Wednesday, 23 April 2025
ปตทสผ

พลิกโฉมวงการพลังงานไทย!!  ‘ปตท.สผ. – เชฟรอน’ คว้าประมูลปิโตรเลียมอ่าวไทย ครั้งที่ 24 คนไทยได้รับอานิสงส์ ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าถูกลง

(8 มี.ค.66) นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติอนุมัติให้ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) และ บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลในการยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 24 โดยบริษัท ปตท.สผ. อีดี ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/65 และ G3/65 ขนาดพื้นที่รวม 19,515.42 ตารางกิโลเมตร และอนุมัติให้บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 ขนาดพื้นที่ 15,030.14 ตารางกิโลเมตร

"กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้พิจารณาคำขอสิทธิสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมดังกล่าว โดยยึดหลักความโปร่งใสและผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ ทั้งจากคุณสมบัติของผู้ขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ข้อเสนอทางด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เกิดการสร้างงาน การสร้างรายได้แก่ท้องถิ่น รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม โดยจะก่อให้เกิดการลงทุนสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมภายในประเทศตลอดช่วงระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม 6 ปี เป็นเงินไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท รวมทั้งได้รับผลประโยชน์พิเศษในรูปแบบของค่าตอบแทนการลงนาม เงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไทย และอื่น ๆ เป็นเงินประมาณ 640 ล้านบาท และหากสามารถพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมได้ ในเชิงพาณิชย์ ในแปลงสำรวจปิโตรเลียมดังกล่าวก็จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่รัฐในรูปแบบของค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งจากปิโตรเลียมที่เป็นกำไรด้วย" นายสราวุธ กล่าว

สำหรับการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช (แปลง G2/61) จากระบบสัมปทานสู่ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตในวันที่ 7-8 มี.ค.66 ซึ่งดำเนินงานโดย ปตท.สผ. อีดี สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องทันทีทุกขั้นตอนแบบไร้รอยต่อ และปัญหาใด ๆ และคาดว่าจะสามารถเร่งผลิตก๊าซธรรมชาติให้มากกว่าเป้าหมายของภาครัฐที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อชดเชยปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ลดลงของแปลง G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณเดิม)

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เตรียมความพร้อม รองรับการดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านของแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช (แปลง G2/6) โดยได้มีการตรวจติดตามสภาพความแข็งแรง ปลอดภัยของสิ่งติดตั้งและทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมของแปลง G2/61 รวมทั้งได้จัดตั้งวอร์รูม (War Room) เพื่อรองรับการบริหารจัดการสถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านในลักษณะบูรณาการ ร่วมกับผู้รับสัมปทานรายเดิม ผู้รับสัญญารายใหม่ และผู้รับซื้อปิโตรเลียม โดยมีผู้บริหารของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติบัญชาการที่ห้องวอร์รูม รวมทั้งมีทีมเฉพาะกิจภาคสนาม จำนวน 3 ทีม คอยติดตาม ควบคุมสถานการณ์อย่างใกล้ชิดบนแท่นผลิตในทะเลอ่าวไทย โดยประจำที่แท่นผลิตกลางบงกชใต้ แท่นผลิตกลางบงกชเหนือ และเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวปทุมพาหะ เพื่อตรวจสอบปริมาณการผลิตปิโตรเลียมรอบสุดท้ายในช่วงเวลาก่อนหมดอายุสัมปทาน รวมทั้งวัดปริมาณปิโตรเลียมที่คงค้างในเรือกักเก็บ ก่อนที่จะมีการส่งมอบให้กับผู้รับสัญญารายใหม่อย่างเป็นทางการ

‘เกษตรศาสตร์’ จับมือ ปตท.สผ. สร้างวิศวกรป้อนอุตฯ ยุคใหม่ เน้นวิจัยและพัฒนานวัตกรรมตอบโจทย์ด้านพลังงานยั่งยืน

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จับมือ ปตท.สผ. ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศ 

เมื่อวันที่ (5 มี.ค.68) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และ ต่อยอดไปสู่การพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมเครื่องกล (นานาชาติ) ของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นด้าน พลังงานที่ยั่งยืน (Sustainable Energy) ที่มีทั้งเทคโนโลยีไฮโดรเจน และ คาร์บอน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างวิศวกรรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพระดับสากล ตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมยุคใหม่ และการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี 

พิธีลงนามจัดขึ้นที่ ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคารเอ โดยมี ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ นายนภสิทธิ์ ชัยวรรณคุปต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานเทคโนโลยี คาร์บอนโซลูชั่นและการเติบโตอย่างยั่งยืน ปตท.สผ. เป็นตัวแทนร่วมลงนาม พร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ ร่วมเป็นสักขีพยาน 

หลักสูตรที่ตอบโจทย์อนาคต 
หลักสูตรใหม่นี้มุ่งเน้นการพัฒนาวิศวกรที่มีความรู้และทักษะในเทคโนโลยีล้ำสมัย อาทิ พลังงานสะอาด ไฮโดรเจนและเซลล์เชื้อเพลิง การประยุกต์ใช้ AR/VR ในงานวิศวกรรม และระบบอาคารอัจฉริยะ ตลอดจนการผสมผสานองค์ความรู้จากภาคการศึกษาและอุตสาหกรรม 

นิสิตในหลักสูตรจะได้รับโอกาสในการเรียนรู้ผ่านโครงการฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการจริง การวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และการแลกเปลี่ยนทางวิชาการในระดับนานาชาติ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างบัณฑิตที่มีทักษะการคิดเชิงนวัตกรรม ความสามารถในการปรับตัว และทักษะการสื่อสารในระดับสากล 

ประโยชน์ของความร่วมมือ 
ความร่วมมือครั้งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยยกระดับการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ยังสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมและการสร้างบุคลากรที่ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม 

อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในงานว่า “หลักสูตรนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการสร้างวิศวกรที่มีศักยภาพ นวัตกรรม และพร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับประเทศ โดยความร่วมมือกับ ปตท.สผ. จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและโอกาสใหม่ๆ ให้แก่นิสิตและภาคอุตสาหกรรมในอนาคต” 

ก้าวต่อไปสู่ความสำเร็จ 
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งเป้าที่จะเปิดรับนิสิตรุ่นแรกในปี 2569 และยื่นขอมาตรฐาน ABET (Accreditation Board for Engineering and Technology) ในปี 2570 เพื่อยืนยันคุณภาพหลักสูตรในระดับสากล และเตรียมความพร้อมให้นิสิตสามารถแข่งขันได้ในตลาดแรงงานทั่วโลก 

การลงนามครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของทั้งสององค์กรในการผลักดันขอบเขตความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและอุตสาหกรรมให้กว้างขึ้น และยังเป็นการเน้นย้ำบทบาทของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในฐานะผู้นำทางการศึกษาและนวัตกรรม รวมถึงบทบาทของ ปตท.สผ. ในฐานะองค์กรที่มุ่งมั่นสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้แก่สังคมและประเทศชาติ 

นิสิตที่สนใจสมัครเข้าเรียนในหลักสูตรวิศวกรรมเครื่องกล (นานาชาติ) สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเตรียมตัวเข้าสู่การศึกษาแห่งอนาคตที่เต็มไปด้วยความท้าทายและโอกาสในการพัฒนาศักยภาพสู่ระดับโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top