Tuesday, 22 April 2025
ประชาไท

'อาจารย์จุฬาฯ' ร่างแถลงการณ์ด่วน-ล่ารายชื่อ จี้!! 'ปล่อยนักข่าว-ช่างภาพ' ประชาไท

 

(13 ก.พ. 67) จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พระราชวัง จับกุม นายณัฐพล เมฆโสภณ ผู้สื่อข่าวประชาไท ข้อหาเป็นผู้สนับสนุนให้มีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน กับ พ.ร.บ.ความสะอาด จากการไปรายงานข่าวพ่นกำแพงวัดพระแก้ววันที่ 28 มี.ค.2566 ตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ขณะเดียวกันยังจับกุม ‘ยา’ นักข่าวอิสระอีก 1 ราย

ล่าสุด 13 ก.พ.67 อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กเผยภาพคำแถลงการณ์ต่อการจับกุมนักข่าวประชาไทและช่างภาพอิสระ รวมถึงแนบลิงก์ให้ผู้ที่เห็นด้วยร่วมกันลงชื่อ ภายในบ่ายสามโมงวันนี้

ทั้งนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โดยมีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อเพื่อเรียกร้องปล่อยตัวนักข่าว ติดป้ายระบุว่า Journalism is not a crime อีกด้วย ที่ศูนย์อาหารอาคารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ CMU Food Center มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

‘ณัฐพล ประชาไท’ รับรางวัลชมเชยสื่อมวลชน จาก ‘แอมเนสตี้ฯ’ หลังก่อนหน้านี้ถูกจับกุม กรณีทำข่าวพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 67 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) จัดพิธีมอบประกาศผลและมอบรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน (Media Awards 2023) เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อยืนหยัดเคียงข้างเสรีภาพสื่อมวลชน

โดยได้มีนักข่าวและองค์กรสื่อที่ได้รับรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 (Media Awards 2023) หลายท่าน หลายองค์กร อาทิ ‘เป้-ณัฐพล เมฆโสภณ’ ผู้สื่อข่าวประชาไท และช่างภาพอิสระ ที่ได้รับรางวัลชมเชย รางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าว ประเภทสื่อออนไลน์ เป็นรางวัลแรกในชีวิตของการผู้สื่อข่าว

ข่าวที่ทำให้เป้ได้รับรางวัลคือ ‘กว่าจะได้เรียน’ เด็กชายแดนไทย-เมียนมา ต้องผ่านอะไรบ้าง

ซึ่งเป็นผลงานที่ เป้ ณัฐพล ได้ทุ่มเท เพื่อเด็กที่ไร้สิทธิ์ ไร้เสียงตามแนวชายแดน โดยเจ้าตัวเองก็ได้พูดถึงความยากลำบากในการทำงาน และความรับผิดชอบต่อแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลมา อีกทั้งไม่เพียงมุ่งแต่ทำงานในหน้าที่ของตนเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา ต่อผู้อื่นที่เป็นแหล่งข่าวให้ตนอีกด้วย

โดย น.ส.รุ่งมณี เมฆโสภณ นักเขียนดังและอดีตนักข่าวบีบีซี ผู้เป็นคุณป้าของ เป้ ณัฐพล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ร่วมแสดงความยินดีกับหลานชายของตน พร้อมขอให้รักษามาตรฐานการทำงานนี้ต่อไป

“#31ปีไม่สาย จากที่เป้เคยถือโล่รางวัลของป้า ที่ได้รับในเดือนมีนาคม 2536 ในฐานะสตรีดีเด่น สาขาสื่อสารมวลชน วันนี้เป้มีโล่รางวัลจากการทำหน้าที่สื่อของเป้เองแล้ว ดีใจด้วยค่ะ” น.ส.รุ่งมณี ระบุ

อย่างไรก็ตาม เป้ ณัฐพล ได้ถูกตำรวจเข้าจับกุมตัว เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา จากคดีทำข่าวประชาชนพ่นสีสเปรย์ข้อความ “ไม่เอา ม. 112” บนกำแพงวัดพระแก้ว เมื่อ 28 มี.ค. 66 ด้วยข้อหาให้การสนับสนุนการทำลายโบราณสถาน

กระทั่งเมื่อวันที่ 13 ก.พ. พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขัง เป้ ณัฐพล ต่อศาลอาญา และทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง แต่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง จึงได้ยื่นขอประกันตัวทั้งสองคน ต่อมา ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว ด้วยหลักทรัพย์ 35,000 บาท

‘วิวัฒน์’ แจง แอนิเมชัน ออกเงินทำเอง ไม่เกี่ยวกับเงินภาษี เตรียมดำเนินคดีตามกฎหมาย กับผู้ที่ใส่ร้าย เพื่อปกป้องสิทธิ์

(16 มี.ค.67) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘Wivat Jirotgul’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเรื่องข่าวของตนที่ถูกนำเสนออย่างบิดเบือนว่า ...

เกี่ยวเนื่องกับเรื่องข่าวประชาไท 

1 งานแอนิเมชันนี้ เราทำกันเอง ไม่เกี่ยวกับ ทบ.เลย และ ไม่มีเงินจากหน่วยงานรัฐใด ๆ สนับสนุนทั้งสิ้น 

2 การเสนอข่าวเชิงชี้นำ ทำให้คนเชื่อว่าเป็นโปรเจกต์ของหน่วยงานรัฐ จนมีคนโพสหมิ่นประมาท ว่าเป็นแอนิเมชันบิดเบือน จากภาษีประชาชน ฯลฯ ย่อมกระทบถึงคนที่ร่วมโปรเจกต์ไปด้วย 

3 ถ้าแค่ตัวผมและบริษัท ผมไม่ค่อยแคร์เท่าไหร่ อยากด่าก็ด่าไป เพราะมันไม่จริง แต่ เราต้องปกป้องเครดิตของ ดารา ศิลปิน นักวิชาการ คนเขียนบท ที่เขาให้เกียรติมาร่วมโปรเจกต์นี้ มันคือน้ำหนักของความสัมพันธ์ ที่เราต้องแบกรับ 

เมื่อพิจารณาได้ดังนี้ ผมจึงจำเป็นต้องใช้กฎหมายครับ จะมาใช้สื่อในมือรังแกกันแบบนี้ เราก็จำเป็นต้องปกป้องสิทธิของตัวเองเช่นกันครับ 

ตัวผมลงเงินส่วนตัวกับแอนิเมชันนี้ไปหลายล้าน กับค่าทนายแค่นี้ถือว่าน้อยมาก ลองไปให้สุดซักทีจะได้มีประสบการณ์ ตอนนี้ผมส่งหลักฐานให้ทนายไปลงดีเทลแล้วครับ 

เพื่อนบอกว่าผมบ้า อืม เริ่มเชื่อละว่าบ้าจริง

‘ประชาไท’ กับการแทรกแซงสถาบันฯ โดยไร้ความเข้าใจ อ้างทำหน้าที่ตรวจสอบ แต่แท้จริงกลับแฝง ‘วาระซ่อนเร้น’

นับเป็นอีกครั้งที่ 'ประชาไท' ก้าวล้ำเส้นแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ จนกลายเป็นการแทรกแซงพระราชอำนาจอย่างไม่เหมาะสม ภายใต้หน้ากากสื่อเสรีนิยม ที่อ้างตนว่าทำหน้าที่ตรวจสอบ แต่แท้จริงแล้วกลับละเมิดหลักการพื้นฐานของกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เสียเอง

กรณีการนำเสนอข่าวพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศทางทหารแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมตั้งข้อสงสัยถึงความถูกต้องชอบธรรม เพราะไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้น เป็นตัวอย่างชัดเจนของความเขลาในกฎหมาย หรืออาจมากกว่านั้นคือเจตนาเบี่ยงเบนประเด็นสู่การลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของพระราชอำนาจ

ในเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้แบ่งแยกอำนาจไว้อย่างชัดเจนว่า 'ราชการแผ่นดิน' (government affair) ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการตามมาตรา 182 แต่ 'ราชการส่วนพระองค์' (royal affair) ซึ่งรวมถึงการพระราชทานยศ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือการแต่งตั้งในพระบรมราชสำนัก ตามมาตรา 15 ไม่จำเป็นต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

การที่ประชาไทนำเรื่องนี้มาวิพากษ์วิจารณ์ จึงไม่ใช่เพียงความผิดพลาดทางข้อเท็จจริง แต่ยังสะท้อนท่าทีอันอันตรายของ 'วาระซ่อนเร้น' ในการบ่อนเซาะความมั่นคงของสถาบันหลักของประเทศด้วยการสร้างความสับสนแก่ประชาชน เสมือนจงใจปลูกฝังความเข้าใจผิดว่า สถาบันฯ กระทำสิ่งใดโดยปราศจากกลไกตรวจสอบ ทั้งที่ในความเป็นจริง กลไกต่าง ๆ ถูกออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างรัดกุมและแยบยล

คำถามคือ... หากประชาไทมีความเข้าใจในรัฐธรรมนูญจริง เหตุใดจึงเสนอข่าวในลักษณะที่บิดเบือน? หรือแท้จริงแล้วนี่คือแผนปฏิบัติการ 'ทำลายศรัทธา' ผ่านเครื่องมือสื่อ โดยการใช้วาทกรรมกึ่งกฎหมายมาห่มคลุมเจตนาทางการเมือง

และท้ายที่สุด การกระทำเช่นนี้ ย่อมไม่ใช่เสรีภาพในการสื่อสาร หากแต่เป็นการใช้เสรีภาพอย่างเกินขอบเขต จนกลายเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยและมั่นคงของชาติ

บางครั้งการ 'ไม่รู้' อาจให้อภัยได้ แต่การ 'แกล้งไม่รู้' เพื่อละเมิด...สังคมย่อมต้องพิจารณาอย่างจริงจังว่า ยังควรปล่อยผ่านหรือไม่

‘ผู้สร้าง 2475’ ลั่น!! ต้องรับผิดชอบต่อคำพูด หลังศาลรับฟ้อง ‘ประชาไท’ หมิ่นประมาท

(19 เม.ย. 68) เพจ iLaw รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 ศาลอาญามีคำสั่งรับฟ้องคดีที่บริษัท นาคราพิวัฒน์ จำกัด ผู้ผลิตแอนิเมชัน ‘2475 Dawn of Revolution’ เป็นโจทย์ ยื่นฟ้องเว็บไซต์ประชาไทและผู้แชร์ข่าว รวม 6 ราย ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1)

คดีดังกล่าวเกิดขึ้นจากโพสต์ของเพจประชาไท เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 ซึ่งระบุว่า “ผ่านไป 1 วัน ยอดวิวแอนิเมชัน ‘2475 Dawn of Revolution’ ทะลุ 3 แสน ขณะที่เช็คผ่าน ACT AI พบเจ้าของแอนิเมชันรับโครงการทำสื่อแบบวิธีเฉพาะเจาะจง 11 สัญญา ระหว่าง 2563 ถึง 2565” โดยมีภาพประกอบสรุปประเด็นเดียวกัน

โจทย์เห็นว่าข้อความดังกล่าวอาจชี้นำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าแอนิเมชันเรื่องนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐในการผลิตโดยตรง ซึ่งไม่เป็นความจริง และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของผู้ผลิต

ภายหลัง iLaw เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับคำสั่งรับฟ้อง นาย วิวัธน์ จิโรจน์กุล เจ้าของบริษัท นาคราพิวัฒน์ จำกัด และเป็นหนึ่งในผู้เขียนบทของแอนิเมชัน ได้โพสต์ข้อความชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า

> “ก็ถ้าคนอ่านข่าวเข้าใจผิดเป็นจำนวนมาก แสดงว่าต้นทางข่าวทำให้เข้าใจผิดไงครับ… ควรถามประชาไทดูนะครับ ว่าตอนไต่สวนมูลฟ้อง พยานให้เหตุผลอะไร ทนายไปพูดแบบไหน ศาลจึงตัดสินใจรับฟ้อง คือมันมีมูลเหตุให้ ‘ศาลรับฟ้อง’ ไง... ต่อจากนี้ก็เป็นเรื่องของหลักฐานที่จะนำสืบกันต่อไปครับ”

เขายังกล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาไทเคยนำเสนอเนื้อหาในประเด็นนี้แล้วเมื่อปลายเดือนมีนาคม หลังศาลมีคำสั่งรับฟ้อง และล่าสุดทาง iLaw ได้นำเสนอซ้ำในลักษณะที่ใกล้เคียงเดิม

ในช่วงท้ายของโพสต์ นายวิวัธน์ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก โดยระบุข้อความเต็มว่า

> **“เสรีภาพในการแสดงออกไม่ใช่ใบอนุญาตให้ทำร้ายใครโดยไม่ต้องรับผิดชอบ
การอ้างเสรีภาพเพื่อปกป้องการกระทำที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย ไม่ว่าจะด้วยข้อมูลบิดเบือน คำพูดชี้นำ หรือการเผยแพร่โดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของสิทธิขั้นพื้นฐานนี้

เสรีภาพนั้นมีคุณค่า เพราะอยู่ภายใต้กรอบของความรับผิดชอบ ไม่ใช่เพราะใครอยากพูดอะไรก็พูดได้โดยไม่ต้องใส่ใจผลกระทบต่อผู้อื่น

ถึงเวลาแล้วที่สังคมควรแยกให้ออกระหว่าง ‘เสรีภาพ’ กับ ‘การละเมิด’ เพราะถ้าเราใช้สิทธิเพื่อกดทับสิทธิของคนอื่น สังคมที่ควรเปิดกว้าง ก็จะกลายเป็นพื้นที่แห่งความอยุติธรรมที่ถูกอ้างด้วยชื่อของประชาธิปไตย”**

ศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานในคดีนี้อีกครั้งในวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top