Wednesday, 23 April 2025
ประเทศลาว

ถึงเวลายืนบนขาตัวเอง บางส่วนก็ยังดี

คอลัมน์ "เบิ่งข้ามโขง"

.

สิ้นเดือนนี้ (วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2563) ทางประเทศลาวได้มีการทดลองเดินเครื่องกลั่นน้ำมัน LAOPEC บริษัทปิโตรเคมี ลาว - จีน โรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของลาว เพื่อนำใช้ภายในประเทศ ลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ และทำให้ราคาน้ำมันภายในประเทศลดลง นอกจากนี้ ยังสร้างงานให้แก่ประชาชนกว่า 200 ตำแหน่ง

ซึ่งโรงกลั่นบริษัทปิโตรเคมี ลาว- จีน จำกัด จะใช้วัตถุดิบนำเข้าจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเมื่อน้ำมันดิบผ่านกระบวนการกลั่นสำเร็จจะได้ผลิตภัณฑ์น้ำมันประมาณ 1 ล้านตันต่อปี ประกอบด้วย

- น้ำมันเบนซินประมาณ 2.38 แสนตัน หรือ 300 ล้านลิตร

- น้ำมันดีเซลประมาณ 3.8 แสนตัน หรือ 450 ล้านลิตร

- แก๊สหุงต้มประมาณ 15,200 ตัน

- สารเบนซินประมาณ 10,600 ตัน

ซึ่ง สปป.ลาว นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป หลายล้านตันต่อปี ในราคาที่สูงเกินไป ดังนั้น โรงกลั่นปิโตรเคมีนี้ จะช่วยลดการนำเข้าน้ำมันและลดราคาลงไป นาย ปานี พวงเพด รองผู้อำนวยการ บริษัท ปิโตรเคมี ลาว-จีน ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ...

"บริษัท ปิโตรเคมีลาวออยล์ จำกัด โรงกลั่นน้ำมัน ตั้งอยู่ในเขตพัฒนา กวมลวมไชเชดถา นครหลวงเวียงจันทน์ นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์ ได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 ตั้งอยู่บนพื้นที่ 280,000 ตารางเมตร ใช้เงินลงทุน 179 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้บริษัท ปิโตรเคมีลาว - ​​จีนในมณฑลยูนนาน และ กลุ่มก่อสร้างและการลงทุนยูนนาน ถือหุ้น 75% บริษัท รัฐวิสาหกิจน้ำมันเชื้อไฟลาว 20% และ บริษัทร่วมทุนลาว - ​​จีนถือหุ้น 5% 

โรงงานแห่งนี้ ยังคงมีความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของการตลาด เพราะเมื่อผลิตออกมาแล้ว แต่ยังไม่มีที่ขาย เนื่องจากทุกบริษัท ต่างแข่งขันกันในการจัดซื้อและนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง สิ่งนี้จะทำให้เรามีความท้าทายมากเพราะเป็นงานที่ยาก ดังนั้น เราต้องศึกษาตลาดอย่างรอบคอบเพื่อดูว่าอุปสงค์ในประเทศของเรามีมากน้อยเพียงใด เพื่อให้แน่ใจว่าการผลิตของเราเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

นอกจากนี้ปัญหาด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญมากเนื่องจากโรงงานของเราตั้งอยู่ใกล้กับตัวเมือง ซึ่งเราได้เอาใจใส่ดูแลในการดำเนินการและการจัดการเป็นอย่างดี โดยไม่ปล่อยควัน ออกมาในปริมาณมาก และใช้ระบบบำบัดที่มีความทันสมัย  เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศ ไม่ส่งผลเสียต่อประชาชนโดยรอบพื้นที่”


ที่มา  ປະເທດລາວ Pathedlao

หนุ่มโคราชคลุกคลี กับเมืองลาวทั้งด้านธุรกิจเอกชน​และภาครัฐมานานหลายปี ยินดีแนะนํา​ภาคเอกชนไทย​ บุกตลาดอินโดจีน

‘นักศึกษาลาว’ น้ำตาซึมเมื่อเอ่ยถึง ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ สำนึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์มีต่อ สปป.ลาว

(15 ก.พ. 67) ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ‘ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์’ ได้โพสต์ข้อความแชร์เรื่องราวของนักศึกษาจาก สปป.ลาว ที่ถ่ายทอดความรู้สึกและหยาดน้ำตา เมื่อต้องพูดถึง ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ ระบุว่า…

น้ำตาศิษย์ลาวที่เมืองอุบลฯ (สำหรับผู้ที่รักเจ้าหญิงในดวงใจ กรุณาอ่านเถิดครับ)

เมื่อวานนี้ ผมไปสอนหนังสือที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อุบลราชธานี สอนตั้งแต่ ๘.๓๐ น. ยันเครื่องบินออกตอนค่ำตามเคย สนุกดี และมีบรรยากาศดี แม้จะสอนปีละเพียงวันเดียว แต่ก็มีความเป็นกันเองเหมือนกับสอนกันมาทั้งปี

ใน Class ที่สอน มีนักเรียนทุน ป.โท จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวมาเรียนด้วย เป็นอาจารย์อยู่ที่ลาวครับ เป็นหญิงหนึ่งคนและชายหนึ่งคน ตั้งใจเรียนเหมือนนักเรียนที่ต้องมาเรียนต่างถิ่นเป็นธรรมดา

การสอนวันนั้นไม่เน้นทางวิชาการ แต่เน้นวิธีคิด ในตอนหนึ่งของการสอนขั้นตอนการตัดสินใจ Engineering Critical Thinking ‘การจัดระบบความคิดให้เป็นระเบียบ’ เพื่อให้นักเรียนสามารถ ‘ผลิตงานภายใต้แรงกดดัน’ ให้ได้ (Productive Under Pressure) จึงเชิญนักศึกษาไทย ๒ คน และนักศึกษาลาว ๑ คน มายืนหน้าห้อง

ผม เริ่มถามนักเรียนไทยว่า…

"เมืองไทยนั้นเป็นเมืองที่คนทั่วโลกบอกว่าเป็นสยามเมืองยิ้ม เป็นเมืองที่ฝรั่งมังค่าบอกว่าเป็นเมืองแห่งความเป็นมิตร ช่วยเหลือและโอบอ้อมอารี...แต่เคยคิดไหมว่าทำไม ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่มีแต่ศัตรูรอบด้าน เพื่อนบ้านของเรา ไม่ว่าจะเป็นพม่า มาเลเซีย ลาว เขมร เวียดนาม ต่างก็เกลียดเมืองไทยกันหมดเลย...มันเกิดอะไรขึ้นหรือครับ”

นักเรียนไทย...นิ่ง

ผมพูดต่อว่า...“ทุกอย่างในโลกนี้ล้วนเกิดจากเหตุและปัจจัย เราต้องหาเหตุและปัจจัยให้ได้”

นักเรียนไทยคนหนึ่งตอบว่า...“เขาคงอิจฉาเรา เพราะเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใคร”

ถาม นักเรียนไทยต่อว่า…

“รู้สึกไหมว่าในภูมิภาคนี้ ไม่มีประเทศไหนเลยที่จะทำลายทรัพยากรของประเทศเพื่อนบ้านเหมือนพวกคนไทยเรา เราไม่เคยได้ยินว่า ลาวมาตัดป่าเมืองไทย หรือพม่ามาขุดแร่เมืองไทย.. เราเคยแต่ได้ยินว่าคนไทยเราไปตัดป่า ขุดแร่ในลาว ในเขมร ในพม่า.. มันเกิดอะไรขึ้นหรือ”

นักเรียนไทย....นิ่ง
ผมพูดต่อว่า....“การนิ่ง ไม่ได้แก้ปัญหา”

นักเรียนไทยตอบว่า....“อาจจะเพราะว่าเราเจริญกว่า และเราค้าขายเก่งกว่า”
ผม ถามนักเรียนไทยต่อว่า…

“ประเทศแถว ๆ เรานี้ ล้วนเป็นประเทศที่มีศิลปวัฒนธรรมมายาวนาน หลายแห่งเป็นมรดกโลก...แต่รู้สึกไหมว่า ไม่มีประเทศไหนเขามาเอาศิลปวัตถุของเราไปเลย ในยามที่ทั้งสองฝ่ายสงบไม่รบกัน ข่าวว่ามีแต่เราที่เข้าไปตัด เข้าไปขโมย เข้าไปขนศิลปะของเขามาวางขายในบ้านเรา ทั้งเทวรูปหิน หน้าบันไม้ ต่าง ๆ นานา แถมส่งไปขายให้ต่างประเทศอีกด้วย...มันเกิดอะไรขึ้นหรือครับ”

นักเรียนไทย....นิ่ง (อาจจะเริ่มรู้สึกตัวว่ากำลังถูกวางยาอะไรสักอย่าง)

ผมถามต่อว่า...."กลับมาถึงคำถามแรกดีกว่า ทำไมเพื่อนบ้านเราเขาถึงเกลียดเรา”
นักเรียนไทย....นิ่ง
ถามต่อว่า.... “เพราะอะไรหรือครับ”
นักเรียนไทย....นิ่ง

ผมหันไปถามนักเรียนทุนจาก สปป.ลาว ว่า…

“คนลาวรู้สึกอย่างไรกับคนไทยบ้างครับ ขอให้ตอบตามจริงอย่างสุภาพ ไม่มีอารมณ์ แต่ขอให้พูดความจริง เพราะในนี้คือห้องเรียน และการพูดของท่าน อาจจะเป็นจุดเล็ก ๆ ในการแก้ปัญหาให้ลูกหลานไทย-ลาว เพื่อให้เราอยู่กันอย่างมีความสุขขึ้น”

นักศึกษาลาว.... นิ่ง (สงสัยว่ายังงง ๆ อยู่ หรืออาจจะกำลังติดตามคำตอบของนักเรียนไทยอย่างจดจ่ออยู่)

ผมพูดต่อว่า.... “ความน่าสนใจก็คือ ตอนนี้มีคนเวียดนามเข้ามาในลาวมาก รู้สึกอย่างไรกับเพื่อนบ้านจากแดนซ้าย กับเพื่อนบ้านจากแดนขวา”

นักศึกษาลาวตอบว่า... “พูดจริง ๆ นะคะ คนลาวรู้สึกว่าคนไทยดูถูกและเอาเปรียบคนลาว”

ข้าพเจ้า... นิ่ง (ไป ๒ อึดใจ) และพูดต่อเพื่อขอเวลาคิดบ้างว่า.... “เป็นความรู้สึกของตนเองหรือของคนลาวโดยรวม”

นักศึกษาลาวตอบว่า... “เป็นภาพรวม ๆ ทั่วประเทศค่ะ”

กระผม...นิ่ง (ไปอีก ๑ อึดใจ) และหันหน้ามาบอกนักเรียนไทยอีก ๖๐ ชีวิตใน Class ว่า..

“นี่คือคำตอบจากความจริงใจของเพื่อนชาวลาว ต้องขอบคุณเขาที่เขากรุณาบอกความจริงให้เรา และนับแต่นี้เป็นต้นไป เราคงต้องคิดและคิดแล้วครับว่า เราจะทำอย่างไรต่อไป”

ผมพูดต่อว่า.... “การกระทำใดต่อไป จะต้องเกิดจากข้อมูลและความเข้าใจ ต้องใจกว้าง และเริ่มปฏิบัติการแก้ปัญหาแห่งความรู้สึกนั้น เริ่มทำตั้งแต่วันนี้ ปัญหาอาจจะไม่สามารถแก้ได้ในวันเดียว คงต้องอาศัยเวลา วันหนึ่งความรักก็จะกลับมาหาพวกเราทุกคนในภูมิภาคนี้อีกครั้งหนึ่ง...คิดและเริ่มทำ ได้แล้วกระมังครับ"

ผมหันกลับมาที่ศิษย์ลาวแล้วพูดว่า...“รู้จักสมเด็จพระเทพรัตนฯ หรือไม่”
นักศึกษาลาวตอบว่า...“รู้จักดีค่ะ”

ผมถามต่อว่า.... “วิจารณ์หรือแสดงความรู้สึกต่อพระองค์ท่านสักนิดซิครับ”
นักศึกษาลาวตอบว่า....“ท่านเป็นคนดีที่สุดในโลก”

นักศึกษาลาวพูดต่อว่า....“พระเทพเป็นคนดีที่สุด พระเทพรักคนลาว เป็นห่วงคนลาว เข้าใจคนลาว ช่วยเหลือคนลาว ไม่เคยดูถูกคนลาว ท่านเป็นคนที่ดีมากๆๆ”

ผมถามนักศึกษาลาวต่อว่า... “คนลาวรู้สึกอย่างไรต่อพระองค์ในภาพรวม”
นักศึกษาลาวพูดเสียงเครือ ๆ ว่า...“คนลาวรักสมเด็จพระเทพมาก ๆ มีบ้านพระเทพอยู่ที่เขื่อนน้ำงึมด้วย เรารู้สึกว่าพระเทพเป็นคนที่ดีที่สุด เป็นห่วงและทำให้เมืองลาวมากๆ...ฯลฯ...”

ผมพูดต่อไปว่า...“มีอะไรจะพูดอีกไหมครับ”
นักศึกษาลาว....เงียบ และยกมือขึ้นปาดน้ำตา
ยอดเยี่ยม...อึ้ง และ เงียบไปเหมือนกัน

ผมหันกลับมาหาลูกศิษย์ไทยอีก ๖๐ ชีวิตว่า....

“นี่ คือทองคำที่อยู่บนหัวนอนเรา เราอาจจะรู้ว่าเรามีทองคำอยู่ แต่ด้วยความเคยชิน เราจึงไม่ค่อยได้เช็ดถูรักษาทองคำของเรา แต่เราก็จะไม่ยอมให้ใครมาเอาทองคำของเราไป...เป็นความรู้สึกที่เราต้องรู้สึก และเป็นความรู้สึกที่วิศวกรอย่างเราต้องแสดงออกมาเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ นี่คือความรู้สึกของเรา”

หลังจากนั้นผมพูดอีกหลายประการ แต่ขออนุญาตไม่บันทึกไว้ที่นี้ เพราะเกรงว่าจะไม่สมควรที่จะบันทึกเป็นตัวหนังสือออกมาครับ

ผมรักประเทศไทย....
ผมรักและเทิดทูนสมเด็จพระเทพรัตนฯ ครับ
ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์
๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒

'นักวิเคราะห์' ชี้!! 'ลาว' กระอักวิกฤตการเงิน 'กีบดิ่ง-หนี้ท่วม-ทุนสำรองวูบ' อาจเห็นการยกหุ้นโรงไฟฟ้าแลกหนี้จีน หยุดกระแสเงินสดไหลออก

(16 ก.ค. 67) เว็บไซต์นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การโยกย้าย ‘บุนเหลือ สินไซวอละวง’ ออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งสปป.ลาว หลังจากดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 ปี นับเป็นสัญญาณล่าสุดที่สะท้อนถึงปัญหาของลาวที่กำลังเต็มไปด้วย ‘หนี้สิน’

ตอนนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการที่สภาแห่งชาติของลาวมีมติเห็นชอบให้นายบุนเหลือ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติลาวนั้น เป็นเพียงการโยกย้ายไปยังตำแหน่งอื่นที่ท้าทายกว่าหรือเป็นการไล่ออก

แต่ในระหว่างการกล่าวอภิปรายในสภาเมื่อช่วงกลางเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา นายสันติภาพ พรมวิหาร รัฐมนตรีคลังมีการกล่าวกระทบเป็นนัยถึงข้อบกพร่องของอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติรายนี้ จากความล้มเหลวที่ไม่สามารถเพิ่มทุนสำรองระหว่างประเทศของลาวได้มากพอ 

ผู้ที่จะมารับหน้าที่ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งสปป.ลาวคนใหม่ก็คือ นางวัดทะนา ดาลาลอย รองผู้ว่าการแบงก์ชาติ และรับไม้ต่อความท้าทายในภารกิจเพิ่มทุนสำรองระหว่างประเทศของลาวไปด้วย

ในมุมมองของนายแบงก์ไม่เปิดเผยนามรายหนึ่งในอาเซียนที่มีการทำงานร่วมกับแบงก์ในลาว มองว่า การโยกย้ายเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดในธนาคารกลางของลาว ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว บ่งชี้ให้เห็นถึงความวิตกกังวลในหมู่ผู้นำของประเทศ เนื่องจากวิกฤติหนี้ต่างประเทศที่เลวร้ายลง

"ลาวไม่ต้องการผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ" เขากล่าว "แต่ลาวก็ไม่ได้อยากเป็นหนี้กู้ยืม IMF เหมือนกัน เพราะจะมีผลกระทบทางการเมืองตามมา"

>> วงจรหนี้ไม่สิ้นสุด เงินกีบอ่อนค่าซ้ำเติม

จากข้อมูลของกระทรวงการคลังลาวนั้นเผยให้เห็น ‘วงจรหนี้ที่ไม่สิ้นสุด’ (debt spiral) ที่ประเทศเพื่อนบ้านของจีนรายนี้กำลังดำดิ่งอยู่ โดยมีรายละเอียดเบื้องต้นของหนี้ในปี 2566 ดังนี้

- มีหนี้สาธารณะที่กู้ยืมมาจากต่างประเทศ (external public debt) พอกพูนขึ้นเกือบเท่าตัวเป็น 950 ล้านดอลลาร์ (ราว 3.44 หมื่นล้านบาท) จาก 507 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.83 หมื่นล้านบาท) ในปี 2565

- มีหนี้สาธารณะ และหนี้ที่ค้ำประกันโดยภาครัฐ (Public and Publicly Guaranteed) ทั้งที่กู้ยืมในประเทศ และนอกประเทศ 1.38 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 5 แสนล้านบาท) หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 108% ของจีดีพีประเทศ

- มีหนี้ต่างประเทศรวมทั้งหมดเป็น 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 3.80 แสนล้านบาท) ในจำนวนนี้เป็นหนี้ที่กู้ยืมมาจาก "จีน" ถึง 5.09 พันล้านดอลลาร์ (ราว 1.85 แสนล้านบาท) หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 48%

ในทางกลับกัน ‘ทุนสำรองระหว่างประเทศ’ ของลาว ณ สิ้นเดือนมี.ค. ปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 1,850 ล้านดอลลาร์ (ราว 6.7 หมื่นล้านบาท) เท่านั้น และรัฐบาลเวียงจันทน์ก็กำลังดิ้นรนที่จะเพิ่มเงินสำรองสกุลดอลลาร์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ต่างประเทศ

แหล่งข่าวในรัฐบาลลาวเปิดเผยว่า ประเทศมีภาระหนี้ที่ต้องชำระต่อปีประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์ (ราว 4.7 หมื่นล้านบาท) ตั้งแต่ปี 2567 ถึงปี 2571 ขณะที่ รมว.คลังของลาว เคยเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลต้องการเงินอย่างน้อย 1 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 3.62 แสนล้านบาท) เพื่อให้ครอบคลุม ‘ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ ที่เกี่ยวข้องกับหนี้’

ขณะเดียวกัน มูลค่าของ ‘เงินกีบ’ ที่ดิ่งลงอย่างหนักยิ่งเพิ่มความบอบช้ำทางเศรษฐกิจให้กับประชาชน เนื่องจากเศรษฐกิจของลาวพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศอย่างหนัก เงินดอลลาร์กลายเป็นที่ต้องการไม่เพียงแต่เพื่อใช้ชำระหนี้ต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังใช้ชำระค่าใช้จ่ายสำหรับการบริโภค และการลงทุนในประเทศด้วย โดยปัจจุบันมีการซื้อขายกันอยู่ที่ประมาณ 21,500 กีบต่อดอลลาร์ หรือลดลงเกือบเท่าตัวจากภาวะเงินกีบอ่อนค่า จากเดิมที่เคยแลกได้ที่ 11,500 กีบต่อดอลลาร์ในปี 2565

ทว่านั่นก็ไม่ได้หยุดยั้งแผนการของรัฐบาลในการเพิ่มทุนสำรองเงินดอลลาร์ 

"ปีที่แล้ว ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ในลาวได้รับคำสั่งให้อัดฉีดเงินกองทุนสกุลต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงเพิ่มเงินกองทุนในรูปดอลลาร์เป็นสองเท่าในงบ"

"ผู้ส่งออกในลาวอยู่ภายใต้แรงกดดันให้ต้องฝากเงินรายได้ในรูปดอลลาร์ไว้ในธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่น" สถิตย์ แถลงสัตย์ นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวกับนิกเคอิเอเชีย 

>>หันพึ่ง 'จีน' เจ้าหนี้เบอร์ 1 - ยกหุ้นโรงไฟฟ้าแลกยกหนี้

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งกลับมองทางออกอีกทางหนึ่งว่า ลาวอาจจะกลับไปสู่เส้นทางเดิม ๆ ในการแก้ปัญหาหนี้

เอมมา อัลเลน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศลาว ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่า ถ้าแหล่งทุนที่ไม่ใช่การก่อหนี้ไม่เพียงพอ ลาวก็อาจกลับไปใช้วิธีเดิมๆ คือ การก่อหนี้ใหม่มาโปะหนี้เก่า พร้อมให้คำแนะนำว่ารัฐบาลลาวจำเป็นต้องจัดการปัญหาด้านเศรษฐกิจมหภาคเพื่อช่วยในการปรับปรุงอันดับเครดิตประเทศ ลาวจึงจะสามารถเข้าถึงตลาดด้วยต้นทุนที่ถูกลงได้  

อีกวิธีหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้เช่นกันก็คือ การยอมเจรจากับ ‘จีน’ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ของลาวในขณะนี้ 

โทชิโระ นิชิซาวะ นักวิชาการจากญี่ปุ่น และผู้เชี่ยวชาญพิเศษเกี่ยวกับลาว กล่าวว่า ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีนเลื่อนการชำระหนี้ให้ลาวมาตั้งแต่ปี 2563 และลาวยังมีการทำข้อตกลงสวอปกับธนาคารกลางจีน (PBOC) เพื่อช่วยเพิ่มทุนสำรองต่างประเทศจากที่มีอยู่เดิมประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ก่อนปี 2563 ไปเป็น 1.9 พันล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมี.ค.2567

ขณะที่รายงานของธนาคารโลก (World Bank) ในเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ประเมินว่า ‘ทุนสำรองต่างประเทศสุทธิของลาวซึ่งไม่รวมข้อตกลงสวอป’ จะเพียงพอรองรับการนำเข้าสินค้า และบริการจากต่างประเทศได้เพียง ‘1 เดือน’ เท่านั้น  

"วิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้เพียงอย่างเดียวในระยะสั้นก็คือ การรักษาทุนสำรองต่างประเทศเอาไว้ ไม่ให้รั่วไหลออกไปทางเจ้าหนี้จีน โดยการขอเลื่อนการชำระหนี้ และทำข้อตกลงสวอปต่อเนื่องอีก" นิชิซาวะซึ่งเป็นอดีตที่ปรึกษาด้านนโยบายของรัฐบาลลาว กล่าวและระบุด้วยว่า นี่คือวิธีของลาวในการจัดการ และเอาตัวรอดจากหนี้ต่างประเทศให้ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 นี้ 

จากข้อมูลเชิงสถิติของรัฐบาลลาวพบว่าในปี 2567 นี้ ลาวได้ขอเลื่อนการชำระหนี้ไปแล้ว 670 ล้านดอลลาร์ รวมสะสมเป็น 1,200 ล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา

ส่วนการดำเนินข้อตกลงสวอปนั้น จากรายงานของสื่อต่างๆ ก่อนหน้านี้พบว่ามีตั้งแต่ข้อตกลงแปลงหนี้เป็นทุน (debt-for-equity swap) หรือการยกหนี้บางส่วนให้โดยแลกกับการเพิ่มสัดส่วนการเป็นเจ้าของในกิจการของรัฐบาลลาว เช่น โรงไฟฟ้า อีกส่วนหนึ่งคือ ข้อตกลงสวอปค่าเงินระหว่างแบงก์ชาติ เช่น ข้อตกลงสวอปค่าเงินหยวน-กีบ เพื่อช่วยเหลือลาวในช่วงการระบาดของโควิดที่ผ่านมา

นิกเคอิเอเชียระบุว่า รัฐบาลลาวเคยเสนอการแปลงหนี้เป็นทุนแลกกับการถือหุ้นเพิ่มในบริษัทโรงไฟฟ้าของลาว รวมถึงแลกกับที่ดินที่จะสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษในกรุงเวียงจันทน์ด้วย 

แหล่งข่าวนักวิเคราะห์การเมืองรายหนึ่งเปิดเผยว่า การแปลงหนี้เป็นทุนกับบริษัทจีน ถือเป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง และรัฐบาลลาวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องคอร์รัปชัน และการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ผิดพลาดอยู่แล้ว เรื่องนี้จึงมีแต่จะยิ่งเพิ่มความโกรธแค้นต่อรัฐบาลมากขึ้น  

หมายเหตุ: ใช้อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยตามเรตของ ธปท. วันที่ 16 ก.ค.67 ที่ 36.226 บาท/ดอลลาร์ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top