(24 ก.ค. 67) รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘วิกฤติปลาหมอคางดำ’ กับปัญหา ‘Competitive Exclusion’ ในระบบนิเวศของเศรษฐกิจไทย โดยระบุว่า…
● ปัญหาเรื่องปลาหมอคางดำในเชิงชีววิทยา
ในเรื่องเกี่ยวกับระบบนิเวศนี้ ผู้รู้ทางชีววิทยาเขาจะแบ่งสิ่งมีชีวิตเป็น ...
(1) พวกผลิตเองได้ (autotroph) เช่น พืช
(2) พวกผลิตอาหารเองไม่ได้ (heterotroph) เช่น สัตว์ทั่วไป ซึ่งจะแบ่งย่อยเป็นพวกกินพืช (herbivores) พวกกินสัตว์ (carnivore) พวกกินทั้งพืชและสัตว์ (omnivore)
(3) พวกผู้ย่อยสลายหรือพวกที่กินซาก (decomposer หรือ saprophytes) เช่น เห็ดรา สัตว์กินซาก นกแร้ง วรนุช ฯลฯ
การที่ผู้รู้ทางชีววิทยาแยกประเภทแบบนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ในระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตแต่ละประเภทนี้มันอยู่ที่ไหนในห่วงโซ่อาหาร การที่ปลาหมอคางดำมันสร้างปัญหาอยู่ตอนนี้ ก็เพราะมันกินทั้งพืช สัตว์ และซาก
เท่านั้นยังไม่พอ ปลาหมอคางดำยังอยู่ได้ทั้ง 4 น้ำคือ น้ำเค็ม น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำร้อน (ทนอุณหภูมิสูงได้) ด้วยเหตุนี้ ปลาหมอคางดำจึงสามารถขยาย ‘พื้นที่ของตัวเอง’ ไปในระบบนิเวศ จนมันไม่เหลือพื้นที่ให้คนอื่นเขาอยู่
แค่นี้ยังไม่พอ ปกติพวกสัตว์จะมีการสืบพันธุ์ แบบ K type กับ R type
K type นี้จะมีลูกน้อย อายุยาวต้องเลี้ยงลูกนาน โอกาสรอดของลูกจึงสูงกว่า ถ้ามีลูกน้อย (สัตว์มนุษย์จัดอยู่ใน K type)
ส่วนพวก R type นี้จะออกลูกมาก เพราะโอกาสรอดของลูกมันจะต่ำ อาจจะถูกสัตว์อื่นกินไปมากก่อนจะโต เช่น นก หนู ปลา
ส่วนเจ้าปลาหมอคางดำนี้ แม้จะเป็นพวก R type แต่ปลาหมอคางดำกลับมีวิวัฒนาการที่เหนือกว่าปลาทั่วไปที่พอผสมพันธุ์ภายนอกตัวเสร็จ ก็ไม่ดูแลต่อ
แต่พ่อปลาหมอคางดำกลับอมลูกในปาก ปกป้องลูกของมัน จนมันอัตราการรอดมันสูงแบบ K type ไม่เหมือน R type ชนิดอื่น
มิหนำซ้ำปลาหมอคางดำยังกินทุกอย่าง อยู่ได้ทุกที่ ขยายพันธุ์เร็ว มีโอกาสรอดสูง..ปลาหมอคางดำจึงรุกเข้าไปอยู่ในทุกพื้นที่ ทุกระบบนิเวศ และทุก niche ในน้ำ...มันจึงสร้างปัญหาร้ายแรงต่อระบบนิเวศ
ในทางนิเวศวิทยา มีศัพท์คำหนึ่งคือ ‘Competitive Exclusion Principle’... ซึ่งโดยหลัก ๆ มันคือสิ่งเดียวกับคำกล่าวที่ว่า ‘เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้’
ในระบบนิเวศสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ล้วนต้องผ่านขบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตเขาจะหา ‘พื้นที่’ ของเขาในระบบนิเวศ หรือ niche ในการอยู่อาศัยของเขา เช่น จิ้งเหลนอยู่หากินตามพื้น, กิ้งก่าอยู่หากินบนต้นไม้ ไม่ทับเส้นกัน
แต่ถ้าเมื่อไรมันทับเส้นกัน มันจะมีแค่สัตว์ชนิดเดียวที่หากินเก่งกว่า ที่มันจะรอด สัตว์ชนิดไหน ตัวไหน ถ้าหา niche ใหม่ไม่ได้ก็ตายหรือสูญพันธุ์ไป
แล้วอะไรจะเกิดขึ้น เมื่อเจ้าปลาหมอคางดำนี้ มันกระจายตลาดของมันไปแทบจะทั่วทุก niche ในระบบนิเวศ?
จากหลักการของ Competitive Exclusion Principle ข้างต้น เราย่อมคาดการณ์ได้ว่า ...
มันคงมีหลายชีวิตหลายสายพันธุ์ ที่มันแข่งขันในตลาด ใน niche ของตัวเองไม่ได้อีกต่อไป...จนอาจจะต้องสูญพันธุ์ไปในที่สุด
แน่นอนว่าในระบบนิเวศนี้มันไม่ได้อาศัยการแข่งขันกันอย่างเดียว แต่มันต้องพึ่งพาอาศัยกันด้วย
เมื่อเกิดการสูญพันธุ์จำนวนมาก พอมาถึงจุด ๆ หนึ่ง ตัวระบบนิเวศทั้งระบบมันก็คงอยู่ไม่ได้ต้องล่มสลายลง
● การรุกคืบของทุนต่างด้าวที่หนีตายจากประเทศตัวเอง
ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็ใช้การแข่งขันตามกลไกตลาด โดยผ่านขบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติ (natural selection) เช่นกัน
การแข่งขันกันในตลาดนั้น ตามหลักเศรษฐศาสตร์มันเป็นสิ่งที่ดี และเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค...คนที่แข็งแกร่งก็อยู่รอด ส่วนคนที่แข่งต่อไม่ได้ก็ต้องล้มตายไป
จะเห็นได้ว่าในที่สุด ‘เศรษฐกิจไทย’ ก็ไม่อาจจะหลีกเลี่ยง Competitive Exclusion Principle นี้ไปได้ ... โรงงานต่าง ๆ ธุรกิจต่าง ๆ ร้านค้าต่าง ๆ แห่ทยอยปิดตัว เพราะแข่งขันในตลาดต่อไปไม่ได้
กล่าวในเชิงระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ...ตอนนี้ธุรกิจคนไทยต้องเผชิญกับ alien species อื่น หรือ ‘กองทัพธุรกิจต่างด้าว’ (ปลาหมอคางดำเวอร์ชันธุรกิจ) ที่เขาหนีตายจากการแข่งขันใน ‘เกมกินรวบ Competitive Exclusion’ ของเจ้าพ่อ Platform ในประเทศของตน โดยหันมายึดตลาดใหม่ในบ้านเราแทน
นอกจากนี้ยังมีการผงาดขึ้นของ AI และหุ่นยนต์ที่ต่อไปก็จะเข้ามากินรวบแบบ Competitive Exclusion ใน ‘ตลาดแรงงาน’ ของจีนและของไทยอีกในไม่ช้า
สุดท้ายเมื่อมันเหลือแต่ ‘สปีชีย์ที่แข็งแกร่งที่สุด’ ที่ครอบครองได้ ‘ทุกตลาด’ ของระบบเศรษฐกิจไทยเท่านั้นที่จะอยู่รอดและเป็นใหญ่ได้
พอเป็นแบบนี้ ต่อไปชนชั้นล่างไทย ชนชั้นกลางไทย และธุรกิจรายเล็กรายน้อยของคนไทย มันจะเหลืออะไร?
~เรียบเรียงจากเพจของ เต่า วรเดช
● ‘วิกฤติฐานรากปี 2567’ น่าจะหนักกว่าและยืดเยื้อกว่า ‘วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540’ อย่างเห็นได้ชัด
เนื่องเพราะ ‘วิกฤติฐานรากปี 2567’ ประกอบด้วย 2 วิกฤติผสมผสานกันกลายเป็นแรงบวกที่ส่งผลกระทบหนักขึ้นเป็นสองเท่า
2 วิกฤติที่ว่านั้นคือ
(1) ‘วิกฤติหนี้ครัวเรือน’ ที่ตอนนี้ได้สะสมจนทะลุ 91.3% ของ GDP ทำให้กำลังจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนหายไปไม่น้อย
(2) วิกฤติการล่มสลายของ ‘ระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ’ ของธุรกิจ SMEs ในประเทศไทย ที่ถูก ‘ทุนจีน’ บุกเข้ามารุมขยี้ เพื่อยึดพื้นที่ด้วยกลยุทธ์ถล่มราคาแบบบ้าเลือด โดยมุ่งให้ธุรกิจเดิมของคนไทยอยู่ต่อไม่ได้
ธุรกิจไทยที่ร่วงแล้วหรือกำลังจะร่วง เพราะถูกทุนจีนบุกได้แก่…เสื้อผ้า / สินค้าอุปโภคของใช้ในชีวิตประจำวัน / สินค้าบริโภคร้านเล็กร้านน้อย / โรงแรม-รีสอร์ทท้องถิ่นขนาดเล็ก / อุตสาหกรรมการผลิตขนาดเล็ก / ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ของรถยนต์สันดาป / ร้านค้าออนไลน์
คนไทยต้องเตรียมรับมือผลกระทบอย่างยืดเยื้อ อันเนื่องมาจาก ‘วิกฤติฐานรากปี 2567’ ให้ดีเถิด
ด้วยความปรารถนาดี
~ สุวินัย ภรณวลัย
Suvinai Pornavalai