโอกาสต้อนรับปีใหม่ 2568 มอบแบรนด์รังนกและเงินสดอีกคนละ 200 บาท แก่ผู้ป่วยที่เข้าพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งนี้สร้างความปราบปรื้มให้แก่ผู้ป่วยและคณะแพทย์พยาบาลเป็นอย่างมาก

อีกทั้ง ท่านพระครูแจ้ เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง ได้เมตตามอบเงินเป็นของขวัญปีใหม่แก่บุคคลากรทางการแพท์และคณะเจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาลโรงพยาบาลบางพลีทุกคน กว่า 700 คน อีกคนละ 300 บาท เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ ให้กับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลบางพลีในช่วงเทศกาลปีใหม่ 

โดยมี นายแพทย์ประพัฒน์ ธรรมศร ผอ.โรงพยาบาลบางพลี และทีมแพทย์พยาบาลตลอดจนคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ

จีนเปิดตัวรถไฟขบวนพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ มุ่งหน้าท่องเที่ยว 3 เมืองหลัก ชมวัฒนธรรมและธรรมชาติอันสวยงาม

(18 มี.ค. 68) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า รถไฟท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุขบวนแรกของปีในเขตปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย ได้ออกเดินทางจาก สถานีเทียนจิน อย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่ วันที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมา พร้อมนำผู้โดยสารวัยเก๋าจำนวน 452 คน จากทั้งสามพื้นที่ ได้แก่ ปักกิ่ง เทียนจิน และมณฑลเหอเป่ย เดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่สำคัญหลายแห่ง

ขบวนรถไฟพิเศษนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ภายในตู้โดยสารมี สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เช่น ที่นั่งกว้างขวาง ทางเดินปลอดภัย ระบบยกสัมภาระอัตโนมัติ และบริการพยาบาลเบื้องต้น เพื่อให้ผู้โดยสารเดินทางได้อย่างสบายและปลอดภัย

สำหรับเส้นทางของรถไฟขบวนนี้จะเริ่มต้นการเดินทางจาก ปักกิ่ง และจะเดินทางผ่าน มณฑลเจียงซี, หูหนาน, และ กวางตุ้ง โดยจุดจอดสำคัญในแต่ละมณฑลจะรวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ได้แก่ 

มณฑลเจียงซี พื้นที่ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติที่น่าสนใจ เช่น เขตมรดกโลกที่ภูเขาเอ๋อ และ เมืองเจียงเจียว ที่มีมรดกทางวัฒนธรรมจีนที่ลึกซึ้ง

มณฑลหูหนาน เส้นทางจะพาผู้โดยสารไปยังเมืองที่มีชื่อเสียงในด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เช่น เมืองจางเจียเจี้ย ที่มีภูเขาและทิวทัศน์ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก 

มณฑลกวางตุ้ง จุดหมายสำคัญรวมถึง เมืองกวางโจว ซึ่งเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความเจริญก้าวหน้าและมรดกทางวัฒนธรรมที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์จีน

นอกจากการเดินทางที่สะดวกสบายแล้ว ยังมี กิจกรรมพิเศษบนขบวนรถไฟ เช่น ดนตรีสด บรรยายประวัติศาสตร์ และการสาธิตวัฒนธรรมพื้นบ้าน เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความสุขให้กับผู้โดยสาร

โครงการรถไฟท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนา “วงแหวนเศรษฐกิจปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย” ที่มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวและเชื่อมโยงเมืองสำคัญในภูมิภาค โดยรัฐบาลท้องถิ่นหวังว่า บริการรถไฟขบวนพิเศษนี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้สะดวกขึ้น และส่งเสริมเศรษฐกิจในเมืองต่าง ๆ ตลอดเส้นทาง

คาดว่าหลังจากการเดินทางครั้งแรกนี้ โครงการจะมีการเพิ่มรอบการเดินทางและขยายเส้นทางไปยังพื้นที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ในอนาคต เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยในจีน

ทั้งนี้ จีนกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว ทำให้โครงการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก การเปิดตัวรถไฟท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุขบวนแรกของปี 2025 ถือเป็น ก้าวสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทางสำหรับผู้สูงอายุ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรกลุ่มนี้

โดยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแผนที่จะ พัฒนาระบบขนส่งที่เป็นมิตรกับผู้สูงวัยมากขึ้น ทั้งในด้านบริการ สิ่งอำนวยความสะดวก และมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อให้ทุกการเดินทางเป็นไปอย่างสะดวกสบาย

ญี่ปุ่นยุคใหม่ เตรียมพึ่งพาแรงงานจากต่างแดนมากขึ้น คาด 10% ของประชากรจะเป็นชาวต่างชาติใน 20 ปี

(26 มี.ค. 68) รายงานล่าสุดจากสื่อญี่ปุ่นระบุว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนผ่านสู่สังคมที่มีชาวต่างชาติคิดเป็น 10% ของประชากรทั้งหมด ท่ามกลางวิกฤติประชากรลดลงและแรงงานขาดแคลน

ญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหาการลดลงของจำนวนประชากรอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราการเกิดต่ำและประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงต้องปรับนโยบายเพื่อเปิดรับแรงงานต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงาน เช่น การดูแลผู้สูงอายุ ก่อสร้าง และเทคโนโลยี

ข้อมูลจากนักวิชาการด้านประชากรศาสตร์ชี้ว่า หากแนวโน้มนี้ยังดำเนินต่อไป ภายในปี 2045 ชาวต่างชาติอาจมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่น และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมของประเทศ

แม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่มี วัฒนธรรมแบบเอกลักษณ์และค่อนข้างปิดต่อแรงงานต่างชาติในอดีต แต่สถานการณ์ปัจจุบันบีบบังคับให้ต้องเปิดรับแรงงานจากต่างประเทศมากขึ้น รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่น ขยายโครงการวีซ่าทำงาน และผ่อนปรนกฎระเบียบสำหรับแรงงานทักษะสูง เพื่อดึงดูดคนจากทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม แม้การเพิ่มขึ้นของชาวต่างชาติจะช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงาน แต่ก็อาจนำไปสู่ความท้าทายด้านการปรับตัวทางสังคมและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นระบบสวัสดิการ การศึกษา และการอยู่ร่วมกันของคนหลายเชื้อชาติ

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า หากญี่ปุ่นสามารถปรับตัวได้ดี ประเทศอาจกลายเป็นสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต

'วราวุธ' เผย พม. จัดงาน วันผู้สูงอายุแห่งชาติและวันแห่งครอบครัว ประจำปี 2568 

เมื่อวันที่ (8 เม.ย.68) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า จากที่กำหนดวันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็น 'วันผู้สูงอายุแห่งชาติ' เพื่อให้ประชาชนและสังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญผู้สูงอายุที่ทรงคุณค่า อันเป็นองค์ความรู้และภูมิปัญญาของประเทศ อีกทั้ง กำหนดให้วันที่ 14 เมษายน ของทุกปีเป็น 'วันแห่งครอบครัว' เพื่อให้ประชาชนและสังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของสถาบันครอบครัวที่อบอุ่นและเข้มแข็งในการหล่อหลอมประชากรที่มีคุณภาพของประเทศ 

ทั้งนี้ กระทรวง พม. จึงได้กำหนดจัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติและวันแห่งครอบครัว ประจำปี 2568 โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ภายใต้แนวคิด 'คุณค่าผู้สูงวัย สานสายใยพลังครอบครัว' ในวันที่ 10 เมษายน 2568 ที่ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ 

นายวราวุธ กล่าวว่า ภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย 1. การกล่าวสารนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) เนื่องในโอกาส 'วันผู้สูงอายุแห่งชาติและวันแห่งครอบครัว' ประจำปี 2568 2. พิธีถวายรางวัลผู้สูงอายุแห่งชาติ พุทธศักราช 2568 แด่สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย ป.ธ.8) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร 3. พิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่บุคคล ครอบครัว หน่วยงานองค์กร และสื่อดีเด่นด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุและครอบครัว 4. บูธนิทรรศการที่น่าสนใจ อาทิ ประวัติผู้สูงอายุแห่งชาติ พุทธศักราช 2568 นโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร กระทรวง พม. ผลงานของหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. และหน่วยงานภาคีเครือข่าย อาทิ กรมกิจการผู้สูงอายุ , กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว , OPPY (โอพีพีวาย) สังคมอายุยืน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ และกองทุนการออมแห่งชาติ และ 5. บูธแสดงการสาธิตและผลิตภัณฑ์สินค้าจากศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ 12 แห่ง และศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวทั่วประเทศ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top