'สวนสาธารณะเบญจกิติ' สร้าง 30 ปี แทบพังป่นปี้ในสองร้อยกว่าวัน!
ภาพผืนหญ้ากรอบเกรียมเหือดแห้งเหมือนซากหนังสัตว์ถูกแปะเกาะไว้บนเนินดินซึ่งห้อมล้อมด้วยมวลน้ำที่ห่างไกลว่าสะอาด ถูกเผยแพร่ไปมากมายหลายครั้งบนโซเชียลมีเดีย ภายใต้หัวข้อการพูดคุยถึงปัจจุบันของ 'สวนป่าเบญจกิติ' อันขาดซึ่งการดูแลจนมีสภาพเยี่ยงนี้
เป็น 'สวนสาธารณะเบญจกิติ' ที่คนกรุงเทพฯ รอคอยมานานเกินกว่าสามสิบปี
ก่อนกำเนิดสวนเบญจกิติเช่นวันนี้ สถานะที่ตั้งเดิมคือ 'โรงงานยาสูบ' ตั้งแต่ พ.ศ. 2493 เดินกิจการ 'เผาปอด' คนไทยเกินกว่า 40 ปี จนมีคำสั่งคณะรัฐมนตรีให้ย้ายโรงงานออกไปยังภูมิภาค และ 'ต้อง' พัฒนาพื้นที่เดิมขึ้นเป็นสวนสาธารณะ องค์การฯ จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายพื้นที่ 'คืน' แด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ (พระราชอิสริยยศขณะนั้น) จำนวน 140 ไร่ เพื่อสร้างสวนน้ำ โดยมีบึงน้ำเก่าความจุ 320,000 ลูกบาศก์เมตร (ชาวบ้านมักเรียกว่า - บึงโรงงานยาสูบ) เป็นปฐม
รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ส่งไม้ต่อ โดยชงเรื่องสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (2535) และนำที่ดินดังกล่าวขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายอย่างเป็นทางการ ภายใต้โครงการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสวนสาธารณะแห่งใหม่นี้ว่า 'เบญจกิติ'
เรื่องล่วงเลยเนิ่นนานผ่านนายกรัฐมนตรีถึง 8 คน จนแทบลืมเลือน 'สวนป่า' ที่ได้รับการดูแลเพียงงบประมาณประจำปีเล็กน้อยจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง กระทั่งเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 องค์การยาสูบฯ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายที่ดินเพิ่มเติมอีก 311 ไร่
จนกาลจำเนียรผ่านถึงยุคนายกรัฐมนตรีชื่อ - พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่หันมาเอาจริงเอาจัง โดยได้ติดตามกำกับดูแล แก้ปัญหาต่างๆ นานา อย่างต่อเนื่อง ผ่านรายงานความคืบหน้าโครงการจัดสร้าง 'สวนป่าเบญจกิติ' เป็นระยะ อย่างไม่มีรัฐบาลไหนเคยใส่ใจมาก่อน โดยนายกฯ ตั้งใจเพียงว่า ต้องดำเนินงานสร้างสวนนี้ให้เสร็จสิ้นลงภายใต้รัฐนาวาของตนให้ได้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยตั้งกองทัพบกเป็นหน่วยงานดำเนินการก่อสร้าง ทั้งระยะแรก (140 ไร่) และระยะสอง (311 ไร่)
