Tuesday, 22 April 2025
บุหรี่

‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ภัยทันสมัยในม่านควัน หรือวาทกรรมที่ถูกปั้นเพื่อให้คนกลัว

“...แวดวงนักกลืนควันในอดีต เวลาจุดบุหรี่สูบก็ต้องสูบให้หมดมวน แต่บุหรี่ไฟฟ้าสูบคำสองคำก็พอ ทำให้ลดการสูบลง” คือคำพูดของเด็กหนุ่มใกล้ตัวที่คุยกับผม ซึ่งนั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ได้รับความนิยมอย่างสูงในแวดวงนักกลืนควันวันนี้ ทั้งที่รู้อยู่เต็มบอกว่ามันก็มีอันตรายไม่แตกต่างจากบุหรี่ (จริง)

บรรพบุรุษของบุหรี่รุ่นแรกมีหน้าตาค่อนไปทางซิการ์ คือ มวนโตและห่อพัน (ใบยาสูบ) ด้วยใบยา (อีกที) และดูเหมือนจะมีมาก่อนในดินแดนเม็กซิโกและอเมริกากลาง ราวศตวรรษที่ 9 ซึ่งก็คือบริเวณที่ชาวมายาและแอซเท็กเริ่มสูบยา รวมถึงใบยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทกับพิธีกรรมทางศาสนา โดยพบหลักฐานภาพวาดบนเครื่องปั้นดินเผาและภาพแกะสลักบนวิหาร เป็นภาพนักบวชหรือเทพเจ้ากำลังสูบบุหรี่ ซึ่งทั้งซิการ์กับบุหรี่คือ วัฒนธรรมของชนชาวพื้นเมืองแถบแคริบเบียน, เม็กซิโก, อเมริกากลาง และใต้ ก่อนเผยแพร่ไปทั่วโลกเพียงไม่กี่ทศวรรษ

“สูบบุหรี่แก้ขวย ช่วยเข้าสังคม” คือคำโฆษณาจากรัฐบาลยุคมาลานำไทย เชิญชวนให้คนสูบบุหรี่ (ซึ่งเป็นกิจการของรัฐ) นัยว่าช่วยพัฒนาประเทศทางอ้อม ด้วยภาพลักษณ์ของการสูบบุหรี่ยังดูโก้เก๋ ทันสมัย มีอารยะ

คนไทยโบราณไม่ว่าหญิงหรือชายจะมีของติดตัวกันแทบทุกคน สำหรับสตรีไทย คือ ‘กระทายหมาก’ หรือ ‘เชี่ยนหมาก’ ส่วนของบุรุษก็คือ ‘กลักบุหรี่’ หรือ ‘กระป๋องใส่บุหรี่’ ที่ยังไม่ได้มวนพร้อมสูบ สมัยนั้นเวลาจะสูบบุหรี่สักที ก็ต้องนั่งมวนต่อมวน แล้วจุดด้วยไฟที่เกิดจากการตี ‘หินเหล็กไฟ’ จนเกิดประกายติดใส่นุ่นในหลอดที่มีพร้อมอยู่ข้างกาย จึงจะได้สูบบุหรี่สำเร็จได้ดังใจนึก

บุหรี่หรือยาสูบ เคยถูกใช้ต้อนรับแขกผู้มาเยือนควบคู่กับ ‘หมาก - พลู’ โดยเห็นได้จากคำกล่าว “หมากพลู บุหรี่” รับแขกบนชานเรือนของตน ก่อนการแพทย์และสาธารณสุขจะล่วงรู้ถึงภัยร้ายของควันบุหรี่ จนกระทั่งสังคมก็เริ่มเสื่อมความนิยมต่อ ‘บุหรี่’ ลงเป็นลำดับ

แต่หากดูตามสถิติ ‘นักสูบหน้าใหม่’ ก็ยังเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยหันหาสิ่งที่เรียกว่า ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ มากขึ้น ๆ และด้วยความเชื่อว่า ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ มีภัยต่อร่างกายน้อยกว่า ‘บุหรี่’ จริง

สื่อมวลชนภาคใต้สุดทนปัญหาสินค้าเถื่อน บุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้าเกลื่อน

เมือง สงขลา สตูล ยะลา นราธิวาสเป็นประตูทางเข้า แหล่งพักและขายปลีก แฉชาวบ้านรู้ขายตรงไหนแต่เจ้าหน้าที่แค่จับเอาหน้า แถมอมเงินรางวัลนำจับ เปิดช่องพ่อค้านำกลับมาขายใหม่ เสนอทางแก้ จับได้ให้ทำลายของกลางทันที ยกระดับเป็นปัญหาความมั่นคงแห่งรัฐ จังหวัดไหนแก้ปัญหาไม่ได้ให้ย้ายผู้ว่าฯออกนอกพื้นที่ ทำอย่างนี้จึงจะปกป้องเด็กและเยาวชนได้ 

มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.)  ร่วมกับสื่อมวลชนในจังหวัดสงขลา จัดประชุมโฟกัส กรุ๊ป ในหัวข้อ “ปัญหาบุหรี่เถื่อน-สินค้าผิดกฎหมาย ชายแดนใต้ ... แก้ไม่ได้จริงหรือ ?” เมื่อวันเสาร์ที่  22 กรกฎาคม 2566 ที่ โรงแรมดับเบิ้ลยู ทรี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีนายวิเชษฐ์  พิชัยรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโสเป็นผู้ดำเนินรายการ นายแพทย์กู้ศักดิ์ บำรุงเสนา นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงาน สาธารณสุข จังหวัดสงขลา เปิดเผยถึงสถานการณ์การควบคุมการบริโภคยาสูบของประเทศไทยพบว่า ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ร้อยละ 17.4 คิดเป็นประมาณ 9.9 ล้านคน เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกเมื่อ อายุเฉลี่ย 18.5 ปี อายุต่ำสุด 6 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายคิดเป็น 26.7 เท่าของผู้หญิง ส่วนจังหวัดสงขลาอัตราการบริโภคยาสูบในปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 27.7 เป็นอันดับ 6 ของประเทศ สูงกว่าอัตราการบริโภคยาสูบของ ประเทศและเขตสุขภาพ ซึ่งจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 12 มีอัตราการบริโภคยาสูบสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศคือจังหวัดสงขลา สตูล พัทลุงและจังหวัดตรังและยังพบว่าอายุน้อยที่สุดที่เริ่มสูบบุรี่ของจังหวัดสงขลาคือ 12 ปี ส่วนข้อมูลล่าสุดในปี 2565  อำเภอที่สูบบุหรี่มากที่สุดคือ อ.สะบ้าย้อย ร้อยละ 30.63 รองลงมาคือ อ.คลองหอยโข่ง ร้อยละ 17.4 และอำเภอนาทวี ร้อยละ 16.93 จากรายงานภาวะโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย พ.ศ. 2562 พบการบริโภคบุหรี่เป็นอันดับ 2 ของปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิต โดยเป็นปัจจัยที่ทำให้เสียชีวิตประมาณ 85,000 กว่าคน ซึ่ง 5 โรคร้ายที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ได้แก่ มะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง โรคปอดบวม โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเบาหวาน

ส่วนสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2564 มีการสำรวจคนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปพบว่ามีคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเกือบ 80,000 คน มากกว่าครึ่งเป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี  ปัจจุบันมีการนิยมสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น โดยเฉพาะในวัยรุ่น เนื่องจากพกพาและสูบง่ายกว่าบุหรี่มวน มีการแต่งกลิ่น และที่สำคัญคือความเข้าใจผิดคิดว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นอันตราย สูบแล้วไม่ติด ซึงในความเป็นจริงแล้ว ในควันของบุหรี่ไฟฟ้ามีทั้งสารนิโคตินและโลหะหนักหลายชนิด ที่ส่งผลให้เกิดการเสพติดและเป็นพิษต่อร่างกาย และยังพบอีกว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่มวน แถมยังมีโอกาสที่จะเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน ส่วนการเลิกสูบบุหรี่พบว่า ร้อยละ 80 สามารถเลิกได้ด้วยตนเอง สามารถทำได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ เช่น สร้างแรงจูงใจให้กับตัวเองอาจเกิดจากบุคคลที่เรารัก ขอคำปรึกษาจากคนใกล้ตัวที่เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ

นายสถาพร เกียรติอนันต์ชัย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ จังหวัดสงขลา กล่าวถึงสถานการณ์บุหรี่เถื่อนทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้าในจังหวัดสงขลาและจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่ายังมีความรุนแรงอยู่ไม่ได้ลดลงเพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและตำรวจเพิกเฉยไม่บังคับใช้กฎหมาย เห็นกันอยู่ชัดๆว่าบุหรี่เถื่อนมีขายที่ไหนบ้างเช่น อ.หาดใหญ่ แถว 4 แยกน้ำพุจะไปซื้อเมื่อไรก็ได้ มันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องบุหรี่เถื่อนหรือสินค้าหนีภาษีมีเงินรางวัลนำจับด้วย แต่ในสภาพความเป็นจริงคนนำจับไม่ได้เงินตามที่กฎหมายกำหนดเช่นถ้ายอดเงิน 100,000 บาท คนนำจับได้แค่ 20,000 บาทส่วนที่เหลืออีก 80,000 บาทไปตกอยู่ในมือของคนไม่เกี่ยวข้องทำให้ประชาชนไม่อยากจะแจ้งเบาะแส นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของกลางที่จับได้มักจะถูกวิ่งเต้นจากพ่อค้าหรือมาประมูลกลับไปแล้วนำกลับมาขายใหม่ จึงเป็นปัญหาทั้งเรื่องการบังคับใช้กฎหมายและเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่

ส่วนแนวทางแก้ไขควรทำอย่างไรนั้น  มีทั้งการปราบปรามบังคับใช้กฎหมาอย่างจริงจังรวมทั้งการแก้ไขกฎหมายอาญา กฎหมายศุลกากร เช่นกฎหมายศุลกากรเมื่อจับแล้วมาสารภาพแล้วยกของกลางให้รัฐพวกพ่อค้าก็จะไปซื้อกลับมา ดังนั้นสินค้าที่ยึดมาแล้วให้ทำลายเลยไม่ควรจะนำกลับมาขายทอดตลาด ตามกฎหมายสินค้าที่ยึดมาได้มีแนวปฏิบัติ 3 แนวทางคือ ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ,ศาลสั่งให้ทำลายและศาลสั่งทำให้ใช้ไม่ได้ ดังนั้นควรจะใช้แนวทางศาลสั่งให้ทำลายสินค้าเหล่านี้ให้หมดจะดีที่สุด เช่นเดียวกันกับปัญหายาเสพติดที่จับได้ตามแนวชายแดนก็ควรจะเผาทำลายกันในพื้นที่ที่จับได้เพราะถ้าปล่อยให้นำเข้ามาที่ส่วนกลางมีโอกาสที่จะสูญหายหรือยักยอกไประหว่างทางได้ สำหรับคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบจังหวัดสงขลาควรจะมุ่งมั่นจริงจังทำงานให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ต้องมีข้อมูลให้เห็นผลการดำเนินงานด้วยเพราะถ้าจริงจังจะเห็นผลเป็นรูปธรรมแน่นอน จะส่งผลให้เด็กและเยาวชน ประชาชนเข้าถึงบุหรี่เถื่อน  บุหรี่ไฟฟ้าได้น้อยลงเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทางควบคู่ไปกับการให้ความรู้และรณรงค์

นายภูวสิษฎ์  สุกใส บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ ภาคใต้โฟกัส ในฐานะสื่อมวลชนที่เข้าไปมีบทบาทเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดสงขลากล่าวว่าสถานการณ์ยังคงรุนแรงอยู่ทั้งจังหวัดสงขลา จังหวัดสตูลและจังหวัดชายแดนภาคใต้เพราะเป็นทั้งประตูทางเข้า เป็นทั้งแหล่งกระจายสินค้าและการขายสินค้าเถื่อน สินค้าหนีภาษีโดยเฉพาะบุหรี่ เมื่อไม่นานมานี้ได้พบปะกับผู้บริหารท้องถิ่นแห่งหนึ่งบอกว่าปัจจุบันรายได้จากภาษีท้องถิ่นลดลงเพราะสินค้าเถื่อนและสินค้าหนีภาษี ไปถามชาวบ้านใน อ.หาดใหญ่ก็รู้ว่าจะซื้อบุหรี่เถื่อนจากไหน ทั้งตลาดใหม่ ถ.นิพัทธ์สงเคราะห์ ถ.นวลแก้วอุทิศก็หาซื้อได้ ปัญหาอยู่ที่เจ้าหน้าที่ไม่บังคับใช้กฎหมาย ตามน้ำบ้างหลับตาข้างหนึ่งบ้าง เป็นความหย่อนยานของเจ้าหน้าที่ และเป็นเรื่องของผลประโยชน์ต่างตอบแทน ลองไปถามดูได้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ใครๆก็อยากจะมาอยู่สงขลา อ.หาดใหญ่  สะเดา ปาดังเบซาร์ อยู่จ.สตูลที่ด่าน วังประจัน อยู่ยะลา อ.เบตง  หรืออยู่นราธิวาส อ.สุไหงโกลก เพราะนี่คือประตูทางเข้าของสินค้าผิดกฎหมาย

ส่วนบทบาทของสื่อมวลชนในจังหวัดสงขลาและจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมาก็เคยเสนอทั้งข่าว รายงานและบทวิเคราะห์ในเรื่องเหล่านี้ทำให้เจ้าหน้าที่ตื่นตัวเป็นครั้งคราวทำกันแบบไฟไหม้ฟางสุดท้ายก็เป็นเหมือนเดิม ดังนั้นแนวทางที่ควรจะทำคือการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องและจริงจังตั้งแต่ระดับบนจนถึงระดับล่าง ไม่รับผลประโยชน์ไม่ปากว่าตาขยิบปัญหาก็จบ และต้องยกระดับเป็นเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐเป็นวาระชัดเจนตั้งแต่ระดับชาติลงมาจนถึงจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดก็ต้องเอาจริงถ้าพบว่ายังมีการค้าบุหรี่เถื่อนในพื้นที่หรือไปปกป้องพ่อค้าก็ต้องถูกย้ายอยู่ในจังหวัดไม่ได้ หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องให้อำนาจผู้ว่าฯเสนอย้ายตำรวจ ย้ายสรรพสามิต หรือเจ้าหน้าที่ขอ

สสส.สนับสนุน ม.อ.ทำโครงการสื่อสารณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงทั้งบุหรี่ แอลกอฮอล์และอุบัติเหตุในมหาวิทยาลัยและชุมชน 5 วิทยาเขตภาคใต้

อธิการบดี หวังเป็นต้นแบบจัดตั้งกลไกจัดการปัจจัยเสี่ยง ผู้ทรงคุณวุฒิสสส.ชี้โครงการมีการจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมเสี่ยงก่อนและหลังจัดกิจกรรมเป็นตัวชี้วัดที่ดี เผยผลสำรวจพบการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น ส่วนการสวมหมวกกันน็อคลดลง

เช้าวันเสาร์ที่ 6 มกราคม 2567 ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น ๒ ศูนย์กีฬาและสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีการแถลงข่าวเปิดตัว โครงการสานพลังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์รณรงค์และจัดการความรู้ ลดปัจจัยเสี่ยงในมหาวิทยาลัยและชุมชน โดย ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการจาก  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

​ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าต้องขอบคุณ สสส. ที่ให้การสนับสนุนโครงการนี้ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและทิศทางของมหาวิทยาลัยในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยด้านปัจจัยเสี่ยง อุบัติเหตุ บุหรี่ และแอลกอฮอล์ให้กับ นักศึกษาและบุคลากร ของมหาวิทยาลัย เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนทำให้คนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับคนทุกวัยและเป็นไปตามค่านิยมหลัก คือ มีความเป็นมืออาชีพ ความรับผิดชอบต่อสังคม และความเป็นเอกภาพ เป็นหนึ่งเดียว ด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดถือประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง โดยมหาวิทยาลัยได้ กำหนดวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ที่สำคัญคือ สร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ ด้วยการสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพและสังคมที่สำคัญทั้งอุบัติเหตุ บุหรี่ และแอลกอฮอล์

อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยมี นโยบายที่สำคัญ 8 ด้านคือ การสนับสนุนการทำงานทางด้านวิชาการ การจัดการความรู้ เพื่อขับเคลื่อน การลดปัจจัยเสี่ยงระดับนโยบายของมหาวิทยาลัย การพัฒนากลไกจัดการปัจจัยเสี่ยงในมหาวิทยาลัย และชุมชนรอบมหาวิทยาลัยครอบคลุมทั้ง 5 วิทยาเขต การรณรงค์และสื่อสารสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลง มุ่งเน้นการสื่อสารรณรงค์ลดพฤติกรรมเสี่ยงในมหาวิทยาลัย และประชาชนในชุมชนเป้าหมาย การประกาศนโยบายคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่และจัดเขตสูบบุหรี่เป็นการเฉพาะ นำไปสู่การพัฒนามหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่อย่างยั่งยืน การสนับสนุนระบบการขนส่งรถสาธารณะในมหาวิทยาลัยเพื่อลดการใช้รถจักรยานยนต์ และ รถยนต์ ส่วนตัว การปรับสภาพถนนและสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุให้ปลอดภัย การสนับสนุนและส่งเสริมเพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ และการร่วมมือกับองค์กร ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อนำไปสู่การสร้างกลไกให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นต้นแบบการจัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพและ ปัจจัยเสี่ยงสังคม

ด้านนายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า สสส.เห็นความตั้งใจของผู้บริหาร บุคลากร ของมหาวิทยาลัยรวมทั้งบัณฑิตอาสาที่ต้องการดำเนินงานสื่อสารณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในมหาวิทยาลัยและชุมชนรอบ มหาวิทยาลัย จึงให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการโดยเชื่อมั่นว่า  ด้วยบทบาทของการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการและการทำงานรับใช้ชุมชนจะทำให้โครงการนี้เป็นแบบอย่างของ การดำเนินกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่สามารถประเมินผลลัพธ์ของโครงการได้เนื่องจากมีการจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมเสี่ยงภายใน 5 วิทยาเขตและชุมชนเป้าหมายก่อนเข้าไปดำเนินโครงการเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการจัดกิจกรรมสื่อสาร รณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงได้ตรงตามเป้าหมาย หลังจากนั้นจะมีการจัดเก็บขอมูลอีกครั้งก่อนจบโครงการเพื่อเปรียบเทียบว่าผลจากการจัดกิจกรรมต่างๆได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งความรู้ ความคิดและพฤติกรรมของบุคลากรในมหาวิทยาลัยและคนในชุมชนอย่างไร เพื่อที่ในอนาคตหากมหาวิทยาลัยต้องการขยายผลหรือขยายพื้นที่ในการดำเนินงานในวงกว้างมากขึ้นก็จะทำให้ประชาชนชุมชนและสังคมโดยรวมมีสุขภาวะที่ดีขึ้นซึ่ง สสส.ก็ยินดีที่จะสนับสนุนบทบาทเหล่านี้ต่อไปในอนาคต

ขณะที่ รศ.ดร.นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ หัวหน้าโครงการฯกล่าวถึงวัตถุประสงค์ ของโครงการว่าเพื่อศึกษาสถานการณ์ด้านปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพและทางสังคมด้านยาสูบ แอลกอฮอล์ และอุบัติเหตุ ทั้ง ภายใน 5 วิทยาเขตและชุมชนเป้าหมาย นอกจากนั้นยังต้องการให้เกิดการสร้างและพัฒนากลไกการจัดการปัจจัยเสี่ยงทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและชุมชนควบคู่กับการสร้างและพัฒนานักรณรงค์สุขภาวะรุ่นใหม่จากนักศึกษา บุคลากรในมหาวิทยาลัย บัณฑิตอาสา และประชาชนเป้าหมาย ให้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ สื่อสารสร้างการรับรู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนทางความคิดและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และสุดท้ายคือการจัดการความรู้ที่ได้จากการสำรวจ สถานการณ์สุขภาพ การจัดกิจกรรมเพื่อสื่อสาร การถอดบทเรียนและการใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนนโยบายในระดับต่างๆต่อไป   โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 18 เดือน  ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566  ที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2568 งบประมาณรวม  4,994,000 บาทถ้วน

หัวหน้าโครงการฯได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า 3 ประเด็นปัจจัยเสี่ยงที่แต่ละวิทยาเขตเลือกคือ. บุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า วิทยาเขตปัตตานีและวิทยาเขตภูเก็ตจะเป็นผู้ดำเนินการ เรื่องอุบัติเหตุ วิทยาเขตหาดใหญ่และ วิทยาเขตตรัง จะเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนแอลกอฮอล์ วิทยาเขตสุราษฎร์เป็นผู้ดำเนินการ ในขณะที่การเลือก ชุมชนเป้าหมายนั้น วิทยาเขตปัตตานี เลือกตำบลบ้านตรัง อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี วิทยาเขตหาดใหญ่ เลือกเขตเทศบาลเมืองคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา วิทยาเขตตรัง เลือกตำบลควนปริง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง วิทยาเขตภูเก็ต เลือกพื้นที่ชุมชนเขาน้อย ต.กระทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี เลือกตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฏร์ธานี ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละวิทยาเขตได้ลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้วพร้อมกับการวิเคราะห์ วางแผนกำหนดแนวทาง รูปแบบการสื่อสารและณรงค์ต่อไป โดยหลังจากการแถลงข่าวจะมีการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสารและการรณรงค์ให้แก่ อาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 5 วิทยาเขตด้วย  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าข้อมูลที่มีการจัดเก็บสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงในมหาวิทยาลัยและชุมชนมีข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น ด้านบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้านั้นแม้ผู้ตอบส่วนใหญ่จะตอบว่าไม่ได้สูบบุหรี่ แต่มีอยู่ประมาณ 5 %ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าในรูปแบบของพอตที่หน้าตาเหมือนของเล่นและแบบแท้งค์น้ำยา ส่วนใหญ่หาซื้อเอง ส่วนการสูบบุหรี่มวนมีทั้งสูบตั้งแต่ 2-5 มวนต่อวันไปจนถึง 11-20 มวนต่อวัน ด้านอุบัติเหตุนั้นพบข้อมูลที่คล้ายคลึงกันคือผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ไม่สวมหมวกกันน็อค อยู่ระหว่าง 24%-47.1% ส่วนคนซ้อนไม่สวมหมวกกันน็อคอยู่ระหว่าง 17.6%-44.6% สะท้อนว่าการสวมหมวกกันน็อคลดลงเรื่อยๆ ส่วนประเด็นแอลกอฮอล์นั้นพบว่าพฤติกรรมการดื่ม 37.2% จะดื่มที่บ้านตัวเองและที่พัก รองลงมา33.5% ดื่มในงานเลี้ยงและงานเทศกาล

เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าโต้หมอ กัญชาไทยไร้กฎหมายควบคุม แต่กลับแบนบุหรี่ไฟฟ้า ชี้เห็นด้วยกับก้องห้วยไร่ แนะผู้ใช้เคารพสิทธิคนอื่น หนุนรัฐเร่งออกกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า

เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ากลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST) โต้กลับกรณีกรมควบคุมโรคแจงบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงพฤติกรรมเสพติดกัญชา โวยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมควบคุมโรคและกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงเครือข่ายแพทย์ควรรื้อตรรกะใหม่ ยันไทยเป็นประเทศเดียวที่ปล่อยให้กัญชาไร้กฎหมายควบคุม ขายเกลื่อนเมือง แต่กลับแบนบุหรี่ไฟฟ้ายาวนานถึงเก้าปี ชี้เห็นด้วยนักร้องดัง ก้องห้วยไร่ ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าควรเคารพสิทธิผู้อื่น ใช้ให้เป็นที่เป็นทาง แนะรัฐถึงเวลาออกกฎหมายควบคุมแล้ว

หลังกรมควบคุมโรคอ้าง “การสูบบุหรี่ไฟฟ้า” เพิ่มความเสี่ยงต่อการใช้ “กัญชา” สูง 4 เท่า เพจเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “ECST บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร?” ที่มีผู้ติดตามกว่าแสนราย ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวผ่านโพสต์ใจความว่า “บอกบุหรี่ไฟฟ้านำไปสู่สารเสพติดอื่น อ้าว ไปไงมาไง มาคิดถึงกูหล่ะเนี่ย” โดยโพสต์ดังกล่าวมีผู้ถูกใจกว่าสี่ร้อยราย

นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนจากเพจลาขาดควันยาสูบ เปิดเผยว่า “เรื่องของบุหรี่ไฟฟ้ากับกัญชานั้นถูกโยงมาพักใหญ่ ซึ่งเรามองว่าเป็นเรื่องที่สะท้อนความบิดเบี้ยวของตรรกะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงเครือข่ายแพทย์ที่ออกมาโจมตีผู้บริโภคด้วย ไม่มีหรอกครับประเทศไหนที่จะให้กัญชาขายเกลื่อนไร้การควบคุม เปิดหน้าร้านค้าขายกันยิ่งใหญ่ แต่กลับแบนบุหรี่ไฟฟ้ายาวนานเกือบสิบปี”

“จริงๆ หากจะให้ลองคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการใช้กัญชาได้อย่างไร ก็คงต้องย้อนกลับไปเรื่องการแบน พอบุหรี่ไฟฟ้าถูกแบน การซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าเกิดขึ้นผ่านตลาดใต้ดินที่ผิดกฎหมาย ก็ยากที่จะรู้ว่าผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในมือผู้บริโภคตอนนี้มีมาตรฐานอย่างไร ส่วนประกอบมีอะไรบ้าง อย่างที่เคยออกข่าวว่ามีการระบาดของน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าที่มีส่วนผสมของน้ำมันกัญชา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคปอด EVALI” นายมาริษเสริม

“ล่าสุดมีดราม่านักร้องดังขอให้หยุดใช้บุหรี่ไฟฟ้าในคอนเสิร์ต ซึ่งผมเชื่อว่าผู้ใช้ควรให้ความร่วมมือ เคารพสิทธิผู้อื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกเพจของเราช่วยกันรณรงค์อยู่แล้ว แต่พอไม่มีกฎหมายมาควบคุม ผลที่ออกมาเลยเป็นอย่างนี้ ปัจจุบันมีการจัดตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯ เพื่อศึกษาถึงประโยชน์ของการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เราในฐานะตัวแทนผู้บริโภคก็คาดหวังว่าคณะกรรมการวิสามัญฯนี้จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง และวอนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้มองโลกผ่านความเป็นจริงให้มากขึ้น”

นอกจากนี้ นายมาริษยังได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบัน อายุเฉลี่ยของเด็กและเยาวชนที่พบว่าใช้บุหรี่ไฟฟ้านั้นเด็กลงเรื่อยๆ จนแม้กระทั่งเด็กประถมก็ยังถูกพบว่าใช้บุหรี่ไฟฟ้าเถื่อน ซึ่งหาซื้อได้ง่ายผ่านช่องทางที่หลากหลาย จึงเป็นเรื่องที่ทางเครือข่ายฯดำเนินการเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีอำนาจในหน่วยงานสาธารณสุข และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้ามาดำเนินการเพื่อมอบทางเลือกให้แก่ผู้สูบบุหรี่ไทยกว่า 9.9 ล้านคน รวมถึงคนในสังคมที่ได้รับผลกระทบจากบุหรี่ไฟฟ้าที่ไร้ซึ่งการควบคุมของรัฐ

ทางเลือกสำหรับการ 'เลิกบุหรี่' หนึ่งในแชมป์ปณิธานปีใหม่ยอดฮิตยาวนานกว่าทศวรรษ โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วีระพล จันทร์ดียิ่ง

ในทุกๆต้นปี สิ่งที่เรียกว่า “ปณิธานปีใหม่ (New Year Resolution)” มักจะวนกลับมาเพื่อสะท้อนถึงเป้าหมายการพัฒนาตนเองในสิบสองเดือนข้างหน้า จากการสำรวจโดยนิตยสารสุขภาพระดับโลกอย่าง Forbes Health ชี้ว่า ผู้คนกว่าร้อยละ 12 กล่าวว่าการเลิกบุหรี่เป็นปณิธานปีใหม่ที่ต้องการบรรลุให้ได้ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 7 รองจากเป้าหมายด้านสุขภาพ การเงิน สุขภาพจิต และอาหารการกิน

การเลิกบุหรี่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ด้านสุขภาพได้มากมาย เช่น ระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) ลดลงได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากหยุดบุหรี่ ซึ่งคาร์บอนมอนอกไซด์ทำให้การนำส่งออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะในร่างกายลดลง ทำให้เกิดการปวดหัว มึนงง หัวใจทำงานหนัก การหยุดบุหรี่ช่วยให้ระดับออกซิเจน (Oxygen) ในเลือดสามารถกลับมาอยู่ในระดับปกติได้ อีกทั้งการเลิกบุหรี่ได้ภายใน 2 เดือน ช่วยให้ความดันโลหิตลดลงและการทำงานของปอดดีขึ้นอีกด้วย

ในปัจจุบัน นวัตกรรมได้เข้ามามีบทบาทสำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ นอกเหนือไปจากการเลิกบุหรี่แบบหักดิบแล้ว ก็ยังมียาสำหรับช่วยเลิกบุหรี่ รวมถึงนิโคตินทดแทนในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อช่วยให้ผู้สูบบุหรี่บรรลุเป้าหมายได้ดีขึ้น

ในส่วนของการใช้ยาสำหรับช่วยเลิกบุหรี่ ในปัจจุบัน ตัวยาที่มีประสิทธิภาพ และได้การรับรองให้ใช้ได้อย่างปลอดภัยแล้ว ได้แก่ ยา Varenicline Cytisine และ Bupropion

นอกจากนี้ ปัจจุบัน ตัวเลือกสำหรับนิโคตินทดแทนก็มีหลากหลายกว่าสมัยก่อนมาก ไม่เพียงแต่ในรูปแบบของแผ่นแปะ หมากฝรั่ง ลูกอม ยาเม็ด หรือนิโคตินแบบสูดดม แต่ยังมีนิโคตินทดแทนในรูปแบบของบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งล่าสุด ผลการศึกษา Systematic Review โดย Cochrane ชี้ให้เห็นว่า บุหรี่ไฟฟ้า ยา Varenicline และ ยา Cytisine เป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพ แม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์ด้านพฤติกรรมให้แก่ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ แต่ยังมีข้อถกเถียงเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าว่าผู้ที่เลิกบุหรี่ด้วยบุหรี่ไฟฟ้าจะสามารถเลิกบุหรี่ไฟฟ้าได้ด้วยหรือไม่ และยังไม่มีการศึกษาผลต่อสุขภาพในระยะยาว ดังนั้น ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ควรศึกษาข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ หรือปรึกษาแพทย์ เภสัชกรหากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม

แม้ทุกคนจะทราบดีว่าการเลิกบุหรี่นั้นก่อให้เกิดประโยชน์ ทว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเลิกบุหรี่ได้ หรือแม้แต่คิดที่จะเลิก ดังนั้น การมอบทางเลือกที่หลากหลายให้แก่ผู้สูบบุหรี่จึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยปลดล็อคอัตราการสูบบุหรี่ของไทยให้ลดลงและพิชิตเป้าหมายด้านสาธารณสุขได้สำเร็จ
Source:
• Why should stopping smoking be your New Year’s resolution for 2023? - Roy Castle Lung Cancer Foundation
• Top New Year’s Resolutions For 2024 – Forbes Health
• ไทยทำสำเร็จ! 'องค์การเภสัชกรรม' พัฒนายาเม็ดเลิกบุหรี่ 'ไซทิซิน' เริ่มผลิตปีหน้า (mgronline.com)
https://www.cochranelibrary.com/cdsr/doi/10.1002/14651858.CD015226.pub2/full

สมาคมค้ายาสูบ เผย บุหรี่เถื่อนทะลัก ทำท้องถิ่นรายได้วูบกว่า 2.4 พันล้าน

(28 ต.ค. 67) ธัญญศรัณ แสงทอง ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมการค้ายาสูบไทย เปิดเผยว่า จากกรณีกรมสรรพสามิตรายงานผลการปราบปรามยาสูบผิดกฎหมายปีงบประมาณ 2567 ซึ่งจับกุมได้ 13,170 คดี หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 60% จากปีก่อนหน้า คิดเป็นค่าปรับ 361.73 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 2,334.40 ล้านบาท จำนวนของกลางแบ่งเป็นยาสูบในประเทศ 301,961 ซอง และยาสูบต่างประเทศ 2,579,434  ซอง นั้น

“ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าบุหรี่เถื่อนยังเป็นปัญหาที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนครั้งการจับกุม จำนวนมวนและมูลค่าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจ สังคม ในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ จึงขอเสนอให้รัฐบาลช่วยยกระดับการแก้ปัญหาให้เป็นวาระระดับชาติ”

ขณะที่ บุหรี่เถื่อนส่วนใหญ่ลักลอบมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งทางบกและทางทะเล หวังหลีกเลี่ยงภาษี และนำมาขายในประเทศในราคาที่ถูกกว่าบุหรี่ถูกกฎหมายแบบหลายเท่าตัว คนก็ยิ่งเข้าถึงง่าย ส่งผลให้มาตรการควบคุมบุหรี่ที่ต้องการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ใช้ไม่ได้ผล

นอกจากนี้ ร้านค้าที่ขายบุหรี่ถูกกฎหมายในประเทศกว่า 5 แสนรายยังได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้ โดยเฉพาะร้านค้าในภาคใต้ที่รายได้ต่อวันจากการขายสินค้าลดลงเฉลี่ย 700-1,400 บาท เนื่องจากลูกค้าหันไปซื้อบุหรี่เถื่อนซึ่งมีราคาถูกกว่าจากร้านค้าที่ผิดกฎหมายแทน

ด้าน ธัญญศรัณ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “บุหรี่เถื่อนยังส่งผลกระทบต่อรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ขาดหายไป เพราะบุหรี่ทุกๆ 1 ซองต้องเสียภาษีเพื่อมหาดไทยในอัตรา 10% จากภาษีสรรพสามิต หรือประมาณซองละ 4 บาท (ราคาบุหรี่ซองละ 75 บาท) และบุหรี่ถูกกฎหมายที่ขายในต่างจังหวัดต้องเสียภาษีอบจ. เพิ่มอีก 1.86 บาทต่อซอง ซึ่งในแต่ละปีภาษี 2 ก้อนนี้หายไปกว่า 2,400 ล้านบาทจากการเติบโตของบุหรี่เถื่อน”
.
ข้อมูลจากอุตสาหกรรมยาสูบเผยว่าเมื่อสิ้นปี 2566 บุหรี่เถื่อนมีสัดส่วนถึง 25.5% เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดโดยจังหวัดที่พบบุหรี่เถื่อนมากที่สุดยังคงเป็น จ. สงขลา 90% สตูล 88% พัทลุง 75% และภูเก็ต 74%

ข้อมูลการจัดเก็บรายได้ภาษี อบจ. ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 – 2566 โดยสำนักป้องกันบุหรี่ผิดกฎหมาย การยาสูบแห่งประเทศไทย พบว่า รายได้จากการเก็บภาษี อบจ. ทั้งบุหรี่ไทยและบุหรี่ต่างประเทศ ใน 14 จังหวัดภาคใต้ มีจำนวน 670 ล้านบาท คิดเป็น 7.9 % ของรายได้จากการเก็บภาษี อบจ. ทั้งประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อแยกเป็นรายปี พบว่าแนวโน้มการจัดเก็บภาษีบุหรี่ อบจ. ลดลงทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ จากที่จัดเก็บได้ราว 50 ล้านบาท ในปี 2563 มีอยู่ไม่ถึง 10 ล้านบาท ในปี 2566 ทั้งนี้ หากยังไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง คาดว่าปีต่อๆ ไป รายได้จากการจัดเก็บภาษี อบจ. ในพื้นที่ภาคใต้จะลดลงเรื่อยๆ ทำให้ไม่เหลือเพียงพอสำหรับนำไปพัฒนาท้องถิ่นและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

ด้าน สุธรรม สุริโย สรรพสามิตพื้นที่ภูเก็ต กล่าวว่า ในฐานะผู้บริหารของหน่วยงานในพื้นที่ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรง ได้นำนโยบายของกรมสรรพสามิตด้านการปราบปรามให้ตรงกลุ่มและด้านการปกป้องสังคมมาปฏิบัติ มีการบูรณาการการปฏิบัติงานกับกรมสรรพสามิต สำนักงานสรรพสามิตภาคที่ 8 กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการปกครอง ในด้านข้อมูลข่าวสาร มีการพบปะหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับการยาสูบแห่งประเทศไทยและสื่อมวลชนท้องถิ่น รวมถึงได้มีการติดตามเร่งรัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามเพื่อให้มีการปราบปรามบุหรี่เถื่อนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ปัจจุบันพบว่า ผู้กระทำผิดมีจำนวนลดลง อย่างไรก็ตาม สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ภูเก็ต ได้เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานโดยการสืบหาผู้กระทำผิดที่มีการลักลอบขายออนไลน์ มีการประสานงานด้านข้อมูลข่าวสารกับการไปรษณีย์ไทยและบริษัทขนส่งเอกชน เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการขายยาสูบที่ชอบด้วยกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ โสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่พบบุหรี่เถื่อนมากเป็นอันดับ 4 ในภาคใต้ได้เคยระบุในระหว่างการแถลงข่าวจับกุมบุหรี่เถื่อนในปฏิบัติการสิงห์ทมิฬของกรมการปกครองเมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่า จังหวัดภูเก็ตมุ่งมั่นดำเนินการจัดระเบียบสังคมอย่างจริงจัง พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ดำเนินการ Re X-Ray อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายทุกประเภทในพื้นที่ พร้อมขอบคุณประชาชนที่ช่วยเป็นหูเป็นตาให้ทางราชการ เพราะสิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในการช่วยสอดส่องดูแลคนในชุมชน ในส่วนของผู้กระทำความผิดนั้นทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด จึงขอประชาสัมพันธ์หากพบเบาะแสการกระทำความผิด หรือการสร้างความเดือดร้อนต่อสังคมส่วนรวม ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง  


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top