(21 ต.ค. 67) เมื่อวันเสาร์ 19 ต.ค. 67 ที่ผ่านมา ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิด ‘บ้านพิบูลธรรม’ ศูนย์บัญชาการของกระทรวงพลังงาน เพื่อให้คณะนักเรียนและเยาวชน จากสภานักเรียนไทยได้เยี่ยมชม
การศึกษาดูงานบนพื้นที่ที่ใช้ทำงานจริงในครั้งนี้คงสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เข้าเยี่ยมชมได้ไม่มากก็น้อย ไม่แน่ว่าหลาย ๆ ในวันหน้าคนที่เข้ามาศึกษาดูงานคงจะได้มีโอกาสใช้ ‘บ้านพิบูลธรรม’ แห่งนี้เป็นที่ทำงานในอนาคตก็ได้
แล้ว ‘บ้านพิบูลธรรม’ มีความเป็นมาอย่างไร ทำไมจึงถูกเลือกให้เป็นออฟฟิศหลักของกระทรวงพลังงานในยุคที่มีเจ้ากระทรวงที่ชื่อว่า ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ครั้งนี้ The States Times จะพาทุกคนหาคำตอบ
จากคำบอกเล่าของหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล ระบุว่า บ้านแห่งนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2440 ในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่เดิมมีเพียงอาคารหลังเดียว โดยบ้านแห่งนี้ ‘พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้ ‘เจ้าพระยาธรรมธิกรณาธิบดี’ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ‘พระยาอนรักษราชมณเฑียร’ ก่อนในสมัยรัชการที่ 6 เจ้าพระยาธรรมาธิกรธิบดี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ดำรงตำแหน่ง ‘เสนาบดีกระทรวงวัง’ และหลังจากนั้นอีกไม่นานนัก รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานเงินให้สร้างตึกอีกหลังหนึ่งอันเป็นตึกหลักในปัจจุบัน พร้อมทั้งมีชื่อของบ้านในขณะนั้นว่า ‘บ้านนที’
ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยระยะห่างจากสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือที่เรียกติดปากว่าสถานีรถไฟหัวลำโพงอันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในช่วงสงคราม จึงมีระเบิดหลายลูกถูกทิ้งพลาดเป้ามาลงที่ ‘บ้านนที’ ทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก
ต่อมาในปี 2498 รัฐบาลในสมัยที่นายกรัฐมนตรีมีชื่อว่า ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ ได้ซื้อบ้านหลังนี้พร้อม ๆ กับบ้านอีกหลายหลัง อาทิ บ้านพิษณุโลก บ้านนรสิงห์ โดยบ้านหลังนี้ใช้เป็นที่รับรองแขกบ้าน-แขกเมือง พร้อม ๆ กับเปลี่ยนชื่อจากบ้านนที สู่ บ้านพิบูลธรรม
โดยบ้านหลังนี้ได้รับรองแขกบ้านแขกเมืองที่มีความสำคัญหลายท่าน อาทิ พระยากัลยาณไมตรี (Dr. Francis Bowes Sayre), ริชาร์ด นิกสัน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา และเจ้าสุวรรณภูมา แห่งราชอาณาจักรลาว
ต่อมาบ้านพิบูลธรรม ได้ทำหน้าที่เป็นสถานที่ทำงานของกรมพลังงานแห่งชาติ หรือกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานในปัจจุบัน มาตั้งเเต่วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2502
บ้านพิบูลธรรม มีอาคารเก่าแต่แรกสร้างซึ่งมีความงดงามทั้งด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมอยู่ 2 หลัง และศาลาไม้อีกหลังหนึ่ง คือ อาคารสํานักงานเลขานุการกรมซึ่งอยู่หลังหน้า และ อาคาร กองควบคุมและส่งเสริมพลังงานตั้งเยื้องไปด้านหลัง ส่วนศาลาไม้อยู่ด้านขวาของอาคารสํานักเลขานุการกรมและด้านหน้าของอาคารกองควบคุมและส่งเสริมพลังงาน อาคารทั้งสองหลังสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมยุโรป ที่นิยมในยุคนั้น ลักษณะเหมือนปราสาท เป็นอาคาร 2 ชั้น รูปทรงตามปีกอาคารสองข้าง และมีส่วนโค้งส่วนหักมุมและเฉลียง ต่างกันแต่ได้สัดส่วนกลมกลืน ประดับลายปูนปั้นตามผนังตอนบน หัวเสา ขอบหน้าต่าง และลูกกรงระเบียง ประตูหน้าต่างไม้สลักลาย มีรูปประติมากรรมหน้าวัวหรือพระโคนนที ติดอยู่ที่เหนือประตู เฉลียงที่มุมขวาของตึกหน้า และที่ผนังข้างประตูหน้าและเหนือประตู เฉลียงข้างของตึกหลังมีสะพานคอนกรีต เชื่อมชั้น ๒ ของอาคารทั้ง 2 หลัง
อาคารทั้งสองหลังตกแต่งภายใน อย่างวิจิตรด้วยลายไม้แกะสลักตามเพดานและผนังห้อง ประตู และหน้าต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาคารในซึ่งตอนหน้าส่วนกลางก่อเป็นห้องชั้นที่ 3 อีกห้องหนึ่งนั้น ด้านหลังเป็นอาคารชั้นเดียว จัดเป็นห้องโถงเอกของบ้าน โดยโถงหน้า เป็นทางเชื่อมจากส่วนหน้าของอาคารสู่โถงในซึ่งมีปีกเป็นรูปโค้งมน รูปทรงของห้องโถงนี้ จึงเหมือนตัว T แต่มุมหักมน นับเป็นความงามเยี่ยมทางสถาปัตยกรรม ภายในห้องโถงนี้ กึ่งกลางเพดานประดับภาพจิตรกรรมแบบตะวันตกเรื่องรามเกียรติ์ โถงนอกรูปรามสูร เมขลา โถงในรูปทศกัณฐ์ลักนางสีดากําลังต่อสู้กับนกสดายุ เพดานรอบๆ ภาพเขียนประดับ ด้วยหูช้างไม้สลักเรียงรายตลอด ถัดลงมาเป็นภาพจิตรกรรมเถาไม้ดอกสีสดสวย ผนังจาก ระดับขอบประตูบนลงมาประดับไม้สลักลาย ตามขอบสลักลายเถาผลไม้ เสาไม้กลมตั้งบน ฐานสี่เหลี่ยมสลักลาย พื้นปูหินอ่อน ห้องโถงนี้ปัจจุบันใช้เป็นห้องเลี้ยงรับรอง ห้องด้าน หน้าทางปีกซ้ายของอาคารหลังนี้ ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นห้องทํางาน มีภาพจิตรกรรมแบบเดียว กันประดับที่ฝาผนังด้านขวา จับภาพตอนพระรามตามกวาง ส่วนเพดานห้องเขียนรูปหมู่กามเทพเด็กแบบฝรั่ง แต่มีลักษณะเป็นคนไทย
และจากการตัดสินใจใช้ ‘บ้านพิบูลธรรม’ เป็นศูนย์บัญชาการหลักของกระทรวงพลังงานในยุคที่มี ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ดำรงตำแหน่งเจ้ากระทรวง ทำให้ต้องมีการจัดหาอุปกรณ์และเครื่องใช้สำนักงานมาใช้ I อาคารดังกล่าว โดยมีหลายชิ้นต้องค้นหาจากห้องเก็บของของกระทรวงพลังงาน
และจำนวนไม่น้อยมาจากของสะสมส่วนตัวของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ที่ชื่นชอบเฟอร์นิเจอร์ช่วงจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นพิเศษ ด้วยลักษณะเด่นที่การผสมผสานระหว่างศิลปะตะวันตกและศิลปะไทยอย่างลงตัว จึงมีหลายชิ้นใน ‘บ้านพิบูลธรรม’ ที่มีเจ้าของชื่อว่า ‘พีระพันธุ์’ ตามคำบอกเล่าของเจ้าตัวในรายการกฤษณะทัวร์ติดล้อ
และทั้งหมดนี้คือที่มาของ ‘บ้านพิบูลธรรม’ ศูนย์บัญชาการ ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ พลังงานไทย เพื่อสร้างความเป็นธรรมและเสถียรภาพของพลังงานไทย