'เซเลนสกี้' สั่งเด้งฟ้าผ่า!! ทูตยูเครนใน 5 ประเทศ เหตุไม่ได้ดั่งใจที่ให้ต่างชาติยืนข้างยูเครนไม่ได้
เมื่อวันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา โวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ประธานาธิบดียูเครน ได้เซ็นคำสั่งเด้งฟ้าผ่าเอกอัครราชทูตยูเครนที่ประจำในเยอรมนี, อินเดีย, สาธารณรัฐเช็ก, นอร์เวย์ และ ฮังการี รวดเดียว 5 ประเทศ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ต่างประเทศระดับสูงอีกหลายคน โดยไม่ได้อธิบายเหตุผลว่าเกิดจากอะไร มิหนำซ้ำไม่ได้แจ้งด้วยว่า นักการทูตระดับสูงที่ถูกเด้งออกไป จะมีโอกาสได้ย้ายไปทำงานในหน่วยงานอื่นของรัฐบาลยูเครนหรือไม่
สื่อต่างประเทศหลายสำนักพยายามที่จะหาเหตุผลว่า เหตุใดผู้นำยูเครนถึงตัดสินใจปลดเอกอัครราชทูตของตนที่ประจำอยู่ในหลายประเทศชั้นนำอย่างกะทันหันในช่วงเวลาเช่นนี้
โดยหนึ่งในสาเหตุ อาจเกิดจากการที่ผู้นำยูเครนพยายามกดดันให้ทูตยูเครนที่ประจำในที่ต่าง ๆ เร่งเจรจากับรัฐบาลต่างประเทศเพื่อระดมทุน และความช่วยเหลือด้านอาวุธส่งเข้ามาให้ยูเครนในการทำสงครามสู้รบกับรัสเซียให้ได้มากที่สุด
แต่เอกอัครราชทูตที่อยู่ในบัญชีถูกปลดบางคน มักประจำอยู่ในประเทศที่มีแนวโน้มเอนเอียงไปทางรัสเซีย ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลอินเดีย ที่ตอนนี้ยังคงวางตัวเป็นกลางในสถานการณ์ยูเครน และยังเพิ่มปริมาณการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียอีกด้วย
อย่างคนที่ถูกจับตามากที่สุด คือ นาย แอนเดรย์ เมลนิค ที่ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตยูเครน ประจำกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีมาตั้งแต่ปี 2014 ได้อยู่ในรายชื่อที่ถูกปลดด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ บางส่วนก็มาจากสาเหตุการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไป ตรงมา ผ่านสื่อโซเชียลของทูต แอนเดรย์ เมลนิค ที่พร้อมชนทุกคนที่เห็นต่าง ซึ่งเขาเคยต่อว่านักการเมืองเยอรมนีที่คัดค้านการส่งอาวุธรบให้กองทัพยูเครน ว่าเป็นพวกที่รักสันติแบบผิดที่ ผิดเวลา และยังเคยวิจารณ์นาย โอลัฟ ช็อลทซ์ ผู้นำเยอรมนี ที่ยังไม่ตอบรับคำเชิญในการเยี่ยมเยือนผู้นำยูเครนที่กรุงเคียฟโดยทันทีว่า นายโอลัฟ ช็อลทซ์ ทำตัวเหมือนคนหยิ่งยโส
แต่การใช้คำพูดในการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสม อาจเป็นเหตุผลเพียงส่วนเดียว เพราะเมื่อไม่นานนี้ มีสัญญาณบางอย่างส่งมาจากรัฐบาลเยอรมนี เมื่อรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของเยอรมนีได้ส่งจดหมายตรงถึงรัฐบาลแคนาดา เรียกร้องให้ส่งเครื่องจักรเทอร์ไบน์ ของบริษัท Siemens ที่ใช้กับท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1 แต่ถูกทางการแคนาดายึดไว้ กลับคืนมาให้กับเยอรมนี
เครื่องยนต์เทอร์ไบน์ดังกล่าว ได้เคยถูกส่งไปซ่อมบำรุงในศูนย์ที่แคนาดา แต่เมื่อเกิดกรณีรัสเซียรุกรานยูเครน รัฐบาลแคนาดาตัดสินใจยึดเครื่องยนต์เทอร์ไบน์ไว้ เพื่อขัดขวางการส่งออกก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียสู่เยอรมัน และอีกหลายประเทศทางฝั่งยุโรปตะวันตก
แต่ในวันนี้รัฐบาลเยอรมนีต้องการขอคืนเครื่องยนต์เทอร์ไบน์นี้ แม้แต่ โอลัฟ ช็อลทซ์ ผู้นำเยอรมันเอง ยังเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่าเขาจะทำทุกอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนพลังงานในประเทศ และจะดีกว่าถ้าเราได้เครื่องยนต์เทอร์ไบน์ของ Nord Stream 1 กลับมา ซึ่งทางรัฐบาลแคนาดาได้ตอบตกลงตามคำร้องของเยอรมันแล้ว
