กองทัพเรือ แถลงจัดตั้ง "ศูนย์อำนวยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน กองทัพเรือ "เร่งขจัดคราบน้ำมันที่รั่วไหลในทะเลระยอง คาดสถานการณ์คลี่คลาย ใน 5 วัน หากถึงหาดแม่รำพึง ก็มีแผนรับมือได้
ที่ห้องโพธิ์สามต้น หอประชุมกองทัพเรือ พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ พร้อมนางสาวพรพิมล เจริญส่ง ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ นายพิทักษ์ วัฒนพงศ์พิศาล ผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ กรมเจ้าท่า และ ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกันแถลงข่าวจัดตั้ง ศูนย์อำนวยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน กองทัพเรือ (ศอปน.ทร.) เพื่อเร่งขจัดคราบน้ำมันที่รั่วไหลในทะเลระยอง
พล.ร.ท.ปกครอง กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน กองทัพเรือ (ศอปน.ทร.) จะมีหน้าที่ในการอำนวยการกำกับการ และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกันก็สั่งการให้ทัพเรือภาคที่ 1 จัดตั้ง "ศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการในการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ทัพเรือภาคที่ 1 " (ศคปน.ทรภ.1) หรือ On Scene Commander เพื่อทำหน้าที่กำหนดแผน และยุทธวิธีในการขจัดคราบน้ำมัน ปฏิบัติการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันที่เกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบ ตลอดจนอำนวยการประสานกับส่วนราชการ และหน่วยงานภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด
ด้าน พล.ร.ต. วิฉณุ ถูปาอ่าง ผู้อำนวยการสำนักกิจการความมั่นคง กรมยุทธการทหารเรือ เปิดเผยถึงการดำเนินการต่อไป สำหรับการดำเนินการต่อไปได้วางแผนการขจัดคราบน้ำมันในทะเล โดยแบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ การขจัดกลุ่มคราบน้ำมันขนาดใหญ่ ดำเนินการโดยใช้ทุ่นลอบกัก แล้วใช้เครื่องดูดหรือ Skimmer ดูดคราบน้ำมันซึ่งถือว่าเป็นสารพิษอันตราย จากทะเลสู่ถังเก็บ แล้วนำส่งกรมอุตสาหกรรมเพื่อทำการทำลายต่อไป
สำหรับในส่วนของการขจัดกลุ่มคราบน้ำมันที่มีทิศทางการเคลื่อนที่ที่เป็นอันตรายต่อชายฝั่งและพื้นที่เปราะบาง ดำเนินการโดยใช้ทุ่นล้อมเบี่ยงทิศการเคลื่อนที่ให้ออกห่างจุดเปราะบางไปสู่ทะเลเปิด แล้วทำการล้อมดักและดูดไปทำลายตามกระบวนการต่อไป
สำหรับแผนการขจัดคราบน้ำมันบริเวณชายฝั่ง ได้จัดแผนการดำเนินการแบ่งเป็น 2 ลักษณะ โดยแยกเป็นพื้นที่ชายฝั่งในทะเล ได้ประสานกับทางจังหวัด ในการใช้ทุ่นล้อมกันขึ้นฝั่ง ไม่ให้คราบน้ำมันขึ้นสู่ชายฝั่งซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก พื้นที่ชายฝั่งบนบก บริเวณที่เป็นหินจะใช้การฉีดน้ำให้คราบน้ำมันรวมตัวกัน แล้วตักเก็บไปทำลายบริเวณที่เป็นหาดทรายจะใช้รถแบ็คโฮลตักคราบน้ำมันที่ปะปนกับทรายแล้วนำไปทำลาย ทั้งนี้การปฏิบัติของ เจ้าหน้าที่จะต้องสวมชุดป้องกันและสามารถปฏิบัติงานได้เพียง 4 ชั่วโมง ต่อวันเท่านั้น เนื่องจากสารพิษจะเป็นอันตรายต่อร่างกายของผู้ปฏิบัติงาน
นายพิทักษ์ กล่าวว่า เราได้ระงับการรั่วไหล ปิดวาล์วได้หมด พร้อมเฝ้าระวัง มลพิษ ที่ค่อนข้างมีปริมาณมาก จึงยกระดับให้กองทัพเรือ เป็นหน่วยบัญชาการเหตุการณ์ เร่งด่วน คือ การเฝ้าระวังการเคลื่อนไหว ดูทิศทางการเคลื่อนที่ และคลื่นลม ว่าจะไปทางใด และปริมาณ ที่ลงทะเล แพร่กระจายมากน้อยแค่ไหน
ด้านนางสาวพรพิมล เปิดเผย ถึงแนวทางของกรมควบคุมมลพิษ คือ 1 ตรวจสอบค่าน้ำทะเล 2 ให้อนุญาต สำหรับปริมาณการใช้สารขจัดคราบน้ำมัน โดยสารดิสเพอร์แซนท์ โดยครั้งนี้ใช้ใน อัตรา 1:10 และ 3 จัดทำแผนฟื้นฟู
ดร.พรศรี เปิดเผยถึงความกังวล ของคราบน้ำมัน ที่จะส่งผลทรัพยากรใต้ทะเล ที่มี แนวปาการัง 150 ไร่ และย่าทะเล 300 ไร่ พร้อมยืนยันว่า จะมีการเรียกร้องค่าเสียหาย ที่เกิดขึ้น ทั้งการดำเนินการ และทรัพยากร ที่เสียหาย และในระยยาว จะมีการตั้งกองทุนฟื้นฟู ทรัพยากร
เมื่อถามว่า ส่วนตัวเลขการรั่วไหลน้ำมับดิบ ที่บริษัทแจ้งว่า กว่า 4 แสนลิตร และรมต.ทรัพย์ ระบุเพียง 2 หมื่นลิตร ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นายพิทักษ์ ระบุว่า เป็นหารประเมินการณ์ ว่า 4 แสนลิตร เพื่อจัดเตรียมอุปกรณ์ รับมือสถานการณ์ ขณะที่พลเรือตรี วิษณุ ระบุ วิศวกร ของบริษัท แจ้งล่าสุด มีน้ำมั่น 20-50 ตัน ต่างจากครั้งแรก ที่แจ้งไว้ และระบุ ยังมีน้ำมัน คงเหลือ 5.3 ตัน ขณะที่โฆษกกองทัพเรือ ระบุว่า ดูสภาพจริง ลดลงเยอะ เบา กว่าที่เราคาดการณ์ไว้ แต่ยังไม่รู้ตัวเลขแน่ชัด แต่จากใช้เครื่องบิน บินสำรวจ ลากตระเวนด้วยสายตา คาดว่า ตัวเลข 2 หมื่นลิตร น่าจะใกล้เคียงกับข้อเท็จจริง
“พล.ร.ท.ปกครอง กล่าวเสริม ว่า ทั้งนี้ยืนยันว่า ทางบริษัท คงไม่มีเจตนาปกปิดปริมาณน้ำมันที่รั่วไหล เพราะยิ่งปิด จะยิ่งสร้างความเสียหาย ขอให้มั่นใจ จากกองทัพเรือ
