Tuesday, 22 April 2025
บุ้งทะลุวัง

'อ.เจษฎา' เผย!! อันตรายหลังเลิกอดข้าว แล้วกลับมากินใหม่ เผื่อเป็นแนวทางในการดูแล 'ผู้ประสบเหตุ' ที่ต้องอดอาหาร

(17 พ.ค.67) จากการเสียชีวิตของ ‘บุ้ง ทะลุวัง’ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ก่อนหน้านี้เคยอดอาหารประท้วงจนป่วย และกลับมาทานอาหารอีกครั้ง ก่อนจะเสียชีวิต เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

ล่าสุด รศ. ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก ระบุข้อความว่า

(note: โพสต์นี้เป็นการให้ข้อมูลเชิงวิชาการ ไม่ได้โพสต์วิพากษ์วิจารณ์สังคม แต่อย่างไรนะครับ)

ระวัง ‘รีฟีดดิ้ง ซินโดรม (Refeeding Syndrome)’ อันตรายหลังเลิกอดข้าว แล้วกลับมากินใหม่

หลังจากมีข่าว คุณบุ้ง นักกิจกรรมทางการเมือง เสียชีวิตหลังจากที่เคยอดอาหารประท้วงจนป่วย และกลับมาทานอาหารอีกครั้ง (ภายใต้การดูแลของแพทย์) เลยทำให้นึกถึงคำเตือนสมัย ‘13 ทีมหมูป่า ติดถ้ำ’ เรื่อง ‘อย่ารีบกินอาหาร หลังจากอดข้าวมานานหลายวัน อาจเกิดภาวะ Refeeding Syndrome ได้’ ครับ

เลยอยากจะยกเรื่องนี้ ขึ้นมาทบทวนกันหน่อย เผื่อเป็นแนวทางในการดูแลผู้ประท้วงอดอาหาร หรือผู้ที่ประสบอุบัติเหตุใด ๆ จนต้องอดอาหารยาวนานหลายวัน

#ภาวะรีฟีดดิ้งซินโดรมคืออะไร

- จากกรณีนักฟุตบอลเยาวชน 13 ชีวิต ทีมหมูป่า อะคาเดมี่ ติดอยู่ในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย นานนับ 10 วัน มีแค่น้ำหยดให้กินเล็กน้อย ซึ่งทุกคนต้องอยู่ในภาวะขาดสารอาหาร จึงมีคำเตือนจากกลุ่มโภชนาการ ให้ระวังภาวะ ‘รีฟีดดิ้ง ซินโดรม’ (Refeeding Syndrome) เวลาช่วยเหลือออกมาได้ โดยต้องระมัดระวังการให้น้ำและอาหาร

- การเกิดรีฟีดดิ้ง ซินโดรม นั้น เป็นภาวะที่มีความรุนแรง และค่อนข้างรวดเร็ว เนื่องจากร่างกายขาดอาหารเป็นเวลานาน หากได้รับอาหารเข้าไปทันที ไม่ว่าจะเป็นจากน้ำเกลือ ที่มีน้ำตาลเด็กซโตส (Dextrose) , อาหารทางปาก , อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง , อาหารทางสาย หรืออาหารทางหลอดเลือดดำ  ก็เป็นอันตรายได้

- คนที่มีภาวะขาดสารอาหารมาก่อน สภาพร่างกายที่อดอาหารนาน ๆ จะมีการขาดแร่ธาตุ โพแทสเซียม ฟอสเฟต แมกนีเซียม และแคลเซียม ด้วย

- ดังนั้น เมื่อได้รับอาหารอีกครั้ง ร่างกายจะย่อยและดูดซึมอาหาร เพื่อให้มีการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ เพื่อสร้างเป็นพลังงาน โดยร่างกายจะหลั่งสารอินซูลิน (Insulin) เพิ่มการสร้างไกลโคเจน (Glycogen) โดยมีวิตามินบี 1 เป็นตัวช่วย

-  ระหว่างการนำกลูโคสเข้าเซลล์ ก็จะมีการนำแร่ธาตุต่าง ๆ ดังกล่าว เข้าไปในเซลล์ด้วยเป็นจำนวนมาก

- เลยยิ่งส่งผลให้ร่างกาย เกิดภาวะแร่ธาตุในเลือดต่ำ ทำให้ระดับวิตามินบี 1 ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้เกิดภาวะสมดุลเกลือแร่ผิดปกติ อย่างรุนแรง

- จะเกิดมีอาการเหนื่อย หอบ หัวใจเต้นผิดปกติ และอาจเสียชีวิตได้ ซึ่งอาการเหล่านี้เรียกว่า ภาวะรีฟีดดิ้ง ซินโดรม

#แนวทางในการป้องกันภาวะรีฟีดดิ้งซินโดรม

- ก่อนจะให้อาหาร ควรให้วิตามินบี 1 ประมาณ 200-300 มิลลิกรัมต่อวัน ร่วมกับวิตามินและแร่ธาตุรวม

- การเริ่มให้อาหาร จำเป็นต้องเริ่มอาหารอ่อน ในปริมาณน้อย ๆ

- ถ้าสามารถทำได้ ควรตรวจระดับโพแทสเซียม ฟอสเฟต แมกนีเซียม และแคลเซียม ในเลือดก่อน และแก้ไขหากมีระดับเกลือแร่ผิดปกติ และติดตามอาการทางคลินิกและการเปลี่ยนแปลงระดับแร่ธาตุเหล่านี้ในเลือดอย่างใกล้ชิด

- การกินวิตามิน ที่มีส่วนประกอบของวิตามินบี 1 มีหลักการ ดังนี้

1. ก่อนจะให้อาหาร ควรให้วิตามินบี 1 ในปริมาณ 200-300 มิลลิกรัมต่อวัน 1-2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง ร่วมกับวิตามินแร่ธาตุรวม วันละครั้ง และควรให้ต่อเนื่องกัน อย่างน้อย 2 วัน หรืออาจให้ต่อไปจนถึง 10 วัน หรือจนกว่าจะได้รับพลังงาน วิตามินรวม และแร่ธาตุอื่น ๆ อย่างครบถ้วนตามเป้าหมาย

2. เริ่มให้อาหาร พลังงานไม่เกิน 5-10 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัมต่อวัน ขึ้นกับภาวะทุพโภชนาการ  ค่อยๆ เพิ่มปริมาณทีละนิดภายใน 4-7 วัน โดยใน 4 วันแรก ควรให้พลังงานประมาณ 5-10 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัมต่อวัน จากนั้นค่อย ๆ ปรับเพิ่มพลังงานอย่างช้าๆ เช่น เพิ่มครั้งละ 5-10 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัมต่อวัน จนถึงพลังงานเป้าหมายภายในเวลา 4-7 วัน

และ 3. ติดตามเป็นระยะทุกวัน โดยเฉพาะในช่วง 4-7 วันแรก ต่อเนื่องเป็นเวลา 2 สัปดาห์

'อัษฎางค์' ตั้งคำถาม 'พิธา' ให้สัมภาษณ์ล่าสุดแก่สื่อยักษ์เมืองเบียร์ สะท้อนการเป็นแนวร่วม 'บุ้ง-พวกบ่อนทำลายสถาบันฯ' หรือไม่

(17 พ.ค.67) เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

พิธาให้สัมภาษณ์สำนักข่าว DW ของเยอรมันเรื่องการตายของบุ้งว่า...

นักเคลื่อนไหวหนุ่มสาวเรียกร้อง ‘หลักนิติธรรมแทนการใช้อำนาจตามกฎหมาย’

“It’s a tragic loss for Thailand as a nation, where a group of young activists was asking for the rule of law instead of rule by law. 

มันเป็นความสูญเสียอันน่าเศร้าของประเทศไทยในฐานะชาติที่มีกลุ่มนักเคลื่อนไหวหนุ่มสาวซึ่งเรียกร้อง ‘หลักนิติธรรมแทนการใช้อำนาจตามกฎหมาย’

The rule of law กับ The rule by law.
คืออะไรและแตกต่างกันอย่างไร้?

Rule by Law คือ การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือของเผด็จการ เอาไว้บังคับคนอื่น ไม่บังคับกับพวกตัวเอง 

Rule of Law คือ หลักนิติธรรมที่ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน

• หลักนิติธรรม (The Rule of Law) เน้นความยุติธรรม ความเสมอภาค และการคุ้มครองสิทธิของบุคคล โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมและชอบธรรมต่อทุกคน

• การปกครองโดยกฎหมาย (Rule by Law) เน้นการใช้กฎหมายเพื่อควบคุมและรักษาอำนาจ โดยอาจทำให้ความยุติธรรมและสิทธิของบุคคลถูกละเลย เพื่อรับใช้ประโยชน์ของผู้มีอำนาจ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยปกครองประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ที่บัญญัติไว้ชัดเจนในเรื่องความยุติธรรม ความเสมอภาค และการคุ้มครองสิทธิของบุคคล โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมและชอบธรรมต่อทุกคน

พิธาอ้าง “กลุ่มนักเคลื่อนไหวหนุ่มสาวซึ่งเรียกร้องหลักนิติธรรมแทนการใช้อำนาจตามกฎหมาย” 

พวกเขาเรียกร้องให้มีปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยอ้างว่าคนเห็นต่างทางการเมืองต้องไม่ถูกคุมขัง และได้รับสิทธิ์ประกันตัวนั้น 

ทั้งที่ กลุ่มนักเคลื่อนไหวหนุ่มสาวต่างหากที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย การกระทำของคนกลุ่มนี้ ไม่ได้เป็นการแสดงความเห็นต่างทางการเมือง แต่เป็นการกระทำที่ไปดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งการละเมิดสิทธิของผู้อื่น ซึ่งเป็นการทำผิดกฎหมาย

ในทุกประเทศทั่วโลก ไม่มีใครสามารถอ้างสิทธิส่วนบุคคล เพื่อไปดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายและละเมิดสิทธิของผู้อื่นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การละเมิดกฎหมายคุ้มครองประมุขแห่งรัฐ

การที่พิธาเอาเรื่องนี้ไปให้สัมภาษณ์เพื่อบอกกับชาวโลกผ่านสื่อยักษ์ใหญ่ของเยอรมนี เป็นการแสดงว่าพิธาและพรรคก้าวไกล เป็นแนวร่วมกับบุ้งและพวก ในการตั้งใจละเมิดกฎหมาย “ด้วยมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด” ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคก้าวไกล หรือไม่?

อัษฎางค์ ยมนาค

อ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่ >> https://www.atsadang.com/?p=4309&fbclid=IwZXh0bgNhZW0CMTEAAR2VNX8wssj0A6NN5Cl3WF2bKvLxnjwdpcc8uq4cYatk1RAFycpDUKAlrjE_aem_AQ2wBFNBaNGerlexEENz0B2uKh0SEL6vGFpBuZF6uEowdxe6XCSnSbyXK7Ry2CSCIbe2DzGesxMcRuNbMokXRtdl 

‘ก้าวไกล’ ออกแถลงการณ์ กรณี ‘บุ้ง’ เสียชีวิต เรียกร้องรัฐบาล 4 ข้อ ย้ำ!! ต้อง ‘ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม-สร้างประชาธิปไตยเข้มแข็ง’ ให้ปชช.

เมื่อวานนี้ (17 พ.ค. 67) พรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์ต่อกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม (บุ้ง) นักกิจกรรมทางการเมือง เรียกร้องต่อรัฐบาลให้มีบทบาทในการสร้างการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน สร้างหลักประกันในการประกันตัว และคลี่คลายสถานการณ์เพื่อนำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ของสังคม

ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุว่าในห้วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประสบพบเจอกับการรัฐประหาร อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สังคมไทยแตกแยกอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ประชาชนจึงตั้งความหวังว่า การนิรโทษกรรมทางการเมือง ตลอดจนการปรับปรุงกฎหมายที่จะปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะเป็นวาระที่สำคัญของรัฐบาลนี้

เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ปรากฏ การเสียชีวิตของ เนติพร เสน่ห์สังคม จากการอดอาหารประท้วงต่อการไม่ได้รับประกันตัว ย่อมส่งผลให้ความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรมเสียหายเป็นอย่างมาก พรรคก้าวไกลจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อดำเนินการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อกระบวนการยุติธรรมอันเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชน

1) ต่อการดำเนินการในอำนาจหน้าที่ของตำรวจ ควรกำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาลในการชะลอคดีทางการเมือง เพื่อไม่สร้างความขัดแย้งเพิ่มเติมจนกว่าจะได้ความชัดเจนในการจัดทำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และต้องกำหนดให้สิทธิในการประกันตัว การไม่คัดค้านการประกันตัว หรือมีความเห็นไม่ให้ถอนการประกันตัวของตำรวจในคดีการเมือง ซึ่งสามารถทำได้ทันที เนื่องจากตำรวจอยู่ในการกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีโดยตรง

2) ข้อเสนอต่อการดำเนินการในอำนาจหน้าที่ขององค์กรอัยการ ให้นายกรัฐมนตรีมีความเห็น หรือรัฐบาลมีมติ ครม. เสนอไปยังอัยการสูงสุด ให้พิจารณาให้สั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องได้ตามมาตรา 21 พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ 2553 ประกอบข้อ 7 ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ 2554

ทั้งนี้ ข้อ 7 (4) เหตุผลตามความเห็นของรัฐบาลโดยมติคณะรัฐมนตรีถึงผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์สำคัญของประเทศ และที่แก้ไขเพิ่มเติม 2561, ข้อ 7 (5) เหตุผลตามความเห็นของนายกรัฐมนตรีหรือหน่วยงานอื่นถึงผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, ข้อ 7 (6) ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือความสามัคคีของคนในชาติ

ซึ่งนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีสามารถดำเนินการให้บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทางการเมืองทั้งหลาย ให้คดีเป็นอันยุติลงไป

3) ข้อเสนอต่อคดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามมาตรา 108/1 ให้อำนาจศาลยุติธรรมในการใช้ดุลพินิจพิจารณาให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ทั้งนี้ การประกันตัว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ การไม่ให้ประกันตัวตามกฎหมายดังกล่าว จะต้องปรากฏว่ามีพฤติการณ์บางอย่าง เช่น มีพฤติกรรมหลบหนี หรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

ซึ่งรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี สมควรมีการปรึกษากับประธานศาลฎีกา ในฐานะประมุขของศาลยุติธรรม เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานนี้ เมื่อรัฐบาลมีแนวนโยบายที่จะนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองให้กับประชาชน การชะลอคดีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องหารือกับทุกฝ่าย เพื่อไม่ให้เกิดการดำเนินคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรม

4) การนิรโทษกรรมมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน แม้ว่าปัจจุบันจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ของสภาผู้แทนราษฎร แต่ผลการศึกษาดังกล่าว ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายที่จะนำไปสู่การสร้างความปรองดองของสังคมในตอนนี้ได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงสมควรเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยเร่งด่วน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างความสมานฉันท์ในสังคมต่อไป

นอกจากการนิรโทษกรรมแล้ว รัฐบาลสามารถเสนอร่างกฎหมายอื่นที่จะนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้เกิดการปกป้องสิทธิมนุษยชน ตลอดจนให้ความคุ้มครองในการประกันตัวของประชาชนที่จะสามารถต่อสู้คดีปกป้องสิทธิของตนเองได้อย่างเต็มที่ต่อไป

“สุดท้ายนี้ พรรคก้าวไกลตั้งความหวังว่า รัฐบาลจะดำเนินการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจัง เหตุการณ์เสียชีวิตอย่างกรณีคุณเนติพร เสน่ห์สังคม ไม่สมควรจะเกิดขึ้นอีกแล้ว ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทย จะได้กลับมาทบทวน การฟื้นฟูรากฐานกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ตามที่ประชาชนพึงได้รับ” แถลงการณ์พรรคก้าวไกลระบุ

‘นิพิฏฐ์’ โพสต์เฟซ ‘ธนาธร-คณะก้าวหน้า’ ฉลองได้ ‘บ้านอองโตนี’ ที่ฝรั่งเศส ในขณะที่งานศพ ‘บุ้ง ทะลุวัง’ เต็มไปด้วยความเศร้า ชี้!! นี่คือพฤติกรรมของฝ่ายปชต

(19 พ.ค. 67) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต สส.พัทลุง โพสต์ภาพคณะก้าวหน้าที่นำโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า , น.ส.พรรณิการ์ วานิช ขณะรับประทานอาหารเที่ยง ระหว่างนายธนาธร รับมอบบ้านอองโตนี กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นบ้านเดิมที่นายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี รัฐบุรุษอาวุโส และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ อาศัยระหว่างลี้ภัยจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งนายธนาธร ซื้อมาจากเจ้าของชาวเวียดนาม ที่ซื้อต่อจากครอบครัวพนมยงค์ก่อนเดินทางกลับประเทศไทยในราคา 63,788,000 บาท พร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยได้ระบุว่า ...

หรือ ‘ก้าวไกล’ จะ ‘ก้าวพลาด’ กรณี ‘บุ้ง เนติพร’

กรณี ‘บุ้ง ทะลุวัง’ นักกิจกรรมเสียชีวิต หลังประกาศอดอาหาร 110 วัน บรรยากาศในงานศพ บุ้ง เนติพร ช่างต่างกับบรรยากาศของแกนนำ “คณะก้าวหน้า” ที่ยกทีมชุดใหญ่ไปนั่งดื่ม-นั่งกิน ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ดินแดนแห่งเสรีภาพ-ภราดรภาพ และ เสมอภาค

บุ้ง ตายเพราะอดอาหาร ตามความเชื่อที่ตรงกับความเชื่อของ ‘คณะก้าวหน้า’ และ ตรงกับความเชื่อของ ‘พรรคก้าวไกล’

คนหนึ่ง ‘ตาย’ เพราะประกาศอดอาหาร อีกกลุ่มหนึ่งกำลัง ‘ดื่ม-กิน’

คณะก้าวหน้า ยังเงียบในการตายของบุ้ง ขณะที่พรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์ 4 ข้อ เป็น 4 ข้อ ที่ไม่เข้าท่า ไร้สาระ บนความตายของ บุ้ง ผมค่อยแสดงความเห็นในเรื่องความไร้สาระของทั้ง 4 ข้อในภายหลัง

บุ้ง ตายตามความเชื่อ ความเชื่อของเขาจะผิดหรือถูก เราไม่วิจารณ์ แต่เราเคารพในความเชื่อของเขา

บุ้ง ตายในขณะที่มีรัฐบาล ที่สถาปนาตัวเองว่า เป็นฝ่ายประชาธิปไตยกำลังบริหารประเทศ

บุ้ง ตายในขณะถูกจองจำตามความเชื่อ ตรงข้ามกับ อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร นักโทษเด็ดขาดคดีทุจริต ไม่ถูกจำคุกแม้แต่วันเดียว

บุ้ง ตายขณะมีอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนเดียวกันกับคนที่อนุญาตให้ คุณทักษิณ ชินวัตร นักโทษคดีทุจริต กินดี-อยู่ดี ในห้องพิเศษ ชั้น 14 รพ.ตำรวจ

บุ้ง ตายขณะมีรัฐมนตรียุติธรรม ที่ชื่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง คนเดียวกับที่ยินยอมให้ คุณทักษิณ นักโทษคดีทุจริต อยู่ดี-กินดี ในห้องพิเศษ ชั้น 14 รพ.ตำรวจ

พรรคก้าวไกล จึงก้าวพลาด บนความตายของบุ้ง พลาดอย่างไรผมค่อยเขียนก็แล้วกัน รอคณะก้าวหน้า และ พรรคก้าวไกล ออกมาโต้ก่อนก็แล้วกัน

บุ้ง ตายแล้ว นักการเมืองคงกำลังสอดส่ายสายตาหาคนมาตายแทนตนต่อไป
ความตายที่มนุษย์ยอมรับ และ ให้เกียรติกัน คือ “ความตายในสงคราม” หากความตายของบุ้ง เป็นความตายในสงครามแห่งความเชื่อ เราก็ควรเคารพดวงวิญญาณของเธอ

ผมมีความเห็นต่างกับ บุ้ง ในทางการเมือง แต่ผมเคารพและให้เกียรติดวงวิญญาณของเธอ
#เราควรเคารพดวงวิญญาณของบุ้ง แต่ควรรังเกียจนักการเมือง และพรรคการเมืองที่เรียกตัวเองว่า เป็นฝ่ายประชาธิปไตย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top