Friday, 23 May 2025
ปริญญาบัตร

'รศ.ดร.นงนุช' เผย!! รายละเอียดบนใบปริญญาบัตร แบบไหนเรียก 'ปริญญาบัตร' แบบไหนเรียก 'ใบรับรองวุฒิฯ'

(13 ก.ค.67) รศ.ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ การเงินและการคลังและภาษี มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม เทรนต์ ประเทศอังกฤษ และ Visiting Academic, School of Electronics & Computer Science, University of Southampton ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

PhD = DPhil = Doctor of Philosophy หมายถึง ปริญญาเอก เนื่องจากการทำปริญญาเอก คือ การเรียนรู้การทำวิจัยอย่างเป็นระบบที่สร้างความรู้ใหม่ให้กับสาขาวิชาที่มีความเป็น general & fundamental (philosophy) ค่ะ 

ปกติแล้วจะต้องตามด้วยคำว่า in..... เช่น PhD in Economics, DPhil in Economics เพื่อจะบอกว่าเป็นการสร้างหลักความรู้ใหม่ในสาขาวิชาไหน 

ปริญญาเอกของบางหลักสูตร จะใช้คำว่า Doctor of โดยไม่มีคำว่า Philosophy แต่ใส่สาขาวิชาเลย เช่น DBA = Doctor of Business Administration 

Doctorate/Doctoral Degree เป็นคำเรียกระดับปริญญาเอก ที่ใช้ในประโยคที่จะบอกว่าเราจบปริญญาเอกนะ แต่ในใบปริญญา ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ เราจะไม่ใช้ Doctorate of .... ค่ะ

📌 สรุป 1 👩‍🎓 ใบปริญญาปกติจะใช้คำว่า PhD in ... , DPhil in ... หรือ Doctor of ....   

มาต่อในเรื่องของคำอธิบายบนใบปริญญา

ถ้าเป็นของฝั่งอังกฤษ ใบปริญญาจะเขียนสั้นๆ ไม่ต้องบรรยายอะไรมากมาย และไม่ต้องให้กระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษรับรองอะไร เพราะมหาวิทยาลัยไม่ได้ถูกกำกับโดยกระทรวงการต่างประเทศค่ะ 

มหาวิทยาลัยที่จดทะเบียนถูกต้องมีศักดิ์และสิทธิ์ในการออกใบปริญญาบัตรให้กับผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอย่างถูกต้องตามเกณฑ์ของมหาวิทยาลัย โดยการกำหนดเกณฑ์การสำเร็จการศึกษาของหลักสูตรต้องผ่านกระบวนการตาม requirement ของ HIgher Education Academy

แต่ถ้าเป็นของฝั่งอเมริกา อาจจะมีเขียนคำบรรยาย certify (รับรอง) ว่าผู้ถือใบปริญญามีคุณสมบัติครบถ้วน (qualify หรือ satisfy the requirement) หรือประโยคที่แสดงถึงการมอบปริญญาเมื่อจบการศึกษา (admitted to, conferred upon)

คำบรรยายในปริญญาบัตร (degree certificate) ที่มีการมอบให้หลังสำเร็จการศึกษาที่สถาบันการศึกษาจะไม่ใช้คำว่าเทียบเท่า (Equivalence) หรือตรวจสอบความถูกต้อง (Validate) ค่ะ 

เช่น equivalency degree แปลตรงตัว คือ วุฒิเทียบเท่า และแม้จะตามมาด้วยว่าจบหลักสูตรอะไร … กระดาษใบนั้นเราไม่เรียกปริญญาบัตรค่ะ เราเรียกมันว่าใบรับรองวุฒิเทียบเท่า (equivalency degree certificate)

📌 สรุป 2 🎓 การที่ใช้คำว่าเทียบเท่าหรือตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารที่นำมาเทียบเท่าในใบประกาศ แปลตรงๆ ก็คือว่า ไม่ได้มีการศึกษาจริง ณ สถาบันการศึกษานะคะ แต่เป็นเอาเอกสารหลักฐานใดๆ ตามแต่กำหนดมาให้ดู มีครบ ก็เอาใบรับรองนี่ไป

คราวนี้มาถึงคำว่า 'ศาสตราจารย์'

ในต่างประเทศ "ศาสตราจารย์" หรือ 'professor' เป็นตำแหน่งงานในมหาวิทยาลัยค่ะ ต้องมีสถานะเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัย และต้องมีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพในปริมาณที่มากพอและมี contribution ให้กับสาขาวิชา

ผลงานตีพิมพ์เป็นหนึ่งในหลายๆ เกณฑ์ ที่ทำให้อาจารย์ได้ปรับตำแหน่งจาก Lecturer ไปเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ Assistant Professor และจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ไปเป็นรองศาสตราจารย์ Associate Professor และต่อไปเป็นศาสตราจารย์ Professor ก่อนจะขึ้นไปจุดสูงสุดที่ตำแหน่ง Chair 

📌 สรุป 3 👩🏻‍🏫 ตำแหน่ง Professor หรือศาสตราจารย์ ในต่างประเทศจึงไม่ใช่ตำแหน่งวิชาการที่แจกให้กับคนจบปริญญาเอกทุกคนนะคะ แต่เป็นตำแหน่งงานที่ต้องใช้ประสบการณ์ทำงานนับสิบปี และมีผลงานวิจัยเป็นหลักสิบชิ้น (ไม่ใช่หลักหน่วยค่ะ) แถมยังต้องมีผลงานวิจัยที่ได้รับเงินสนับสนุนงบวิจัย มีงานตีพิมพ์ที่อ้างอิงงานวิจัยของเรา และมีประสบการณ์ด้านการบริหารไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียนการสอนหรือการทำวิจัย

++++ ตอนแรกก็ว่าจะไม่เขียน แต่ก็ถือว่าบันทึกไว้ เผื่อมีใครสงสัย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top