Wednesday, 23 April 2025
ผนวกดินแดน

รัสเซีย จัดทำประชามติผนวกดินแดน 'ซาปอริซห์เซีย' เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซียในเร็วๆ นี้

ผู้ว่าการแคว้นซาปอริซห์เซียของยูเครน เตรียมจัดประชามติ ผนวกดินแดนกับรัสเซีย

รัสเซียเตรียมเดินเกมสุดซอยอีกครั้ง เมื่อเยฟเกนี บาลิทสกี ผู้ว่าการแคว้นซาปอริซห์เซีย (Zaporizhzhia) ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลรัสเซีย ได้ออกกฎหมายให้จัดทำประชามติในการผนวกดินแดนเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซียในเร็ว ๆ นี้

ซาปอริซห์เซีย เป็นหนึ่งในแคว้นทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน อยู่ระหว่างแคว้นโดเนสค์ และเคอร์ชอน และยังติดกับทะเลอาซอฟด้วย เศรษฐกิจหลักของเมืองนี้ คือการผลิตอลูมิเนียม เหล็ก เครื่องจักร รถยนต์ เครื่องยนต์อากาศยาน นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ซาปอริซห์เซีย ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป 

และเช่นเดียวกันกับแคว้นโดเนสค์ และเคอร์ชอน ซาปอริซห์เซียเป็นพื้นที่แรก ๆ ที่อยู่ในแผนการบุกของรัสเซียตั้งแต่เริ่มเปิดศึก และยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองไว้ได้ รวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซห์เซีย และทางรัสเซียก็ได้จัดตั้งองค์กรบริหารท้องถิ่นของตนเข้าไปดูแลแทน ซึ่ง เยฟเกนี บาลิทสกี ได้รับเลือกให้ดูแลพื้นที่ส่วนยึดครองของรัสเซีย

แต่ทั้งนี้การตัดสินใจที่จะเร่งให้มีการผนวกดินแดน ซาปอริซห์เซีย เกิดขึ้นหลังจากที่มีการโจมตีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซห์เซีย ซึ่งทั้งฝ่ายยูเครน และรัสเซีย ต่างกล่าวโทษกันและกันว่าเป็นฝีมือของอีกฝ่ายเป็นผู้โจมตี 

เรื่องร้อนถึง อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เรียกร้องให้ส่งหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบให้ และหลังจากมีข่าวว่าทาง UN จะส่งคนเข้ามา จึงมีข่าวลือว่าฝ่ายรัสเซียจะทำประชามติเพื่อผนวกดินแดนโดยเร็ว

ด้านโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ผู้นำยูเครน จึงออกมาแถลงออกสื่อว่า หากรัสเซียจะทำประชามติเพื่อผนวกดินแดนในพื้นที่ยึดครองของกองกำลังรัสเซียเมื่อใด ก็จะไม่มีการเจรจาเพื่อยุติสงครามใดๆ อีก ซึ่งเซเลนสกี้ย้ำว่า ยูเครนจะไม่ยอมยกดินแดนที่เป็นของเราให้ใครเป็นอันขาด  

ย้อนประเด็น 'กรีนแลนด์-ปานามา-แคนาดา' 'ทรัมป์' หมายตาคิดผนวกดินแดน

(24 ธ.ค.67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังไม่ทันเข้าสาบานตนรับตำแหน่งสมัยสอง ก็ออกมาพูดหลายครั้งถึงประเด็นอธิปไตยในต่างแดนหลายต่อหลายครั้ง ที่แม้ฟังดูเป็นเรื่องติดตลก แต่ทรัมป์ก็ให้เหตุผลที่น่าคิดอยู่ไม่น้อยเลยที่เดียวตามแนวคิด 'อเมริกามาก่อน'  

เริ่มตั้งแต่ประเด็นกับชาติเพื่อนบ้านอย่างแคนาดา โดยทรัมป์ได้กล่าวเมื่อ 3 ธันวาคม ที่ผ่านมา ระหว่างการหารือมื้อค่ำกับ นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ที่มาร์อาลาโก้ บ้านพักตากอากาศของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในรัฐฟลอริด้า 

การเยือนครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านั้น โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาขู่ว่าแคนาดาอาจจะโดนกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก 25% เมื่อกลับเข้าสู่ทำเนียบขาว เพื่อบีบบังคับให้เร่งจัดการกับปัญหายาเสพติดและผู้อพยพที่เข้ามาในสหรัฐ โดยเรื่องนี้ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าสงครามการค้าในภูมิภาคอาจจะเกิดขึ้น นายกทรูโดจึงรีบรุดหารือเป็นการส่วนตัวกับทรัมป์

ในระหว่างการหารือมื้อค่ำของสองผู้นำ นายกแคนาดาได้รับปากว่าจะแก้ปัญหาเรื่องภาษีศุลกากรแต่ก็อาจมีข้อจำกัดบางประการในประเด็นที่รัฐบาลท้องถิ่นในบางแคว้นของแคนาดาที่มีอาณาเขตติดกับพรมแดนสหรัฐฯ สามารถกำหนดอัตราภาษีศุลกากรได้ด้วยตนเอง

ทรูโดกล่าวกับทรัมป์ว่า เขาไม่สามารถเรียกเก็บภาษีนำเข้าได้เพราะจะทำลายเศรษฐกิจของแคนาดาอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งเป็นสิทธิ์ของรัฐบาลแคว้นท้องถิ่น ซึ่งทรัมป์ตอบเชิงติดตลกว่า

"ถ้าแคนาดาไม่สามารถจัดการปัญหาภาษีศุลกากรได้ ประเทศคุณก็คงไม่สามารถเลี่ยงกำแพงภาษีสหรัฐได้ เว้นเสียแต่บางแคว้นของแคนาดาจะเข้าร่วมเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ"

ต่อมา 20 ธันวาคม ทรัมป์ โพสต์ลงในแพลตฟอร์ม ทรูธ โซเชียล (Truth Social) แซวว่าเป็นความคิดที่ดี หากแคนาดาเข้าเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐอเมริกา และชาวแคนาดาเองก็เห็นด้วยกับไอเดียนี้ ซึ่งโพสต์ดังกล่าวมีใจความว่า "ไม่มีตอบได้ว่าทำไมเราต้องจ่ายเงินช่วยแคนาดาปีละ 100 ล้านล้านดอลลาร์ ไม่สมเหตุสมผล! ชาวแคนาดาอยากให้แคนาดาเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ เพราะคงช่วยประหยัดภาษีไปได้มากและได้ความคุ้มครองทางทหาร ผมคิดว่ามันเป็นไอเดียที่ดี รัฐที่ 51!"

ในประเด็นเรื่องคลองปานามา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้วิจารณ์รัฐบาลปานามาอย่างรุนแรง หลังจากที่เขาขู่ว่าจะยึดคลองปานามาคืน หากปานามาไม่สามารถแก้ไขปัญหาค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นที่เรียกเก็บจากเรือสินค้าของสหรัฐฯ ที่แล่นผ่านคลองดังกล่าว

ทรัมป์ได้โพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ ทรูธ โซเชียล ว่า “กองเรือและการค้าของเราได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ค่าธรรมเนียมที่ปานามาเรียกเก็บนั้นไร้เหตุผลจริง ๆ” พร้อมทั้งระบุว่า การเอาเปรียบสหรัฐฯ “ต้องยุติลงทันที”

ประธานาธิบดียังกล่าวเพิ่มเติมว่า หากปานามาไม่สามารถรับประกันความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และความน่าเชื่อถือของคลองปานามาได้ "สหรัฐฯ จะขอเรียกคืนคลองปานามากลับมาเป็นของเราอย่างเต็มรูปแบบ"

คลองปานามาได้รับการขุดเสร็จสมบูรณ์โดยสหรัฐฯ ในปี 1914 ก่อนที่จะส่งคืนให้กับปานามาภายใต้สนธิสัญญาในปี 1977 ที่ลงนามโดยอดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ และปานามาได้รับการควบคุมคลองนี้อย่างสมบูรณ์ในปี 1999

ในด้านของปานามา ประธานาธิบดีโฮเซ่ ราอูล มูลิโน ได้ตอบโต้ทรัมป์ในวิดีโอว่า “ทุกตารางเมตรของคลองปานามาคือของปานามาและจะเป็นเช่นนั้นต่อไป” ขณะที่ทรัมป์ได้โพสต์ตอบกลับในสื่อสังคมออนไลน์ของเขาว่า “เดี๋ยวได้รู้กัน”

ส่วนเรื่องกรีนแลนด์ ย้อนกลับไปในปี 2019 ที่ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยแรก ทรัมป์เคยพูดเรื่องการซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์ก โดยทรัมป์กลับมาฟื้นประเด็นนี้อีกครั้งหลังจากที่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้เสนอชื่อนาย เคน ฮาวเวอรี อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสวีเดนและนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำเดนมาร์กคนใหม่ โดยทรัมป์เชื่อมั่นว่าฮาวเวอรีจะ "ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในการเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของสหรัฐฯ"

โดนัลด์ ทรัมป์  กล่าวผ่านแพลตฟอร์มโซเชียล Truth Social โดยยืนยันถึงการฟื้นแนวคิดการเป็นเจ้าของพื้นที่กรีนแลนด์ ซึ่งทรัมป์มองว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง

"เพื่อความมั่นคงและส่งเสริมเสรีภาพทั่วโลก สหรัฐอเมริกาเห็นว่าการเป็นเจ้าของและควบคุมพื้นที่กรีนแลนด์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง"

ย้อนไปในปี 2019 สื่อหลายแห่งรายงานว่าทรัมป์มีความสนใจที่จะซื้อกรีนแลนด์ ซึ่งต่อมาเขาเองยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่าเป็นความสนใจเชิงยุทธศาสตร์ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกรีนแลนด์ย้ำว่ากรีนแลนด์ไม่ใช่สินค้าที่จะขายได้ ขณะที่รัฐบาลเดนมาร์กแสดงความหวังว่าทรัมป์กำลังพูดเล่น และเรียกแนวคิดการขายกรีนแลนด์ว่า 'ไร้สาระ'

สำหรับกรีนแลนด์ปัจจุบันถือเป็นดินแดนอาณานิคมของเดนมาร์กถึงปี 1953 แม้ว่าจะยังเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเดนมาร์ก แต่ในปี 2009 กรีนแลนด์ได้รับสิทธิ์ปกครองตนเองและสามารถตัดสินใจเรื่องนโยบายภายในประเทศได้อย่างอิสระ

จากประเด็นทั้งหมด ด้านสตีเฟน ฟาร์นสเวิร์ธ อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์จาก University of Mary Washington ในรัฐเวอร์จิเนีย บอกว่า ทรัมป์ใช้แนวทางอันก้าวร้าวแบบนักธุรกิจในการหยิกแกมหยอกประเทศที่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ และมองว่าทั้งกรณีของแคนาดาและกรีนแลนด์ ทรัมป์เพียงแค่ต้องการเอาชนะ ไม่ว่าจะในเรื่องการค้า พรมแดน หรือในประเด็นอื่น ๆ กับประเทศพันธมิตร

ย้อนเปิดยุทธศาสตร์จากยุคปธน.ทรูเเมน 'เเปซิฟิกมีอะเเลสกา เเอตเเลนติกก็ควรมีกรีนเเลนด์'

(26 ธ.ค. 67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 47 เคยเสนอให้สหรัฐฯ ซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์กในช่วงปี 2019 ขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก แต่แนวคิดดังกล่าวถูกปฏิเสธจากเดนมาร์ก โดยชี้ว่า "กรีนแลนด์ไม่ใช่สินค้าที่สามารถขายได้" ล่าสุดในปี 2024 ทรัมป์ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากเสนอชื่อนายเคน ฮาวเวอรี อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสวีเดน และนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำเดนมาร์กคนใหม่ โดยทรัมป์มั่นใจว่าฮาวเวอรีจะทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในการเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของสหรัฐฯ

ทรัมป์ยังได้ย้ำผ่านแพลตฟอร์มโซเชียล Truth Social โดยระบุถึงความสำคัญของการเป็นเจ้าของกรีนแลนด์ โดยมองว่าเพื่อเสริมความมั่นคงและเสรีภาพทั่วโลก สหรัฐฯ ควรมีอำนาจในการครอบครองและควบคุมพื้นที่กรีนแลนด์

ดินแดนกรีนแลนด์ ถูกจัดว่าเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่เหนือสุดของโลกในแถบขั้วโลกเหนือ มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลถึง2,175,900 ตารางกิโลเมตร และมีสถานะเป็นดินแดนในคุ้มครองของเดนมาร์ก มีประชากรอยู่ราว 57,000 คน กรีนแลนด์เพิ่งมีสถานะเป็นดินแดนเอกราชปกครองตนเองในปี 2009 ประชาชนมีการเลือกรัฐบาลท้องถิ่นเป็นของตนเอง พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรีนแลนด์เต็มไปด้วยน้ำแข็งและดินแดนอันเวิ้งว้างที่หนาวเหน็บ แต่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย

ข้อมูลจากรายงานที่มีชื่อว่า "The Greenland Gold Rush: Promise and Pitfalls of Greenland’s Energy and Mineral Resources" ระบุว่า ในขณะที่โลกกำลังเผชิญสภาวะโลกร้อน แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อกรีนแลนด์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ .. การละลายของน้ำแข็งในอาร์คติกส่งผลให้ทรัพยากรอันมีค่าหลากหลายชนิดของกรีนแลนด์ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดเพราะเข้าถึงได้ง่าย อาทิ แร่เหล็ก ตะกั่ว สังกะสี เพชร ทองคำ องค์ประกอบธาตุหายาก (แรร์เอิรธ์) ยูเรเนียม และน้ำมัน

การที่กรีนแลนด์สามารถมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อปกครองตนเอง ที่เป็นอิสระจากรัฐบาลกลางเดนมาร์ก ส่งผลให้กรีนแลนด์สามารถแสวงหาผลประโยชน์เหล่านี้ได้ง่ายมากขึ้นเช่นกัน .. แต่ก็ใช่ว่ากรีนแลนด์จะขุดทุกอย่างออกมาขาย ด้วยวิถีการดำเนินเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง กรีนแลนด์จึงระมัดระวังอย่างมากในการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ 

แม้ทรัมป์จะไม่เคยกล่าวถึงเหตุผลชัดเจนว่าทำไมเขาต้องการกรีนแลนด์ แต่สามารถคาดเดาได้ว่าเพราะเป็นดินแดนที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากมายรอการขุดค้น ขณะที่ยังมีอีกเหตุผลด้านความมั่นคง  

แนวคิดการซื้อกรีนแลนด์ด้านความมั่นคงนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์เท่านั้น เพราะในปี 1946 สมัยประธานาธิบดีแฮร์รี่ ทรูแมน ผู้นำสหรัฐฯ คนที่ 33 ก็เคยเสนอซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์กด้วยจำนวนเงิน 100 ล้านดอลลาร์ ภายใต้แนวคิด "หากทางแปซิฟิกมีอะแลสกา ทางแอตแลนติกก็ควรมีกรีนแลนด์" แต่ข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธทั้งจากเดนมาร์กและประชาชนในกรีนแลนด์ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการแทรกแซงจากสหรัฐฯ 

แม้การซื้อกรีนแลนด์จะไม่สำเร็จ แต่สหรัฐฯ ยังคงรักษาอิทธิพลในกรีนแลนด์ผ่านข้อตกลงการตั้งฐานทัพทูล (Thule Air Base Agreement) เพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงทางยุทธศาสตร์จ  ให้ปัจจุบันสหรัฐฯ ยังคงมีฐานทัพอากาศ Thule Air Base ประจำการในกรีนแลนด์มาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเป็นฐานทัพอากาศสำคัญในการป้องกันการรุกรานจากสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น และยังเป็นฐานทัพอากาศสหรัฐที่ตั้งอยู่ในบริเวณเหนือสุดของโลกอีกด้วย

ย้อนรอยการซื้อดินแดนของสหรัฐฯ หลังทรัมป์หวังผนวกกรีนแลนด์

(26 ธ.ค. 67) จากกรณีว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความสนใจอยากได้กรีนแลนด์มาเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ โดยทรัมป์มีแนวคิดยื่นข้อเสนอซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์ก ซึ่งแม้จะไม่ชัดเจนว่าเป็นมูลค่าเท่าใด แต่ดูท่าทางเดนมาร์กจะไม่มีวันยอมขายดินแดนกรีนแลนด์ให้สหรัฐอย่างแน่นอน

หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา เคยใช้วิธีการจ่ายเงินเพื่อซื้อดินแดนมาผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐมาแล้วในหลายครั้ง โดยมีเหตุการณ์สำคัญดังนี้

การซื้อดินแดนลุยเซียนา เมื่อปี 1803 ประธานาธิบดีโทมัส เจฟเฟอร์สัน ลงนามข้อตกลงกับฝรั่งเศส ซื้อดินแดนลุยเซียนา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.14 ล้านตารางกิโลเมตร ตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปีเริ่มต้นจากอ่าวเม็กซิโกจรดทางใต้ของแคนาดา ด้วยเงินจำนวน 15 ล้านดอลลาร์ในยุคนั้น พร้อมยกหนี้กว่า 3.7 ล้านดอลลาร์ให้ราชสำนักฝรั่งเศส หากคิดเป็นมูลค่าในปัจจุบัน ราคาดินแดนนี้จะสูงถึง 340 พันล้านดอลลาร์

การซื้ออะแลสกา ในปี 1867 สหรัฐฯ เคยซื้อดินแดนอะแลสกาจากจักรวรรดิรัสเซีย ในรัชสมัยของพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ด้วยราคา 7.2 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากคิดเป็นค่าเงินปัจจุบันจะอยู่ที่กว่า 109 ล้านดอลลาร์ การซื้อครั้งนี้คุ้มค่าอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่สหรัฐขุดพบในห้วงเวลาต่อมา

สนธิสัญญากัวดาลูปอีดัลโก ในปี 1848 หลังสงครามเม็กซิโก-อเมริกา สหรัฐฯ และเม็กซิโกได้ลงนามในสนธิสัญญากัวดาลูปอีดัลโก ซึ่งระบุให้สหรัฐฯ จ่ายเงิน 15 ล้านดอลลาร์แก่เม็กซิโก เพื่อแลกกับการครอบครองดินแดนทางฝั่งตะวันตก เช่น แคลิฟอร์เนีย และรัฐอื่นๆ พร้อมกำหนดให้แม่น้ำริโอแกรนด์เป็นพรมแดนธรรมชาติ 

ขณะการซื้อฟลอริดา หรือที่รู้จักกันในชื่อ สนธิสัญญาอดัมส์–โอนิส (Adams–Onís Treaty) เป็นข้อตกลงที่ลงนามในปี ค.ศ. 1819 ระหว่างสหรัฐอเมริกาและสเปน สนธิสัญญานี้มีความสำคัญในการโอนดินแดนฟลอริดาจากสเปนมายังสหรัฐฯ  โดยสหรัฐจ่ายเงินมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์แก่ราชสำนักสเปนเพื่อโอนกรรมสิทธิ์การครอบครองดินแดนฟลอริด้า

ภายใต้สนธิสัญญานี้ สเปนได้ยินยอมสละสิทธิ์ในฟลอริดา พร้อมทั้งปรับปรุงขอบเขตของดินแดนในทวีปอเมริกาเหนือเพื่อแก้ไขข้อพิพาทเรื่องพรมแดนระหว่างสองประเทศ การโอนดินแดนนี้ช่วยเสริมอำนาจและอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทวีป ในขณะที่สเปนเลือกที่จะมุ่งเน้นอำนาจไปที่ดินแดนในอเมริกาใต้แทน

แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีประวัติศาสตร์การซื้อดินแดนที่สำคัญหลายครั้ง แต่ในกรณีของกรีนแลนด์ ดูเหมือนว่าการเจรจานี้จะไม่ง่าย เพราะเดนมาร์กยังคงยืนกรานไม่ขายดินแดนดังกล่าวให้สหรัฐฯ อย่างชัดเจน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top