Wednesday, 23 April 2025
ปลากุเลาเค็ม

ปลากุเลาเค็มป้าอ้วนตากใบ ขออภัยตอบกลับช้าลูกค้าล้น ยัน!! ตัวแทนหน่วยงานรัฐสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์

ดรามาปลากุเลาเค็มตากใบทำร้านปลากุเลาเค็มป้าอ้วนตากใบผลตอบรับเกินคาด แอดมินต้องออกมาขอโทษที่ตอบกลับช้าเพราะลูกค้าติดต่อเข้ามาเป็นจำนวนมาก พบราคา 1 กิโลกรัม 1,700 บาท ซื้อน้อยๆ เริ่มต้นที่ 3 ขีด 560 บาท รวมค่าส่งแล้ว แถมมีน้ำพริกปลากุเลา ปลากุเลาเค็มหย็อง และสมันปลากุเลาเค็มกินกับข้าวสวยขายอีกต่างหาก

วันนี้ (15 พ.ย.) จากกรณีที่ เฟซบุ๊ก ‘Thai PBS ศูนย์ข่าวภาคใต้’ ของศูนย์ข่าวภาคใต้ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รายงานว่า ผู้ประกอบการปลากุเลาเค็มตากใบจังหวัดนราธิวาสหลายรายโวย เมื่อรู้ว่าปลากุเลาเค็มตากใบที่ถูกเลือกเป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่จะเสิร์ฟในงานเลี้ยงกาลาดินเนอร์แก่ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก 2022 กลับเป็นปลามาจากพื้นที่อื่นที่ถูกนำไปจัดเลี้ยง ไม่เข้าใจว่าทำไมเอาปลาจากที่อื่นมา ไม่ใช่ร้านของตน จึงไม่อยากให้นำชื่อของปลากุเลาเค็มตากใบไปใช้ รวมทั้งมีการนำภาพของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย จังหวัดปัตตานี ไปใช้โปรโมต จึงเกรงว่าจะเกิดความเข้าใจผิดว่าสั่งซื้อมาจากกลุ่มนี้ กลายเป็นที่วิจารณ์สนั่นโซเชียลฯ

ต่อมาเฟซบุ๊ก ‘ปลากุเลาเค็มป้าอ้วนตากใบ’ โพสต์ข้อความระบุว่า จากกรณีดรามาในโลกออนไลน์เรื่องปลากุเลาปลอม ยืนยันว่ามาจากร้านของตน เพราะเป็นร้านจำหน่ายปลากุเลาเค็มเพียงรายเดียวในอำเภอตากใบที่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดด้านคุณภาพที่เหมาะสมกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนที่น่าเชื่อถือ (มผช.) ในระดับ 5 ดาว ซึ่งก่อนหน้านี้มีเจ้าหน้าที่ได้มาซื้อปลากุเลาเค็มไปจำนวน 1 ตัวเพื่อนำไปชิม กระทั่งมีการสั่งซื้อผ่านออนไลน์ แต่เนื่องจากมีการซื้อวันละหลายหมื่นบาทในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาหลังจากมีกระแสข่าวเอเปก ทำให้ร้านไม่ได้ทันได้ตรวจสอบ ซึ่งยืนยันว่าหน่วยงานภาครัฐ โดยตัวแทนได้สั่งผ่านระบบออนไลน์ไป จึงเกิดข้อผิดพลาดกันในกลุ่มผู้ค้าปลากุเลาเค็มตากใบ

สอดคล้องกับนายชุมพล แจ้งไพร เชฟมิชลินสตาร์ชื่อดังของไทย ซึ่งเป็นผู้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าเชฟในงานเลี้ยงกาลาดินเนอร์แก่ผู้นำเอเปก 2022 ยืนยันว่า กระแสโซเชียลมีเดียที่ระบุว่าเมนูปลากุเลาตากใบเป็นปลากุเลาปลอมนั้นไม่เป็นความจริง เพราะได้สั่งปลากุเลาตากใบจากร้าน ‘ปลากุเลาเค็มตากใบป้าอ้วน’ ซึ่งเป็นสินค้าโอทอป 5 ดาว ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มอื่นไม่ได้ทราบในข้อมูลตรงนี้ จึงเกิดความเข้าใจผิด โดยจะใช้เป็นส่วนประกอบในเซตอาหารจานหลักเพื่อเพิ่มความโดดเด่นในเรื่องของกลิ่นในซอสราดมัสมั่นเนื้อน่องโคขุนจากสหกรณ์โพนยางคำ จ.สกลนคร และข้าวกล้อง 9 ชนิดอบตะไคร้หอม

'อ.นิด้า' ทวงถามจริยธรรมสื่อดัง บิดเบือนกรณีปลากุเลา ชี้!! ทุกครั้งก็รับปากว่าจะแก้ไข แต่ก็ทำซ้ำเหมือนเดิม

เมื่อ (14 พ.ย. 65) ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) NIDA ได้ออกมาประณามช่อง ThaiPBS ซึ่งได้นำเสนอข้อมูลบิดเบือนใส่ร้ายเชฟชุมพล และประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพ APEC 2022 ด้วยการกุเรื่องว่า ‘ปลากุเลาเค็ม’ ที่ขึ้นโต๊ะอาหารผู้นำเอเปคไม่ได้มาจากตากใบ

โดยเป็นการนำเสนอหัวข้อข่าวชื่อ ‘จับโป๊ะ Soft Power 'ปลากุเลาเค็ม' ขึ้นโต๊ะผู้นำเอเปค ไม่ได้มาจากตากใบ’ ซึ่งเป็นการไปสัมภาษณ์ผู้ประกอบการร้านขายอาหารทะเลกลุ่มหนึ่ง เพื่อให้ได้บทว่า “ไม่มีใครมาซื้อปลากุเลาไปใช้ในงาน APEC” 

แต่ความจริงซึ่งถูกเปิดเผยโดยเชฟชุมพล แจ้งไพร เชฟมิชเชอร์ลินสตาร์ ที่เป็นหนึ่งในทีมทำอาหารเลี้ยงผู้นำเอเปค ก็คือ ทางทีมเชฟได้ซื้อปลามาจากร้าน ‘ปลากุเลาเค็มป้าอ้วนตากใบ’ ซึ่งอยู่ที่ 40/1 หมู่ที่ 3 ต.เจ๊ะเห อ.ตกใบ จ.นราธิวาส เบอร์โทรร้าน 086-9636422

ซึ่งทางร้านก็ได้ออกมาประกาศผ่าน Facebook ทางร้านว่า ร้านเป็นผู้จัดจำหน่ายปลากุเลาเค็ม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 5 ดาวของชุมชน โดยก่อนหน้านี้มีเจ้าหน้าที่มาซื้อปลากุเลาเค็มไป 1 ตัวเพื่อนำไปชิม และภายหลังมีการสั่งออนไลน์วันละหลายหมื่นบาทในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา

หลังข้อมูลปรากฏชัดเจน ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ได้ตั้งคำถามว่าไทยพีบีเอสทำแบบนี้ ไม่แน่ใจว่าทีมข่าวเรียนจบวารสารศาสตร์และมีกอง บก.หรือไม่ ทำไมจึงพยายามสร้างเนื้อหาที่ไม่สมเหตุผล ด้วยการไปสัมภาษณ์ร้านที่ไม่ได้รับการติดต่อซื้อ แล้วไปสรุปว่า 'ไม่มีการซื้อจริง'

พร้อมระบุว่า ไทยพีบีเอส จะรับผิดชอบอย่างไรต่อชื่อเสียงของเชฟชุมพล และชื่อเสียงของประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพ APEC และไทยพีบีเอสยังเคยทำเรื่องแบบนี้มาหลายครั้ง และทุกครั้งก็รับปากว่าจะแก้ไข แต่ก็ทำซ้ำเหมือนเดิมเรื่อย ๆ จนมาถึงครั้งนี้

สุดท้ายประชาชนเสียเงินภาษีปีละ 2,000 ล้านบาทเลี้ยงช่องไทยพีบีเอส ก็ควรได้ช่องข่าวที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ไม่ใช่ได้ช่องทีวีที่ผลิต Fake News 

ข้อความของ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต

“จับโป๊ะ” ใครกันแน่? 

กรณีการลงข่าวนี้ ข่าวไทยพีบีเอสจะ 'จับโป๊ะ' รัฐบาล หรือว่าข่าวไทยพีบีเอส จะถูก 'จับโป๊ะ' เสียเอง? 

เนื้อหาข่าวไทยพีบีเอส เป็นการให้สัมภาษณ์ของผู้ประกอบการในพื้นที่ตากใบ 'บางคน' ที่ให้ข้อมูลว่าไม่เห็นรู้เรื่องว่ามีการซื้อปลากุเลาเค็มจากร้านใดร้านหนึ่งใน 9 ร้านที่ได้ขึ้นทะเบียน GI ของจังหวัดไปเลย จึงสรุปได้ว่า ที่รัฐบาลโปรโมตว่าจะนำเอาปลากุเลาเค็มไปทำอาหารในการประชุมเอเปคนั้น 'ไม่จริง'

ซึ่งต่อมาเชฟชุมพล และรองโฆษกรัฐบาล ก็ออกมาให้ข้อเท็จจริงว่า เชฟชุมพลซื้อปลากุเลาเค็มมาจากตากใบจริง จากร้านป้าอ้วน เพราะเป็นร้านเดียวที่ผ่านมาตรฐาน ซึ่งต่อมาเฟซบุ๊กของร้านป้าอ้วนก็ออกมายืนยันว่ามีการสั่งซื้อไปจริง แต่ด้วยการที่ร้านขายจำนวนมาก ก็ไม่รู้ว่าใครซื้อไปบ้าง (แล้วก็คงบอกกันไปในกลุ่มว่า ไม่รู้เรื่องที่ขายปลาเค็มไปทำอาหารเอเปค เพราะไม่เห็นมีใครมาติดต่อแจ้งอย่างนั้น)

ผมไม่แน่ใจว่านักข่าวที่ทำข่าวนี้ เรียนจบวารสารศาสตร์มาหรือไม่ หรือบก. ที่ตรวจข่าวนี้ (มีไหม) ใช้หลักการอะไรในการปล่อยให้ข่าวนี้ออกมาได้ แต่ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ ผมก็มีคำถามที่คนทั่วไปก็น่าจะสงสัยเหมือนกัน คือ ทำไมนักข่าวที่ทำข่าวนี้ถึง ... 

1.) เชื่อมั่นว่าไม่มีการซื้อจริง ด้วยคำบอกเล่าของร้าน (บางคน) ทำไมไม่คิดว่า คนที่ไปสัมภาษณ์นั้น เขารู้จริงหรือไม่ เข้าใจผิดหรือไม่ รู้ได้อย่างไรว่าไม่มีคนซื้อไปทำอาหารเอเปค การหาข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานนี่คือหลักการวารสารศาสตร์เบื้องต้นเลย

2.) ถ้าไม่แน่ใจว่าร้านค้าจะรู้ข้อมูลหรือไม่ ทำไมไม่ทำสิ่งที่ง่ายที่สุด ก็คือถามไปที่ต้นตน นั่นคือเชฟชุมพล หรือทางสำนักนายกก็ได้ ว่าซื้อจริงไหม ซื้อยังไง ใครซื้อ การหาข้อมูลจากอีกฝั่ง ก็เป็นหลักวารสารศาสตร์เบื้องต้นสุด ๆ เช่นกัน (ถ้าติดต่อไม่ได้ ก็ระบุไปว่ายังไม่ได้รับคำตอบ) 

แต่ไม่ครับ นักข่าวที่ทำข่าวนี้ ไม่ได้ทำทั้งสองข้อ แล้วก็ลงข่าวพร้อมพาดหัวเลยว่า 'จับโป๊ะ' ที่แปลว่า 'จับโกหก'


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top