Wednesday, 23 April 2025
น้ำท่วมเชียงราย

'พล.ต.อ.กิตติ์รัฐฯ' ลงพื้นที่ จ.เชียงราย ตรวจเยี่ยมตำรวจและประชาชนในพื้นที่อุทกภัย พร้อมกำชับดูแลความปลอดภัยพี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลัง ป้องกันคนร้ายฉวยโอกาสก่อเหตุซ้ำเติม

(15 ก.ย.67) พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เดินทางลงพื้นที่ จ.เชียงราย เพื่อตรวจเยี่ยมการปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัย โดยได้ประชุมติดตามสถานการณ์และมาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และตรวจสอบสถานีตำรวจและข้าราชการตำรวจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าว ที่ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย (ภ.จว.เชียงราย) โดยมี พล.ต.ต.พิเชษฐ จีระนันตสิน รอง ผบช.ภ.5 , พล.ต.ต.มานพ เสนากูล ผบก.ภ.จว.เชียงราย พร้อมด้วยตำรวจน้ำ ตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจในพื้นที่ และโรงพยาบาลดารารัศมี (โรงพยาบาลในสังกัดโรงพยาบาลตำรวจ) ร่วมประชุม 

ที่ประชุมรายงานสถานการณ์อุทกภัยใน จ.เชียงราย มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 9 อำเภอ ได้รับผลกระทบรุนแรงใน 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง และ อ.แม่สาย ซึ่ง ผบช.ภ.5 ได้สั่งการขับเคลื่อนการช่วยเหลือดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ ตั้งแต่เกิดเหตุตลอดจนถึงช่วงการฟื้นฟูหลังน้ำลด โดยได้มีการตั้งศูนย์ประสานงานร่วม ในการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุส่วนหน้า ตั้ง ศปก.สภ.ส่วนหน้า มีการตั้งรถครัวสนามของ ภ.5 ประกอบอาหารแจกจ่ายผู้ประสบอุทกภัย รวมทั้งเป็นจุดรับบริจาคและกระจายสิ่งของให้กับประชาชน ในส่วนของการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม มีการปรับสายตรวจให้เหมาะสมกับสถานการณ์ จัดชุดสืบสวนควบคู่การทำงานกับชุดสายตรวจ มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดพลังงานโซลาร์เซลล์ให้ครบทุกจุดในพื้นที่เพื่อป้องกันเหตุ และบูรณาการในการดูแลอำนวยความสะดวกเรื่องการจราจร ทั้งการดูแลช่วงเกิดอุทกภัย และร่วมพัฒนาฟื้นฟูทำความสะอาดหลังน้ำลดด้วย ในส่วนของสถานที่ราชการของตำรวจ จากการสำรวจเบื้องต้นพบความเสียหายของสถานที่ในบางส่วนที่ถูกน้ำท่วม มีความเสียหายทางราชการประมาณ 3 ล้านบาท และพบมีข้าราชการตำรวจในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน มีบ้านพักอยู่ในพื้นที่อุทกภัย จำนวน 366 ราย

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐฯ กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อมาให้กำลังใจ มอบเงินช่วยเหลือข้าราชการตำรวจและครอบครัว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น และมารับฟังสถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดใน จ.เชียงราย มาแนะนำวิธีการปฏิบัติในการช่วยเหลือ ดูแลความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อจะได้ประเมินผลเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ประสบอุทกภัยอื่นๆ ต่อไป โดยในเรื่องการป้องกันปราบปราม ขอให้เพิ่มมาตรการเชิงรุก บูรณาการร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้องกำหนดปรับแผนการตรวจ เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด ตั้งจุดรับแจ้งเหตุส่วนหน้า ในสถานที่ที่เหมาะสมเป็นจุดรับแจ้งเหตุชั่วคราว หรือการรับแจ้งความทางออนไลน์ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ซึ่งต่อไปจะเป็นช่วงฟื้นฟู ขอให้ข้าราชการตำรวจบูรณาการช่วยเหลือ เยียวยา การดูแลด้านสาธารณสุข สาธารณประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งสภาพจิตใจของผู้ประสบเหตุ พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้ถอดบทเรียนเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติกรณีเกิดอุทกภัย ภัยพิบัติ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติในกรณีเกิดภัยพิบัติต่อไป

ต่อมา พล.ต.อ.กิตติ์รัฐฯ ได้ตรวจเยี่ยมรถครัวเคลื่อนที่ ร้านปันรักษ์ เจียงฮาย เพื่อประกอบอาหารดูแลผู้ประสบอุทกภัย และลงพื้นที่เยี่ยมช่วยเหลือชาวชุมชนเกาะลอย ต.เวียง อ.เมืองเชียงราย ลุยพื้นที่โคลน นำอาหารและน้ำดื่มไปมอบให้กับพี่น้องประชาชน

จากนั้น พล.ต.อ.กิตติ์รัฐฯ ได้เดินทางไปยัง สภ.แม่สาย เพื่อตรวจเยี่ยมพื้นที่และด่านพรมแดน อ.แม่สาย พร้อมดูทิศทางกระแสน้ำ และเยี่ยมให้ความช่วยเหลือประชาชนในจุดวิกฤติ

'โซเชียล' แห่อาลัยฮีโร่ผู้กล้า 'ปูเป้' เจ้าหน้าที่อาสา ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตหลังไปช่วยน้ำท่วมเชียงราย

เมื่อวานนี้ (19 ก.ย. 67) เฟซบุ๊ก ‘NattyRescue ChiangRai’ เผยเรื่องราวสุดเศร้า ระบุว่า

“ร่วมไว้อาลัย ฮีโร่ ผู้กล้าที่มาช่วยชาวจังหวัดเชียงรายบ้านเรา ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวพี่อาสาท่านนี้ด้วย ที่สูญเสียฮีโร่ คุณจันทิมา ครุฑหมื่นไวย (พี่ปูเป้) สมาชิกอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยแห่งประเทศไทย หน่วยธน 19-146 รถกู้ภัยเดินทางกลับจากช่วยน้ำท่วมเชียงราย เกิดประสบอุบัติเหตุที่พิจิตร เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา คุณงามความดีที่สร้าง ขอให้สู่สุคติในชั้นที่สุขสงบและดียิ่งขึ้นไป ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวและเพื่อนร่วมงานกู้ภัยด้วยครับ…

“หลับให้สบาย บุญกุศลแห่งการเป็นจิตอาสา ขอให้ไปสู่ภพภูมิที่ดี เป็นเทวดานางฟ้าบนสรวงสวรรค์ ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่เท่ากับการช่วยเหลือ ‘เพื่อนมนุษย์’ ”

ทั้งนี้ ร่างของคุณปูเป้ถูกนำมาประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดมหาบุศษ์ ซอยอ่อนนุช 7 ถนนสุขุมวิท 77 กทม. ก่อนจะมีการฌาปนกิจในวันที่ 21 กันยายน 2567

'บุ๋ม ปนัดดา' ขอแรงคนไทยช่วยตักดินออกจากบ้านชาวเชียงราย พบพลเมืองดีให้ความช่วยเหลือกันเพียบ ขอเพียงแค่หนุนค่าน้ำมัน

ความคืบหน้าน้ำท่วมใน จ.เชียงราย หลังน้ำลดได้ทิ้งความเสียหายไว้ให้ชาวบ้านเป็นจำนวนมาก ล่าสุดบรรยากาศหน้าด่านพรมแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ยังคงวุ่นวายตลอดทั้งวันเนื่องจากเจ้าหน้าที่เทศบาล ต.แม่สาย และหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งชาวบ้าน ห้างร้าน ฯลฯ ต่างออกมาทำความสะอาดตามท้องถนนและอาคารต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากขาดแคลนน้ำประปา และทางเทศบาล ต.แม่สายต้องแบ่งช่วงเวลาจ่ายน้ำตามจุดต่าง ๆ

ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ (19 ก.ย. 67) บุ๋ม ปนัดดา ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กขอความช่วยเหลือตักดินออกจากบ้าน โดยได้ระบุข้อความว่า…

“มีจิตอาสา หรือใครที่อยู่เชียงราย ที่รับตักดินออกจากบ้านคนไหมคะ บุ๋มมีโครงการช่วยทำความสะอาดบ้านให้กับประชาชนที่โดนน้ำท่วมและบ้านเต็มไปด้วยโคลน บางบ้านมีแต่คนแก่และผู้หญิง บางบ้านก็มีคนไข้ติดเตียง บุ๋มเห็นใจค่ะ เลยอยากหาคนไปช่วยทำความสะอาด โดยทางมูลนิธิจะเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายให้ แค่คราบฝุ่นก็เหนื่อยแล้ว เจอสภาพแบบนี้เครียดแทนเลย ซึ่งบ้านแรกที่อยากให้ไปอยู่ผามควาย เหมืองแดงค่ะ”

ทั้งนี้ พบว่ามีจิตอาสาจำนวนมากพร้อมให้ความช่วยเหลือ โดยต้องการเพียงค่าน้ำมันในการเดินทางเพียงเท่านั้น ทำชาวเน็ตจำนวนมากแห่คอมเมนต์ขอบคุณจิตอาสาเหล่านี้ที่พร้อมช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน

แม่สายจมโคลน บางบ้านสูงถึงชั้น 2 ตักยังไงก็ไม่หมด-จ้างไม่ไหว หลายคนเริ่มคิดสั้น 'หลังหมดตัว-หมดใจ' วอนภาครัฐเข้าช่วย

(20 ก.ย. 67) เพจ 'เรียนหมอ' โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์แม่สายเชียงรายหลังน้ำลด แต่ชาวบ้านกำลังประสบกับปัญหาใหญ่จากน้ำหลากที่จากไปเหลือไว้แต่โคลนตมที่ทับถมบ้านเรือนอย่างหนัก ระบุว่า...

รถดูดโคลนต้องเข้าแม่สายแล้ว โคลนหนามาก บางบ้านถึงชั้น 2 หลายคนร้องไห้ไปตักโคลนไป ตักเท่าไหร่ก็ไม่หมดสักที จะจ้างทำก็แสนแพง เงินก็ไม่มี

ที่แม่สายหนักมากค่ะ ตามถนนหลาย ๆ ที่โคลนยังหนา จะเอารถไปแจกของก็ยาก คนออกมาเอาก็ลำบาก

ในบ้านเรือนโคลนหนามาก ๆ ถ้าเป็นคนแก่คงทำไม่น่าไหว 

หลายคนพูดถึงความคิดจะคิดสั้นขึ้นมา คือมันหมดตัวไม่พอ ยังต้องมาตักโคลนที่สูงมาก ๆ ๆ อีก ซึ่งตักเท่าไหร่ก็ไม่หมดสักที 

เข้าใจเค้านะคะ คือ หมดตัวอยู่แล้ว ยังต้องมาตักโคลนที่แบบหนา ๆ สูง ๆ ทุกวัน ๆ มันดิ่งนะคะ คือสงสารมาก

หน่วยงานก็พยายามช่วยกันแต่ว่ามันเยอะมาก ๆ

ถ้าช่วยกันหลาย ๆ คน หลาย ๆ ฝ่าย น่าจะหนักเป็นเบาขึ้น

รถดูดโคลนสักกำเนอะจ้าวว ดูด ๆ ๆ ๆ

ความเดือดร้อน มันรอกันไม่ได้ 

คือใช่ เราต้องช่วยตัวเองก่อนที่จะขอคนอื่นมาช่วย  แต่ดูทรงละ งานหนักงานช้างมันทุกบ้าน ทุกหลัง ทุกคนกระทบหมด

ต้องใช้เครื่องจักรมาช่วยละ

ขณะที่โลกโซเชียล ก็ช่วยกันออกมาช่วยแชร์เรื่องนี้ พร้อมกับคอมเมนต์ที่เข้าใจผู้ประสบภัยด้วยว่า...

- "โคลนขนาดนั้นคนหนุ่มสาวก็ทำไม่ไหวค่ะหมอ มีแต่ยอดมนุษย์นั่นแหละค่ะที่จะทำได้แบบไม่ต้องร้องไห้ไปด้วย รัฐบาลควรเข้ามาจัดการเรื่องโคลนที่อยู่ในบ้านประชาชนอย่างเร่งด่วนเลยค่ะ เรื่องนี้ไม่ธรรมดาเลยนะคะ"

- "ตอนนี้เริ่มโฟกัสความช่วยเหลือไปที่ภาคอีสานเพราะกำลังจะเจอพายุ น่าจะหนักหน่วงอยู่ ภาพทางเชียงรายเลยแทบหายไปจากสื่อ ต้องกลับมาช่วยกันสื่อสารทั้งภาพทั้งการขอความช่วยเหลืออีกครั้ง แรงงาน เครื่องมือเครื่องจักร อุปกรณ์อะไรบ้าง บางคนนึกไม่ออกจะส่งแต่ข้าวสาร อาหารแห้ง เสื้อผ้าไปแค่นั้นมันจะเยอะเกินความจำเป็น เพราะบ้านยังไม่เคลียร์เลย"

- "อันดับแรกเอาโคลนออกจากถนนก่อน แล้วโคลนในบ้านก็เอามากองข้าง ๆ ถนน ไว้ให้รถมาเก็บไปทิ้งเป็นส่วนรวมอีกที แบบการจัดการขยะ ไม่งั้นจะจัดการยาก ต้องทำซ้ำ ๆ ไปจนกว่าจะหมด แต่ใครจะช่วยละ เจ้าของบ้านคงไม่ไหว บทเรียนราคาแพงที่คนตัดไม้ทำลายป่า ไม่ได้รับความเดือดร้อนนี้ น้ำพาโคลนมา น้ำแห้งระเหยได้ แต่โคลนนี้สิไม่ไปไหนเลย สู้ ๆ ครับ"

- "รัฐต้องระดมเครื่องจักรจากทุกหน่วยงานของทางราชการที่มีอยู่ทั้งในตัวจังหวัดเองและจังหวัดใกล้เคียงให้เข้ามาช่วยรวมทั้งภาคเอกชนด้วย เพราะดูจากสภาพแล้วปริมาณดินมากมายมหาศาลลำพังแรงคนไม่ไหวแน่ และที่สำคัญน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะใช้ในการนี้รัฐต้องอุดหนุนอย่างเต็มที่"

ขณะที่ด้าน ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'Tiger Cm' ก็ได้โพสต์คอมเมนต์ถึงกรณีด้วยว่า...

"ข่าวดีคนเชียงราย...ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. ได้ส่งรถดูดโคลน (เลน) มาช่วย 2 คัน รถตรวจการณ์ 1 คัน รถหน่วยซ่อมเคลื่อนที่เร็ว (BEST) 1 คัน รถบรรทุกติดตั้งเครนขนาด 65 ตัน 1 คัน รถไฟส่องสว่าง 1 คัน และรถตู้ 12 ที่นั่ง 1 คัน พร้อม จนท.กทม. ที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษที่เคยมีประสบการณ์การใช้รถดูดโคลนสมัยสึนามิมาด้วย"

ถอดบทเรียน 'แม่สายโมเดล' พายุยางิถล่ม-น้ำท่วมเชียงราย หนึ่งในผลลัพธ์จากภาวะโลกร้อน ที่ 100 ปีก่อนยังไม่เคยมี

รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 21 ก.ย.67 ได้พูดคุยกับ ดร.ก้องเกียรติ สุริเย ผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิต ในประเด็นถอดบทเรียนจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย 

ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า อุทกภัยที่แม่สาย จังหวัดเชียงราย เกิดจากปัญหาหลายมิติที่มีความซับซ้อนสูง ซึ่งอำเภอแม่สายเป็นพื้นที่พรมแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน มีมิติทางด้านความมั่นคงอยู่ด้วย 

"ขอยกเป็นกรณีตัวอย่าง 'แม่สายโมเดล' โดยการเกิดอุทกภัยครั้งนี้ คาดว่ามีสาเหตุเกิดจากภาวะโลกร้อนอย่างแน่นอน เพราะเมื่อ 80 ถึง 100 ปีก่อน ไม่เคยเกิดภัยพิบัตินี้ พายุที่พัดมารุนแรง เช่น พายุยางิ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ถ้าวิเคราะห์จริง ๆ มันเกิดจาก โลกร้อนมากขึ้น กลายเป็นโลกเดือด เวลาโลกเดือดมันเดือดทั้งบนพื้นดินและบนพื้นน้ำ เวลาโลกเดือดเหนือมหาสมุทร ก็เหมือนเรากำลังต้มน้ำในหม้อ น้ำก็จะเดือดปุด ๆ กลายเป็นไอขึ้นมา โลกเดือดก็เหมือนกับการต้มน้ำกลายเป็นไอขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ"

ดร.ก้องเกียรติ เผยอีกว่า "ถ้าสังเกตดี ๆ วันนี้เรามองไม่เห็นยอดตึกแล้ว ส่วนใหญ่มองเห็นเป็นละอองฝอยปกคลุม คล้ายฝุ่น PM 2.5 แต่ไม่ใช่ เพราะเป็นไอน้ำที่ลอยขึ้นไปรอการควบแน่นและกลายเป็นฝนตกลงมา โดยเฉพาะบริเวณที่มีอากาศเย็น เช่น ยอดเขา ยอดภู ซึ่งทำให้บริเวณนั้นมีฝนตกหนักมากขึ้น แบบเทราด เรียกว่า Rain Bomb หรือ ระเบิดฝน ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมที่เชียงรายมีลักษณะนั้น"

ทั้งนี้ ดร.ก้องเกียรติ ได้กล่าวถึงสาเหตุน้ำท่วมใหญ่ที่เชียงราย โดยสรุปได้ 4 ประการ ดังนี้...

1.น้ำบนฟ้ามีมากขึ้น ทำให้เกิด Rain Bomb หรือ ระเบิดฝน 

2.ดินซับน้ำน้อยลง หมายถึง พื้นดินขาดสมดุลในการดูดซับน้ำ เนื่องจากป่าไม้ลดลง โดยเฉพาะป่าไม้ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำสายซึ่งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน จากการวิเคราะห์ขี้เลนที่พัดมาที่แม่สายเป็นเลนนุ่ม ๆ เลนละเอียด แสดงว่าผ่านการกรองเศษดิน เศษไม้มาพอสมควรน่าจะถูกพัดมาเป็นระยะทางไกล 

3.ทางระบายน้ำตีบตัน ตื้นเขินเวลาน้ำไหลผ่านแม่น้ำ ปกติต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งถึงลงแม่น้ำโขงได้ เมื่อทางระบายน้ำตีบตัน ตื้นเขิน น้ำจึงเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ซึ่งในอดีตแม่น้ำสายมีความกว้าง 130-150 เมตร  แต่ปัจจุบันกว้างเพียง 20-50 เมตร เท่านั้น 

4.พื้นที่รับน้ำกลายเป็นเมืองมากขึ้น แก้มลิงหายไป ทำให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก

ส่วนการรับมืออุทกภัยในอนาคต ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า "เราควรเตรียมพร้อมและอยู่กับธรรมชาติให้ได้ โดยแบ่งเป็นส่วนของภาคประชาชน และภาครัฐ โดยส่วนของประชาชน 1.ควรพิจารณาการย้ายที่อยู่อาศัยเพื่อหลีกเลี่ยงทางน้ำ 2.ปรับเปลี่ยนรูปแบบบ้านให้กลับไปเป็นแบบดั้งเดิม สร้างบ้านใต้ถุนสูงขึ้น 3.เตรียมเรือไว้ให้พร้อม เตรียมข้าวสารอาหารแห้ง เพื่อดำรงชีวิตเวลาน้ำท่วม และในชุมชนร่วมกันสร้างเขื่อนกั้นน้ำให้สูงขึ้น ที่แม่สายตอนนี้สูง 1-2 เมตร อาจต้องปรับเพิ่มเป็น 3-5 เมตร 

"ในส่วนของภาครัฐ (1) ควรมุ่งเน้นนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังและรวดเร็ว (2) เพิ่มเติมการซับน้ำโดยการอนุรักษ์ป่าไม้ เคร่งครัดข้อกฎหมายทำลายป่า และรีบดำเนินการเรื่องภาษีคาร์บอน คาร์บอนเครดิต (3) นโยบายด้านต่างประเทศ เร่งหารือระหว่างไทย-พม่า เพื่อเพิ่มความกว้างของทางน้ำมากขึ้น หรือสร้างทางด่วนน้ำให้เหมาะสม รวมถึงการติดตั้งระบบเตือนภัยภาวะน้ำท่วมฉับพลัน ให้อยู่บริเวณต้นน้ำเพื่อแจ้งเตือนประชาชนได้ล่วงหน้ามากขึ้น"

4 รัฐมนตรีรวมไทยสร้างชาติ ลุย!! ตรวจราชการ จ.เชียงราย เร่งดูแลเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย

(2 ต.ค. 67) ที่สนามบินกองทัพอากาศ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะ พร้อมเดินทาง ด้วยเครื่องบินของกองทัพอากาศ ไปตรวจราชการ หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ที่จังหวัดเชียงราย หลายพื้นที่ เพื่อกำกับดูแลและเยียวยาผลกระทบที่ประชาชนได้รับจากเหตุอุทกภัย พร้อมบูรณาการความช่วยเหลือให้สำเร็จด้วยความรวดเร็ว 

ทั้งนี้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ จ.เชียงราย ล่วงหน้าแล้ว และจะร่วมลงพื้นและพร้อมกับคณะ

โดยกำหนดการในการลงพื้นที่ครั้งนี้อยู่ที่ต.เวียง อ.เวียงป่าเป้า โดยคณะ 4 รัฐมนตรีพร้อมทีมงานจะทำการตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัยที่พื้นที่หมู่ที่ 9 บ้านแม่ปูนล่าง และสำรวจความเสียหายเส้นทางสัญจรของประชาชน

'พีระพันธุ์' รับปากประชาชนเร่งประสานงานฟื้นฟูพื้นที่ได้รับผลกระทบ ด้าน 'เอกนัฏ สั่งการด่วนแก้ไขปัญหาน้ำประปาให้ ปชช. กว่า 4 พันครัวเรือน

รองนายกฯ 'พีระพันธุ์' พร้อม 3 รัฐมนตรีพรรครวมไทยสร้างชาติ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจประชาชน บูรณาการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมจังหวัดเชียงราย พร้อมรับปากจะเร่งประสานการเยียวยาช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด ขณะที่ชาวบ้านแม่ปูนล่าง อ.เวียงป่าเป้า ฝาก 'เอกนัฏ พร้อมพันธุ์' ขอให้ช่วยสร้างระบบน้ำประปา แก้ปัญหาน้ำให้ชาวบ้านในพื้นที่กว่า 4,000 ครอบครัว

(2 ต.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยคณะทำงาน และผู้แทนของหน่วยงานในสังกัดของแต่ละกระทรวง ลงพื้นที่ตรวจราชการหน่วยงานในกำกับดูแลและเยียวยาผลกระทบที่ประชาชนได้รับจากเหตุอุทกภัยที่ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย

ภายหลังจากเดินทางถึงจังหวัดเชียงราย ได้แบ่งภารกิจการตรวจเยี่ยมเป็น 2 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม  ซึ่งมีกำหนดการตรวจราชการหน่วยงานในกำกับดูแลและเยียวยาผลกระทบที่ประชาชนได้รับจากเหตุอุทกภัย ณ ศูนย์พักพิงผู้ประสบอุทกภัย บ้านห้วยหินลาดใน หมู่ 7 ตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย  

และ 2. คณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีกำหนดการตรวจราชการหน่วยงานในกำกับดูแลและเยียวยาผลกระทบที่ประชาชนได้รับจากเหตุอุทกภัย ณ บ้านแม่ปูนล่าง หมู่ 9 ต.เวียง อ.เวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย

ทั้งนี้ ระหว่างการลงพื้นที่ นายพีระพันธุ์ ได้กล่าวถึงการลงพื้นที่ว่า ในวันนี้ทางรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติทั้ง 4 กระทรวง พร้อมด้วยคณะทำงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย พร้อมกับสำรวจว่า ชาวบ้านต้องการให้ช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เพื่อนำไปรายงานทางคณะรัฐมนตรี ให้จัดสรรงบประมาณหรือจัดกําลังเข้ามาดูแลช่วยเหลือ ซึ่งพบว่าชาวบ้านได้รับความยากลำบากอย่างมาก และบางครอบครัวยังไม่สามารถกลับเข้าไปพักอาศัยในบ้านเรือนของตนเองได้ เนื่องจากได้รับความเสียหายอย่างหนัก และอยู่ระหว่างการฟื้นฟู ขณะเดียวกัน ยังหวั่นเกรงว่าจะเกิดอุทกภัยรอบใหม่อีกด้วย

“หลังจากได้รับฟังความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และได้รับทราบปัญหาต่าง ๆ จากผู้นําชุมชน หลังจากนี้จะเร่งประสานหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยอย่างเร่งด่วนต่อไป และในวันนี้นอกจากลงมาดูสภาพความเสียหายแล้ว ยังได้นำสิ่งของประเภทอาหารการกิน อุปกรณ์ประกอบอาหาร เตาแก๊สปิกนิก และยารักษาโรค มามอบให้ชาวบ้านเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น และหลังจากนี้ จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องไฟฟ้าที่ยังขาดแคลนอีกด้วย”

ทางด้านนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม ได้รับทราบถึงปัญหาของประชาชนในพื้นที่ บ้านแม่ปูนล่าง อ.เวียงป่าเป้า ซึ่งนอกจากการเร่งฟื้นฟูซ่อมแซมบ้านเรือนและเยียวยาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วนแล้ว ประชาชนในพื้นที่ยังได้ฝากให้ รมว.อุตสาหกรรม ช่วยสร้างระบบน้ำประปาหมู่บ้าน ภายหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายไปแล้ว เนื่องจากประชาชนในพื้นที่กว่า 4,000 ครอบครัวยังขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้

ทั้งนี้ นายเอกนัฏ ได้รับเรื่องที่จะให้การช่วยเหลือชาวบ้าน โดยได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการจัดส่งท่อน้ำ เพื่อวางระบบส่งน้ำเพื่อลำเลียงน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติมายังหมู่บ้าน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนภายหลังจากฟื้นฟูสภาพความเสียหายเรียบร้อยแล้ว

‘อนุทิน’ เตรียมเสนอ ครม. จัดงบเยียวยาค่าล้างโคลนเพิ่ม 10,000 บาท คาดไม่เกินสิ้นเดือน เคลียร์แผ่นดินแม่สาย-เชียงราย กลับเข้าสู่สภาวะปกติ

เมื่อวานนี้ (5 ต.ค. 67) เวลา 10.30 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย พร้อมด้วย น.ส.ธนนนท์ นิรามิษ ภริยารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมแม่บ้านมหาดไทย นำคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัย ใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยได้รับฟังการสรุปสถานการณ์ภาพรวมและลงพื้นที่ประเมินสถานการณ์ ณ สะพานด่านแม่สาย ก่อนจะเดินทางไปติดตามดูการช่วยเหลือพื้นฟูในจุดต่างๆ พร้อมเยี่ยมให้กำลังใจปลัดอำเภอและกำลังพลสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) ที่กรมการปกครองได้ระดมกำลังพลทั่วประเทศเข้ามาสนับสนุนการช่วยเหลือประชาชนใน จ.เชียงราย ฟื้นฟูทำความสะอาดบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งกำลังพลทุกนายมีกำลังใจที่ดี ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจเสียสละและอดทน

นายอนุทิน กล่าวระหว่างการลงพื้นที่ว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ระดมทุกภาคส่วนเข้ามาให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยใน อ.แม่สาย ทั้งฝ่ายทหาร พลเรือน และภาคประชาชน ส่วนของท่านเจ้ากรมการทหารช่าง ได้มาประจำอยู่แม่สายเป็นสัปดาห์แล้ว 

ในส่วนของการบัญชาการตอนนี้ที่เชียงรายไม่น่าเป็นห่วงแม้อยู่ในช่วงการรอแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเนื่องจากท่านเดิมเกษียณอายุราชการ แต่ได้มีการตั้งนายโชตนรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เข้ามารักษาการผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถสั่งการเพื่อจัดการกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ 

ส่วนของรองผู้ว่าราชการจังหวัดขณะนี้ก็ได้มีการแต่งตั้งเข้ามาจนครบแล้ว ขณะที่นายอำเภอแม่สายท่านได้เกษียณอายุราชการแล้วแต่ตัวท่านและภรรยาก็ยังคงอยู่ในพื้นที่ช่วยงานราชการซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมมาก และได้รับการยืนยันจากทางปลัดกระทรวงมหาดไทยว่าจะมีการแต่งตั้งนายอำเภอแม่สายท่านใหม่เข้ามากำกับดูแลสถานการณ์ในสัปดาห์นี้

นายอนุทิน กล่าวว่า จากที่ได้ฟังการรายงานจากทางเจ้าหน้าที่ คาดว่าจะสามารถเคลียร์พื้นที่ได้ภายในไม่เกินสิ้นเดือนนี้ แต่จะทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีจุดที่หนักหน่อยก็คือที่ตลาดสายลมจอย ที่น้ำทะลักเช้าไปมากจนสร้างความเสียหาย ซึ่งมีความเห็นใจผู้ประกอบการ เพราะว่าทราบมาว่าสินค้าอะไรถูกทำลายไปด้วยซึ่งจะต้องพิจารณาต่อไปว่าจะหาวิธีช่วยเหลืออย่างไร

“ในเรื่องของการเยียวยาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย ในวันอังคารนี้ ก็มีการเสนอให้ ครม. พิจารณาปรับเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งเป็นไปตามคำบัญชาของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ว่าจะให้การเยียวยาในระดับสูงสุดก็คือ 9,000 บาทต่อครัวเรือน 

และก็ยังมีเงินที่ตอนนี้ทางกรมป้องกันสาธารณภัยได้ตั้งเรื่องและได้รับความเห็นชอบจากกรมบัญชีกลางแล้วคือ ค่าล้างโคลนบ้านละ 10,000 บาทต่อหลัง ซึ่งเป็นการที่เราพยายามจะหาความช่วยเหลือมาให้ประชาชนให้มากที่สุด 

ท่านรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ตั้งแต่รับตำแหน่งท่านก็ยังไม่ได้เข้าที่ทำงานที่มหาดไทยเลย เพราะมาอยู่ที่นี่ วิ่งรอกระหว่างเชียงใหม่ เชียงราย 2 จังหวัดนี้ตลอด เพื่อบัญชาการ ประสานงานขอความช่วยเหลือสนับสนุนต่าง ๆ ซึ่งก็ทำให้สิ่งที่มีความจำเป็นทั้งหมดก็มาถึงโดยเร็วอันนี้เป็นการบูรณาการอย่างจริงจังและจะเร่งแก้ไขสถานการณ์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวถึง สถานการณ์น้ำภาพรวมของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย หลังการลงพื้นที่ติดตามว่า ในส่วนของปริมาณน้ำนั้นห้ามไม่ได้ มีความเร็ว แรง แต่ด้วยประสบการณ์ที่พื้นที่ได้เจอมา ทำให้รู้ว่าน้ำมาแล้วจะไปทางไหน สามารถบริหารจัดการได้คล่องตัวในการกู้ภัย การฟื้นฟูสภาพก็มีความคล่องตัวมากขึ้น ทำได้เร็วขึ้นกว่าช่วงแรกๆ เหมือนกับอยู่ในช่วงอยู่ตัว แต่เราก็ไม่ได้ถอนกำลังหรือลดทรัพยากรใดๆ ออกไป 

สิ่งที่สำคัญตอนนี้คือต้องเร่งระบายขยะมูลฝอยและเศษไม้ ต่อไม้ที่มากับน้ำหากติดสะพานปิดกั้นทางน้ำจะทำให้การระบายช้าลง ต้องมีเครื่องมือเครื่องจักรคอยตักออกตลอดเวลา โดยคาดว่าน้ำท่วม ไม่น่าจะเกิดความรุนแรงแล้ว ส่วนการเอาดินออกจากบ้านเรือนประชาชนก็ทำไปได้มากแล้ว โดยจะเร่งทำให้สามารถคืนพื้นที่ให้เร็วที่สุด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top