Sunday, 20 April 2025
ปัญญาประดิษฐ์

'อาลีบาบา' เปิดตัว 'Qwen 2.5' ท้าชน DeepSeek อ้างเหนือกว่าทุกด้าน

(29 ม.ค.68) ดูเหมือนศึกโมเดลปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะยิ่งเดือดดาลมากขึ้น เมื่อ อาลีบาบา (Alibaba) ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน เปิดตัว Qwen 2.5 โมเดล AI รุ่นใหม่ที่อ้างว่ามีประสิทธิภาพเหนือกว่า DeepSeek-V3 ซึ่งกำลังได้รับความสนใจอย่างมากในวงการ

การเปิดตัว Qwen 2.5-Max ในช่วงวันแรกของเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นเวลาที่ชาวจีนส่วนใหญ่ใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัว เป็นสัญญาณที่ชัดเจนถึงแรงกดดันจากการเติบโตของ DeepSeek สตาร์ตอัป AI สัญชาติจีนที่เพิ่งเปิดตัวโมเดลใหม่ในช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบกับคู่แข่งต่างชาติ แต่ยังสะเทือนวงการเทคโนโลยีในประเทศจีนด้วย

หน่วยธุรกิจคลาวด์ของอาลีบาบาประกาศผ่าน WeChat อย่างเป็นทางการว่า "Qwen 2.5-Max มีประสิทธิภาพเหนือกว่า GPT-4o, DeepSeek-V3, และ Llama-3.1-405B ในแทบทุกด้าน" โดยเปรียบเทียบกับโมเดล AI แบบโอเพนซอร์สจาก OpenAI และ Meta

Qwen 2.5-Max มีขนาดโมเดลใหญ่ถึง 405 พันล้านพารามิเตอร์ ซึ่งช่วยให้ประมวลผลข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพและเข้าใจบริบทข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น โดยการเปิดตัวนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามราคา AI ที่จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี AI ในราคาที่ถูกลง

การที่อาลีบาบาสามารถพัฒนา Qwen 2.5 ที่อ้างว่ามีประสิทธิภาพเหนือกว่า DeepSeek-V3 ในเวลาที่รวดเร็ว เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาของอาลีบาบา

Qwen 2.5 มีหลากหลายโมเดลให้เลือกใช้ เช่น Qwen 2.5-Max, Qwen 2.5-Chat, และ Qwen 2.5-Turbo ซึ่งแต่ละโมเดลมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป ทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม โดยสามารถเข้าถึงผ่าน API บนแพลตฟอร์มคลาวด์ของอาลีบาบา

อย่างไรก็ตามหากเทียบระหว่าง AI ของอาลีบาบา กับ DeepSeek มีส่วนที่ต่างกันคือ DeepSeeek เน้นการพัฒนา AGI และขายโมเดลในราคาถูก ขณะที่ อาลีบาบา ใช้กลยุทธ์นำ AI ไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจ และให้บริการผ่านแพลตฟอร์มคลาวด์ ทำให้การแข่งขันระหว่างทั้งสองไม่เพียงแค่เรื่องของประสิทธิภาพของโมเดล แต่ยังเกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจและการเข้าถึงตลาดอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ DeepSeek ได้สร้างความฮือฮาในซิลิคอนวัลเลย์ หลังเปิดตัวผู้ช่วย AI ใช้โมเดล DeepSeek-V3 เมื่อวันที่ 10 มกราคม และตามมาด้วย DeepSeek-R1 เมื่อวันที่ 20 มกราคม ส่งผลให้หุ้นเทคโนโลยีในสหรัฐร่วงลงอย่างหนัก เนื่องจากต้นทุนการพัฒนาต่ำกว่าคู่แข่ง ทำให้นักลงทุนเริ่มตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าของการลงทุนใน AI ของบริษัทยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ

กระแสความสำเร็จของ DeepSeek ยังจุดชนวนให้เกิดการแข่งขันในวงการ AI ของจีนอย่างเร่งด่วน โดยเพียงสองวันหลังจากการเปิดตัว DeepSeek-R1 บริษัท ByteDance เจ้าของ TikTok ได้ปล่อยอัปเดตโมเดล AI ตัวใหม่ พร้อมเคลมว่ามีประสิทธิภาพเหนือกว่าโมเดล o1 ของ OpenAI ในการทดสอบ AIME ซึ่งเป็นเกณฑ์วัดความสามารถของ AI ในการประมวลผลคำสั่งที่ซับซ้อน

จีนทิ้งขาดสหรัฐฯ นำลิ่ว 57 เทคโนโลยีใหญ่ ยกเครดิตสีจิ้นผิงชู 'Made in China 2025' ทุ่มวิจัยไม่ยั้ง

(29 ม.ค.68) การเปิดตัวโมเดล AI ของ DeepSeek บริษัทสัญชาติจีนที่กำลังมาแรงและได้รับการพูดถึงในขณะนี้ ด้วยประสิทธิภาพที่ระบุว่ามีต้นทุนต่ำกว่า ทำงานได้เร็วกว่า แถมเป็นการพัฒนาแบบระบบโอเพ่นซอร์ส ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนวงการ AI ไปทั่วโลก จนส่งผลให้มูลค่าตลาดหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐ หายไปกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์เพียงชั่วข้ามคืน ซึ่งนักวิเคราะห์บางรายถึงกับเรียกเหตุการณ์นี้ว่า 'Sputnik moment' อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าของจีนไม่ได้จำกัดอยู่แค่ AI เท่านั้น  

รายงานวิจัยจากสถาบันนโยบายยุทธศาสตร์แห่งออสเตรเลีย (ASPI)ประจำปี 2024 ซึ่งศึกษาข้อมูลย้อนหลังถึง 20 ปี พบว่า จีนครองความเป็นผู้นำใน 57 จาก 64 เทคโนโลยีสำคัญ เพิ่มขึ้นจากเพียง 3 เทคโนโลยีเมื่อปี 2007 ในขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งเคยนำหน้าใน 60 สาขาเมื่อปี 2007 ปัจจุบันเหลือเพียง 7 สาขาเท่านั้น  

จากการวิจัยของ ASPI ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยและสิทธิบัตรที่มีนวัตกรรมสูง ซึ่งตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัย ห้องปฏิบัติการ หน่วยงานของรัฐ และบริษัทต่างๆ ทั่วโลกพบว่า สาขาเทคโนโลยีที่จีนเป็นผู้นำโลกในเวลานี้ อาทิ การออกแบบและผลิตวงจรรวมขั้นสูง, กระบวนการตัดเฉือนความแม่นยำสูง , เครื่องยนต์อากาศยานขั้นสูง, โดรน หุ่นยนต์ฝูง และหุ่นยนต์ทำงานร่วมกัน, แบตเตอรี่ไฟฟ้า, เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ , การสื่อสารความถี่วิทยุขั้นสูง  

ในขณะที่สาขาเทคโนโลยีที่สหรัฐเป็นผู้นำในขณะนี้ เช่น การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP), ควอนตัมคอมพิวติ้ง และวิศวกรรมพันธุกรรม  

ASPI ตั้งข้อสังเกตว่าแผนการ 'Made in China 2025' ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ที่อัดฉีดเงินทุนโดยตรงจำนวนมหาศาลเพื่อการวิจัยและพัฒนาในเทคโนโลยีสำคัญ พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ "การครอบครองความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี" เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เทคโนโลยีจีนหลายด้านก้าวหน้า 

นอกจากการลงทุนในงานวิจัยแล้ว รัฐบาลจีนยังส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ปรับปรุงห่วงโซ่อุปทาน และยกระดับภาคการผลิตเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเทคโนโลยีภายในประเทศด้วย

ตะวันตกล้อมกรอบ 'DeepSeek'แห่ปิดกั้น-สั่งสอบ กล่าวหาขโมยเทคโนโลยี-เสี่ยงข้อมูลผู้ใช้งานรั่ว

(30 ม.ค.68) เพียงไม่กี่วันที่บริษัท DeepSeek ของจีนเปิดตัวโมเดล AI ที่ใช้ต้นทุนต่ำแถมมีประสิทธิภาพไม่แพ้ ChatGPT ของบริษัท OpenAI จนสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วซิลิคอนวัลเลย์ ถึงขั้นที่หุ้นของบรรดาบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติสหรัฐหลายแห่งร่วงระนาว แต่ล่าสุดดูเหมือนว่าบรรดาบริษัทเอกชนฝั่งตะวันตก และบรรดาชาติตะวันตกบางแห่งจะระแวงบริษัท AI จีนที่กำลังมาแรงในขณะนี้ 

ล่าสุดดูเหมือนว่าบริษัทเอกชนและรัฐบาลบางประเทศในตะวันตกเริ่มแสดงความกังวลต่อการเติบโตของบริษัท AI จากจีน โดยเฉพาะ DeepSeek ที่กำลังมาแรงในขณะนี้ มีรายงานว่า คณะกรรมาธิการการค้าของสหรัฐอเมริกา (FTC) กำลังเตรียมตรวจสอบธุรกิจคลาวด์ของไมโครซอฟท์ (Microsoft) เพื่อประเมินว่ามีการละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดหรือไม่ 

แหล่งข่าวจากรอยเตอร์เปิดเผยว่า การตรวจสอบของ FTC จะมุ่งเน้นไปที่ข้อสงสัยว่าไมโครซอฟท์อาจใช้อิทธิพลในฐานะผู้ผลิตซอฟต์แวร์รายใหญ่ กำหนดเงื่อนไขที่อาจกีดกันไม่ให้ลูกค้าย้ายข้อมูลจากบริการคลาวด์ Azure ไปยังแพลตฟอร์มของคู่แข่ง นอกจากนี้ FTC ยังกำลังพิจารณาข้อกล่าวหาที่ไมโครซอฟท์ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมสมาชิกในราคาสูงสำหรับลูกค้าที่ต้องการยกเลิกบริการคลาวด์ และทำให้ผลิตภัณฑ์ Office 365 ไม่สามารถทำงานร่วมกับระบบคลาวด์ของคู่แข่งได้

ขณะเดียวกัน DeepSeek ก็กำลังถูกจับตาจากหลายประเทศเช่นกัน โดยหน่วยงานกำกับดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของอิตาลี (Garante) ได้สั่งให้ Apple และ Google ถอดแอปพลิเคชัน DeepSeek ออกจาก App Store และ Play Store ชั่วคราว ส่งผลให้ผู้ใช้งานในอิตาลีไม่สามารถดาวน์โหลดแอปได้ในขณะนี้ 

Garante ระบุว่ามีความกังวลเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน DeepSeek จึงได้ส่งคำถามไปยังผู้พัฒนาเพื่อขอคำชี้แจงภายใน 20 วัน พร้อมตรวจสอบเพิ่มเติมว่า DeepSeek ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับทั่วไปเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูล (GDPR) ของสหภาพยุโรปหรือไม่  

นอกจากอิตาลีแล้ว หน่วยงานกำกับดูแลข้อมูลของไอร์แลนด์ก็เริ่มตรวจสอบการเก็บข้อมูลของ DeepSeek เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาที่กำลังสืบสวนว่า DeepSeek ใช้ข้อมูลใดในการฝึกฝนโมเดลปัญญาประดิษฐ์ 

เผยตัวจริงผู้บริหาร DeepSeek เหลียง เหวินเฟิง นักพัฒนา AI จีน ผู้อยู่เบื้องหลังคู่แข่งตัวฉกาจของ ChatGPT

(21 ก.พ.68) โลกกำลังจับตามอง 'DeepSeek' ปัญญาประดิษฐ์จากจีนที่กำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรม AI ระดับโลก ถึงขั้นทำให้หุ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ร่วงระนาว และถูกพูดถึงในระดับ 'Talk of the World' บางฝ่ายถึงกับกังวลว่าอาจเกิด 'AI War' ระหว่างจีนและสหรัฐฯ

ชื่อของ DeepSeek ถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา เมื่อประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสัมมนาด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจที่กรุงปักกิ่ง โดยมีบรรดาผู้นำจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีนเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็น Alibaba, BYD, Huawei, CATL, Xiaomi, Tencent, Meituan และแน่นอน DeepSeek

บุคคลที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษในงานนี้คือ เหลียง เหวินเฟิง (Liang Wenfeng) นักพัฒนา AI ชาวจีนวัย 40 ปี ผู้ก่อตั้ง DeepSeek และกลายเป็นบุคคลที่สื่อเทคโนโลยีทั่วโลกจับตามอง ในฐานะซีอีโอหนุ่มที่มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับผู้นำสูงสุดของประเทศเคียงข้างเจ้าของธุรกิจระดับแนวหน้า

เหลียงเกิดเมื่อปี 1985 ที่เมืองจ้านเจียง มณฑลกวางตุ้ง มีความหลงใหลในคณิตศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งแต่เด็ก แม้ไม่ได้ศึกษาจากมหาวิทยาลัยในตะวันตก แต่เขาจบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (Zhejiang University) หรือ 'เจ้อต้า' เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิศวกรรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และต่อปริญญาโทในสาขาวิศวกรรมข้อมูลและสื่อสาร ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำของจีนในสาขาวิศวกรรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และวิศวกรรมข้อมูลและการสื่อสาร

หลังจากเรียนจบ เขาเริ่มต้นทำงานในแวดวงเทคโนโลยีที่หางโจว ก่อนขยายเส้นทางสู่เฉิงตู และก่อตั้งสตาร์ตอัปของตัวเอง ในช่วงชีวิตการทำงาน เหลียงตั้งรกรากอยู่ในหางโจว ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีของจีน และเคยทำงานในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเมืองสำคัญด้านเทคโนโลยีของประเทศ 

ในปี 2015 เหลียงเข้าสู่โลกสตาร์ตอัปอย่างเต็มตัวด้วยการร่วมก่อตั้ง High-Flyer กองทุนเฮดจ์ฟันด์ประเภท Quantitative Hedge ที่ใช้ AI วิเคราะห์แนวโน้มตลาดและซื้อขายหลักทรัพย์โดยอัตโนมัติ ความสำเร็จจากธุรกิจนี้ทำให้เขาสั่งซื้อ หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) ของ Nvidia นับพันชิ้น ตั้งแต่ปี 2021 เพื่อพัฒนา AI ของตัวเอง

DeepSeek ไม่ใช่แค่ AI ทั่วไป แต่มันสามารถแข่งขันกับ ChatGPT ได้อย่างสูสี โดยใช้ต้นทุนเพียง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 200 ล้านบาท) ตามที่รายงานข่าวระบุ ซึ่งถือว่าต่ำกว่าที่บริษัท AI ตะวันตกใช้ไปหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ

สิ่งที่ทำให้ DeepSeek เป็นที่จับตามองคือความสามารถในการพัฒนา AI ที่มีประสิทธิภาพสูง แม้จีนจะถูกสหรัฐฯ จำกัดการเข้าถึงชิปประมวลผลระดับสูงของ Nvidia แต่ทีมของเหลียงสามารถ "ปลดล็อกศักยภาพ" ของ GPU รุ่นเก่าให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

"วิศวกรของ DeepSeek รู้วิธีเพิ่มประสิทธิภาพของ GPU ที่มีอยู่ แม้ว่าจะไม่ใช่เทคโนโลยีล่าสุดก็ตาม" นักวิจัย AI ที่ใกล้ชิดกับบริษัทกล่าว

DeepSeek ยังเลือกใช้ โมเดลแบบเปิด (Open-Source) ซึ่งต่างจาก OpenAI ที่เน้นการปกป้องเทคโนโลยีของตัวเอง โดยเหลียงเชื่อว่าการแบ่งปันความรู้จะช่วยดึงดูดคนเก่งและสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมในวงการ AI

การที่เหลียงเป็นผู้บริหารด้าน AI เพียงคนเดียวที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมกับสีจิ้นผิง พร้อมกับผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยี การศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สุขภาพ และกีฬา เพื่อนำเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างรายงานของรัฐบาล

การเข้าร่วมประชุมระดับสูงของเหลียงตอกย้ำ เขาถือเป็นบุคคลสำคัญในยุทธศาสตร์ระดับชาติของจีน ท่ามกลางการแข่งขันทางเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ ตลาด AI ของจีนคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 5.6 ล้านล้านหยวน (765 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในปี 2030 ตามการคาดการณ์ของ China International Capital Corp (CICC)

"ผมเชื่อว่านวัตกรรมคือหัวใจสำคัญ" เหลียงกล่าว "จีนเคยขาดความมั่นใจในการพัฒนา AI ระดับแนวหน้า แต่เราต้องกล้าที่จะลองและผลักดันให้ก้าวไปข้างหน้า ผมอยากแสดงให้โลกเห็นว่าจีนสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากศูนย์ได้"

ฮ่องกงเล็งลดเจ้าหน้าที่รัฐบาล 10,000 ตำแหน่ง ทุ่มงบ 1 พันล้านดอลล์ แก้คลังขาดดุลด้วย AI

(26 ก.พ. 68) รัฐบาลฮ่องกงเปิดเผยแผนลดจำนวนข้าราชการ 10,000 ตำแหน่งภายในปี 2570 เพื่อรับมือกับปัญหาขาดดุลงบประมาณที่ทวีความรุนแรงขึ้น พร้อมกับการเร่งลงทุนด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงินท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความตึงเครียด

ในงานแถลงงบประมาณประจำปี พอล ชาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของฮ่องกงได้ประกาศว่า “มาตรการนี้เป็นการวางรากฐานที่ชัดเจนเพื่อฟื้นฟูดุลการคลังในระยะยาว โดยการดำเนินการอย่างมีขั้นตอนและการวางแผนอย่างรอบคอบ”

ตามรายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์ มาตรการนี้จะลดจำนวนข้าราชการลง 2% ต่อปีในช่วงสองปีข้างหน้า พร้อมกับการตรึงเงินเดือนข้าราชการในปีนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายของการรัดเข็มขัดทางการคลังอย่างเข้มงวด

ชานยังระบุว่า รัฐบาลมีแผนลดค่าใช้จ่ายภาครัฐลง 7% ตั้งแต่ปีนี้จนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2571 ซึ่งจะช่วยเสริมสร้าง “รากฐานทางการคลังที่มั่นคงสำหรับการเติบโตในอนาคต”

มาตรการนี้เกิดขึ้นหลังจากรายได้จากการขายที่ดินของรัฐบาลฮ่องกงลดลงอย่างมาก ทำให้การขาดดุลงบประมาณพุ่งสูงถึง 87,200 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ซึ่งเกือบสองเท่าของตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 48,100 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง

ในส่วนของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออนาคต ชานประกาศว่า ฮ่องกงจะใช้จุดแข็งในฐานะศูนย์กลางระหว่างประเทศในการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรม AI โดยมีการจัดสรรงบประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงสำหรับการตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนา AI เพื่อรองรับการพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยีตามนโยบายของรัฐบาลจีน

แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจีนแห่ติดตั้ง AI ของ DeepSeek พลิกโฉม ตู้เย็น ทีวี หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ขึ้นแท่นอัจฉริยะตัวจริง

(27 ก.พ. 68) หลายแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านในจีนประกาศว่าจะนำโมเดลปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของบริษัทสตาร์ตอัป DeepSeek มาใช้ในผลิตภัณฑ์ของตน โดยขยายการใช้งานจากเดิมที่มีในทีวี ตู้เย็น และหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ซึ่งจะทำให้การยอมรับโมเดล AI ในจีนเติบโตไปอีกขั้น

ตามรายงานจากรอยเตอร์ โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ของ DeepSeek ได้กลายเป็นตัวเปลี่ยนเกมในวงการ AI ปีนี้ ด้วยประสิทธิภาพที่ไม่แพ้ระบบจากตะวันตก แต่ต้นทุนต่ำกว่ามาก ส่งผลให้ DeepSeek กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จและความภาคภูมิใจของจีน นอกจากนี้ยังถือเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการที่จีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้ แม้จะเผชิญกับความพยายามจากสหรัฐฯ ในการขัดขวาง

แหล่งข่าวเผยว่า เหลียง เหวินเฟิง ผู้ก่อตั้ง DeepSeek ได้รับการยกย่องจากทางการจีน และบริษัทกำลังเตรียมเปิดตัว R2 ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดจากโมเดล R1 ในเร็วๆ นี้

ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านจากจีนหลายราย เช่น ไฮเออร์ (Haier), ไฮเซ่นส์ (Hisense) และทีซีแอล (TCL) ได้ประกาศใช้โมเดล AI ของ DeepSeek ตามรอยผู้ผลิตยานยนต์และบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เช่น หัวเว่ย (Huawei) และเทนเซ็นต์ (Tencent)

แม้ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านจะมีความสามารถในการรับคำสั่งด้วยเสียงอยู่แล้ว แต่การใช้โมเดล AI ของ DeepSeek จะช่วยเพิ่มความแม่นยำและประสิทธิภาพในการใช้งาน

หลิว ซิงเหลียง นักวิเคราะห์อุตสาหกรรม กล่าวว่าหุ่นยนต์ดูดฝุ่นอัจฉริยะจะสามารถใช้ความสามารถในการแยกวิเคราะห์คำสั่งจาก DeepSeek-R1 เพื่อปรับตำแหน่งและหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางได้เร็วและมีความซับซ้อนมากขึ้น

เขากล่าวเสริมว่า “อุปกรณ์เหล่านี้จะสามารถเข้าใจคำสั่งที่ซับซ้อนได้ เช่น ขัดพื้นไม้ในห้องนอนใหญ่เบาๆ และระมัดระวังไม่ให้โดนตัวต่อเลโก้”

มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง 'สแตนฟอร์ดจีน' กับบทบาทผู้พลิกโฉมวงการ AI ผ่าน DeepSeek

(6 มี.ค. 68) The Economist รายงานว่า สื่อต่างประเทศกำลังพุ่งไปที่ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (Zhejiang University) ที่ได้กลายเป็นศูนย์กลางความสนใจของโลก หลังจากเป็นจุดกำเนิดของ DeepSeek บริษัท AI จากจีนที่กำลังท้าทายมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีระดับโลก ด้วยการเปิดตัวโมเดล DeepSeek-R1 ที่มีศักยภาพสูงและต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่งอย่าง OpenAI และ Google

ด้วยชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น 'สแตนฟอร์ดแห่งจีน' โดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน Silicon Valley และสร้างสรรค์บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก เช่น Google, Apple, Tesla และ NVIDIA

เป็นที่มาที่ทำให้มหาวิทยาลัยเจ้อเจียงถูกยกย่อง เนื่องจากนักวิจัยและศิษย์เก่าของที่นี่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา AI และเทคโนโลยีล้ำสมัย หนึ่งในนั้นคือ เหวินเฟิง (Liang Wenfeng) ผู้ก่อตั้ง DeepSeek ซึ่งต่อมากลายเป็นบริษัทสตาร์ทอัพด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังสร้างความฮือฮาในวงการเทคโนโลยี 

บริษัทนี้ได้รับความสนใจอย่างมากในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหลังจากเปิดตัวโมเดล AI ชื่อ R1 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2025 โดย โมเดล R1 ของ DeepSeek มีความสามารถในการให้เหตุผลที่เทียบเท่าหรือเหนือกว่าโมเดล o1 ของ OpenAI โดยใช้ต้นทุนในการพัฒนาที่ต่ำกว่าอย่างมาก โมเดลนี้ใช้ชิป Nvidia H800 ประมาณ 2,000 ตัว คิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าการลงทุนของบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐฯ อย่างมาก

ความสำเร็จของ DeepSeek สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงในการผลิตบุคลากรที่มีความสามารถสูงในด้านเทคโนโลยี นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีเป้าหมายที่จะเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกภายในปี 2027 โดยใช้มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเป็นต้นแบบ เพื่อรองรับการเติบโตของ AI และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง 

สำหรับมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงได้เปิดหลักสูตรเฉพาะด้านปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งสนับสนุนให้นักศึกษาได้ทดลองพัฒนาโมเดล AI ของตนเอง รวมถึงเรียนรู้แนวคิดขั้นสูง เช่น Machine Learning, Deep Learning และ Natural Language Processing (NLP) สิ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บุคลากรจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีศักยภาพในการแข่งขันในระดับสากล

จีนกำลังผลักดันให้ AI กลายเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ โดย DeepSeek ถือเป็นตัวอย่างของบริษัทที่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรม AI ของโลกได้ ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าและแนวคิดการพัฒนาที่แตกต่าง

ความสำเร็จของ DeepSeek ไม่ได้เป็นเพียงจุดเปลี่ยนของมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นว่า จีนกำลังก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้าน AI ของโลกอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ วิลเลียม เคอร์บี้ (William Kirby) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านจีนจาก Harvard Business School ได้กล่าวถึงการเติบโตของมหาวิทยาลัยในประเทศจีน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง เขาชี้ให้เห็นว่าการเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยเช่นเจ้อเจียง สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในแวดวงการศึกษาระดับโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top