Wednesday, 23 April 2025
ปานามา

'ทรัมป์' ขู่ยึดคลองปานามาคืน จวกผู้นำปานามาคิดค่าผ่านทางแพงไป

(23 ธ.ค.67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้แสดงท่าทีขู่ทวงคืนคลองปานามาให้กลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐฯ พร้อมทั้งกล่าวหาปานามาว่าเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงเกินไปสำหรับการใช้คลองในการเดินเรือสินค้าและเรือทหารไปยังทวีปอเมริกากลาง ขณะที่เตือนว่าจีนนั้นมีอิทธิพลเหนือคลองปานามา

ท่าทีดังกล่าวของทรัมป์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา ขณะกล่าวกับกลุ่มผู้สนับสนุนในงาน AmericaFest ซึ่งจัดโดยกลุ่มเคลื่อนไหวอนุรักษนิยม Turning Point ที่เมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา โดยทรัมป์ประกาศว่าจะไม่ยอมให้คลองปานามาตกไปอยู่ในมือของบุคคลที่ไม่สมควร

“เราโดนโกงที่คลองปานามาเหมือนกับที่โดนโกงที่อื่น ๆ ค่าธรรมเนียมที่ปานามาเรียกเก็บนั้นไร้สาระและไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง การฉ้อโกงประเทศของเราจะยุติลงทันที” ทรัมป์กล่าว โดยอ้างถึงช่วงเวลาที่เขาจะเข้ารับตำแหน่งในเดือนหน้า

ทรัมป์กล่าวว่า คลองปานามาเคยเป็นของสหรัฐฯ แต่ถูกส่งมอบให้ปานามาควบคุมในปี 1999 ภายใต้การลงนามของจิมมี คาร์เตอร์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งทรัมป์กล่าวว่า การส่งมอบในครั้งนั้นเป็นการขายในราคา 1 ดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการกระทำที่โง่เขลา

ทรัมป์ยังย้ำว่า การมอบคลองปานามาให้ปานามาและประชาชนชาวปานามา ควรเป็นการมอบให้รัฐบาลปานามาบริหารจัดการเพียงประเทศเดียว ไม่ใช่ให้จีนหรือประเทศอื่นเข้ามามีบทบาท

“หากหลักการทั้งทางศีลธรรมและกฎหมายของการมอบของขวัญนี้ไม่ได้รับการปฏิบัติตาม เราจะเรียกร้องให้คืนคลองปานามาให้กับเราโดยทันทีและไม่ลังเล” ทรัมป์กล่าว

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ได้โพสต์ข้อความบน Truth Social ว่าคลองปานามาเป็น ‘ทรัพย์สินสำคัญของชาติ’ สำหรับสหรัฐฯ และหลังจากร่วมงานที่รัฐแอริโซนา เขายังโพสต์ภาพธงชาติสหรัฐฯ เหนือผืนน้ำ พร้อมข้อความว่า “ยินดีต้อนรับสู่คลองสหรัฐฯ!”

ด้าน โชเซ ราอูล มูลิโน ประธานาธิบดีปานามา ตอบโต้ท่าทีของทรัมป์ โดยยืนยันว่า 'ทุกตารางเมตร' ของคลองปานามาและพื้นที่โดยรอบเป็นของประเทศปานามา และอำนาจอธิปไตยของปานามาไม่สามารถต่อรองได้

สำหรับคลองปานามามีความยาว 82 กิโลเมตร เชื่อมต่อมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแปซิฟิก และเป็นเส้นทางหลักสำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างทวีป โดยคลองแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1900 และอยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐฯ จนถึงปี 1977 ก่อนจะมีการลงนามสนธิสัญญาตอร์ริโฮส-คาร์เตอร์ (Torrijos-Carter Treaties) ซึ่งรับประกันการส่งมอบคลองให้แก่ปานามาในปี 1999

ทุกปีมีเรือมากถึง 14,000 ลำที่เดินทางผ่านคลองปานามา รวมถึงเรือบรรทุกสินค้าและเรือรบ โดยสหรัฐฯ เป็นผู้ใช้งานคลองนี้มากที่สุด โดยกว่า 72% ของการขนส่งผ่านคลองปานามาเป็นการขนส่งระหว่างท่าเรือสหรัฐฯ

ย้อนประเด็น 'กรีนแลนด์-ปานามา-แคนาดา' 'ทรัมป์' หมายตาคิดผนวกดินแดน

(24 ธ.ค.67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังไม่ทันเข้าสาบานตนรับตำแหน่งสมัยสอง ก็ออกมาพูดหลายครั้งถึงประเด็นอธิปไตยในต่างแดนหลายต่อหลายครั้ง ที่แม้ฟังดูเป็นเรื่องติดตลก แต่ทรัมป์ก็ให้เหตุผลที่น่าคิดอยู่ไม่น้อยเลยที่เดียวตามแนวคิด 'อเมริกามาก่อน'  

เริ่มตั้งแต่ประเด็นกับชาติเพื่อนบ้านอย่างแคนาดา โดยทรัมป์ได้กล่าวเมื่อ 3 ธันวาคม ที่ผ่านมา ระหว่างการหารือมื้อค่ำกับ นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ที่มาร์อาลาโก้ บ้านพักตากอากาศของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในรัฐฟลอริด้า 

การเยือนครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านั้น โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาขู่ว่าแคนาดาอาจจะโดนกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก 25% เมื่อกลับเข้าสู่ทำเนียบขาว เพื่อบีบบังคับให้เร่งจัดการกับปัญหายาเสพติดและผู้อพยพที่เข้ามาในสหรัฐ โดยเรื่องนี้ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าสงครามการค้าในภูมิภาคอาจจะเกิดขึ้น นายกทรูโดจึงรีบรุดหารือเป็นการส่วนตัวกับทรัมป์

ในระหว่างการหารือมื้อค่ำของสองผู้นำ นายกแคนาดาได้รับปากว่าจะแก้ปัญหาเรื่องภาษีศุลกากรแต่ก็อาจมีข้อจำกัดบางประการในประเด็นที่รัฐบาลท้องถิ่นในบางแคว้นของแคนาดาที่มีอาณาเขตติดกับพรมแดนสหรัฐฯ สามารถกำหนดอัตราภาษีศุลกากรได้ด้วยตนเอง

ทรูโดกล่าวกับทรัมป์ว่า เขาไม่สามารถเรียกเก็บภาษีนำเข้าได้เพราะจะทำลายเศรษฐกิจของแคนาดาอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งเป็นสิทธิ์ของรัฐบาลแคว้นท้องถิ่น ซึ่งทรัมป์ตอบเชิงติดตลกว่า

"ถ้าแคนาดาไม่สามารถจัดการปัญหาภาษีศุลกากรได้ ประเทศคุณก็คงไม่สามารถเลี่ยงกำแพงภาษีสหรัฐได้ เว้นเสียแต่บางแคว้นของแคนาดาจะเข้าร่วมเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ"

ต่อมา 20 ธันวาคม ทรัมป์ โพสต์ลงในแพลตฟอร์ม ทรูธ โซเชียล (Truth Social) แซวว่าเป็นความคิดที่ดี หากแคนาดาเข้าเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐอเมริกา และชาวแคนาดาเองก็เห็นด้วยกับไอเดียนี้ ซึ่งโพสต์ดังกล่าวมีใจความว่า "ไม่มีตอบได้ว่าทำไมเราต้องจ่ายเงินช่วยแคนาดาปีละ 100 ล้านล้านดอลลาร์ ไม่สมเหตุสมผล! ชาวแคนาดาอยากให้แคนาดาเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ เพราะคงช่วยประหยัดภาษีไปได้มากและได้ความคุ้มครองทางทหาร ผมคิดว่ามันเป็นไอเดียที่ดี รัฐที่ 51!"

ในประเด็นเรื่องคลองปานามา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้วิจารณ์รัฐบาลปานามาอย่างรุนแรง หลังจากที่เขาขู่ว่าจะยึดคลองปานามาคืน หากปานามาไม่สามารถแก้ไขปัญหาค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นที่เรียกเก็บจากเรือสินค้าของสหรัฐฯ ที่แล่นผ่านคลองดังกล่าว

ทรัมป์ได้โพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ ทรูธ โซเชียล ว่า “กองเรือและการค้าของเราได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ค่าธรรมเนียมที่ปานามาเรียกเก็บนั้นไร้เหตุผลจริง ๆ” พร้อมทั้งระบุว่า การเอาเปรียบสหรัฐฯ “ต้องยุติลงทันที”

ประธานาธิบดียังกล่าวเพิ่มเติมว่า หากปานามาไม่สามารถรับประกันความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และความน่าเชื่อถือของคลองปานามาได้ "สหรัฐฯ จะขอเรียกคืนคลองปานามากลับมาเป็นของเราอย่างเต็มรูปแบบ"

คลองปานามาได้รับการขุดเสร็จสมบูรณ์โดยสหรัฐฯ ในปี 1914 ก่อนที่จะส่งคืนให้กับปานามาภายใต้สนธิสัญญาในปี 1977 ที่ลงนามโดยอดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ และปานามาได้รับการควบคุมคลองนี้อย่างสมบูรณ์ในปี 1999

ในด้านของปานามา ประธานาธิบดีโฮเซ่ ราอูล มูลิโน ได้ตอบโต้ทรัมป์ในวิดีโอว่า “ทุกตารางเมตรของคลองปานามาคือของปานามาและจะเป็นเช่นนั้นต่อไป” ขณะที่ทรัมป์ได้โพสต์ตอบกลับในสื่อสังคมออนไลน์ของเขาว่า “เดี๋ยวได้รู้กัน”

ส่วนเรื่องกรีนแลนด์ ย้อนกลับไปในปี 2019 ที่ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยแรก ทรัมป์เคยพูดเรื่องการซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์ก โดยทรัมป์กลับมาฟื้นประเด็นนี้อีกครั้งหลังจากที่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้เสนอชื่อนาย เคน ฮาวเวอรี อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสวีเดนและนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำเดนมาร์กคนใหม่ โดยทรัมป์เชื่อมั่นว่าฮาวเวอรีจะ "ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในการเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของสหรัฐฯ"

โดนัลด์ ทรัมป์  กล่าวผ่านแพลตฟอร์มโซเชียล Truth Social โดยยืนยันถึงการฟื้นแนวคิดการเป็นเจ้าของพื้นที่กรีนแลนด์ ซึ่งทรัมป์มองว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง

"เพื่อความมั่นคงและส่งเสริมเสรีภาพทั่วโลก สหรัฐอเมริกาเห็นว่าการเป็นเจ้าของและควบคุมพื้นที่กรีนแลนด์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง"

ย้อนไปในปี 2019 สื่อหลายแห่งรายงานว่าทรัมป์มีความสนใจที่จะซื้อกรีนแลนด์ ซึ่งต่อมาเขาเองยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่าเป็นความสนใจเชิงยุทธศาสตร์ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกรีนแลนด์ย้ำว่ากรีนแลนด์ไม่ใช่สินค้าที่จะขายได้ ขณะที่รัฐบาลเดนมาร์กแสดงความหวังว่าทรัมป์กำลังพูดเล่น และเรียกแนวคิดการขายกรีนแลนด์ว่า 'ไร้สาระ'

สำหรับกรีนแลนด์ปัจจุบันถือเป็นดินแดนอาณานิคมของเดนมาร์กถึงปี 1953 แม้ว่าจะยังเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเดนมาร์ก แต่ในปี 2009 กรีนแลนด์ได้รับสิทธิ์ปกครองตนเองและสามารถตัดสินใจเรื่องนโยบายภายในประเทศได้อย่างอิสระ

จากประเด็นทั้งหมด ด้านสตีเฟน ฟาร์นสเวิร์ธ อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์จาก University of Mary Washington ในรัฐเวอร์จิเนีย บอกว่า ทรัมป์ใช้แนวทางอันก้าวร้าวแบบนักธุรกิจในการหยิกแกมหยอกประเทศที่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ และมองว่าทั้งกรณีของแคนาดาและกรีนแลนด์ ทรัมป์เพียงแค่ต้องการเอาชนะ ไม่ว่าจะในเรื่องการค้า พรมแดน หรือในประเด็นอื่น ๆ กับประเทศพันธมิตร


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top