Monday, 21 April 2025
บริหารจัดการน้ำ

'บิ๊กป้อม' สั่งเยียวยาด่วน ชาวบ้านประสบปัญหาน้ำท่วมขัง พร้อมผันน้ำสำรองเก็บใช้ฤดูแล้งคราวเดียวกัน

(10 ต.ค. 65) พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 3/65 ผ่านระบบ VTC ณ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ เพื่อติดตามสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำ รับกับอุทกภัย และความเดือดร้อนของประชาชนที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมทั้งเตรียมการรองรับฤดูแล้งในคราวเดียวกัน

โดยรับทราบ สถานการณ์น้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ จากปริมาณน้ำสะสมที่มีมาก ส่งผลลำน้ำสายหลักเอ่อล้น โดยเฉพาะ ลุ่มเจ้าพระยา แม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ที่ต้องเร่งให้การช่วยเหลือระบายน้ำและผันน้ำเข้าเก็บพื้นที่แก้มลิง เพื่อรับปัญหาฤดูแล้งในคราวเดียวกัน โดยภาพรวม มีแหล่งน้ำที่ต้องเฝ้าระวังจำนวน 765 แห่ง ที่มีน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุ พร้อมทั้งรับทราบ การดำเนินงานของศูนย์ส่วนหน้าเพื่อบริหารจัดการน้ำภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยขอให้กรมชลประทาน ตรวจสอบความเสียหายพนังกั้นน้ำพื้นที่ท้ายอ่างให้มีความมั่นคงปลอดภัย เพื่อใช้บริหารจัดการน้ำได้เต็มศักยภาพ

'บิ๊กป้อม' รับทราบผล 13 มาตการรับมือฤดูฝน 65 พร้อมเห็นชอบ 10 มาตรการตั้งรับฤดูแล้ง ปี 65/66

(19 ต.ค. 65) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 3/2565 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

ที่ประชุมได้รับทราบ รายงานสถานการณ์อุทกภัยตั้งแต่ 1 ม.ค. - 6 ต.ค. 65 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 66 จังหวัด ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 32 จังหวัด ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก 

และรับทราบผลการดำเนินงาน 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ที่สำคัญ ทุกหน่วยงานได้จัดกำลังคนและเครื่องจักรกล จำนวน 21,428 หน่วยงาน และจัดตั้งศูนย์บริการจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 2 แห่ง ได้แก่ จ.อุบลราชธานี และ จ.ชัยนาท รวมถึงพื้นที่ภาคใต้ หากเกิดสถานการณ์รุนแรง ซึ่งจะสามารถบริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จากการคาดการณ์ จะมีปริมาตรน้ำทั้งประเทศ จำนวน 53,843 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าปี 64 ถึง 1,941 ล้าน ลบ.ม. ก็ตาม

‘บิ๊กป้อม’ สั่งเพิ่มพื้นที่แก้มลิงแก้ปัญหาน้ำท่วม กำชับรับมือน้ำท่วมภาคใต้ พร้อมเร่งเยียวยา ปชช.

พล.อ.ประวิตร เร่งฟื้นฟู เยียวยา พื้นที่ภาคอีสาน/ภาคกลาง หลังน้ำลดพร้อมถอดบทเรียน  สั่งระบายน้ำออกจากทุ่งเพิ่มแก้มลิง แก้ปัญหาเร่งด่วนลุ่มเจ้าพระยา ย้ำเฝ้าระวัง พื้นที่เสี่ยงฤดูฝนภาคใต้ทุกแห่ง 

(1 ธ.ค. 65) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 4/2565 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ที่ประชุมได้รับทราบ ผลการดำเนินงานตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 ซึ่งภาพรวมมีความคืบหน้าตามแผนงานด้วยดี สามารถแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้เป็นพื้นที่บริเวณกว้าง และขณะนี้ทุกภาคของประเทศไทยได้สิ้นสุดฤดูฝน ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด (สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, พัทลุง, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส) และรับทราบความก้าวหน้า 10 มาตรการ รองรับฤดูแล้ง ปี2565 /2566 ซึ่งยังคงดำเนินการ อย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ตามแผนงานของ สทนช. รวมถึงรับทราบ สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้และแนวทางการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนบางลาง ปี 2565 เพื่อลดผลกระทบที่มักจะเกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าสู่บ้านเรือนประชาชน และพืชสวนการเกษตร 

‘บิ๊กป้อม’ ลุย ‘นครปฐม-ราชบุรี’ ติดตามแก้ปัญหาน้ำ ชาวบ้านแห่ต้อนรับ-ขอบคุณ เชียร์ให้เป็นนายกฯ

(1 ก.พ. 66) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.กอนช. พร้อม รมช.คลัง และคณะ ได้เดินทางปฏิบัติราชการ ลงพื้นที่ จ.นครปฐม และจ.ราชบุรี เพื่อติดตามการดำเนินงานแก้ไขปัญหาน้ำ ในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัด

เมื่อเวลา 10.00 น. พล.อ.ประวิตร และคณะ เดินทางถึง ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการฯ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ภาคกลางเขต 3 ต.ไทยาวาส อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เพื่อร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มี นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผวจ.นครปฐม ให้การต้อนรับ โดยรับฟังการบรรยายสรุป ภาพรวมสถานการณ์น้ำและการแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่ จาก จังหวัด สทนช. กรมชลประทาน กรมโยธาธิการฯ และ ปภ. 

ทั้งนี้ จ.นครปฐม มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตลุ่มน้ำท่าจีน ปัญหาน้ำท่วมยังเป็นปัญหาหลัก เนื่องจากมีระบบระบายน้ำในชุมชน ไม่เพียงพอ รวมทั้งมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ การบุกรุกลำน้ำ ในพื้นที่หลายอำเภอ ซึ่งรัฐบาลได้มีการสนับสนุนงบประมาณโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาตั้งแต่ปี 61-65 โดยมีพื้นที่ได้รับการป้องกัน 14,732 ไร่ พื้นที่ได้รับประโยชน์ 29,679 ไร่ (80,192 ครอบครัว) และแผนงานโครงการสำคัญ ซึ่งจะได้รับประโยชน์อีก 922,206 ไร่

‘บิ๊กป้อม’ พอใจ การพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนในอีสานคืบหน้า พร้อมสั่งทุกหน่วยงานเข้ม 10 มาตรการจัดการน้ำ รับมือฤดูแล้ง

(2 ก.พ. 66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางลงพื้นที่ภาคอีสาน จ.ยโสธร และ จ.มุกดาหาร ตรวจติดตามความคืบหน้าการบริหารจัดการน้ำและการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน เพื่อการเกษตร และพบปะรับฟังปัญหาจากประชาชนในพื้นที่ โดยมี ผวจ.ยโสธร และ ผวจ.มุกดาหาร เลขา สทนช. และหน.ส่วนราชการต่าง ๆ ให้การต้อนรับ

ภาพรวมสภาพปัญหาการขาดแคลนน้ำยังเกิดขึ้น ในบางพื้นที่ที่ฝนทิ้งช่วง ความคืบหน้าการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 61-65 จว.ยโสธร มีพื้นที่รับประโยชน์เพิ่ม 61,103 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 33,053 ครัวเรือน สามารถจุน้ำเพิ่ม 37 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ได้รับการป้องกันกว่า 2,500 ไร่ 

สำหรับ จว.มุกดาหาร มีพื้นที่รับประโยชน์เพิ่ม 51,290 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 25,089 ครัวเรือน สามารถจุน้ำเพิ่ม 11.5 ล้าน ลบ.ม. และสามารถนำน้ำบาดาลมาใช้เพิ่มเกือบ 10 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี โดยดำเนินทั้งการก่อสร้างแหล่งน้ำ ระบบส่งน้ำ การเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำ และระบบป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ ต่อจากนั้นได้ลงตรวจความคืบหน้าการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยลิงโจน บ.หนองบึง ต.ห้องแซง อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร และพบปะรับฟังปัญหาจากประชาชนในพื้นที่

‘นายกฯ’ สั่ง ‘สทนช.’ ทำแผนบริหารจัดการน้ำ 3 ปี จ่อชงครม.ภายในเดือนนี้ ยัน!! ไม่ซ้ำรอยน้ำท่วมปี 54

(5 ส.ค. 67) ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ชั้น 3 อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน และคณะผู้บริหาร จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

เมื่อมาถึงนายกฯ รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ จากอธิบดีกรมชลประทาน โดยภาพรวมสถานการณ์ฝนในปีนี้ ณ ขณะนี้อยู่ที่ 56% ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วในช่วงเดียวกันที่ 4% ขณะที่นายกฯ กำชับให้ทางกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง และคาดการณ์ว่าจะเกิดน้ำท่วมให้ดูแลลงรายละเอียดเป็นรายอำเภอ 

นอกจากนี้อธิบดีกรมชลประทาน ยังรายงานถึงสถานการณ์ที่เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก มีการระบายน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1-5 ส.ค.ในระดับคงที่ แต่เนื่องจากมีฝนตกลงมาท้ายเขื่อนจำนวนมาก จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม แต่ขณะนี้ได้ปิดการระบายน้ำที่เขื่อนขุนด่านปราการชลแล้ว

ภายหลังการรับฟังบรรยายสรุป นายกฯ ได้กำชับนายอนุทินว่า อยากฝากเรื่องของแม่น้ำโก-ลก จ.นราธิวาส หลังจากลงพื้นที่ร่วมกับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ บิน อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พบว่าจำเป็นจะต้องมีการขุดลอกคลองเพื่อไม่ให้คลองตื้นเขินและระบายน้ำได้เร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังพอมีเวลาอยู่ เนื่องจากฤดูฝนของภาคใต้จะมาช้ากว่าภาคอื่น ๆ ประมาณ พ.ย. 

ขณะที่นายอนุทิน รายงานว่า เรื่องนี้มีแผนและอยู่ในแนวของผังเมือง ซึ่งกรมโยธาธิการจะประสานไปทางมาเลเซีย ทั้งนี้นายกฯ ยังได้เน้นย้ำ และกำชับอีกว่า ให้ดำเนินการโดยเร็วแม้ฝนจะมาช้าก็ตาม จะต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนฝนจะมา เพราะทางมาเลเซียเดือดร้อน เนื่องจากมีพื้นที่ต่ำกว่าประเทศไทย แต่ฝ่ายเราก็เดือดร้อนด้วยเช่นกัน อย่างปีที่แล้วก็เกิดปัญหาน้ำท่วมที่ จ.นราธิวาส หากดำเนินการตรงนี้ได้ก็จะบรรเทาความเดือดร้อนลงไปได้

จากนั้นนายกฯ เป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ พร้อมมอบนโยบายว่า เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วปัญหาเรื่องน้ำเราเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยต้องเผชิญทุกปี ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง และน้ำไม่ได้คุณภาพ ซึ่งตนมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหานี้โดยเร่งด่วน เพราะส่งผลต่อความเสียหายอย่างหาค่ามิได้ต่อประชาชนคนไทยทุกคน ตนได้มอบหมายให้กระทรวงและหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องน้ำบูรณาการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะทำแผนงานและโครงการที่สามารถเร่งรัดดำเนินการในระยะเวลา 3 ปี และตลอดจนการพิจารณาโครงการสำคัญระยะยาว เพื่อให้น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ขอเน้นการเสริมประสิทธิภาพของโครงการที่มีอยู่เดิมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ก่อนพิจารณาก่อสร้างโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำ และระบบการกระจายน้ำเพิ่มเติมเพื่อการใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นไปได้อย่างเหมาะสม โดยในช่วงฤดูฝนนี้ตนมอบหมายให้กรมชลประทานและสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA นำเสนอพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากและแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

จากนั้น เวลา 10.08 น. นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ ว่า ปัญหาเรื่องน้ำเป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศไทยที่จะต้องแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นภายในรัฐบาลนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำ น้ำดื่ม น้ำใช้น้ำบริโภค ตนได้มอบหมายให้หน่วยงานเรื่องน้ำเร่งทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดทำแผนงานด้านน้ำระยะ 3 ปี และแผนงานสำคัญระยะยาวเพื่อให้ “น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำ” อย่างยั่งยืน 

ซึ่งตนเน้นย้ำให้ปรับปรุงโครงการที่มีอยู่เดิมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ตลอดจนก่อสร้างโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติม โดยพิจารณาถึงความเร่งด่วนและความเหมาะสมในการใช้จ่ายงบประมาณเป็นสำคัญ โดยที่ประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำได้พิจารณาและเห็นชอบแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำกินน้ำใช้ ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ตลอดจนภัยพิบัติด้านน้ำอื่น ๆ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประชาชน 6.22 ล้านครัวเรือน มีพื้นที่รับประโยชน์ 24.19 ล้านไร่ โดยประกอบด้วยแผนงาน 5 ด้าน ดังนี้ 1.การเพิ่มน้ำอุปโภคบริโภค 2.การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิมและพัฒนาระบบกระจายน้ำ 3.การพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน 4.การพัฒนาพื้นที่น้ำท่วมและป้องกันพื้นที่ชุมชนเมือง และ 5.การพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำ

นายกฯ กล่าวต่อว่า ตนและรัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้กับพี่น้องประชาชน โดยตนได้สั่งการให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งจัดทำแผนงานด้านน้ำและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาภายในเดือนส.ค.นี้ และตนได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานบริหารจัดการน้ำ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชน เน้นการสื่อสารและแจ้งเตือนล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)  หรือ GISTDA ประเมินภาพถ่ายในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากร่วมกับกรมชลประทาน และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ สทนช. ร่วมกัน ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ บริหารจัดการและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชน เพื่อให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนน้อยที่สุด

เมื่อถามว่าแผนระยะ 3 ปี ใช้งบประมาณเท่าไหร่ นายกฯ กล่าวว่า ขอให้คอยถึงสิ้นเดือนส.ค.ดีกว่า ให้สทนช. เตรียมเรื่องให้ครบก่อนวันนี้เป็นวันคลิกออฟ แล้วสิ้นเดือนส.ค.จะมีการแถลงใหญ่

เมื่อถามต่อว่ามีพื้นที่ไหนที่น่าเป็นห่วงเป็นพิเศษ นายกฯ กล่าวว่า เท่าที่ดูรายงานก็มีภาคตะวันออก ที่กำลังประสบปัญหาอยู่และภาคอีสานบางจุด ก็มีการสั่งการแล้วว่าให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ให้มีการปรับแผนตลอดเวลา ควบคู่ไปกับการรายงานผลของ GISTDA 

เมื่อถามอีกว่ามีการแจ้งเตือนประชาชนได้มีการพัฒนาอย่างไรบ้าง  นายกฯ กล่าวว่า ให้ GISTDA  ทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทานและกระทรวงมหาดไทย 

เมื่อถามต่อว่านายกฯเป็นห่วงและเน้นย้ำอะไรเป็นพิเศษหรือไม่  นายกฯ กล่าวต่อว่า ตนเรียนอย่างนี้อาชีพกษตรเป็นอาชีพหลักของเราหลาย 10 ล้านคน เรื่องของน้ำดื่มน้ำใช้ พวกเราในกรุงเทพฯมีน้ำใช้กันอย่างเต็มที่ แต่ถ้าลงไปต่างจังหวัดมีอีกหลายพื้นที่ที่น้ำใช้อุปโภคและบริโภคยังไม่มี และทุกปีเราใช้งบประมาณในการชดเชย เรื่องการช่วยเหลือจุนเจือเป็นปลายเหตุ ถ้าเราบริหารจัดการไม่ให้มีน้ำท่วมน้ำแล้ง ตนเชื่อว่าความเดือดร้อนของประชาชนจะหายไปเยอะ รวมถึงผลกระทบในเชิงบวกที่จะก่อให้เกิดผลผลิตทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเราเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหารสูง การที่เมืองโลกร้อนระอุ มีเรื่องการแย่งอาหารเยอะมาก จะทำให้ประเทศไทยมีจุดเด่นทางด้านนี้มาก เรื่องน้ำมีอยู่ 3-4 เรื่อง คือ น้ำในระบบนิเวศ น้ำอุปโภคบริโภคและน้ำที่ใช้ในการเกษตร และเรื่องสุดท้ายพูดกันน้อย คือ น้ำที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ต้องการน้ำเยอะ การที่เราไปเชิญต่างชาติให้เขามาลงทุน และให้มาตรการด้านภาษีสนับสนุน เขามาแล้วน้ำขาดก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้เราต้องบูรณาการครบทุกภาคส่วน ผู้บริหารทุกท่านเห็นพ้องต้องการ ถ้าเราบริหารจัดการน้ำได้ดีประเทศไทยก็เดินไปข้างหน้าได้

เมื่อถามย้ำว่ามั่นใจการบริหารจัดการน้ำจะไม่ซ้ำรอยน้ำท่วมปี 2554 ใช่หรือไม่ นายกฯ ยิ้มก่อนกล่าวว่า "ครับ"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top